• Published Date: 04/08/2021
  • by: UNDP

เอาปากกามาวง! ตรงไหนคือสวัสดิการคุ้มครองสาวทรานส์ในพัทยา เมื่อโควิดพาความหวังของเธอหายไปหมดสิ้น

 

‘พัทยา’ สถานที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งผู้หญิงข้ามเพศ ที่นี่เต็มไปด้วยโอกาสทั้งการประกอบอาชีพ และโอกาสที่พวกเธอจะได้เติมเต็มคุณค่า และศักดิ์ศรีในตัวเอง เพราะเส้นแบ่งแห่งอคตินั้นบางเบาจนเราแทบจะมองไม่เห็น จนกระทั่งวิกฤตการณ์โควิด – 19 ซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ ที่พัดพาความหวัง และโอกาสเหล่านั้นให้หายไปแทบหมดสิ้น ร้านอาหาร และสถานบันเทิงซึ่งเป็นสถานที่พวกเธอเคยทำงานต่างพากันปิดตัวลงอย่างน่าเศร้าใจ เรามีโอกาสได้คุยกับ พี่ดอย – ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของสาวข้ามเพศ ซึ่งเป็นเหมือนศึกหนักที่พี่ดอยและทีมต้องเผชิญอยู่ทุกวัน


 เมืองหลวงแห่งผู้หญิงข้ามเพศ: ประเทศไทยไม่เคยมีการเก็บสถิติสาวข้ามเพศอย่างเป็นทางการ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยจึงใช้วิธีดึงข้อมูลมาจากการเกณฑ์ทหาร ที่จะมีตัวเลขสาวข้ามเพศอายุ 21 ปีเฉลี่ยปีละ 5,000 – 6,000 พันคน จากนั้นจึงนำมาคำนวณจนได้ปริมาณคร่าวๆ ว่าเมืองไทยตอนนี้มีสาวข้ามเพศประมาณ 400,000 – 500,000 คน

 

พี่ดอยคิดว่าอะไรคือสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้สำหรับการเป็นสาวข้ามเพศในพัทยา?

 

ตอนที่พี่ทำมูลนิธิซิสเตอร์ใหม่ๆ ที่ลิ้นชักจะมีปึกใบสั่งมากกว่า 300 ใบ ข้อหาสารพัด เป็นกะเทยโดนปรับ 300 บาท ขายบริการทางเพศโดนปรับ 500 บาท มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกสาว ทำงานนางโชว์กำลังขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านแล้วโดนตำรวจเรียก บอกว่าแต่งหน้าอย่างนี้ต้องขายบริการแน่นอน เลยจับไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ บังคับให้เซ็นยอมรับข้อหาค้าประเวณี พอพี่รู้ก็รีบไปตั้งแต่เช้าเลย พานักข่าวไปด้วย สภาพน้องดูไม่ได้เลย หน้าเขียวไปครึ่งหนึ่ง เกาะลูกกรงบอกว่า ‘แม่ช่วยหนูด้วย’ เราก็ถามตำรวจไปว่ามีหลักฐานไหมถึงมาจับอย่างนี้ ตำรวจก็บอกว่าน้องลักทรัพย์ด้วย เราก็ยังยืนยันว่าขอดูหลักฐานหน่อย สักพักเราได้ยินเสียงตึงตังจากข้างบน น้องเขาวิ่งออกมาจากห้องสอบสวนกระโดดลงบันไดมาหาเราจนเคลียร์ได้ในที่สุด แต่คิดสิว่าพี่ช่วยอย่างนี้ไม่ได้ทุกคน กะเทยเจอเรื่องแบบนี้เยอะมาก ความโปร่งใสในกระบวนการไม่มีเลย


กะเทย: มูลนิธิซิสเตอร์ไม่แบ่งแยกสาวข้ามเพศจากลักษณะภายนอก บางคนอาจะมีฐานะยากจนเกินกว่าจะซื้อฮอร์โมนมากิน หรือทำงานในหน่วยงานราชการซึ่งไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของตัวเองได้ เพียงแค่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนข้ามเพศก็ถือว่าเพียงพอแล้ว  
ลูกสาว: คำแสลง ใช้เรียกสาวข้ามเพศที่มีอายุน้อยกว่าตัวเอง

 

 

คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากอะไร

 

มันเป็นภาพจำ (stereotype) เขาชอบมองว่ากะเทยคือตัวอันตราย สมมติว่ามีคดีนักท่องเที่ยวโดนกระชากสร้อย ตำรวจก็จะมากวาดกะเทยไปละ เอาไปทั้งแถบเลย ปรับเงินคนละ 200 – 500 บาท แล้วก็หาแพะรับบาป พี่เคยไปประชุมกับนายกเมืองพัทยาแล้วถามเขาไปตรงๆ เลยว่าอะไรคือมาตรฐานในการปรับ ปรับทำไม ปรับแล้วเงินไปไหน จนเดี๋ยวนี้ดีขึ้นแล้ว เราต้องต่อสู้มา เมื่อก่อนแค่เป็นกะเทยก็ถือว่าผิดแล้ว

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการค้าบริการของสาวข้ามเพศจริง

 

Sex work is work! ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่เขาเป็น sex worker มีทั้งแบบเต็มใจ และแบบไม่มีทางเลือก เราจะไปเหมาว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกทั้งหมดไม่ได้ แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงต้องทำอาชีพนี้ด้วย งานวิจัยหลายชิ้นพูดตรงกันว่าเพราะสาวข้ามเพศเข้าไม่ถึงอาชีพปกติในสังคม กะเทยอย่างพี่จบเกียรตินิยม แต่ไปสมัครงานที่ไหนก็ถูกกีดกัน กะเทยเป็นครูได้ เป็นหมอได้ แต่ยากนะ กว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ พอไม่มีงานก็ไม่มีเงิน มันก็เหลือไม่กี่ทางเลือกสำหรับเรา ไม่ทำงานบริการ ก็เป็นนางโชว์ หรือไม่ก็มาเป็น Sex worker กะเทยทำได้ไม่กี่งาน 

 

แต่ก็ดูเหมือนว่าสังคมเราก็เปิดรับ LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว?

 

ก็ดีขึ้น แต่สำหรับกะเทยไม่ค่อยดีขึ้นเลยเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว งานเขียนชิ้นหนึ่งของอาจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ก็เคยระบุไว้ว่า ในบรรดาความหลากหลายทั้งหมดนั้น คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ transgender เพราะที่ทำงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบเรื่องเพศเดิมๆ ถ้าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน คุณก็ยังอยู่ในเพศสภาพเดิม แต่กะเทยมันดูออกตั้งแต่ภายนอกแล้ว ก็จะถูกเพ่งเล็ง ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบูลลี่ ยิ่งในสังคมตอนนี้ที่คลั่งกะเทยสวย พื้นที่สำหรับกะเทยไม่สวยก็เหลือน้อยลงมาก

 

สำคัญแค่ไหนกับการทำให้ sex worker เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

 

คิดดูแล้วกันว่าพวกเขาสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากเท่าไหร่ แต่ตอนนี้หลายคนไม่ได้เงินเยียวยา เพราะไปบอกประกันสังคมไม่ได้ว่ามีอาชีพขายบริการทางเพศ พี่ว่ามันเป็นการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในประเทศควรจะได้ คิดว่าอาชีพ sex worker ใครจะเป็นก็ได้เหรอ ไม่จริงเลย คนที่ทำนี่มีแต่มืออาชีพนะ ต้องป้องกันดูแลตัวเองเป็นอย่างดี 

 

การที่ทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายจะไม่มีใครโดนเอาเปรียบ ไม่ต้องเสียค่าคุ้มครอง จ่ายภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง อย่าลืมว่าพวกเขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศมานานเท่าไหร่ อย่าเอาคำว่าศีลธรรม และจริยธรรมอันดีมาขัดขวางตรงนี้เลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในระดับกฎหมายไม่ค่อยมีใครออกมาสู้อย่างตรงไปตรงมา จริงๆ ถ้าดูเทรนด์ในสังคมตอนนี้ก็มีความหวังมากขึ้นนะ ใครออกมาเหยียดกะเทยก็มักจะโดนทัวร์ลง ทันที  แล้วก็มี sex worker บางคนออกมาเล่าเรื่องตัวเอง หลายคนก็ชื่นชม พี่ว่าสังคมมันเริ่มละลายพฤติกรรมแล้ว


ทัวร์ลง: เป็นสำนวน หมายถึง การแสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามจากคนจำนวนมาก

 

อย่าว่าแต่ทำให้อาชีพ sex worker ถูกกฎหมายเลย แค่เรื่อง same sex marriage ที่ดูจะง่ายกว่ายังไม่ได้กัน พี่ดอยว่าเรื่องนี้มันสร้างผลกระทบอะไรให้กับสาวข้ามเพศด้วยไหม

 

งานวิจัยของสหภาพคนข้ามเพศยุโรป ภายใต้โครงการติดตามการสังหารคนข้ามเพศ พบว่าสถิติคนข้ามเพศถูกฆ่าสังหารทุก 72 ชั่วโมงทั่วโลก เป็นผลมาจากความเกลียดชัง ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ส่วนกฎหมายคู่ชีวิตมันคืออย่างนี้ บางคู่คบกันมาเป็นสิบๆ ปี แฟนเกิดอุบัติเหตุ เข้าไปเยี่ยมในไอซียูไม่ได้ ไปบอกลาครั้งสุดท้ายยังไม่ได้เลย ทรัพย์สินที่หามาก็โดนยึดหมด ทั้งๆ ที่หามาด้วยกันด้วยความรักความสัมพันธ์นะ ยกตัวอย่างอีกเรื่องคือล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อก่อนกะเทยโดนข่มขืนแล้วไปแจ้งความโดนตำรวจหัวเราะใส่นะ บูลลี่เราด้วยว่าไปทำอะไรผู้ชายเขาก่อนหรือเปล่า ในตัวกฎหมายก็ระบุแค่ว่าชายหรือหญิงที่โดนกระทำ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลกระทำต่อบุคคลแล้ว เอาเพศออกไปก็ดีขึ้นกว่าเดิม แค่อยากบอกว่ากฎหมายจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแบบไม่ต้องตีความ หรือคิดกันไปเอง

 

แล้วตอนนี้มูลนิธิซิสเตอร์ขับเคลื่อนอะไรอยู่บ้าง

 

เราสู้กันทุกทางโดยแบ่งเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งผลักดันนโยบาย กับฝั่งการสร้างความเข้าใจให้ผู้หญิงข้ามเพศรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงเดือดร้อน ให้เขารู้ว่าสวัสดิการต่างๆ ที่เราได้โคตรจะไม่แฟร์ทั้งที่จ่ายภาษีเท่ากัน กว่าคนทั้งสังคมจะเข้าใจ และยอมรับ มันต้องผ่านในระดับทัศนคติของพวกเขาด้วย 

 

ส่วนตอนนี้ที่ทำอยู่หน้างานคือโครงการ ‘เทยชนะ’ เราจะจัดข้าวสารอาหารแห้งให้น้องกะเทยที่ตกงานมากว่า 2 ปีได้มีข้าวกิน ให้กำลังใจเขาด้วย พยายามโอบอุ้ม และให้คำปรึกษาพวกเขาให้อยู่กับความเป็นจริง พี่ว่าพัทยามันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหลังจากนี้ บางคนเป็นนางโชว์มาทั้งชีวิตเขาก็เครียดว่าจะทำอะไรต่อไปดี เราพยายามสร้างพลังบวก ประคองจิตใจกันไป ตอนนี้พี่ทำคลิปสอนแต่งหน้า กับทำขนมด้วย ไม่ได้คาดหวังให้เขาเอาไปประกอบอาชีพ แต่อยากให้ดูเพื่อความบันเทิง ลืมความทุกข์ไปสักพัก อยากให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีก่อน

 

จริงๆ แล้วหน่วยงานไหนที่ต้องเข้ามาดูแลตรงนี้

 

พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน โควิดนี่มันไม่เลือกเพศนะ กะเทยพัทยาติดกันเยอะมาก พอไปโรงพยาบาลสนามก็เจอปัญหาว่าจะอยู่โซนผู้หญิงหรือผู้ชาย พอไปอยู่ฝั่งผู้ชายเขาก็เป็นทุกข์ อันที่จริงเราควรมีรัฐสวัสดิการสำหรับกะเทย มีฮอร์โมนให้กินฟรี คนทั่วไปไม่รู้หรอกว่าเวลากะเทยขาดฮอร์โมนจะส่งผลกับทั้งร่างกาย และจิตใจ เกิดภาวะเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย กระดูกก็เปราะ ล้มเจ็บกันได้ง่ายอีก กะเทยทุกคนที่เสียภาษีไป ต้องได้สวัสดิการนี้กลับมา

 

ยังอีกไกลไหมสำหรับการสร้างความเข้าใจเรื่องผู้หญิงข้ามเพศ

 

เราเคยทำงานร่วมกับ UNDP ไปอบรมตำรวจให้มีความละเอียดอ่อนในการจับกุมกะเทยมากขึ้น ไม่ใช่เห็นใครเป็นกะเทยก็คิดว่าเขามาขายบริการหมด ไม่อย่างนั้นจะกระทบกับการท่องเที่ยวแน่ๆ เพื่อนพี่บางคนไม่กล้าไปเดินพัทยาตอนกลางคืนก็เพราะกลัวว่าจะถูกจับ ตอนหลังถึงจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนยังมองไม่เห็น เช่น sex worker ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งโควิดนี่แย่เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงการตรวจเลย ‘กะเทยเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน’ มันคือคำนี้เลย บางคนเคยตรวจเลือดแล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ก็ไปรับยาต้านฟรีไม่ได้ ต้องเสียเงินหลายบาท พี่ก็มาช่วยตรงนี้ไม่ใช่เพราะสงสาร แต่เพราะรู้สึกว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

 

ก้าวต่อไปของมูลนิธิซิสเตอร์คืออะไร

 

ที่ทำอยู่แล้ว และทำมาตลอดคือต้องเป็นมากกว่าศูนย์ดูแลสุขภาพของผู้หญิงข้ามเพศ แต่ต้องมองลึกไปในระดับ wellbeing คือการมีสุขภาวะที่ดี ทำเรื่องปากท้องกับเรื่องวิถีชีวิตมากกว่านโยบาย เราเลยร้อยเรียงประเด็นระดับชุมชนมาเป็นระดับประเทศ แล้วก็ระดับภูมิภาคด้วย ส่วนที่ต้องทำเพิ่มคือเรื่องฐานข้อมูลสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ เพราะเวลาจะเพิ่มหรือเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ต้องใช้ข้อมูลพวกนี้สนับสนุน มีอีกหลายอย่างต้องทำ มีอีกหลายเรื่องที่ต้องสู้

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779