• Published Date: 04/01/2022
  • by: UNDP

สร้างตลาดท้องถิ่นให้โตด้วย Origi แพลตฟอร์มที่จะฟื้นคุณค่าของงานคราฟท์อย่างยั่งยืน

 

โครงการ Youth Co:Lab ประจำปี 2021 ถือเป็นครั้งแรกของ UNDP ที่จัดงานแบบออนไลน์ 100% เนื่องจากสถานการณ์ของวิกฤตโรคระบาดในเวลานั้นยังคงรุนแรงเกินกว่าจะออกมาเจอกันได้อย่างสบายใจ ถึงแม้ว่าจะมีเยาวชนบางกลุ่มพบเจอข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง แต่เรากลับพบว่าการเทรนนิ่งแบบออนไลน์นั้นช่วยให้ทุกทีมที่สมัครเข้ามามีเวลาโฟกัสอยู่กับโปรเจกต์ของตัวเองโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง พวกเขาแปลงเวลาจากที่เคยต้องนั่งรถให้เป็นเวลาคุยงานหรือลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลมากขึ้น ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ซึ่งมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของทุกคน เทคโนโลยียังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ใครที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ โอกาสในการสร้างรายได้ หรือโอกาสแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในสังคม

 

‘Origi’ หนึ่งในทีมที่ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายโครงการ Youth Co:Lab 2021 เกิดจากการรวมตัวของเพื่อน 3 คนที่รู้จักกันผ่านกิจกรรมอาสาสมัครสอน Design Thinking ‘ซังซัง’ หนึ่งในสมาชิกของทีมเล่าให้ฟังว่าเธอเคยสมัครเข้าร่วมโครงการนี้มาแล้วกับสมาชิกทีมเก่าเมื่อปี 2017 แต่ไม่ผ่านเข้ารอบ ครั้งนี้เลยชวน พรีม กับ อาย สมาชิกใหม่ 2 คนมานำเสนอโครงการดู เพราะพวกเธอทั้ง 3 มีอุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ต่างกัน พวกเขาเล่าให้เราฟังว่าตอนรู้ข่าวประกาศรับสมัครก็ได้มีโอกาสคุยกันและให้เวลาแต่ละคนไปสร้างไอเดียของตัวเองมา หลังจากนั้นเอามานำเสนอกับเพื่อนในทีมเพื่อให้โปรเจกต์นี้เป็นความคิดของทุกคนจริงๆ ไอเดียหนึ่งที่ทั้ง 3 มีร่วมกันก็คือการใช้ ความสามารถทางด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดเพื่อช่วยพัฒนาสินค้าชุมชน เพราะแต่ละคนต่างมีความถนัดในเรื่องนี้ ตั้งแต่การตลาด การเงิน และงานสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน

 

‘อาย’ เล่าให้เราฟังว่าแรงบันดาลใจที่อยากให้พวกเธอทั้ง 3 คนพัฒนาโปรเจกต์นี้ขึ้นมาคือสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 แม้จะมีบางธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้มากนัก แต่แน่นอนยังมีผู้ผลิตสินค้าในชุมชนต่างๆ ในไทยที่ประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่พวกเธอทั้ง 3 ทำโครงการนี้ ‘อาย’ คือสมาชิกที่กำลังอาศัยอยู่ในประเทศอเมริกา เธอเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการสื่อสาร การสร้างแบรนด์ และการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์นั้น สามารถช่วยลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสที่ทุกคนควรได้รับ ด้วยเหตุนี้ Origi จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า

 

 

เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำงานของทีมนี้แบบง่ายๆ ‘พรีม’ ขออาสาอธิบายว่า Origi จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการลงพื้นที่และติดต่อกับชุมชนผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะสินค้าแบบงานคราฟท์ที่ทีมนี้อยากโฟกัสเป็นพิเศษ พวกเขารู้สึกว่าสินค้าในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีเสน่ห์อย่างมาก และรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมอันซับซ้อนซึ่งส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่นตามกาลเวลา การติดต่อไปในแต่ละชุมชนไม่เพียงแค่สอบถามเรื่องสินค้าเท่านั้น พวกเขายังลงลึกไปเรื่องปัญหาของการสร้างแบรนด์ และอธิบายให้ผู้ผลิตแต่ละกลุ่มเข้าใจว่า Origi คืออะไร จะมาช่วยทำหน้าที่อย่างไร ให้ชุมชนสามารถขายผลิตภัณฑ์ของตเองได้กว้างไกลขึ้น

 

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการสร้าง Digital Asset ของตัวเอง ทั้งแพลตฟอร์มแบบโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์หลักซึ่งถือเป็นหน้าร้านของการขาย ‘พรีม’ อธิบายให้ฟังต่อว่าไม่มีข้อจำกัดหรือสิ่งตายตัวสำหรับสินค้าที่จะเอามาลง จากการพูดคุยเธอพบว่าความต้องการของแต่ละชุมชนนั้นมีหลากหลายมาก บางชุมชนมีกำลังในการผลิตที่ดี แต่แบรนด์ไม่แข็งแรง พวกเธอก็จะเข้าไปช่วยวางแผนให้ บางชุมชนอยากเป็นผู้ผลิตอย่างเดียวแต่ไม่อยากสร้างแบรนด์ ก็จะใช้แบรนด์ Origi ในการขายผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างการจดจำให้กับลูกค้าและสร้าง Brand Asset ไปในตัว ฉะนั้นจุดแข็งของ Origi คือการเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว จากนั้นเติมเต็มสิ่งที่ขาดเพื่อสร้างระบบนิเวศของตลาดสินค้าชุมชนให้แข็งแรง โดยมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขายสำหรับเข้าถึงลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

 

เมื่อถามถึงความคาดหวังถึงผลการดำเนินงานในระยะเวลาที่กำหนด ‘ซังซัง’ ตอบว่าสิ่งที่พวกเธออยากทำก็คือโปรโตไทป์ของโปรเจกต์นี้ โดยจะเริ่มหาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาเป็นตัวทดลองก่อนซึ่งอาจเป็นหมวดอาหารเพราะเชื่อว่าหาได้ง่ายและขายได้ง่ายสุด โดยจะโฟกัสไปที่สินค้าจากภาคเหนือและภาคอีสานเพราะมีกลุ่มชุมชนที่เคยติดต่อไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากเทสต์แล้วก็จะลองนำผลมาสรุปว่า ผลิตภัณฑ์หมวดไหนมีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุด และจะได้นำมาปรับปรุงแผนการดำเนินงานของ Origi ต่อไป

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นถูกหยิบยกขึ้นมาให้เป็นตัวเอกของชุมชนเพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารบางอย่าง แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีการสร้างระบบครบวงจรเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนกับให้เอกลักษณ์แห่งท้องถิ่นเหล่านี้ เพราะไม่ใช่เพียงกำไรและความมั่งคั่งที่ทุกคนแสวงหา แต่คือการต่อชีวิตให้ประดิษฐกรรมในท้องที่ยังคงอยู่ โดยมีฐานลูกค้าประจำเป็นผู้สนับสนุนให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคต พวกเธอทั้ง 3 คนยังขอเสริมในช่วงสุดท้ายของการคุยด้วยว่าอยากให้ Origi เป็นตัวผลักดันชุมชน เพิ่มความเท่าเทียม และอยากให้สินค้าเหล่านี้มีคุณค่าในสายตาของคนไทยด้วยกันเอง สัญญาว่าจะทำอย่างเต็มที่และมีความฝันจะผลักดันให้สินค้าออกไปเฉิดฉายในระดับโลกได้ หากใครกำลังอ่านบทความนี้แล้วอยากนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนตัวเองหรือชุมชนที่รู้จัก พวกเธอฝากบอกว่ายินดีมากๆ และรอการติดต่อเข้าไปอยู่เสมอ

  • Published Date:
  • by: UNDP

‘ซะกาตออนไลน์’ แพลตฟอร์มภาษีสังคมตามหลักอิสลามรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดช่องว่างในสังคม

 

นี่คือครั้งแรกที่โครงการ Youth Co:Lab จัดแบบออนไลน์ 100% เพื่อปฏิบัติตามมาตรการลดการเดินทางและลดการสัมผัสภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงรุกรานบางพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนล้วนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เราพบว่ามีแสงสว่างทางโอกาสสว่างวาบขึ้นมา นั่นก็คือผู้ร่วมที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้โดยผ่านกระบวนการเทรนนิ่งและติดตามผลแบบออนไลน์ เราจะเห็นว่าในปี 2021 นี้มีเยาวชนผู้พิการทางสายตาเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายด้วยโปรเจกต์ “แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ครบวงจร” โดยตั้งใจจะลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างเป็นระบบ

 

สภาพสังคมที่แตกต่างกันถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ชาวไทยพุทธนิยมทำบุญตามจิตศรัทธา แต่วิถีของชาวสุลิมนั้นแตกต่างกันออกไป “ซะกาต” ทานภาคบังคับ หรือภาษีสังคมตามหลักศาสนาอิสลาม คือหนึ่งในหลักปฏิบัติที่ชาวมุสลิมต้องทำเมื่อมีทรัพย์สินส่วนเกิน ในประเทศไทยชาวไทยมุสลิมจะจ่ายซะกาตจำนวน 2.5% จากทรัพย์สินส่วนตัวที่มี และการให้นั้นต้องตรงตามเกณฑ์ที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้แล้วจำนวน 8 กลุ่ม ซึ่งปกติการจ่ายซะกาตสามารถปฏิบัติได้เองหรือมอบให้องค์กรบริหารจัดการซะกาตเพื่อดำเนินการให้ แต่ในช่วงที่ไวรัสระบาดหนัก การเดินทางไปจ่ายซะกาตก็ถือเป็นภาระทางความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ก็มีผู้คนเดือดร้อนจากการขาดรายได้ที่กำลังเฝ้ารอความช่วยเหลือจากองค์กรบริหารจัดการซะกาตอยู่เช่นกัน

 

เยาวชนชาวมุสลิมรู้สึกว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยพัฒนาระบบการบริหารจัดการซะกาตให้มีความทันสมัยมากขึ้น และลดความยากจนตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเปลี่ยนการบริหารจัดการซะกาตแบบออฟไลน์ให้เป็นแบบออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อหันกลับไปดูบริบทในพื้นที่แล้วยังต้องอาศัยทรัพยากรในการพัฒนาระบบอีกมาก พวกเขาเล่าให้ฟังว่าแพลตฟอร์มนี้มีอยู่แล้ว ซึ่งจัดทำโดยสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ มีเพียงระบบคำนวณซะกาตประเภทต่างๆ ยังขาดงบประมาณในการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มระบบซะกาตครบวงจรตามที่ตั้งใจไว้

 

เมื่อถามว่าแล้วสิ่งนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร พวกเธอจึงอธิบายให้เห็นทัศนียภาพทางสังคมที่ไม่เคยมีแหล่งข้อมูลจัดเก็บผู้มีสิทธิได้รับซะกาตอย่างเป็นระบบ และการตรวจสอบองค์กรบริหารจัดการซะกาตอย่างโปร่งใส เนื่องจากองค์กรบริหารจัดการซะกาตไม่แสดงงบการเงินต่อสาธารณะ ทำให้ผู้จ่ายซะกาตขาดความเชื่อมั่นและเลือกที่จะจ่ายซะกาตเองโดยไม่ผ่านองค์กร อาจเป็นเพราะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ว่าผู้รับซะกาตเป็นผู้มีสิทธิรับซะกาตตามเกณฑ์ที่ศาสนาอิสลามกำหนดหรือไม่ บางกรณีเกิดการจ่ายซะกาตซ้ำซ้อน ทำให้ซะกาตไม่ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สร้างเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยที่ผู้จ่ายซะกาตสามารถคำนวณและจ่ายซะกาตออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มได้ ผู้ขอรับซะกาตสามารถยื่นขอรับซะกาต ตรวจสอบสถานะการอนุมัติและยืนยันการรับสวัสดิการซะกาตออนไลน์ได้ ส่วนองค์กรก็สามารถบริหารจัดการซะกาตออนไลน์โดยผ่านสองระบบคือ ระบบสำนักงานใหญ่และระบบสาขาในชุมชน มีการแสดงงบการเงินต่อสาธารณชน และที่สำคัญมีระบบฐานข้อมูลผู้รับซะกาต (Zakat Recipients Map and Analytics Platform: ZRMAP) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาผู้รับซะกาตแบบชี้เป้า

 

แพลตฟอร์มเช่นนี้จะช่วยตอบคำถามสี่ประเด็น คือ 1) ผู้มีสิทธิรับซะกาตอยู่ที่ไหนและ 2) มีจำนวนกี่คนในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน 3) เขาต้องการการสนับสนุนด้านใด และ 4) หลังจากเขาได้รับเงินซะกาต 1 ปี เขามีสถานะพึ่งพาตนเองได้และหลุดพ้นจากผู้มีสิทธิรับซะกาตกี่คน เช่นนี้จะทำให้องค์กรบริหารจัดการซะกาตสามารถออกแบบนโยบายหรือโครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้ เช่น สวัสดิการส่งเสริมอาชีพ ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารรายเดือน ค่าสร้างซ่อมเช่าบ้าน ปลดหนี้ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง และ ค่าเทคโนโลยีและสื่อสาร เป็นต้น การแก้ปัญหาและแจกจ่ายซะกาตจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แก้ปัญหาผู้รับซะกาตซ้ำซ้อน เพราะมีระบบติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลผู้รับซะกาตรายครัวเรือนหรือบุคคลรายเดือนในระยะเวลา 1 ปี เพื่อพัฒนาผู้รับซะกาตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้หลุดพ้นจากผู้รับซะกาตและเป็นผู้จ่ายซะกาตต่อไป

 

 

“แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ครบวงจร” จึงเริ่มต้นจากประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวงล้อมแห่งความเหลื่อมล้ำ สมาชิกในทีมได้วางแผนอย่างเป็นระบบโดยประสานกับคณะกรรมการมูลนิธิ 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดยะลาเพื่อนำร่องใช้แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ต้นแบบในการบริหารจัดการซะกาตของมูลนิธิ โดยที่ผู้ขอรับซะกาตสามารถยื่นขอรับซะกาตออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต้นแบบกับมูลนิธิได้ อาสาสมัครของมูลนิธิจะลงพื้นที่เพื่อคัดกรองผู้มีสิทธิรับซะกาตที่ผ่านเกณฑ์เพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติสวัสดิการซะกาต

 

ในอีกทาง ผู้จ่ายซะกาตก็สามารถติดตามการลงพื้นที่เพื่อส่งมอบสวัสดิการแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตและงบการเงินของมูลนิธิผ่านแพลตฟอร์มได้ และในการเข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab ครั้งนี้ ทางทีมได้ตั้งเป้าหมายในการวัดผลผู้มีสิทธิได้รับซะกาต 3 กลุ่มด้วยกัน คือ คนขัดสน คนยากจน และมุสลิมใหม่ และยังตั้งเป้าว่าหลังจากการพัฒนาแพลตฟอร์มแล้ว จะมีคนเข้ามาจ่ายซะกาตแบบออนไลน์มากขึ้นไม่เฉพาะแต่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยี แต่หมายถึงคนทุกกลุ่มซึ่งประเมินได้ว่าการพัฒนาประสบความสำเร็จจริงๆ

 

ทางทีมย้ำว่าการจ่ายซะกาตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เงินที่ได้รับจากการจ่ายซะกาตสามารถแปรเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาของเด็กๆ อาหารที่มีคุณภาพของทุกคนในครอบครัว หรือสารตั้งต้นในการประกอบอาชีพเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากวัฏจักรของความยากจน เพราะในเมื่อซะกาตเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนในหลักศาสนาอิสลามที่ได้กำหนดให้ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติแล้ว ก็ควรจะทำให้กิจวัตรนี้ส่งผลกระทบต่อคนมากที่สุด พวกเขายังย้ำอีกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ระบบที่ดีจะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีคนเข้ามาใช้หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ได้ ยังมีอุปสรรคอย่างอื่นที่ต้องแก้ ไม่ใช่แค่ทีมเยาวชนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในหน่วยงานต่างๆ เช่น การยกเลิกลงทะเบียนแบบกระดาษ ข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และการแสดงผลของทั้ง 2 ฝั่งอย่างเรียลไทม์ ทั้งหมดต้องอาศัยทรัพยากรทั้งเงินสนับสนุนและแรงงานผู้ดูแลระบบ แต่พวกเธอก็เชื่อว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเราทุกคนจะเห็นว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์จริงๆ 

 

ปัจจุบันมีผู้เข้าชมแพลตฟอร์มประมาณ 5,321 คน และมีผู้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการจ่ายซะกาตแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งระบบสามารถอำนวยความสะดวกในการคิดคำนวณซะกาตที่ต้องจ่ายได้อย่างรวดเร็ว พวกเธอหวังว่าเมื่อไหร่ที่ระบบมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้มีคนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีต่อชีวิตของชาวมุสลิม และส่งผลกระทบถึงคนทั้งประเทศแน่นอน

 

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับซะกาตและเข้าไปเยี่ยมชมแพลตฟอร์มได้ที่นี่

 

  • Published Date:
  • by: UNDP

โบกรถไอติมทันแบบไม่ต้องนัดล่วงหน้า! กับนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำโดยเยาวชนไทย

 

“หาบเร่-แผงลอย” เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยที่ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายครั้งที่ผู้ประกอบอาชีพนี้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ และสร้างมลพิษในเมืองไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ทีม Carter กลับมองว่าบริการเหล่านี้ล่ะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ พวกเขาเห็นอะไรจากตรงนี้ ปัจจัยไหนที่จะช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้อย่างยั่งยืน?

 

เรามีนัดพูดคุยกับ แซก–ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม เยาวชนตัวแทนของทีม Carter เกี่ยวกับโปรเจกต์ของพวกเขาในโครงการ Youth Co:Lab 2021 ที่เพิ่งจะผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายและมีโอกาสได้พัฒนาเรื่องที่สนใจให้เป็นจริง เขาเล่าว่า Carter มาจากคำว่า Cart ที่แปลว่ารถเข็นโดยเติม er ต่อท้ายเพื่อให้เห็นว่ามีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกิจกรรมนั้น แซกบอกว่าเขากับทีมจะทำแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อให้มากขึ้น

 

ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าร้านค้าแบบหาบเร่แผงลอยคือปัญหาเรื้อรัง แต่ชาวต่างชาติกลับมองว่าเมืองไทยมีอัตลักษณ์ทางอาหารที่หลากหลายและเด่นชัด โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในทางสังคมศาสตร์ แซกมองว่าร้านอาหารประเภทนี้จำหน่ายอาหารในราคาถูกและช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถอิ่มท้องโดยไม่ต้องจ่ายเงินเยอะเกินความจำเป็น ในอีกทางผู้ขายก็ไม่ต้องลงทุนเยอะเพื่อมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้กำลังเกื้อกูลซึ่งกันและกันอยู่ หากวันหนึ่งสินค้าแบบหาบเร่-แผงลอยหายไป ก็คงมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน

 

แต่ทีม Carter ก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อประเด็นพื้นที่สาธารณะ แซกอธิบายว่าภารกิจของทีมมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน ร้านค้าต้องสะอาด ปลอดภัย มีมาตรฐาน และผู้ขายต้องก้าวทันโลก เพราะบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มักผูกติดร้านค้าซึ่งมีที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง ทำให้ผู้ขายแบบหาบเร่-แผงลอยหมดสิทธิเข้าระบบและต้องขายในวิถีเดิมต่อไป ปัจจุบันกรุงเทพฯ อนุญาตให้ร้านค้าเหล่านี้ขายในตลาดและพื้นที่ผ่อนผัน แต่ขายเร่ขายไปเรื่อยก็ยังคงมีประเด็นอยู่ตลอดอย่างที่เห็นกรณีรถไอศครีมที่ถูกจับและปรับไปก่อนหน้านี้ แซกมองว่าพวกเขาเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการดูแล ขึ้นทะเบียนผู้ค้าไม่ได้ และถูกกำจัดให้หมดโดยไม่เคยมีกระบวนการมีส่วนร่วม ผู้มีอำนาจรัฐอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนจนเมืองที่เฝ้ารอการมาถึงของร้านค้าประเภทนี้อยู่ทุกวัน

 

 

Carter จึงเป็นแอปพลิเคชันที่แมตช์กลุ่มเปราะบางทางสังคมทั้ง 2 นี้ให้มาเจอกันได้ง่ายขึ้น หลักการทำงานง่ายๆ ก็คือเป็นแพลตฟอร์มติดตามร้านค้าหาบเร่แผงลอยว่าตอนนี้เดินทางถึงไหนแล้ว หรือมีจุดขายตรงไหนบ้างในหนึ่งสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าสามารถสั่งจองหรือซื้อสินค้าได้ล่วงหน้า หรือดักรอร้านค้าเมื่อเห็นในแผนที่ว่ากำลังจะมาถึงจุดหมาย เขามองว่าเราควรใช้โอกาสนี้ที่ประชาชนมีความรู้เรื่องดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นจากการใช้โครงการรัฐต่าง ๆ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ ปัญหาที่ทีมกังวลจึงไม่ใช่เรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่คือความยั่งยืนของแอปพลิเคชัน ซึ่งมีผู้ใช้เป็นตัวแปรสำคัญ พวกเขาจึงตั้งเป้าหมายย่อยเพื่อเริ่มทดลองใช้นวัตกรรมนี้ และประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้เห็นถึงคุณค่าของร้านหาบเร่แผงลอยในเวลาเดียวกัน

 

สมาชิกในทีมทั้ง 5 คนจะแบ่งหน้าที่และขอบเขตในการทำงานอย่างชัดเจน โดยมีทั้งฝั่งพัฒนาแอปพลิเคชัน มาร์เก็ตติ้ง และฝั่งที่ทำเรื่องประเด็นสังคมซึ่งมีการประสานความร่วมมือไปกับหน่วยงาน NGO บางแห่งเพื่อขอข้อมูลและองค์ความรู้ที่สำคัญ แซกบอกกับทีมเสมอว่าถ้าไม่ได้เข้ามาในโครงการ Youth Co:Lab ก็คงไม่มีทางที่โปรเจกต์จะเป็นรูปเป็นร่างได้ขนาดนี้ เพราะจากแต่ก่อนที่มุ่งเน้นทำแต่ประเด็นสังคมเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากผ่านการเทรนนิ่งมาแล้ว ทำให้เขาเข้าใจการสร้างธุรกิจทางสังคมที่ยั่งยืนซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของทีมมาก ๆ เพราะพวกเขาเองก็ไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และโครงการ Youth Co:Lab ยังเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำตลอดการทำกิจกรรม

 

เมื่อถามถึงตัวชี้วัดและแผนการทำงานในอนาคต แซกยอมรับว่าภาพทั้ง 2 อย่างยังไม่ชัดเจน เพราะเรื่องหาบเร่แผงลอยเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก พวกเขากำหนดขอบเขตในการดำเนินงานออกเป็น 4 เฟสด้วยกัน โดยช่วงแรกจะเน้นไปที่การสร้างระบบที่ง่ายต่อการใช้และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ได้มากที่สุด เขายังไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ใจว่าผลตอบรับในระยะยาวจะเป็นอย่างไร แต่ก็จะมี KPI ของกลุ่มกำหนดไว้ว่าควรได้ร้านค้าและผู้ใช้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละเดือน ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำเสร็จในทีเดียว ยิ่งเป็นโปรเจกต์ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยแล้ว การปรับเปลี่ยนแผนก็เป็นเรื่องธรรมดา

 

ในฐานะที่พวกเขาเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งมาพูดถึงประเด็นที่ใหญ่มาก แซกมองว่าคงจะหาทีมแบบนี้ที่ไหนไม่ได้อีกแล้วที่ทุกคนมองเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในสังคม นี่ไม่ใช่การทำสตาร์ทอัพธุรกิจเพื่อหากำไร แต่คือธุรกิจเพื่อสังคมที่กำไรโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต่างหาก ทุกคนตั้งเป้าหมายไปไกลกว่านั้น สิ่งที่พวกเขาลงมือทำอยู่ตอนนี้คือการสร้าง Prototype และคอนเท้นท์ที่จะทยอยปล่อยออกมา รวมถึงการหา Worst Case Scenario ต่างๆ เพื่อคาดการณ์ปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง เขาบอกว่าพื้นที่ในอุดมคติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการมีส่วนร่วมเท่านั้น ภาพยูโทเปียคือทุกคนคุยกันได้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

 

ติดตามการทำงานของทีม Carter ได้ที่เฟซบุ๊ก Carter – เเอปพลิเคชันหาบเร่เเผงลอย 

  • Published Date:
  • by: UNDP

CHANCE: จากพี่ชายที่เคยถูกจองจำ สู่การสร้างรายได้ให้ผู้ต้องหาผ่านนวัตกรรมเพื่อสังคม

 

‘Left No One Behind’ หรือ ‘จะไม่ทิ้งใครวางข้างหลัง’ ธีมหลักของงาน Youth Co:Lab ประจำปี 2021 ที่ UNDP มองว่ายังมีช่องวางในสังคมมากมายที่ต้องการอุดรูรั่ว และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดูจะเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดเพราะเป็นวิธีการสร้างมีส่วนร่วมเพื่อทุกคนในสังคม โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์นวัตกรรมจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีเลนส์ในการมองปัญหาแบบร่วมสมัย และมองประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองโลกซึ่งควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

 

‘CHANCE’ หนึ่งในกลุ่มที่เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายโครงการ Youth Co:Lab 2021 ที่นำเสนอธุรกิจเพื่อสังคมโดยโฟกัสไปที่ผู้ต้องหาในเรือนจำซึ่งบ่อยครั้งที่พวกเขาถูกละเลยจากสังคมและพวกเราอาจลืมไปว่าพวกเขาก็ต้องการการมองเห็น และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเช่นกัน แรงบันดาลใจของทีมเกิดจากประสบการณ์โดยตรงของสมาชิกคนหนึ่งที่พี่ชายของเธอเคยอยู่ในเรือนจำ และเธอมองว่าถึงแม้บางคนจะเคยกระทำผิด แต่หากสังคมไม่เปิดโอกาสใหม่ให้ พวกเขาเหล่านั้นอาจกลับมาทำผิดอีกครั้งจนเกิดเป็นวัฎจักรเดิมๆ และไม่ขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

 

พวกเขาเล่าว่าเป็นโปรเจ็คท์ที่เคยคิดกันมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ยังไม่ได้ริเริ่มเพราะเจออุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงต้องหยุดชะงักไป พอผ่านเข้ารอบจากการนำเสนอในโครงการนี้จึงอยากจะสานต่อในสิ่งที่เคยคิดไว้เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง เหมือนอย่างที่ ‘ลีลานวดไท’ ร้านนวดแผนโบราณในจังหวัดเชียงใหม่ที่ให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังหญิงได้มาประกอบอาชีพและเพิ่มทักษะในงานบริการให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของทีมนี้เช่นกัน เพราะพวกเขาบอกว่าหากเปรียบเทียบเป็นการหาอาหารเพื่อดำรงชีพ ก็อยากสอนให้จับปลามากกว่าเอามาปลาให้เลย

 

ปลาในนิยามของพวกเขาจึงหมายถึงการลงมือเพ้นท์เสื้อผ้าและร้อยเรียงลูกปัดให้เกิดเป็นเครื่องประดับที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้ พวกเขาพบว่าทางเรือนจำจะอนุญาตให้นักโทษสามารถสร้างงานฝีมือจากข้างในโดยได้จะช่วยประเมินราคาให้พวกเขาได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม และถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ก็สามารถพาวิทยากรเข้าไปอบรมในสถานที่จริงได้ ซึ่งถึงแม้จะมีการออกร้านเพื่อขายสินค้าจากนักโทษในเรือนจำอยู่บ่อยครั้ง แต่ทางกลุ่มก็มองว่านี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อเพิ่มทั้งโอกาส รายได้ และทักษะไปพร้อมกัน และตั้งใจว่าจะไม่ใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์จากนักโทษ” มาเป็นจุดขาย เพราะอยากให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากความสวยงามและคุณภาพมากกว่าความสงสาร

 

 

หลังจากที่ผ่านการเทรนนิ่งไปทั้งสิ้น 4 ครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจทุกมิติในประเด็นที่อยากขับเคลื่อน และได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อสังคม สมาชิกในกลุ่ม CHANCE จึงเริ่มเขียนแผนธุรกิจและตั้งเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะเป็นการค้นหาซัพพลายที่ไว้ใจได้และออกแบบลายเพ้นท์เพื่อกำหนดรายละเอียดของชิ้นงาน สมาชิกในกลุ่มยังเน้นย้ำว่าข้อดีของสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายคือการคุมเส้นทางการผลิตได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และในอนาคตมีแผนจะนำวิทยากรไปสอนทักษะการออกแบบลายเสื้อผ้าในเรือนจำซึ่งจะยิ่งเพิ่มการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องขังให้ได้มากขึ้นอีก

 

ในช่วงเป้าหมายระยะสั้น กลุ่ม CHANCE ตั้งใจจะผลิตสินค้าให้ได้ออกมาทั้งหมด 12 ชิ้น ซึ่งจะเป็นเดรสเพ้นท์ลายดอกไม้สำหรับสุภาพสตรีที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันทั้งตอนไปทำงานหรือในกิจกรรมอื่นๆ และมองช่องทางการขายแบบออนไลน์เพราะลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรคพร้อมยังเป็นแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลของลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้มองแค่เพียงเป้าหมายในตอนนี้เท่านั้น แต่ยังมองถึงการต่อยอดขยายผลโปรเจ็คท์ในระยะยาว ที่จะขายในระดับต่างประเทศในช่องทางอีคอมเมิร์สหลายๆ ที่

 

เมื่อถามว่าหากไม่ได้เข้ารอบต่อไปซึ่งจะมีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่จะได้รับการคัดเลือก ทางกลุ่มมีแผนรองรับโปรเจกต์ของตัวเองไหม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถตอบกลับได้ทันทีว่าหากไม่ได้รับทุนสนับสนุนต่อ แต่สินค้าที่ผลิตมาในช่วงแรกนั้นขายได้ พวกเขาก็จะมีเงินส่วนต่างเพียงพอที่จะไปสานต่อกิจกรรมนี้ได้เอง เพราะการอบรมกับในก่อนหน้านี้นั้นได้เปลี่ยนทัศนคติพวกเขาไปแล้วเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ต้องมองว่าเป็นหนึ่งธุรกิจที่ต้องสามารถสร้างระบบนิเวศให้อยู่ได้ด้วยตัวเองเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง ทางกลุ่มยังเสริมด้วยว่าเมื่อได้รับผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จแล้ว ก็จะทราบด้วยว่าเป็นผลงานของใคร ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาสานต่อในอนาคตได้หากผู้ต้องขังคนนั้นพ้นความผิดแล้วและยังอยากจะสร้างรายได้ผ่านการทำงานแบบนี้อยู่ เพราะจากผลสำรวจที่ผ่านมาคือ ผู้พ้นผิดส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอคติทางสังคมและหางานทำได้อย่างยากลำบาก และพวกเขาก็อยากสร้างอีกหนึ่งโอกาสที่ให้อดีตนักโทษมีรายได้โดยไม่ต้องกลับไปกระทำผิดอีก

 

ปัจจุบันทีม CHANCE ได้ทำโครงการนี้ร่วมกับเรือนจำกลางอุบลราชธานี และตั้งใจว่าอยากตั้งชื่อแบรนด์นี้ว่า
“ช่อผกา” เพราะอยากใช้ลายเพ้นท์รูปดอกไม้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองให้ผู้บริโภคได้จดจำโดยจะไม่ใช้ความน่าสงสารในเรือนจำเป็นจุดขาย และตั้งใจว่าจะขยายผลให้เติบโตต่อไปเรื่อยๆ เพราะทราบว่ายังมีผู้ต้องขังอีกมากที่มีความสามารถด้านงานศิลปะและการออกแบบ แต่ยังไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออกเท่าที่ควร

 

สามารถติดตามรายละเอียดผลิตภัณฑ์และการดำเนินโครงการของกลุ่ม CHANCE ได้ที่ เฟซบุ๊ก Chorphaka และ Instagram @chorphaka.official

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779