• Published Date: 16/08/2021
  • by: UNDP

สุดปัง! พาชมความคืบหน้า ‘พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำกรุงเทพมหานคร’ เปิดให้ชมอีกไม่เกิน 20 ปี

 

ในวันที่ฝนตกแรงเหมือนโกรธโลก คิม กีแท็ก พ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว วิ่งกระหืดกระหอบกลับบ้านพร้อมลูกของเขา คิม กีอู และชุงซุก บ้านใต้ดินที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคฤหาสน์ แต่เป็นชั้นเดียวที่สมาชิกทั้ง 4 อยู่ร่วมกันโดยได้อากาศและแสงสว่างจากช่องลมที่อยู่เสมอฟุตบาธพอดิบพอดี ฝนกลายเป็นมวลน้ำก้อนมหึมา กดของไร้ค่าในบ้านให้จมอยู่ใต้บาดาล จะมีแต่เพียงสิ่งระลึกทางใจที่พวกเขาทั้ง 3 พอจะหยิบออกมาดูต่างหน้าได้ เป็นอีกคืนฝันร้ายที่ครอบครัวกีแท็กไม่มีวันลืม พวกเขาจบคืนด้วยการนอนคุดคู้อยู่ในยิมเนสเซียมซึ่งใช้เป็นศูนย์พักพิง และใส่เสื้อผ้ามือสองเกรดของบริจาคที่มีกลิ่นเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ

 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ถ้าเคยดู และยังจำกันได้) ที่สะท้อนถึงความยากลำบากของคนชายขอบในสังคม สมาชิกทุกคนในครอบครัวนี้เป็นคนฉลาด และมีความสามารถ พวกเขาแค่จนจึงเข้าไม่ถึงโอกาส และปกป้องสวัสดิภาพตัวเองในยามวิกฤติไม่ได้ ขณะที่ประเทศเจริญแล้วอย่างเกาหลีใต้พูดถึงความเหลี่ยมล้ำนี้อย่างตรงไปตรงมา เชื่อไหมว่าประเทศไทยมีคนจนลงทุกครั้งที่อุทกภัยไหลบ่ามาหาพวกเขา คิดว่าทุกคนมีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมเหรอ คิดว่าทุกครอบครัวมีบ้านสำรองในต่างจังหวัดไว้อพยพไปอยู่หรือเปล่า นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องช่วยกันตระหนักว่าในภัยธรรมชาติอย่างนี้ มีใครถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลังหรือเปล่า

 

กรุงเทพเมืองอควาเรียม

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงน่ารักตะมุตะมิ เลียนแบบอยุธยาทั้งผังเมือง ศิลปะ และฤดูน้ำหลากที่ใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำสงคราม หลายครั้งที่อยุธยารอดพ้นจากการรุกรานเพราะข้าศึกไม่สามารถตั้งค่ายรอจนกว่าน้ำจะลดได้ เมืองหลวงแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออก มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านกลางแผ่นดิน เต็มไปด้วยคูคลอง และในอดีตสัญจรกันด้วยเรือ อาชีพที่หลักของคนบางกอกสมัยก่อนคือเกษตรกรที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่ตามรอบนอกของเมืองในปัจจุบัน ให้ภาพเพียงเท่านี้ เด็กๆ ชั้นประถมก็น่าจะตอบได้แล้วว่าเราอยู่คู่กับน้ำมาเนิ่นนาน กรุงเทพเป็นมิตรกับระดับน้ำทะเลมากเพราะอยู่สูงขึ้นมาเพียง 1.5 เมตร ฤดูน้ำหลากจึงเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติที่ทุกคนควรจะรับรู้อยู่แล้ว

 

แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือเมืองเทพสร้างอันเต็มไปด้วยการกระจุกตัวของความเจริญ และศูนย์กลางการปกครองที่ไม่ยอมกระจายอำนาจสักทีแห่งนี้กำลังจะจมน้ำในอีก 20 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งน้ำเหนือที่ไหลลงมา สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ฝนตกหนักมากกว่าเดิม และน้ำทะเลหนุนสูง พื้นที่บางแห่งในกรุงเทพฯ ตอนนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น โซนสุขุมวิท และโซนรามคำแหง เพราะมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง พูดได้ว่าพื้นดินทรุดลงเรื่อยๆ ในทุกคืนที่เราหลับอยู่บนเตียง อีกปัจจัยหนึ่งที่การันตีว่ายังไงก็จมแน่นอนคือผังเมือง หากฝนตกหนักสัก 30 นาที หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะเจอกับระดับน้ำท่วมขังที่สูงไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต การจราจรเป็นอัมพาตจนชินตา สิ่งปฏิกูลที่เคยอยู่ในท่อระบายน้ำไหลย้อนกลับขึ้นมาปะปนกับวิถีชีวิตคนกรุงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิชาการคาดคะเนว่าระดับน้ำที่จะท่วมกรุงเทพฯ ตลอดไปในอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูงประมาณ 3 เมตร พูดให้เห็นภาพคือท่วมเกือบถึงหลังคาบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น

 

ถึงตอนนั้นใครหนีทันก็หนีไป เพราะมีคนอีกมากคงจะหนีไม่ได้ และหนีไม่ทัน

 

ใครหนอเผชิญกับทุกปัญหา เสียน้ำตาให้ทุกวิกฤติ

ในพื้นที่สุดเจริญอย่างกรุงเทพฯ ให้ทายว่าหลังฝนตกหนักประมาณ 30 นาที ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก เฉลย ก็กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไงล่ะ! ค่ารถไฟฟ้าไปกลับระหว่างบ้านกับสถานที่ทำงาน อาจคิดเป็นร้อยละ 50 จากรายได้ของคนหนึ่งเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงมีทางเลือกไม่มากในการเดินทาง ลองคิดถึงภาพฟุตบาธแฉะๆ ชุดทำงานฉ่ำๆ จากน้ำฝน พร้อมกลิ่นอับของเสื้อที่ตากไม่แห้งสักที ชีวิตประจำวันที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้ไหมว่าความจนมันมีราคาจ่ายที่แพงกว่า เมื่อคิดทุกอย่างเป็นมูลค่าออกมา

 

หากยังจำกันได้ วิกฤติการณ์น้ำท่วมปี 2554 คือภัยพิบัติที่ร้ายแรงสุดในรอบ 50 ปีเมื่อคิดจากมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในระหว่างช่องว่างของตัวเลขที่มองไม่เห็น มีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ คนจนเมืองไม่ได้รับการมองเห็นเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ขณะที่ผู้ได้รับความเสียหายเริ่มนำเอกสารจำพวกทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนไปยืนยันเพื่อรับเงินชดเชย คนกลุ่มหนึ่งในชุมชนแออัดไม่รู้ว่าจะไปหาเอกสารนี้จากไหน พวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับความเสียหาย และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการเยียวยา พวกเขาไม่มีกำลังที่จะเรียกร้องใดๆ ได้ ไม่มีแม้กระทั่งชั้น 2 ของบ้านไว้ขนของหนีน้ำขึ้นไป ทุกอย่างหายวับไปกับตา ทั้งสมบัติติดตัว งานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว รวมทั้งรายได้อันน้อยนิด

 

แม้จะมีประกาศจากส่วนกลางเป็นระยะถึงมวลน้ำที่กำลังเดินทางลงมาจากภาคเหนือ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของคนจนเมืองที่จะขยับขยายไปที่อื่นได้ทันที เพราะทุกการเคลื่อนไหวมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หลายพื้นที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการต้องดูแล พวกเขาไม่ได้มีกำลังมากพอซื้อเครื่องป้องกัน หรือแม้แต่จะแก้ไขงานง่ายๆ อย่างการย้ายปลั๊กไฟให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ตัวเลขจากการสำรวจพบว่าความเสียหายของทรัพย์สินหลังน้ำท่วมอยู่ที่ 52,500 บาทต่อครอบครัว สูญเสียรายได้ครัวเรือนละ 45,820 บาท และมีหนี้เพิ่มขึ้น 73,423 บาท ตัวเลขที่เห็นนี้ยังไม่ได้คำนวณถึงผลกระทบทางด้านสังคม ทั้งความเครียด สัตว์เลี้ยงสุดรักหายหรือตาย และการทะเลาะกันในครอบครัวจากกรณีน้ำท่วม

 

ในประเทศที่คนจนซวยเสมอ ถ้าพวกเขามีเงิน ทุกอย่างก็คงจะง่ายกว่านี้

 

 

เอาฟิวเจอร์บอร์ดทำข้างฝา ส่วนหลังคามุงด้วยลังลูกฟูก

เราเชื่อกันว่า 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์คือที่อยู่อาศัย แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านที่มีไม่น้อยกว่า 3,000 คนในเมืองหลวงแห่งนี้ รัฐและคนทั่วไปมักมองว่าพวกเขาคือผู้สร้างปัญหา และตัวอันตรายของสังคม ทั้งที่จริงแล้วเกือบครึ่งของคนไร้บ้านเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน โดยเฉพาะจากคนในครอบครัวตัวเองซึ่งเป็นสาเหตุให้พวกเขาตัดสินใจออกมาจากพื้นที่เดิมนั้น

 

อุปกรณ์ป้องกันฝนอันเปราะบางไม่สามารถต้านทานพลังธรรมชาติได้ในที่สุด ไม่ว่าจะอากาศร้อน ปัญหาหมอกควัน หรือน้ำท่วมฉับพลัน คนไร้บ้านเป็นอีกกลุ่มที่ปะทะกับภัยธรรมชาติเหล่านี้เต็มตัวแบบไม่มีอะไรมากั้นแม้แต่นิดเดียว ชีวิตแบบกลับไม่ได้ไปไม่ถึงที่น้อยคนจะเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญรายวัน เพราะยังมีมายาคติพรางตาให้ความเห็นอกเห็นใจนั้นพร่ามัว สิ่งที่คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะต้องการนอกจากความเข้าใจแล้ว คือรัฐสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้ในฐานะที่พวกเขาเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงาน อาหาร การเข้าถึงสาธารณสุข หรือสถานที่พักพิงที่มีคุณภาพ ทุกอย่างล้วนเสกสรรค์ขึ้นมาได้หากผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้

 

ธรรมชาติอาจคาดเดาไม่ได้ แต่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังคือสิ่งที่คนไร้บ้านคาดหวังได้

 

ความจริงใจคือคุณสมบัติของรัฐบาลที่ดี

ค.ศ. 1991 น้ำท่วมใหญ่กรุงโตเกียวในรอบ 30 ปี แผ่รัศมีออกไปไกลกว่า 100 กิโลเมตร สร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาล ปีถัดไปพวกเขาลงมือก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ใต้ดินเอาไว้รับน้ำเวลาฝนตกหนัก ใช้เวลาสร้าง เกือบ 20 ปี หมดเงินไปกว่าแสนล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้คืออุโมงค์ที่สูง 70 เมตร ยาว 6.2 กิโล ระบายน้ำได้ 200 ตันต่อวินาที ไม่ว่านี่จะเป็นไอเดียของผู้ว่าโตเกียว หรือรัฐบาล ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์นั้นก็ตกถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนในเมืองรู้สึกใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ถึงแม้จะต้องเผชิญชีวิตในวันที่ฝนตกหนักมากก็ตาม

 

หลังเจอน้ำท่วมใหญ่ในปี 1953 ประเทศเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจลงทุนสร้าง ‘Delta Project’ โครงการระดับชาติที่ทุ่มเงินมหาศาลซึ่งคิดเป็น 0.84 ของจีดีพีเพื่อนวัตกรรมนี้ นี่คือระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อน้ำไม่ท่วมอีกต่อไป คนในประเทศก็ดำเนินชีวิตได้ปกติ เนเธอร์แลนด์ส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง และเสียภาษีให้กับรัฐได้สม่ำเสมอ เป็นการลงทุนอันชาญฉลาดของรัฐที่มีวิสัยทัศน์ และประสิทธิภาพสำหรับการแก้ปัญหา เป็นความโชคดีของคนเธอร์แลนด์

 

นวัตกรรม และประดิษฐกรรมที่ดีต้องสามารถลดความเหลื่มล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงของคนในประเทศได้อย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งสะท้อนความจริงใจในการบริหารงานของรัฐบาลว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ข้างหลัง และออกแบบนโยบายโดยมีความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ว่าไอเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างการย้ายเมืองหลวง การวางผังเมืองใหม่ หรือการสร้างสิ่งประดิษฐ์เก็บกักน้ำสุดอลังการ หากรัฐไม่ได้ตั้งใจที่จำทำเพื่อประโยชน์ของทุกคนแล้ว ปัญหา และความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ทุกปัญหาก็เหมือนการวิ่งแข่ง หากเราเตรียมตัวไม่ดีก็ต้องยอมรับกับความพ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึงทุกคนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ทุกคนเห็นแล้วว่าพวกเราพ่ายแพ้ต่อโควิดอย่างราบคาบจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ หากรัฐยังทำงานแบบมะงุมมะงาหราไร้ทิศทาง ตักตวงแต่ผลประโยชน์ส่วนตนไปวันๆ

 

กรุงเทพก็จะจม เราทุกคนจะตาย หรือไม่ก็ต้องแย่งกันหนีตายเหมือนในหนังซอมบี้ อยากให้ทุกคนเตรียมตัว

 

Source:

https://reliefweb.int/report/thailand/bangkok-post-2011-floods-how-about-poor

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/socku/article/view/123532/93847

https://www.gfdrr.org/sites/default/files/publication/Thai_Flood_2011_2.pdf

https://news.thaipbs.or.th/content/296856

https://urbancreature.co/homeless-in-the-city/

https://www.dplusguide.com/2018/water-discharge-tunnel-saitama-kanto-japan/

https://urbancreature.co/flood-netherlands/

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/socialresearchjournal/article/download/92742/91680/ 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779