• Published Date: 22/02/2021
  • by: UNDP

Youth Co:Lab story: HINT เปลี่ยนทุกข้อสงสัยของนักเรียนให้เป็นความเข้าใจ

การเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นไปได้ยากที่จะเข้าใจแจ่มแจ้งแบบไร้ข้อสงสัย ครั้นจะยกมือถามกลางห้องบรรยากาศก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเสมอไป หลายคนจึงต้องพึ่งตัวช่วยนอกห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นถามเพื่อนคนอื่นๆ เรียนพิเศษ หรือปรึกษาผู้ปกครอง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีตัวช่วยเหล่านี้ ยิ่งเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไป ความช่วยเหลือที่มีอย่างจำกัดกลับถูกตัดให้ลดน้อยลงไปอีก ปัญหานี้กลายมาเป็นโจทย์หลักที่ทีม HINT เลือกนำไปพัฒนาต่อ 

“สมัยก่อนมันไม่มีอะไรถามได้แบบฟรีๆ เลย อย่างมากก็ถามกูเกิ้ล มันอาจได้คำตอบไม่ตรง กว่าจะเจอก็หานาน ส่วนถ้าถามเพื่อนกว่าจะตอบ แล้วก็ต้องมีเพื่อนที่เก่งถึงจะช่วยได้แค่นี้ก็ไม่เท่าเทียมแล้ว ยิ่งโรงเรียนที่ไม่ได้มีการศึกษาดีพอ มันก็ไม่ได้ช่วยกันได้ขนาดนั้น” ปาล์ม-ณภัทร พันธ์ประสิทธิกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนึกย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังเรียนอยู่

ทีม HINT เป็นการรวมตัวของเพื่อน 3 คน ประกอบด้วย บุ๊ค-บุณยวัส ศรีสมพงษ์ บอส-ธเนศ ศรีอมร และปาล์มที่พบและแลกเปลี่ยนความสนใจกันที่ฝึกงาน 

คอนเซ็ปต์พื้นฐานของ HINT ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการให้นักเรียนทิ้งคำถามไว้ ส่วน Helper หรือผู้ตอบจะเข้ามาช่วยคลายข้อสงสัยต่างๆ เอง

 

ก่อร่างสร้างงาน

จากไอเดียบนหน้ากระดาษ ทีม HINT ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์คช็อป Youth Co:Lab กว่าสองเดือน ตลอดเวิร์คช็อปทางทีมได้กลับไปวิเคราะห์ทบทวนตั้งแต่ปัญหาที่ต้องการแก้ วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา โมเดลทางธุรกิจ และผลกระทบทางสังคมที่สร้างได้ บุ๊คเล่าว่าหลังจากเข้าเวิร์คช็อปสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือโมเดลทางธุรกิจ

แผนล่าสุด HINT ออกแบบมาให้ใช้บริการได้ฟรีแบบมีโฆษณา ค่าโฆษณาเป็นหนึ่งในรายได้ของ HINT และอีกหนึ่งวิธีคือ Subscription Model หากนักเรียนคนไหนต้องการใช้งานแบบปลอดโฆษณา ได้รับคำตอบที่รวดเร็ว และเลือกผู้ตอบได้ การจ่ายค่าสมาชิกก็จะตอบโจทย์ยิ่งขึ้น

สำหรับ Helper สิ่งที่ดึงดูดใจให้เข้ามาช่วยตอบคำถามคือเงินรางวัล

“ถ้าคำถามที่ Helper ตอบตอบได้ดี นักเรียนหรือผู้ถามก็จะให้เหรียญเพื่อแสดงความพึงพอใจ พอจบเดือนเราก็จะเอารายได้ทั้งหมดมาแบ่งสัดส่วนแล้วแบ่งกลับไปให้ Helper ตามจำนวนเหรียญที่ได้รับ” ปาล์มอธิบายต่อว่าแอพลิเคชันเวอร์ชั่นสมบูรณ์จะเปิดคำตอบให้นักเรียนคนอื่นได้เห็นด้วย หากคำตอบถูกใจนักเรียนคนอื่นก็กดไลค์ได้ ส่วน Helper คนไหนมียอดไลค์เยอะก็จะได้รายได้พิเศษด้วย

นอกจากโมเดลธุรกิจที่พัฒนามาไกล บอสแบ่งปันว่าความประทับใจระหว่างการเข้าร่วมเวิร์คช็อปคือการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจจากเพื่อนต่างภูมิหลัง ส่วนบุ๊คสนุกกับกระบวนการเวิร์คช็อปที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี แต่ละช่วงเชื่อต่อกันและมีเป้าหมายชัดเจน

ทดลองวิชา

เพื่อให้ใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ครอบคลุมที่สุด HINT ตั้งใจจะทำออกมาในรูปแบบแอพลิเคชัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและระยะเวลา หลังจากที่ HINT พัฒนาและนำเสนอโครงการจนได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย LINE OA จึงเป็นช่องทางในการทำโปรโตไทป์ทดลองตลาดโดยให้ติวเตอร์หรืออาสาสมัครผู้ตอบทำหน้าที่เป็นแอดมิน ส่วนผู้ถามเป็นคนแอด Line OA เพื่อฝากคำถามคาใจหรือโจทย์การบ้านที่แก้ไม่ได้ทิ้งไว้ มาถึงตอนนี้ HINT เปิดทดลองใช้งานใน 3 รายวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

“เราเริ่มโพสต์วันแรกวันเดียวคนเข้ามาห้าหกสิบราย พอครบเดือนหนึ่งมีพันราย และครบสองพันรายประมาณภายในยี่สิบวัน ตอนนี้ทำมาสองเดือนกว่าใกล้จะครบสามพัน อัตราคนเข้ามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ” ปาล์มผู้มีหน้าที่หลักในการประชาสัมพันธ์และดูแลการตลาดให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มอธิบายว่า HINT พยายามเข้าถึงผู้ใช้ในหลากหลายช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์กลุ่ม และไลน์ Openchat ทั้งนี้เขายังคงมองหาอาสาเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยตอบคำถามและทดลองใช้งานเพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์ที่สุด

หลังจากการเปิดตัวในช่วงแรกที่นักเรียนยังเข้ามาถามไม่เยอะจึงเกิดการแย่งกันตอบ HINT จึงพยายามเซ็ตระบบขึ้นมา บอสผู้ดูแลดาต้าอธิบายว่าทุกครั้งที่จะรับดูแลการตอบคำถามให้พิมพ์ว่า “สวัสดีพี่มาแล้วจ้า” และทุกครั้งที่สอนเสร็จก็ให้ติวเตอร์กดส่งแบบประเมินกลับไปให้นักเรียน

“กลไกที่เซ็ตขึ้นมานี้นอกจากจะช่วยลดความสับสนในการแย่งกันตอบแล้ว มันยังใช้นับว่าแต่ละวันมีคำถามเข้ามากี่ข้อ มีคนตอบกี่ข้อ กี่คน และมีกี่คำถามที่ยังไม่ถูกแก้ จากนั้นเราก็จะส่งข้อมูลตรงนี้ให้บุ๊คขึ้นเว็บสำหรับให้ติวเตอร์เช็คคะแนนสถิติของตัวเอง” ที่ผ่านมาผู้ถามมีความพึงพอใจจากคำตอบที่ได้รับถึงราว 88% และการเก็บฟีดแบ็กเช่นนี้ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนา HINT เวอร์ชั่นถัดๆ ไป

ความถูกต้องคือสิ่งสำคัญ

เมื่อ HINT เกิดมาเพื่อช่วยไขข้อสงสัยทางวิชาการเป็นหลัก ความถูกต้องจึงคืออีกสิ่งที่พลาดไม่ได้

วิธีการตรวจสอบความถูกต้องในช่วงทดลองนี้ทำผ่านการให้คนในชุมชนช่วยกันตรวจสอบกันเอง มีการกำหนดกฎขึ้นมาว่าหากอาสารายอื่นพบเจอการตอบผิดให้ส่งเรื่องมา งานจัดการก็ไม่น้อย งานพัฒนาก็เยอะ HINT จึงตัดสินใจชวนมิว-ชณิศรา ชมชื่น เข้ามาสมทบทีมเพื่อดูแลการจัดการหลังบ้านโดยเฉพาะ บทบาทหน้าที่ของมิวมีทั้งช่วยตักเตือนสมาชิกที่ไม่ได้ทำตามกฎ ไปจนถึงรับการแจ้งเกี่ยวกับความถูกต้องของการตอบ

“พอเห็นคนอื่นตอบผิดเขาก็เข้ามารีพอร์ตกัน แต่เราไปดูได้ไม่ครบว่าทำผิดยังไง ตอนหลังเลยเพิ่มกฎมาว่าต้องอธิบายพร้อมบอกคำตอบที่ถูกต้องด้วย” มิวอธิบายขั้นตอนการทำงาน “บางครั้งเราได้รับรีพอร์ตเป็นติวเตอร์คนเดิมๆ ซ้ำๆ เราเลยต้องมีฟอร์แมตบันทึกข้อมูลไว้ด้วยเพื่อป้องกันการตักเตือนซ้ำ”

ผลลัพธ์ที่เกิดคาด

นอกจาก HINT จะช่วยคลายข้อสงสัยเฉพาะหน้า ทำให้เด็กหลายๆ คนมีการบ้านที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งครูแล้ว HINT ยังช่วยสร้างความเข้าใจในบทเรียนด้วย 

“มีคนสอนที่ให้น้องเล่าก่อนว่าเขาคิดยังไงกับโจทย์นี้ก่อนที่จะเฉลย เหมือนให้เด็กได้ทบทวนตัวเองก่อนและมีอาสาอีกคนที่อัดคลิปเป็นสอบคลิปเพื่ออธิบายสิ่งที่เด็กถามเป็นสิบคลิป สปิริตเขาสุดยอดมาก” บุ๊คเล่า “ส่วนฝั่งเด็ก ก็มีน้องถามว่าพี่จะทำ Line OA ตลอดไปไหม จะได้ไม่ห่วงเรื่องการบ้าน เราได้ยินแล้วน้ำตาจะไหล”

โจทย์ใหม่ที่เจอ

HINT ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์และเก็บข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากนำ HINT ไปคุยกับคุณครูในโรงเรียน หนึ่งในฟีดแบกที่ได้คือ “HINT อาจเป็นดาบสองคมเพราะเด็กไม่ต้องทำการบ้านเอง” ทางทีมจึงนำโจทย์นี้ไปพัฒนาต่อ

“เพราะอยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด เราจึงไปคิดฟีเจอร์ใหม่เพิ่มมา แทนที่ Helper จะให้คำตอบเลยทันที หลังจากที่อธิบายพูดคุยกันไปสักพักหนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่การเฉลยคำตอบ จะมีปุ่มให้ติวเตอร์ส่งคำถามไปหาเด็กเพื่อทดสอบความเข้าใจ” บอสอธิบายว่าฟีเจอร์ใหม่นี้ถอดมาจากโปรโตไทป์ที่กำลังทำอยู่ “ติวเตอร์ชอบถามว่า ที่อธิบายยาวๆ นี่เข้าใจไหม ร้อยละ 70 จะบอกว่าเข้าใจแล้ว แต่เราไม่รู้เลยว่าเขาเข้าใจจริงหรือเปล่า ฟีเจอร์ตรงนี้จะช่วยทดสอบความเข้าใจได้และติวเตอร์จะได้รู้ว่าต้องสอนอะไรเพิ่ม”

“ฟีเจอร์เช็คความเข้าใจนี้จะเป็นแบบมีตัวเลือก ต่อให้เลือกผิดก็ยังคงได้คำตอบอยู่ดี แต่หากตอบถูกบ่อยๆ ก็จะมีรางวัลให้คนตอบ เช่น ทำให้เจอติวเตอร์ได้เร็วขึ้น หรือเลือกติวเตอร์คนที่อยากเจอได้” ปาล์มเสริม

ขยายฐาน

เรื่องการเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้างเป็นสิ่งที่ HINT ตระหนักดีตั้งแต่ต้นว่าอยากทำให้ครอบคลุมที่สุด 

สำหรับนักเรียนเก่งที่อาจไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ HINT มองว่าพวกเขาอาจเข้ามาในฐานะ Helper ได้เช่นกัน โดยในช่วงทดลองนี้ HINT ได้เปิด Line Openchat ขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนนักเรียนช่วยตอบกันเองด้วย เหมือนช่วยติวเพื่อนๆ ไปในตัว ภายในระยะเวลา 1 เดือนมีผู้ใช้ Line Openchat ราว 600 คน

ส่วนอีกกลุ่มที่ HINT ยังเข้าไม่ถึงในจุดนี้คือกลุ่มที่อาจไม่ได้มีโทรศัพท์และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอด

“กลุ่มนี้เราต้องใช้เวลาสักพักในการเก็บดาต้าให้รู้ว่านักเรียนส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องไหน แล้วค่อยหาวิธีทำงานร่วมกับโรงเรียนและหน่วยงานการศึกษาเพื่อแก้ไขในระดับระบบหลักสูตรต่อไป” ปาล์มอธิบาย

มากกว่าถาม-ตอบ

แม้สโคปงานที่ HINT ทำจะอยู่ที่การสร้างความเข้าใจและถามตอบในประเด็นที่เด็กๆ สงสัยในบทเรียน แต่จากการคลุกคลี เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเรื่อยมาทำให้ทีมเห็นภาพใหญ่ของการศึกษาในปัจจุบัน

“เราพบว่านักเรียนค่อนข้างซีเรียสเรื่องวิชาการมากๆ เด็กมัธยมต้นก็เอาโจทย์มัธยมปลายมาทำ” ปาล์มอธิบาย

“มันเลยน่าเป็นห่วงว่าเด็กอาจโฟกัสที่วิชาการมากเกินไปจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต ไม่มีเวลาสนใจเรื่องรอบตัว” บุ๊คเสริม ทั้งนี้พบว่านักเรียนกว่า 70% มีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอซึ่งไม่ต่างอะไรจากหลายสิบปีก่อน

ทั้งที่ในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ ที่ขยายกว้างมากขึ้น

การเห็นข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทาง HINT มีแผนในระยะยาวที่อยากช่วยไขข้อข้องใจในทุกๆ มิติของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้มากขึ้น

“เรามอง HINT เป็นช่องทาง ในอนาคตเราอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาด้วยเพื่อให้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในสาขานั้นๆ  รวมถึงอาจต่อยอดเป็น HINT for Mind, HINT for Health เพื่อออกแบบแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ชีวิตนักเรียนให้รอบด้านมากขึ้นด้วย” ปาล์มสรุป

Keywords: , , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779