• Published Date: 27/12/2019
  • by: UNDP

ชวนคนเมืองมา ‘ปรับชีวิต เปลี่ยนโลก’ ให้น่าอยู่ขึ้น

 

สำหรับหลายๆ คน การเริ่มต้นปีใหม่อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างการเลิกนิสัยแย่ๆ หรือตั้งเป้าหมายที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่การใช้ชีวิตของเรานั้นส่งทั้งผลดีและผลร้ายให้กับโลก ในแบบที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากสิ่งที่เรากระทำลงไปย่อมสะท้อนกลับมาเสมอ ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาตั้ง New Year’s Resolution ด้วยการคำนึงถึงโลกและรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตาม 6 แนวทางนี้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่ดีขึ้น

 

 

  1. ‘ร้านรีฟิล’ ช่วยโลกลดขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ต้องรีบเร่งแก้ไข วิธีการหนึ่งที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นั่นคือ ‘Zero Waste’ หรือการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ตอนนี้บ้านเรามีธุรกิจใหม่มาช่วยแก้ปัญหา อย่าง ‘ร้านค้าแบบเติม’ (Bulk Store) ที่เราสามารถนำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ อย่างร้านสไตล์ ‘Refill Station’ ที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไปจนถึงอาหารแห้งและขนมขบเคี้ยว ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีร้านรีฟิลเกิดขึ้นมากมาย เช่น Grasstonomy, Zero Moment Refillery, Less Plastic Able แต่ถ้าไม่สะดวกหรืออยู่ไกลยังมีร้าน ‘Greenherit’ เป็นรถรีฟิลเคลื่อนที่ขับไปตามหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือออฟฟิศ รวมถึงตลาดนัดสายกรีนต่างๆ

 

 

  1. สนับสนุน ‘เกษตรกรในท้องถิ่น’

ทุกวันนี้เราซื้อผักผลไม้หรือผลผลิตทางการเกษตรจากไหน ? หลายคนคงเดินเข้าห้างฯ เลือกผักที่สวยและสด พร้อมการันตีว่าปลอดสารพิษ แต่เราไม่เคยรู้ที่มาที่น่าเชื่อถือจากผู้ผลิตเลย คงจะดีหากเราได้รู้แหล่งที่มาหรือวิธีการปลูกจากเกษตรกรตัวจริง ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ อย่าง ‘FARMTO’ สตาร์ทอัพที่สร้างตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์บนแอปพลิเคชัน ทั้งยังมีแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกและได้ผลผลิตกลับไป ซึ่งช่วยให้คนเห็นคุณค่าถึงความใส่ใจของเกษตรกร นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ยังยืน

 

 

3. ‘เที่ยวยั่งยืนสร้างชุมชนเข็มแข็ง

 

การท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์กลายเป็นเทรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเราท่องเที่ยวแล้วได้รักษาธรรมชาติหรือพัฒนาท้องถิ่นไปในตัว น่าจะยิ่งสร้างความประทับใจและเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เราเข้าถึงชุมชนที่น่าสนใจและทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘Local Alike’ ธุรกิจที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นตัวกลางเชื่อมนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือ ‘HiveSters’ ที่นำเสนอ real Thai experience ให้เราได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

4. ‘แยกขยะง่ายๆเริ่มต้นได้ที่บ้าน

ปัญหาขยะล้นส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่แยกขยะ เพราะขยะดีที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถูกอัดรวมกับขยะที่เน่าเสียไปยังกองขยะหรือหลุดรอดปะปนในธรรมชาติ ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ขยะก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง การเริ่มต้นมักยากเสมอแต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอย่างเอี่ยมดีรีไซเคิลรถบริการจัดการขยะถึงบ้าน ร้านค้า โรงแรม หรือสำนักงาน ในจังหวัดเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ที่ช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นการรับขยะจากต้นทางไม่ต้องไปคุ้ยกองขยะ เรียกว่าเป็นซาเล้งยุคใหม่ที่สะอาด มีมาตรฐานราคา ตรงเวลา และบริการอย่างมืออาชีพ นอกจากจะช่วยให้คนหันมาแยกขยะมากขึ้น เอี่ยมดีรีไซเคิลยังช่วยเหลือสังคมด้วยการแบ่งรายได้ 30 % ไปสร้างประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ อีกด้วย

 

 

  1. ‘เปลี่ยนอาหารเหลือทิ้ง’ เป็นมื้อที่ช่วยสังคม

ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติกเท่านั้นที่กำลังเป็นประเด็น ขยะอาหารที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันก็ทำให้เกิดแก๊สมีเทนเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาโลกร้อน อีกทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย สวนทางกับวิกฤตอาหารโลกที่หลายประเทศกำลังขาดแคลนอาหาร แม้แต่ในบ้านเราที่มีขยะอาหารเกิดขึ้นมากมายขณะที่บางคนไม่มีกิน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิ ‘Thai SOS’ ที่จัดตั้งโปรเจกต์ ‘Food Rescue’ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดี ทั้งจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ไปจนถึงครัวตามบ้าน ส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ บ้านอุปถัมภ์ ที่พักผู้ลี้ภัย โรงเรียน หรือชุมชนที่ต้องการ โดยใส่ใจเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ส่วนเศษอาหารที่เหลือทิ้งหรือหมดอายุก็นำไปทำปุ๋ยให้กับเกษตรกรต่อไป

 

 

6. อุดหนุนสินค้าดีไซน์รักษ์โลก

อุตสาหกรรมแฟชันเป็นหนึ่งในวงการที่สร้างมลพิษและใช้ทรัพยากรมากที่สุด การใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิลจึงกลายเป็นสิ่งที่บรรดาดีไซเนอร์ต้องเริ่มคิด อย่างบ้านเราก็มีนวัตกรรมเส้นใยผ้าจากสับปะรดของหจก.รักษ์บ้านเรา สงขลาที่นำเศษใบเหลือทิ้งมารีดเป็นเส้นใย นอกจากสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ยังสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ จังหวัดสงขลา และอีกแบรนด์รุ่นใหม่แนวคิดดี อย่างคิดดีที่ออกแบบกระเป๋าสุดเท่จากถุงล้างไตที่กลายเป็นขยะจำนวนมาก คิดดีไม่เพียงช่วยโลกลดขยะเท่านั้น แต่ยังนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วก็สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันด้วย

 

#UNDP #UCxUNDP #Sustainability #SDGs #NewYearResolution

Keywords: ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

‘Local Chef’s to Peace Project’ สร้างสันติ ‘ไทยพุทธ มุสลิม ไทยจีน’ ในชายแดนใต้ด้วยอาหารถิ่น

ทุกวันนี้ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้น หลายฝ่ายต่างช่วยกันค้นหาวิธีการยุติเรื่องราวเหล่านี้ รวมไปถึงเยาวชนภาคใต้ที่ตั้งใจเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความสงบ นั่นคือความตั้งใจของทีม ‘Local Chef’s to Peace Project’ ประกอบไปด้วย พัดลี โตะเดร์, อารฟา บือราแง, อิสกันดาร์ กูโน และตัรมีซี อนันต์สัย แชมป์จากการแข่งขันโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 ที่หยิบรสอร่อยของอาหารถิ่น มาสร้างสันติให้ ‘ไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน’ ในชายแดนใต้

 

 

เพราะอยากให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เรามองเห็นถึงปัญหาของคนในพื้นที่ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องของความหลากหลายทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน รวมไปถึงการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เราจึงคิดวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ จนกลายมาเป็นโครงการที่ชื่อว่า ‘Local Chef’s to Peace Project’

 

 

อาหารสร้างสันติภาพ 

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราหยิบประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน จากหลากหลายศาสนามารวมกันอยู่ในจานเดียวกัน โดยที่ทุกศาสนาสามารถทานอาหารได้โดยไม่มีข้อกังวล เพราะในพื้นที่เองมักจะมีปัญหาเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหาร ที่มีการแบ่งแยกเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความห่างเหินในการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่

 

 

‘ขนมอาซูรอ’ เชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อลดความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เราเลือก ‘ขนมอาซูรอ’ เพราะคือขนมหวานที่ได้จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกัน แล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวคล้ายขนมเปียกปูน ซึ่งจะมีประเพณีการกวนขนมอาซูรออยู่ โดยเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวนชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน กลายเป็นความสามัคคีของคนในชุมชน

 

 

อาหารอาจไม่ได้ลดความขัดแย้งทั้งหมด แต่ก็สร้างการเรียนรู้ 

Local Chef’s to Peace Project : การใช้อาหารอาจจะไม่ได้ลดความขัดแย้งไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาหารที่เรานำเสนอก็จะเป็นตัวเชื่อมให้คนที่มาจากหลากหลายถิ่น เข้ามาอยู่ร่วมกันและเกิดการสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งท้ายที่สุดอย่างน้อยแล้วมันก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาบ้าง

สังคมที่ไว้วางใจกัน คือภาพในอนาคตที่ฝันอยากให้เกิดขึ้น

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราอยากเห็น สังคมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตามแต่ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปราศจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

 

 

ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการ 

Local Chef’s to Peace Project : ตอนแรกที่ประกาศทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการมันรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเรารู้สึกว่าต้องมีกิจกรรมที่มันน่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน และพอได้เข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก ได้เจอกับเพื่อนที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน และเราเองก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ

ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ตอนประกาศผลมันเป็นอะไรที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ เพราะพวกเราต่างพากันดีใจแบบสุดชีวิต อีกมิติหนึ่งก็เหมือนกับเราเองได้ทลายกำแพงที่สูง มันคือกำแพงที่เราต้องแบกความหวังจากคนในพื้นที่ คนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเองด้วย เพื่อนทุกทีมต่างพากันปรบมือดีใจกับทีมพวกเรา เป็นความรู้สึกที่ประทับใจมากเลย

 

#UNDP #UCxUNDP #RespectDifferences #EmbraceDiversity #YouthCoLab2019
#YouthCoLabThailand #PVE #PreventingViolentExtremism #SocialInnovatio #SDGs
Keywords: , , ,
  • Published Date: 17/12/2019
  • by: UNDP

“การขยายความคิดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้” IKAN TEAM นิสิตสิงห์ดำที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยแอปฯ IKAN

เมื่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว จนบางคนไม่อยากจะข้องเกี่ยวหรือบางคนถึงกับละเลยเรื่องนี้ไปเสียด้วยซ้ำ แต่ในความจริงแล้ว การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน และประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม และเคารพในความแตกต่างทางความคิดของกันและกัน

เราชวนมาคุยกับทีม IKAN ผู้ชนะอันดับ 3 จากงาน Youth Co:Lab Thailand 2019 ภายใต้หัวข้อ  ‘Embrace Diversity’ หรือ ‘เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย’ สี่นิสิตสิงห์ดำอย่าง รชตวรรณ แฝงยงค์ (แพร) อรยา เสน่หา (แอม) วิศัลย์ศยา ศรีเชลียง (เตย) และ ปุณณภา ยศวริศ (โรส) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เชื่อมั่นว่า “การเมืองนั้นคือชีวิตประจำวันและอยู่ในทุกที่ และต้องการที่จะสร้างคุณค่าให้กับทุกความเห็น” จึงรวมตัวกันคิดค้น IKAN ซึ่งเป็น Online Debate Communication Platform พื้นที่รับฟังและแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ของคนไทย

 

‘การขยายความคิดนำไปสู่การเปลี่ยนสังคม’ แรงบันดาลใจจุดประกายฝัน

ทีม IKAN ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิด ‘Enlightenment’ ของ ‘Immanuel Kant’ ที่เชื่อว่า “การขยายความคิด” สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมสามารถขับเคลื่อนสู่การพัฒนาได้ในอนาคต

IKAN : พวกเรามองว่า การเมืองนั้นคือชีวิตประจำวันและอยู่ในทุกที่ จึงต้องการสร้างคุณค่าให้กับทุกๆ ความเห็น และร่วมผลักดันให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันหรือปัญหาโลกแตก เช่น การถกเถียงว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เราต้องการที่จะสนับสนุนให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ในเรื่องเล็กๆ เพื่อนำไปสู่ความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นค่ะ

แล้วถ้าใช้แนวคิด Enlightenment มองกลับมายังสังคมไทยจะพบว่า การแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ของประชาชนนั้นยังมีข้อจำกัดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลในการพูดความคิดของตัวเอง หรือคิดว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าถึงยาก ทำให้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีช่องทางโซเชียลมีเดียให้แสดงออกทางความคิด แต่เรายังขาดช่องทางการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลอยู่มาก เพราะความคิดเห็นส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็น hate speech หรือไม่ได้ก่อให้เกิดการผลักดันอย่างแท้จริงในสังคม

 

 เริ่มต้นทำงานจากการทำความเข้าใจปัญหา ส่งต่อกระบวนการ Design Thinking และ Gamification 

IKAN : เราเริ่มต้นทำงานจากการที่ทีมมาพูดคุยถึงปัญหาที่ทำให้คนทั่วไปเข้าไม่ถึงการเมือง หรือไม่อินกับเรื่องการเมือง ซึ่งเราได้ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้วัยรุ่นรวมถึงคนทั่วไปรู้สึกสนุกมากขึ้นเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเราได้ประยุกต์ใช้กระบวนการ Design Thinking เข้ามาในการออกแบบเครื่องมือ จากการเริ่มต้นทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่น เพื่อรวบรวม insight ต่างๆ ที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเรายังได้หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจภาพใหญ่มากขึ้น รวมถึงหยิบ Gamification หรือการออกแบบให้สนุกเหมือนกับเล่นเกมมาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน สร้างอวตารแทนผู้เล่น หรือเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ลงไปค่ะ

จากนั้นเราเสนอไอเดียกันภายในทีมและหยิบทฤษฎี Enlightenment ของ Immanuel Kant มาปรับใช้ จนกระทั่งได้พัฒนาไอเดียออกมาเป็น prototype เพื่อให้เพื่อนและอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลองเล่น และให้ความคิดเห็นว่าควรพัฒนาอย่างไร ทำให้ทีมของเราได้แง่คิดใหม่ๆ รวมถึงได้ประเด็นต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงให้มากขึ้น เช่น เรื่องของความปลอดภัยของผู้ใช้ เรื่องการดูแลการใช้แพลตฟอร์มไม่ให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ hate speech ซึ่งทำให้เราได้นำความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป จนสุดท้ายนำเสนอไอเดียต่อ Youth Co:Lab Thailand ในปีนี้ค่ะ

 

ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมสงบสุข คือหลักการ SDGs ที่เลือกใช้

IKAN : พวกเราต้องการบรรลุ SDGs ในเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก โดยโครงการของเรามีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนบนหลักของความไม่แบ่งแยก ที่จะช่วยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือปัญหาต่างๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี อย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ รวมถึงไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น คือเราต้องการให้การแสดงความคิดเห็นนี้เป็นไปเพื่อการเปิดมุมมองนำสังคมไทยไปสู่ยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (Enlightenment) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนและนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ทุกคนจะได้รับสิทธิและเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน จนความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นลดลง และหวังว่ามันจะหมดไปในที่สุด

 

เพราะการเมืองคือเรื่องใกล้ตัวทุกคน

IKAN : การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของเราเลย เพราะรัฐนั้นเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงเรื่องนโยบาย โครงการ สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการมาก็มีที่มาจากความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทย ดังนั้นหากเราตระหนักรู้ได้ว่า มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งปัญหาใหม่หรือปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดวิธีแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้การแก้ปัญหานั้นถูกจุดและครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศเราต่อไป หากพวกเขาได้รับการปลูกฝังและตระหนักถึงการเมืองตรงนี้ ประเทศเราจะสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปได้

 

ภาพเมืองไทยในอนาคต ผ่านสายตานิสิตสิงห์ดำ

IKAN : พวกเรามีความคาดหวังที่จะนำทฤษฎีปรัชญาทางรัฐศาสตร์ที่ปกติจะเป็นเพียงนามธรรมมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ผ่านการสร้าง online community platform นี้ขึ้น และยังคาดหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันและเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น เราเชื่อว่าการที่ได้เริ่มต้นคุยกันอย่างมีเหตุผล แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการถกเถียงกันในประเด็นปัญหาเล็กๆ รอบตัว ท้ายที่สุดแล้วจะเกิดการตกตะกอนทางความคิดจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศได้ รวมถึงเราต้องการที่จะขจัดการแสดงความคิดเห็นที่มุ่งแต่จะสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) เราอยากเห็นสังคมไทยพูดคุยและแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์กันอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ค่ะ

 

แรงกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนสังคม คือความรู้สึกที่ได้รับจาก Youth Co:Lab Thailand 2019

IKAN : เรารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ค่ะ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่หลากหลาย และได้แลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงได้รับความรู้ใหม่ๆ จากทั้งผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น และพี่เจ้าหน้าที่จัดงาน เรายังได้รับแรงกระตุ้นจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ เรื่องความต้องการที่จะเปลี่ยนสังคมเราให้ดียิ่งขึ้น การยอมรับความหลากหลายในสังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่จัดงานภายในโครงการที่ช่วยให้โครงการ IKAN ของเราได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มองเห็นปัญหาในสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัล ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณมากๆ ที่ทางทีมงานให้โอกาสพวกเราทีม IKAN ได้ไปพัฒนา และริเริ่มโครงการอย่างจริงจัง ตอนนั้นตกใจแล้วก็ดีใจมาก เพราะตอนแรกพวกเราไม่ได้คิดหวังรางวัลเลย หวังแค่ได้ใช้ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่เรียนมาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และหวังไปหาประสบการณ์ พบเจอผู้คนใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันเฉยๆ แต่สิ่งที่เราได้กลับมามันมีค่ามากกว่านั้นมาก ทั้งความทรงจำที่ดี ทั้งมิตรภาพ แม้เราจะเป็นคู่แข่ง แต่เราก็ช่วยเหลือกัน สุดท้ายนี้ พวกเราต้องขอขอบคุณทางทีมงาน Youth Co:Lab Thailand อีกครั้งที่ได้มอบโอกาสและประสบการณ์ที่มีค่านี้ให้กับพวกเราทีม IKAN นะคะ

  • Published Date: 06/12/2019
  • by: UNDP

เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกใกล้ถึงวันเกินเยียวยา นี่คือ 4 สิ่งควรรู้จากการประชุม ‘COP25’

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ซึ่งตอนนี้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบกับโลกและสิ่งมีชีวิตมากมาย เห็นได้จากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามนุษย์โลกยังนิ่งเฉย ในวันข้างหน้าอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นถึง 3.4-3.9 องศาเซลเซียส โดยจำนวนตัวเลขอุณหภูมิที่เอาแต่จะเพิ่มขึ้น คือสัญญาณเตือนให้มนุษย์ต้องทำอะไรสักอย่างกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ดังนั้นการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 (2019 UN Climate Change Conference : COP25) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนในวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้ จึงหยิบยกประเด็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ และนี่คือ 4 สิ่งเกี่ยวกับการประชุม COP25 ที่ทุกคนควรรู้

1. โลกร้อนขั้นวิกฤต : นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพราะตอนนี้มันกำลังเข้าขั้นฉุกเฉิน และจะเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

 

2. ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ : การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (carbon neutrality) คือความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2050 โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลก ควรจะตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซพิษมาทำลายโลกให้น้อยลง เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส (Paris agreement) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ที่หลายประเทศทั่วโลกต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45% ให้ได้ภายในปี 2030

 

3.พลังงานทดแทนคือทางออก : การที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้นั้น เลขาธิการสหประชาชาติมองว่า พลังงานทดแทนคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ นั่นหมายถึงต้องหยุดให้เงินอุดหนุนการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดการขุดเจาะต่างๆ และหยุดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขึ้นใหม่หลังจากปี 2020

 

4.‘เกรตา ธันเบิร์ก’ Climate Icon แห่งยุคไม่พลาดเข้าร่วม : แน่นอนว่าหากพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงจะขาดสาวน้อยวัย 16 ชาวสวีเดนอย่างเกรต้า ธันเบิร์กไปไม่ได้ นักขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่คนนี้ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาประชุม เพื่อการเดินทางอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมีคนมาย่อมมีคนขาด เพราะงานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐอเมริกาไม่ขอเข้าร่วม แต่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐเข้าแทน ทั้งที่อเมริกาคือหนึ่งในประเทศหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ซึ่งการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 (COP25) นี้จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อหาบทสรุปของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การประชุมครั้งที่ 26 ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

 

ที่มา : https://unfccc.int/process-and-meetings/conferences/un-climate-change-conference-december-2019/events-at-cop-25

https://news.un.org/en/story/2019/11/1052251

https://www.bbc.com/news/newsbeat-50629410

https://edition.cnn.com/2019/12/03/europe/greta-thunberg-lisbon-cop25-intl-scli/index.html

https://www.theguardian.com/environment/2019/dec/02/congress-commits-to-take-action-on-climate-crisis

 

#UNDP #UCXUNDP #COP25 #ClimateChange

Keywords: , ,
  • Published Date: 05/12/2019
  • by: UNDP

‘การลงทุนให้สิ่งแวดล้อม’ หลักการทำงานอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการที่คิดเพื่อสังคม

 

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมนั้นลงทุนโดยไม่ได้หวังเพียงจุดคุ้มทุนหรือกำไรเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า

‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) สำหรับเปิดมุมมองและกระบวนการของนักลงทุน และนำมาต่อยอดความคิดของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อสังคม เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance)

.

การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ คืออะไร ?

 

เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง และถูกตักตวงเอาผลประโยชน์จนบางครั้งถูกมองข้าม และขาดการเอาใจใส่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มโครงการ ‘The Biodiversity Finance Initiative’ (BIOFIN) สร้างการลงทุนเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยทำงานผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

 

  1. ประเมินงบประมาณที่ใช้เพื่อลงทุนเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนา ฟื้นฟู วิจัย และป้องกัน จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
  2. ประเมินมูลค่างบประมาณที่จำเป็น
  3. พิจรณาช่องว่างระหว่างขั้นตอนที่หนึ่งและสอง แล้วจัดหานวัตกรรมการจัดหาเงิน (Innovative Finance) เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น

.

ยกตัวอย่างการทำงานของผู้ประกอบการสังคมที่ตั้งใจลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นภาพชัดกันบ้าง นั่นคือ ‘Patagonia’ ของ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเอาต์ดอร์ที่จัดทำแคมเปญ ‘1% for the Planet’ มอบเงิน 1% จากยอดขายในแต่ละปีให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอหลายร้อยแห่งทั่วโลก เพราะบริษัทมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนและทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่คำโฆษณาเสื้อผ้า ‘Don’t Buy this Jacket’ ที่หมายถึงอย่าซื้อเสื้อแจ็กเก็ตตัวนี้ ถ้าไม่ต้องการที่จะใส่มันจริงๆ เพื่อช่วยลดขยะเสื้อผ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

.

ทั้งยังใช้ฝ้ายออร์แกนิก 100% ยึดถือหลักการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) มีโรงงานสีเขียวที่ใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตัวอาคารยังเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้างส่วนหนึ่ง และเป็นอาคารสีเขียวที่ผ่านมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ไม่เพียงเท่านั้น Patagonia ยังมีกิจกรรมที่ทุกคนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฟื้นฟูแม่น้ำ หรือการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน โดยพวกเขาหวังเพียงเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการรักษาระบบนิเวศของโลกใบนี้ให้ยังคงสมบูรณ์ไปอีกนานเท่านาน

.

ตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาข้างต้นอย่าง ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance) เป็นเพียงหนึ่งสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงวิธีการของ ‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) เท่านั้น แต่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สังคม หรือสัตว์ป่า เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าไปพร้อมกับสร้างสังคมที่น่าอยู่และดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

.

Sources : https://www.biodiversityfinance.net/

https://web.facebook.com/UNDP.BIOFIN.th/posts/1139307249427189/?_rdc=1&_rdr

https://www.onepercentfortheplanet.org/

 

#UNDP #UCxUNDP #ImpactInvestingandInnovativeFinance #BiodiversityFinance #Patagonia

  • Published Date: 04/12/2019
  • by: UNDP

ถอดบทเรียน ‘National Dialogue’ : อยู่อย่างเข้าใจและไม่ใช้ Hate Speech

Youth Co:Lab Thailand 2019 ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2562 เราได้เปิดประสบการณ์ใหม่กับน้องๆ ผู้เข้าร่วมทั้ง 10 ทีมเกี่ยวกับการคิดหาวิธีลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างสงบท่ามกลางความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนา National Dialogue ซึ่งเป็นการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับ Inter-faith Intolerant in Thai Society

ในหัวข้อ ‘Embracing Diversity’ เพราะหลายปีที่ผ่านมา  ในสังคมไทยยังคงมีภาพของการดูแคลนระหว่างผู้คนต่างอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา โดยเฉพาะในช่องทางสื่อออนไลน์ ที่โซเชียลมีเดียทำให้ประเด็นนี้รุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การแสดงความเกลียดชังในโลกออนไลน์ (online hate speech) และส่งผลต่อความเกลียดชังในโลกออฟไลน์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) จึงริเริ่มความร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อศึกษาการใช้ภาษา การสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายการแสดงความเกลียดชัง (hate speech) ในสื่อสังคมออนไลน์  เพื่อให้สังคมเข้าใจการดำรงอยู่ของปรากฏการณ์เหล่านี้ และร่วมป้องกันไม่ให้ความเกลียดชังลุกลามกลายเป็นความรุนแรง ผ่านการมุ่งสร้างวัฒนธรรมที่เคารพและให้เกียรติความหลากหลายในสังคม

ภายในงานเสวนาหยิบยกประเด็นเรื่องความเกลียดชังระหว่างความเชื่อในสังคมมาพูดคุยกัน ซึ่งมีหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ประชาสังคม สื่อ และเยาวชนให้เกียรติเข้าร่วมงาน เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและการเปิดรับที่มากขึ้นในอนาคต และผู้เข้าร่วมอย่างเราได้เรียนรู้หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว นั่นคือ ‘Hate Speech in Social Media’ หรือ ‘ภาวะที่คนไม่ทนกันจนก่อให้เกิดคำพูดเชิงเกลียดชังในสื่อออนไลน์’ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์และการใช้ถ้อยคำเชิงเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างพุทธ-มุสลิม จากการเข้าร่วมเสวนาเราได้รับข้อคิดจากงานเพื่อปรับใช้ในชีวิต  4 ข้อ

01 Hate Speech 4 ระดับ

รายงายชิ้นนี้ ศึกษาด้วยการเสิร์ชคำค้นหาในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ อย่าง เฟซบุ้ก เพื่อเก็บข้อมูลและแบ่งประเภทของคำพูดเชิงเกลียดชัง ซึ่งทำให้เรารู้ว่า คำพูดเชิงเกลียดชังสามารถแบ่งได้ 4 ระดับ

  1. แสดงความจงเกลียดจงชัง (Intense Dislike) แบ่งความเป็นพวกเขาและพวกเรา เช่น พวกมัน พวกหนักแผ่นดิน พวกนอกรีด ฯลฯ
  2. ยั่วยุให้เกลียดโดยกล่าวโทษรุนแรง ประณาม เหยียดหยาม และลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่น กระจอก เห็นแก่ตัว โจรหมา เอาหมูยัดปาก ไม่ใช่คน ฯลฯ
  3. แสดงการปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน เช่น ออกไปเลย อยู่ด้วยกันไม่ได้ แยกดินแดนไปเลย ฯลฯ
  4. ยั่วยุให้ทำผิดกฎหมาย และการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพเพื่อทำลายล้าง เช่น เก็บมันให้หมด เด็ดหัว ยิงทิ้ง เก็บไว้ก็หนักแผ่นดิน ฯลฯ

02 สถานการณ์ Hate Speech ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 2

ผลของรายงานครั้งนี้พบว่า โลกออนไลน์ในบ้านเรา มักใช้คำพูดเชิงเกลียดชังในระดับที่ 2 ยั่วยุให้เกลียดโดยกล่าวโทษรุนแรง ประณาม เหยียดหยาม และลดทอนความเป็นมนุษย์ พวกเราฟังแล้วหยุดคิด … เอ … สังคมไทยที่เรารู้จัก มาถึงขั้นนี้เลยหรอ … ยังดีนะ ที่เรามาเริ่มคุยกันก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงกว่านี้จนแก้ปัญหาได้ยาก ดีนะที่เรามาเริ่มเอะใจกับสถานการณ์ก่อนที่พวกเราจะไม่สามารถมานั่งคุยกันแบบนี้ได้ ยังดีนะ … ที่เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เล็กน้อยก่อนที่จะผู้คนจะเริ่มหยิบใช้อาวุธมาห้ำหั่นกัน อย่างปิดหูปิดตา ปิดใจ ยังดีนะ .. ที่เราได้เริ่มต้นขบคิดการแก้ปัญหานี้กัน

03 เข้าใจ Counter Speech

การเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ยังทำให้เราได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Counter Speech’ ซึ่งหมายถึง ข้อมูลในแง่มุมโต้แย้งกับคำพูดเชิงเกลียดชังที่เกิดขึ้น มักพบจากการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับบางความเห็น ทำให้คนฟังหรือคนอ่านข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้หยุดคิด และทบทวนความคิด หรือความเชื่อที่เรามีว่า เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า

04 Hate Speech จะลดได้ต้องใช้ความร่วมมือ

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการเข้าร่วมเสวนา National Dialogue ครั้งนี้ คือการทำงานเพื่อลดคำพูดเชิงเกลียดชังนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกๆฝ่าย มาร่วมถกประเด็น หาทางออก หาทางลดความรุนแรงผ่านแป้นพิมพ์ หาทางลดแนวคิดสุดโต่ง โดยอาศัยการคิดค้นหาวิธีการกันอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมให้เกิดขึ้นในวันข้างหน้า

 

ผลของรายงาน ‘Hate Speech in Social Media’ หรือ ‘ภาวะที่คนไม่ทนกันจนก่อให้เกิดคำพูดเชิงเกลียดชังในสื่อออนไลน์’ ทำให้เราได้หยุด และคิดทบทวนก่อนที่จะพิมพ์ หรือแสดงความคิดเห็นอะไรลงไปในโลกโซเชียลเสมอ

 

Keywords: , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779