• Published Date: 15/12/2022
  • by: UNDP

Ocean Heroes: พลังของคนรุ่นใหม่ กับการกำจัดขยะในทะเลด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของนราธิวาส

‘นราธิวาส’ จังหวัดที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลที่การทำประมงพื้นบ้านถือเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตดั้งเดิมของพลเมืองในจังหวัดแห่งนี้ นอกจากความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบที่คาดการณ์ไม่ได้จะเข้ามากระทบวิถีชีวิตของชาวนราธิวาสแล้ว ขยะทางทะเลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาในปัจจุบันที่ทุกคนกำลังเผชิญ ทั้งขยะพลาสติกที่ลอยมาติดตามชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งคลื่นที่เปลี่ยนวิถีก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนที่นี่ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม

 

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่โครงการ Youth Co:Lab โดย UNDP ประเทศไทยได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับเยาวชนในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้ง 17 ข้อ จากรูปแบบการจัดงานที่ชวนเยาวชนจากทั่วประเทศมาทำกิจกรรมร่วมกันที่กรุงเทพฯ การใช้เทคโนโลยีพูดคุยแบบออนไลน์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือแม้กระทั่งเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมให้กับเยาวชนที่มาร่วมงาน ทั้งหมดนี้คือการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในแต่ละปีที่จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป 

 

สำหรับ โครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ UNDP ประเทศไทย ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานอีกครั้งโดยลงไปหาเยาวชนถึงในพื้นที่ และร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) พันธมิตรหลักในการทำงานของปีนี้ซึ่งเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน

 

 

ขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อไหร่จะหมดไปสักที?

Ocean Heroes ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นค่ายกิจกรรมแรกของ อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ซึ่งเริ่มมาจากประเด็นเรื่องขยะทางทะเลของจังหวัดนราธิวาส ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มชาวประมงชายฝั่งที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวซึ่งมักจะมีขยะพลาสติกลอยมาติด และสร้างปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะจากอุตสากรรมการประมง เช่น การใช้อวนที่ผิดกฎหมาย ความร่วมมือกับ UNDP ประเทศไทยในโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้จึงเป็นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จาก UNDP ประเทศไทยได้ลงสำรวจพื้นที่จริง เพื่อพูดคุย และสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Train the Triners ในช่วงเดือนมิถุนายนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสร้างทักษะการเป็นกระบวนกรให้แข็งแรงให้สามารถนำกลับมาใช้ในพื้นที่ของตนเองได้

 

เยาวชนเกือบ 100 ชีวิตจาก 19 ทีม ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการ Ocean Heroes ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากความสามารถในการรองรับเพียง 25 คน หรือ 5 กลุ่มเท่านั้น นี่อาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ที่เข้าถึงเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมได้จริง เยาวชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอายุอยู่ที่ประมาณ 16-21 ปี โดย อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้จัดกระบวนการ First Meet ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกสำหรับสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs รวมถึงการจัดการขยะทางทะเลในรูปแบบต่างๆ โดยเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปขยะจนกลายเป็นสินค้ามาให้ความรู้ และไอเดียแก่เยาวชนทุกกลุ่ม ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญสำหรับกิจกรรมในครั้งแรกนั้น คือการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาขยะทางทะเลโดยตรง หาความเกี่ยวข้องของผู้ถูกสัมภาษณ์ กับความสนใจของเยาวชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มจำแนกได้ว่า ปัญหาที่พบจากการไปพูดคุยกับคนในท้องถิ่นอยู่ในมิติไหนของ SDGs เช่น เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม จากนั้นพวกเขาต้องมาหาไอเดียสำหรับแก้ปัญหา ถามตัวเองว่าไอเดียของแต่ละทีมจะได้ประโยชน์กับใครบ้าง และพวกเขาจำเป็นต้องทำงานกับใครเพื่อให้สิ่งที่คิดไว้ให้เเกิดขึ้นจริง

 

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดถือเป็นจุดเริ่มต้นของ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมตัวนำเสนอในรอบคัดเลือกซึ่งจัดแบบออนไลน์ โดยมี UNDP อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และศึกษาธิการของจังหวัดนราธิวาสเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อดูปัญหาที่เด็กๆ ได้ไปเจอมาว่าทีมไหนมีรายละเอียดที่ลงลึกมากกว่ากัน โดยในรอบนี้จะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบเพียง 5 กลุ่มหรือ 25 คนเท่านั้น 

 

ถึงแม้จะมีเยาวชนบางคนที่ต้องผิดหวังจากการคัดเลือก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เข้าใจประเด็นปัญหาขยะทางทะเลเพิ่มขึ้น และมีกระบวนการคิดเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองต่อไปในอนาคต

 

แก้ไขปัญหา เริ่มที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากพลเมืองทุกคนที่ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว นวัตกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ควรได้รับการใส่ใจเช่นกันในฐานะหนึ่งในประดิษฐกรรมที่ประกอบสร้างชุมชนขึ้นมา หลังจากผ่านรอบคัดเลือกมาแล้ว เยาวชนทั้ง 5 ทีมจะเข้าสู่ค่าย Ocean Heroes ซึ่งใช้ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) มาเป็นกรอบคิดหลักของการดำเนินงาน โดยก่อนจะเริ่มลงมือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขาจะต้องเข้าใจขั้นตอน Empathize หรือ การเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริง ซึ่งพี่ๆ กระบวนกรจาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้พาลงพื้นที่ไปเจอกับกลุ่มชาวประมงที่ออกเรือทุกวัน เพื่อสร้างความเข้าใจในแง่มุมเรื่องปัญหาขยะทางทะเล และได้มองเห็นมิติของการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับคนในครอบครัวชาวประมงแต่ละบ้าน แล้วนำข้อมูลที่ได้กลับมาสรุป จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการนิยามปัญหาผ่านเครื่องมือเป็น Problem Tree ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะต้องมองในมุมกว้าง และต้องจัดเรียงลำดับของปัญหาให้ถูกต้อง

 

วันต่อมาพี่ๆ กระบวนกรจะเริ่มพาเยาวชนทุกคนเข้าสู่กระบวนการ หาไอเดีย (Ideate) โดยพาเด็กๆ ไปดูภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพราะนวัตกรรมท้องถิ่นเป็นไอเดียที่พวกเขาจับต้องได้ และสามารถต่อยอดออกไปในอนาคต ซึ่งเยาวชนทั้ง 5 กลุ่มได้ไปดูการทำเสื่อกระจูดที่บ้านทอน ผ้าบาติกที่อำเภอบาเจาะ และดูการทำกรงนกเขาชวา 

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง พวกเขารู้สึกว่าหนึ่งปัญหามีหลายทางออก และมีความเป็นไปได้มากมาย จากก่อนหน้านี้ที่เยาวชนส่วนใหญ่มักยึดติดอยู่กับไอเดียเดิมๆ หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพราะกลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง เมื่อมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากมาย พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกสนุกกับการแก้ไขปัญหา และลงมือสร้าง แบบจำลอง (Prototype) ของกลุ่มตัวเองขึ้นมาเพื่อถอดไอเดียให้เห็นเป็นรูปธรรม สำหรับการนำเสนอนวัตกรรมของตัวเองในวันสุดท้าย

 

สำหรับกลุ่มที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้ คือ ‘เก้าอี้แค้มปิ้งจากอวนเหลือใช้’ พวกเขาแปลงอวนจับปลาที่ถูกทิ้งให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง และเข้ากับยุคสมัย เช่นเดียวกับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งนำเสนอ ‘กระเป๋าจากอวนสาน’ โดยได้ไอเดียมาจากการเสื่อกระจูดของชาวบ้าน และใช้อวนเป็นวัสดุหลักซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกในทะเลได้จริง ส่วนกลุ่มที่คว้ารางวัลที่ 3 ไปได้คือ ‘ทุ่นดักขยะในทะเล’ ซึ่งพวกเขาใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มาจากวิทยากรในช่วงแรกของงานมาสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้น เป็นการต่อยอดอีกหนึ่งมิติที่นอกเหนือจากการีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ และช่วยลดขยะทางทะเลได้เช่นกัน

 

ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน 2 คืน เยาวชนในจังหวัดนราธิวาสจะสามารถสร้างสรรค์ไอเดียของตัวเองได้อย่างเป็นระบบขนาดนี้ และไอเดียเหล่านี้จะไม่เป็นเพียงแค่ไอเดีย เพราะทางโครงการก็ยังจะดำเนินต่อเนื่องเพื่อทำงานกับน้องๆในการพัฒนาไอเดียเหล่านี้ไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม และมีทุนต่อยอดให้น้องๆลองผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลออกมาขายต่อไป

โครงการ Ocean Heroes ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง UNDP ประเทศไทย และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ถือเป็นเพียงตัวจุดประกายเพื่อให้ทุกคนได้ไปต่อโดยใช้เครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ และการจัดการทางการตลาดซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเติมเต็มความรู้ความเข้าใจชุดนี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป 

 

การเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในฐานะพลเมืองอาจทำให้น้องเยาวชนเข้าใจปัญหา และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของตัวเอง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในทางบวกต่อพวกเขาโดยตรง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้บ้านตัวเองน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอให้พร้อมที่สุด รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความเข้าใจของคนทุกฝ่าย รู้แล้วว่านวัตกรรมไม่ใช่คำที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่รับฟังความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ เพื่อคนในพื้นที่โดยเฉพาะ

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 06/12/2022
  • by: UNDP

นักสู้กู้อากาศ: เมื่อเยาวชนชวนผู้ใหญ่มาช่วยกันลดปัญหาหมอกควันใน จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงบนรถ ที่เยาวชนจากอำเภอแม่สะเรียงโดยสารรถยนต์เดินทางเข้ามายังอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าร่วมแข่งขันประกวดโครงการ “นักสู้กู้อากาศ: Clean Air Heroes 2022” เช่นเดียวกับเยาวชนทีมอื่นๆ ที่ต่างใช้เวลาเดินทางมาจากโรงเรียนตัวเองซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานที่จัดการแข่งขันมากนัก พวกเขารู้แค่ว่าการประกวดโครงงานในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน เพราะนอกจากจะเป็นการยกระดับการนำเสนองานที่ UNDP ร่วมมือกันกับ TK Park เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่เพื่อให้เยาวชนได้คิดค้น และนำเสนอนวัตกรรมของตัวเอง 

 

เรื่อง ‘หมอกควัน’ เป็นหนึ่งในประเด็นใกล้ตัวของคนในพื้นที่ และเป็นปัญหาของทุกคนแบบไม่แบ่งแยกเพศ อายุ และสถานะทางสังคม หน้าหนาวที่กำลังมาถึง คือสัญญาณอันตรายที่ทุกคนอาจจะต้องกลับมาสวมแมสก์อีกครั้ง ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันโรคระบาด แต่เพื่อกรองอากาศให้พอจะหายใจได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งเครื่องบินจะไม่แล่นผ่านเพราะทัศนวิสัยไม่เอื้ออำนวย คำถามก็คือ เยาวชนตัวเล็กๆ กลุ่มละ 5 คนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? และเครื่องมือชุดไหนที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

 

แค่รู้ว่าบ้านตัวเองมีปัญหาอะไร ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจประเด็น SDGs แล้ว

คุณเอม – เอมอร ลิ้มวัฒนา เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน และผู้รับผิดชอบการประกวดโครงงานในครั้งนี้เล่าให้เราฟังว่า หลังจากที่มี 10 ทีมผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คนต้องทำความเข้าใจความสำคัญของ SDGs เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวิทยากรจาก UNDP เป็นผู้ให้ข้อมูล นี่เป็นความท้าทายแรกของโครงการเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อมีอะไรบ้าง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่งดงาม เพราะประเด็นเรื่องหมอกควันเป็นหัวข้อที่เยาวชนทุกคนช่วยกันระดมสมอง และนำเสนอขึ้นมา เพราะมองว่าเป็นปัญหาที่เผชิญอยู่จริงในทุกวัน และถ้าเกิดปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน คงทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งจังหวัดดีขึ้นได้จริงๆ

 

“แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษฝุ่นควันสูงสุดของภาคเหนือเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเขตป่ามากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็เป็นป่าเต็งรังผลัดใบ ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ในฤดูแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่า เนื่องจากถูกประกาศเขตป่าของรัฐซ้อนทับมากกว่า 84% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัย ทำกิน และพึ่งอยู่กับป่าเป็นหลัก การออกมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาของภาครัฐไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันได้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นทที่ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน

 

วันหลังที่ 2 หลังจากที่เยาวชนผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 10 กลุ่มได้เข้าใจเรื่อง SDGs เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะเริ่มระดมสมอง และออกแบบไอเดียของตัวเอง คุณเอมเล่าให้ฟังต่อว่ากิจกรรมการประกวดโครงงานในครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งอื่นที่เธอเคยร่วมมา เพราะเยาวชนทุกคนมีความจริงจัง และตั้งใจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากพลังสร้างสรรค์ และประสบการณ์ที่มีของตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่า ไม่จำเป็นเลยที่พวกเขาจะต้องเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่า SDGs คืออะไร แค่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงบ้านตัวเองให้ดีขึ้นก็ถือว่าได้สร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนแล้ว และประสบการณ์คิด การทดลองแก้ปัญหาจะทำให้เยาวชนค่อยๆเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากขึ้น เธอยังสังเกตว่าการแข่งขันเป็นความกดดันที่ดี เยาวชนทุกคนรู้ว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอผลงานตัวเอง กับองค์กรระดับประเทศ รวมทั้งผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ ที่พวกเขาจะได้พูดคุยด้วยหากผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ความร่วมมือกันระหว่าง TK Park ที่อำนวยความสะดวกด้านพื้นที่กับสร้างความเข้าใจต่อคนในชุมชน และ UNDP ที่มอบเครื่องมือทางความคิดให้ ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว 

 

 

นวัตกรรมสำหรับทุกคน

เป็นอีกครั้งที่เยาวชนผู้ผ่านเข้าสู่รอบ 5 ทีมสุดท้ายต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมานำเสนอโครงงานของตัวเองในรอบชิงชนะเลิศ 

 

คุณเอมเล่าว่าความน่าตื่นเต้นอีกอย่างในการจัดงานครั้งนี้คือผู้ใหญ่จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มานั่งรับฟังการนำเสนอของทั้ง 5 กลุ่มในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด ทำให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่ามีการรับฟังจริงๆ จากผู้ที่ประสบปัญหา หรือผู้มีอำนาจที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ ทั้ง 5 ทีมทำการบ้าน และเตรียมตัวมาอย่างดี นำเสนอได้อย่างคล่องแคล่ว มั่นใจ และเห็นความหลากหลายทางมิติของปัญหา เช่น การรณรงค์ให้เปลี่ยนที่เผาขยะเพื่อลดฝุ่นควัน การสร้างที่ตรวจจับเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชน หรือจะเป็นการรีไซเคิลวัสดุเพื่อลดปริมาณการทิ้ง และเผาขยะ 

 

คุณเอมแชร์ความน่าสนใจของโครงการในครั้งนี้ให้ฟังอีกว่า เยาวชนทั้ง 5 กลุ่มตั้งใจฟังการนำเสนอของเพื่อนกลุ่มอื่นๆ มาก ไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันอย่างเดียว แต่พวกเขามาจากหลายโรงเรียน ต่างท้องถิ่น มีทั้งเยาวชนอายุ 15 และนักศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งต่างก็มีมุมมอง และความถนัดที่ต่างกันออกไป กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของเยาวชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างการต่อยอดในอนาคต

 

ทีม KWIT จากโรงเรียนขุนยวมวิทยา ได้รางวัลที่ 1 ไปครอง พวกเขานำเสนอเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ทั้ง 5 แบ่งช่วงการนำเสนออย่างมีประสบการณ์ เล่ารายละเอียดตั้งแต่การต่อแผงวงจร การเขียนโค้ด และการนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งเครื่องวัดชิ้นนี้ใช้เซ็นเซอร์เป็นตัวจับ และแสดงผลผ่านทั้งหน้าจอเครื่องตรวจวัด และแอปพลิเคชั่น

 

ในขณะที่ทีม Keep Together จากวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน หน่วยจัดแม่สะเรียง ได้รางวัลที่ 2 ไปครอง ด้วยผลงานเครื่องกำจัดขยะสร้างพลังงาน โดยเป็นนวัตกรรมสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผ่นร้อนเย็นกับเครี่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น การชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือหลอดไฟ LED เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนมักประสบปัญหาไฟฟ้าไม่พอใจในหน้าร้อน ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน สำหรับอีก 3 ทีมนั้น นำเสนอ เครื่องดูดอากาศ และกรองอากาศจากวัสดุเหลือใช้ เตาเผาไร้ควันเพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศ และจานรองแก้วจากฟางข้าว

 

ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าเสริมต่อว่า เยาวชนทุกมีศักยภาพในการนำเสนอโครงงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการประยุกต์ และต่อยอด โดยเฉพาะช่วงถามตอบกับกรรมการจากหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ เช่น ต้นทุนของสิ่งประดิษฐ์ การต่อยอดเพื่อนำไปใช้จริงในชุมชน หรือแม้กระทั่งองค์ความรู้เรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่การจัดประกวดในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ และเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น เมื่อต้องนำเสนองานในครั้งถัดไป

 

มากกว่ารางวัลคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่

หลังจากจบการนำเสนอ มีหน่วยงานต่างๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการต่อยอดผลงานของเยาวชน คุณเอมเล่าให้ฟังว่าบริษัท WE ECO อยากสนับสนุน เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพราะตรงกับธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว และได้เชิญทางสำนักพระราชวังเข้ามามีส่วมร่วมในครั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นสืบเนื่องที่ทำมาด้วยกันนานแล้วเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ขณะที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน สนใจ เครื่องกำจัดขยะสร้างพลังงาน เพราะเห็นความเป็นไปได้ในการซื้อ และนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่อาจมีไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการบริโภค หรือรณรงค์ให้ใช้เครื่องกำจัดขยะนี้แทนการเผาแบบปกติ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษได้เป็นจำนวนมากหากเริ่มให้ใช้ได้จริง 

 

ปัจจุบันโครงการต่างๆ ยังอยู่ในขั้นตอนของการติดตามพูดคุย เพราะเยาวชนต้องกลับไปเรียนในพื้นที่ของตัวเอง แต่นี่นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายไปสู่ความสำเร็จของโครงการที่ไม่ได้จบลงหลังสิ้นสุดการนำเสนอ แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ให้ทุกคนในพื้นที่เริ่มบทสนทนาเดียวกันโดยไม่แบ่งแยกสถานะ หรือมีเงื่อนไขอื่นอย่างที่เคยเป็นมาในหลายๆ ครั้ง

 

ในฐานะที่คุณเอมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเยาวชนมาแล้วหลายครั้ง เธอเล่าด้วยความตื่นเต้นว่าเครื่องมือการเรียนรู้ที่วิทยากรจาก UNDP มอบให้มีประโยชน์มากๆ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ เพราะปกติแล้วกรอบการทำงานของเธอจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องไอซีทีเป็นหลัก แต่องค์ความรู้ของ SDGs สามารถประยุกต์ใช้กับโครงการไหนก็ได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่น รวมไปถึงการไม่จำกัดกรอบของการเรียนรู้จากการระดมสมองของเยาวชนในช่วงแรก 

 

โครงการ Clean Air Heroes ได้พิสูจน์ศักยภาพของเยาวชนในแม่ฮ่องสอนว่ามีอยู่มาก หากมีพื้นที่ ทรัพยากรที่เพียงพอ และเครือข่ายในการสนับสนุนแล้ว การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากประชาชนเพื่อประชาชนก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Keywords: ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดตัวเอง: พื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดตัวเอง: พื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ความเปลี่ยนแปลง และปัญหา ถูกนิยามผ่านมุมมอง และบริบทของยุคสมัยเสมอมา จากประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอันเป็นหมุดหมายสำคัญในศตวรรษที่ 19 สู่เป้าหมายการพัฒนาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  สิ่งนี้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่โอบอุ้มทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ เพราะการไปข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องมีใครถูกทิ้งไว้ให้โดดเดี่ยวกลางทาง ที่ปลายทางมีพื้นที่สำหรับทุกคนเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนานั้น สามารถพาทุกคนไปได้อย่างไร

 

ปัจจุบัน SDGs อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทุกคนอีกต่อไปแล้ว เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs อยู่บนพื้นที่สื่อ และภายในหลายๆ องค์กรมาตลอด 10 ปี คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องท่องจำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ครบทุกข้อ เพราะด้วยกระแสของสังคมที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ปัญหาไม่เคยถูกมองข้าม แต่ขั้นถัดไปคือ เราจะจัดการสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรให้มีความเชื่อมโยงกัน และจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเกิดขึ้นจากความต้องการของคนตัวเล็กตัวน้อยสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน

 

‘เรา’ ในฐานะผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

‘เรา’ ในที่นี้เหมือนตัวละครในภาพยนตร์ ทุกคนมีบทบาท และหน้าที่ต่อเนื้อเรื่องที่ต่างกันออกไป แต่ละตัวละครไม่จำเป็นต้องเล่นทุกบทบาท ทุกฉากไม่ต้องมีทุกคน แต่ในท้ายที่สุด ทุกตัวละครจะล้วนมีผลต่อเนื้อเรื่องให้ดำเนินไปสู่ข้อสรุปเสมอ ถ้าการจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต้องมีตัวละครหลัก ที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ใครเหมาะที่สุดสำหรับบทบาทตัวละครหลักนี้

 

ถ้าเรามีความเชื่อร่วมกันว่า เยาวชนคือพลเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตการณ์จะยาวนานสักแค่ไหน หากมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ทดลอง และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะยิ่งช่วงสานพลังต่อยอดให้มองเห็นความเป็นไปได้ ที่จะนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบางปัญหาอาจจะดูใหญ่เกินกว่าพวกเขาจะรับไหวก็ตาม บทบาทของตัวละครหลักในเรื่องนี้คงเหมาะที่สุดสำหรับเยาวชน ที่จะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง

 

การร้อยเรียง ต่อบทบาท ส่งเสริมซึ่งกัน และกันของตัวละครอื่นๆ ให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ คือการโหมโรงของทุกคนที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า และช่วยให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ พื้นที่การเรียนรู้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ เพื่อผลักดันความขีดความสามารถของเยาวชนในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้สะดวกอย่างมีความหวัง

 

บทความนี้ เราจะมาชวนทุกคนคุยกับ UNDP ประเทศไทย และ TK Park ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เยาวชนมาอย่างยาวนาน ถึงมุมมอง และโครงการที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

 

 

ความร่วมมือไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และยั่งยืนเกิดขึ้นแล้ว

 

กว่า 5 ปีแล้ว ที่โครงการ Youth:CoLab Thailand โดย UNDP ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เยาวชนไทยทั่วประเทศได้มีพื้นที่สำหรับดึงศักยภาพตัวเองออกมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมของเราให้อยู่ในทิศทางที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ตามหลัง SDGs ทั้ง 17 ข้อเท่านั้น แต่ต้องสัมพันธ์กับประเด็นในพื้นที่ด้วย

 

คุณกาเด้  ณิชกานต์ ธรมธัช เจ้าหน้าที่งานเยาวชน และนวัตกรรมเพื่อสังคม UNDP ประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของโครงการ Youth:CoLab Thailand พบว่า ช่องว่างความแตกต่างระหว่างศักยภาพเยาวชนในกรุงเทพฯ กับเยาวชนในต่างจังหวัด มีอยู่จริง เราได้เรียนรู้ว่าเยาวชนกลุ่มเปราะบางมีความเข้าใจปัญหาของตัวเองที่ค่อนข้างลึก อาจจะเพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ซึ่งมีประเด็นอยู่ตลอดเวลา แต่ยังเสียเปรียบในเรื่องวิธี และเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร หากเปรียบเทียบกับเยาวชนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้อีกด้วยว่า การทำงานที่มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจะเป็นเหมือนตัวเร่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น และยั่งยืนกว่าเดิม

 

“สำหรับโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 UNDP ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือที่ดีมาก จาก TK Park อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของพลเมือง เราเริ่มจากการทำงานร่วมกันในจังหวัดเล็กๆ เช่น แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายแนวคิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่น และเยาวชนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้ไปพร้อมกับการพัฒนพื้นที่บ้านเกิดเป็นเรื่องสนุก สิ่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงกันระหว่าง TK Park ที่ทำงานเรื่องการเรียนรู้ กับ UNDP ที่ทำงานเรื่องการพัฒนา” คุณกาเด้เล่าถึงโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 จากความร่วมมือกับ TK Park ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการบนเป้าหมาย และความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกัน

 

ไม่ใช่แค่เยาวชน แต่ต้องเป็นพื้นที่สำหรับ ‘ทุกคน’

 

คำว่าการเรียนรู้มักมาควบคู่กับภาพของเด็ก และเยาวชน เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใหญ่ในเมืองไทยคิดว่าตัวเองหมดเวลาในการเรียนรู้ไปแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ความเชื่อของ TK Park แม้ว่าผู้ใช้บริการ TK Park ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จนติดตา แต่จริงๆ แล้วภารกิจหลัก คือการตอบสนองกับคนทุกช่วงวัย ให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการเพื่อพัฒนาทักษะ และความคิดให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา การสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน จึงเป็นการเข้าไปติดอาวุธให้กับพลเมือง ให้การพัฒนาเป็นไปได้กว้าง และลึก มาพร้อมทั้งความผิดพลาด และหนทางใหม่ๆ สำหรับการไปต่ออย่างยั่งยืน

 

คุณต้อง กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้เปิดมุมมอง และสร้างความเข้าใจใหม่ต่อ TK Park ว่า “หลายคนอาจจะจำว่า TK Park เป็นห้องสมุดใหญ่ๆ ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้ากลางกรุงเทพ แต่อันที่จริงแล้ว ห้องสมุดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่อาศัยหนังสือเป็นอุปกรณ์หลัก ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน”

 

ด้วยภารกิจขององค์กร ในปัจจุบัน TK Park ได้ส่งโมเดลห้องสมุดมีชิวิตต่อไปให้กับหน่วยงานพันมิตรทั่วประเทศ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาล ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะหน่วยงานเหล่านี้ก็มีภารกิจในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น การศึกษานอกห้องเรียน หรือ การสร้างห้องสมุดประชาชน โมเดลของ TK Park คือการทดลองต้นแบบใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ โดยมีตัวชี้วัดเป็นผลตอบแทนสู่สั่งคม หรือ Social Return of Investment (SROI) โดยวัดจากกระบวนการที่มีคนเข้าร่วม เช่น จำนวนหนังสือที่ถูกยืม หรือ การเข้าถึงข้อมูลตามโซเชียลมีเดีย

 

“TK Park พบว่า ในฝั่งออนไลน์ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีคนเข้ามาใช้บริการ

เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อ เทียบกับช่วงก่อนโควิด ปัจจุบัน TK Park มีพื้นที่การเรียนรู้ใหญ่ๆ 31 แห่ง ใน 23 จังหวัด โดยในปี 2566 จะมีเพิ่มที่จังหวัดพะเยา และสุราษฎร์ธานี และในอนาคตยังมีการวางแผนขยายไปในอีก หลายจังหวัด ตอนนี้ TK Park ได้เข้าไปแทรกตัวอยู่กับเครือข่ายต่างๆ อีกกว่า 300 แห่ง ตั้งแต่ กระทรวงศึกษาธิการ สสส. หรือกลุ่มงานราชทัณฑ์ต่างๆ เช่น ห้องสมุดพร้อมปัญญาของ กรมราชทัณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะที่อยู่นอกรั้วสถานศึกษา” คุณต้องสะท้อนผลลัพธ์จากการลงทุนของ TK Park เรื่อยมา โดยเฉพาะการปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และยังตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนขยายพื้นที่การเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

 

แต่ถึงอย่างไร แม้ว่า TK Park มีเป้าหมายเพื่อทุกคน แต่ปัญหาบางอย่างก็อาจจะต้องใช้เยาวชนมาเป็นหลัก สำหรับ TK Park การลงทุนกับเยาวชนเป็นกลุ่มแรก จึงมีความคุ้มค่าในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีเส้นทางอีกยาวไกล หากสามารถสร้างกรอบวิธีคิดหรือมุมมองในระยะยาวได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้คนในพื้นที่ และคนในครอบครัว ไปจนถึงพลเมืองทั้งประเทศได้

 

 

ประเด็นจากทุกคน เพื่อน้ำทะเลที่สะอาด และอากาศที่ปลอดภัย

 

จากความร่วมมือครั้งนี้ โครงการ Youth:CoLab ใช้วิธีลงพื้นที่เพื่อโฟกัสประเด็นต่างๆ ที่เยาวชนกำลังสนใจ TK Park หนึ่งในเครือข่ายที่เราร่วมมือด้วย เป็นผู้อำนวยให้โครงการได้เข้าถึงพื้นที่หลากหลายรูปแบบ UNDP ยังได้ทำหน้าที่ เป็นตัวกลางเพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนได้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอีกหลายๆ องค์กรทั่วประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วม

 

“เราเริ่มจากบริบทของท้องถิ่นว่าภายในพื้นที่เองเห็นปัญหาอะไร และพอใจในสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขามาแค่ไหน แทนที่จะเป็นการโยนเรื่อง SDGs เข้าไปในพื้นที่ตรงๆ ตรงนี้จะช่วยสะท้อนประเด็นในพื้นที่ออกมาได้ บางพื้นที่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ หรือการศึกษา ไปจนถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ” คุณกาเด้เล่าแผน และวิธีการทำงานของโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 เพื่อให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาร่วมกัน

 

จากความร่วมมือนำสู่วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เป็นการชวนให้เห็นประเด็นจากในพื้นที่เป็นหลัก ชวนคนในพื้นที่สังเกตปัญหารอบๆ ตัวก่อนว่ามันคืออะไร ให้พวกเขาเห็นปัญหาในพื้นที่ตัวเองก่อน แล้วฉายออกให้กว้างขึ้นว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างไร แล้วเราอยากพัฒนามันอย่างไรให้ดำเนินไปพร้อมกันได้ทุกประเด็น และคนในทุกพื้นที่มีความเข้าใจร่วมกันได้ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันได้ เช่น ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างไรไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

คุณกาเด้กล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้แล้ว UNDP ได้มีการอบรมเรื่องกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Design) ให้กับเจ้าหน้าที่ TK Park เครือข่ายในแต่ละพื้นที่ โดยไม่ใช่เพียงการอบรม แต่เป็นเหมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เจ้าหน้าที่จาก TK Park แต่ละที่ก็เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ว่ามีตรงไหนที่สามารถเลือกมาสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองได้ โดยไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะเป็นความตั้งใจให้พื้นที่มองเห็นประเด็นการพัฒนาที่ตนเองสนใจจากคนในพื้นที่ก่อน จากนั้น UNDP จะเข้าไปลงรายละเอียดของกระบวนการอีกที นำสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิธีการทำงาน และกระบวนการคิดระหว่างทั้ง 2 องค์กรอีกด้วย”

 

ตัวอย่างในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่คุณต้องได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน ได้พบว่า ภายในพื้นที่มีประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศมายาวนาน ปัญหาหมอก และควันกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ การทำงานของโครงการ คือการหยิบประเด็นเหล่านี้ของพื้นที่ขึ้นมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการส่งต่อความชำนาญของตนให้เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ และผู้เข้าร่วม จัดทำเป็นโครงการ Clean Air Heroes ที่ใช้เยาวชนเป็นผู้มีบทบาทนำในการเข้าไปออกแบบการแก้ปัญหาหมอก และควันภายในจังหวัดของตนเอง

 

หรือในพื้นที่อย่างจังหวัดนราธิวาส ด้วยภูมิศาสตร์ที่มีพรหมแดนติดทะเล ประเด็นที่คนในพื้นที่มักพบเจอ และสัมพันธ์ก่อตัวเป็นปัญหา คือเรื่องทรัพยากรน้ำ จึงเกิดเป็นโครงการ Ocean Hero ที่ผลักดันศักยภาพของคนในชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบของคนในชุมชนเอง

 

พลังแห่งการสร้างสรรค์

 

เมื่อ TK Park ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้รู้จักบริบทของปัญหา และคนในพื้นที่ ส่วน UNDP คือนักจัดการองค์ความรู้ และมีเครื่องมือให้เลือกใช้สำหรับพัฒนามากมาย ความเป็นไปได้ก็พรั่งพรูออกมาผ่านความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอของคนรุ่นใหม่ คุณต้องได้ถอดบทเรียนจากโครงการที่ได้เริ่มทำร่วมกับ UNDP ประเทศไทยที่ทำให้พบโอกาส และความเป็นไปได้ใหม่ๆ

 

“ทุกครั้งที่เราได้ฟังไอเดียของเยาวชนในพื้นที่ก็รู้สึกว่า การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้คิด หรือได้ทดลองอย่างอิสระ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง ใจความสำคัญนอกจากการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ คือการสร้างพื้นที่แห่งการรับฟังสิ่งที่พวกเขาคิด และสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสาร เพราะพวกเขาจะรับรู้ได้ถึงความตั้งใจนั้น เขาจะเต็มที่กับการลงมือแก้ปัญหามากๆ ซึ่งมวลที่ส่งให้กันแบบนี้จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย”

 

“สิ่งที่ได้เห็นจากการเข้าไปทำงานในพื้นที่ คือความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น หรือกรรมการจากภาครัฐ และเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เราเห็นการให้ความร่วมมือที่ค่อนข้างจะเยอะจากชุมชนในพื้นที่ เช่น อาจารย์ บริษัทเอกชน หรือเทศบาล ในขณะที่เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับการจัดงานขนาดใหญ่ระดับประเทศกลับพบระยะห่างระหว่างเยาวชนกับที่ปรึกษาโครงการ  ตรงนี้เป็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ในการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราพบว่า การสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยสนับสนุนเยาวชนในท้องถิ่นมีพลังมาก ยิ่งมีคนจากองค์กรต่างๆ ในพื้นที่มารับฟังแล้ว เยาวชนก็จะยิ่งรู้สึกมีความหวังกับพื้นที่ตัวเอง สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายระดับท้องถิ่นได้”

 

“ปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้มีความซับซ้อน กิจกรรมที่ UNDP จัดไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียว แล้วจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว” คุณกาเด้กล่าวเสริม

 

ด้วยเป้าหมาย และภารกิจที่ TK Park ทำมาตลอดหลาย 10 ปี เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับทุกคน คุณต้องเชื่อว่าโครงการที่ทำร่วมกับ UNDP ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เยาวชน หรือชุมชน หรือคนในพื้นที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยบริบทหรือประเด็นในพื้นที่เอง ขั้นต่อไปคือการสร้างให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองต่อไป

“หลายอย่างเริ่มต้นด้วยการปีนบันได้ขั้นแรก ตอนนี้ TK Park สร้างบันไดขั้นแรกให้แล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้มีขั้นที่สอง สาม และสี่ การชวนเยาวชนเข้ามาตระหนักถึงปัญหาในพื้นที่ และทราบว่าปัญหายังมีทางออก ก็เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของพวกเขา เหมือนอุโมงค์ที่มีแสงสว่างอยู่ปลายทาง เราหวังว่าเยาวชนกลุ่มนี้ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม จะสามารถขึ้นบันไดขั้นต่อไปได้ด้วยตนเอง”

 

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ TK Park และ UNDP ประเทศไทยกำลังทำอยู่ อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนกลุ่มแรกที่ทำสิ่งเหล่านี้ และหลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนัก บางคนอาจไม่เชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

“สิ่งที่เราทำได้ และทำได้ดี คือการสร้างความไว้ใจ คนในพื้นที่จะรู้ว่าเรามีจุดประสงค์ในการช่วยเหลือโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง พวกเรามีกระบวนการ มีผู้คนที่เราจะลงไปคุย และสามารถทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันได้ ไม่ใช่แค่มาโยนการแก้ปัญหาแล้วจบ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ สร้าง ดูให้นานว่าเราจะทำอะไรได้ได้บ้าง เราจะวางแผนอย่างไร มันอาจเป็นสิ่งที่พูดยากมาก เพราะมันมีหลายปัญหาเป็นของผู้ใหญ่ บางครั้งการแก้ไขอาจจะต้องเริ่มจากเยาวชน”

 

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง TK Park และ UNDP การเติบโตที่ไม่มีใครรู้มากไปกว่าใคร แต่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนแล้วเติมโตไปพร้อมกัน โครงสร้างของความยั่งยืนที่ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนกับคนกลุ่มใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนเพื่อพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ยากหรือฝังรากลึกขนาดไหน แต่ถ้าทุกคนเห็นภาพ และมีเป้าหมายร่วมกัน ปัญหานั้นจะมีทางออกที่ดีเพื่อทุกคนเสมอ

Keywords: ,
  • Published Date: 26/05/2022
  • by: UNDP

การมีส่วนร่วมของเยาวชน: บันได 8 ขั้นสู่การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

 

คุณเคยมีประสบการณ์การมีส่วนร่วมของเยาวชนที่แท้จริงกันหรือไม่? ???
.
เป็นที่รู้กันว่าทุกวันนี้ เยาวชนถือเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจและทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะพาเยาวชนมาร่วมสนทนา จัดกิจกรรมสนุก เพื่อส่งเสริมประเด็นต่างๆ สู่อนาคตที่ยั่งยืนของพวกเราทุกคน
.
แต่! จะมีสักกี่คนนะ ที่เข้าใจว่าที่ผ่านมาเรามีการจัดการมีส่วนร่วมของเยาวชนในรูปแบบไหน และแบบไหนคือสิ่งที่ควรทำให้ถึงเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงให้กับเยาวชน
.
วันนี้ เรามีคำตอบ ใน “บันไดแห่งการมีส่วนร่วมของเยาวชน” ทั้ง 8 ขั้น ของโรเจอร์ ฮาร์ท ในเอกสาร Children’s Participation: From tokenism to Citizenship จัดทำโดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ

หลังจากรู้จักบันได้ 8 ขั้นนี้แล้ว คอมเม้นกันมาได้นะ ว่าที่ผ่านมา แต่ละคนมีประสบการณ์อยู่ที่ขั้นไหน หรือ อยากมีส่วนร่วมในรูปแบบไหนมากขึ้นหลังจากนี้

 

มาเริ่มกันที่ ลำดับขั้นต่ำสุดของบันไดกันก่อน

ขั้นที่ 1 – การถูกบงการ: เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ถูกออกแบบและดำเนินการทั้งหมดโดยผู้ใหญ่ เป็นงานที่จัดขึ้นและถูกนำเสนอในลักษณะที่แสร้งว่างานเกิดขึ้นโดยความตั้งใจหรือคำนึงถึงเยาวชน ทั้งที่ความจริงไม่ได้มี เด็กหรือเยาวชนมีบทบาทสำคัญอะไรในงานนั้นที่ตอบโจทย์ตอนประเด็นสำคัญของงานเลย ยกตัวอย่างเช่น การแสดงของของเด็กและเยาวชนที่นำโดยผู้ใหญ่ทั้งหมด เด็กและเยาวชนถือป้ายข้อความทางการเมืองทั้งที่ตัวพวกเขาเองไม่ได้มีความเข้าใจในประเด็นหรือเหตุผลของการกระทำดังกล่าวเลย หรือการลงข่าวเกี่ยวกับ “การลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากเยาวชน” ในขณะที่ในเนื้อข่าวหรือรายละเอียดของงานที่นำเสนอวิธีการมีส่วนร่วมของเยาวชนในงานดังกล่าว แต่กลับให้ความสำคัญถึงผู้ใหญ่จากหน่วยงานผู้ดำเนินโครงการมากกว่า

ขั้นที่ 2 – การเป็นไม้ประดับ: ในสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนถูกใช้งานให้ช่วยเหลือหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเด็นงานดังกล่าวโดยที่พวกเขาไม่ได้มีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเลย ความแตกต่างของขั้น 2 จากขั้นที่ 1 คือในขั้นนี้ ไม่ได้มีการแสร้งว่างานดังกล่าวถูกจัดขึ้นโดยเยาวชนหรือคำนึงถึงเยาวชนโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เด็กและเยาวชนถูกเชิญไปเข้าร่วมงานหนึ่ง เพื่อทานอาหารและของว่าง ใส่เสื้อที่ทางงานมอบให้ แล้วถ่ายรูป โดยที่พวกเราไม่ได้รู้หรือเข้าใจถึงประเด็นของงานที่เข้าไปร่วมเลย

ขั้นที่ 3 – การทำพอเป็นพิธี: ขั้นนี้เยาวชนได้รับโอกาสให้ส่งเสียง ออกความคิดเห็น โดยที่มีตัวเลือกในการแสดงความเห็นที่น้อยหรือไม่มีตัวเลือกเลยในการมีส่วนร่วมกับประเด็นดังกล่าว พวกเขาแทบไม่มีโอกาสในการเตรียมตัวหรือรวบรวมความคิดเห็นได้อย่างเพียงพอ และเมื่อรับความเห็นไปแล้ว ไม่ได้มีการนำข้อเสนอของเยาวชนไปใข้ต่อในกระบวนการการตัดสินใจ หรือผู้ใหญ่ไม่ได้มีการให้ข้อเสนอแนะกลับแก่กลุ่มเยาวชนผุ้เข้าร่วมเสนอความเห็นในประเด็นดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ณ งานเสวนางานหนึ่ง ได้มีการเชิญเยาวชนผู้มีชื่อเสียงมาเข้าร่วมหารือกับเยาวชนคนอื่น ๆ เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่มาที่ไปของงานหรือประเด็นในการหารือในครั้งนั้น อีกทั้งไม่ได้มีการอธิบายความสำคัญและบทบาทของเยาวชนผู้แทนที่เข้าร่วมทำให้ไม่สามารถหารือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในวันต่อมา สื่อได้ลงข่าวประชาสัมพันธ์งานนี้โดยเน้นไปที่รูปภาพของเยาวชนผู้มีชื่อเสียงเท่านั้น ไม่มีการอธิบายรายละเอียดการมีส่วนร่วมของเยาวชนหรือผลลัพธ์หรือกระบวนการถัดไปจากการมีส่วนร่วมของเยาวชนในครั้งนี้

 

 

ขั้นที่ 4 – การมอบหมายและแจ้งให้ทราบก่อน: โดยในขั้นนี้เด็กและเยาวชนถูกมอบหมายให้รับบทบาทเฉพาะในงาน และได้รับการแจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดความตั้งใจของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ข้อมูลผู้อนุมัติและเหตุผลของเขาที่นำมาสู่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในงานนี้ เยาวชนได้รับทบาทสำคัญมากกว่าการเป็นไม้ประดับ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของหน้าที่ลงมือปฏิบัติในงานร่วม หรือในเชิงสัญลักษณ์ และเยาวชนตัดสินใจอาสาเข้าร่วมด้วยตัวเองหลังจากที่ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เด็กและเยาวชนถูกมอบหมายให้ร่วมนำเสนอผลงานของตัวเองเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนบทสนทนาในการประชุม หรือ ส่งเสียงสนับสนุนประเด็นสำคัญเพื่อให้ได้รับความสนใจและจูงใจให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นความสำคัญ-ของประเด็นหรือแนวปฏิบัติดังกล่าวที่กระทบต่อพวกเขา ซึงอาจนำไปสู่การปรับใช้ข้อเสนอดังกล่าวเข้าไปในกระบวนการหารือที่เข้าร่วม

ขั้นที่ 5 – การขอคำปรึกษาจากเยาวชนและแจ้งให้ทราบก่อน: เกิดขึ้นเมื่อเด็กหรือเยาวชนได้รับการขอคำปรึกษา หรือเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ใหญ่ ซึ่งเยาวชนรู้ว่าข้อเสนอที่ให้ไปจะได้รับการพืจารณาอย่างจริงจังผ่านกระบวนการที่ดำเนินและตัดสินใจโดยผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนถูกเชิญไปเข้าร่วมงานหารือเกี่ยวกับแผนงานด้านการขนส่งของเมือง เยาวชนได้รับการแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานและประเด็นที่เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ อีกทั้งทราบแน่ชัดถึงการใช้ประโยชน์จากข้อเสนอแนะของเยาวชน ซึ่งเยาวชนเองได้รับเวลาเพียงพอในการเตรียมตัวทำความเขาใจประเด็นและข้อเสนอแนะของตัวเองสำหรับนำเสนอในที่ประชุม โดยหลังการประชุมจะเป็นบทบาทของผู้ใหญ่ในการรวบรวมและตัดสินใจเกี่ยวกับแผนงานต่อไป

ขั้นที่ 6 – ผู้ใหญ่ริเริ่มโดยมีเด็กและเยาวชนร่วมตัดสินใจร่วม: แน่นอนว่า ไม่ใช่โครงการพัฒนาชุมชนหรือสังคมทุกรูปแบบจะสามารถริเริ่มได้โดยคนจากทุกกลุ่มอายุ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกิดการกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพยังถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องเกิดการส่วนร่วมจากหลายกลุ่มโดยเฉพาะ เยาวชน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ซึ้งการมีส่วนร่วมในขั้นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการหรือกิจกรรมได้ถูกริเริ่มโดยผู้ใหญ่ แต่เยาวชนยังได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึงต้องการจัดกิจกรรมกับเยาวชนในท้องถิ่น เยาวชนได้รับเชิญเข้าร่วมในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยในกระบวนการนี้เยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องการสื่อสารและการดำเนินกิจกรรมไปพร้อมกันกับผู้ใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มาจากความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายสำหรับกิจกรรมนี้

ขั้นที่ 7 – เด็กและเยาวชนริเริ่มโดยมีผู้ใหญ่รับบทบาทในเชิงสนับสนุน: ขั้นนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็กและเยาวชนได้ริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ทำหน้าที่ในเชิงสนับสนุนในโครงการที่นำโดยเด็กหรือเยาวชน ซึ่งโดยปกติแล้วหลายๆ ครั้ง พบว่าผู้ใหญ่มีความลำบากในรับมือโครงการริเริ่มโดยเด็กและเยาวชน เพราะบางครั้งอาจลำบากใจที่จะเข้ามาช่วย แนะนำข้อเสนอแนะที่ปลอดภัย ห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสายตาของพวกเขา หรือถึงขั้นเข้ามาควบคุมก็เป็นได้ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสม อาจกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ ส่งเสริมความกล้า และแสดงศักยภาพของตนเองรวมถึงทักษะความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ชมรมเยาวชนแห่งหนึ่งตัดสินใจที่จะจัดค่ายร่วมกับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ เด็กและเยาวชนได้ริเริ่มและเป็นผู้นำในการออกแบบกิจกรรม รวมถึงแผนดำเนินการต่างๆ ซึ่งผู้ใหญ่เองได้เข้ามาร่วมสนับสนุนได้ทั้งในเชิงคำแนะนำและช่องทางการเงินหรือทรัพยากรบุคคล เพื่อให้โครงการที่นำโดยเยาวชนสามารถเกิดขึ้นได้จนสำเร็จ

ขั้นที่ 8 – เยาวชนริเริ่มโครงการและตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่: นี่เป็นขั้นการมีส่วนร่วมชั้นบนสุดซึ่งเป็นการที่เยาวชนสามารถใช้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบริเริ่มโครงการที่ต้องโจทย์วัตถุประสงค์และความต้องการของเยาวชนมากที่สุด โดยที่ยังมีผู้ใหญ่ร่วมในการตัดสินใจอยู่ในกระบวนการ การมีส่วนร่วมแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เยาวชนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ยังเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปพร้อมกับการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในทักษะหรือประเด็นที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเยาวชนได้สร้างโครงการหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด กลุ่มเยาวชนนี้เป็นผู้เขียนโครงการของบ และเป็นผู้นำในการดำเนินโครงการ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเชิญผู้ใหญ่เข้าร่วมเป็นทีมงานและร่วมกันตัดสินใจพัฒนาโครงการร่วมกันสู่ผลสำเร็จ ซึ่งเยาวชนเองก็ได้เรียนรู้วิธีการจัดการโครงการและจัดสรรทรัพยากรจากผู้มีประสบการณ์ รวมถึงเข้าถึงเครือข่ายใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชนต่อไปหลังจากจบโครงการดังกล่าวนี้

 

จากระดับการมีส่วนร่วมแต่ละระดับที่ได้นำเสนอไป จริง ๆ แล้วไม่ได้มีความจำเป็นเลยที่เด็กและเยาวชนจะต้องพยายามมีส่วนร่วมในระดับที่สูงโดยตลอด เพราะเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีเวลา ความรับผิดชอบ ความชอบ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป การมีส่วนร่วมจึงต้องมีการปรับไปตามความเหมาะสมตามเวลา โอกาสที่เหมะสมสำหรับเยาวชนแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือทุกครั้งที่เราออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมของเยาวชน จะต้องพยายามออกแบบโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เลือกเข้ามามีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของพวกเขาเองตามแต่เวลาและโอกาสที่เหมาะสม

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) มีความเข้าใจในความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเยาวชนและเราได้มีการทำงานกับเยาวชนในหลายประเด็นมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการมีส่วนร่วมในด้านพลเมือง การส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ และการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์การทำงานด้านเยาวชนของเราได้ที่ https://bit.ly/3BZyx7S

Keywords: ,
  • Published Date: 10/05/2021
  • by: UNDP

Peace of Art พื้นที่ปลอดภัยสร้างได้ผ่านกิจกรรมทำอาหารทางเลือก

โควิด-19 กำลังกลับมาอีกครั้ง เช่นกันกับความเครียดและกังวลใจที่พ่วงมาด้วยกับสถานการณ์เช่นนี้

รุส-รุสลีนา มูเล็ง ยังจำความรู้สึกช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ได้ดีว่าโรคระบาดแห่งยุคสมัยสร้างผลกระทบให้คนมากมายขนาดไหน ยิ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์การจำกัดพื้นที่ยิ่งเท่ากับจำกัดกิจกรรมเข้าไปอีก

              “ตอนแรกเราสนใจศิลปะบำบัดความเครียด เราเห็นภาพว่าเป็นการวาดเขียน วาดเส้น ระบายสี” ความเครียดที่เธอว่านอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว เธอยังนึกถึงความกดดันทั่วๆ ไปในชีวิต รวมถึงความตึงเครียดสะสมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธออยู่ แต่พอเธอได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อได้เข้าร่วม Youth Co:Lab เธอเริ่มมองศิลปะในมุมที่กว้างขึ้น ว่าอะไรคนถึงจะสนใจเป็นพิเศษ “ศิลปะอาจไม่ได้มีคนสนใจมากขนาดนั้น เราเลยทำการบ้านว่าจะทำอะไรดี เรานึกถึงการปั้นดินน้ำมัน งานคราฟต์ และการทำอาหาร มันน่าสนใจตรงที่อาหารทำให้เราคลายเครียดได้”

             ท่ามกลางหลากหลายทางเลือกที่เธอมองหา รุสบอกว่าการทำอาหารโดดเด่นที่สุด

             “อาหารเป็นอะไรที่ทุกคนเข้าถึงและลงมือปฏิบัติได้” ในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก รุสสังเกตเห็นว่าการเข้าครัวกลายมาเป็นกิจกรรมของใครหลายๆ คน และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจหลายแขนงปิดตัวก็มีอาหารนี่แหละที่คงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเห็นร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นบ้างด้วย

“เราเลยสังเกตพฤติกรรมของคนวัยรุ่นวัยมหาลัย เราเห็นว่าเขาชอบเช็คอิน ชอบถ่ายรูปลงโซเชียล เราเลยคิดลองจัดกิจกรรมทำอาหารที่เขาได้ทั้งทำเองและถ่ายรูปลงได้ด้วย มันน่าจะสร้างคุณค่าได้มากกว่าการซื้อแล้วถ่ายลงโซเชียล”

Peace of Art มีคอนเซ็ปต์กว้างๆ ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและการมีกิจกรรมทางเลือกเพื่อลดความเครียดจึงก่อร่างสร้างตัวขึ้น

  


ปั้นโปรเจ็กต์

              รุสทดลองทำเวิร์คช็อปโดยให้เป็นส่วนผสมระหว่างการทำอาหารและการบำบัดความเครียด การทำอาหารของเธอไม่ได้จำเป็นว่าต้องรสชาติดีเด่น แต่เน้นความเป็นตัวเองและความคิดสร้างสรรค์

              เวิร์คช็อปแรก Peace of Art ชัดเจนตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ว่าจะเป็น Cooking Therapy

              “ปรากฏคนส่วนใหญ่คิดว่าเราจะสอนทำอาหารจริงจัง” ที่เป็นเช่นนั้นรุสมีสมมติฐานว่าอาจเป็นเพราะคอนเซ็ปต์ของการทำอาหารเพื่อการบำบัดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในพื้นที่จังหวัดยะลา ทั้งนี้สิ่งที่บรรจุลงไปในเวิร์คช็อปครั้งแรกของเธอผสมสาระทั้งด้านอาหารและด้านการเข้าใจความเครียดไว้ด้วยกัน โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารควบคู่ไปด้วย แต่แทนที่จะให้ทุกคนทำตามสูตรทีละขั้นทีละตอนแบบเป๊ะๆ การทำอาหารในเวิร์คช็อปของเธอกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะไม่ได้มีสูตรตายตัว

“เราเห็นว่าเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นมันมีพื้นที่พูดคุยมากกว่าการทำอาหารทั่วๆ ไป เพราะอาหารของเราไม่ได้เน้นรสชาติ แต่เน้นความสร้างสรรค์ เน้นความเป็นตัวคุณเข้าไปเลย” 

การจัดกิจกรรมครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมแปดคน รุสถอดบทเรียนสิ่งที่อยากแก้ไขและพัฒนาในครั้งต่อไป

“เราพบว่าไม่ใช่ทุกคนแก้ความเครียดด้วยวิธีนี้ พอเราดูลึกลงไปเราพบว่าคนจะแก้ความเครียดด้วยวิธีไหนก็ได้ จะไปเที่ยว ออกกำลัง และไม่ใช่ทุกคนชอบทำอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นประโยชน์ชัดจากการจัดเวิร์คช็อปคือเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาได้เจอตัวเอง ได้ระบายตัวเองออกมา”

รุสยังเสริมอีกว่าหลายๆ คนไม่ได้สื่อสารหรืออาจไม่ได้สังเกตว่าตัวเองมีความเครียดมากน้อยแค่ไหนอย่างตรงไปตรงมา การจัดเวิร์คช็อปเพื่อผ่อนคลายความเครียดโดยตรงจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่างหากที่รุสเห็นว่าจำเป็นมากในสถานการณ์แบบนี้

 


จากแก้เครียดสู่สร้างพื้นที่ปลอดภัย

 เมื่อ Peace of Art ได้รับทุนไปพัฒนาโปรเจ็กต์รอบที่สองเธอจึงบิดชื่อเวิร์กช็อปว่า “คิดเช่นกันไหม” ทั้งเป็นการเชิญชวนคนให้เข้าครัว และเป็นคำพ้องเสียง เป็นไปดั่งที่คาดคิด พอเปลี่ยนวิธีประชาสัมพันธ์เธอได้คนสมัครเข้าร่วมเวิร์คช็อปมากยิ่งขึ้น โดยรุสเก็บความตั้งใจเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้เป็นประเด็นหลักของเวิร์คช็อปผ่านอาหารครั้งนี้ โดยรุสให้ทุกคนแนะนำตัวผ่านอาหารจานโปรด

“เราเซ็ตไว้ว่าจะไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ ให้แนะนำตัวผ่านอาหารที่ชอบ ตลอดกิจกรรมเราจะไม่เรียกด้วยชื่อตัวเอง” เธออธิบายกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีนัยยะสำคัญ

ครึ่งแรกของเวิร์กช็อปทั้งหมดว่าด้วยการละลายพฤติกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก

“เรามีกิจกรรมที่เรียกว่ากระจกที่ไม่สะท้อนกลับ ให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กันเพื่อพูดและฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องตอบโต้ ไม่ตัดสิน” รุสอธิบายว่าในกิจกรรมมีกระบวนกรที่ตั้งหัวข้อมาชวนพูดคุย เช่น สิ่งที่อยากปรับปรุง เรื่องที่อยากให้กำลังใจตัวเอง โดยพูดให้กับอีกคนฟังซึ่งอีกฝ่ายมีหน้าที่เพียงฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น “ส่วนใหญ่เวลาเราพูดอะไรมักจะถูกตัดสิน ผู้ฟังมักให้ความเห็นตามประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอมา แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนใส่รองเท้าไม่เหมือนกัน เจอเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน เราเลยอยากให้การฟังที่เกิดขึ้นในเวิร์กช็อปเป็นการฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องการการตอบกลับ คล้ายๆ กับพูดให้ตัวเองฟังมากกว่า เป็นการให้กำลังใจตัวเองดังๆ”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเบาๆ ชวนละลายพฤติกรรมระหว่างผู้เข้าร่วมโดยใช้อาหารเป็นหัวข้อในการพูดคุย เช่น ชวนกันแบ่งปันสูตรเฉพาะแต่ละบ้านในเมนูสุดมาตรฐานอย่างไข่เจียว เป็นต้น

พอผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและเริ่มรู้สึกปลอดภัยกับพื้นที่นี้ ถัดมาจึงเป็นการเข้าครัวจริง โดยแต่ละคนได้รับเซ็ตตกแต่งเค้กคนละกล่อง มีครีม มีโยเกิร์ต และอื่นๆ ตามเลือกสรร อาหารที่นำเสนอใน Peace of Art เป็นอาหารที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับสูตร แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวเอง

“เราอยากให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเอง โดยแต่ละคนรังสรรในแบบฉบับตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง จะใส่อะไรก็ได้ที่เป็นตัวเอง” รุสอธิบายต่อว่าการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ และให้เวลากับตัวเองแบบนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนตัวตนผ่านสิ่งที่ทำ

“บางคนละเอียดนุ่มนวลมันก็สะท้อนจากการที่เขาใส่อย่างหนึ่งก่อนอีกอย่างหนึ่ง” เมื่อจบเวิร์คช็อปรุสก็มีแบบสอบถามให้กับผู้เข้าร่วมว่ารู้สึกอย่างไรกับเวิร์คช็อปครั้งนี้ ผลโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ

“สุดท้ายคือผู้เข้าร่วมไม่เครียด สนุกสนาน สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน และที่สำคัญที่สุดคือมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและคลายเครียด”


ต่อยอดกิจกรรม

หากมีโอกาสจัดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นอีกหรือได้พัฒนาโครงการต่อ รุสบอกว่า Peace of Art สนใจจัดต่อแบบครั้งที่สองตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไปจนถึงตัวกิจกรรม การทำให้พื้นที่ตรงนี้มีคนทุกเพศเข้ามาคือความท้าทายที่เธออยากก้าวข้ามให้ได้ เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้เข้าร่วมเพศหญิงเท่านั้น 

และในระยะยาวเธอคิดต่อยอดถึงขั้นเปิดเป็นคาเฟ่

“ถ้าจะทำให้โดดเด่นเราอาจทำเป็นคาเฟ่คลายเครียด จะมีเซ็ตอาหาร DIY ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตัวเมนูอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยแบ่งอาหารออกเป็นหลายประเภททั้งสายเฮลตี้และสายทั่วไป” รุสเล่าต่อว่าเธออยากสร้างความภูมิใจง่ายๆ ให้กับทุกคนซึ่งการได้ลงมือตกแต่งหรือปรุงอาหารด้วยตัวเองก็เป็นหนึ่งในวิธีสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้
ไม่เพียงเท่านี้เธอยังคิดว่าจะจัดเวิร์กช็อปรายเดือนเพื่อให้มีกิจกรรมบำบัดความเครียดเสริมเข้ามาด้วย รวมถึงมีคอร์สพิเศษสำหรับคนที่รู้สึกอยากผ่อนคลายความเครียดผ่านการทำอาหารแบบเดี่ยว

และหากคาเฟ่เป็นจริงเธอยังนึกถึงไอเดียตั้งต้นเรื่องศิลปะบำบัดมาดัดแปลงผ่านการใช้สีจากอาหารมาวาดภาพด้วย

ทั้งนี้รุสเล่าว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเธอที่ลองส่งโครงการเข้าร่วม Youth Co:Lab สิ่งที่เธอได้เรียนรู้รับว่ามาไกลมาก โดยเฉพาะมุมมองด้านธุรกิจผ่าน Business Model Canvas ที่เธอไม่เคยเรียนรู้มาก่อน รวมถึงการทำหาอินไซต์ที่ทำให้เธอออกแบบงานได้ตรงโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมและเดินต่อได้ถูกทางมากยิ่งขึ้น มีเครื่องมือไปใช้กับผู้เข้าร่วมได้หลากหลายยิ่งขึ้น

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 22/02/2021
  • by: UNDP

Youth Co:Lab story: HINT เปลี่ยนทุกข้อสงสัยของนักเรียนให้เป็นความเข้าใจ

การเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นไปได้ยากที่จะเข้าใจแจ่มแจ้งแบบไร้ข้อสงสัย ครั้นจะยกมือถามกลางห้องบรรยากาศก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเสมอไป หลายคนจึงต้องพึ่งตัวช่วยนอกห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นถามเพื่อนคนอื่นๆ เรียนพิเศษ หรือปรึกษาผู้ปกครอง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีตัวช่วยเหล่านี้ ยิ่งเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไป ความช่วยเหลือที่มีอย่างจำกัดกลับถูกตัดให้ลดน้อยลงไปอีก ปัญหานี้กลายมาเป็นโจทย์หลักที่ทีม HINT เลือกนำไปพัฒนาต่อ 

“สมัยก่อนมันไม่มีอะไรถามได้แบบฟรีๆ เลย อย่างมากก็ถามกูเกิ้ล มันอาจได้คำตอบไม่ตรง กว่าจะเจอก็หานาน ส่วนถ้าถามเพื่อนกว่าจะตอบ แล้วก็ต้องมีเพื่อนที่เก่งถึงจะช่วยได้แค่นี้ก็ไม่เท่าเทียมแล้ว ยิ่งโรงเรียนที่ไม่ได้มีการศึกษาดีพอ มันก็ไม่ได้ช่วยกันได้ขนาดนั้น” ปาล์ม-ณภัทร พันธ์ประสิทธิกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนึกย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังเรียนอยู่

ทีม HINT เป็นการรวมตัวของเพื่อน 3 คน ประกอบด้วย บุ๊ค-บุณยวัส ศรีสมพงษ์ บอส-ธเนศ ศรีอมร และปาล์มที่พบและแลกเปลี่ยนความสนใจกันที่ฝึกงาน 

คอนเซ็ปต์พื้นฐานของ HINT ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการให้นักเรียนทิ้งคำถามไว้ ส่วน Helper หรือผู้ตอบจะเข้ามาช่วยคลายข้อสงสัยต่างๆ เอง

 

ก่อร่างสร้างงาน

จากไอเดียบนหน้ากระดาษ ทีม HINT ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์คช็อป Youth Co:Lab กว่าสองเดือน ตลอดเวิร์คช็อปทางทีมได้กลับไปวิเคราะห์ทบทวนตั้งแต่ปัญหาที่ต้องการแก้ วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา โมเดลทางธุรกิจ และผลกระทบทางสังคมที่สร้างได้ บุ๊คเล่าว่าหลังจากเข้าเวิร์คช็อปสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือโมเดลทางธุรกิจ

แผนล่าสุด HINT ออกแบบมาให้ใช้บริการได้ฟรีแบบมีโฆษณา ค่าโฆษณาเป็นหนึ่งในรายได้ของ HINT และอีกหนึ่งวิธีคือ Subscription Model หากนักเรียนคนไหนต้องการใช้งานแบบปลอดโฆษณา ได้รับคำตอบที่รวดเร็ว และเลือกผู้ตอบได้ การจ่ายค่าสมาชิกก็จะตอบโจทย์ยิ่งขึ้น

สำหรับ Helper สิ่งที่ดึงดูดใจให้เข้ามาช่วยตอบคำถามคือเงินรางวัล

“ถ้าคำถามที่ Helper ตอบตอบได้ดี นักเรียนหรือผู้ถามก็จะให้เหรียญเพื่อแสดงความพึงพอใจ พอจบเดือนเราก็จะเอารายได้ทั้งหมดมาแบ่งสัดส่วนแล้วแบ่งกลับไปให้ Helper ตามจำนวนเหรียญที่ได้รับ” ปาล์มอธิบายต่อว่าแอพลิเคชันเวอร์ชั่นสมบูรณ์จะเปิดคำตอบให้นักเรียนคนอื่นได้เห็นด้วย หากคำตอบถูกใจนักเรียนคนอื่นก็กดไลค์ได้ ส่วน Helper คนไหนมียอดไลค์เยอะก็จะได้รายได้พิเศษด้วย

นอกจากโมเดลธุรกิจที่พัฒนามาไกล บอสแบ่งปันว่าความประทับใจระหว่างการเข้าร่วมเวิร์คช็อปคือการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจจากเพื่อนต่างภูมิหลัง ส่วนบุ๊คสนุกกับกระบวนการเวิร์คช็อปที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี แต่ละช่วงเชื่อต่อกันและมีเป้าหมายชัดเจน

ทดลองวิชา

เพื่อให้ใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ครอบคลุมที่สุด HINT ตั้งใจจะทำออกมาในรูปแบบแอพลิเคชัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและระยะเวลา หลังจากที่ HINT พัฒนาและนำเสนอโครงการจนได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย LINE OA จึงเป็นช่องทางในการทำโปรโตไทป์ทดลองตลาดโดยให้ติวเตอร์หรืออาสาสมัครผู้ตอบทำหน้าที่เป็นแอดมิน ส่วนผู้ถามเป็นคนแอด Line OA เพื่อฝากคำถามคาใจหรือโจทย์การบ้านที่แก้ไม่ได้ทิ้งไว้ มาถึงตอนนี้ HINT เปิดทดลองใช้งานใน 3 รายวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

“เราเริ่มโพสต์วันแรกวันเดียวคนเข้ามาห้าหกสิบราย พอครบเดือนหนึ่งมีพันราย และครบสองพันรายประมาณภายในยี่สิบวัน ตอนนี้ทำมาสองเดือนกว่าใกล้จะครบสามพัน อัตราคนเข้ามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ” ปาล์มผู้มีหน้าที่หลักในการประชาสัมพันธ์และดูแลการตลาดให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มอธิบายว่า HINT พยายามเข้าถึงผู้ใช้ในหลากหลายช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์กลุ่ม และไลน์ Openchat ทั้งนี้เขายังคงมองหาอาสาเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยตอบคำถามและทดลองใช้งานเพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์ที่สุด

หลังจากการเปิดตัวในช่วงแรกที่นักเรียนยังเข้ามาถามไม่เยอะจึงเกิดการแย่งกันตอบ HINT จึงพยายามเซ็ตระบบขึ้นมา บอสผู้ดูแลดาต้าอธิบายว่าทุกครั้งที่จะรับดูแลการตอบคำถามให้พิมพ์ว่า “สวัสดีพี่มาแล้วจ้า” และทุกครั้งที่สอนเสร็จก็ให้ติวเตอร์กดส่งแบบประเมินกลับไปให้นักเรียน

“กลไกที่เซ็ตขึ้นมานี้นอกจากจะช่วยลดความสับสนในการแย่งกันตอบแล้ว มันยังใช้นับว่าแต่ละวันมีคำถามเข้ามากี่ข้อ มีคนตอบกี่ข้อ กี่คน และมีกี่คำถามที่ยังไม่ถูกแก้ จากนั้นเราก็จะส่งข้อมูลตรงนี้ให้บุ๊คขึ้นเว็บสำหรับให้ติวเตอร์เช็คคะแนนสถิติของตัวเอง” ที่ผ่านมาผู้ถามมีความพึงพอใจจากคำตอบที่ได้รับถึงราว 88% และการเก็บฟีดแบ็กเช่นนี้ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนา HINT เวอร์ชั่นถัดๆ ไป

ความถูกต้องคือสิ่งสำคัญ

เมื่อ HINT เกิดมาเพื่อช่วยไขข้อสงสัยทางวิชาการเป็นหลัก ความถูกต้องจึงคืออีกสิ่งที่พลาดไม่ได้

วิธีการตรวจสอบความถูกต้องในช่วงทดลองนี้ทำผ่านการให้คนในชุมชนช่วยกันตรวจสอบกันเอง มีการกำหนดกฎขึ้นมาว่าหากอาสารายอื่นพบเจอการตอบผิดให้ส่งเรื่องมา งานจัดการก็ไม่น้อย งานพัฒนาก็เยอะ HINT จึงตัดสินใจชวนมิว-ชณิศรา ชมชื่น เข้ามาสมทบทีมเพื่อดูแลการจัดการหลังบ้านโดยเฉพาะ บทบาทหน้าที่ของมิวมีทั้งช่วยตักเตือนสมาชิกที่ไม่ได้ทำตามกฎ ไปจนถึงรับการแจ้งเกี่ยวกับความถูกต้องของการตอบ

“พอเห็นคนอื่นตอบผิดเขาก็เข้ามารีพอร์ตกัน แต่เราไปดูได้ไม่ครบว่าทำผิดยังไง ตอนหลังเลยเพิ่มกฎมาว่าต้องอธิบายพร้อมบอกคำตอบที่ถูกต้องด้วย” มิวอธิบายขั้นตอนการทำงาน “บางครั้งเราได้รับรีพอร์ตเป็นติวเตอร์คนเดิมๆ ซ้ำๆ เราเลยต้องมีฟอร์แมตบันทึกข้อมูลไว้ด้วยเพื่อป้องกันการตักเตือนซ้ำ”

ผลลัพธ์ที่เกิดคาด

นอกจาก HINT จะช่วยคลายข้อสงสัยเฉพาะหน้า ทำให้เด็กหลายๆ คนมีการบ้านที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งครูแล้ว HINT ยังช่วยสร้างความเข้าใจในบทเรียนด้วย 

“มีคนสอนที่ให้น้องเล่าก่อนว่าเขาคิดยังไงกับโจทย์นี้ก่อนที่จะเฉลย เหมือนให้เด็กได้ทบทวนตัวเองก่อนและมีอาสาอีกคนที่อัดคลิปเป็นสอบคลิปเพื่ออธิบายสิ่งที่เด็กถามเป็นสิบคลิป สปิริตเขาสุดยอดมาก” บุ๊คเล่า “ส่วนฝั่งเด็ก ก็มีน้องถามว่าพี่จะทำ Line OA ตลอดไปไหม จะได้ไม่ห่วงเรื่องการบ้าน เราได้ยินแล้วน้ำตาจะไหล”

โจทย์ใหม่ที่เจอ

HINT ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์และเก็บข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากนำ HINT ไปคุยกับคุณครูในโรงเรียน หนึ่งในฟีดแบกที่ได้คือ “HINT อาจเป็นดาบสองคมเพราะเด็กไม่ต้องทำการบ้านเอง” ทางทีมจึงนำโจทย์นี้ไปพัฒนาต่อ

“เพราะอยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด เราจึงไปคิดฟีเจอร์ใหม่เพิ่มมา แทนที่ Helper จะให้คำตอบเลยทันที หลังจากที่อธิบายพูดคุยกันไปสักพักหนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่การเฉลยคำตอบ จะมีปุ่มให้ติวเตอร์ส่งคำถามไปหาเด็กเพื่อทดสอบความเข้าใจ” บอสอธิบายว่าฟีเจอร์ใหม่นี้ถอดมาจากโปรโตไทป์ที่กำลังทำอยู่ “ติวเตอร์ชอบถามว่า ที่อธิบายยาวๆ นี่เข้าใจไหม ร้อยละ 70 จะบอกว่าเข้าใจแล้ว แต่เราไม่รู้เลยว่าเขาเข้าใจจริงหรือเปล่า ฟีเจอร์ตรงนี้จะช่วยทดสอบความเข้าใจได้และติวเตอร์จะได้รู้ว่าต้องสอนอะไรเพิ่ม”

“ฟีเจอร์เช็คความเข้าใจนี้จะเป็นแบบมีตัวเลือก ต่อให้เลือกผิดก็ยังคงได้คำตอบอยู่ดี แต่หากตอบถูกบ่อยๆ ก็จะมีรางวัลให้คนตอบ เช่น ทำให้เจอติวเตอร์ได้เร็วขึ้น หรือเลือกติวเตอร์คนที่อยากเจอได้” ปาล์มเสริม

ขยายฐาน

เรื่องการเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้างเป็นสิ่งที่ HINT ตระหนักดีตั้งแต่ต้นว่าอยากทำให้ครอบคลุมที่สุด 

สำหรับนักเรียนเก่งที่อาจไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ HINT มองว่าพวกเขาอาจเข้ามาในฐานะ Helper ได้เช่นกัน โดยในช่วงทดลองนี้ HINT ได้เปิด Line Openchat ขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนนักเรียนช่วยตอบกันเองด้วย เหมือนช่วยติวเพื่อนๆ ไปในตัว ภายในระยะเวลา 1 เดือนมีผู้ใช้ Line Openchat ราว 600 คน

ส่วนอีกกลุ่มที่ HINT ยังเข้าไม่ถึงในจุดนี้คือกลุ่มที่อาจไม่ได้มีโทรศัพท์และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอด

“กลุ่มนี้เราต้องใช้เวลาสักพักในการเก็บดาต้าให้รู้ว่านักเรียนส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องไหน แล้วค่อยหาวิธีทำงานร่วมกับโรงเรียนและหน่วยงานการศึกษาเพื่อแก้ไขในระดับระบบหลักสูตรต่อไป” ปาล์มอธิบาย

มากกว่าถาม-ตอบ

แม้สโคปงานที่ HINT ทำจะอยู่ที่การสร้างความเข้าใจและถามตอบในประเด็นที่เด็กๆ สงสัยในบทเรียน แต่จากการคลุกคลี เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเรื่อยมาทำให้ทีมเห็นภาพใหญ่ของการศึกษาในปัจจุบัน

“เราพบว่านักเรียนค่อนข้างซีเรียสเรื่องวิชาการมากๆ เด็กมัธยมต้นก็เอาโจทย์มัธยมปลายมาทำ” ปาล์มอธิบาย

“มันเลยน่าเป็นห่วงว่าเด็กอาจโฟกัสที่วิชาการมากเกินไปจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต ไม่มีเวลาสนใจเรื่องรอบตัว” บุ๊คเสริม ทั้งนี้พบว่านักเรียนกว่า 70% มีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอซึ่งไม่ต่างอะไรจากหลายสิบปีก่อน

ทั้งที่ในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ ที่ขยายกว้างมากขึ้น

การเห็นข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทาง HINT มีแผนในระยะยาวที่อยากช่วยไขข้อข้องใจในทุกๆ มิติของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้มากขึ้น

“เรามอง HINT เป็นช่องทาง ในอนาคตเราอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาด้วยเพื่อให้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในสาขานั้นๆ  รวมถึงอาจต่อยอดเป็น HINT for Mind, HINT for Health เพื่อออกแบบแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ชีวิตนักเรียนให้รอบด้านมากขึ้นด้วย” ปาล์มสรุป

Keywords: , , ,
  • Published Date: 02/12/2020
  • by: UNDP

ถอดบทเรียนโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อสังคม Youth Co:Lab 2020

เยาวชนเผชิญ เยาวชนคิด เยาวชนหาทางออก คือไอเดียของ Youth Co:Lab พื้นที่สำหรับเยาวชนในการผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมตลอดมา

ปีนี้วาระใหญ่ระดับโลกอย่างโรคระบาดโควิด-19 มาเยือนธีมจัดงานเลือกได้ไม่ยากนัก กลายมาเป็น Covid-19 Recovery ซึ่งมีที่มาจากแบบสอบถามต่อเยาวชนทั่วประเทศถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงโควิด ทำให้ได้ประเด็นย่อยของธีมที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงโควิดครอบคลุมถึงเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพจิต และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในครอบครัว
ถึงแม้ว่าขั้นตอนเตรียมงานมาจนถึงงานจริงจะกินระยะเวลาหลายเดือน สถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิดจากวันแรกจนถึงวันงานก็เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในประเทศไทย ในช่วงเตรียมงานโรคยังคงระบาดหนัก แต่พอเริ่มจัดงานจริงสถานการณ์ผ่อนคลายลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปไม่ได้กระทบต่อธีมงานเท่าใดนัก เพราะประเด็นที่เลือกสรรมายังคงเป็นประเด็นที่เยาวชนสนใจ มีความสำคัญและเป็นปัญหาร่วมในสังคมอยู่ เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 และการปรับตัวเป็นตัวเร่งและเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาเหล่านั้นรุนแรงเพียงใด 

ดังนั้นต่อให้โควิด-19 จะซาลง นวัตกรรมเพื่อสังคมที่เยาวชนพัฒนาขึ้นก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ โอกาสความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งระหว่างทางก็เป็นสิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต และสำคัญที่สุดการได้พบเจอคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในประเด็นสังคมก็เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่งานนี้ต้ังใจจะให้เกิดดังเช่นทุกๆ ครั้ง บทความนี้จึงจะมาถอดบทเรียนองค์ประกอบสู่ความสำเร็จของการจัดงาน Youth Co:Lab ในปีนี้

 

ห้องเรียนออนไลน์

จากประสบการณ์การจัด Youth Co:Lab ในปีผ่านๆ มา ทีมงานรู้ดีว่าการเรียนรู้ข้อมูลอัดแน่นในสามวันที่ปิดท้ายด้วยการพิชโปรเจ็กต์นั้นมีเรื่องไม่น้อยที่ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาโครงการภายใต้เวลาแสนจำกัด ไอเดียเรื่องการปรับระบบให้เป็นออนไลน์เพื่อขยายเวลาเรียนรู้จึงถูกพูดถึงเรื่อยมา แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทำจริง

การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อการเรียนและการประชุมมากยิ่งขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในช่วงโควิด ทำให้เกิดโอกาสในการเปลี่ยนการเวิคช็อปมาสู่ช่องทางออนไลน์ เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงอัดเนื้อหาสาระให้จุใจมากกว่าที่เคย โดยแบ่งเป็นเวิร์คช็อปออนไลน์ 4 วันเต็ม ก่อนที่จะมาพบหน้ากันจริงอีกสองวันครึ่ง เพื่อให้น้องๆได้พิชโครงการที่พัฒนารวมเวลาทั้งหมดกว่า 2 เดือน

ผลที่ออกมาทั้งคุ้มค่าและมีราคาที่ต้องแลก ความเข้มข้นของเนื้อหาแน่นอนว่าได้มากกว่าที่เคย แต่ความสบายใจ และพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือสิ่งที่ผู้จัดกังวลว่าอาจทำได้ไม่ดีเทียบเท่ากับการพบเจอกันตัวต่อตัว แต่เราก็พบว่าการที่ปรับห้องเรียนเป็นแบบออนไลน์และขยายเวลาให้ครอบคลุมยาวขึ้น การพบปะแบบออนไลน์ก็ยังมีช่องทางในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ จากความต่อเนื่องในการพบกันก็ทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเมื่อทุกคนมาด้วยความตั้งใจเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงสังคม มิตรภาพและความรู้สึกเชื่อมโยงกันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมดก็อาจจะไม่สามารถทดแทนได้เสียทีเดียว ทางทีมงานจึงปิดท้ายกระบวนการด้วยเวิร์กช็อปแบบออฟไลน์อีก 2 วัน จุดประสงค์หลักคือการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม ถอดบทเรียนการเรียนรู้จากออนไลน์ รวมไปถึงนำเสนอผลงานหลังจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว

ข้อดีอีกอย่างของการเรียนการสอนแบบออนไลน์คือ การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลที่เป็นออนไลน์เช่นกัน หากผู้จัดต้องการจัดเก็บข้อมูลก็ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนนี้ลงไปได้ อีกทั้งยังเห็นพัฒนาการและความตั้งใจทำงานของแต่ละกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

 


ซัพพอร์ตพร้อม

ก่อนที่กระบวนการเวิร์กช็อปจะเริ่มขึ้น เราได้ติดต่อพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตามประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อแบ่งปัน insights และช่วยสะท้อนให้แต่ละทีมได้พัฒนางานที่ตรงโจทย์มากยิ่งขึ้น เช่น คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ จากทีม Locall ที่มาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการสร้างงานในธุรกิจร้านอาหารช่วงโควิด หรือดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ นักวิชาการการศึกษาจาก UNICEF ที่มาให้คำปรึกษาเรื่องนวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น 

อีกหนึ่งการสนับสนุนที่เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในปีนี้คือการรับสมัครผู้เข้าร่วม Youth Co:Lab ในปีก่อนๆ  (Alumni) เพื่อเป็น Mentor หรือพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม หน้าที่ของพี่เลี้ยงคือช่วยตอบคำถาม คลายข้อสงสัย ให้ความเห็น เสริมมุมมอง 

Mentor คนหนึ่งที่เป็น Alumni จากปีที่แล้วให้ความเห็นว่า นอกจากจะได้ช่วยเกลา ช่วยชี้แนะผลงานของทีมที่ตนดูแลอยู่แล้ว ยังใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้มข้นและแตกต่างไปจากปีที่แล้วพร้อมๆ กับผู้เข้าร่วมด้วย

 

กางตำรา

เวิร์กช็อปออนไลน์ทั้ง 4 สัปดาห์ ได้รับความร่วมมือจาก Hand up network และ Changefusion ในการมาทำกระบวนการออนไลน์ ในอาทิตย์แรก นอกจากจะพยายามละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ และทำความรู้จักกันเบื้องต้นแล้ว วัตถุประสงค์หลักของห้องเรียนครั้งนี้คือการสร้างความเข้าใจในปัญหาที่แต่ละทีมอยากแก้

เครื่องมือที่ใช้ในการเข้าใจปัญหาไม่ได้เป็นเพียงการมองปัญหาที่ทีมสนใจเท่านั้น แต่ยังชวนคิดกลับไปให้ถึงรากของปัญหา และมองผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากปัญหานี้อย่างรอบด้าน

เมื่อเห็นปัญหาแล้ว กระบวนกรได้ชวนแต่ละกลุ่มไปวิเคราะห์ต่อว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ แต่ละผู้เล่นหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีบทบาทแบบไหน มีหน้าที่อะไร กำลังพยายามขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาไหนอยู่ เพื่อที่จะได้เห็นว่าทีมจะวางตัวเองอยู่ส่วนไหนของปัญหา และจะแก้ไขเรื่องไหนเป็นหลัก

ก่อนแยกย้ายกันยังมีการโจทย์ Problem Statement เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหาที่กลุ่มตัวเองต้องการแก้ให้ชัดที่สุด

ห้องเรียนออนไลน์ในวันแรกผ่านไปด้วยความอัดแน่น หนัก เวลาพักสั้น เสียงสะท้อนจากครั้งแรกจึงได้นำไปปรับการเรียนการสอนในครั้งต่อๆ ไปให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

การเวิร์กช็อปออนไลน์ในครั้งที่สองว่าด้วยการระดมสมองคิดหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ด้วยเพราะแต่ละทีมเตรียมไอเดียมาจากบ้านตั้งแต่ส่งข้อเสนอเข้ามา เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงเน้นไปที่การนำไอเดียของตนเองมาทบทวนอีกครั้งว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง และคุณค่าของนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาคืออะไร

และเพื่อปรับไม่ให้เหนื่อยล้ากับงานตรงหน้ามากเกินไป กิจกรรม Ice Breaking จึงเน้นไปที่นำผู้เข้าร่วมทุกคนไปพูดคุยและแชร์ความคิดเห็นต่างๆ ในประเด็นที่หลากหลาย มีเบา มีหนักสลับกันไป แต่ให้หลุดไปจากเนื้อหาหลัก

ครั้งที่สามเป็นการเรียนแผนธุรกิจผ่าน Business Model Canvas โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะมาให้ความรู้ แต่ด้วยความที่เนื้อหาค่อนข้างลึกและซับซ้อน ประเด็นที่เน้นย้ำในการสอนครั้งนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้แต่ละกลุ่มไม่ลืมมิติมุมมองด้านธุรกิจซึ่งเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและอยู่รอดต่อไปในระยะยาว

เมื่อดำเนินมาถึงจุดที่แต่ละทีมเห็นปัญหาชัด มีไอเดียในการแก้ปัญหา มองมิติทางธุรกิจ การเวิร์กช็อปครั้งสุดท้ายจึงปิดท้ายด้วยการคิดเรื่องผลกระทบทางสังคม (Social Impact) โดยใช้เครื่องมือ Theory of Change เมื่อแต่ละทีมเห็นผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการแล้ว จึงให้แต่ละทีมวางแผนแบบย้อนกลับว่าต้องการเห็นอะไรจากภาพกว้างสุด 1 ปี ลดลงมาที่ 6 เดือน จากนั้นจึงลงรายละเอียดว่าในแต่ละช่วงต้องมีแผนการทำงาน (action plan) อย่างไร เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ในการเวิร์กช็อปออนไลน์ ไม่ใช่แค่การให้อินพุตเพื่อมุ่งพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมของแต่ละทีมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างเครือข่ายของเยาวชนนักเปลี่ยนแปลงสังคม และในช่วงการจัดกิจกรรมก็เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยกำลังร้อนแรง ทีมงานจึงถือโอกาสให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นการเคลื่อนไหวต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นและเชื่อในพื้นที่ปลอดภัย เพราะหากข้ามประเด็นเรื่องปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ก็อาจยากที่ทั้งผู้เข้าร่วมและทีมงานจะตอบตัวเองได้ว่าเราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมไปเพื่ออะไร

 

แรกเราพบกัน

หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ Youth Co:Lab คือการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าร่วม ผู้สนับสนุน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใช้สำหรับพัฒนางานสิ้นสุดไปตั้งแต่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว แต่การรู้จักและแลกเปลี่ยนกันแบบพบหน้าเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง จึงเป็นที่มาของการจัดงานให้ผู้เข้าร่วมได้พบกันตัวต่อตัวด้วย

ผู้เข้าร่วมหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพบหน้าคร่าตาเพื่อนร่วมเวิร์คช็อปนับเป็นส่วนที่ประทับใจที่สุด เขาได้พบปะคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวปกากญอจากแม่ฮ่องสอน เยาวชนมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงอีกหลายคนที่มาจากภาคกลางที่มากไปด้วยความถนัดและความสนใจ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ทำให้ได้เปิดกว้างทางมุมมอง ได้รับรู้ภูมิหลังและบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

ไอเดียเป็นจริงได้

ในงานพบปะระหว่างผู้เข้าร่วม มีการเชิญผู้ประกอบการสังคมที่ประสบความสำเร็จทั้งทางธุรกิจและทางสร้างผลกระทบทางสังคมมาแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนมุ่งมั่นที่จะไปต่อ ผู้ประกอบการวิทยากรบางคนก็เคยผ่านเวที Youth Co:Lab มาเช่นกัน เช่น คุณธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Yonghappy (ํYouth Co:Lab alumni 2017) และคุณสโรชา เตียนศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Pa’ Learn (ํYouth Co:Lab alumni 2019) เป็นต้น

ก่อนจะเข้าสู่การพิชในวันสุดท้าย เป็นการทบทวนสถานะโครงการของแต่ละทีม อีกทั้งยังมีการแทรกเนื้อหาเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไป โดยเให้แต่ละทีมได้ลองมองโครงการของตัวเองผ่านมุมมองการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวิเคราะห์โครงการของตัวเองในมุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่า SDGs จะไม่ใช่ภาคบังคับที่ทุกทีมต้องหยิบไปใช้ในตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโครงการ แต่ก็เป็นการจุดประกายให้หลายคนได้ทบทวนงานตนเองว่าสิ่งที่คิดขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเข้าถึงทุกคนหรือไม่

หนึ่งในผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าการเรียนรู้เรื่อง SDG คือหนึ่งในสิ่งที่เธอประทับใจที่ได้เรียนรู้ที่สุด เพราะมันช่วยให้เธอมองสิ่งที่กำลังจะทำในมิติที่กว้างขึ้น หาความเป็นไปได้ที่งานเธอจะมีส่วนช่วยอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

นำเสนอผลงาน

จุดสิ้นสุดของงาน phase แรกอยู่ที่การพิชงานให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ให้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของนวัตกรรมทางสังคมที่พัฒนาขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทาย

ก่อนที่จะถึงการนำเสนอผลงานจริง ได้มีการแนะนำประเด็นที่ควรกล่าวถึงให้ครอบคลุม และยกตัวอย่างวิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การแนะนำเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ผู้เข้าร่วมสามารถปรับ เลือกใช้ และออกแบบการนำเสนอได้ตามที่ทีมเห็นว่าเหมาะสม เพราะเป้าหมายของการนำเสนอนี้ไม่ใช่แค่เพียงชิงรางวัลเท่านั้น แต่เป็นโอกาสในการสะท้อนปัญหาที่แต่ละทีมให้ความสำคัญซึ่งหลายทีมเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ตนหรือคนรู้จักพบเจอ สรุปรวบยอดความคิดที่ได้พัฒนาและเรียนรู้ตลอดทั้งโครงการเพื่อแบ่งปันให้กับทุกคนได้รับฟัง

ทั้ง 10 ทีม ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีแผนงานพร้อมลงมือไปต่อเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แม้สุดท้ายมีเพียง 5 ทีมที่ได้ทุนสนับสนุนจากโครงงานให้ทดลองทำงานต่อไปอีก 3 เดือน แต่สิ่งที่ทั้ง 10 ทีมได้คิดและพัฒนาตลอดทางที่ผ่านมาย่อมไม่เสียเปล่า สามารถต่อยอดได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทดลองทำต่อกันเองในทีม หาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ที่อาจพบเจอในงานเพื่อสานต่อ หรือแม้แต่ส่งชิงทุนเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

 

โครงการนี้จะไม่สามารถดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเยาวชนที่มีความตั้งใจเขียนใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ขอขอบคุณพาร์ตเนอร์ ได้แก่ Citi Foundation UNICEF Thailand Institute of Justice True Incube และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานและเติมองค์ความรู้หลากหลายมิติให้แก่ผู้เข้าร่วม และขอขอบคุณกระบวนกรคุณภาพจาก Hand Up Network และ Changefusion ที่ร่วมบ่มเพาะและสนับสนุนเยาวชนทั้ง 10 ทีมไปด้วยกันตลอดทาง

เรื่องราวของ 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อมีที่มาที่ไปอย่างไร นวัตกรรมของพวกเขาตอบโจทย์ตรงใจใคร ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง โปรดติดตามได้ในบทความถัดๆ ไป

Keywords: , ,
  • Published Date: 18/08/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 กับการศึกษา: เรื่องใหญ่สำหรับชีวิตเยาวชน

การตัดสินใจปิดโรงเรียน หรือเลื่อนเปิดเทอมอย่างไม่มีกำหนดดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวในช่วงโควิด-19 สำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพราะโรงเรียนคือหนึ่งในสถานที่ที่รวมคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน

แต่การปิดสถานศึกษาส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตเด็กและเยาวชนไม่น้อย

การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า การเรียนการสอบและการศึกษาต่อคือความกังวลอันดับต้นๆ ที่พวกเขามี

 

เมื่อโรงเรียนเป็นมากกว่าการศึกษา

        การปิดภาคเรียนที่ยาวนานขึ้นและไม่มีกำหนดในช่วงแรกส่งผลต่อทั้งเยาวชนและผู้ปกครอง

        โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาคือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่บ้านในตอนกลางวัน โควิด-19 ทำให้ช่วงเวลาปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ พ่อแม่หลายรายต้องจัดสรรหรือหาแผนการให้เด็กอยู่ต่อไปได้ การเรียนรู้ด้วยรูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะนอกจากความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว โรงเรียนยังคือสถานที่ฝึกทักษะทางสังคมที่สำคัญของคนในวัยนี้อีกด้วย

        มากไปกว่านั้น สำหรับเด็กบางราย โรงเรียนคือสถานที่ที่ช่วยการันตีว่านักเรียนจะได้รับโภชนาการสารอาหารครบถ้วนตามสมควร เพราะบางครอบครัวอาจไม่ได้มีศักยภาพด้านการเงินเพื่อจัดหาอาหารที่เหมาะสมได้ในทุกๆ วัน

 

เรียนออนไลน์และเรียนทางไกล ทางออกที่ใช่สำหรับทุกคน?

        ในช่วงที่เราต่างรู้ว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อาจปลอดภัยกว่า การเรียนออนไลน์จึงเข้ามาอยู่ในบทสนทนาหลักของแวดวงการศึกษา

        นักเรียนนักศึกษาหลายคนเห็นตรงกันว่าเพื่อไม่ให้การศึกษาหาความรู้ขาดช่วงไป และเพื่อให้ไม่ลืมบทเรียนที่ผ่านมา ควรมีการเรียนหรือติวเพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์เพราะเยาวชนกลุ่มนี้กังวลว่าหากพวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่ออนาคตการศึกษาที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ เช่นการสอบเข้ามหาลัย และการย้ายโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้การที่เด็กเพียงส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงความรู้เพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ยิ่งเป็นการขยายช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเยาวชนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงทรัพยากร

        เมื่อพูดถึงการศึกษาที่เป็นทางการ แม้ออนไลน์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลหากให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข แต่เยาวชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าการเรียนออนไลน์ไม่ควรเป็นทางออกสำหรับทุกกลุ่ม หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ต้องมีการสนับสนุนจากทางรัฐมากกว่านี้ เพราะเยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ตและค่าไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องบรรยากาศแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ทำให้ความตั้งใจหรือมุ่งมั่นในการเรียนลดน้อยลงซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พื้นที่บ้านจำกัด หรือการมีพี่น้องที่อยู่ในวัยเรียนทั้งคู่จึงอาจเรียนพร้อมกันไม่สะดวกเพราะเสียงรบกวนกันหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลในประเทศไทย

        ไม่ใช่เท่านี้ ประเด็นเรื่องช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน นอกจากประเด็นที่ว่าเด็กเล็กต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในการช่วยเข้าถึงบทเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ งานวิจัยจาก TDRI ยังระบุด้วยว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 3 ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากคุณครู การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร

ความจำกัดของการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ได้จำกัดถึงแค่ฝั่งนักเรียน ด้านครูอาจารย์เองที่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับการจัดการการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ก็อาจส่งผลต่องานสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน


ความกังวลของเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย

นอกจากเรื่องระบบการเรียนออนไลน์ที่สะท้อนไปข้างต้น เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมหาวิทยาลัยจำนวนมากสะท้อนผ่านแบบสำรวจว่าพวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมส่วนหนึ่งให้เนื่องจากพวกเขามีโอกาสใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยลดน้อยลง ซึ่งในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งออกมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาในประเด็นนี้แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละที่

ด้านเยาวชนชั้นปีที่ 1 กังวลว่าหากการเรียนการสอนต้องย้ายมาอยู่บนออนไลน์ จะทำให้เขาไม่ได้พบปะเพื่อนใหม่และขาดประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัย

ส่วนเยาวชนที่ใกล้จบการศึกษากังวลเกี่ยวกับการฝึกงาน การขาดประสบการณ์การทำงานในสนามจริงซึ่งอาจกระทบต่อชีวิตการทำงานในระยะยาว

 

Resource:

การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/125193

https://www.unicef.org/thailand/th/media/4031/filehttps://voxeu.org/article/impact-covid-19-education

https://www.freepik.com/premium-photo/asian-students-taking-exam_4751725.htm#page=8&query=thai+university&position=12

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 12/08/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 และสุขภาพจิต: มิติด้านสุขภาพที่เยาวชนต้องการการสนับสนุน

โควิด-19 และสุขภาพจิต: มิติด้านสุขภาพที่เยาวชนต้องการการสนับสนุน

ผลกระทบทางสุขภาพจากโควิด-19 ไม่ได้มีเพียงแค่ผลกระทบทางสุขภาพกายที่ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ซึ่งเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดกลุ่มหนึ่ง

การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 ได้รับผลกระทบทางสภาพจิตใจจากโควิด-19 โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย โดยความกังวล 3 อันดับแรก คือ การเงินของครอบครัว การศึกษา และการติดไวรัส ตามลำดับ

ความเครียดความกังวลของพวกเขามีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทางออกของพวกเขาอยู่ตรงไหน ร่วมสำรวจจิตใจเยาวชนไปด้วยกัน

 

เรื่องเงินเรื่องใหญ่

ปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัญหาสุขภาพจิตใจของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยและกลุ่มที่ต้องทำงานสนับสนุนด้านการเงินตัวเอง

เพราะเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาจึงทำให้ความกังวลในด้านอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น ความกังวลเกี่ยวกับปากท้องในชีวิตประจำวัน โอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่มีแนวโน้มว่าจะหันมาเป็นออนไลน์ยิ่งขึ้นทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจยังสืบเนื่องต่อไปถึงความสามารถในการสรรหากิจกรรมทางเลือกสำหรับพัฒนาศักยภาพและค้นหาตัวตนของเด็กและเยาวชนภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อทักษะการเข้าสังคมและทางอารมณ์ได้อีกด้วยไม่เพียงเท่านี้ ความไม่มั่นคงทางการเงินยังอาจนำมาซึ่งการตกงานของผู้ปกครองที่แบกรับความเครียดและไม่ได้ออกไปไหน สถานการณ์ที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแทบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกมีโอกาสซึมซับรับความเครียดนั้นมาด้วยหากพ่อแม่จัดการกับความเครียดได้ไม่ดีพอ

 

อยู่แต่บ้านสร้างกังวล

หลายความเห็นสะท้อนผ่านแบบสอบถามว่าการอยู่บ้านทำให้รู้สึกเบื่อ บั่นทอน และเครียด โดยอาการเหล่านั้นมาจากหลายสาเหตุ

การใช้เวลาอยู่ในบ้านกับสมาชิกครอบครัวนานขึ้นเป็นหนึ่งในนั้น เด็กและเยาวชนบางรายรู้สึกกดดันเพราะรู้สึกถูกตรวจสอบ ถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงออกตัวตนของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยแบบสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าร้อยละ 4 ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันมากขึ้นเพราะไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ต่อหน้าครอบครัว และเข้าถึงฮอร์โมนที่ตนเองรับอย่างต่อเนื่องได้ลำบากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม เยาวชนบางคนมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิกในครอบครัวยังคงต้องออกไปทำงานหรือไปธุระข้างนอก เพราะกลัวว่าจะนำโควิด-19 กลับมาที่บ้านด้วย

อีกหนึ่งประเด็นหลักที่สร้างผลลบต่อสุขภาพจิตจากการอยู่บ้านเป็นเวลานานคือความเครียดจากการเสพข่าว ในช่วงโควิดระบาดหนักเนื้อหาจากสื่อในแทบทุกแพลตฟอร์มล้วนนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับโควิด-19 โดยมีทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จ

ลำพังการรับรู้ข้อมูลโรคระบาดอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลต่อจิตใจได้แล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือเยาวชนกลุ่มหนึ่งสะท้อนใกล้เคียงกันว่าได้รับข่าวหรือข้อมูลตามกรุ๊ปไลน์ที่ส่งมาจากญาติผู้ใหญ่ หลาย ๆ ครั้งเป็นข่าวปลอมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนแสดงความกังวลและตั้งคำถามคือประเด็นเรื่องความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการจัดการ แก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบของรัฐบาล

 

การศึกษาที่พร่ามัว

เพราะการศึกษาคือเรื่องใหญ่ของเด็กและเยาวชน ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักตรงกับช่วงปิดภาคเรียนพอดี แต่กว่าที่จะรู้ว่าวันเปิดเทอมและแผนการต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษา เยาวชนหลายคนก็อดที่จะกังวลไม่ได้

บางความคิดเห็นสะท้อนว่า แม้จะอยู่บ้านก็เรียนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่แผนหลาย ๆ อย่างก็ไม่เป็นไปตามที่ได้วางไว้ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังจะจบมัธยมและจะเข้าศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา พวกเขากังวลว่านี่อาจนำไปสู่การเสียโอกาสในระยะยาว

ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ใกล้จบการศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยมีความกังวลว่าโปรแกรมการฝึกงานอาจยกเลิกในหลายที่ ซึ่งก็จะส่งผลให้พวกเขาขาดประสบการณ์การทำงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและอาจหางานไม่ได้ในที่สุด

 

เมื่อจิตใจต้องการที่พึ่ง

ในสถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่แต่ละคนต้องเผชิญอาจหนักหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่กับเยาวชนบางรายที่มีภาวะทางจิตอยู่แล้ว พวกเขากังวลเป็นพิเศษกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางรายสะท้อนว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษาหรือการให้คำปรึกษาจากนักวิชาชีพยากขึ้น และบางคนมีความคิดอยากฆ่าตัวตายในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ด้วย

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศอังกฤษที่จัดทำโดย Youngminds องค์กรที่ทำงานสนับสนุนสุขภาวะทางจิตของเยาวชน งานชิ้นนี้เก็บข้อมูลในช่วงที่ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเก็บจากเยาวชนกว่าสองพันคนที่มีภาวะสุขภาพจิตอยู่แล้ว ผลการศึกษาพบว่าในช่วงโควิด-19 คนหนุ่มสาวจำนวนมากยังคงต้องการเข้าถึงการรักษา แต่พวกเขากลับเข้าถึงได้น้อยลงหรือเข้าไม่ถึงเลย อีกทั้ง 80% ของกลุ่มเป้าหมายตอบว่าโควิด-19 ทำให้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่ลง

สำหรับเยาวชนไทยที่ตอบแบบสอบถามของยูนิเซฟจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่าสถานการณ์ที่เผชิญอยู่อาจพาเขาไปถึงจุดที่เป็นโรคซึมเศร้าได้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้เยาวชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1 ใน 4 ยังตอบว่ามีความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการความเครียดและซึมเศร้าอีกด้วย

ปัญหาด้านสุขภาพจิตในเยาวชนคือเรื่องไม่เล็กและไม่ควรมองข้าม หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญข้อนี้ดีและมีการออกข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการและช่องทางช่วยเหลือเยาวชนในเรื่องนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อย่างรวดเร็วที่สุด

สำหรับในประเทศไทย ความพยายามให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องนี้มีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) จัดคลินิกออนไลน์ 24 ชั่วโมง ชื่อ เลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com เพื่อให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น หรือรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแอพลิเคชัน HERO เพื่อดูแลสุขภาพจิตนักเรียนช่วงเปิดเทอม หรือกรมสุขภาพจิตร่วมกับสสส.ผลิตรายการ “บ้าน-พลัง-ใจ” ทางช่อง Thai PBS เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ทั้งนี้การเข้าถึงและความมีประสิทธิภาพของช่องทางเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/education-52721132

https://youngminds.org.uk/about-us/reports/coronavirus-impact-on-young-people-with-mental-health-needs/

https://www.dailynews.co.th/politics/782393

https://www.unicef.org/thailand/press-releases/8-10-youth-worried-about-their-family-income-due-covid-19

 

รูปภาพอ้างอิง:
https://www.freepik.com/free-photo/young-asian-woman-working-late-using-laptop-desk-living-room-home_5503828.htm#page=1&query=young%20asian%20women%20working%20late&position=39

Keywords: , , ,
  • Published Date: 06/12/2019
  • by: UNDP

เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกใกล้ถึงวันเกินเยียวยา นี่คือ 4 สิ่งควรรู้จากการประชุม ‘COP25’

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ซึ่งตอนนี้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบกับโลกและสิ่งมีชีวิตมากมาย เห็นได้จากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามนุษย์โลกยังนิ่งเฉย ในวันข้างหน้าอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นถึง 3.4-3.9 องศาเซลเซียส โดยจำนวนตัวเลขอุณหภูมิที่เอาแต่จะเพิ่มขึ้น คือสัญญาณเตือนให้มนุษย์ต้องทำอะไรสักอย่างกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ดังนั้นการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 (2019 UN Climate Change Conference : COP25) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนในวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้ จึงหยิบยกประเด็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ และนี่คือ 4 สิ่งเกี่ยวกับการประชุม COP25 ที่ทุกคนควรรู้

1. โลกร้อนขั้นวิกฤต : นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพราะตอนนี้มันกำลังเข้าขั้นฉุกเฉิน และจะเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

 

2. ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ : การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (carbon neutrality) คือความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2050 โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลก ควรจะตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซพิษมาทำลายโลกให้น้อยลง เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส (Paris agreement) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ที่หลายประเทศทั่วโลกต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45% ให้ได้ภายในปี 2030

 

3.พลังงานทดแทนคือทางออก : การที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้นั้น เลขาธิการสหประชาชาติมองว่า พลังงานทดแทนคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ นั่นหมายถึงต้องหยุดให้เงินอุดหนุนการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดการขุดเจาะต่างๆ และหยุดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขึ้นใหม่หลังจากปี 2020

 

4.‘เกรตา ธันเบิร์ก’ Climate Icon แห่งยุคไม่พลาดเข้าร่วม : แน่นอนว่าหากพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงจะขาดสาวน้อยวัย 16 ชาวสวีเดนอย่างเกรต้า ธันเบิร์กไปไม่ได้ นักขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่คนนี้ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาประชุม เพื่อการเดินทางอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมีคนมาย่อมมีคนขาด เพราะงานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐอเมริกาไม่ขอเข้าร่วม แต่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐเข้าแทน ทั้งที่อเมริกาคือหนึ่งในประเทศหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ซึ่งการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 (COP25) นี้จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อหาบทสรุปของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การประชุมครั้งที่ 26 ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

 

ที่มา : https://unfccc.int/process-and-meetings/conferences/un-climate-change-conference-december-2019/events-at-cop-25

https://news.un.org/en/story/2019/11/1052251

https://www.bbc.com/news/newsbeat-50629410

https://edition.cnn.com/2019/12/03/europe/greta-thunberg-lisbon-cop25-intl-scli/index.html

https://www.theguardian.com/environment/2019/dec/02/congress-commits-to-take-action-on-climate-crisis

 

#UNDP #UCXUNDP #COP25 #ClimateChange

Keywords: , ,
  • Published Date: 15/11/2019
  • by: UNDP

Youth Co:Lab Thailand 2019 ถอดบทเรียนโครงการประกวดนวัตกรรมสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เยาวชนเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์  ในปัจจุบันเยาวชนมักถูกกล่าวถึงในมุมมองไม่ใช่เพียงแต่ “ผู้ได้รับผลประโยชน์” จากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น  แต่ยังมีบทบาทเป็น “ผู้ขับเคลื่อน” การพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เยาวชนมีบทบาทในการเป็นผู้ขับเคลื่อนได้ คือการสร้างพื้นที่ ให้สังคมได้รับฟังเสียงของเยาวชน และให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่พวกเขาอยากเห็น โครงการ Youth Co:Lab จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสร้างการขับเคลื่อนสังคมจากระดับเยาวชน

Youth Co:Lab เป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาสังคมในแบบที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย

รูปแบบของโครงการ Youth Co:Lab ในประเทศไทย คือการเฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมทางสังคมจากเยาวชนทั่วประเทศไทย และให้เยาวชนมาเข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) รวมไปถึงเรียนรู้การพัฒนาแผนทางการเงินและธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก่อนจะนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อชิงทุนในการนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตนเอง โดยปีนี้ เรามาพร้อมกับความตั้งใจที่จะเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือการทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางเข้าใจและเข้าถึงปัญหาที่มีความซับซ้อน และสามารถนำแนวคิดนวัตกรรมสังคมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เราได้ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเลือกใช้โจทย์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง การใช้กระบวนการทางนวัตกรรมจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นหรือไม่ และนี่คือหนึ่งในความตั้งใจของเราเมื่อตัดสินใจหยิบยกประเด็นปัญหาทางสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น “การป้องกันความรุนแรงแบบสุดโต่ง การจัดการความขัดแย้ง และการลดความเหลื่อมล้ำ” มาเป็นแนวคิดคิดหลักของงาน

หากพูดถึงความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่สั่งสมมาจากมุมมองของคนที่ต่างกัน นำไปสู่ ‘การตัดสิน’ และ ‘การตีตรา’ ผู้อื่น การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากการเปิดใจและยอมรับความหลากหลาย “การสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงกลายเป็นโจทย์ของ Youth Co:Lab ในปีนี้ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยเอง มีความหลากหลายในสังคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกอยู่หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการการเอาชนะ กดทับกลุ่มที่เห็นต่าง การต่อสู้ระหว่างกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และอาจพาไปถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเองก็เป็นได้

เมื่อตั้งต้นโจทย์ด้วย “การเคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงจำเป็นอย่างมากที่กระบวนการทำงานของเราจะต้องสะท้อนคุณค่านี้ออกมาด้วย พวกเราจึงมีความตั้งใจมากในการเข้าถึงเยาวชนที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราอยากให้เยาวชนที่กำลังประสบปัญหาโดยตรงเหล่านี้ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงแนวคิดและส่งไอเดียนวัตกรรมสังคมเข้ามาด้วยตัวเอง เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้จริง ต้องเกิดจากการเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง และ Youth Co:Lab เป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับเยาวชน หากเราพาเครื่องมือนี้ไปถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในปัญหา เขาอาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเขาได้

ดังนั้นถึงแม้งาน Youth Co:Lab จะฟังดูเหมือนเป็นงานอีเวนต์ในระยะเวลาแค่ 3 วัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบและดำเนินการมาในระยะเวลาหลายเดือนเพื่อที่จะทำให้ Youth Co:Lab เป็นโครงการบ่มเพาะที่เข้าถึงเยาวชนทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ซึ่งในบทความนี้จะมาถอดบทเรียนกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ กระบวนการก่อนงาน และกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

ก่อนจะถึงงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

กิจกรรม Roadshow ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

เริ่มต้นด้วยการไป Roadshow ในภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ อีสาน และเหนือ โดยเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอคำแนะนำในการเข้าถึงเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของการจัด Roadshow ก็แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่นในภาคใต้ เราเน้นการไปลงพื้นที่พบปะกลุ่มเยาวชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่องค์กรของเขาเอง ในภาคอีสาน เราไปจัดงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิหรือพัฒนาสังคมผ่านกิจกรรมชมรม และในภาคเหนือ เราได้ประสานไปยังเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ เพื่อเข้าถึงเยาวชนจากหลากหลายชาติพันธุ์ของประเทศ

การปรับรูปแบบให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื้อหากิจกรรมใน Roadshow ก็ยังคงมีใจความเดียวกัน นั่นคือ การให้เยาวชนได้แบ่งปันและพูดคุยถึงความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง การแนะนำแนวคิดนวัตกรรมสังคม และการให้คำปรึกษาน้อง ๆ ในการพัฒนาโครงการ

การได้ฟังประสบการณ์ของเยาวชนที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันในระหว่าง Roadshow ให้เราเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของความแตกต่างหลากหลายในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเมื่อยิ่งได้ฟังเรื่องราวของน้อง ๆ ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เรากำลังเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เรามองหาจริง ๆ นั่นคือ กลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง และเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอในสังคมวงกว้างเท่าไรนัก เช่น เรื่องราวของน้องเยาวชนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไร้สัญชาติ กับความพยายามในขอสัญชาติมานานกว่า 11 ปี และยังคงต่อสู้ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย หรือ น้องทีมฟุตบอลหญิงชาวมุสลิมที่แต่งตัวไม่ตรงตามหลักศาสนา เนื่องจากขาดความคล่องตัว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจจากคนในพื้นที่ เป็นต้น เมื่อเราได้ลองใส่แว่นในมุมของเขาแล้ว ขั้นต่อไปคือการเชิญชวนให้เขาได้ลองใส่แว่นในมุมมองของเราบ้าง และนั่นก็คือการแนะนำให้เขารู้จักกับ “นวัตกรรมสังคม” น้อง ๆ หลายคนจะรู้สึกว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาไม่มีความรู้ เราจึงต้องเริ่มปูพื้นให้ความหมายของนวัตกรรมสังคม ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือคือ “วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ” ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเป็นเรื่องที่พวกเขากำลังทดลองทำกันอยู่ก็เป็นได้ โดยเราได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมสังคมจากหลากหลายประเทศมาประกอบเพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้ว คำถามที่เรายังได้ยินจากปากน้อง ๆ ทุกภาค คือ “แล้วโครงการของหนูจะดีพอไปสู่กับภาคอื่น ๆ เหรอพี่” ซึ่งทุกครั้งเราก็จะยิ้มแล้วบอกน้องว่า “การที่น้องเป็นคนที่อยู่ในปัญหาแล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นั่นทำให้น้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดแล้ว เพราะเราย่อมเข้าใจปัญหาของเราได้ดีที่สุด” คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตัวเองของเยาวชน ในขณะที่เราเองก็อยากให้น้อง ๆ เห็นสิ่งที่เรามองเห็นเช่นกันว่า พวกเขามีความกล้าหาญและมีศักยภาพมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว เราจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจด้วยการเปิดโอกาสสำหรับการปรึกษาโครงการว่า ตอนนี้มีโครงการอะไรที่น้อง ๆ อยากทำหรือกำลังทำอยู่บ้าง และควรไปทำการบ้านพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อจะสมัครเข้าร่วม Youth Co:Lab ได้

เมื่อเสร็จสิ้นการ Roadshow และปิดรับสมัครส่งโครงการ เราจึงดีใจมากที่ได้เห็นน้อง ๆ ที่เราไปพบหลาย ๆ คนก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง และตัดสินใจส่งโครงการมาเข้าประกวดในครั้งนี้

 

การบ้านในการเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมงาน

เนื่องจากระยะเวลาในงาน Youth Co:Lab นั้นค่อนข้างสั้น การจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3 วัน เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมไปทำการบ้านมาก่อน แม้ว่าโครงการที่ส่งเข้ามาจะอยู่ในระยะที่ต่างกัน บางโครงการอยู่ในระยะริเริ่มไอเดีย ในขณะที่บางโครงการอาจจะมีการทำ Prototype หรือนำผลิตภัณฑ์ตัวเองออกสู่ตลาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกทีมไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดต้องมีคำตอบที่ชัดเจนเพื่อจะไปต่อกับโครงการได้จริง คือ การทำความเข้าใจผู้ใช้หรือผู้ที่เราต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เราจึงให้การบ้านกับแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบไปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เรียบเรียงไปคู่กับเป้าหมายที่แต่ละทีมอยากเห็นในอนาคต ผ่านเครื่องมือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)” เพื่อเป็นการทบทวนเจตจำนงในการทำโครงการก่อนมาเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ การบ้านที่กล่าวมาก็เป็นกระบวนการที่น้อง ๆ จะได้ลองผิดลองถูก ทำความเข้าใจกับบริบทของปัญหา และตรวจสอบความเป็นไปได้หรือความถูกต้องของสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาที่คิดขึ้น  เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกทีมจะต้องมาพร้อมกับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมก็เป็นกระบวนการที่ต้องมีการทำซ้ำและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจุดประสงค์ของการทำการบ้านนี้จึงเป็นไปเพื่อให้น้อง ๆ ได้ออกมาจากวิธีการคิดเดิม ๆ รู้จักมองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และลองทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือดูก่อนเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

มิตรภาพ

จุดประสงค์ของงาน Youth Co:Lab ไม่ใช่เพียงการแข่งขันหาผู้ชนะที่จะได้เงินรางวัลในการไปต่อ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนที่มีความเชื่อและความตั้งใจในการแก้ปัญหาสังคมมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง เพื่อไปเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่ของตัวเองต่อไป ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ตัวตนของกันและกันด้วยความเคารพในความแตกต่าง และเปิดรับความหลากหลาย กิจกรรมในคืนแรกของงานจึงเน้นไปที่การผ่อนคลายให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน  แต่ก็ยังแฝงการปูพื้นแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสังคมเข้าไป
เราแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ
1)  การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกรณีศึกษานวัตกรรมสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้นำเนื้อหามาสื่อสารผ่านการเล่นเจงก้ายักษ์ ซึ่งต้องเล่นกันเป็นทีมด้วยความสามัคคี ทำให้เยาวชนจากต่างกลุ่มได้รู้จักกันมากขึ้น
2) การแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งอุปสรรค ความท้าทาย และความสำเร็จของเยาวชนผู้มาเป็นวิทยากร จากภาคเหนือ กลาง และใต้ ที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมสังคมเพื่อสันติภาพ พร้อมรับประทานอาหารและเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมได้สังสรรค์ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
3) การทำความรู้จักตัวตนของเพื่อน ๆ ผ่านการเล่นเกม เช่น I am… but I am not… ซึ่งเป็นบัตรชวนพูดคุยในมื้ออาหาร หรือ Common Ground หาจุดร่วมและจุดต่างของแต่ละคน เพื่อสร้างความสนิทสนม ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดเผยตัวตน และทำความเข้าใจในความหลากหลายของทุก ๆ คน

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย

การทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์ในคืนแรกถือเป็นประตูบานแรกสำหรับการเปิดรับความแตกต่างระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างให้มีพื้นที่ปลอดภัยก่อนเข้าสู่เนื้อหาของการเวิร์กชอปที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ วิธีการของเราเริ่มต้นด้วยการเช็คความรู้สึกและความคาดหวังของผู้เข้าร่วม ให้น้อง ๆ ได้เท “ความกลัว” และความรู้สึกกดดันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานออกมา ซึ่งการได้เปิดใจต่อความกลัวนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านการเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ พร้อมกับปรับความเข้าใจใหม่ว่า พื้นที่ในสามวันนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกคน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ ไม่เพียงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของกิจกรรมเท่านั้น บทบาทของกระบวนกรไม่ได้เป็นแค่ผู้ออกแบบกระบวนการและให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นคนที่คอยเช็คและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้เข้าร่วมในระหว่างทาง หากสัมผัสได้ถึงสภาวะบีบคั้นหรือกังวล ก็อาจต้องพักจากบทเรียนชั่วคราว แล้วกลับมาเทความกังวลหรือแบ่งปันความรู้สึกกันอีกรอบ เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมไปต่อได้อย่างสมดุล

 

ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างลึกซึ้ง

เวลาเกือบครึ่งของการเวิร์กชอปถูกใช้ไปกับการให้แต่ละทีมได้ทบทวนที่มาของปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข ตั้งแต่การทำความเข้าใจภาพรวมจากปัญหาไปสู่วิธีแก้ไขอย่างยั่งยืนผ่านทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และการกลับไปขุดรากลึกของปัญหาผ่านการคิดอย่างเป็นระบบด้วยโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ( Iceberg Model) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเหตุที่ลึกขึ้นของปรากฏการณ์ที่เห็นผิวเผิน เช่น พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น และแนวคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นั้น ๆ การใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งไม่เพียงแต่ช่วยให้แต่ละทีมมีความชัดเจนในการพัฒนาไอเดียการแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้น แต่ยังช่วยทำให้ผู้เข้ารู้สึกเชื่อมโยงกัน เนื่องด้วยปัญหาได้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบต่างกัน แต่พวกเราทั้งหมดกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาในรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ “การมองคนไม่เท่ากัน” การเข้าใจปัญหาหาในมิติที่เชื่อมโยงกันได้ช่วยลดกำแพงในการแข่งขัน ขับเคลื่อนมิตรภาพ และทำให้เกิดการเปิดใจและสร้างกำลังใจให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่า “เราไม่ได้กำลังแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และยากนี้อยู่คนเดียว”

 

การพัฒนาโครงการผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ

รูปแบบกระบวนการที่เราใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกกลุ่มเป็นในลักษณะของการเรียนรู้จากเพื่อน (Peer-to-Peer learning) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนของการเวิร์กชอป โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสทั้งได้นำเสนอโครงการให้เพื่อน ๆ  ฟังและเป็นคนให้ข้อเสนอแนะ กระบวนการสะท้อนและให้ข้อแนะนำระหว่างกันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสถอยออกมาจากประเด็นปัญหาของตัวเอง มาลองมองปัญหามุมอื่น ๆ  และขยายมุมมองทางความคิด ซึ่งอาจทำให้เกิดประโยชน์ในการนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองต่อไป ทั้งนี้กระบวนการนี้ยังช่วยย้ำใจความสำคัญของงานอีกด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากเราโฟกัสอยู่ที่จุดของเราแค่เพียงจุดเดียว และพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องมาสร้างความร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

 

การพูดคุยกับเมนเทอร์

ในใบรับสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการถามแต่ละทีมว่ายังต้องการองค์ความรู้หรือคำแนะนำด้านไหนในการต่อยอดโครงการอีกหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าการได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ จะช่วยเสริมสร้างและผนึกองค์ความรู้ทำให้การพัฒนาโครงการมีความยั่งยืนมากขึ้น ในงานนี้เราจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญตามคำขอของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การสร้างความร่วมมือ กฎหมาย สื่อ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การขับเคลื่อนงานสันติภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เทคโนโลยี และการใช้เกมเป็นเครื่องมือในการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ มาช่วยให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์ การปรึกษาและพูดคุยนี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคคลที่ช่วยกันต่อยอดให้ไอเดียให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

การออกแบบเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอโครงการ

ส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ คือการออกแบบการเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอโครงการ โดยไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินรางวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่เยาวชนได้มีโอกาสส่งเสียงบอกผู้คนให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาที่คนภายนอกอาจจะไม่ทราบมาก่อน และยังเป็นพื้นที่แสดงพลังความตั้งใจของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย ถึงแม้ว่าเราจะสอนวิธีการนำเสนอ (pitch) ที่ดี มีโครงสร้างตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพที่วิเคราะห์มาจากหลายเวที แต่เราก็เน้นย้ำเสมอว่า ถ้าน้อง ๆ ไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างที่ให้ไป ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่น้อง ๆ ได้เล่าเรื่องที่อยากจะเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ทำให้ริเริ่มทำนวัตกรรมสังคมนี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในฐานะนักเปลี่ยนแปลงสังคมที่เยาวชนทุกคนสามารถทำได้ทันที

 

 

จะเห็นได้ว่าภายใต้แนวคิดการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 การแข่งขันประกวดนวัตกรรมเป็นเพียงประตูชั้นแรกสุดที่เชิญชวนทุก ๆ คนมาเข้าร่วมเท่านั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของงาน คือ “การสร้างพื้นที่สำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า Youth (เยาวชน) Co (ร่วมมือ) Lab (การทดลองสิ่งใหม่ ๆ ) และเราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของน้อง ๆ และความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหาสังคมเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ตัวเอง เราได้ยินเสียงน้อง ๆ ส่งเสียงเชียร์เพื่อนทีมอื่น ๆ ในช่วงนำเสนอโครงการ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างภาคที่ยังคงมาบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตหลังจากกลับบ้านไปแล้ว รวมไปถึงได้เห็นการชวนกันรวมกลุ่มเพื่อทำโครงการใหม่ ๆ ระหว่างภาค สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการว่า การแข่งขันบนบรรยากาศแห่งความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นได้จริง และแน่นอนว่าปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนอย่าง “การสร้างสันติภาพ” มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้รูปแบบการสร้างความร่วมมือนี้ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

สุดท้ายนี้ Thailand Social Innovation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติขอขอบคุณพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนที่มาร่วมสร้างสรรค์ให้งาน Youth Co:Lab ประเทศไทยในปีนี้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

-มูลนิธิซิตี้ ผู้สนับสนุนหลักระดับภูมิภาค
-คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สายการบินแอร์เอเชีย ผู้สนับสนุนในการจัดงาน
-สภาความมั่นคงแห่งชาติแห่งชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการพิเศษ
-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมจัดกระบวนการ
-เมนเทอร์ทุกท่านที่เต็มใจมาให้คำปรึกษาน้อง ๆ อย่างทุ่มเท
-คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ร่วมเป็นทูตประชาสัมพันธ์การจัดงาน Youth Co:Lab Thailand 2019
-และที่สำคัญที่สุด น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 สำหรับความตั้งใจและความทุ่มเท

 

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 27/08/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ สนุกรักษ์ เที่ยวยั่งยืนที่ชุมชน ‘เพียรหยดตาล’ กับโครงการ APYE

 

หากพูดถึงสวนมะพร้าวเราคงนึกถึงมะพร้าวน้ำหอม ถือกินเป็นลูกๆ หวานฉ่ำชื่นใจ แต่มะพร้าวสามารถเป็นได้มากกว่านั้น ทั้งน้ำมันมะพร้าวในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือหากเป็นพันธุ์มะพร้าวแกงก็จะนำเอาเนื้อมะพร้าวไปทำกะทิ ส่วนช่อดอกมะพร้าวที่เรียกว่า จั่น ยังเอามาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวได้ด้วย ซึ่งเราไปลุยสวนตามล่าน้ำตาลมะพร้าว 100 % กันมา แถมยังเห็นความลำบากในทุกกระบวนการ บอกเลยว่าหากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน

 

 

เรามีโอกาสตามชาวสวน พร้อมกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายประเทศ ไปคลุกคลีกับชุมชน เพียรหยดตาล บ้านนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม ใน ‘โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก’ (Asia Pacific Youth Exchange หรือ APYE) ที่จับมือกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Programme หรือ UNDP) ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชน จะได้มาอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ โดยในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6

 

 

ในทริปนี้ เราได้เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ชวนคนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น จนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง นอกจากความสนุกที่ได้ทดลองเป็นชาวสวน ยังได้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สัมผัสได้จากรอยยิ้มอบอุ่นของคุณลุงคุณป้า

 

 

สิ่งสำคัญจากกิจกรรมนี้คือ การลงพื้นที่สำรวจชุมชน และเข้าใจปัญหาต่างๆ ในชุมชนที่มีผลต่อการพัฒนา ผ่านการพูดคุยและทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยนำเสนอไอเดียและข้อเสนอแนะให้ชุมชนนำไปต่อยอด การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

 

 

หลายคนเคยได้ยิน ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ กันมาแล้วบ้างก็น่าจะอยากรู้ว่า เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนได้อย่างไร

ไปฟังแนวคิดจาก หนึ่งในตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ‘ชารีฟ วัฒนะ’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครั้งนี้กัน

 

 

ทำไมถึงสนใจสมัครโครงการนี้ ?

จากที่ผมได้เรียนวิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา(TU100) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เนื่องจากธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับโครงการของ APYE

การได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาลงมือทำจริง จากภาคทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ ได้สำรวจชุมชน เห็นสภาพปัญหา ร่วมกันคิดหาทางออกในมุมมองของเยาวชนจากหลากหลายประเทศ

 

 

เพียรหยดตาลมีแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ?

ชุมชนเพียรหยดตาลเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มจากพี่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำ ร่วมกันกับคุณลุงคุณป้า นำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นจุดหนึ่งในการขยาย SDGs ในด้านอื่นๆ อีกด้วย

“อย่างแรกคิดว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะการขับเคลื่อน SDGs มันเกิดจากคนๆ เดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านในชุมชน รวมถึงเยาวชน และทุกคนที่มีส่วนได้เสียในการร่วมกันพัฒนาชุมชนหนึ่งๆ

 

 

เป้าหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร ?

การดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและผู้คน และรับมืออย่างไรให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย

เป้าหมายหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศหรือชุมชนต่างๆ เพราะคำว่ายั่งยืน มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

 

 

เยาวชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร ?

เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ วัยหนุ่มสาวยังสามารถทำอะไรให้กับประเทศอีกมากมาย เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยมหาวิทยาลัย กำลังเข้าถึงแขนงวิชาความรู้ต่างๆ เขาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาสู่การปฏิบัติได้ และเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

สิ่งที่เรียนไม่ใช่แค่นำไปประกอบอาชีพในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่สามารถนำความรู้มาพัฒนาชุมชน ร่วมกันคิดหาทางออก และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้

 

 

สิ่งที่ได้กลับไปจากโครงการนี้

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เราได้สัมผัสความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ เราได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าอยากเห็นชุมชนกลับมาทำน้ำตาลมะพร้าวอีกครั้ง เป็นตัวจุดประกายว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆ ยังอยู่กับชุมชนต่อไปถึงรุ่นลูกลูกหลาน

เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านเรามีของดีมากมายขนาดนี้ แล้วก็รู้สึกมีความหวังว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดจะพัฒนาชุมชน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ทำให้เราอยากจะช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น

 

Keywords: , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779