• Published Date: 11/09/2021
  • by: UNDP

ปลุกพลังตลาดอาหารท้องถิ่นสู่การพัฒนาที่ชาญฉลาด ยั่งยืน และครอบคลุมในภาคใต้ของประเทศไทย

ตลาดสดอันคึกคักของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือส่วนสำคัญของระบบอาหารท้องถิ่น สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ความมั่นคงทางอาหาร และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การขาดการส่งเสริมและพัฒนา ประกอบกับผลกระทบล่าสุดจากโควิด 19 ทำให้ทรัพยากรอันมีค่าของชุมชนอย่างตลาดอาหารตกอยู่ในความเสี่ยง คุณพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาซึ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมท้องถิ่นคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง ได้สะท้อนความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้

คุณพาตีเมาะเป็นชาวยะลาโดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 55 ปี เธอเข้าใจถึงความสำคัญของตลาดอาหารท้องถิ่นในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี คุณพาตีเมาะเติบโตขึ้นมาในชนบทที่ยากจนของจังหวัดยะลา และใช้เวลาในวัยเด็กไปกับการช่วยแม่รวบรวมผักในละแวกหมู่บ้านเพื่อนำไปขายยังตลาดรถไฟในเมืองยะลา “สำหรับครอบครัวรายได้น้อยอีกมากมาย เช่นเดียวกับครอบครัวของดิฉัน การนำสินค้าในท้องถิ่นไปขายที่ตลาดคือแหล่งรายได้หลัก และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเรา” คุณพาตีเมาะกล่าว

ชีวิตของผู้คนส่วนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล้วนเกี่ยวพันกับตลาดอาหารในท้องถิ่น เพราะตลาดเป็นทั้งแหล่งโภชนาการ แหล่งรายได้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนของผู้คน สำหรับภูมิภาคที่เต็มไปด้วยพลวัตทางวัฒนธรรมและกำลังถูกท้าทายด้วยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลาดอาหารคือสถานที่ที่ร้อยเรียงผู้คนแตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ส่งเสริมความร่วมมือในสังคมในขณะเดียวกันก็เป็นรากฐานของเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบที่จ้างแรงงานในพื้นที่ คุณพาตีเมาะอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การร่วมมือขององคาพยพต่างๆ เพื่อปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของตลาดอาหารและการใช้ประโยชน์จากการบริโภคและผลิตอาหารที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้า ทั้งที่ตลาดอาหารมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“จริงๆ แล้วเรามีความตั้งใจในการพัฒนามาโดยตลอด แต่เมื่อมาดูองค์ประกอบแวดล้อมของตลาด จะพบว่าระบบตลาดในปัจจุบันมีการพึ่งพาห่วงโซ่คุณค่าอื่นๆ อยู่ในระดับที่สูงมาก จึงยากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวความคิดใหม่ๆในทันทีทันใด ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากขาดแนวทางการมีส่วนร่วมจากสาธารณะที่เหมาะสมและครอบคลุม คนที่ได้รับประโยชน์จากระบบตลาดในปัจจุบันอาจไม่อยากร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเกรงว่าจะกระทบกับแหล่งรายได้ เราต้องเข้าใจว่าตลาดคือแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของหลายๆ คน และอีกหลายคนก็มองว่าไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบความเป็นอยู่ของตัวเอง” 

ถึงแม้มีความซับซ้อนและท้าทายอยู่บ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกันยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จด้วย คุณพาตีเมาะกล่าวว่าการปรับรูปแบบตลาดอาหารท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังวิกฤตโควิด 19 จะเป็นโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่เรื้อรังซับซ้อนและคาบเกี่ยวกับมิติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ความมั่นคงด้านอาหาร และความยากจน เพื่อให้แนวคิดของการพัฒนาสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง คุณพาตีเมาะเสนอว่า “การพัฒนาใด ๆ จะต้องให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมที่สร้างโดยท้องถิ่น ขับเคลื่อนโดยผู้ใช้งาน และยึดโยงกับบริบทในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ และต้องทำความเข้าใจพลวัตในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาของประชาชน สามารถให้การสนับสนุน กำหนดมาตรฐาน และให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด” 

ผลกระทบในปัจจุบันของโควิด 19 ทำให้ระบบอาหารของประเทศไทยสะดุด และทำให้เราเห็นความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารและตลาดในท้องถิ่นที่มีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างชัดเจนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอาหารที่ต้องพึ่งพาองค์ประกอบต่างๆมากมาย เมื่อมีปัญหาจะส่งผลกระทบกระจายไปถึงระบบการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาต่อความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง ALC ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรม ในการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Platform: SIP) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แนวทางจัดการและเชื่อมโยงงานพัฒนาแบบพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารในท้องถิ่นให้ยั่งยืน แพลตฟอร์มนวัตกรรมที่เปิดกว้างแบบนี้ใช้กระบวนการรับฟังเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพลวัตและความซับซ้อนในท้องถิ่น สามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆและที่สำคัญ คือการนำไปใช้ประโยชน์บนฐานความคิดสร้างสรรค์และความรู้ของสังคมทั้งหมดเพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่มีพื้นฐานจากความร่วมมือกับประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง

ด้วยความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ สถาบันวิชาการ นักกิจกรรมสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ผู้ประกอบการด้านอาหาร และผู้จัดการตลาดในพื้นที่ ได้นำมาสู่การออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาชุดแรก (ต้นแบบ) สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครยะลากับ UNDP เพื่อร่วมกันออกแบบกลยุทธ์ดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบแหล่งที่มาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่ในตลาดและโครงการนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับตลาดสดในท้องถิ่น การตรวจสอบแหล่งที่มาจะช่วยสร้างความตระหนักและสร้างความต้องการใหม่ ๆ ด้านความมั่นคงด้านอาหาร อาหารปลอดภัย และความยั่งยืนในหมู่ผู้บริโภคและผู้ผลิต ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารต้นทางแบบมีส่วนร่วม (PGS)ในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจะร่วมกับนักกิจกรรมสร้างสรรค์ ภาคเอกชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อออกแบบแนวทางการจัดงานประเภทอีเว้นท์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างแท้จริงต่อระบบอาหาร เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ รวมทั้งการผลิตสารคดีที่บอกเล่าถึงสูตรอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และวิถีชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับตลาดในท้องถิ่น

เพื่อหนุนเสริมการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในช่วงของการนำร่อง แนวทางแก้ปัญหาต้นแบบเหล่านี้จึงถูกออกแบบให้มีความเชื่อมโยงในหลายระดับและเชื่อมโยงกันทั้งเชิงแนวคิดและการปฏิบัติ รวมทั้งเชื่อมโยงกับตลาดอาหารในเขตเทศบาลนครยะลาในฐานะพื้นที่นำร่อง แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้สอดคล้องเป็นอย่างดีกับปณิธานของเมืองยะลาที่จะฟื้นฟูสังคมให้กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมผ่านโครงการเมืองอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มดิจิทัลล่าสุดของเทศบาลที่มีเป้าหมายในปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของบริการสาธารณะ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ยังมีโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาตลาดออนไลน์สำหรับผู้ผลิตและผู้ให้บริการในท้องถิ่นที่เรียกว่า “หลาดยะลา” อีกด้วย ในประเด็นนี้คุณพาตีเมาะมองว่าการมีนวัตกรรมที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับอาหารในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุม การสร้างความร่วมมือในสังคม การกำหนดมาตรฐาน และการวางโครงสร้างใหม่ คือความคิดริเริ่มที่มีประโยชน์ในการปลุกพลังของตลาดอาหารในท้องถิ่น

ทางด้านคุณเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย ได้อธิบายว่า แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคม (SIP) จะตอบสนองต่อความพยายามของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น เนื่องจากแพลตฟอร์มจะช่วยกระตุ้นและเสริมพลังให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นให้มีบทบาทในการสร้างนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือหลายระดับและหลายภาคส่วน เป็นความร่วมมือที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาแบบจุดเดียว แต่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับลักษณะของปัญหาอันซับซ้อนของพื้นที่

ในเดือนกันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ องค์การสหประชาชาติจะจัดการประชุมสุดยอดระบบอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ทศวรรษแห่งการทำจริง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะมีการเปิดตัวแนวปฏิบัติและโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญในการผลักดันความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ซึ่งล้วนต้องอาศัยการสร้างระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และเท่าเทียมมากขึ้น และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นในการทดสอบว่าแนวทางเช่น แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมของประเทศไทย (SIP Thailand) จะมีบทบาทในการเร่งการเปลี่ยนแปลงของระบบที่ซับซ้อนและพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้ได้อย่างไร ดังที่คุณพาตีเมาะได้กล่าวไว้ว่า ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่มีต่อ “ผู้มีส่วนได้เสีย” และความพยายามในการสร้างสรรค์ร่วมกันควบคู่ไปกับการทำแผนที่ของความเชื่อมโยงด้านการพัฒนา คือกุญแจสำคัญในการทำลายกำแพงเพื่อสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเร่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

—————————————————————-

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง (The Agirre Lehendakaria Center หรือ ALC) ศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมทางสังคม และคณะทำงานด้านธรรมาภิบาลระดับท้องถิ่นของ UNDP ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ยกระดับวิถีชีวิต ความร่วมมือในสังคม และธรรมาภิบาลท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมที่ใช้ศักยภาพของระบบอาหารเป็นสื่อกลางในการจัดการปัญหาที่ซับซ้อนในการพัฒนาท้องถิ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779