• Published Date: 29/08/2021
  • by: UNDP

ร่วมสร้าง ‘New Normal’ กับบทเรียนจาก ‘การฟัง’ ชุมชนภาคใต้

หากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 จะช่วยให้เราเข้าใจอะไรสักอย่างได้ดีขึ้น สิ่งนั้นก็คือความจริงที่ว่า เราทุกคนล้วนเปราะบาง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เปราะบางเท่ากันทุกคน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการระบาดและผลกระทบที่ตามมาของโควิด 19 สำหรับผู้คนราว 2.4 ล้านคนในภูมิภาคแห่งนี้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงแต่ประชากรส่วนมากยากจน การระบาดใหญ่ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความยากลำบากใหม่ ๆ แต่ยังตอกย้ำปัญหาที่มีอยู่เดิมให้เลวร้ายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน โควิด 19 ก็กลายเป็นโอกาสสำหรับภูมิภาคนี้ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า แข็งแกร่งกว่า ยั่งยืนกว่า ยืดหยุ่นกว่า และครอบคลุมมากกว่า

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เราไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตได้ด้วยการกลับไปใช้แนวทางการพัฒนาตามปกติเหมือนที่ผ่านมาเพราะโควิด 19 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างผลกระทบซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีบางอย่างหรือวิธีแก้ปัญหาแบบมุ่งเฉพาะจุด สิ่งที่จำเป็นคือการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เป็นเงื่อนไขของการคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้

การเข้าใจความต้องการที่แท้จริง มุมมองและพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริง คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเป็นพิเศษคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในเดือนมีนาคม 2563 โครงการ Youth Co:Lab ที่นำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และมูลนิธิซิตี้ ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 410 รายทั่วเอเชียและแปซิฟิกพบว่า ร้อยละ 90 ของธุรกิจที่บริหารโดยคนหนุ่มสาวได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน โดย 1 ใน 3 รายงานว่าธุรกิจของตนชะลอตัวครั้งใหญ่ และ 1 ใน 4 ต้องยุติกิจการโดยสิ้นเชิง การได้เห็นคนหนุ่มสาวที่มีความเปราะบางอยู่แล้วต้องมาดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือภาพที่น่าใจหายยิ่ง

เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้และอื่น ๆ ศูนย์ภูมิภาคของ UNDP ร่วมกับศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง (ALC) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางสังคมในราชอาณาจักรสเปน ได้สนับสนุน แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมของ UNDP ประเทศไทย ในการทดลองใช้แนวทางใหม่ที่จะช่วยให้ทราบถึงมุมมองและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนได้แบบตามเวลาจริง เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในบริบทของโควิด 19 และนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะร่วมกัน UNDP และ ALC ได้จัดกระบวนการรับฟังเพื่อรวบรวมเรื่องเล่าผ่านการสัมภาษณ์เชิงชาติพันธุ์วรรณากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มในระบบอาหารท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย

กระบวนการรับฟังได้ดึงเอาชุดเรื่องเล่าที่มีความสลับซับซ้อนออกมา และเผยให้เห็นการรับรู้ พฤติกรรม และรูปแบบการคิดในระดับและมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย กล่าวง่าย ๆ ก็คือเราได้รับรู้เรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่าของภูมิภาคนี้ เรื่องราวที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญของภูมิภาคและชุมชนภาคใต้ของไทย เช่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องประสบปัญหาธุรกิจในยามวิกฤต เพื่อทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้สมบูรณ์ขึ้น ได้มีการสร้าง ‘ตัวละครแทน (persona)’ ซึ่งเป็นตัวตนสมมุติและเป็นตัวแทนชุดความคิด พฤติกรรม และมุมมองของคนแต่ะละกลุ่มในสังคม การทำงานเชิงชาติพันธุ์วรรณาอย่างเจาะลึก เช่น การรวบรวมความคิดที่ดูขัดแย้งกันเพื่อทำความเข้าใจและหาค่านิยมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกันที่ซ่อนอยู่ จะช่วยเราสามารถทำแผนที่ของพื้นที่หรือชุมชนในลักษณะที่แยกย่อยได้ละเอียดมาก

ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการรับฟังมีความสำคัญต่อการออกแบบแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับความต้องการและโอกาสของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากชุมชนอีกด้วย เราสามารถนำแนวปฏิบัติจากกระบวนการรับฟังนี้ไปทดลองและขยายผลเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบและเหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วย เช่น โควิด 19

การระบาดของโควิด 19 : ความปกติใหม่แห่งการรับฟังผ่านเครื่องมือดิจิทัล

เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตนี้ ได้มีการนำเครื่องมือการฟังแบบดิจิทัลและเทคนิคการประมวลผลภาษาด้วยปัญญาประดิษฐ์หลากหลายแบบมาใช้ ซึ่งช่วยให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละภูมิภาค ชุมชน และกลุ่มประชากรนั้นได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มแรงงานไทยราว 200,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติวัยหนุ่มสาว หลายคนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หัวหน้าพ่อครัว และพ่อครัวประจำแผนก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและต้องเดินทางกลับจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คือกลุ่มที่เผชิญกับความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงมาก

ตัวอย่างแหล่งข้อมูลดิจิทัลที่มีการใช้ในประเทศไทย

สิ่งที่เราค้นพบคืออะไร? เราพบว่าโดยทั่วไปคนมีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานที่กลับมา แม้กระทั่งก่อนการเกิดโรคระบาด และตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะแย่ลงไปอีก ในภาคใต้ของประเทศไทย หลายคนมีมุมมองเชิงลบต่อคนที่เดินทางกลับประเทศว่าเป็นพาหะนำโรค และมีการเชื่อมโยงไปถึงศาสนาด้วย แรงงานส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับมาคือประชากรมลายูมุสลิมในท้องถิ่น และศาสนกิจของพวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ซึ่งนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติ “ฉันรู้สึกว่าถูกสังคมตีตราเมื่อกลับบ้าน ถึงฉันจะอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็รับรู้ได้ว่าคนในเมืองมองว่าการรวมตัวทางศาสนาของเราหรือการรวมตัวฉีดวัคซีนทำให้เรามีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ อีกอย่างคือฉันเดินทางมาจากมาเลเซียที่มีข่าวการระบาดก่อนหน้านี้ และก่อนที่จะปิดพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีคนประมาณ 50,000 คนที่กลับไทยมาแล้ว”

กิจกรรมการรับฟังทางดิจิทัลในภาคใต้ของประเทศไทย ประกอบกับงานชาติพันธุ์วิทยาแบบดั้งเดิมช่วยให้เราประเมินผลกระทบของวิกฤตและพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพลวัตอำนาจ — ถึงแม้ว่าการระบาดใหญ่ได้ทำให้ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่นที่เปราะบางอยู่แล้วอ่อนแอลง แต่กลับเปิดโอกาสทางธุรกิจที่ไม่คาดคิดให้แก่คนบางกลุ่ม หนึ่งในเรื่องราวที่เราค้นพบคือเรื่องของคุณตริมีซีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงจากนราธิวาสซึ่งพบกับโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่คาดคิดในช่วงวิกฤต คุณตริมีซีเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์และเชี่ยวชาญการผลิตเนื้อเบอร์เกอร์ เมื่อเขาเปิดธุรกิจ เขาเป็นผู้ผลิตอาหารยอดนิยมนี้เพียงรายเดียวในภูมิภาค “เมื่อสามปีที่แล้ว ไม่มีผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในท้องถิ่นเลย ผมก็เลยเริ่มต้นธุรกิจนี้ ผมจัดการเรื่องเอกสารรับรองทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ผมอยากเริ่มธุรกิจเร็ว ๆ ก็เลยมุ่งมั่นมาก ๆ” เขาอธิบาย

พลวัตของอำนาจ : อิทธิพลของโควิด 19

3 ปีหลังจากนั้น คุณตริมีซียังคงเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพียงรายเดียวในภูมิภาค สำหรับเขา นี่เป็นบรรยากาศทางธุรกิจที่ท้าทายเพราะธุรกิจเนื้อสัตว์ในภูมิภาคนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงโครงสร้างและมักถูกมองว่าไม่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณตริมีซีต้องรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นและการขาดความหลากหลายในภูมิภาค “ร้อยละ 80 ของรายได้ของประชาชนที่นี่ขึ้นอยู่กับการเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และราคายางพารา แต่เราขาดห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำที่เหมาะสมสำหรับปศุสัตว์ เครื่องจักร และโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน”

เมื่อวิกฤตโควิด 19 มาเยือนภูมิภาค เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจอื่น ๆ คุณตริมีซีก็ประสบปัญหา ยอดขายของเขาลดลง ทำให้ต้องลดเงินเดือนตัวเองเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลออกมาตรการปิดเมืองและปิดพรมแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อจำกัดการเดินทางและป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจาย สิ่งต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป คู่แข่งของเขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมาเลเซียไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทยได้ ซึ่งทำให้เกิดสุญญากาศและเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับเขา และเขาคว้ามันในทันที ด้วยทักษะและทัศนคติในการเป็นผู้ประกอบการ เขาตัดสินใจดำเนินการอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวเพื่อนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด และทำให้ยอดขายของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขากล่าวว่า “ดูเหมือนว่าธุรกิจของผมจะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่เติบโตได้จริง ๆ ในช่วงของการระบาดใหญ่”

คุณตริมีซีเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่เห็นความท้าทายแต่เลือกที่จะจินตนาการถึงโอกาส เป็นคนที่ริเริ่มแทนที่จะรอให้คนอื่นมาจัดการปัญหาให้ ในความเป็นจริงมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่คล้ายกับคุณตริมีซี คือมีคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ แต่ยังล้มเหลวเนื่องจากระบบนิเวศของธุรกิจในภูมิภาคที่ขาดการพัฒนา ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพ เนื่องจากขาดที่ปรึกษาด้านธุรกิจและทักษะการจัดการ ตลอดจนข้อจำกัดทางการเงิน เงินทุน และการเข้าถึงตลาด

เรื่องราวเหล่านี้ที่เรารวบรวมได้จาการลงพื้นที่เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์และการรับฟังทางดิจิทัลได้แสดงให้เห็นว่าผู้คน กลุ่มต่าง ๆ  และชุมชนกำลังประสบกับผลกระทบของโควิด 19 ในมิติที่แตกต่างกันอย่างไร การรับข้อมูลเชิงลึกตามเวลาจริงเกี่ยวกับความแตกต่างเหล่านี้และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมคือสิ่งสำคัญในการร่วมสร้างแนวทางแก้ปัญหาใหม่ที่ดีกว่า และเหมาะกับแต่ละกลุ่มประชากร

แนวทางจากล่างขึ้นบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางการเรียนรู้เรื่องธรรมาภิบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ (NextGen Governance learning trajectory) ที่จะช่วยให้ผู้มีอำนาจสามารถเลือก จัดการปัญหาที่ซับซ้อน และระบุแนวทางรับมือที่มีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกไม่ใช่แค่สำหรับการฟื้นตัว แต่ไปไกลถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ด้วย

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรามีเป้าหมายคือการจัดตั้งหอสังเกตการณ์เรื่องเล่าพลเมืองดิจิทัล (Digital Observatories of Citizen Narratives) ที่จะให้ข้อมูลอันมีค่าแก่หน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัด ภาคเอกชน และองค์กรชุมชนที่กำลังค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมผ่านการสร้างสรรค์ร่วม

  1. รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับโควิด และจัดประเภทตามประเด็นและภูมิศาสตร์
  2. ทำแผนที่ระบบของแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
  3. ทำแผนภาพเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
  4. สร้างช่องทางการรับฟังใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อวิกฤตโควิด
  5. จัดเตรียมแนวปฏิบัติเรื่องการรับรู้ทางดิจิทัลเพื่อการตีความข้อมูลร่วมกัน
  6. อำนวยความสะดวกในกระบวนการสร้างสรรค์ร่วมผ่านเครื่องมือดิจิทัล
  7. ออกแบบและจัดการพอร์ตโฟลิโอของตัวเลือกและต้นแบบของแนวทางแก้ปัญหา
  8. จัดการและประเมินแพลตฟอร์มร่วมกัน
  9. สื่อสารกระบวนการนี้กับสาธรณะ
  10. ดึงดูดเงินทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

กระบวนการนี้มุ่งหมายที่จะจุดประกายให้คนในภาคใต้ของประเทศไทยหันมาร่วมพัฒนาชุดแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในท้องถิ่น ความสนใจ และค่านิยมของชุมชน และยังมีความคิดริเริ่มมากมายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารให้สามารถฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิด 19 และปรับตัวสู่ ‘ความปกติใหม่’

บทความนี้ร่วมเขียนร่วมโดย Stan van der Leemputte ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมทางสังคมของ UNDP เอเชียและแปซิฟิก และ Itziar Moreno หัวหน้าโครงการของศูนย์ Agirre Lehendakaria Center (ALC) ทั้งสองกำลังดำเนินโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคที่สนับสนุนสำนักงาน UNDP ประจำประเทศในการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อน บรรลุการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Regional Innovation Centre UNDP Asia-Pacific

ที่มาต้นฉบับภาษาอังกฤษ: https://undp-ric.medium.com/informing-the-new-normal-what-we-have-learned-from-listening-to-southern-thai-communities-cdf8ecc2753e

  • Published Date: 18/08/2021
  • by: UNDP

Youth Dialogue: เยาวชนชาติพันธุ์ x เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียนรู้ความหลากหลายของทุกคนในสังคม

 

ความสวยงามของธรรมชาติคือการรวมไว้ซึ่งพืชพรรณมากกว่าล้านชนิด สัตว์หลายหมื่นสายพันธุ์ รวมทั้งสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประดิษฐกรรมเรื่องการแบ่งกลุ่มหรือจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหม่มากเมื่อเทียบกับอายุของโลกใบนี้ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญของใครหลายคนที่พร้อมจะก่อให้เกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งความเจริญพวยพุ่งเข้าสู่ส่วนกลางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งผลักให้คนอีกจำนวนหนึ่งไหลไปอยู่ชายขอบมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง และพร้อมที่จะแสดงออกสู่สาธารณะอย่างกล้าหาญ

 

หลายครั้งที่พวกเขาถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะเข้าไม่ถึงสิทธิ และสวัสดิการของรัฐซึ่งเปรียบเสมือนเค้กก้อนใหญ่ที่ต้องตัดแบ่งให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งส่วนมากมักจะมาพร้อมเงื่อนไขต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น สัญชาติ หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน รัฐสวัสดิการที่ควรได้ถูกฉกชิงไปเพราะว่าเขาแค่แสดงออกไม่เหมือนพวกเราตามบรรทัดฐานของสัมคมแค่นั้นเองเหรอ? ในฐานะที่เราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน แค่นี้ก็น่าเพียงพอแล้วไหมที่จะเป็นมาตรฐานชี้วัดศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของทุกคน

 

“คุณคิดว่าความเป็นชาติพันธุ์ส่งผลต่ออะไรบ้างในชีวิตประจำวันของเรา?”

 

คำถามเปิดประเด็นการสนทนา Youth Dialogue ครั้งที่ 1 ของวงเยาวชนชาติพันธุ์ที่ Youth Co: Lab ได้รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงมุมมองและปัญหาที่แต่คนละพบเจอได้อย่างน่าสนใจ 

 

 

อยู่อย่างไม่มั่นใจ อยู่อย่างคนไร้สัญชาติ

ประเด็นหลักที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยกขึ้นมาในการเสวนาครั้งนี้ คือเรื่อง ‘สัญชาติ’ ซึ่งถือเป็นปัญหาร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ชาติ – ตัวแทนจากกลุ่มคนไทใหญ่เปิดประเด็นว่าสัญชาติส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าไปติดต่อในหน่วยงานราชการเพราะถูกเลือกปฏิบัติมาตลอด พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเมืองชั้น 3 ของประเทศที่ตะโกนเท่าไหร่ก็ไม่มีใครได้ยิน ในขณะที่การทำเรื่องขอสัญชาติก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ตั้งแต่เรื่องการเดินทางจากในพื้นที่ตัวเองเข้าไปที่หน่วยงาน และเอกสารต่างๆ ที่มีไม่ครบถ้วน หลายคนตัดปัญหาด้วยการให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยซึ่งตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่นเดียวกับ ศิริ – ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ให้รายละเอียดเพิ่มว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาตามสภาพสังคม รัฐไม่เข้าใจตรงนี้ และมองว่านี่คือการไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

 

ปัญหาทับซ้อนในพื้นที่ เด็ก ผู้หญิง และกลุ่ม LGBTQ+ ยังไม่ได้ไปต่อ

ในความชายขอบก็ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ถูกทิ้งให้อยู่ไกลออกไปอีก ศิริเล่าว่าก่อนโควิดจะมาได้ทำวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก พบว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากเพราะไม่ได้มีสถานะผู้นำครอบครัว และยังต้องพึ่งพิงทรัพยากรต่างๆ ที่ผู้ชายเป็นคนหามา ปัญหาหลักที่ศิริเจอมีอยู่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) ผู้หญิง และ LGBTQ+ มีอำนาจในพื้นที่น้อยมาก 2) ความรุนแรงทางเพศ และ 3) ความยากจนในท้องถิ่น แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะทำเกษตรกรรมเพื่อเก็บไว้เป็นอาหารในระยะยาว แต่สิ่งที่ศิริเจอคือความอดอยาก ผู้หญิงที่ให้ข้อมูลคนหนึ่งบอกว่าข้าวสารที่มีเป็นมื้อสุดท้ายแล้ว ไม่รู้ว่าต่อจากนี้จะเอาที่ไหนกิน

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการศึกษา เด็กตั้งแต่อายุประมาณ 5 ขวบต้องหาทางออกไปเรียนนอกชุมชนตัวเอง ทำให้พวกเขาเสียโอกาสที่จะได้ซึมซับวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาอยู่ที่บ้านก็ไม่มีองค์ความรู้ในการทำงาน อาชีพที่มีในชุมชนก็ไม่ตอบโจทย์ ปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของเยาวชนกลุ่มนี้คือความไร้สัญชาติที่ทำให้พวกเขาไม่มีบัตรประชาชนใช้เป็นหลักฐานในการทำงานที่อื่น แม้ว่าจะอ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์กระทรวงศึกษาฯก็ตาม ชีวิตนอกชุมชนจึงเป็นเพียงการเปิดโลกกว้างให้เห็นความเป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุในชุมชนนั้นมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่พวกเขาขาดก็คือการสื่อสารภาษาไทย ผู้สูงวัยจำนวนมากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยอย่างยากลำบาก

 

 

นวัตกรรมไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่คือกระบวนการ

น้ำ – ตัวแทนจากกลุ่มชาวอาข่าที่ยอมรับว่าตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมากกว่าที่บ้าน น้ำมีประสบการณ์ในเรื่องอาหาร และพบว่าความหลากหลายของอาหารในชุมชนมีเยอะกว่าในเมืองมาก เธอจินตนาการว่าหากวันหนึ่งไม่มีคนอยู่ที่บ้านแล้ว คงน่าเสียดายที่ปล่อยให้ความหลากหลายเหล่านั้นหายไป น้ำจึงกลับไปที่บ้านแล้วสำรวจอาหารในชุมชนอย่างจริงจัง เธอชวนเยาวชนมาพูดคุย และต่อยอดด้วยการปลูกพืชดั้งเดิมเพื่อให้มีอาหารเพียงพอ และส่งต่อไปยังชุมชนภายนอกได้ด้วย

 

ชาติพบว่าเคส ‘น้องหม่อง 13 หมูป่า’ สามารถพัฒนาสถานะได้เร็วขึ้นเพราะสื่อให้ความสนใจ เขาจึงเริ่มทำสื่อ และเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างพลังและความมั่นใจให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงสื่อได้เร็วกว่า ให้เด็กๆ รู้ว่าขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีการเปิดเผยขั้นตอนต่างๆ อย่างโปร่งใส่ การเลือกปฏิบัติ และการคอร์รัปชั่นก็จะลดลง

 

สำหรับศิริ งานวิจัยของเธอคือความหวังของคนทั้งหมู่บ้าน ศิริเดินหน้าไปประชุมกับ อบต. และทำโครงการขึ้นมาจนได้รับทุนเพื่ออบรมผู้หญิงในชุมชนให้สามารถหารายได้จากการทอผ้า เธอเดินทางไปดูงานหลายแห่งจนกลับมาทำให้ชุมชนสามารถทอผ้าผืนแรกได้ในที่สุด ผู้หญิงเจ้าของผลงานรู้สึกดีใจมากที่ขายผ้าทอของตัวเองได้ เธอเล่าให้ศิริฟังว่าทั้งชีวิตไม่เคยซื้ออะไรด้วยเงินของตัวเองเลย อำนาจทางการเงินทำให้เธอรู้สึกมีคุณค่า และสมาชิกในกลุ่มทอผ้าก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าวิกฤตโควิดจะทำการขายผลงานของพวกเธอต้องหยุดชะงัก แต่ศิริเชื่อว่าจุดเริ่มต้นได้เกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะไปได้ดีแค่รอเวลาอีกหน่อย

 

รัฐสวัสดิการที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานหลายร้อยปี พูด-เขียนภาษาไทยได้ และบางคนก็เข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของตลาดแรงงาน แต่พวกเขากลับได้สวัสดิการน้อยที่สุด พวกเขาไม่เคยได้รับเงินเยียวยาใดๆ ที่รัฐบาลประกาศแม้แต่บาทเดียวในช่วงที่โลกแห่งการทำงานต้องหยุดชะงัก นั่นเพราะพวกเขาไม่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลทางการ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องวัคซีน หรือการป้องกันไวรัสเลย วิธีลงทุนของรัฐสมัยใหม่จึงต้องสร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีให้กับคนทั้งประเทศ เพื่อลดอัตราปัญหาต่างๆ และส่งเสริมให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในชีวิต เพื่อนำพลังตรงนี้ไปต่อยอด และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้สังคมได้เดินหน้าต่อไป

 

ยังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจอีกมากที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม LGBTQ+ ในชุมชนที่ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ เราแทบจะไม่เคยเห็นหรือไม่มีจินตนาการเรื่อง ‘LGBTQ+ ชาติพันธุ์’ ซึ่งเราควรจะมีพื้นที่ให้พวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

เพราะโลกของเราไม่ได้มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย

อีกวงสนทนาหนึ่งที่ UNDP ชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยด้วยอย่างน่าสนใจคือ ‘เยาวชนกับความหลากหลายทางเพศ’ เพราะโลกของเราไม่ได้มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย การเข้าใจความแตกต่างตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญของสังคมในอนาคต ยิ่งประชาชนมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศได้ และผลักให้คนในสังคมไปต่อในการสร้างอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง

 

ลดอคติ เพิ่มอัตลักษณ์ สร้างความเข้าใจ

หลายคนเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมาช้านาน แต่บางคำถามก็ยังตอบไม่ได้ เช่น ทำไมยังไม่มีกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกัน หรือความเท่าเทียมกันในโลกแห่งการทำงานมีจริงหรือไม่ มากไปกว่านั้นความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ยังมีจำกัด ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มองว่ากลุ่ม LGBTQ+ คือผู้หญิงที่อยากเป็นชาย หรือผู้ชายที่อยากเป็นหญิง เมื่อพูดถึงผู้หญิงข้ามเพศที่ชอบผู้หญิง ก็จะเกิดข้อสงสัยว่าสิ่งนี้เป็นไปได้จริงหรือ?

 

เค (นามสมมติ) – ตัวแทนจากภาคเหนือที่นิยามตัวเองว่าเป็นทรานส์เมน เขา (ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถใช้สรรพนามอื่นได้ เช่น เธอ พวกเขา คือใช้ชื่อแทนไปเลย ตามความต้องการของคนที่เราคุยด้วย) รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทอม แต่เป็นผู้ชาย หลายครั้งที่เคไปสถานที่ราชการแล้วโดนมองด้วยสายตาแปลกๆ เพราะอัตลักษณ์แสดงออกอยู่นั้นไม่ตรงตามคำนำหน้าในบัตรประชาชน เคจึงรู้สึกว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้าเราสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตัวเองได้

 

เอส (นามสมมติ) – ตัวแทนเยาวชนแรงงามข้ามชาติที่แชร์ให้ทุกคนฟังว่าสังคม LGBTQ+ ในเมืองไทยได้รับการยอมรับกว่าประเทศเมียนมาร์มาก แต่เขาก็ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวได้อยู่ดี เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านเสียใจเพราะอัตลักษณ์ของเขาไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานของเพศชายในสังคม

 

เยาวชนตัวแทน จากกลุ่ม Pink Monkey กล่าวว่า น้องมาจากครอบครัวที่ไม่มีปัญหาในอัตลักษณ์ที่เขาเป็น แต่กลับเจอการคุกคามทางเพศจากครูที่โรงเรียน น้องรู้สึกว่าการเป็น LGBTQ+ ไม่ได้แปลว่าจะชอบเรื่องเพศตลอดเวลา ครั้งหนึ่งครูเปิดคลิปที่เห็นอวัยวะเพศให้เขาดูและบอกว่าโตขึ้นไปเดี๋ยวเขาก็ชอบ ตัวแทนเยาวชนท่านนี้อยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

บี (นามสมมติ) – ตัวแทนจากกลุ่ม Free Enby Thailand ที่นิยามว่าเป็น Non-biary และอยากให้ทุกคนใช้สรรพนาม They ในการเรียกตัวเอง บิ๊วอยากเรียกร้องไม่ให้มีการระบุเพศตั้งแต่เกิดเพราะเชื่อว่าการเลือกนั้นเป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคน กรอบเรื่องเพศมักจะแบ่งแค่หญิงกับชายเท่านั้น พวกเขารู้สึกว่าโลกเรามันมีความหลากหลายกว่านี้

 

นี่เป็นเพียงเสียงจากตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งมีความสำคัญต่อไปในโลกอนาคต เมื่อมนุษย์เห็นคุณค่าและตัวตนของตัวเองมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินชีวิตในกรอบที่สังคมได้วางเอาไว้ ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิของคนอื่น ความหลากหลายตรงนี้ก็ควรได้รับการยอมรับจากทุกคน วงสนทนานี้ยังได้แยกห้องย่อยออกไปอีก 4 กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น

 

 

ห้องที่ 1: นอนไบนารี่และตัวตนที่มองไม่เห็นในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ถ้าเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางเพศเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นิยามของคำว่า Non-binary ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เป็นสำนึกทางเพศที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชายตามขนบ ไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม เป็นคำเรียกกว้างๆ ที่สามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายอย่าง เช่นการผสมผสานระหว่าง 2 เพศ (Androgyne) หรือเพศที่ไหลลื่นไปมา (Gender Fluid) รวมทั้งยังมีบางส่วนที่ยัง Q-Questioning หรือคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบว่าแท้จริงแล้วเรามีความสุขกับการเป็นแบบไหนที่สุด เช่น ถ้าเป็นทอมแต่ไม่ห้าว แต่งหน้า และชอบผู้ชายด้วย เรายังเป็นทอมอยู่หรือไม่ คำตอบที่กว้างขวาง และเข้าใจทุกคนมากที่สุดก็คือ “เราเป็นอะไรก็ได้” นอกจากนี้ Non-Binaryยังเป็นการมาถึงของการสั่นคลอนระบบสองเพศ ไม่ต้องอยู่ในบรรทัดฐานเดิมตามระบบที่ระบุไว้ เช่น กะเทยไม่จำเป็นต้องสวยตามคตินิยมที่สังคมสร้างไว้ แค่รู้สึกภูมิใจในคุณค่าของตัวเองก็พอแล้ว ผู้ที่สามารถสร้างความเป็นธรรม และความเท่าเทียมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้คือรัฐ เมื่อกฎหมายเข้าใจ ยอมรับ และไม่เลือกปฏิบัติต่อทุกอัตลักษณ์ ความหลากหลายก็จะเบ่งบานในสังคมนี้ได้อย่างเต็มที่

 

ห้องที่ 2: สุขภาพจิต ตัวตน การยอมรับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ทำไมการเป็น LGBTQ+ ต้องมีเงื่อนไขในการทดสอบความเป็นมนุษย์มากกว่าคนอื่น” คำถามอันทรงพลังที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในห้องนี้พูดถึงเพื่อเขย่าทัศนคติของคนในสังคม สำหรับหลายคน ครอบครัวไม่ใช่ที่ปลอดภัยในเรื่องเพศ บริบทสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในครอบครัวชาวจีน และมุสลิมมักคาดหวังกับลูกชายว่าควรเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งบ้าน เมื่อไหร่ก็ตามที่ความคาดหวังนั้นพังทลาย ความเครียดและแรงกดดันของสมาชิกในครอบครัวก็จะคืบคลานเข้ามาปะทะกันอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดการบังคับ การใช้กำลัง และส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ 

 

สมาชิกคนหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์ของเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นทอม เขาเรียนดี ทำงานดี ครอบครัวเหมือนจะภูมิใจในตัวเขามาก แต่พอถึงวันแต่งงานกลับไม่ขอไปร่วมพิธีด้วยเพราะไม่สบายใจ คำถามก็คือทำทุกอย่างดีแล้วยังไม่ใช่คำตอบอีกหรือ ทำไมความคาดหวังถึงมีมากไม่รู้จบ เมื่อเยาวชนเติมเต็มความสุขคนของคนอื่น แล้วใครล่ะคือคนที่จะมาเข้าใจพวกเขาบ้าง

 

ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ต้องเข้าใจเรื่องความหลากหลายของอัตลักษณ์ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ให้สิทธิความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องกดดันตัวเองให้มีความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ตนเอง ครอบครัวต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำความเข้าใจ และเมตตาตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

ห้องที่ 3: เยาวชนหลากหลายทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

“การเรียกร้องเพื่อให้มีการสมรสเท่าเทียม ต้องควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน” ส่วนหนึ่งจากคำพูดของ ปอ (นามสมมติ) ตัวแทนกลุ่ม Young Pride Club เจ้าของป้าย ‘ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย’ ที่โด่งดังในโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมา ในสังคมที่ทุกเสียงยังไม่ได้ถูกรับฟังอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังโดนกีดกันออกไปจากวงสนทนาที่คนอื่นเชื่อว่ามีเรื่องสำคัญกว่าให้ต้องคุย ปาหนันบอกว่า การทำงานเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในยุคที่ทหารมีอำนาจนั้นเป็นไปไม่ได้เลย สังคมทหารมีแนวคิดชายเป็นใหญ่สูงมาก มีการกดทับเพศอื่นๆ การทำงานเรียกร้องในยุค คสช. จึงไม่เป็น ‘LGBTIQ+ Friendly’ จึงเข้าใจว่าการทำงานเรียกร้องทั้ง 2 เรื่องต้องทำไปพร้อมๆ กัน การลุกขึ้นมาเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาของเธอถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐจนโดนแจ้งความจับในมาตรา 116 ซึ่งได้รับผลกระทบทางจิตใจอยู่พอสมควร แต่กลายเป็นว่าเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ภายหลังที่โดนแจ้งความ ปาหนันมีโอกาสได้ไปพูดในหลายงาน เมื่อมีคนปรบมือให้ เธอก็รู้สึกได้รับการยอมรับ แล้วก็ปลดล็อคจิตใจให้กลับมาทำงานได้

 

หากมองภาพกว้างของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมในครั้งนี้ ขบวนการความหลากหลายทางเพศนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บุคคลชายขอบได้มีพื้นที่ให้ออกมาเรียกร้องในแนวทางของตัวเอง เพราะเมืองไทยยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่รอได้รับแสงไฟให้มองเห็น

 

กลุ่มที่ 4: ความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา

โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งควรจะปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนทั้งทางกาย และทางใจ แต่กลายเป็นว่าบุคลากรทางการศึกษาหลายคนไม่เข้าใจประเด็นนี้ และผลิตซ้ำอคติทางเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นภาระของนักเรียนที่ต้องรับมือ และก้าวข้ามมันไปให้ได้ บรรยากาศในห้องเรียน เช่น การมองกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องตลก หรือสร้างแรงผลักดันแบบผิดๆ เช่น “เป็นตุ๊ดต้องตั้งใจเรียน” ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอื่น ครูบางคนคาดหวังหางเสียงตามเพศสภาพของนักเรียน เช่น ถ้าตอนเช็คชื่อแล้วเด็กนักเรียนชายพูดว่า “ค่ะ” ก็จะตั้งคำถามกดดัน และบังคับให้พูด “ครับ” ในที่สุด พูดให้เห็นภาพคือหลายครั้งครูเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างบาดแผลแก่เด็กก่อนที่พวกเขาจะออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก และเมื่อครูทำผิดก็จะมีคนคอยสนับสนุนครูผู้นั้นด้วย 

 

ข้อเสนอแนะที่ทุกคนได้ช่วยกันแชร์จากกลุ่มนี้คือ สถานศึกษามีหน้าที่สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ พร้อมส่งเสริมให้ทุดคนเรียนรู้การปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม พวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ต้องเป็นคนที่ปกป้องเด็ก และไม่ควรยอมให้ใครละเมิดสิทธิลูกตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือไม่อยากให้กลุ่ม LGBTQ+ รังแกหรือเกลียดกันเอง

 

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของความหลากหลายที่ทุกคนควรได้รับรู้ อย่าเอากรอบของเพศสรีระมาเป็นไม้บรรทัดในการเซ็ตมาตรฐานทางสังคม ผู้ชายทุกคนไม่ได้ชอบสีฟ้า และการเตะบอล ผู้หญิงทุกคนไม่ได้ชอบสีผมพู และการแต่งหน้า ความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศมีได้ไม่รู้จบและลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่ทุกคนเข้าใจตรงนี้ เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ และไว้วางใจต่อกันและกันมากขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างก็เป็นคนชายขอบ และในความเป็นชายขอบก็อาจมีชายขอบอีก คนชาติพันธุ์หลายคนก็เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และต้องพบเจอกับอุปสรรคขวากหนามทั้งในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม แต่ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ก็แก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยทั้งปัจเจกและรัฐ รัฐเองต้องสนับสนุนความมั่นใจในตัวเอง (Self Confidence) และการรับรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเอง (Self Esteem) ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในตัวตนของประชาชนทุกคน 

 

เมื่อพวกเขายืนหลังตรงและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง การสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ จะหลั่งไหลมาอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะจะไม่มีใครเป็นผู้พิพากษาตัดสินความถูกผิดในบรรทัดฐานเดิมอีกต่อไปแล้ว กลุ่มเปราะบางจะกลายเป็น ‘คนธรรมดา’ ที่มีศักดิ์ศรี และความเข้มแข็งไม่น้อยไปกว่าคนอื่น พร้อมแต่งแต้มความหลากหลายให้สังคมของเราอย่างที่ควรจะเป็น

 

งานครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือกับองค์กรพาร์ทเนอร์ ทาง UNDP ต้องขอขอบคุณสมาคม IMPECT และ องค์กร Plan International องค์กรพาร์ทเนอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดวงสนทนากับน้อง ๆ เยาวชนชาติพันธุ์ และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศมา ณ ที่นี้ด้วย

 

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 16/08/2021
  • by: UNDP

สุดปัง! พาชมความคืบหน้า ‘พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำกรุงเทพมหานคร’ เปิดให้ชมอีกไม่เกิน 20 ปี

 

ในวันที่ฝนตกแรงเหมือนโกรธโลก คิม กีแท็ก พ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว วิ่งกระหืดกระหอบกลับบ้านพร้อมลูกของเขา คิม กีอู และชุงซุก บ้านใต้ดินที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคฤหาสน์ แต่เป็นชั้นเดียวที่สมาชิกทั้ง 4 อยู่ร่วมกันโดยได้อากาศและแสงสว่างจากช่องลมที่อยู่เสมอฟุตบาธพอดิบพอดี ฝนกลายเป็นมวลน้ำก้อนมหึมา กดของไร้ค่าในบ้านให้จมอยู่ใต้บาดาล จะมีแต่เพียงสิ่งระลึกทางใจที่พวกเขาทั้ง 3 พอจะหยิบออกมาดูต่างหน้าได้ เป็นอีกคืนฝันร้ายที่ครอบครัวกีแท็กไม่มีวันลืม พวกเขาจบคืนด้วยการนอนคุดคู้อยู่ในยิมเนสเซียมซึ่งใช้เป็นศูนย์พักพิง และใส่เสื้อผ้ามือสองเกรดของบริจาคที่มีกลิ่นเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ

 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ถ้าเคยดู และยังจำกันได้) ที่สะท้อนถึงความยากลำบากของคนชายขอบในสังคม สมาชิกทุกคนในครอบครัวนี้เป็นคนฉลาด และมีความสามารถ พวกเขาแค่จนจึงเข้าไม่ถึงโอกาส และปกป้องสวัสดิภาพตัวเองในยามวิกฤติไม่ได้ ขณะที่ประเทศเจริญแล้วอย่างเกาหลีใต้พูดถึงความเหลี่ยมล้ำนี้อย่างตรงไปตรงมา เชื่อไหมว่าประเทศไทยมีคนจนลงทุกครั้งที่อุทกภัยไหลบ่ามาหาพวกเขา คิดว่าทุกคนมีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมเหรอ คิดว่าทุกครอบครัวมีบ้านสำรองในต่างจังหวัดไว้อพยพไปอยู่หรือเปล่า นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องช่วยกันตระหนักว่าในภัยธรรมชาติอย่างนี้ มีใครถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลังหรือเปล่า

 

กรุงเทพเมืองอควาเรียม

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงน่ารักตะมุตะมิ เลียนแบบอยุธยาทั้งผังเมือง ศิลปะ และฤดูน้ำหลากที่ใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำสงคราม หลายครั้งที่อยุธยารอดพ้นจากการรุกรานเพราะข้าศึกไม่สามารถตั้งค่ายรอจนกว่าน้ำจะลดได้ เมืองหลวงแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออก มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านกลางแผ่นดิน เต็มไปด้วยคูคลอง และในอดีตสัญจรกันด้วยเรือ อาชีพที่หลักของคนบางกอกสมัยก่อนคือเกษตรกรที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่ตามรอบนอกของเมืองในปัจจุบัน ให้ภาพเพียงเท่านี้ เด็กๆ ชั้นประถมก็น่าจะตอบได้แล้วว่าเราอยู่คู่กับน้ำมาเนิ่นนาน กรุงเทพเป็นมิตรกับระดับน้ำทะเลมากเพราะอยู่สูงขึ้นมาเพียง 1.5 เมตร ฤดูน้ำหลากจึงเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติที่ทุกคนควรจะรับรู้อยู่แล้ว

 

แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือเมืองเทพสร้างอันเต็มไปด้วยการกระจุกตัวของความเจริญ และศูนย์กลางการปกครองที่ไม่ยอมกระจายอำนาจสักทีแห่งนี้กำลังจะจมน้ำในอีก 20 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งน้ำเหนือที่ไหลลงมา สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ฝนตกหนักมากกว่าเดิม และน้ำทะเลหนุนสูง พื้นที่บางแห่งในกรุงเทพฯ ตอนนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น โซนสุขุมวิท และโซนรามคำแหง เพราะมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง พูดได้ว่าพื้นดินทรุดลงเรื่อยๆ ในทุกคืนที่เราหลับอยู่บนเตียง อีกปัจจัยหนึ่งที่การันตีว่ายังไงก็จมแน่นอนคือผังเมือง หากฝนตกหนักสัก 30 นาที หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะเจอกับระดับน้ำท่วมขังที่สูงไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต การจราจรเป็นอัมพาตจนชินตา สิ่งปฏิกูลที่เคยอยู่ในท่อระบายน้ำไหลย้อนกลับขึ้นมาปะปนกับวิถีชีวิตคนกรุงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิชาการคาดคะเนว่าระดับน้ำที่จะท่วมกรุงเทพฯ ตลอดไปในอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูงประมาณ 3 เมตร พูดให้เห็นภาพคือท่วมเกือบถึงหลังคาบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น

 

ถึงตอนนั้นใครหนีทันก็หนีไป เพราะมีคนอีกมากคงจะหนีไม่ได้ และหนีไม่ทัน

 

ใครหนอเผชิญกับทุกปัญหา เสียน้ำตาให้ทุกวิกฤติ

ในพื้นที่สุดเจริญอย่างกรุงเทพฯ ให้ทายว่าหลังฝนตกหนักประมาณ 30 นาที ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก เฉลย ก็กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไงล่ะ! ค่ารถไฟฟ้าไปกลับระหว่างบ้านกับสถานที่ทำงาน อาจคิดเป็นร้อยละ 50 จากรายได้ของคนหนึ่งเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงมีทางเลือกไม่มากในการเดินทาง ลองคิดถึงภาพฟุตบาธแฉะๆ ชุดทำงานฉ่ำๆ จากน้ำฝน พร้อมกลิ่นอับของเสื้อที่ตากไม่แห้งสักที ชีวิตประจำวันที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้ไหมว่าความจนมันมีราคาจ่ายที่แพงกว่า เมื่อคิดทุกอย่างเป็นมูลค่าออกมา

 

หากยังจำกันได้ วิกฤติการณ์น้ำท่วมปี 2554 คือภัยพิบัติที่ร้ายแรงสุดในรอบ 50 ปีเมื่อคิดจากมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในระหว่างช่องว่างของตัวเลขที่มองไม่เห็น มีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ คนจนเมืองไม่ได้รับการมองเห็นเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ขณะที่ผู้ได้รับความเสียหายเริ่มนำเอกสารจำพวกทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนไปยืนยันเพื่อรับเงินชดเชย คนกลุ่มหนึ่งในชุมชนแออัดไม่รู้ว่าจะไปหาเอกสารนี้จากไหน พวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับความเสียหาย และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการเยียวยา พวกเขาไม่มีกำลังที่จะเรียกร้องใดๆ ได้ ไม่มีแม้กระทั่งชั้น 2 ของบ้านไว้ขนของหนีน้ำขึ้นไป ทุกอย่างหายวับไปกับตา ทั้งสมบัติติดตัว งานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว รวมทั้งรายได้อันน้อยนิด

 

แม้จะมีประกาศจากส่วนกลางเป็นระยะถึงมวลน้ำที่กำลังเดินทางลงมาจากภาคเหนือ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของคนจนเมืองที่จะขยับขยายไปที่อื่นได้ทันที เพราะทุกการเคลื่อนไหวมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หลายพื้นที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการต้องดูแล พวกเขาไม่ได้มีกำลังมากพอซื้อเครื่องป้องกัน หรือแม้แต่จะแก้ไขงานง่ายๆ อย่างการย้ายปลั๊กไฟให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ตัวเลขจากการสำรวจพบว่าความเสียหายของทรัพย์สินหลังน้ำท่วมอยู่ที่ 52,500 บาทต่อครอบครัว สูญเสียรายได้ครัวเรือนละ 45,820 บาท และมีหนี้เพิ่มขึ้น 73,423 บาท ตัวเลขที่เห็นนี้ยังไม่ได้คำนวณถึงผลกระทบทางด้านสังคม ทั้งความเครียด สัตว์เลี้ยงสุดรักหายหรือตาย และการทะเลาะกันในครอบครัวจากกรณีน้ำท่วม

 

ในประเทศที่คนจนซวยเสมอ ถ้าพวกเขามีเงิน ทุกอย่างก็คงจะง่ายกว่านี้

 

 

เอาฟิวเจอร์บอร์ดทำข้างฝา ส่วนหลังคามุงด้วยลังลูกฟูก

เราเชื่อกันว่า 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์คือที่อยู่อาศัย แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านที่มีไม่น้อยกว่า 3,000 คนในเมืองหลวงแห่งนี้ รัฐและคนทั่วไปมักมองว่าพวกเขาคือผู้สร้างปัญหา และตัวอันตรายของสังคม ทั้งที่จริงแล้วเกือบครึ่งของคนไร้บ้านเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน โดยเฉพาะจากคนในครอบครัวตัวเองซึ่งเป็นสาเหตุให้พวกเขาตัดสินใจออกมาจากพื้นที่เดิมนั้น

 

อุปกรณ์ป้องกันฝนอันเปราะบางไม่สามารถต้านทานพลังธรรมชาติได้ในที่สุด ไม่ว่าจะอากาศร้อน ปัญหาหมอกควัน หรือน้ำท่วมฉับพลัน คนไร้บ้านเป็นอีกกลุ่มที่ปะทะกับภัยธรรมชาติเหล่านี้เต็มตัวแบบไม่มีอะไรมากั้นแม้แต่นิดเดียว ชีวิตแบบกลับไม่ได้ไปไม่ถึงที่น้อยคนจะเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญรายวัน เพราะยังมีมายาคติพรางตาให้ความเห็นอกเห็นใจนั้นพร่ามัว สิ่งที่คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะต้องการนอกจากความเข้าใจแล้ว คือรัฐสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้ในฐานะที่พวกเขาเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงาน อาหาร การเข้าถึงสาธารณสุข หรือสถานที่พักพิงที่มีคุณภาพ ทุกอย่างล้วนเสกสรรค์ขึ้นมาได้หากผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้

 

ธรรมชาติอาจคาดเดาไม่ได้ แต่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังคือสิ่งที่คนไร้บ้านคาดหวังได้

 

ความจริงใจคือคุณสมบัติของรัฐบาลที่ดี

ค.ศ. 1991 น้ำท่วมใหญ่กรุงโตเกียวในรอบ 30 ปี แผ่รัศมีออกไปไกลกว่า 100 กิโลเมตร สร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาล ปีถัดไปพวกเขาลงมือก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ใต้ดินเอาไว้รับน้ำเวลาฝนตกหนัก ใช้เวลาสร้าง เกือบ 20 ปี หมดเงินไปกว่าแสนล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้คืออุโมงค์ที่สูง 70 เมตร ยาว 6.2 กิโล ระบายน้ำได้ 200 ตันต่อวินาที ไม่ว่านี่จะเป็นไอเดียของผู้ว่าโตเกียว หรือรัฐบาล ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์นั้นก็ตกถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนในเมืองรู้สึกใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ถึงแม้จะต้องเผชิญชีวิตในวันที่ฝนตกหนักมากก็ตาม

 

หลังเจอน้ำท่วมใหญ่ในปี 1953 ประเทศเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจลงทุนสร้าง ‘Delta Project’ โครงการระดับชาติที่ทุ่มเงินมหาศาลซึ่งคิดเป็น 0.84 ของจีดีพีเพื่อนวัตกรรมนี้ นี่คือระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อน้ำไม่ท่วมอีกต่อไป คนในประเทศก็ดำเนินชีวิตได้ปกติ เนเธอร์แลนด์ส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง และเสียภาษีให้กับรัฐได้สม่ำเสมอ เป็นการลงทุนอันชาญฉลาดของรัฐที่มีวิสัยทัศน์ และประสิทธิภาพสำหรับการแก้ปัญหา เป็นความโชคดีของคนเธอร์แลนด์

 

นวัตกรรม และประดิษฐกรรมที่ดีต้องสามารถลดความเหลื่มล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงของคนในประเทศได้อย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งสะท้อนความจริงใจในการบริหารงานของรัฐบาลว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ข้างหลัง และออกแบบนโยบายโดยมีความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ว่าไอเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างการย้ายเมืองหลวง การวางผังเมืองใหม่ หรือการสร้างสิ่งประดิษฐ์เก็บกักน้ำสุดอลังการ หากรัฐไม่ได้ตั้งใจที่จำทำเพื่อประโยชน์ของทุกคนแล้ว ปัญหา และความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ทุกปัญหาก็เหมือนการวิ่งแข่ง หากเราเตรียมตัวไม่ดีก็ต้องยอมรับกับความพ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึงทุกคนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ทุกคนเห็นแล้วว่าพวกเราพ่ายแพ้ต่อโควิดอย่างราบคาบจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ หากรัฐยังทำงานแบบมะงุมมะงาหราไร้ทิศทาง ตักตวงแต่ผลประโยชน์ส่วนตนไปวันๆ

 

กรุงเทพก็จะจม เราทุกคนจะตาย หรือไม่ก็ต้องแย่งกันหนีตายเหมือนในหนังซอมบี้ อยากให้ทุกคนเตรียมตัว

 

Source:

https://reliefweb.int/report/thailand/bangkok-post-2011-floods-how-about-poor

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/socku/article/view/123532/93847

https://www.gfdrr.org/sites/default/files/publication/Thai_Flood_2011_2.pdf

https://news.thaipbs.or.th/content/296856

https://urbancreature.co/homeless-in-the-city/

https://www.dplusguide.com/2018/water-discharge-tunnel-saitama-kanto-japan/

https://urbancreature.co/flood-netherlands/

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/socialresearchjournal/article/download/92742/91680/ 

 

  • Published Date: 12/08/2021
  • by: UNDP

เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าของเยาวชนชาติพันธุ์ ณ วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021

 

ณ วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021

จำนวนหนึ่งในสามของประชากรทั่วโลกในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศไว้ว่าจะบรรลุให้ได้ในปี 2030 หรือ อีกเพียงแค่ประมาณ 10 ปีนับจากนี้ นั้นก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าเราจะไม่นับรวมกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอนาคต

และถึงแม้ว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ จะถือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นแล้วจริงหรือไม่? อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ เพราะแก่นของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผลลัพธ์อย่างเดียวว่าเราพัฒนา “อะไร” แต่รวมไปถึงว่าเราจะพัฒนา “อย่างไร” สิ่งสำคัญมากกว่าคือเราควรตั้งคำถามกับกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นว่าสร้างการมีส่วนร่วม และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนหรือไม่? หรือการพัฒนาของเราจะนำไปสู่การทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังหรือเปล่า? “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงเป็นหัวใจที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

แล้วใครกันบ้างล่ะ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? เราอาจจะนึกถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงโครงการพื้นฐาน นึกไปถึงคนไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการขึ้นพื้นฐาน นึกถึงผู้พิการที่เข้าไม่ถึงการเดินทาง โอกาสทางการศึกษาและอุปกรณ์หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม นึกถึงคนจนเมืองที่เข้าไม่โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกกีดกันในโอกาสการรับบทบาทบางอย่างในสังคม ฯลฯ อะไรที่ทำให้เขาถูกหลงลืมในการพัฒนา?

ปัจจัยพื้นฐานของการถูกกีดกันมักมาจากตัวตนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ร่างกาย ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม แต่จะว่าไปแล้วทุกคนก็ย่อมมีอัตลักษณ์เหล่านี้อยู่ในตัว เพียงแต่เราเคยนึกถึงปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ ว่าปัจจัยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง?

กิจกรรม Online Youth Dialogue on Leave No One Behind เป็นกิจกรรมวงสนทนาเยาวชน 4 วงที่ชวนเยาวชนมารู้จักกับ “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกสังคมหลงลืมไว้ข้างหลังด้วยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ วงสนทนากับเยาวชนจากชุมชนชายฝั่ง วงสนทนากับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และวงสนทนากับเยาวชนพิการ โดยเบื้องหลังของกิจกรรมนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าการสร้างพื้นที่พูดคุย เพื่อทำความรู้จัก เป็นเพื่อนกัน และได้มีพื้นที่ในการถามคำถามเพื่อเข้าใจถึงวิถีชีวิต ตัวตน และความต้องการที่แท้จริง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การสร้างสังคมที่เข้าถึงทุกคน เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021 เราจึงได้นำส่วนหนึ่งของ “วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์” มาเผยแพร่ เพื่อชวนทุกคนมารับรู้ “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชาติพันธุ์ไปด้วยกัน

 

1. เมื่อชาติพันธุ์มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสัญชาติ จึงนำไปสู่อุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ

เมื่อชาติพันธุ์ไม่เป็นเพียงชาติพันธุ์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับอีกปัจจัยหนึ่งคือสัญชาติ เยาวชนชนเผ่าหลาย ๆ คนมักถูกตั้งคำถามในการได้รับสัญชาติ เนื่องจากชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่าง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่มีความห่างไกล ทำให้หลาย ๆ คนไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติซึ่งใช้เวลาหลายปี ทำให้เยาวชนชนเผ่าหลายคนต้องอยู่ในสถานะ “บุคคลไร้สัญชาติ” ซึ่งสถานะนี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอีกหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน ข้อจำกัดในการเดินทาง ในวัยของการคนหาตัวตน เรียนรู้โลกกว้าง แต่พวกเขากลับถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่ได้เพียงในจังหวัดที่อยู่อาศัย รวมไปถึงโอกาสในการศึกษาและอาชีพ เมื่อไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่อาจเลือกประกอบอาชีพบางสายงานได้ ถึงแม้จะได้เรียนในสายนั้นก็ตามเยาวชนไร้สัญชาติต้องเผชิญกับการไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ และไม่มีโอกาสที่จะออกแบบชีวิตที่ตนเองต้องการได้อย่างเต็มที่ แม้จะอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด

นอกจากนี้การไม่มีสัญชาติยังนำไปสู่ปัญหายิบย่อย ทำให้เยาวชนชาติพันธุ์ที่ต้องปรับตัวในการเข้าสังคม เช่น บางคนไม่มีนามสกุล และต้องตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ ว่าทำไมถึงไม่มีนามสกุล ยังไม่รวมไปถึงการถูกเพื่อนล้อ เกิดเป็นความรู้สึกแตกต่าง และถูกด้อยค่าจากการไม่มีสัญชาติ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความรู้สึกของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

นี่คือเรื่องราวที่ “สุชาติ” เยาวชนไทใหญ่บอกเล่าให้กับเพื่อน ๆ ในวงสนทนา แม้วันนี้เขาจะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะเข้ากระบวนการขอสัญชาติมาแล้วเป็นเวลากว่าสิบปี และยังมีเพื่อนพี่น้องของเขาอีกหลายคนที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่สุชาติก็ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออก ด้วยการสร้างเพจ “ตี่ตาง” เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลและช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และกระบวนการขอสัญชาติ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งคนในสังคมจะรับรู้และเข้าใจประสบการณ์ที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญ และมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ เพื่อให้ทุกคนในไทยเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียมมากขึ้น

 

2. เยาวชนชนเผ่ากับวิถีชีวิตแบบ Hybrid

หากพูดถึงชนเผ่า เราอาจจะมีภาพจำของการอยู่อาศัยในชุมชน และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เยาวชนจำนวนมากไม่ได้อยู่อาศัยที่ชุมชนอีกต่อไป นี่เป็นคำบอกเล่าจาก “น้ำ” เยาวชนอาข่าที่บอกกับวงสนทนา น้ำเล่าให้ฟังว่า เธอจำวัยเด็กของเธอได้ที่อาศัยอยู่กับแม่เฒ่าและจำได้ถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชนที่ถูกเอามารังสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แต่เมื่อโตขึ้น เยาวชนชนเผ่าต้องออกจากหมู่บ้านของตนเองเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ เมื่อเรียนจบและได้กลับมาที่หมู่บ้านของตนเอง ก็ค้นพบว่าวิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่นนั้นหายไปมาก อีกทั้งความเป็นเยาวชนชนเผ่าที่ไปเติบโตในเมือง ก็เป็นความหลากหลายของประสบการณ์ในตัวเองที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของตัวเองในฐานะเยาวชนชนเผ่าเช่นกัน แต่ด้วยความทรงจำวัยเด็กของน้ำที่ผูกพันกับทรัพยากรในท้องถิ่น น้ำจึงตัดสินใจทำกิจกรรม Seed Journey กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชวนบรรดาเชฟมาเรียนรู้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชน เพื่อรณรงค์ให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน รวมไปถึงเป็นการรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ จากทรัพยากรในชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรท้องถิ่น

หากเราพูดถึงเยาวชนชนเผ่าในทุกวันนี้ จึงอาจจะไม่ใช่ภาพจำของเยาวชนที่เติบโตมาในชุมชนแบบแยกขาดจากเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเยาวชนที่มีส่วนผสมของการรับรู้รากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและการซึมซับองค์ความรู้ มุมมองและเทคโนโลยีจากประสบการณ์ที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งบางครั้งอาจจะนำไปสู่การต้องทบทวนความเป็นตัวตน แต่ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การประยุกต์และทำให้เกิดการวิวัฒน์ต่อยอดภูมิปัญญาของชนเผ่าให้คงอยู่ต่อไปในบริบทปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน

 

3. กะเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่อาจจะไม่เท่ากับการทำไร่หมุนเวียนและการทอผ้าเสมอไป

หากพูดถึงชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” เราอาจจะนึกถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับของคนกับป่า ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่หมุนเวียน มีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปี หรือการทอผ้าด้วยมือที่เป็นเอกลักษณ์จากทรัพยากรในชุมชน แต่ “ศิริ” เยาวชนลาวอีสานที่เติบโตมากับครอบครัวกะเหรี่ยงได้มาบอกเล่าในวงสนทนาว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่แม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นชุมชนของพี่ ๆ น้อง ๆ ของเธอนั้นเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ต้องประสบกับภัยสงครามบริเวณชายแดน ต้องอพยพกันหลายครั้งหลายครา ทำให้ไม่สามารถปักหลักในการทำไร่หมุ่นเวียนดั่งภาพจำที่เรามักคุ้นชินได้ อีกทั้งภูมิประเทศที่เป็นขั้นบันได ก็ไม่เอื้อต่อการทำไร่หมุนเวียน และเมื่อต้องหนีภัยสงครามกันตลอดเวลา ก็ทำให้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาเลือนหายไป และทดแทนเข้ามาด้วยปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการศึกษา ฯลฯ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วถูกขยายขึ้นไปอีก ศิริและเพื่อนๆจึงทำโครงการผ้าทอสีรุ้ง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้การออกแบบด้วยสีรุ้งยังเป็นการสร้างการตระหนักเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในการทำความเข้าใจอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการทำผ้าทอของผู้หญิงแม่สามแลบนั้นก็ไม่ได้ง่าย เนื่องจากผู้หญิงในชุมชนสูญเสียความรู้ในการทอผ้ามานานจากการย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนอาชีพ จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการเริ่มรื้อฟื้น โดยน้องศิริและเพื่อน ๆ ต้องเดินทางไปเรียนรู้วิธีการทอผ้าในชุมชนจังหวัดอื่น ๆ และกลับมาสอนผู้หญิงในชุมชน (ไม่สามารถพาผู้หญิงในชุมชนออกไปดูงานการทอผ้าได้ เพราะผู้หญิงในชุมชนไม่มีสัญชาติจึงทำให้การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นเรื่องยาก) แต่ผลผลิตผ้าทอสีรุ้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้หญิงในชุมชนมีรายได้ เป็นการหนุนอำนาจให้กับผู้หญิงในครอบครัวให้ทัดเทียมกับผู้ชายที่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเมื่อมีคนสนใจซื้อผ้าทอสีรุ้งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคมอีกด้วย

ความเป็นชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง

เรื่องราวเหล่านี้เป็นหนึ่งใน “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชนเผ่าที่ถูกนำมาเล่าในวงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ ทำให้เยาวชนอื่น ๆ ได้รู้จักกับวิถีชีวิตของเยาวชนในมุมที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ทุกคนยังได้ตั้งวงแลกเปลี่ยนกันถึง “อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์” ในตัวเอง ว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของแต่ละคนนั้นส่งผลต่อชีวิตประจำวันในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร การเดินทาง การศึกษา สิ่งที่ชอบ ความเชื่อ ความรัก ฯลฯ ซึ่งเราก็ได้เห็นความเป็นชาติพันธุ์ที่ทั้งส่งผลให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในความชอบ ความผูกพันกับวิถีชีวิตหรือการเข้าถึงโอกาส เราค้นพบว่า บางครั้งชาติพันธุ์ที่แตกต่างก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่แบ่งแยกเราจากกัน เราก็ยังมีอาหารบางชนิดที่ชอบเหมือน ๆ กัน มีความสนใจบางอย่างที่แชร์กันอยู่ หรือมีความฝันต่อสังคมที่มองเห็นร่วมกัน

“ความเป็นชาติพันธุ์” นั้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ถ้าเราตระหนักได้ว่าความเป็นชาติพันธุ์ก็เป็นเพียงอัตลักษณ์หนึ่งที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง หากเราตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เราได้รับจากชาติพันธุ์ของเรา เราอาจจะเห็นช่องว่างความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และหากเราเข้าใจว่าความหลากหลายของชาติพันธุ์นั้นเป็นเรื่องปกติในสังคม เราอาจจะมองหานวัตกรรมในการพัฒนาที่เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้นก็เป็นได้

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายได้ที่ www.you-me-we-us.com

Keywords: , ,
  • Published Date: 05/08/2021
  • by: UNDP

ขอโทษที่แม่ไม่เก่งเท่าคนอื่นเขา ค่าแรงแม่มีค่าเท่านมผงครึ่งกระป๋อง

 

“กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” วรรคเริ่มของเพลง ‘ชีวิตกสิกร’ ที่แต่งขึ้นมาเพื่อสดุดีอาชีพเกษตกร โดยเฉพาะชาวนาที่มีส่วนสำคัญในการผลิตอาหารให้คนในประเทศ และส่งออกไปขายในต่างประเทศ คำถามสำคัญก็คือ หากกสิกรมีความสำคัญขนาดนั้นจริง ทำไมอาชีพนี้ถึงยังมีรายได้น้อย ชาวนาหลายครอบครัวมีฐานะยากจน มีรายได้เฉลี่ย 210,139 บาทต่อปี หรือประมาณ 17,511 บาทต่อเดือน (ซึ่งรวมกับรายได้ที่มาจากอย่างอื่นแล้ว) เน้นว่าตัวเลขหมื่นกว่าบาทต่อเดือนนั้นเป็นรายได้ของคนทั้งครอบครัว นั่นหมายถึงหลายชีวิตต้องใช้จ่ายภายใต้รายรับที่จำกัด ชาวนาหลายคนจึงผันตัวเป็นผู้ใช้แรงงานเดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อหาเงินได้มากกว่านี้ เพื่อโอกาสที่มากกว่านี้

 

อาบเหงื่อต่างน้ำพร่ำอยู่กับงาน ขยันทุกวันด้วยความรู้ต่ำ 

28 มิถุนายน 2564 มีมติจาก ศบค. สั่งประกาศปิดแคมป์คนงานทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป แรงงานจำนวนมากรีบเดินทางกลับบ้านตัวเอง และมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ไม่มีเงิน โดนเจ้าหน้าที่ปิดล้อม หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ หากเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก็คงจะไม่น่ามีอะไรเป็นห่วงมากนักเพราะระบุไว้ชัดเจนว่านายจ้างต้องดูแลสวัสดิการลูกจ้างเป็นอย่างดี เช่น การจัดหาน้ำดื่มที่สะอาด หรือมียาไว้ให้เพียงพอ รวมกับการชดเชยต่างๆ ที่รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นที่มาของคำสั่งนี้ แรงงานที่อยู่ในแคมป์คงไม่เดือดร้อนอะไร แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรเพียงพอสักอย่างในหลายแคมป์แรงงาน พวกเขาขาดอาหาร ขาดน้ำ ผู้ติดเชื้อขาดการดูแล ทั้งนายจ้าง และรัฐเพิกเฉยต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไร เพราะไม่รู้จะเรียกร้องด้วยวิธีไหน หรือต้องติดต่อใคร ในเมื่อออกไปสู่โลกหลังรั้วสังกะสีไม่ได้

 


 อาบเหงื่อต่างน้ำพร่ำอยู่กับงาน ขยันทุกวันด้วยความรู้ต่ำ: ท่อนหนึ่งจากเพลง เพลงละครชีวิต ของ ไมค์ ภิรมย์พร นักร้องลูกทุ่งขวัญใจแรงงาน เนื้อหาในเพลงของเขามักเล่าเรื่องความยากลำบากของแรงงานที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง และให้กำลังใจแรงงานทุกคน เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ได้แก่ ยาใจคนจน ขายแรงแต่งนาง และละครชีวิต
ศบค.: ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541: https://www.labour.go.th/index.php/hm7/73-2562-01-04-06-01-50

 

หลังจากที่ชาวจีนโพ้นทะเลรับบทบาท ‘จับกัง’ ผู้ใช้แรงงานในเมืองหลวงมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนจำนวนไม่น้อยสามารถเลื่อนชนชั้นตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นกลาง และมีผู้ใช้แรงงานหน้าใหม่เข้ามาแทนที่ในนามของ ‘คนอีสาน’ ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองแบบชั่วคราวหลังสิ้นสุดฤดูการทำนา การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองหลวง ประกอบกับการจำกัดแรงงานต่างชาติในช่วงนั้น ทำให้หนุ่มสาวชาวอีสานขยับขยายตัวเองเข้ามาในเมืองเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (เขาเรียกกันเช่นนี้ แต่อันที่จริงจะงานอะไรก็ใช้ฝีมือทั้งนั้น) ทำงานหนักเพื่อแลกมากับเงินอันน้อยนิด และถูกกดทับความภาพจำที่ว่าเป็นคนบ้านนอก มีการศึกษาน้อย ไม่ค่อยพัฒนา ด้อยในทางวัฒนธรรม หลายทศวรรษที่ผู้ใช้แรงงานชาวอีสาน (หรือจากพื้นที่อื่นซึ่งอาจมีปัจจัยใกล้เคียงกัน) ต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการใช้ชีวิต กว่าจะค่อยๆ กลืนกับคนเมืองทั้งในเรื่องวัฒนธรรม และการสร้างภาพจำที่ดีขึ้น


ผู้ใช้แรงงานหน้าใหม่เข้ามาแทนที่ในนามของ ‘คนอีสาน’ ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองแบบชั่วคราว: https://www.silpa-mag.com/history/article_69898

‘รัฐสวัสดิการ’ จึงเป็นประเด็นที่สังคมนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง และพยายามทำความเข้าใจอย่างดีว่าคืออะไรกันแน่ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้หลายองค์กรจะมีสหภาพแรงงาน แต่ก็ดูจะไม่ได้ขับเคลื่อนสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ แม้กระทั่งค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือสิทธิการลาคลอดของผู้หญิง ก็ต้องต่อสู้มาถึงจะได้ แทนที่รัฐจะมองเห็นปัญหานี้ และมอบให้แบบไม่ต้องร้องขอ การแพร่ระบาดของโรคร้ายช่วยทำให้ภาพของประโยชน์แห่งรัฐสวัสดิการชัดเจนขึ้น เช่น หากรัฐนำเงินที่จะนำมาแจกไปซื้อวัคซีนสำหรับทุกคนในประเทศ ก็น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว และดียิ่งขึ้น คุ้มค่ากว่ารองรับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะดีขึ้น 

 

‘รัฐสวิสดิการ’ จึงเป็นคอนเซ็ปท์สำคัญที่มองว่าประชาชนทุกคนในประเทศควรได้รับสวัสดิการ และสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างดี เช่น การศึกษา การรักษาโรค การคมนาคม หรือความปลอดภัยในชีวิต สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพลเมือง และไม่ต้องลงทุนไปกับเรื่องเกินความจำเป็น เช่น ค่าเทอมที่แพงเพื่อแลกมากับการศึกษาที่ดี ประกันสุขภาพเพื่อแลกมากับโรงพยาบาลเอกชนที่ดูแลดีกว่า หรือรถยนต์ที่ซื้อมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอน และคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานของขนส่งมวลชน หากลองจินตนาการว่ารัฐสามารถดูแลประชาชนได้ถึงขั้นนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่คนต่างจังหวัดต้องอพยพเข้าเมืองเพื่อหารายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ คุณภาพชีวิตที่ดีขั้นพื้นฐานก็ได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีรายได้ หรือการศึกษามาเป็นเกณฑ์ชี้วัดแต่อย่างใด

 

 

เช่าห้องโทรมซุกนอนเพื่อลดทอนรายจ่าย จะเก็บเงินพันสักใบต้องใช้เวลาหลายเดือน 

ลองคิดในใจว่าค่าแรงของแรงงานหญิงต่างชาติในไซต์งานก่อสร้าง ที่ต้องทำงานวันละ 13-14 ชั่วโมง เธอควรจะได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่ คำตอบก็คือ 190-300 บาทต่อวัน นี่เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์ปกติก่อนการมาถึงของโควิด แรงงานหลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะอาจจะได้ค่าจ้างเยอะกว่าเมื่อเทียบกับงานแบบเดียวกันที่ประเทศต้นทาง คำถามก็คือด้วยค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมนี้ และไม่มีสวัสดิการใดๆ มารองรับ นี่คือสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับหรือไม่?


เช่าห้องโทรมซุกนอนเพื่อลดทอนรายจ่าย จะเก็บเงินพันสักใบต้องใช้เวลาหลายเดือน:ท่อนหนึ่งจากเพลง เขียนฝันไว้ข้างฝา ของ รัชนก ศรีไลพันธุ์ เนื้อหาเล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่ต้องจากบ้านมาทำงานในเมือง โดยมีแม่เป็นกำลังใจ และหวังว่าจะเก็บเงินเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตขอบครัวตัวเองให้ดีขึ้น https://www.tcijthai.com/news/2018/10/scoop/8062

 

ตัวเลขขององค์กรแรงงานการระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติ 772,720 คน ซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมากถึง 557,724 คน ยังไม่รวมแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกจำนวนมากซึ่งน่าจะมีราวหลายล้านคน การขึ้นทะเบียนของแรงงานเป็นความยุ่งยากที่รัฐราชการไทยสร้างระบบนี้ขึ้นมา แรงงานที่มีพาสปอร์ตต้องเสียเงินอย่างน้อย 7,500 บาท เพื่อได้ ‘บัตรสีชมพู’ หรือใบอนุญาตประกอบอาชีพในประเทศไทย และต้องลุ้นว่าต้องออกเองหรือนายจ้างจะออกให้ นายจ้างหลายคนเลือกที่จะไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานในสังกัดของตนเองเพราะเสียเวลา หรือถ้าจ้างตัวแทนต้องเสียเงินในการดำเนินเรื่องขั้นต่ำ 2,500 บาทต่อแรงงานหนึ่งคน แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยหลายคนจึงอยู่แบบผิดกฎหมาย และไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลย 


มีแรงงานข้ามชาติ 772,720 คน: https://www.tcijthai.com/news/2018/10/scoop/8062
แรงงานที่มีพาสปอร์ตต้องเสียเงินอย่างน้อย 7,500 บาท: https://apwld.org/wp-content/uploads/2018/11/2018_BOOM-FPAR-MAP-Country-briefer-TH.pdf

 

 

ในทางตรงกันข้าม แรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนต้องอยู่ในระบบไม่น้อยกว่า 6 เดือนถึงจะได้รับสิทธิเทียบเท่ากับแรงงานไทย เช่น ประกันสังคม หรือสิทธิการลาคลอด น้อยครั้งที่แรงงานข้ามชาติจะได้สิทธิเหล่านี้ เพราะนายจ้างจะหาทางไล่ออกเนื่องจากเธอดูไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว หญิงตั้งครรภ์หลายคนสมัครใจลาออกเองเพราะรู้สึกโดนกดดัน และรู้สึกเป็นตัวถ่วงในการทำงาน

 

ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงราว 200,000 คน (จากตัวเลขที่ลงทะเบียน) หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ใน 49 ประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ประเทศอังกฤษมีแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ลักษณะการทำงานของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมักจะเป็นการ ‘แบก-หาม-ลาก’ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนงานที่ใช้ทักษะมากกว่าส่วนใหญ่เป็นงานของแรงงานชาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่นายจ้างให้ค่าแรงพวกเธอน้อย และถึงแม้ผู้หญิงบางคนจะพัฒนาทักษะตัวเองให้เก่งทัดเทียมกับผู้ชาย รายได้ของเธอก็ยังคงน้อยกว่าอยู่ดีอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่เพียงแต่งานก่อสร้างเท่านั้น มีตัวเลขว่าแรงงานข้ามชาติบางอาชีพได้รับเงินเดือนเพียง 3,000 – 6,000 บาทเท่านั้น การอยู่ในที่พักอาศัยที่นายจ้างจัดไว้ให้อย่างหลวมๆ จึงเป็นตัวเลือกที่พวกเธอไม่มีสิทธิเลือก เพราะต้องเก็บเงินเหล่านี้ไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และต้องส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศต้นทางด้วย 

 

ลองจินตนาการดูอีกครั้งสิว่าหลังจากมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานจนพวกเธอไม่มีรายได้เพราะไม่ได้ทำงาน ความเป็นอยู่ของพวกเธอจะตกลงสู่จุดต่ำสุดแค่ไหน

 

หากแม่ยังมีทุกข์ใจ เจ็บแค่ไหนบอกใจห้ามถอย

เพียง 7 วันหลังจากการปิดแคมป์แรงงาน เริ่มมีเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากคนข้างในว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตแล้ว ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ถูกตั้งขึ้นจากอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือ และประสานงานเพื่อนำอาหาร และปัจจัยสำคัญไปให้ผู้ใช้แรงงานอย่างเร่งด่วน พวกเขาขาดทั้งของกิน น้ำ ของใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะนมผง และของใช้เด็กที่ไม่สามารถออกไปซื้อเองได้ และถึงแม้ว่าจะออกไปได้เป็นกรณีพิเศษ การขาดรายได้ทำให้แม่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อสิ่งเหล่านี้


หากแม่ยังมีทุกข์ใจ เจ็บแค่ไหนบอกใจห้ามถอย: ท่อนหนึ่งจากเพลง เพื่อแม่แพ้บ่ได้ ของ ศิริพร อำไพพงษ์ เล่าเรื่องการต่อสู้ในเมืองหลวงโดยมีแม่เป็นกำลังใจเมื่อท้อ

อาสาสมัครพบว่านมผง และแพมเพิร์สมีราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของเธอ นมผงที่ลูกของผู้ใช้แรงงานกินประจำมีราคาประมาณ 1,000 บาท สามารถชงกินได้สำหรับ 7-14 วัน ในขณะที่รายรับของพวกเธอนั้นได้มากสุด 300 บาทต่อวันเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐเพิกเฉยต่อเด็กซึ่งถือเป็นทรัพยากรบุคคลกลุ่มสำคัญที่ยังมีโอกาสเติบโตไปเป็นแรงงาน เสียงร้องขอจากในแคมป์เพิ่มขึ้นที่แล้วที่เล่าอย่างน่าใจหาย แม่บางคนบอกกับผู้ประสานงานของกลุ่มว่า “ขอนมให้ลูกก่อน อาหารของหนูยังไม่ต้องก็ได้” เพราะเด็กเล็กไม่สามารถกินอาหารปรุงสุก หรืออาหารแห้งได้เหมือนผู้ใหญ่ เด็กเล็กสุดที่ทางกลุ่มเจอคือมีอายุ 1 วัน นั่นหมายถึงว่ามีแรงงานเพิ่งคลอดลูกในขณะที่มีคำสั่งปิดแคมป์

 

แรงงานผู้หญิงในงานก่อสร้างมักทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสามี และรับบทเป็นตัวพ่วง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจำใจรับแรงงานผู้หญิงเพราะอยากได้สามีของเธอมาทำงานด้วย ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ต้องมีสามีไว้คอยดูแลความปลอดภัย เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในแคมป์ก่อสร้างเป็นผู้ชาย และมักมีวัฒนธรรมการดื่มเหล้าหลังเลิกงานกันอย่างแพร่หลาย จึงไม่ค่อยพบผู้หญิงโสดในแคมป์แรงงานเพราะเสี่ยงต่อการโดนคุกคามทางเพศ อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีสามีแล้วก็ไม่ได้รับความปลอดภัยเท่าที่ควร การสัมภาษณ์เด็กๆ ในแคมป์แรงงานพบว่า พ่อหรือผู้ดูแลชายมักใช้ความรุนแรงกับแม่หรือผู้ดูแลหญิงอยู่เสมอ เช่น การด่า การขว้างของใส่ หรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งความกดดันให้กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก รวมทั้งวัฒนธรรมการอาบน้ำบ่อรวมซึ่งไม่มีที่กั้นเป็นสัดส่วนก็ทำให้เด็กในแคมป์รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยเช่นกัน

 

ภายใต้ความยากลำบากในการใชีชีวิต กลุ่มคนดูแลกันเอง ได้รับคำร้องขอให้ซื้อยาคุมเข้าไปพร้อมกับของใช้ต่างๆ พวกเขาได้พูดคุยกับแรงงานผู้หญิงข้ามชาติคนหนึ่ง พบว่าแรงงานผู้ชายในแคมป์ไม่ได้มีหน้าที่คุมกำเนิด หมายถึงพวกเขาไม่เคยซื้อถุงยางอนามัยเพราะเป็นของที่มีราคาสูง (แต่ยาคุมเองก็ราคาสูงมากเช่นกัน) ภาระการคุมกำเนิดจึงตกอยู่กับผู้หญิงฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นถึงสังคมชายเป็นใหญ่ และแรงกดทับที่มีมากกว่างานที่หนัก และรายได้อันน้อยนิดที่พวกเธอต้องเผชิญ ผู้หญิงยังถูกคาดหวังการทำงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำ เช่น เลี้ยงลูก ทำอาหาร หรือทำความสะอาด ซึ่งเป็นภาพจำที่ถูกถ่ายทอดกันมาทางวัฒนธรรม และเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ ก็จะเข้าสู่วัฏจักรการไล่ออกของนายจ้าง หรือต้องดิ้นรนด้วยตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอด ทารกที่เพิ่งเกิดใหม่บางคนไม่มีสูติบัตร เพราะแม่ผู้เป็นแรงงานข้ามชาติไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร เมื่อไม่มีชื่ออยู่ในระบบก็ทำให้ลูกของเธอไม่สามารถรับบริการใดๆ จากรัฐได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยก็ตาม

 

ตึกนี้สูงใหญ่มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทางไผสร้างไผเฮ็ดถนน

เมื่อเรานำองค์ประกอบบางอย่างมารวมกัน เช่น แรงงานหญิงข้ามชาติ+ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย+ตั้งครรภ์+ต้องดูแลลูกน้อย ก็จะพบว่าพวกเธออยู่สุดชายขอบของอุตสาหกรรมแรงงาน นายจ้างบางคนไม่ให้ค่าแรงงานประเภทนี้เพราะคิดว่าพวกเธอไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลไทยเคยออกพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีบทลงโทษนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผลที่ตามมาคือนายจ้างไล่แรงงานตัวเองออกทันทีด้วยความหวาดกลัวทั้งที่แรงงานบางคนยังไม่ได้รับค่าแรงงวดสุดท้าย มีตัวเลขว่าแรงงานหนีข้ามกลับไปที่ประเทศตัวเองประมาณ 60,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ ในจำนวนนี้อาจมีแม่ที่กำลังอุ้มลูกตัวเองหนีจากการจับกุมผ่านเส้นทางธรรมชาติที่พวกเธอต้องรับผิดชอบมากกว่าชีวิตตัวเอง จะเห็นได้ว่าไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานใดมาคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในการขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้าก็ตาม


ตึกนี้สูงใหญ่มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทางไผสร้างไผเฮ็ดถนน: ท่อนหนึ่งจากเพลง เพลงผู้อยู่เบื้องหลัง ไมค์ ภิรมย์พร เล่าเรื่องผู้ชายการศึกษาน้อยที่เข้ามาขายแรงงานเพื่อกลับไปสร้างชีวิตของตัวเอง และแฟนให้ดีขึ้น

 

กลุ่มคนดูแลกันเอง เล่าให้ฟังว่าตลอดเวลาที่โทรติดต่อกับแคมป์แรงงานเพื่อสอบถามถึงการช่วยเหลือ ปลายสายมักตอบคำถามว่า “เอาอะไรก็ได้” “กินอะไรก็ได้” หรือ “เอาเท่าที่มี” ด้วยท่าทีที่เกรงใจไม่อยากร้องขอสิ่งใดไปมากกว่านี้ ทางกลุ่มสะท้อนให้ฟังว่าเพราะพวกเขาไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไร เรียกร้องสิ่งใดได้ แต่ไม่เคยมีใครฟังสิ่งที่พวกเขาพูด บ่อยครั้งที่พวกเขามีหน้าที่เป็นสะพานบุญ หรือวัตถุแห่งการทำความดีที่จะมีผู้บริจาคนำสิ่งของมาให้ พร้อมถ่ายรูปกันพร้อมเพรียงแล้วจากไป 

 

ถึงตรงนี้คงยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาควรจะได้ แต่คงต้องกลับมาพูดถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พวกเขาควรได้รับ ความเคารพของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ส่งผ่านทางสายตา ร่างกาย และคำพูด ตึกสูง ถนนยาว สะพานใหญ่เหล่านี้ไม่สามารถสร้างเร็จได้ด้วยแรงงานของปัญญาชนคนไทย เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศนี้ เมื่อนั้นตัวตนของเขาคงถูกสาดแสงให้เห็นความสำคัญ และคงจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าทุกวันนี้

  • Published Date: 04/08/2021
  • by: UNDP

เอาปากกามาวง! ตรงไหนคือสวัสดิการคุ้มครองสาวทรานส์ในพัทยา เมื่อโควิดพาความหวังของเธอหายไปหมดสิ้น

 

‘พัทยา’ สถานที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งผู้หญิงข้ามเพศ ที่นี่เต็มไปด้วยโอกาสทั้งการประกอบอาชีพ และโอกาสที่พวกเธอจะได้เติมเต็มคุณค่า และศักดิ์ศรีในตัวเอง เพราะเส้นแบ่งแห่งอคตินั้นบางเบาจนเราแทบจะมองไม่เห็น จนกระทั่งวิกฤตการณ์โควิด – 19 ซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ ที่พัดพาความหวัง และโอกาสเหล่านั้นให้หายไปแทบหมดสิ้น ร้านอาหาร และสถานบันเทิงซึ่งเป็นสถานที่พวกเธอเคยทำงานต่างพากันปิดตัวลงอย่างน่าเศร้าใจ เรามีโอกาสได้คุยกับ พี่ดอย – ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของสาวข้ามเพศ ซึ่งเป็นเหมือนศึกหนักที่พี่ดอยและทีมต้องเผชิญอยู่ทุกวัน


 เมืองหลวงแห่งผู้หญิงข้ามเพศ: ประเทศไทยไม่เคยมีการเก็บสถิติสาวข้ามเพศอย่างเป็นทางการ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยจึงใช้วิธีดึงข้อมูลมาจากการเกณฑ์ทหาร ที่จะมีตัวเลขสาวข้ามเพศอายุ 21 ปีเฉลี่ยปีละ 5,000 – 6,000 พันคน จากนั้นจึงนำมาคำนวณจนได้ปริมาณคร่าวๆ ว่าเมืองไทยตอนนี้มีสาวข้ามเพศประมาณ 400,000 – 500,000 คน

 

พี่ดอยคิดว่าอะไรคือสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้สำหรับการเป็นสาวข้ามเพศในพัทยา?

 

ตอนที่พี่ทำมูลนิธิซิสเตอร์ใหม่ๆ ที่ลิ้นชักจะมีปึกใบสั่งมากกว่า 300 ใบ ข้อหาสารพัด เป็นกะเทยโดนปรับ 300 บาท ขายบริการทางเพศโดนปรับ 500 บาท มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกสาว ทำงานนางโชว์กำลังขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านแล้วโดนตำรวจเรียก บอกว่าแต่งหน้าอย่างนี้ต้องขายบริการแน่นอน เลยจับไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ บังคับให้เซ็นยอมรับข้อหาค้าประเวณี พอพี่รู้ก็รีบไปตั้งแต่เช้าเลย พานักข่าวไปด้วย สภาพน้องดูไม่ได้เลย หน้าเขียวไปครึ่งหนึ่ง เกาะลูกกรงบอกว่า ‘แม่ช่วยหนูด้วย’ เราก็ถามตำรวจไปว่ามีหลักฐานไหมถึงมาจับอย่างนี้ ตำรวจก็บอกว่าน้องลักทรัพย์ด้วย เราก็ยังยืนยันว่าขอดูหลักฐานหน่อย สักพักเราได้ยินเสียงตึงตังจากข้างบน น้องเขาวิ่งออกมาจากห้องสอบสวนกระโดดลงบันไดมาหาเราจนเคลียร์ได้ในที่สุด แต่คิดสิว่าพี่ช่วยอย่างนี้ไม่ได้ทุกคน กะเทยเจอเรื่องแบบนี้เยอะมาก ความโปร่งใสในกระบวนการไม่มีเลย


กะเทย: มูลนิธิซิสเตอร์ไม่แบ่งแยกสาวข้ามเพศจากลักษณะภายนอก บางคนอาจะมีฐานะยากจนเกินกว่าจะซื้อฮอร์โมนมากิน หรือทำงานในหน่วยงานราชการซึ่งไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของตัวเองได้ เพียงแค่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนข้ามเพศก็ถือว่าเพียงพอแล้ว  
ลูกสาว: คำแสลง ใช้เรียกสาวข้ามเพศที่มีอายุน้อยกว่าตัวเอง

 

 

คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากอะไร

 

มันเป็นภาพจำ (stereotype) เขาชอบมองว่ากะเทยคือตัวอันตราย สมมติว่ามีคดีนักท่องเที่ยวโดนกระชากสร้อย ตำรวจก็จะมากวาดกะเทยไปละ เอาไปทั้งแถบเลย ปรับเงินคนละ 200 – 500 บาท แล้วก็หาแพะรับบาป พี่เคยไปประชุมกับนายกเมืองพัทยาแล้วถามเขาไปตรงๆ เลยว่าอะไรคือมาตรฐานในการปรับ ปรับทำไม ปรับแล้วเงินไปไหน จนเดี๋ยวนี้ดีขึ้นแล้ว เราต้องต่อสู้มา เมื่อก่อนแค่เป็นกะเทยก็ถือว่าผิดแล้ว

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการค้าบริการของสาวข้ามเพศจริง

 

Sex work is work! ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่เขาเป็น sex worker มีทั้งแบบเต็มใจ และแบบไม่มีทางเลือก เราจะไปเหมาว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกทั้งหมดไม่ได้ แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงต้องทำอาชีพนี้ด้วย งานวิจัยหลายชิ้นพูดตรงกันว่าเพราะสาวข้ามเพศเข้าไม่ถึงอาชีพปกติในสังคม กะเทยอย่างพี่จบเกียรตินิยม แต่ไปสมัครงานที่ไหนก็ถูกกีดกัน กะเทยเป็นครูได้ เป็นหมอได้ แต่ยากนะ กว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ พอไม่มีงานก็ไม่มีเงิน มันก็เหลือไม่กี่ทางเลือกสำหรับเรา ไม่ทำงานบริการ ก็เป็นนางโชว์ หรือไม่ก็มาเป็น Sex worker กะเทยทำได้ไม่กี่งาน 

 

แต่ก็ดูเหมือนว่าสังคมเราก็เปิดรับ LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว?

 

ก็ดีขึ้น แต่สำหรับกะเทยไม่ค่อยดีขึ้นเลยเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว งานเขียนชิ้นหนึ่งของอาจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ก็เคยระบุไว้ว่า ในบรรดาความหลากหลายทั้งหมดนั้น คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ transgender เพราะที่ทำงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบเรื่องเพศเดิมๆ ถ้าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน คุณก็ยังอยู่ในเพศสภาพเดิม แต่กะเทยมันดูออกตั้งแต่ภายนอกแล้ว ก็จะถูกเพ่งเล็ง ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบูลลี่ ยิ่งในสังคมตอนนี้ที่คลั่งกะเทยสวย พื้นที่สำหรับกะเทยไม่สวยก็เหลือน้อยลงมาก

 

สำคัญแค่ไหนกับการทำให้ sex worker เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

 

คิดดูแล้วกันว่าพวกเขาสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากเท่าไหร่ แต่ตอนนี้หลายคนไม่ได้เงินเยียวยา เพราะไปบอกประกันสังคมไม่ได้ว่ามีอาชีพขายบริการทางเพศ พี่ว่ามันเป็นการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในประเทศควรจะได้ คิดว่าอาชีพ sex worker ใครจะเป็นก็ได้เหรอ ไม่จริงเลย คนที่ทำนี่มีแต่มืออาชีพนะ ต้องป้องกันดูแลตัวเองเป็นอย่างดี 

 

การที่ทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายจะไม่มีใครโดนเอาเปรียบ ไม่ต้องเสียค่าคุ้มครอง จ่ายภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง อย่าลืมว่าพวกเขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศมานานเท่าไหร่ อย่าเอาคำว่าศีลธรรม และจริยธรรมอันดีมาขัดขวางตรงนี้เลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในระดับกฎหมายไม่ค่อยมีใครออกมาสู้อย่างตรงไปตรงมา จริงๆ ถ้าดูเทรนด์ในสังคมตอนนี้ก็มีความหวังมากขึ้นนะ ใครออกมาเหยียดกะเทยก็มักจะโดนทัวร์ลง ทันที  แล้วก็มี sex worker บางคนออกมาเล่าเรื่องตัวเอง หลายคนก็ชื่นชม พี่ว่าสังคมมันเริ่มละลายพฤติกรรมแล้ว


ทัวร์ลง: เป็นสำนวน หมายถึง การแสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามจากคนจำนวนมาก

 

อย่าว่าแต่ทำให้อาชีพ sex worker ถูกกฎหมายเลย แค่เรื่อง same sex marriage ที่ดูจะง่ายกว่ายังไม่ได้กัน พี่ดอยว่าเรื่องนี้มันสร้างผลกระทบอะไรให้กับสาวข้ามเพศด้วยไหม

 

งานวิจัยของสหภาพคนข้ามเพศยุโรป ภายใต้โครงการติดตามการสังหารคนข้ามเพศ พบว่าสถิติคนข้ามเพศถูกฆ่าสังหารทุก 72 ชั่วโมงทั่วโลก เป็นผลมาจากความเกลียดชัง ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ส่วนกฎหมายคู่ชีวิตมันคืออย่างนี้ บางคู่คบกันมาเป็นสิบๆ ปี แฟนเกิดอุบัติเหตุ เข้าไปเยี่ยมในไอซียูไม่ได้ ไปบอกลาครั้งสุดท้ายยังไม่ได้เลย ทรัพย์สินที่หามาก็โดนยึดหมด ทั้งๆ ที่หามาด้วยกันด้วยความรักความสัมพันธ์นะ ยกตัวอย่างอีกเรื่องคือล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อก่อนกะเทยโดนข่มขืนแล้วไปแจ้งความโดนตำรวจหัวเราะใส่นะ บูลลี่เราด้วยว่าไปทำอะไรผู้ชายเขาก่อนหรือเปล่า ในตัวกฎหมายก็ระบุแค่ว่าชายหรือหญิงที่โดนกระทำ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลกระทำต่อบุคคลแล้ว เอาเพศออกไปก็ดีขึ้นกว่าเดิม แค่อยากบอกว่ากฎหมายจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแบบไม่ต้องตีความ หรือคิดกันไปเอง

 

แล้วตอนนี้มูลนิธิซิสเตอร์ขับเคลื่อนอะไรอยู่บ้าง

 

เราสู้กันทุกทางโดยแบ่งเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งผลักดันนโยบาย กับฝั่งการสร้างความเข้าใจให้ผู้หญิงข้ามเพศรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงเดือดร้อน ให้เขารู้ว่าสวัสดิการต่างๆ ที่เราได้โคตรจะไม่แฟร์ทั้งที่จ่ายภาษีเท่ากัน กว่าคนทั้งสังคมจะเข้าใจ และยอมรับ มันต้องผ่านในระดับทัศนคติของพวกเขาด้วย 

 

ส่วนตอนนี้ที่ทำอยู่หน้างานคือโครงการ ‘เทยชนะ’ เราจะจัดข้าวสารอาหารแห้งให้น้องกะเทยที่ตกงานมากว่า 2 ปีได้มีข้าวกิน ให้กำลังใจเขาด้วย พยายามโอบอุ้ม และให้คำปรึกษาพวกเขาให้อยู่กับความเป็นจริง พี่ว่าพัทยามันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหลังจากนี้ บางคนเป็นนางโชว์มาทั้งชีวิตเขาก็เครียดว่าจะทำอะไรต่อไปดี เราพยายามสร้างพลังบวก ประคองจิตใจกันไป ตอนนี้พี่ทำคลิปสอนแต่งหน้า กับทำขนมด้วย ไม่ได้คาดหวังให้เขาเอาไปประกอบอาชีพ แต่อยากให้ดูเพื่อความบันเทิง ลืมความทุกข์ไปสักพัก อยากให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีก่อน

 

จริงๆ แล้วหน่วยงานไหนที่ต้องเข้ามาดูแลตรงนี้

 

พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน โควิดนี่มันไม่เลือกเพศนะ กะเทยพัทยาติดกันเยอะมาก พอไปโรงพยาบาลสนามก็เจอปัญหาว่าจะอยู่โซนผู้หญิงหรือผู้ชาย พอไปอยู่ฝั่งผู้ชายเขาก็เป็นทุกข์ อันที่จริงเราควรมีรัฐสวัสดิการสำหรับกะเทย มีฮอร์โมนให้กินฟรี คนทั่วไปไม่รู้หรอกว่าเวลากะเทยขาดฮอร์โมนจะส่งผลกับทั้งร่างกาย และจิตใจ เกิดภาวะเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย กระดูกก็เปราะ ล้มเจ็บกันได้ง่ายอีก กะเทยทุกคนที่เสียภาษีไป ต้องได้สวัสดิการนี้กลับมา

 

ยังอีกไกลไหมสำหรับการสร้างความเข้าใจเรื่องผู้หญิงข้ามเพศ

 

เราเคยทำงานร่วมกับ UNDP ไปอบรมตำรวจให้มีความละเอียดอ่อนในการจับกุมกะเทยมากขึ้น ไม่ใช่เห็นใครเป็นกะเทยก็คิดว่าเขามาขายบริการหมด ไม่อย่างนั้นจะกระทบกับการท่องเที่ยวแน่ๆ เพื่อนพี่บางคนไม่กล้าไปเดินพัทยาตอนกลางคืนก็เพราะกลัวว่าจะถูกจับ ตอนหลังถึงจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนยังมองไม่เห็น เช่น sex worker ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งโควิดนี่แย่เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงการตรวจเลย ‘กะเทยเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน’ มันคือคำนี้เลย บางคนเคยตรวจเลือดแล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ก็ไปรับยาต้านฟรีไม่ได้ ต้องเสียเงินหลายบาท พี่ก็มาช่วยตรงนี้ไม่ใช่เพราะสงสาร แต่เพราะรู้สึกว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

 

ก้าวต่อไปของมูลนิธิซิสเตอร์คืออะไร

 

ที่ทำอยู่แล้ว และทำมาตลอดคือต้องเป็นมากกว่าศูนย์ดูแลสุขภาพของผู้หญิงข้ามเพศ แต่ต้องมองลึกไปในระดับ wellbeing คือการมีสุขภาวะที่ดี ทำเรื่องปากท้องกับเรื่องวิถีชีวิตมากกว่านโยบาย เราเลยร้อยเรียงประเด็นระดับชุมชนมาเป็นระดับประเทศ แล้วก็ระดับภูมิภาคด้วย ส่วนที่ต้องทำเพิ่มคือเรื่องฐานข้อมูลสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ เพราะเวลาจะเพิ่มหรือเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ต้องใช้ข้อมูลพวกนี้สนับสนุน มีอีกหลายอย่างต้องทำ มีอีกหลายเรื่องที่ต้องสู้

 

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779