• Published Date: 02/12/2020
  • by: UNDP

ถอดบทเรียนโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อสังคม Youth Co:Lab 2020

เยาวชนเผชิญ เยาวชนคิด เยาวชนหาทางออก คือไอเดียของ Youth Co:Lab พื้นที่สำหรับเยาวชนในการผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมตลอดมา

ปีนี้วาระใหญ่ระดับโลกอย่างโรคระบาดโควิด-19 มาเยือนธีมจัดงานเลือกได้ไม่ยากนัก กลายมาเป็น Covid-19 Recovery ซึ่งมีที่มาจากแบบสอบถามต่อเยาวชนทั่วประเทศถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงโควิด ทำให้ได้ประเด็นย่อยของธีมที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงโควิดครอบคลุมถึงเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพจิต และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในครอบครัว
ถึงแม้ว่าขั้นตอนเตรียมงานมาจนถึงงานจริงจะกินระยะเวลาหลายเดือน สถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิดจากวันแรกจนถึงวันงานก็เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในประเทศไทย ในช่วงเตรียมงานโรคยังคงระบาดหนัก แต่พอเริ่มจัดงานจริงสถานการณ์ผ่อนคลายลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปไม่ได้กระทบต่อธีมงานเท่าใดนัก เพราะประเด็นที่เลือกสรรมายังคงเป็นประเด็นที่เยาวชนสนใจ มีความสำคัญและเป็นปัญหาร่วมในสังคมอยู่ เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 และการปรับตัวเป็นตัวเร่งและเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาเหล่านั้นรุนแรงเพียงใด 

ดังนั้นต่อให้โควิด-19 จะซาลง นวัตกรรมเพื่อสังคมที่เยาวชนพัฒนาขึ้นก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ โอกาสความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งระหว่างทางก็เป็นสิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต และสำคัญที่สุดการได้พบเจอคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในประเด็นสังคมก็เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่งานนี้ต้ังใจจะให้เกิดดังเช่นทุกๆ ครั้ง บทความนี้จึงจะมาถอดบทเรียนองค์ประกอบสู่ความสำเร็จของการจัดงาน Youth Co:Lab ในปีนี้

 

ห้องเรียนออนไลน์

จากประสบการณ์การจัด Youth Co:Lab ในปีผ่านๆ มา ทีมงานรู้ดีว่าการเรียนรู้ข้อมูลอัดแน่นในสามวันที่ปิดท้ายด้วยการพิชโปรเจ็กต์นั้นมีเรื่องไม่น้อยที่ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาโครงการภายใต้เวลาแสนจำกัด ไอเดียเรื่องการปรับระบบให้เป็นออนไลน์เพื่อขยายเวลาเรียนรู้จึงถูกพูดถึงเรื่อยมา แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทำจริง

การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อการเรียนและการประชุมมากยิ่งขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในช่วงโควิด ทำให้เกิดโอกาสในการเปลี่ยนการเวิคช็อปมาสู่ช่องทางออนไลน์ เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงอัดเนื้อหาสาระให้จุใจมากกว่าที่เคย โดยแบ่งเป็นเวิร์คช็อปออนไลน์ 4 วันเต็ม ก่อนที่จะมาพบหน้ากันจริงอีกสองวันครึ่ง เพื่อให้น้องๆได้พิชโครงการที่พัฒนารวมเวลาทั้งหมดกว่า 2 เดือน

ผลที่ออกมาทั้งคุ้มค่าและมีราคาที่ต้องแลก ความเข้มข้นของเนื้อหาแน่นอนว่าได้มากกว่าที่เคย แต่ความสบายใจ และพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือสิ่งที่ผู้จัดกังวลว่าอาจทำได้ไม่ดีเทียบเท่ากับการพบเจอกันตัวต่อตัว แต่เราก็พบว่าการที่ปรับห้องเรียนเป็นแบบออนไลน์และขยายเวลาให้ครอบคลุมยาวขึ้น การพบปะแบบออนไลน์ก็ยังมีช่องทางในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ จากความต่อเนื่องในการพบกันก็ทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเมื่อทุกคนมาด้วยความตั้งใจเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงสังคม มิตรภาพและความรู้สึกเชื่อมโยงกันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมดก็อาจจะไม่สามารถทดแทนได้เสียทีเดียว ทางทีมงานจึงปิดท้ายกระบวนการด้วยเวิร์กช็อปแบบออฟไลน์อีก 2 วัน จุดประสงค์หลักคือการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม ถอดบทเรียนการเรียนรู้จากออนไลน์ รวมไปถึงนำเสนอผลงานหลังจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว

ข้อดีอีกอย่างของการเรียนการสอนแบบออนไลน์คือ การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลที่เป็นออนไลน์เช่นกัน หากผู้จัดต้องการจัดเก็บข้อมูลก็ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนนี้ลงไปได้ อีกทั้งยังเห็นพัฒนาการและความตั้งใจทำงานของแต่ละกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

 


ซัพพอร์ตพร้อม

ก่อนที่กระบวนการเวิร์กช็อปจะเริ่มขึ้น เราได้ติดต่อพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตามประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อแบ่งปัน insights และช่วยสะท้อนให้แต่ละทีมได้พัฒนางานที่ตรงโจทย์มากยิ่งขึ้น เช่น คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ จากทีม Locall ที่มาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการสร้างงานในธุรกิจร้านอาหารช่วงโควิด หรือดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ นักวิชาการการศึกษาจาก UNICEF ที่มาให้คำปรึกษาเรื่องนวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น 

อีกหนึ่งการสนับสนุนที่เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในปีนี้คือการรับสมัครผู้เข้าร่วม Youth Co:Lab ในปีก่อนๆ  (Alumni) เพื่อเป็น Mentor หรือพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม หน้าที่ของพี่เลี้ยงคือช่วยตอบคำถาม คลายข้อสงสัย ให้ความเห็น เสริมมุมมอง 

Mentor คนหนึ่งที่เป็น Alumni จากปีที่แล้วให้ความเห็นว่า นอกจากจะได้ช่วยเกลา ช่วยชี้แนะผลงานของทีมที่ตนดูแลอยู่แล้ว ยังใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้มข้นและแตกต่างไปจากปีที่แล้วพร้อมๆ กับผู้เข้าร่วมด้วย

 

กางตำรา

เวิร์กช็อปออนไลน์ทั้ง 4 สัปดาห์ ได้รับความร่วมมือจาก Hand up network และ Changefusion ในการมาทำกระบวนการออนไลน์ ในอาทิตย์แรก นอกจากจะพยายามละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ และทำความรู้จักกันเบื้องต้นแล้ว วัตถุประสงค์หลักของห้องเรียนครั้งนี้คือการสร้างความเข้าใจในปัญหาที่แต่ละทีมอยากแก้

เครื่องมือที่ใช้ในการเข้าใจปัญหาไม่ได้เป็นเพียงการมองปัญหาที่ทีมสนใจเท่านั้น แต่ยังชวนคิดกลับไปให้ถึงรากของปัญหา และมองผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากปัญหานี้อย่างรอบด้าน

เมื่อเห็นปัญหาแล้ว กระบวนกรได้ชวนแต่ละกลุ่มไปวิเคราะห์ต่อว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ แต่ละผู้เล่นหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีบทบาทแบบไหน มีหน้าที่อะไร กำลังพยายามขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาไหนอยู่ เพื่อที่จะได้เห็นว่าทีมจะวางตัวเองอยู่ส่วนไหนของปัญหา และจะแก้ไขเรื่องไหนเป็นหลัก

ก่อนแยกย้ายกันยังมีการโจทย์ Problem Statement เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหาที่กลุ่มตัวเองต้องการแก้ให้ชัดที่สุด

ห้องเรียนออนไลน์ในวันแรกผ่านไปด้วยความอัดแน่น หนัก เวลาพักสั้น เสียงสะท้อนจากครั้งแรกจึงได้นำไปปรับการเรียนการสอนในครั้งต่อๆ ไปให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

การเวิร์กช็อปออนไลน์ในครั้งที่สองว่าด้วยการระดมสมองคิดหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ด้วยเพราะแต่ละทีมเตรียมไอเดียมาจากบ้านตั้งแต่ส่งข้อเสนอเข้ามา เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงเน้นไปที่การนำไอเดียของตนเองมาทบทวนอีกครั้งว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง และคุณค่าของนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาคืออะไร

และเพื่อปรับไม่ให้เหนื่อยล้ากับงานตรงหน้ามากเกินไป กิจกรรม Ice Breaking จึงเน้นไปที่นำผู้เข้าร่วมทุกคนไปพูดคุยและแชร์ความคิดเห็นต่างๆ ในประเด็นที่หลากหลาย มีเบา มีหนักสลับกันไป แต่ให้หลุดไปจากเนื้อหาหลัก

ครั้งที่สามเป็นการเรียนแผนธุรกิจผ่าน Business Model Canvas โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะมาให้ความรู้ แต่ด้วยความที่เนื้อหาค่อนข้างลึกและซับซ้อน ประเด็นที่เน้นย้ำในการสอนครั้งนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้แต่ละกลุ่มไม่ลืมมิติมุมมองด้านธุรกิจซึ่งเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและอยู่รอดต่อไปในระยะยาว

เมื่อดำเนินมาถึงจุดที่แต่ละทีมเห็นปัญหาชัด มีไอเดียในการแก้ปัญหา มองมิติทางธุรกิจ การเวิร์กช็อปครั้งสุดท้ายจึงปิดท้ายด้วยการคิดเรื่องผลกระทบทางสังคม (Social Impact) โดยใช้เครื่องมือ Theory of Change เมื่อแต่ละทีมเห็นผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการแล้ว จึงให้แต่ละทีมวางแผนแบบย้อนกลับว่าต้องการเห็นอะไรจากภาพกว้างสุด 1 ปี ลดลงมาที่ 6 เดือน จากนั้นจึงลงรายละเอียดว่าในแต่ละช่วงต้องมีแผนการทำงาน (action plan) อย่างไร เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ในการเวิร์กช็อปออนไลน์ ไม่ใช่แค่การให้อินพุตเพื่อมุ่งพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมของแต่ละทีมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างเครือข่ายของเยาวชนนักเปลี่ยนแปลงสังคม และในช่วงการจัดกิจกรรมก็เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยกำลังร้อนแรง ทีมงานจึงถือโอกาสให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นการเคลื่อนไหวต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นและเชื่อในพื้นที่ปลอดภัย เพราะหากข้ามประเด็นเรื่องปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ก็อาจยากที่ทั้งผู้เข้าร่วมและทีมงานจะตอบตัวเองได้ว่าเราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมไปเพื่ออะไร

 

แรกเราพบกัน

หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ Youth Co:Lab คือการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าร่วม ผู้สนับสนุน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใช้สำหรับพัฒนางานสิ้นสุดไปตั้งแต่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว แต่การรู้จักและแลกเปลี่ยนกันแบบพบหน้าเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง จึงเป็นที่มาของการจัดงานให้ผู้เข้าร่วมได้พบกันตัวต่อตัวด้วย

ผู้เข้าร่วมหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพบหน้าคร่าตาเพื่อนร่วมเวิร์คช็อปนับเป็นส่วนที่ประทับใจที่สุด เขาได้พบปะคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวปกากญอจากแม่ฮ่องสอน เยาวชนมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงอีกหลายคนที่มาจากภาคกลางที่มากไปด้วยความถนัดและความสนใจ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ทำให้ได้เปิดกว้างทางมุมมอง ได้รับรู้ภูมิหลังและบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

ไอเดียเป็นจริงได้

ในงานพบปะระหว่างผู้เข้าร่วม มีการเชิญผู้ประกอบการสังคมที่ประสบความสำเร็จทั้งทางธุรกิจและทางสร้างผลกระทบทางสังคมมาแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนมุ่งมั่นที่จะไปต่อ ผู้ประกอบการวิทยากรบางคนก็เคยผ่านเวที Youth Co:Lab มาเช่นกัน เช่น คุณธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Yonghappy (ํYouth Co:Lab alumni 2017) และคุณสโรชา เตียนศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Pa’ Learn (ํYouth Co:Lab alumni 2019) เป็นต้น

ก่อนจะเข้าสู่การพิชในวันสุดท้าย เป็นการทบทวนสถานะโครงการของแต่ละทีม อีกทั้งยังมีการแทรกเนื้อหาเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไป โดยเให้แต่ละทีมได้ลองมองโครงการของตัวเองผ่านมุมมองการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวิเคราะห์โครงการของตัวเองในมุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่า SDGs จะไม่ใช่ภาคบังคับที่ทุกทีมต้องหยิบไปใช้ในตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโครงการ แต่ก็เป็นการจุดประกายให้หลายคนได้ทบทวนงานตนเองว่าสิ่งที่คิดขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเข้าถึงทุกคนหรือไม่

หนึ่งในผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าการเรียนรู้เรื่อง SDG คือหนึ่งในสิ่งที่เธอประทับใจที่ได้เรียนรู้ที่สุด เพราะมันช่วยให้เธอมองสิ่งที่กำลังจะทำในมิติที่กว้างขึ้น หาความเป็นไปได้ที่งานเธอจะมีส่วนช่วยอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

นำเสนอผลงาน

จุดสิ้นสุดของงาน phase แรกอยู่ที่การพิชงานให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ให้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของนวัตกรรมทางสังคมที่พัฒนาขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทาย

ก่อนที่จะถึงการนำเสนอผลงานจริง ได้มีการแนะนำประเด็นที่ควรกล่าวถึงให้ครอบคลุม และยกตัวอย่างวิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การแนะนำเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ผู้เข้าร่วมสามารถปรับ เลือกใช้ และออกแบบการนำเสนอได้ตามที่ทีมเห็นว่าเหมาะสม เพราะเป้าหมายของการนำเสนอนี้ไม่ใช่แค่เพียงชิงรางวัลเท่านั้น แต่เป็นโอกาสในการสะท้อนปัญหาที่แต่ละทีมให้ความสำคัญซึ่งหลายทีมเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ตนหรือคนรู้จักพบเจอ สรุปรวบยอดความคิดที่ได้พัฒนาและเรียนรู้ตลอดทั้งโครงการเพื่อแบ่งปันให้กับทุกคนได้รับฟัง

ทั้ง 10 ทีม ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีแผนงานพร้อมลงมือไปต่อเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แม้สุดท้ายมีเพียง 5 ทีมที่ได้ทุนสนับสนุนจากโครงงานให้ทดลองทำงานต่อไปอีก 3 เดือน แต่สิ่งที่ทั้ง 10 ทีมได้คิดและพัฒนาตลอดทางที่ผ่านมาย่อมไม่เสียเปล่า สามารถต่อยอดได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทดลองทำต่อกันเองในทีม หาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ที่อาจพบเจอในงานเพื่อสานต่อ หรือแม้แต่ส่งชิงทุนเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

 

โครงการนี้จะไม่สามารถดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเยาวชนที่มีความตั้งใจเขียนใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ขอขอบคุณพาร์ตเนอร์ ได้แก่ Citi Foundation UNICEF Thailand Institute of Justice True Incube และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานและเติมองค์ความรู้หลากหลายมิติให้แก่ผู้เข้าร่วม และขอขอบคุณกระบวนกรคุณภาพจาก Hand Up Network และ Changefusion ที่ร่วมบ่มเพาะและสนับสนุนเยาวชนทั้ง 10 ทีมไปด้วยกันตลอดทาง

เรื่องราวของ 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อมีที่มาที่ไปอย่างไร นวัตกรรมของพวกเขาตอบโจทย์ตรงใจใคร ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง โปรดติดตามได้ในบทความถัดๆ ไป

Keywords: , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779