• Published Date: 29/08/2021
  • by: UNDP

ร่วมสร้าง ‘New Normal’ กับบทเรียนจาก ‘การฟัง’ ชุมชนภาคใต้

หากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 จะช่วยให้เราเข้าใจอะไรสักอย่างได้ดีขึ้น สิ่งนั้นก็คือความจริงที่ว่า เราทุกคนล้วนเปราะบาง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เปราะบางเท่ากันทุกคน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการระบาดและผลกระทบที่ตามมาของโควิด 19 สำหรับผู้คนราว 2.4 ล้านคนในภูมิภาคแห่งนี้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงแต่ประชากรส่วนมากยากจน การระบาดใหญ่ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความยากลำบากใหม่ ๆ แต่ยังตอกย้ำปัญหาที่มีอยู่เดิมให้เลวร้ายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน โควิด 19 ก็กลายเป็นโอกาสสำหรับภูมิภาคนี้ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า แข็งแกร่งกว่า ยั่งยืนกว่า ยืดหยุ่นกว่า และครอบคลุมมากกว่า

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เราไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตได้ด้วยการกลับไปใช้แนวทางการพัฒนาตามปกติเหมือนที่ผ่านมาเพราะโควิด 19 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างผลกระทบซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีบางอย่างหรือวิธีแก้ปัญหาแบบมุ่งเฉพาะจุด สิ่งที่จำเป็นคือการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เป็นเงื่อนไขของการคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้

การเข้าใจความต้องการที่แท้จริง มุมมองและพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริง คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเป็นพิเศษคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในเดือนมีนาคม 2563 โครงการ Youth Co:Lab ที่นำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และมูลนิธิซิตี้ ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 410 รายทั่วเอเชียและแปซิฟิกพบว่า ร้อยละ 90 ของธุรกิจที่บริหารโดยคนหนุ่มสาวได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน โดย 1 ใน 3 รายงานว่าธุรกิจของตนชะลอตัวครั้งใหญ่ และ 1 ใน 4 ต้องยุติกิจการโดยสิ้นเชิง การได้เห็นคนหนุ่มสาวที่มีความเปราะบางอยู่แล้วต้องมาดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือภาพที่น่าใจหายยิ่ง

เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้และอื่น ๆ ศูนย์ภูมิภาคของ UNDP ร่วมกับศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง (ALC) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางสังคมในราชอาณาจักรสเปน ได้สนับสนุน แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมของ UNDP ประเทศไทย ในการทดลองใช้แนวทางใหม่ที่จะช่วยให้ทราบถึงมุมมองและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนได้แบบตามเวลาจริง เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในบริบทของโควิด 19 และนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะร่วมกัน UNDP และ ALC ได้จัดกระบวนการรับฟังเพื่อรวบรวมเรื่องเล่าผ่านการสัมภาษณ์เชิงชาติพันธุ์วรรณากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มในระบบอาหารท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย

กระบวนการรับฟังได้ดึงเอาชุดเรื่องเล่าที่มีความสลับซับซ้อนออกมา และเผยให้เห็นการรับรู้ พฤติกรรม และรูปแบบการคิดในระดับและมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย กล่าวง่าย ๆ ก็คือเราได้รับรู้เรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่าของภูมิภาคนี้ เรื่องราวที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญของภูมิภาคและชุมชนภาคใต้ของไทย เช่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องประสบปัญหาธุรกิจในยามวิกฤต เพื่อทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้สมบูรณ์ขึ้น ได้มีการสร้าง ‘ตัวละครแทน (persona)’ ซึ่งเป็นตัวตนสมมุติและเป็นตัวแทนชุดความคิด พฤติกรรม และมุมมองของคนแต่ะละกลุ่มในสังคม การทำงานเชิงชาติพันธุ์วรรณาอย่างเจาะลึก เช่น การรวบรวมความคิดที่ดูขัดแย้งกันเพื่อทำความเข้าใจและหาค่านิยมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกันที่ซ่อนอยู่ จะช่วยเราสามารถทำแผนที่ของพื้นที่หรือชุมชนในลักษณะที่แยกย่อยได้ละเอียดมาก

ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการรับฟังมีความสำคัญต่อการออกแบบแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับความต้องการและโอกาสของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากชุมชนอีกด้วย เราสามารถนำแนวปฏิบัติจากกระบวนการรับฟังนี้ไปทดลองและขยายผลเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบและเหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วย เช่น โควิด 19

การระบาดของโควิด 19 : ความปกติใหม่แห่งการรับฟังผ่านเครื่องมือดิจิทัล

เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตนี้ ได้มีการนำเครื่องมือการฟังแบบดิจิทัลและเทคนิคการประมวลผลภาษาด้วยปัญญาประดิษฐ์หลากหลายแบบมาใช้ ซึ่งช่วยให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละภูมิภาค ชุมชน และกลุ่มประชากรนั้นได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มแรงงานไทยราว 200,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติวัยหนุ่มสาว หลายคนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หัวหน้าพ่อครัว และพ่อครัวประจำแผนก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและต้องเดินทางกลับจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คือกลุ่มที่เผชิญกับความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงมาก

ตัวอย่างแหล่งข้อมูลดิจิทัลที่มีการใช้ในประเทศไทย

สิ่งที่เราค้นพบคืออะไร? เราพบว่าโดยทั่วไปคนมีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานที่กลับมา แม้กระทั่งก่อนการเกิดโรคระบาด และตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะแย่ลงไปอีก ในภาคใต้ของประเทศไทย หลายคนมีมุมมองเชิงลบต่อคนที่เดินทางกลับประเทศว่าเป็นพาหะนำโรค และมีการเชื่อมโยงไปถึงศาสนาด้วย แรงงานส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับมาคือประชากรมลายูมุสลิมในท้องถิ่น และศาสนกิจของพวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ซึ่งนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติ “ฉันรู้สึกว่าถูกสังคมตีตราเมื่อกลับบ้าน ถึงฉันจะอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็รับรู้ได้ว่าคนในเมืองมองว่าการรวมตัวทางศาสนาของเราหรือการรวมตัวฉีดวัคซีนทำให้เรามีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ อีกอย่างคือฉันเดินทางมาจากมาเลเซียที่มีข่าวการระบาดก่อนหน้านี้ และก่อนที่จะปิดพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีคนประมาณ 50,000 คนที่กลับไทยมาแล้ว”

กิจกรรมการรับฟังทางดิจิทัลในภาคใต้ของประเทศไทย ประกอบกับงานชาติพันธุ์วิทยาแบบดั้งเดิมช่วยให้เราประเมินผลกระทบของวิกฤตและพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพลวัตอำนาจ — ถึงแม้ว่าการระบาดใหญ่ได้ทำให้ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่นที่เปราะบางอยู่แล้วอ่อนแอลง แต่กลับเปิดโอกาสทางธุรกิจที่ไม่คาดคิดให้แก่คนบางกลุ่ม หนึ่งในเรื่องราวที่เราค้นพบคือเรื่องของคุณตริมีซีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงจากนราธิวาสซึ่งพบกับโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่คาดคิดในช่วงวิกฤต คุณตริมีซีเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์และเชี่ยวชาญการผลิตเนื้อเบอร์เกอร์ เมื่อเขาเปิดธุรกิจ เขาเป็นผู้ผลิตอาหารยอดนิยมนี้เพียงรายเดียวในภูมิภาค “เมื่อสามปีที่แล้ว ไม่มีผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในท้องถิ่นเลย ผมก็เลยเริ่มต้นธุรกิจนี้ ผมจัดการเรื่องเอกสารรับรองทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ผมอยากเริ่มธุรกิจเร็ว ๆ ก็เลยมุ่งมั่นมาก ๆ” เขาอธิบาย

พลวัตของอำนาจ : อิทธิพลของโควิด 19

3 ปีหลังจากนั้น คุณตริมีซียังคงเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพียงรายเดียวในภูมิภาค สำหรับเขา นี่เป็นบรรยากาศทางธุรกิจที่ท้าทายเพราะธุรกิจเนื้อสัตว์ในภูมิภาคนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงโครงสร้างและมักถูกมองว่าไม่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณตริมีซีต้องรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นและการขาดความหลากหลายในภูมิภาค “ร้อยละ 80 ของรายได้ของประชาชนที่นี่ขึ้นอยู่กับการเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และราคายางพารา แต่เราขาดห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำที่เหมาะสมสำหรับปศุสัตว์ เครื่องจักร และโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน”

เมื่อวิกฤตโควิด 19 มาเยือนภูมิภาค เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจอื่น ๆ คุณตริมีซีก็ประสบปัญหา ยอดขายของเขาลดลง ทำให้ต้องลดเงินเดือนตัวเองเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลออกมาตรการปิดเมืองและปิดพรมแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อจำกัดการเดินทางและป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจาย สิ่งต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป คู่แข่งของเขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมาเลเซียไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทยได้ ซึ่งทำให้เกิดสุญญากาศและเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับเขา และเขาคว้ามันในทันที ด้วยทักษะและทัศนคติในการเป็นผู้ประกอบการ เขาตัดสินใจดำเนินการอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวเพื่อนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด และทำให้ยอดขายของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขากล่าวว่า “ดูเหมือนว่าธุรกิจของผมจะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่เติบโตได้จริง ๆ ในช่วงของการระบาดใหญ่”

คุณตริมีซีเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่เห็นความท้าทายแต่เลือกที่จะจินตนาการถึงโอกาส เป็นคนที่ริเริ่มแทนที่จะรอให้คนอื่นมาจัดการปัญหาให้ ในความเป็นจริงมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่คล้ายกับคุณตริมีซี คือมีคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ แต่ยังล้มเหลวเนื่องจากระบบนิเวศของธุรกิจในภูมิภาคที่ขาดการพัฒนา ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพ เนื่องจากขาดที่ปรึกษาด้านธุรกิจและทักษะการจัดการ ตลอดจนข้อจำกัดทางการเงิน เงินทุน และการเข้าถึงตลาด

เรื่องราวเหล่านี้ที่เรารวบรวมได้จาการลงพื้นที่เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์และการรับฟังทางดิจิทัลได้แสดงให้เห็นว่าผู้คน กลุ่มต่าง ๆ  และชุมชนกำลังประสบกับผลกระทบของโควิด 19 ในมิติที่แตกต่างกันอย่างไร การรับข้อมูลเชิงลึกตามเวลาจริงเกี่ยวกับความแตกต่างเหล่านี้และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมคือสิ่งสำคัญในการร่วมสร้างแนวทางแก้ปัญหาใหม่ที่ดีกว่า และเหมาะกับแต่ละกลุ่มประชากร

แนวทางจากล่างขึ้นบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางการเรียนรู้เรื่องธรรมาภิบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ (NextGen Governance learning trajectory) ที่จะช่วยให้ผู้มีอำนาจสามารถเลือก จัดการปัญหาที่ซับซ้อน และระบุแนวทางรับมือที่มีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกไม่ใช่แค่สำหรับการฟื้นตัว แต่ไปไกลถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ด้วย

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรามีเป้าหมายคือการจัดตั้งหอสังเกตการณ์เรื่องเล่าพลเมืองดิจิทัล (Digital Observatories of Citizen Narratives) ที่จะให้ข้อมูลอันมีค่าแก่หน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัด ภาคเอกชน และองค์กรชุมชนที่กำลังค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมผ่านการสร้างสรรค์ร่วม

  1. รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับโควิด และจัดประเภทตามประเด็นและภูมิศาสตร์
  2. ทำแผนที่ระบบของแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
  3. ทำแผนภาพเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
  4. สร้างช่องทางการรับฟังใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อวิกฤตโควิด
  5. จัดเตรียมแนวปฏิบัติเรื่องการรับรู้ทางดิจิทัลเพื่อการตีความข้อมูลร่วมกัน
  6. อำนวยความสะดวกในกระบวนการสร้างสรรค์ร่วมผ่านเครื่องมือดิจิทัล
  7. ออกแบบและจัดการพอร์ตโฟลิโอของตัวเลือกและต้นแบบของแนวทางแก้ปัญหา
  8. จัดการและประเมินแพลตฟอร์มร่วมกัน
  9. สื่อสารกระบวนการนี้กับสาธรณะ
  10. ดึงดูดเงินทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

กระบวนการนี้มุ่งหมายที่จะจุดประกายให้คนในภาคใต้ของประเทศไทยหันมาร่วมพัฒนาชุดแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในท้องถิ่น ความสนใจ และค่านิยมของชุมชน และยังมีความคิดริเริ่มมากมายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารให้สามารถฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิด 19 และปรับตัวสู่ ‘ความปกติใหม่’

บทความนี้ร่วมเขียนร่วมโดย Stan van der Leemputte ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมทางสังคมของ UNDP เอเชียและแปซิฟิก และ Itziar Moreno หัวหน้าโครงการของศูนย์ Agirre Lehendakaria Center (ALC) ทั้งสองกำลังดำเนินโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคที่สนับสนุนสำนักงาน UNDP ประจำประเทศในการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อน บรรลุการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Regional Innovation Centre UNDP Asia-Pacific

ที่มาต้นฉบับภาษาอังกฤษ: https://undp-ric.medium.com/informing-the-new-normal-what-we-have-learned-from-listening-to-southern-thai-communities-cdf8ecc2753e

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779