• Published Date: 18/08/2021
  • by: UNDP

Youth Dialogue: เยาวชนชาติพันธุ์ x เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียนรู้ความหลากหลายของทุกคนในสังคม

 

ความสวยงามของธรรมชาติคือการรวมไว้ซึ่งพืชพรรณมากกว่าล้านชนิด สัตว์หลายหมื่นสายพันธุ์ รวมทั้งสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประดิษฐกรรมเรื่องการแบ่งกลุ่มหรือจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหม่มากเมื่อเทียบกับอายุของโลกใบนี้ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญของใครหลายคนที่พร้อมจะก่อให้เกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งความเจริญพวยพุ่งเข้าสู่ส่วนกลางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งผลักให้คนอีกจำนวนหนึ่งไหลไปอยู่ชายขอบมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง และพร้อมที่จะแสดงออกสู่สาธารณะอย่างกล้าหาญ

 

หลายครั้งที่พวกเขาถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะเข้าไม่ถึงสิทธิ และสวัสดิการของรัฐซึ่งเปรียบเสมือนเค้กก้อนใหญ่ที่ต้องตัดแบ่งให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งส่วนมากมักจะมาพร้อมเงื่อนไขต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น สัญชาติ หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน รัฐสวัสดิการที่ควรได้ถูกฉกชิงไปเพราะว่าเขาแค่แสดงออกไม่เหมือนพวกเราตามบรรทัดฐานของสัมคมแค่นั้นเองเหรอ? ในฐานะที่เราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน แค่นี้ก็น่าเพียงพอแล้วไหมที่จะเป็นมาตรฐานชี้วัดศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของทุกคน

 

“คุณคิดว่าความเป็นชาติพันธุ์ส่งผลต่ออะไรบ้างในชีวิตประจำวันของเรา?”

 

คำถามเปิดประเด็นการสนทนา Youth Dialogue ครั้งที่ 1 ของวงเยาวชนชาติพันธุ์ที่ Youth Co: Lab ได้รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงมุมมองและปัญหาที่แต่คนละพบเจอได้อย่างน่าสนใจ 

 

 

อยู่อย่างไม่มั่นใจ อยู่อย่างคนไร้สัญชาติ

ประเด็นหลักที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยกขึ้นมาในการเสวนาครั้งนี้ คือเรื่อง ‘สัญชาติ’ ซึ่งถือเป็นปัญหาร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ชาติ – ตัวแทนจากกลุ่มคนไทใหญ่เปิดประเด็นว่าสัญชาติส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าไปติดต่อในหน่วยงานราชการเพราะถูกเลือกปฏิบัติมาตลอด พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเมืองชั้น 3 ของประเทศที่ตะโกนเท่าไหร่ก็ไม่มีใครได้ยิน ในขณะที่การทำเรื่องขอสัญชาติก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ตั้งแต่เรื่องการเดินทางจากในพื้นที่ตัวเองเข้าไปที่หน่วยงาน และเอกสารต่างๆ ที่มีไม่ครบถ้วน หลายคนตัดปัญหาด้วยการให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยซึ่งตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่นเดียวกับ ศิริ – ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ให้รายละเอียดเพิ่มว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาตามสภาพสังคม รัฐไม่เข้าใจตรงนี้ และมองว่านี่คือการไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

 

ปัญหาทับซ้อนในพื้นที่ เด็ก ผู้หญิง และกลุ่ม LGBTQ+ ยังไม่ได้ไปต่อ

ในความชายขอบก็ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ถูกทิ้งให้อยู่ไกลออกไปอีก ศิริเล่าว่าก่อนโควิดจะมาได้ทำวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก พบว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากเพราะไม่ได้มีสถานะผู้นำครอบครัว และยังต้องพึ่งพิงทรัพยากรต่างๆ ที่ผู้ชายเป็นคนหามา ปัญหาหลักที่ศิริเจอมีอยู่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) ผู้หญิง และ LGBTQ+ มีอำนาจในพื้นที่น้อยมาก 2) ความรุนแรงทางเพศ และ 3) ความยากจนในท้องถิ่น แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะทำเกษตรกรรมเพื่อเก็บไว้เป็นอาหารในระยะยาว แต่สิ่งที่ศิริเจอคือความอดอยาก ผู้หญิงที่ให้ข้อมูลคนหนึ่งบอกว่าข้าวสารที่มีเป็นมื้อสุดท้ายแล้ว ไม่รู้ว่าต่อจากนี้จะเอาที่ไหนกิน

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการศึกษา เด็กตั้งแต่อายุประมาณ 5 ขวบต้องหาทางออกไปเรียนนอกชุมชนตัวเอง ทำให้พวกเขาเสียโอกาสที่จะได้ซึมซับวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาอยู่ที่บ้านก็ไม่มีองค์ความรู้ในการทำงาน อาชีพที่มีในชุมชนก็ไม่ตอบโจทย์ ปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของเยาวชนกลุ่มนี้คือความไร้สัญชาติที่ทำให้พวกเขาไม่มีบัตรประชาชนใช้เป็นหลักฐานในการทำงานที่อื่น แม้ว่าจะอ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์กระทรวงศึกษาฯก็ตาม ชีวิตนอกชุมชนจึงเป็นเพียงการเปิดโลกกว้างให้เห็นความเป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุในชุมชนนั้นมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่พวกเขาขาดก็คือการสื่อสารภาษาไทย ผู้สูงวัยจำนวนมากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยอย่างยากลำบาก

 

 

นวัตกรรมไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่คือกระบวนการ

น้ำ – ตัวแทนจากกลุ่มชาวอาข่าที่ยอมรับว่าตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมากกว่าที่บ้าน น้ำมีประสบการณ์ในเรื่องอาหาร และพบว่าความหลากหลายของอาหารในชุมชนมีเยอะกว่าในเมืองมาก เธอจินตนาการว่าหากวันหนึ่งไม่มีคนอยู่ที่บ้านแล้ว คงน่าเสียดายที่ปล่อยให้ความหลากหลายเหล่านั้นหายไป น้ำจึงกลับไปที่บ้านแล้วสำรวจอาหารในชุมชนอย่างจริงจัง เธอชวนเยาวชนมาพูดคุย และต่อยอดด้วยการปลูกพืชดั้งเดิมเพื่อให้มีอาหารเพียงพอ และส่งต่อไปยังชุมชนภายนอกได้ด้วย

 

ชาติพบว่าเคส ‘น้องหม่อง 13 หมูป่า’ สามารถพัฒนาสถานะได้เร็วขึ้นเพราะสื่อให้ความสนใจ เขาจึงเริ่มทำสื่อ และเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างพลังและความมั่นใจให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงสื่อได้เร็วกว่า ให้เด็กๆ รู้ว่าขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีการเปิดเผยขั้นตอนต่างๆ อย่างโปร่งใส่ การเลือกปฏิบัติ และการคอร์รัปชั่นก็จะลดลง

 

สำหรับศิริ งานวิจัยของเธอคือความหวังของคนทั้งหมู่บ้าน ศิริเดินหน้าไปประชุมกับ อบต. และทำโครงการขึ้นมาจนได้รับทุนเพื่ออบรมผู้หญิงในชุมชนให้สามารถหารายได้จากการทอผ้า เธอเดินทางไปดูงานหลายแห่งจนกลับมาทำให้ชุมชนสามารถทอผ้าผืนแรกได้ในที่สุด ผู้หญิงเจ้าของผลงานรู้สึกดีใจมากที่ขายผ้าทอของตัวเองได้ เธอเล่าให้ศิริฟังว่าทั้งชีวิตไม่เคยซื้ออะไรด้วยเงินของตัวเองเลย อำนาจทางการเงินทำให้เธอรู้สึกมีคุณค่า และสมาชิกในกลุ่มทอผ้าก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าวิกฤตโควิดจะทำการขายผลงานของพวกเธอต้องหยุดชะงัก แต่ศิริเชื่อว่าจุดเริ่มต้นได้เกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะไปได้ดีแค่รอเวลาอีกหน่อย

 

รัฐสวัสดิการที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานหลายร้อยปี พูด-เขียนภาษาไทยได้ และบางคนก็เข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของตลาดแรงงาน แต่พวกเขากลับได้สวัสดิการน้อยที่สุด พวกเขาไม่เคยได้รับเงินเยียวยาใดๆ ที่รัฐบาลประกาศแม้แต่บาทเดียวในช่วงที่โลกแห่งการทำงานต้องหยุดชะงัก นั่นเพราะพวกเขาไม่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลทางการ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องวัคซีน หรือการป้องกันไวรัสเลย วิธีลงทุนของรัฐสมัยใหม่จึงต้องสร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีให้กับคนทั้งประเทศ เพื่อลดอัตราปัญหาต่างๆ และส่งเสริมให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในชีวิต เพื่อนำพลังตรงนี้ไปต่อยอด และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้สังคมได้เดินหน้าต่อไป

 

ยังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจอีกมากที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม LGBTQ+ ในชุมชนที่ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ เราแทบจะไม่เคยเห็นหรือไม่มีจินตนาการเรื่อง ‘LGBTQ+ ชาติพันธุ์’ ซึ่งเราควรจะมีพื้นที่ให้พวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

เพราะโลกของเราไม่ได้มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย

อีกวงสนทนาหนึ่งที่ UNDP ชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยด้วยอย่างน่าสนใจคือ ‘เยาวชนกับความหลากหลายทางเพศ’ เพราะโลกของเราไม่ได้มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย การเข้าใจความแตกต่างตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญของสังคมในอนาคต ยิ่งประชาชนมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศได้ และผลักให้คนในสังคมไปต่อในการสร้างอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง

 

ลดอคติ เพิ่มอัตลักษณ์ สร้างความเข้าใจ

หลายคนเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมาช้านาน แต่บางคำถามก็ยังตอบไม่ได้ เช่น ทำไมยังไม่มีกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกัน หรือความเท่าเทียมกันในโลกแห่งการทำงานมีจริงหรือไม่ มากไปกว่านั้นความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ยังมีจำกัด ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มองว่ากลุ่ม LGBTQ+ คือผู้หญิงที่อยากเป็นชาย หรือผู้ชายที่อยากเป็นหญิง เมื่อพูดถึงผู้หญิงข้ามเพศที่ชอบผู้หญิง ก็จะเกิดข้อสงสัยว่าสิ่งนี้เป็นไปได้จริงหรือ?

 

เค (นามสมมติ) – ตัวแทนจากภาคเหนือที่นิยามตัวเองว่าเป็นทรานส์เมน เขา (ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถใช้สรรพนามอื่นได้ เช่น เธอ พวกเขา คือใช้ชื่อแทนไปเลย ตามความต้องการของคนที่เราคุยด้วย) รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทอม แต่เป็นผู้ชาย หลายครั้งที่เคไปสถานที่ราชการแล้วโดนมองด้วยสายตาแปลกๆ เพราะอัตลักษณ์แสดงออกอยู่นั้นไม่ตรงตามคำนำหน้าในบัตรประชาชน เคจึงรู้สึกว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้าเราสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตัวเองได้

 

เอส (นามสมมติ) – ตัวแทนเยาวชนแรงงามข้ามชาติที่แชร์ให้ทุกคนฟังว่าสังคม LGBTQ+ ในเมืองไทยได้รับการยอมรับกว่าประเทศเมียนมาร์มาก แต่เขาก็ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวได้อยู่ดี เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านเสียใจเพราะอัตลักษณ์ของเขาไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานของเพศชายในสังคม

 

เยาวชนตัวแทน จากกลุ่ม Pink Monkey กล่าวว่า น้องมาจากครอบครัวที่ไม่มีปัญหาในอัตลักษณ์ที่เขาเป็น แต่กลับเจอการคุกคามทางเพศจากครูที่โรงเรียน น้องรู้สึกว่าการเป็น LGBTQ+ ไม่ได้แปลว่าจะชอบเรื่องเพศตลอดเวลา ครั้งหนึ่งครูเปิดคลิปที่เห็นอวัยวะเพศให้เขาดูและบอกว่าโตขึ้นไปเดี๋ยวเขาก็ชอบ ตัวแทนเยาวชนท่านนี้อยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

บี (นามสมมติ) – ตัวแทนจากกลุ่ม Free Enby Thailand ที่นิยามว่าเป็น Non-biary และอยากให้ทุกคนใช้สรรพนาม They ในการเรียกตัวเอง บิ๊วอยากเรียกร้องไม่ให้มีการระบุเพศตั้งแต่เกิดเพราะเชื่อว่าการเลือกนั้นเป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคน กรอบเรื่องเพศมักจะแบ่งแค่หญิงกับชายเท่านั้น พวกเขารู้สึกว่าโลกเรามันมีความหลากหลายกว่านี้

 

นี่เป็นเพียงเสียงจากตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งมีความสำคัญต่อไปในโลกอนาคต เมื่อมนุษย์เห็นคุณค่าและตัวตนของตัวเองมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินชีวิตในกรอบที่สังคมได้วางเอาไว้ ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิของคนอื่น ความหลากหลายตรงนี้ก็ควรได้รับการยอมรับจากทุกคน วงสนทนานี้ยังได้แยกห้องย่อยออกไปอีก 4 กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น

 

 

ห้องที่ 1: นอนไบนารี่และตัวตนที่มองไม่เห็นในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ถ้าเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางเพศเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นิยามของคำว่า Non-binary ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เป็นสำนึกทางเพศที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชายตามขนบ ไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม เป็นคำเรียกกว้างๆ ที่สามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายอย่าง เช่นการผสมผสานระหว่าง 2 เพศ (Androgyne) หรือเพศที่ไหลลื่นไปมา (Gender Fluid) รวมทั้งยังมีบางส่วนที่ยัง Q-Questioning หรือคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบว่าแท้จริงแล้วเรามีความสุขกับการเป็นแบบไหนที่สุด เช่น ถ้าเป็นทอมแต่ไม่ห้าว แต่งหน้า และชอบผู้ชายด้วย เรายังเป็นทอมอยู่หรือไม่ คำตอบที่กว้างขวาง และเข้าใจทุกคนมากที่สุดก็คือ “เราเป็นอะไรก็ได้” นอกจากนี้ Non-Binaryยังเป็นการมาถึงของการสั่นคลอนระบบสองเพศ ไม่ต้องอยู่ในบรรทัดฐานเดิมตามระบบที่ระบุไว้ เช่น กะเทยไม่จำเป็นต้องสวยตามคตินิยมที่สังคมสร้างไว้ แค่รู้สึกภูมิใจในคุณค่าของตัวเองก็พอแล้ว ผู้ที่สามารถสร้างความเป็นธรรม และความเท่าเทียมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้คือรัฐ เมื่อกฎหมายเข้าใจ ยอมรับ และไม่เลือกปฏิบัติต่อทุกอัตลักษณ์ ความหลากหลายก็จะเบ่งบานในสังคมนี้ได้อย่างเต็มที่

 

ห้องที่ 2: สุขภาพจิต ตัวตน การยอมรับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ทำไมการเป็น LGBTQ+ ต้องมีเงื่อนไขในการทดสอบความเป็นมนุษย์มากกว่าคนอื่น” คำถามอันทรงพลังที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในห้องนี้พูดถึงเพื่อเขย่าทัศนคติของคนในสังคม สำหรับหลายคน ครอบครัวไม่ใช่ที่ปลอดภัยในเรื่องเพศ บริบทสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในครอบครัวชาวจีน และมุสลิมมักคาดหวังกับลูกชายว่าควรเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งบ้าน เมื่อไหร่ก็ตามที่ความคาดหวังนั้นพังทลาย ความเครียดและแรงกดดันของสมาชิกในครอบครัวก็จะคืบคลานเข้ามาปะทะกันอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดการบังคับ การใช้กำลัง และส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ 

 

สมาชิกคนหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์ของเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นทอม เขาเรียนดี ทำงานดี ครอบครัวเหมือนจะภูมิใจในตัวเขามาก แต่พอถึงวันแต่งงานกลับไม่ขอไปร่วมพิธีด้วยเพราะไม่สบายใจ คำถามก็คือทำทุกอย่างดีแล้วยังไม่ใช่คำตอบอีกหรือ ทำไมความคาดหวังถึงมีมากไม่รู้จบ เมื่อเยาวชนเติมเต็มความสุขคนของคนอื่น แล้วใครล่ะคือคนที่จะมาเข้าใจพวกเขาบ้าง

 

ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ต้องเข้าใจเรื่องความหลากหลายของอัตลักษณ์ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ให้สิทธิความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องกดดันตัวเองให้มีความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ตนเอง ครอบครัวต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำความเข้าใจ และเมตตาตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

ห้องที่ 3: เยาวชนหลากหลายทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

“การเรียกร้องเพื่อให้มีการสมรสเท่าเทียม ต้องควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน” ส่วนหนึ่งจากคำพูดของ ปอ (นามสมมติ) ตัวแทนกลุ่ม Young Pride Club เจ้าของป้าย ‘ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย’ ที่โด่งดังในโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมา ในสังคมที่ทุกเสียงยังไม่ได้ถูกรับฟังอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังโดนกีดกันออกไปจากวงสนทนาที่คนอื่นเชื่อว่ามีเรื่องสำคัญกว่าให้ต้องคุย ปาหนันบอกว่า การทำงานเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในยุคที่ทหารมีอำนาจนั้นเป็นไปไม่ได้เลย สังคมทหารมีแนวคิดชายเป็นใหญ่สูงมาก มีการกดทับเพศอื่นๆ การทำงานเรียกร้องในยุค คสช. จึงไม่เป็น ‘LGBTIQ+ Friendly’ จึงเข้าใจว่าการทำงานเรียกร้องทั้ง 2 เรื่องต้องทำไปพร้อมๆ กัน การลุกขึ้นมาเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาของเธอถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐจนโดนแจ้งความจับในมาตรา 116 ซึ่งได้รับผลกระทบทางจิตใจอยู่พอสมควร แต่กลายเป็นว่าเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ภายหลังที่โดนแจ้งความ ปาหนันมีโอกาสได้ไปพูดในหลายงาน เมื่อมีคนปรบมือให้ เธอก็รู้สึกได้รับการยอมรับ แล้วก็ปลดล็อคจิตใจให้กลับมาทำงานได้

 

หากมองภาพกว้างของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมในครั้งนี้ ขบวนการความหลากหลายทางเพศนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บุคคลชายขอบได้มีพื้นที่ให้ออกมาเรียกร้องในแนวทางของตัวเอง เพราะเมืองไทยยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่รอได้รับแสงไฟให้มองเห็น

 

กลุ่มที่ 4: ความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา

โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งควรจะปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนทั้งทางกาย และทางใจ แต่กลายเป็นว่าบุคลากรทางการศึกษาหลายคนไม่เข้าใจประเด็นนี้ และผลิตซ้ำอคติทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นภาระของนักเรียนที่ต้องรับมือ และก้าวข้ามมันไปให้ได้ บรรยากาศในห้องเรียน เช่น การมองกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องตลก หรือสร้างแรงผลักดันแบบผิดๆ เช่น “เป็นตุ๊ดต้องตั้งใจเรียน” ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอื่น ครูบางคนคาดหวังหางเสียงตามเพศสภาพของนักเรียน เช่น ถ้าตอนเช็คชื่อแล้วเด็กนักเรียนชายพูดว่า “ค่ะ” ก็จะตั้งคำถามกดดัน และบังคับให้พูด “ครับ” ในที่สุด พูดให้เห็นภาพคือหลายครั้งครูเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างบาดแผลแก่เด็กก่อนที่พวกเขาจะออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก และเมื่อครูทำผิดก็จะมีคนคอยสนับสนุนครูผู้นั้นด้วย 

 

ข้อเสนอแนะที่ทุกคนได้ช่วยกันแชร์จากกลุ่มนี้คือ สถานศึกษามีหน้าที่สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ พร้อมส่งเสริมให้ทุดคนเรียนรู้การปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม พวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ต้องเป็นคนที่ปกป้องเด็ก และไม่ควรยอมให้ใครละเมิดสิทธิลูกตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือไม่อยากให้กลุ่ม LGBTQ+ รังแกหรือเกลียดกันเอง

 

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของความหลากหลายที่ทุกคนควรได้รับรู้ อย่าเอากรอบของเพศสรีระมาเป็นไม้บรรทัดในการเซ็ตมาตรฐานทางสังคม ผู้ชายทุกคนไม่ได้ชอบสีฟ้า และการเตะบอล ผู้หญิงทุกคนไม่ได้ชอบสีผมพู และการแต่งหน้า ความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศมีได้ไม่รู้จบและลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่ทุกคนเข้าใจตรงนี้ เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ และไว้วางใจต่อกันและกันมากขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างก็เป็นคนชายขอบ และในความเป็นชายขอบก็อาจมีชายขอบอีก คนชาติพันธุ์หลายคนก็เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และต้องพบเจอกับอุปสรรคขวากหนามทั้งในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม แต่ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ก็แก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยทั้งปัจเจกและรัฐ รัฐเองต้องสนับสนุนความมั่นใจในตัวเอง (Self Confidence) และการรับรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเอง (Self Esteem) ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในตัวตนของประชาชนทุกคน 

 

เมื่อพวกเขายืนหลังตรงและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง การสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ จะหลั่งไหลมาอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะจะไม่มีใครเป็นผู้พิพากษาตัดสินความถูกผิดในบรรทัดฐานเดิมอีกต่อไปแล้ว กลุ่มเปราะบางจะกลายเป็น ‘คนธรรมดา’ ที่มีศักดิ์ศรี และความเข้มแข็งไม่น้อยไปกว่าคนอื่น พร้อมแต่งแต้มความหลากหลายให้สังคมของเราอย่างที่ควรจะเป็น

 

งานครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือกับองค์กรพาร์ทเนอร์ ทาง UNDP ต้องขอขอบคุณสมาคม IMPECT และ องค์กร Plan International องค์กรพาร์ทเนอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดวงสนทนากับน้อง ๆ เยาวชนชาติพันธุ์ และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศมา ณ ที่นี้ด้วย

 

 

Keywords: , , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779