• Published Date: 26/07/2021
  • by: UNDP

อยู่ใกล้น้ำ อยู่ใกล้เขา แล้วเมื่อไหร่รัฐจะมาอยู่ใกล้ใจเราบ้าง :3

 

“ฮัลโหล ฮัลโหล ไม่ค่อยได้ยินเลยครับ”

 

พี่สมพร ได้ยินไหมครับ ให้โทรไปใหม่ไหมครับ

 

“โอเค ได้ยินแล้วครับ สัญญาณไม่ค่อยดีเลย ว่ายังไงครับ”

 

พี่อยู่ในป่าเหรอครับ

 

“ในป่าไม่มีสัญญาณครับ ต้องเข้ามาที่ตัวอำเภอถึงจะมีสัญญาณ”

 

 

โอเคครับ อยากจะชวนพี่สมพรคุยเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าน่ะครับ

 

“ชุมชนอยู่อยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ติดกับประเทศเมียนมาร์ มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอยู่ 6 หมู่บ้าน 7 ชุมชน หมู่บ้านของผมอยู่นอกสุดเลย พอจะมีสัญญาณแต่ก็ไม่ดี ต้องเข้ามาคุยโทรศัพท์กับคุณที่อำเภอนี่”

 

ยากไหมพี่ การใช้ชีวิตอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเนี่ย

 

“เดี๋ยวนี้ยาก การจับจ่ายใช้สอยตามวิถีเรามันยากขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยิ่งแย่ ปกติวิถีคนกระเหรี่ยงคือการทำไร่หมุนเวียนมีระยะมากที่สุดคือ 20 ปีถึงจะกลับมาใช้อีกครั้ง คิดดูว่าป่าจะฟื้นขนาดไหน แต่ พรบ. ใหม่กำหนดให้เราใช้ได้แค่สองปีในพื้นที่ที่เขาจัดไว้ให้ 20 ไร่ต่อครัวเรือนตามทะเบียนบ้าน แบบนี้วิถีชีวิตเราจะพัง พื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงจะพังไปเลย เพราะอายุไร่หมุนเวียนอย่างน้อยๆ ต้อง 7 ปี ยังไม่รวมหลักปฏิบัติต่างๆ ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์ที่กระทบกับเราเต็มๆ”

การทำไร่หมุนเวียน: ระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ทำกันในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่บนที่สูง เป็นการผลิตในระยะสั้น และปล่อยให้ป่าฟื้นในระยะยาวจนดินคืนความสมบูรณ์ แล้วจึงกลับมาทำเกษตรกรรมที่เดิมอีกครั้ง จึงเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการทำไร่หมุนเวียนคือไร่เลื่อนลอย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน เพราะไร่เลื่อนลอยคือการเกษตรแบบตัด ฟัน โค่น และเผาบนที่สูง และย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลังจากที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีวัชพืชเกิดขึ้นมาก
พรบ.ใหม่: พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฉบับแก้ไข้เพิ่มเติมปี พ.ศ. 2564 ระบุเอาไว้ว่าอนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียนได้ไม่เกิน 2 ปีในพื้นที่ที่ได้จัดสรรเอาไว้ให้ ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะไร่หมุนเวียนมีระยะเวลาการทำโดยเฉลี่ย 7-20 ปี ซึ่งทำให้ต้นไม้โตไม่ทัน หรือเรียกกันว่า ‘ป่าอ่อน’ ส่วนการถือครองสิทธิ์ก็กำหนดให้ครอบครองได้ 20 ปี หากเมื่อไหร่ที่ผู้เซ็นเอกสารรับถือแก่ความตาย ให้ทายาทเท่านั้นที่จะใช้สอยต่อได้ตามเวลาที่เหลือในกฤษฎีกาเท่านั้น

 

เหมือนเป็นการบีบเราให้ออกจากพื้นที่ไหม

 

“เราโดนไล่ไปแล้วรอบนึงตอนปี 2536 ตอนนั้นมีการร่างโครงการเยอะมากเพื่อเอาคนออก แต่ประสบความสำเร็จอยู่ 3 โครงการ เรายืนยันว่าวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่กันมาของเรานี้เป็นการรักษาป่าจนได้มรดกโลกมา จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าส่งต่อกัน พวกเราอยู่ในพื้นที่นี้มาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ถ้าตามวัตถุพยานก็เป็นพันปี คนกะเหรี่ยงเราเคลื่อนย้ายตาม…”

 

(ตื๊ดๆๆ สายหลุด เราโทรกลับไปใหม่ด้วยความยากลำบาก สักพักถึงจะรับ)

 

“อ่าครับ โอเค คือคนกะเหรี่ยงเราเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์ พม่าตีมาเราก็หนีไปอีกเขา เกิดโรคระบาดเราก็หนีไปอีกมุมหนึ่ง เป็นปกติแบบนี้มาตลอด จะมาวุ่นวายก็ช่วงหลังที่ต้องแบ่งแยกว่าต้องมีจังหวัด มีอำเภอ แล้วคนจัดทำแผนเหล่านี้ก็ไม่เคยมาดูแลคนชนเผ่าเลย จริงๆ ก็ไม่เห็นกันมาตั้งนานแล้ว เวลาออกกฎหมายก็ลดทอนชีวิตเราไปเรื่อยๆ”

 

 

พี่ว่าทำไมรัฐถึงอยากจัดระเบียบเรา

 

“เขาคิดว่าพวกเราทำให้ผืนป่าลดลง เวลาออกยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งตัวเลขขึ้นมาว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้ คิดตามระดับความเข้าใจที่มองจากแผนที่ภาพถ่ายมุมสูง ซึ่งย้อนกลับไปได้แค่ปี 2540 แต่ไม่ได้มองว่าเราสร้างประโยชน์อะไรมามากมายหลายชั่วอายุคนที่อยู่ในป่าแห่งนี้ เขาคิดว่าถ้าเอาชุมชนออกไปจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ตามแผนจากส่วนกลางที่ต้องเร่งเอาป่ากลับมา”

 

ที่ผ่านมาปรับตัวกันยังไง

 

“เราได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก มีแค่ลูกหลานบางคนที่ออกไปเรียน เพราะการเกษตรที่ทำก็เพื่อเอามากินเท่านั้น แต่การเรียนออนไลน์นี่ไม่ได้เลย ไม่มีประสิทธิภาพ บางคนก็หยุดเรียนไปก่อน หรือไม่ต้องก็ไปอยู่กับญาติตามแนวเขาที่พอมีสัญญาณเพื่อให้เรียนได้ แต่สัญญาณก็ไม่เสถียรหรอกครับ”

 

พี่สมพรคิดว่าต้องสร้างความเข้าใจกับคนภายนอกไหม

 

“ผมคิดว่าการสร้างความเข้าใจกับคนภายในสำคัญกว่าหลายเท่า ตอนนี้ผมทำสถานศึกษาขึ้นมาเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าวิถีชีวิตของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้รัฐจะไม่มาเห็นตรงนี้ เราก็ต้องทำต่อ การศึกษาจากส่วนกลางที่ต้องออกไปเรียนไกลๆ ข้างนอกจะทำให้เด็กบิดเบี้ยว เช่น พอไปเจอเพื่อนที่เรียนเก่งกว่า ได้ทำงานที่ดีกว่า ตัวเองก็จะรู้สึกว่าสู้เขาไม่ได้ ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน แบบนี้จะให้พวกเขาภูมิใจในวิถีชีวิตตัวเองได้ยังไง”

 

 

พี่ก็เลยอยากสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา? เริ่มต้นจากอะไรครับ

 

“จุดเริ่มต้นมาจากมูลนิธิหนึ่งมาทำความร่วมมือกับ อบต. ในพื้นที่ เมื่อก่อนที่เด็กต้องออกไปเรียนข้างนอกเพราะเราไม่มีสถานศึกษาให้เด็กเรียนจบตามภาคบังคับ ก็เลยเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เราจัดการเรียนการสอนเอง ได้ประกาศสถานศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนเลย ตอนนี้เราขยับจากระดับชั้น ม.3 มาได้ถึง ม.6 แล้ว เด็กจบ ม.6 ได้ที่บ้านตัวเอง แต่หมู่บ้านอื่นๆ ก็ต้องเดินทางมาเรียนไกลอยู่ดี ห่างกัน 80 กิโลเมตรก็มี แต่ตอนนี้ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว เพราะรัฐเขาก็ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น”

 

เด็กๆ ได้เรียนอะไรกันบ้าง

 

“กระทรวงฯ บังคับ 3 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต้องสอนตามหลักสูตร นอกนั้นเด็กๆ จะเรียนอะไรก็ได้ ทำให้พวกเขาได้ศึกษาในเรื่องที่ตัวเองสนใจ เช่น เขาอยากศึกษาพันธุ์ข้าวในไร่หมุนเวียน เราก็เอาแกนกลางของกระทรวงฯ มาจับ คือวิชาคณิตศาสตร์จะเข้าสู่ข้าวได้อย่างไร สุขศึกษาจะเข้าสู่ข้าวได้อย่างไร ถามว่ายากไหม ตอบเลยว่ายากมากที่จะทำให้ตรงตามหลักสูตร แต่เราก็อยากให้เด็กรู้ว่าชุมชนของเรามีข้าวอยู่มากถึง 30-40 สายพันธุ์นะ นี่คือความเข้มแข็งของข้าวเรานะ เรามีข้าวให้คนในชุมชนกินได้ โดยไม่ต้องไปซื้อข้าวใครกินมาร้อยปีแล้ว”

 

ทุกอย่างก็ดูไปได้ดีใช่ไหมครับ

 

“ตอนนี้ผมตัดเงินเดือนตัวเองให้เด็กที่เพิ่งจบใหม่กลับมาช่วยสอนต่อ”

 

(เราเงียบ พี่สมพรก็เงียบไปสักพัก)

 

“ตอนนี้หน้าที่หลักของผมคือต้องปกป้อง และสรรหาแหล่งทุน สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ลำบากขึ้น แต่เหนื่อย แหล่งทุนที่เคยสนับสนุนประจำก็หายไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่แค่แหล่งเดียว ถ้าเขาทิ้งไปคือเราล้มเลย เงินที่มีอยู่ตอนนี้ก็แค่ให้เป็นเงินเดือนครู กับอาหารกลางวันเด็ก มื้อละ 150 บาท ต่อนักเรียน 30 คน และครู 7 คน เด็กเราเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่เขาไม่ลำบากจริงๆ ก็คงไม่ปล่อยให้ลูกมากินข้าวแบ่งกันขนาดนี้”

 

 

แล้วถ้าคนในชุมชนหารายได้เอง เช่น ขายผลิตภัณฑ์การเกษตรเอง จะพอช่วยได้ไหม

 

“ทำมาตลอด แต่โครงสร้างรัฐทำให้ทุกอย่างลำบากมาก เช่น เรียกเราไปประชุมทุกเดือน เราก็ต้องบกพร่องหน้าที่การสอนไป แล้วก็ต้องทำรายงาน ทำบัญชี บังคับว่าต้องทำสิ่งนี้ผ่านโปรแกรมนี้นะ ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ขาดบุคลากรไป ผมเคยพูดกลางที่ประชุมเลยว่างานเอกสารแบบนี้ผมทำไม่เป็น ถ้าอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ต้องการจริง ก็จ้างนักบัญชีมาอยู่กับเราเลย ให้คนที่ถนัดเขาได้ทำหน้าที่ของเขา เราไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่อยากให้เราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างของความเจริญ ซึ่งรัฐไม่เคยเข้าหาเราด้วยเจตนาแบบนี้ รัฐให้ความสำคัญกับแค่มิติพื้นที่ ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันช่วยรักษาพันธุ์พืชไว้ได้มากแค่ไหน กฏหมายไม่ได้ออกแบบมาให้คนมีช่องหายใจ ไม่ได้เป็นถังอ็อกซิเจน เหมือนเป็นแค่ท่อเปล่าๆ พอให้หายใจได้เท่านั้น”

 

แล้วผลจากการที่พี่ช่วยกันสร้างสถานศึกษานี้ขึ้นมา เป็นยังไงบ้าง

 

“ตอนนี้ในศูนย์มีเด็กอยู่ 24 คน มีเด็กเรียนปริญญาตรีอยู่ข้างนอก 3 คน จบแล้วทำงานอยู่ในหน่วยงานที่เขารองรับอีก 3 คน อีกคนพอจบ ม.6 ก็กลับมาทำงานที่ศูนย์ เราทำให้เด็กในศูนย์อ่านออกโดยไม่ต้องเข้าไปเรียนในเมือง”

 

ถ้าสมมติว่าบอกอะไรกับรัฐได้ พี่จะบอกอะไรครับ

 

“รัฐจะใช้กฎหมายที่มีอยู่เหมือนกันกับทุกพื้นที่ไม่ได้ รัฐสามารถประกาศใช้กฎหมายพื้นที่พิเศษแบบที่ใช้กับจังหวัดชลบุรี และอนุกรรมการต่างๆ ควรมีชาวบ้านเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย เพราะกฎที่ออกมากระทบชาวบ้านแบบ 100% รัฐต้องให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม การทำแบบนี้มันเกินกว่าเหตุมากๆ”

 

อยากให้พี่สมพรสู้ๆ นะครับ

 

“สู้อยู่แล้ว สู้มาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้คนกะเหรี่ยงมีสัญชาติมากกว่า 80% แล้ว ดีขึ้นจากเดิมเพราะเราถวายฎีกา ต้องสู้ถึงจะได้มา”

 

 

พี่สมพรทิ้งท้ายว่าถ้าอยากถามอะไรเพิ่มเติมต้องบอกล่วงหน้าหน่อยหลายวันนะ เพราะต้องเข้าเมืองมาคุยอย่างนี้ทุกครั้ง (และเราก็ได้ติดต่อไปหาพี่สมพรอีกครั้ง เพื่อขอภาพบางส่วนมาประกอบบทความ ขอบคุณภาพจากพี่สมพรมา ณ ที่นี้ด้วยครับ) 

 

พี่สมพรคืออีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อสู้อย่างสันติที่ร้องเรียนผ่านกระบวนการกฎหมาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าในพื้นที่ป่าอันห่างไกล ก็สามารถมีห้องเรียนเอาไว้อนุรักษ์ทั้งพืชพรรณ และวัฒนธรรมที่มักจะสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องออกไปเรียนต่อข้างนอก ความหวังของพี่สมพรคือการที่ลูกหลานของเขาจะ ‘ไม่ถูกลืม’ ว่าเป็นพลเมืองคนหนึ่งขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้า อย่างน้อยก็มีหน้าที่อนุรักษ์ผืนป่าและพรรณไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม 

 

จะดีแค่ไหนถ้าทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งโอกาสในการทำกิน โอกาสในการเรียนรู้ และโอกาสที่จะได้อยู่บ้านตัวเองอย่างสงบสุข โดยไม่ต้องสู้กับกฏระเบียบข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา

 

หมายเหตุ: พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และ ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดันในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๖/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบาย การปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือ ระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกินยี่สิบปี และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณา และคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน และการสิ้นสุด การอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779