• Published Date: 20/08/2020
  • by: UNDP

กักตัวช่วงโควิด-19: เมื่อปลอดเชื้อไม่ได้ปลอดภัยจากความรุนแรง

          

     ในขณะที่บ้านเป็นนิยามของความสงบสุขทั้งทางกายและทางใจของใครหลายๆ คน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด บางคนสะสมความเจ็บปวดกับทั้งทางกายและทางใจที่ต้องอยู่ที่บ้าน

         ในช่วงโควิด-19 ที่มีรณรงค์และออกมาตรการให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อนั้น ทำให้คนที่หรือเลี่ยงที่จะอยู่ด้วยกันต่อเนื่องเป็นเวลานานจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันยาวขึ้นอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก

         หนำซ้ำความเครียดจากผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมากับโควิด-19 ทั้งการตกงาน เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งและทำให้สถานการณ์บานปลายได้ง่ายๆ

         การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า 10.87% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

  ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งที่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ และกับตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยความรุนแรงในครอบครัวครอบคลุมถึงการกระทำที่มุ่งให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวหรือใช้อำนาจให้บุคคลในครอบครัวกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างโดยมิชอบ ซึ่งผลลัพธ์จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

 

โรคระบาด ระบาดพร้อมความรุนแรงในครอบครัว

ในประเทศจีนอย่างมณฑลหูเป่ย ที่ที่เป็นต้นกำเนิดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้พบว่าได้รับรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากปีก่อน อีกทั้งหลังการกักตัวสิ้นสุดลง มีคนหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีไวรัสแพร่ระบาด

แนวโน้มสถิติในทิศทางเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ในเมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์ก มีการโทรแจ้งสายด่วนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน  ด้านแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่วนในประเทศไซปรัส จำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ

นอกจากนี้ UNICEF ระบุว่าอัตราการแสวงประโยชน์และความรุนแรงต่อเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปีช่วงปี 2557-2559 ที่เชื้อไวรัสอีโบล่าระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่ามีจำนวนแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ โดยประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด

เมื่อดูสถิติความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจากบทความของ TDRI ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวพบว่า สถิติการโทรเข้าสายด่วนในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 103 ราย ซึ่งลดน้อยลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 155 ราย ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขการโทรเข้าสายด่วนที่ลดลงอาจไม่ได้สะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นกับความรุนแรงในครอบครัว แต่อาจยิ่งน่ากังวลเพราะผู้เสียหายโดยตรงมักไม่ใช่ผู้ที่แจ้งเหตุเอง เมื่อไม่ได้ออกจากบ้าน จึงไม่มีใครรับรู้ถึงสถานการณ์และไม่ได้แจ้งเหตุ ส่วนตัวผู้เสียหายเองก็มีข้อจำกัดด้านการออกจากพื้นที่จึงทำให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้ยากขึ้น รวมไปถึงการตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่สำคัญในการเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

 

กักตัวอยู่ในบ้านและต้นเหตุของความรุนแรง

แท้จริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวจากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมว่า ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 พบผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 5 คนต่อวัน

         ในบ้านที่มีเคยเผชิญปัญหาเช่นนี้มาก่อนหน้า โควิด-19 จึงเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น บางบ้านยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่บังคับให้ทุกคนต้องเผชิญหน้ากันตลอดเวลา แต่สำหรับบางบ้านที่ไร้ปัญหาในสภาวะปกติ ความเครียดที่เกิดจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 เช่นการตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน

         ดังครอบครัวของนางสาวเอ ที่ขึ้นพูดในงานที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิก้าวไกลและสสส.ว่า ช่วงโควิด-19 บริษัทไม่มีโอทีจึงทำให้รายได้ลดลง สถานการณ์การเงินย่ำแย่ ตนต้องไปหยิบยืมจากเพื่อนหรือหาเงินกู้ หากไม่สำเร็จสามีจะเมาและทำร้าย ในช่วงแรกเธอทนกับสภาพเช่นนั้น ปัจจุบันเอเข้าถึงความช่วยเหลือจากมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในต้นเหตุที่มองข้ามไม่ได้คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ให้สัมภาษณ์กับ Sanook.com ไว้ว่าโครงสร้างสังคมไทยที่ให้อำนาจกับชายในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่เพศหญิงต้องแบกความคาดหวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และต้องขยันทำมาหากิน เมื่อภาพเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นสถานะที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด อีกทั้งเมื่อมีปากเสียงและเริ่มลงไม้ลงมือเพศหญิงมักสู้ได้ยากกว่าจากลักษณะทางกายภาพ

ด้านรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แม้ดูเหมือนจะตระหนักว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างช่วงกักตัว แต่มาตรการที่รัฐออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจและการหากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อหลีกหนีความขัดแย้ง เช่น แนะนำให้การทำอาหารร่วมกัน และทำกิจกรรมผลิตหน้ากากผ้า เป็นต้น

แม้จะมีช่องทางสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ให้บริการอยู่ ด้าน บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง Shero ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวให้ความเห็นผ่าน adaymagazine.com ว่าสายด่วนนี้ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น คนไร้บ้าน และการค้าแรงงานมนุษย์ด้วย จึงอาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงการให้บริการ

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว

      ไม่มากนักที่ผู้ถูกกระทำจะเข้าไปขอความช่วยเหลือโดยตรง สอดคล้องกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยึดถือคติ “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” จึงทำให้ไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง หรือบางครั้งต่อให้ผู้เสียหายกล้าหาญตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเองกลับเป็นผู้เสนอให้ไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ในลักษณะเดิมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่าและแทบไม่มีวันสิ้นสุดลง ด้านคนนอกครอบครัวที่พอรับรู้เหตุการณ์ บางก็ไม่ได้ปฏิบัติใดๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นการก้าวก่ายเรื่องผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม เพราะครอบครัวคือพื้นฐานของสังคม และผู้เชี่ยวชาญหลายรายมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความรุนแรงส่งผลต่อผู้เสียหายทั้งทางใจและทางกายในระยะยาว อีกทั้งยังอาจซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้นและเป็นผู้ใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบถึงคนวงกว้างได้ ประเด็นนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องของสังคม

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เพื่อให้การคุ้มครองและจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับความรุนแรงได้โดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ ด้านพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาผู้กระทำได้ทันที สิ่งนี้จึงเป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่คือเรื่องของทุกคน

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/topics/cr50y65y3v9t

https://news.thaipbs.or.th/content/295351

https://tdri.or.th/2020/04/domestic-violence-victims-during-covid19/

 https://thediplomat.com/2020/04/chinas-hidden-epidemic-domestic-violence/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808864

https://www.sanook.com/news/8079155/

 https://www.prachachat.net/general/news-444654

https://www.freepik.com/premium-photo/depressed-despair-anxiety-young-man-sitting-alone-home-mental-health-men-health-concept_7190107.htm

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 18/08/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 กับการศึกษา: เรื่องใหญ่สำหรับชีวิตเยาวชน

การตัดสินใจปิดโรงเรียน หรือเลื่อนเปิดเทอมอย่างไม่มีกำหนดดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวในช่วงโควิด-19 สำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพราะโรงเรียนคือหนึ่งในสถานที่ที่รวมคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน

แต่การปิดสถานศึกษาส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตเด็กและเยาวชนไม่น้อย

การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า การเรียนการสอบและการศึกษาต่อคือความกังวลอันดับต้นๆ ที่พวกเขามี

 

เมื่อโรงเรียนเป็นมากกว่าการศึกษา

        การปิดภาคเรียนที่ยาวนานขึ้นและไม่มีกำหนดในช่วงแรกส่งผลต่อทั้งเยาวชนและผู้ปกครอง

        โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาคือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่บ้านในตอนกลางวัน โควิด-19 ทำให้ช่วงเวลาปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ พ่อแม่หลายรายต้องจัดสรรหรือหาแผนการให้เด็กอยู่ต่อไปได้ การเรียนรู้ด้วยรูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะนอกจากความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว โรงเรียนยังคือสถานที่ฝึกทักษะทางสังคมที่สำคัญของคนในวัยนี้อีกด้วย

        มากไปกว่านั้น สำหรับเด็กบางราย โรงเรียนคือสถานที่ที่ช่วยการันตีว่านักเรียนจะได้รับโภชนาการสารอาหารครบถ้วนตามสมควร เพราะบางครอบครัวอาจไม่ได้มีศักยภาพด้านการเงินเพื่อจัดหาอาหารที่เหมาะสมได้ในทุกๆ วัน

 

เรียนออนไลน์และเรียนทางไกล ทางออกที่ใช่สำหรับทุกคน?

        ในช่วงที่เราต่างรู้ว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อาจปลอดภัยกว่า การเรียนออนไลน์จึงเข้ามาอยู่ในบทสนทนาหลักของแวดวงการศึกษา

        นักเรียนนักศึกษาหลายคนเห็นตรงกันว่าเพื่อไม่ให้การศึกษาหาความรู้ขาดช่วงไป และเพื่อให้ไม่ลืมบทเรียนที่ผ่านมา ควรมีการเรียนหรือติวเพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์เพราะเยาวชนกลุ่มนี้กังวลว่าหากพวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่ออนาคตการศึกษาที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ เช่นการสอบเข้ามหาลัย และการย้ายโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้การที่เด็กเพียงส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงความรู้เพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ยิ่งเป็นการขยายช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเยาวชนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงทรัพยากร

        เมื่อพูดถึงการศึกษาที่เป็นทางการ แม้ออนไลน์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลหากให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข แต่เยาวชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าการเรียนออนไลน์ไม่ควรเป็นทางออกสำหรับทุกกลุ่ม หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ต้องมีการสนับสนุนจากทางรัฐมากกว่านี้ เพราะเยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ตและค่าไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องบรรยากาศแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ทำให้ความตั้งใจหรือมุ่งมั่นในการเรียนลดน้อยลงซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พื้นที่บ้านจำกัด หรือการมีพี่น้องที่อยู่ในวัยเรียนทั้งคู่จึงอาจเรียนพร้อมกันไม่สะดวกเพราะเสียงรบกวนกันหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลในประเทศไทย

        ไม่ใช่เท่านี้ ประเด็นเรื่องช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน นอกจากประเด็นที่ว่าเด็กเล็กต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในการช่วยเข้าถึงบทเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ งานวิจัยจาก TDRI ยังระบุด้วยว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 3 ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากคุณครู การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร

ความจำกัดของการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ได้จำกัดถึงแค่ฝั่งนักเรียน ด้านครูอาจารย์เองที่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับการจัดการการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ก็อาจส่งผลต่องานสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน


ความกังวลของเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย

นอกจากเรื่องระบบการเรียนออนไลน์ที่สะท้อนไปข้างต้น เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมหาวิทยาลัยจำนวนมากสะท้อนผ่านแบบสำรวจว่าพวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมส่วนหนึ่งให้เนื่องจากพวกเขามีโอกาสใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยลดน้อยลง ซึ่งในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งออกมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาในประเด็นนี้แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละที่

ด้านเยาวชนชั้นปีที่ 1 กังวลว่าหากการเรียนการสอนต้องย้ายมาอยู่บนออนไลน์ จะทำให้เขาไม่ได้พบปะเพื่อนใหม่และขาดประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัย

ส่วนเยาวชนที่ใกล้จบการศึกษากังวลเกี่ยวกับการฝึกงาน การขาดประสบการณ์การทำงานในสนามจริงซึ่งอาจกระทบต่อชีวิตการทำงานในระยะยาว

 

Resource:

การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/125193

https://www.unicef.org/thailand/th/media/4031/filehttps://voxeu.org/article/impact-covid-19-education

https://www.freepik.com/premium-photo/asian-students-taking-exam_4751725.htm#page=8&query=thai+university&position=12

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 12/08/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 และสุขภาพจิต: มิติด้านสุขภาพที่เยาวชนต้องการการสนับสนุน

โควิด-19 และสุขภาพจิต: มิติด้านสุขภาพที่เยาวชนต้องการการสนับสนุน

ผลกระทบทางสุขภาพจากโควิด-19 ไม่ได้มีเพียงแค่ผลกระทบทางสุขภาพกายที่ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ซึ่งเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดกลุ่มหนึ่ง

การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 ได้รับผลกระทบทางสภาพจิตใจจากโควิด-19 โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย โดยความกังวล 3 อันดับแรก คือ การเงินของครอบครัว การศึกษา และการติดไวรัส ตามลำดับ

ความเครียดความกังวลของพวกเขามีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทางออกของพวกเขาอยู่ตรงไหน ร่วมสำรวจจิตใจเยาวชนไปด้วยกัน

 

เรื่องเงินเรื่องใหญ่

ปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัญหาสุขภาพจิตใจของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยและกลุ่มที่ต้องทำงานสนับสนุนด้านการเงินตัวเอง

เพราะเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาจึงทำให้ความกังวลในด้านอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น ความกังวลเกี่ยวกับปากท้องในชีวิตประจำวัน โอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่มีแนวโน้มว่าจะหันมาเป็นออนไลน์ยิ่งขึ้นทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจยังสืบเนื่องต่อไปถึงความสามารถในการสรรหากิจกรรมทางเลือกสำหรับพัฒนาศักยภาพและค้นหาตัวตนของเด็กและเยาวชนภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อทักษะการเข้าสังคมและทางอารมณ์ได้อีกด้วยไม่เพียงเท่านี้ ความไม่มั่นคงทางการเงินยังอาจนำมาซึ่งการตกงานของผู้ปกครองที่แบกรับความเครียดและไม่ได้ออกไปไหน สถานการณ์ที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแทบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกมีโอกาสซึมซับรับความเครียดนั้นมาด้วยหากพ่อแม่จัดการกับความเครียดได้ไม่ดีพอ

 

อยู่แต่บ้านสร้างกังวล

หลายความเห็นสะท้อนผ่านแบบสอบถามว่าการอยู่บ้านทำให้รู้สึกเบื่อ บั่นทอน และเครียด โดยอาการเหล่านั้นมาจากหลายสาเหตุ

การใช้เวลาอยู่ในบ้านกับสมาชิกครอบครัวนานขึ้นเป็นหนึ่งในนั้น เด็กและเยาวชนบางรายรู้สึกกดดันเพราะรู้สึกถูกตรวจสอบ ถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงออกตัวตนของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยแบบสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าร้อยละ 4 ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันมากขึ้นเพราะไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ต่อหน้าครอบครัว และเข้าถึงฮอร์โมนที่ตนเองรับอย่างต่อเนื่องได้ลำบากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม เยาวชนบางคนมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิกในครอบครัวยังคงต้องออกไปทำงานหรือไปธุระข้างนอก เพราะกลัวว่าจะนำโควิด-19 กลับมาที่บ้านด้วย

อีกหนึ่งประเด็นหลักที่สร้างผลลบต่อสุขภาพจิตจากการอยู่บ้านเป็นเวลานานคือความเครียดจากการเสพข่าว ในช่วงโควิดระบาดหนักเนื้อหาจากสื่อในแทบทุกแพลตฟอร์มล้วนนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับโควิด-19 โดยมีทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จ

ลำพังการรับรู้ข้อมูลโรคระบาดอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลต่อจิตใจได้แล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือเยาวชนกลุ่มหนึ่งสะท้อนใกล้เคียงกันว่าได้รับข่าวหรือข้อมูลตามกรุ๊ปไลน์ที่ส่งมาจากญาติผู้ใหญ่ หลาย ๆ ครั้งเป็นข่าวปลอมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนแสดงความกังวลและตั้งคำถามคือประเด็นเรื่องความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการจัดการ แก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบของรัฐบาล

 

การศึกษาที่พร่ามัว

เพราะการศึกษาคือเรื่องใหญ่ของเด็กและเยาวชน ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักตรงกับช่วงปิดภาคเรียนพอดี แต่กว่าที่จะรู้ว่าวันเปิดเทอมและแผนการต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษา เยาวชนหลายคนก็อดที่จะกังวลไม่ได้

บางความคิดเห็นสะท้อนว่า แม้จะอยู่บ้านก็เรียนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่แผนหลาย ๆ อย่างก็ไม่เป็นไปตามที่ได้วางไว้ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังจะจบมัธยมและจะเข้าศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา พวกเขากังวลว่านี่อาจนำไปสู่การเสียโอกาสในระยะยาว

ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ใกล้จบการศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยมีความกังวลว่าโปรแกรมการฝึกงานอาจยกเลิกในหลายที่ ซึ่งก็จะส่งผลให้พวกเขาขาดประสบการณ์การทำงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและอาจหางานไม่ได้ในที่สุด

 

เมื่อจิตใจต้องการที่พึ่ง

ในสถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่แต่ละคนต้องเผชิญอาจหนักหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่กับเยาวชนบางรายที่มีภาวะทางจิตอยู่แล้ว พวกเขากังวลเป็นพิเศษกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางรายสะท้อนว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษาหรือการให้คำปรึกษาจากนักวิชาชีพยากขึ้น และบางคนมีความคิดอยากฆ่าตัวตายในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ด้วย

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศอังกฤษที่จัดทำโดย Youngminds องค์กรที่ทำงานสนับสนุนสุขภาวะทางจิตของเยาวชน งานชิ้นนี้เก็บข้อมูลในช่วงที่ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเก็บจากเยาวชนกว่าสองพันคนที่มีภาวะสุขภาพจิตอยู่แล้ว ผลการศึกษาพบว่าในช่วงโควิด-19 คนหนุ่มสาวจำนวนมากยังคงต้องการเข้าถึงการรักษา แต่พวกเขากลับเข้าถึงได้น้อยลงหรือเข้าไม่ถึงเลย อีกทั้ง 80% ของกลุ่มเป้าหมายตอบว่าโควิด-19 ทำให้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่ลง

สำหรับเยาวชนไทยที่ตอบแบบสอบถามของยูนิเซฟจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่าสถานการณ์ที่เผชิญอยู่อาจพาเขาไปถึงจุดที่เป็นโรคซึมเศร้าได้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้เยาวชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1 ใน 4 ยังตอบว่ามีความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการความเครียดและซึมเศร้าอีกด้วย

ปัญหาด้านสุขภาพจิตในเยาวชนคือเรื่องไม่เล็กและไม่ควรมองข้าม หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญข้อนี้ดีและมีการออกข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการและช่องทางช่วยเหลือเยาวชนในเรื่องนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อย่างรวดเร็วที่สุด

สำหรับในประเทศไทย ความพยายามให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องนี้มีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) จัดคลินิกออนไลน์ 24 ชั่วโมง ชื่อ เลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com เพื่อให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น หรือรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแอพลิเคชัน HERO เพื่อดูแลสุขภาพจิตนักเรียนช่วงเปิดเทอม หรือกรมสุขภาพจิตร่วมกับสสส.ผลิตรายการ “บ้าน-พลัง-ใจ” ทางช่อง Thai PBS เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ทั้งนี้การเข้าถึงและความมีประสิทธิภาพของช่องทางเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/education-52721132

https://youngminds.org.uk/about-us/reports/coronavirus-impact-on-young-people-with-mental-health-needs/

https://www.dailynews.co.th/politics/782393

https://www.unicef.org/thailand/press-releases/8-10-youth-worried-about-their-family-income-due-covid-19

 

รูปภาพอ้างอิง:
https://www.freepik.com/free-photo/young-asian-woman-working-late-using-laptop-desk-living-room-home_5503828.htm#page=1&query=young%20asian%20women%20working%20late&position=39

Keywords: , , ,
  • Published Date: 05/08/2020
  • by: UNDP

เยาวชน เศรษฐกิจ และโควิด-19: ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งต่อไปสู่มิติอื่นของชีวิตเยาวชน

 

“เด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 กังวลเรื่องสถานะทางการเงินของครอบครัวในช่วงโควิด-19 มากที่สุด”

“เยาวชนที่ทำงานประจำและพาร์ตไทม์ร้อยละ 23 ว่างงานเพราะผลกระทบจากโควิด-19”

เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่ได้จากการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 30 ปีทั่วประเทศกว่าหกพันคนเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA

ความกังวลและผลกระทบเหล่านี้มาจากการใช้นโยบายล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แต่ผลที่ตามมาอย่างรุนแรงคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถประกอบกิจการหรือทำงานรับจ้างได้อย่างที่เคยเป็นมา

ความยากลำบากทางการเงินยังถูกซ้ำเติมจากการที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลาที่ยาวนานขึ้น รายจ่ายจึงยิ่งมากขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง ภาระและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนทั้งที่ต้องหาเงินดูแลตัวเอง และทั้งที่ยังพึ่งพาการเงินจากผู้ปกครองต่างรับรู้ได้

ปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เยาวชนได้รับมีดังนี้

 

  1. เด็กและเยาวชนที่ผู้ปกครองอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี จำนวนคนว่างงานมากขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ตัวเลขอาจสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เนื่องจากไตรมาสแรกยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นการระบาด อย่างไรก็ตามสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าจะมีคนเสี่ยงถูกเลิกจ้างถึงกว่า 8.4 ล้านคนจากโรคระบาดนี้

ด้านเด็กและเยาวชนเอง เมื่อโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมออกไปเรื่อยๆ ระยะเวลาอยู่บ้านที่ยาวนานขึ้นส่งผลให้ค่าอาหารกลางวันที่เคยครอบคลุมในที่โรงเรียนก็กลับมาเป็นความรับผิดชอบของทางบ้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่าการหยุดโรงเรียนจึงไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่คือโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการที่ลดลงด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น กสศ. ชี้ว่าเป็นไปได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้นักเรียนจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่ครอบครัวมีรายได้น้อยอยู่แล้ว เพราะสภาพเศรษฐกิจอันหนักหน่วงอาจทำให้พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ อีกทั้งเยาวชนบางส่วนจำต้องไปช่วยผู้ปกครองหารายได้เพื่อประคองให้เศรษฐกิจของครอบครัวดำเนินต่อไปได้ ปัญหาทางเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 จึงอาจหมายรวมถึงอนาคตระยะยาวที่เปลี่ยนไปของใครหลายๆ คนด้วย

 

  1. เยาวชนที่ทำงานพาร์ทไทม์หรือหารายได้ด้วยตัวเอง

สำหรับเด็ก เยาวชน และนักเรียนบางคน การทำงานพาร์ตไทม์คือรายได้หลักที่ทำให้พวกเขามีกินมีใช้ในชีวิตประจำวัน หลายคนไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากที่บ้านมาเป็นเวลานาน ครั้นจะไปขอในสถานการณ์เช่นนี้พวกเขายิ่งลำบากใจเพราะรู้ทั้งรู้ว่าใครๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

เช่นเดียวกับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานครรายหนึ่งที่เข้ามาทำแบบสอบถามของยูนิเซฟ เธอเป็น 1 คนใน 23% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำงานและถูกเลิกจ้าง เธอระบุว่าเธอทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่ตกงานในช่วงโควิด-19 ส่วนที่บ้านก็ไม่มีรายได้ เธอจึงไม่กล้ารบกวนผู้ปกครองเพราะเกรงว่าจะยิ่งเป็นภาระให้กับพวกเขา เธอได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้ จำนวนไม่ต้องมาก แต่เพียงพอในการต่อยอดใช้ชีวิต

สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่าคนที่มีอายุ 15-24 ปีทั่วโลก คือกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตกงานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะเยาวชนจำนวนมากทำงานอยู่ในกิจการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 อีกทั้งยังมักเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการจากการเลิกจ้าง ส่วนในประเทศไทยเงินเยียวยา 5,000 บาทสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบบางส่วน แต่หนึ่งในเกณฑ์ที่ระบุไว้คือต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ จากแบบสอบถามของยูนิเซฟ เยาวชนบางรายเสนอเรื่องความต้องการได้รับค่าศึกษาเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องคืนส่วนหนึ่ง เพราะโอกาสในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรต่างๆ ของสถาบันลดลง แต่พวกเขาได้ชำระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปแล้วล่วงหน้า หากได้เงินกลับมาส่วนหนึ่งก็จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านความไม่มั่นคงทางการเงินที่หลายๆ คนเผชิญอยู่ได้

 

  1. เยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษา

สภาพัฒน์ระบุว่าช่วงกลางปีนี้มีเด็กจบใหม่ที่รอเข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 5.2 แสนล้านคน

แม้ธุรกิจหลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดดำเนินกิจการเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าสถานการณ์ยังไม่เหมือนเดิม ความต้องการพนักงานใหม่จึงไม่สูงนัก อีกทั้งหลายบริษัทก็เพิ่งปลดพนักงานไปเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ สถานการณ์นี้ทำให้มีคนวัยทำงานว่างงานหรือกำลังหางานใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เด็กจบใหม่ที่ประสบการณ์ทำงานน้อยหรืออาจไม่มีตกอยู่ในที่นั่งลำบากเป็นอย่างมาก

สำหรับเยาวชนไทยในหลายครอบครัว หากไม่ได้รับผิดชอบตนเองด้านเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้ การจบการศึกษามักเป็นหมุดหมายแห่งวัยที่ระบุว่าถึงเวลารับผิดชอบตนเองด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ นี่อาจนำมาซึ่งความกังวลใจของเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ หากเยาวชนกลุ่มนี้ไม่สามารถหางานได้ภายใน 1-2 ปี อาจยิ่งเข้าสู่การจ้างงานได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากนายจ้างมีแนวโน้มเลือกรับเด็กที่จบใหม่ในปี 2564 หรือผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์การทำงานมากกว่า

 

อ้างอิง:

https://mgronline.com/business/detail/9630000069845
https://www.unicef.org/thailand/th/media/4031/file
https://www.bbc.com/thai/international-52829935
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876078

กสศ. อนุมัติมาตรการช่วยเด็กเยาวชนแรงงานด้อยโอกาส 7.5 ล้านคน จากผลกระทบโควิด-19

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779