• Published Date: 25/03/2021
  • by: UNDP

Mindventure ตามหาตัวตน ความฝัน ความสัมพันธ์ที่สูญหายผ่านการสร้างพื้นที่รับฟัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกสับสนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง

ความรู้สึกสับสนที่ว่าบ้างก็เกี่ยวพันกับการเรียน บ้างก็การทำงาน บ้างก็เกี่ยวโยงกับชีวิตและความสัมพันธ์ สิ่งที่คาดคิดไว้ว่าน่าจะทำให้มีความสุขกลับไปไม่สุดแบบที่ควร 

ความรู้สึกทำนองนี้เกิดขึ้นกับแกงส้ม-ชนากานต์ ขจรเสรี เช่นกัน เมื่อย้อนไปในวัยมัธยมศึกษาปีที่หกในปี 2016 ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอะไรหลายๆ อย่าง

“เราไม่ชอบตัวเอง เราว่าสิ่งที่เราเป็นมันไม่โอเค เราไม่เหมือนคนอื่น เราไม่ดีพอ คนไม่ยอมรับ เราก็เลยเงียบๆ เก็บตัวและไม่ค่อยได้เล่าความรู้สึกของตัวเองให้ใครฟัง” เธอนึกย้อนไปในวันวานก่อนที่จะพบจุดเปลี่ยนของตัวเองเป็นการเข้าร่วมค่ายที่ใช้ศาสตร์การฟังเป็นกระบวนการหลัก หลังจบกระบวนการเธอพบตัวเองเป็นคนที่อยากยอมรับตัวเองได้ “เราเลยรู้ว่าการฟังเป็นของขวัญที่ไม่ต้องซื้อ แต่แค่มีทักษะ แล้วถ้าการฟังช่วยเราได้มันน่าจะช่วยคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน”

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แกงส้มอยากส่งต่อประสบการณ์ผ่านการทำค่ายที่มีแก่นหลักใกล้เคียงกันโดยใช้การฟังเป็นเครื่องมือ ในช่วงมหาวิทยาลัยเธอ เพื่อนๆ และน้องสาวจัดค่าย Gen Mind ที่เน้นส่งเสริมให้เด็กมัธยมรู้จักดูแลจิตใจตัวเอง ต่อเนื่องมาจนถึงการก่อตั้งชมรมในมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ให้เพื่อนรับฟังเพื่อน และเมื่อเธอจบจากรั้วมหาวิทยาลัยไอเดียเรื่องการเข้าใจตัวเองจากภายในยิ่งเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เธอเริ่มปลุกปั้นธุรกิจเพื่อสังคมมาในช่วงตุลาคม 2019 ชื่อ Mindventure ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดใน Youth Co:Lab ร่วมกับน้องสาว น้ำหวาน-กันตพร ขจรเสรี และเพื่อนๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนระหว่างทาง นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากคณะจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์อีก 3 ท่านที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อให้โครงการนี้ตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมทั้งในเชิงหลักการและการปฏิบัติจริง 

 

จากความชอบสู่อาชีพ

พอจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ แกงส้มจึงสะสมองค์ความรู้เพิ่มเติม เธอเป็นคนไทยรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองสอน Search Inside Yourself หลักสูตรพัฒนาผู้นำ สติ และความฉลาดทางอารมณ์ที่พัฒนาขึ้นโดย Google ส่วนน้ำหวานก็เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเข้าใจตัวเองและจิตบำบัด อย่างนพลักษณ์ (Enneagram) และซาเทียร์ (Satir)เพื่อที่จะมีความรู้ไปออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

หากเปรียบความเข้มข้นของภาวะทางอารมณ์เป็นกราฟหนึ่งแท่ง ให้ด้านซ้ายสุดคืออาการซึมเศร้าส่วนด้านขวาสุดคือการมีความสุขที่สุด กลุ่มคนที่ Mindventure มุ่งทำกระบวนการด้วยคือกลุ่มคนที่อยู่ตรงช่วงกลางๆ ไปจนถึงขวาสุด

“เราอยากช่วยป้องกันและส่งเสริมให้พวกเขา[มีสุขภาพจิต]ดีขึ้น เพราะ informal health and self care ในประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่ สิ่งที่เราทำจึงคือการลดความเสี่ยงของการเป็นซ้ายสุด” แกงส้มอธิบายการทำงานของ Mindventure ทั้งนี้ก่อนเริ่มกระบวนการทางทีมจะมีแบบประเมินจากกรมสุขภาพจิตให้ทำ หากพบว่าผู้เข้าร่วมมีสัญญาณหรือมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าก็จะแนะนำช่องทางการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกต่อหนึ่ง

“สิ่งที่เราทำมองว่าเป็นการป้องกัน เราทาร์เก็ตไปที่ปัญหาเลย เราหาเครื่องมือสร้างปัจจัยส่งเสริมให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ให้ความรู้ว่าจริงๆ แล้วไฟของคนเรามาจากไหน ไฟแบบไหนถึงจะยั่งยืน เราพากลับไปป้องกันที่ต้นเหตุเลย”

 

จิตใจที่ดีของทุกคน

ที่ผ่านกลุ่มเป้าหมาย Mindventure มุ่งเน้นมาที่เด็กมัธยมโดยตลอด แม้จะมีผู้ใหญ่มาถามอยากเข้าร่วมแต่ด้วยบริบทที่ต่างกันจึงไม่ได้จัดรวมกลุ่มในทันที ทั้งนี้ทุกวันนี้ทางทีมสนใจผู้เข้าร่วมที่หลากหลายมากขึ้นเพราะความรู้สึกสับสนอาจไม่ได้เกิดโดยมีช่วงอายุกำกับเสมอไป

“คนที่มีบาดแผลจากเรื่องนี้อาจไม่ได้จำเป็นต้องจำกัดอายุไหม อายุ 25, 35 หรือ 45 ก็ยังอาจประสบเรื่องนี้ได้ เราเลยพยายามระเบิดกล่องคิดเดิมๆ แล้วดูว่ามีความเป็นไปได้แบบไหนอีกบ้าง” น้ำหวานเล่าต่อว่าสาเหตุของความรู้สึกสูญหายนั้นอาจมาจากกิจวัตรประจำวันในชีวิต

“คนเราแต่ละวันตื่นมาก็ไปเรียน ทำตามครู พอวนลูปแบบเดิมเยอะๆ ก็หมดแรงบันดาลใจ คล้ายกันกับคนทำงานที่ตื่นมา กินข้าว ทำงาน กลับบ้านกินข้าว ดูซีรีส์ และนอน” น้ำหวานอธิบายโดยมีแกงส้มเสริมว่าปัจจัยคนรอบข้างก็มีส่วนสำคัญ หากความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือพ่อแม่ไม่ราบรื่น ขาดพื้นที่ปลอดภัย ไม่รู้จะคุยให้ใครฟังก็อาจรู้สึกสับสนได้ง่ายๆ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียหรือการเสพสื่อที่ไม่ได้คัดกรองยังคืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะการบริโภคข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่บนหน้าจอมากอาจนำไปสู่การเปรียบเทียบชีวิตเรากับคนอื่นได้ง่ายๆ และส่งผลให้มองว่าตัวเองยังไม่ดีพอ

ที่ผ่านมา Mindventure เวิร์กช็อปใช้วิธีเก็บค่าเข้าร่วมกิจกรรมจากผู้เข้าร่วมเอง แต่นับแต่เธอเข้าร่วมเวิร์คช็อป Youth Co:Lab เธอเริ่มมองหาวิธีใหม่ๆ ให้โอกาสการเข้าถึง Mindventure เป็นไปได้มากขึ้น 

“เราอยากให้เครื่องมือการเรียนรู้แบบนี้เข้าถึงทุกคนได้ ไม่อยากกีดกั้นจากฐานะเลยพยายามหา business model ใหม่ๆ อยู่” เมื่อ MindVenture มีทุนในการเทสเวิร์คช็อปหนึ่งในข้อคนพบคือ ยิ่งเก็บค่าสมัครแพง ยิ่งมีคนสมัครน้อย ยังไม่นับรวมว่าหากอยากให้เด็กทั่วประเทศเข้าถึงสิ่งนี้ การควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่จับต้องได้คือเรื่องจำเป็น

“เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าลูกค้ากับยูเซอร์อาจจะคนละคนกัน เราดูว่าตลาดมีใครได้อีกบ้าง เรากำลังปรับมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น” โมเดลที่น้องมัธยมไม่ต้องเป็นคนจ่ายเงินคือสิ่งที่แกงส้มกำลังมองหา “เราอยากหาคนที่สปอนเซอร์ได้ อาจเป็นบริษัทหรือเป็นใคร นี่กำลังเป็นโจทย์ใหม่” เธอเสริมว่าหรืออาจปรับเอาโมเดลรองเท้า TOMS มาใช้ที่ทุกๆ ครั้งที่มีคนจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการ จะมีอีกคนที่จำเป็นและต้องการการสนับสนุนจะได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องเสียเงิน

วัดผลและขยายผล

เมื่อผ่านการเข้าร่วมเวิร์คช็อปผู้เข้าร่วมมักมีความรู้สึกที่ดีขึ้น ผ่อนคลายยิ่งขึ้น การประเมินผลเหล่านี้ทราบจากแบบประเมินหลังเรียน นอกจากนี้ยังมีการสุ่มโทรพูดคุยกับผู้เคยเข้าร่วมในสามและหกเดือนหลังจากจบเวิร์กช็อป

“พอเข้าร่วมเวิร์กช็อป Youth Co:Lab เรามีอีกไอเดียในการประเมินผล เราพยายามปรับตัวชี้วัดให้จับต้องได้มากยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นเรื่องเวลาที่ใช้บนหน้าจอมากขึ้นหรือลดลงบ้างหรือไม่” แกงส้มยกตัวอย่าง

มาถึงตรงนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าการใช้รูปแบบค่ายในการแก้ปัญหาเรื่องตัวตนและคุณค่าของชีวิตจะทำให้อิมแพ็กที่สร้างได้เป็นไปอย่างช้าๆ หรือไม่ 

“มันยังมีวิธีที่จะขยายผลอีกหลายแบบ เราสามารถทดลองให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (self-learning) ในประเด็นนี้ก็ได้ หรือจะเซ็ตมาตรฐานเนื้อหาขึ้นมาแล้วให้คนอื่นไปสอนต่อๆ กันก็ได้” แกงส้มอธิบายว่าเธอยังเห็นหนทางไปต่ออีกมาก เพียงแต่ตอนนี้เธอโฟกัสกับเรื่องการหาตลาดอยู่ เธอเสริมว่าก่อนนี้เธอเคยจัดค่ายที่เน้นเสริมทักษะการเป็นกระบวนกรและทักษะการฟังเพื่อนำไปใช้ต่อยอดได้กับคนอื่นๆ ด้วย

“ในอดีตที่ตัวเองเคยมีความทุกข์แล้วเราเรียนรู้จากกระบวนการแบบค่าย เราก็ทุกข์น้อยลง พอมันเปลี่ยนเราได้ ส้มเลยคิดว่าการจัดกระบวนการเหล่านี้ให้ผู้อื่นต่อก็จะเป็นประโยชน์มาก มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ไม่ใช่แค่เรียนจากการคิดอย่างเดียว แต่ได้เปลี่ยนจากภายในจิตใจ มุมมองโลก และพฤติกรรมการดำรงชีวิต แต่เราก็ไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำแค่สิ่งนี้เป็นหลัก เราก็กำลังค้นหาวิธีการอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน” แกงส้มทิ้งท้าย

  • Published Date: 09/03/2021
  • by: UNDP

IY4SD: สินค้าชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัยสีรุ้งที่ถักทอความเข้าใจเรื่องเพศ ชนเผ่าพื้นเมือง และโอกาสด้านอาชีพเข้าไว้ด้วยกัน

 

ชุมชนแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเฉพาะตัวสูง

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นี้เป็นเขตพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยมีแม่น้ำสาละวินทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดน 

ในปี 2537 พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ถูกประกาศเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสาละวิน  ประกาศครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่นซึ่งอยู่มาก่อนเต็มๆ ชาวบ้านต้องกลายต้องเป็นอื่นในแผ่นดินตัวเองทำให้การตั้งรกราก และการพึ่งพิงป่าเพื่อดำรงชีพมีข้อกำหนดควบคุมมากขึ้น

ประชากรส่วนใหญ่ในชุนชนแห่งนี้ยังเป็นชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ยังคงไร้สัญชาติจึงไม่สามารถเดินทาง หรือไปเรียน และทำงานได้อย่างอิสระ

เดาได้ไม่ยากว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อพื้นที่และผู้คนบริเวณนี้ นอกจากจะถูกจับตาเป็นพิเศษเพราะเป็นพื้นที่ชายแดนแล้ว การปิดด่านชายแดนรวมทั้งห้ามเรือวิ่งในแม่น้ำสาละวินตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดเมื่อมีนาคม 2563 ยังทำให้ช่องทางรายได้ของคนในชุมชนที่พึ่งพิงการขนของจากท่าเรือต้องถูกจำกัดลงไปด้วย

มี- มะเมียะเส่ง สิริวลัย ศิริ-ศิริวรรณ พรอินทร์ แอร์-น้องแอร์  สายรุ้งยามเย็น จากทีม Indigenous Youth for Sustainable Development (IY4SD) เป็นเยาวชนในชุมชนแม่สามแลบ และมีอีกบทบาทในการเป็นอาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนได้ทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิดเรื่อยมา ในช่วงโควิด-19 ทางองค์กรและภาคีได้สนับสนุนข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังชีวิตความเป็นอยู่อยู่หลายครั้ง แต่ทั้งสามรู้ดีว่านี่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น พอดิบพอดีที่เจอโครงการ Youth Co:Lab ความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจึงชัดเจนยิ่งขึ้น

การแก้ปัญหาจากเจ้าของปัญหา 

มี และแอร์เกิดและเติบโตจากชุมชนแม่สามแลบ ส่วนศิริเป็นอาสาสมัครในองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนซึ่งทำงานกับชุมชนตั้งแต่เด็ก ทั้งสามจึงเข้าใจเงื่อนไข บริบทปัญหา และวัฒนธรรมของชุมชนดี เช่นกันทั้งสามก็เป็นคนที่เผชิญกับความท้าทายในการอยู่อาศัยในชุมชนโดยตรง

นอกเหนือจากปัญหาที่เล่าไปข้างต้น สมาชิกในกลุ่มยังอธิบายตนเองว่าเป็น LGBTQI 

“เราไม่ได้รับความเป็นธรรมในมิติทางเพศ พอเป็น LGBTQI แล้วถ้าเปิดเผยตัวตนก็เสี่ยงกับการถูกบังคับแต่งงานเพื่อเปลี่ยนรสนิยม เราไม่ถูกยอมรับทั้งจากครอบครัว ชุมชน เยาวชนหลายคนเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ไม่มีสัญชาติ ไม่มีอาชีพ โรงเรียน เรารู้สึกไม่ปลอดภัย” แอร์สะท้อน

ทั้งสามผุดไอเดียทำสินค้าชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัยสีรุ้งเพื่อเป็นทั้งกระบอกเสียงในการสื่อสารประเด็นเรื่องเพศควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้หญิงในชุมชนผ่านการมีอำนาจทางเศรษฐกิจออกจากปัญหาความยากจนและรื้อฟื้นภูมิปัญญาทอผ้ากะเหรี่ยงไปพร้อมๆ กัน

เราในฐานะอาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เราและองค์กรของเรา ได้เปิดพื้นที่รับฟังสภาพปัญหาและเสียงของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไร้สัญชาติ เพื่อหาทางออกจากวิกฤตความยากจนและผลกระทบจากโควิด-19” มีอธิบาย

จากผู้หญิงทั้งหมดสามสิบคน ในมิติอาชีพมีคนสนใจเรื่องการเย็บผ้าเพียง 3 คนเท่านั้น ส่วนหญิงในชุมชนคนอื่นๆ สนใจประเด็นการเกษตรและเลี้ยงสัตว์

“สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่เพื่อชุมชนแต่เพื่อตัวเองด้วย ตัวเราเองเป็นคนกะเหรี่ยงแต่ก็ไม่ได้สัมผัสเรื่องผ้าทอเลย ในระบบการศึกษาเขาห้ามทั้งพูดกะเหรี่ยงในโรงเรียน พูดแล้วโดนด่าโดนตี ถ้าใส่เสื้อกะเหรี่ยงก็ถูกบูลลี่ล้อเลียน มันทำให้เราไม่กล้าใส่ เรากลัว มันไม่ใช่แค่เสื้อ แต่เรากำลังรื้อฟื้นรากเราด้วยว่าเราคือใคร” มีเล่าถึงวัตถุประสงค์ของการเป็นส่วนหนึ่งในการทำโครงการนี้ให้เป็นจริงอย่างชัดเจน

 

เครื่องมือที่ขาดไม่ได้ 

ทีม IY4SD ได้เข้าร่วมเวิร์คช็อป Youth Co:Lab และผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายได้รับงบสนับสนุนทดลองพัฒนาโครงการจริง นอกจาก Youth Co:Labโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนทั้งจากองค์กรสร้างอนาคตเยาวชน องค์กรเชโมวา และองค์กร Thai Consent อีกด้วย

สิ่งที่ IY4SD ทำไม่ใช่การสอนทอผ้าและขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรก แต่พวกเขาได้ออกแบบกิจกรรมให้มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเสริมศักยภาพ ให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ทักษะการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วม ก่อนที่จะเข้าเรื่องผ้าๆ

“เพราะกลุ่มเป้าหมายเราคือ เยาวชน LGBTQI และผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ สิ่งที่เขาเจอนอกจากเศรษฐกิจคือความรุนแรงในครอบครัวและเพศภาวะ หากไม่ส่งเสริมเรื่องนี้ ผู้หญิงในชุมชนของเราจะถูกควบคุม เราไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ” มีอธิบาย “ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสิทธิก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะมาทอผ้า ขั้นตอนนี้จึงสำคัญมาก การเสริมศักยภาพเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้หญิงเข้มแข็ง จัดการปัญหาของเขา จัดการเวลา กล้าต่อรองและมีอำนาจได้”

 

เริ่มจากศูนย์

เพราะทั้งสามก็ไม่มีทักษะทอผ้ามาก่อน งานนี้จึงต้องอาศัยพี่เลี้ยงอย่างเชโมวา องค์กรเสริมศักยภาพให้ผู้หญิงมีอาชีพและออกจากความยากจนมาให้องค์ความรู้เรื่องผ้าๆ อย่างละเอียด นับตั้งแต่การดูการผลิตด้ายที่ลำพูน ดูการย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติที่ฮอด ไปจนถึงดูงานทอที่เชโมวา การศึกษาดูงานครั้งนี้ทั้งสามเป็นตัวแทน ก่อนจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้หญิงในชุมชนอีกต่อหนึ่งเพราะหญิงในชุมชนเป็นคนไร้สัญชาติจึงไม่สะดวกเดินทาง

แอร์เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนผลิตสินค้าในแต่ละชิ้นว่าไม่ใช่ทำออกมาได้ง่ายๆ เมื่อได้ฝ้ายแล้วจึงส่งไปย้อมที่จันทร์หอม (ฮอด) จากนั้นส่งกลับมาที่เชียงใหม่ ทั้งสามคนจาก IY4SD จะช่วยกันตรวจสอบคุณภาพของฝ้ายก่อนส่งไปทำต่อที่ชุมชน ส่วนการทอก็ทำไม่ได้ในทันที กระบวนการจะเริ่มจากการตกลงแบบที่ต้องการ จากนั้นจึงเริ่มต้มด้ายกับข้าวแป้งและตากแดดอีกครั้งหนึ่งจึงจะทอได้

“กว่าจะได้เสื้อมีขั้นตอนซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน พอมีคนใส่งานที่ผู้หญิงทอ แม้แต่พวกเราเองก็ภูมิใจ เหมือนเอาผู้หญิง เอาเรื่องราว เอาจิตวิญญาณมาสวมใส่ด้วย จากที่ผู้หญิงไม่มั่นใจตัวเองว่าการทอผ้าจะสร้างอาชีพได้ยังไง มันทำให้เขารู้ว่าการทอผ้าช่วยทำให้ออกจากปัญหาความเครียด มีรายได้ และจากที่เขาไม่อยากใส่เสื้อตัวเอง ใส่แล้วไม่มั่นใจ เขาก็อยากใส่เสื้อที่ตัวเองทอด้วย” แอร์เล่าอย่างภาคภูมิใจ

และแม้วัตถุประสงค์หลักของการผลิตสินค้าเป็นเรื่องการรณรงค์และการสนับสนุนผู้หญิง คุณภาพของสินค้าก็เป็นเรื่องที่ IY4SD ไม่มองข้าม

“แน่นอนว่าสินค้าเราต้องการสื่อเรื่องสิทธิ แต่มากกว่านั้นมันต้องได้มาตรฐานด้วย พอผู้หญิงทอผ้าเสร็จเราไม่ได้นำไปขายในทันที ต้องมาเช็คว่าฝีมือเป็นยังไง ได้มาตรฐานไหมซึ่งเราได้รับการคอนเฟิร์มมาว่าทอดีมาก” มีเสริม

ผ้าทอที่มากกว่าของใช้

ปัจจุบันสินค้าวางขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีสิริเป็นคนวางแผนทำสื่อและตัดต่อวิดีโอ นับถึงวันนี้มีการวางขายไป 2 เซ็ตทั้งหมดขายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ไอเดียการทำวิดีโอขายเกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดเรื่องโควิด ซึ่งแน่นอนว่าตัววิดีโอไม่ใช่เพียงแค่ขายสินค้าแต่ยังเล่าที่มาที่ไปรวมถึงปัญหาที่ชุมชนต้องเผชิญ

สำหรับสิริซึ่งเป็นน้องเล็กของกลุ่มการได้ลงมือทำโครงการนี้ทำให้เธอได้พัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้าน

“เมื่อก่อนเราไม่มั่นใจในตัวเองเลย พอเข้าร่วมโครงการนี้ก็อยากมีส่วนร่วมกับงานต่างๆ มากขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น 

“พอทำวิดีโอโพสต์ 15 นาทีก็มีคนซื้อหมดหนูดีใจมาก แล้วพอได้เงินมาเราก็เอาให้กลุ่มผู้หญิงด้วยจำนวนที่เป็นธรรม” สิริเล่าต่อว่าตอนลงพื้นที่เธอได้รับแรงบันดาลใจจากงานผ้าจนถักโครเชต์เป็นเสื้อจนสำเร็จภายใน 11 วันซึ่งทำให้เธอ

ด้านมี แม้เธอจะทำงานภาคสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่การเข้าร่วมเวิร์คช็อปทำให้เธอได้เติมองค์ความรู้สำคัญที่นำไปใช้ต่อได้

“เราดีใจมากที่ได้รู้เรื่องธุรกิจ ก่อนหน้านี้เราเข้าใจปัญหาชุมชนและมิติทางสังคมที่เผชิญอยู่ แต่พอพูดถึงอาชีพเราค้าขายไม่เป็นเลยจนได้เรียนออนไลน์เวิร์กช็อปเกือบสองเดือน สิ่งที่ได้คือการพัฒนาสินค้าและวางแผนการขาย” มีเล่า “มากกว่านั้นเราได้เห็นปัญหาของทีมอื่นๆ สิบทีมก็ต่างกัน อีกทั้งยังได้สร้างเครือข่าย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ที่สำคัญเราเองก็ใช้พื้นที่ Youth Co:Lab เป็นพื้นที่รณรงค์ด้วย”

ส่วนอิมแพกที่สร้างได้กับผู้หญิงในชุมชนนั้น แอร์เล่าว่าเกินคาดมาก

“ตอนแรกผู้หญิงไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทอได้ไหม เราก็ลุ้นทุกขั้นตอน ต่างฝ่ายต่างตื่นเต้น แต่พอได้ทำจริงออกมาเป็นย่ามสองใบแรกที่ทั้งสวยงาม ทั้งทนทาน ผู้หญิงก็เริ่มมีความมั่นใจในตัวเอง พอรอบถัดไปทำเสื้อสิบตัว เขาก็สนุกกับการทอ เกิดเป็นเงินที่บริหารจัดการในครอบครัว ต่อรองกับผัวได้” แอร์อธิบายต่อว่าโดยปกติบทบาทของผู้หญิงคือต้องทำงานบ้านทั้งวัน ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ตามใจปรารถนา “พอผู้หญิงมีศักยภาพในการหาเงินก็เกิดการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ทุกวันนี้ผู้ชายในบ้านที่ผู้หญิงมาทอผ้าก็เริ่มทำกับข้าว เริ่มดูแลลูก นอกจากนี้ผู้หญิงยังใช้เวลาว่างมานั่งทอผ้า พอโฟกัสกับการทอผ้าความเครียดที่สะสมมานานก็ค่อยๆ หายไป พวกเขารู้สึกปลอดภัยขึ้นและสบายใจขึ้นด้วย เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมีความหมายมาก และสิ่งที่ผู้หญิงทำก็มีประโยชน์มาก

“เราเห็นเลยว่าสิ่งที่เราทำและที่ทุกคนสนับสนุนเรามันแก้ปัญหาได้จริงๆ และมันทำให้เรามีแรงบันดาลใจทำต่อ ผู้หญิงที่เข้าร่วมกับเราจากตอนแรกมีสามคนก็กลายเป็นมีหกคนและกำลังจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้โครงการเรายังเป็นตัวอย่างให้ชนเผ่าพื้นเมืองที่เจอปัญหาคล้ายๆ กันได้ด้วย” แอร์ทิ้งท้าย

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779