• Published Date: 10/05/2021
  • by: UNDP

บางโฉลงโมเดล: ศูนย์ครบวงจรที่ทำให้เรื่องการออกแบบพื้นที่และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนเป็นเรื่องเดียวกัน

การออกแบบพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือแนวคิดที่สมาชิกของทีมบางโฉลงโมเดลยึดถือ

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่นี้หมายรวมถึงหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ สุขภาพไปจนถึงสังคม

บางโฉลงโมเดลเป็นการรวมตัวของสามนิสิตภูมิสถาปัตยกรรม(landscape architect students) นนท์-ปฐวี ลุผลแท้ เฟิร์น-กชวรรณ ละโว้ชัย และเจมส์-พฤฒพงศ์ เพชรศรีสม กับอีกหนึ่งนิสิตสถาปัตยกรรม โด้-เวธน์ มโนจุรีหกุล ด้วยภูมิหลังทางการศึกษานี้พวกเขาจึงมีความสนใจและความเชี่ยวชาญด้านการออกพัฒนาพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะ 

บางโฉลงโมเดลมีเป้าหมายเป็นศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Service) ที่จะช่วยต่อยอดกิจกรรมในชุมชนให้เกิดรายได้ ช่วยวางแผนจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปถึงการหาตลาด ขณะเดียวกันก็มีอีกหนึ่งภารกิจในการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะของชุมชนนั้นๆ เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ชุมชนแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมรวมตัวกันคือชุมชนเคหะบางโฉลง ชื่อชุมชนจึงเป็นที่มาของชื่อทีม แต่เดิมชุมชนนี้มีการใช้พื้นที่เศษเหลือปลูกผักเป็นงานอดิเรก ทีมบางโฉลงโมเดลจึงเห็นโอกาสในการต่อยอด พ่วงการปลูกผัก พัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นเครื่องพิสูตน์ว่าการปลูกผักในเมืองคือเรื่องที่อยู่รอดได้จริง

 

ปลูกดอกออกผล

  เคหะบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการคือชุมชนที่มีตึก 96 ตึกเรียงรายแน่นขนัดในพื้นที่อันจำกัด บริเวณพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นที่จอดรถ

“เราสังเกตว่าคนไม่มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่นเลย เราเลยเข้าไปดีลกับนิติว่าถ้าเราพัฒนาพื้นที่ปลูกผักขายแล้วได้เงิน เราจะเอาเงินส่วนหนึ่งมาพัฒนาพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของคนที่นั่น” นนท์เล่ากลไกให้ฟังอย่างรวบรัด พื้นที่ที่ทีมบางโฉลงโมเดลตั้งใจพัฒนาจึงมีสองส่วน หนึ่งคือพื้นที่เพื่อปลูกผักต่อยอดจากกิจกรรมเดิมที่ชุมชนทำอยู่แล้วให้เกิดรายได้ และสองพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ที่ผ่านมาชุมชนบางโฉลงมีการปลูกผักในพื้นที่เศษเหลือ (leftover space)อยู่แล้ว โดยมีผู้อยู่อาศัยกลุ่มเล็กๆ จาก 1 จาก 5 นิติบุคคลที่เป็นผู้ปลูก ทว่าผักที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อกิน ไม่มีเหลือพอขายด้วยพื้นที่ที่จำกัด

“เราเลยคิดกันว่าเราจะมาต่อยอดช่วยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเขาลงแรงทุกพื้นที่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะใช้ได้ และสองคือการให้ความรู้ด้านการปลูกว่าปลูกอะไรจะรองรับทั้งตลาดในและนอกชุมชน และปลูกด้วยวิธีที่เสี่ยงต่อโรคหนอนแมลงได้น่าจะดี” นนท์เล่าให้ฟัง

โด้อธิบายกระบวนการทำงานให้ฟังตั้งแต่ต้นว่าทางทีมเข้าไปคุยกับคนในชุมชนว่าต้องการพื้นที่แบบไหน มีอะไรที่อยากได้เป็นพิเศษ จากนั้นจึงวางแผนร่วมกันว่าหากแต่ละขั้นตอนสำเร็จ ชุมชนจะได้อะไร และทีมจะพัฒนาอะไรให้บ้าง

“การได้พูดคุยกันก่อนแบบนี้มันเป็นการตรวจสอบและเป็นคานงัด (leverage) ไปในตัว มันทำให้ทั้งเราทั้งชุมชนทำงานตามแผนกันได้ดีขึ้น และเห็นผลชัดเจนว่าใครได้อะไรในแต่ละขั้นตอน” 

เมื่อทีมบางโฉลงโมเดลผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายของโครงการ Youth Co:Lab 2020 และได้ทุนทดลองทำจริง จากไอเดียปลายทางที่ทีมเสนอต่อชุมชนคือการดัดแปลงโครงสร้างหลังคาให้เป็นที่ปลูกผักบนดาดฟ้า ทางทีมได้รับเป็นการทำโครงสร้างยกเหนือพื้นดินที่ตั้งวางได้ทุกที่ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ โดยมีโด้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบหลัก

“ฟีดแบกที่ได้เบื้องต้นคือเขาไม่ต้องปวดหลัง ค่าดูแลรักษาแปลงผักก็น้อยกว่าเพราะเสี่ยงกับโรคแมลงน้อยกว่า และสามารถควบคุมปัจจัยอื่นๆ ได้ดีกว่า” นนเล่าว่าคนที่ปลูกผักในชุมชนอายุประมาณ 50-60 ปี การไม่ต้องก้มเก็บผลผลิตที่อยู่ในระดับพื้นดินนั้นดีต่อสุขภาพกายของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด 

ด้านเฟิร์นเสริมว่าก่อนนี้การปลูกพืชในระดับดินมีปัญหาตรงที่บางจุดปลูกไม่ได้ตลอดปีเพราะมีน้ำท่วมขัง การปลูกบนโครงสร้างเหนือพื้นดินช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้ด้วย

นอกจากการเปลี่ยนลักษณะพื้นที่เพาะปลูกแล้ว บางโฉลงโมเดลยังให้ความสำคัญกับการเลือกชนิดพืชพรรณที่ลงทุนปลูกด้วย

“เราแนะนำให้เขาปลูกผักสลัดทั้งกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เพราะผักพวกนี้มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ในตลาด คู่แข่งน้อยกว่า และขายได้ทั้งในตลาดชุมชนและตลาดอื่นๆ ในอนาคตด้วย” เฟิร์นอธิบายว่าการเลือกชนิดพรรณและองค์ความรู้เรื่องการเพาะปลูกทางทีมมีความเชี่ยวชาญกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ผักที่ปลูกยังใช้กระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ หรือใช้สารเคมีที่ไม่ใช่จากธรรมชาติน้อยที่สุดด้วย

“พอชุมชนปลูกผักแบบนี้ก็ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ไม่ต้องเป็นทาสนายทุนทางอ้อม เขาก็ทำปุ๋ยกันเอง แล้วก็ยังมีเรื่องราวชุมชนเป็นจุดขายได้ด้วย เพราะคนในชุมชนทำจริงๆ” นนท์เสริม

 

ผักดัน

บางโฉลงโมเดลเชื่อว่าผักจะเป็นตัวผลักดันให้คนในชุมชนรวมกันได้ง่ายขึ้น

“พอมีการปลูกผักเป็นกิจกรรม จากที่เขาต่างคนต่างอยู่ ก็มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น นัดกันรดน้ำต้นไม้ ผลัดกันมาดูว่าผักโตขึ้นหรือเปล่า” เจมส์เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจับต้องได้หลังจากได้มีการเปลี่ยนไปปลูกผักบนโครงสร้างที่ทางทีมพัฒนาขึ้น

แม้ตอนนี้ปริมาณผักที่ผลิตได้จะยังไม่พอต่อการวางจำหน่าย แต่ช่วงทดลอง (prototyping phase) ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าผลผลิตเติบโตดีเกินคาด การวางแผนจัดการร่วมกันดูแลผักของคนในชุมชนเป็นไปได้ด้วยดี หากไม่นับโควิด-19 ที่วนเวียนมาเป็นระยะทำให้การลงพื้นที่เป็นไปได้ยากขึ้น ทีมบางโฉลงโมเดลดำเนินการได้ใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ โดยคำนวณไว้ว่าผักจะเพียงพอต่อการขายกับพาร์ตเนอร์ได้เมื่อมีโครงสร้างราว 20 โครงสร้าง จึงยังคงต้องต้องใช้เวลาและงบประมาณอยู่

“ถ้าในอนาคตถ้ายังไปต่อและดำเนินอยู่ ถ้าเราได้เงินพอที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เขามันจะอิมแพกมากๆ เด็กจะมีสนามเด็กเล่น ผู้ใหญ่จะมีพื้นที่ให้นั่ง ไม่ต้องเห็นแต่ที่จอดรถ ถ้ามีพื้นที่สีเขียวมันจะสุดยอด” เจมส์พูดถึงแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เป็นอีกความตั้งใจของทีมบางโฉลงโมเดลที่จะทำร่วมกับชุมชน
เจมส์เล่าว่าทุกวันนี้เป็นปกติที่เด็กในชุมชนเล่นแบตในลานจอดรถต้องคอยหลบรถ บ้างก็ปีนท่อน้ำทิ้ง ในขณะที่บางคนใช้บันไดขึ้นตึกเป็นที่วิ่งเล่นหรือเล่นตามซอกตึกซึ่งเป็นจุดวางถังขยะขนาดใหญ่ พื้นที่เหล่านี้ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กเท่าที่ควร

“ที่พื้นที่สาธารณะไม่เป็นมิตรกับผู้คนเกิดจากการที่ไม่มีนโยบายที่คิดถึงพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะในบ้านเรา ทั้งที่มันสร้างกิจกรรมให้คนได้จริงๆ” นนท์อธิบาย โดยมีโด้เสริมว่าทั้งที่จริงนี่พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรเข้าถึง

ทั้งนี้ในการพัฒนาพื้นที่ทางทีมตระหนักถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผู้อยู่อาศัยอาจตั้งคำถามหากจะมีการเปลี่ยนที่จอดรถให้มีรูปแบบการใช้งานอื่นๆ เข้ามา แต่ด้วยกระบวนการที่ทางทีมทำงานโดยมีชุมชนและนิติบุคคลเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับความถนัดทางวิชาชีพทางทีมเชื่อว่าจะสามารถจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นไว้ได้ใกล้เคียงเดิม 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779