- Published Date: 27/09/2019
- by: UNDP
เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้?
เมื่อได้ยินคำว่า ‘นวัตกรรม’ หรือโดยเฉพาะ ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ การบริการภาครัฐ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่จริง ๆ แล้ว นวัตกรรมสังคม ไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น แต่หมายความกว้างไปถึงสิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อหวังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสังคม (systemic change) ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงด้วย
สำหรับคนในพื้นที่ขัดแย้ง ‘นวัตกรรม’ หรือ ‘การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวและแยกส่วนจาก ‘การสร้างสันติภาพ’ แต่จากการศึกษาและถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์ของสถาบัน Agirre Lehendakaria Center for Social and Political Studies (ALC) ซึ่งนำโดย Gorka Espiau พบว่าประเด็นการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน การใช้นวัตกรรมสังคม หรือการสร้างพื้นที่กลาง (Platform) นวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งสามารถช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเกิด ‘สันติภาพ’ ได้ เพราะสันติภาพไม่ได้หมายเพียงถึงสถานการณ์ที่ปราศจากความรุนแรง แต่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ รวมถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย หรือรวมเรียกว่าเป็น “สันติภาพที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Peace”
UNDP ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ Gorka Espiau และ Iziar Moreno ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมจากแคว้นบาสก์ ในการแนะนำกระบวนการทำงานของนวัตกรรมสังคมให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส) และออกแบบแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมร่วมกันกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพ โดยการเดินทางไปยังภาคใต้ของเราในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากความอยากรู้และอยากทดลองว่าแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมจะสามารถกลายเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ และมันจะสามารถเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาในหลายๆ มิติเข้าด้วยกันได้อย่างไร
เกิดอะไรขึ้นบ้างในเวิร์กชอป
1. แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแคว้นบาสก์
Gorka ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในแคว้นบาสก์ พื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจของ แคว้นล่มสลาย หากในปัจจุบันบาสก์กลับมี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในยุโรปและเป็นยังผู้นำเรื่องด้านศึกษาอีกด้วย ความสำเร็จด้านการพัฒนาของแคว้นบาสก์นี้ได้รับขนานนามว่าคือ Basque Transformation หรือการแปรเปลี่ยนแคว้นบาสก์ให้กลายเป็นเมืองแห่งการพัฒนา
การเรียนรู้จากแคว้นบาสก์สามารถสรุปได้อย่างคร่าว ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประชาชนในบาสก์มี ‘เป้าหมายร่วมกัน’ คือปรารถนาจะลบภาพ ‘สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง’ ออกจากความเป็นแคว้นบาสก์ และต่างเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างการเชิญ Frank Gehry มาสร้าง Gugenheim Bilbao ให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง การก่อตั้งสหกรณ์คนทำงานอย่าง Mondragon หรือที่กลุ่มเชฟในพื้นที่ดึงเอาอาหารและวัตถุดิบพื้นเมืองมาประยุกต์ในสไตล์โมเดิร์น ฝรั่งเศส จนได้รับการยอมรับจากมิชลิน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย กลายเป็นฟันเฟืองที่เชื่อมโยงกันและส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของแคว้นพัฒนาอย่างรุดหน้า จนฝ่ายกองกำลังสู้รบ Euskadi ta Askatasuna หรือ ETA ตัดสินใจวางอาวุธ นำไปสู่สันติภาพในท้ายที่สุด
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง การถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์อย่างละเอียดได้ในบทความของเราต่อไป
2. ลองเชื่อมโยง‘สิ่งใหม่ ๆ’ ที่เราได้ทำในพื้นที่
ผู้เข้าร่วมได้ลองช่วยกันคิดว่ากิจกรรม โครงการ กระบวนการที่เราเคยได้เพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเองมีอะไรบ้าง โดยมีการคิดอย่างครอบคลุม 5 ระดับ
1. กิจกรรมชุมชน (community actions) เช่น การนั่งหารือกันในมัสยิด จนได้ข้อสรุปเป็นการรับบริจาคขยะ แทนการรับบริจาคเงิน และนำไปขายเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า
2. วิสาหกิจขนาดเล็ก–กลาง (small-medium scale entrepreneurship) เช่น การก่อตั้ง Fiin Delivery บริการส่งอาหารในพื้นที่
3. วิสาหกิจขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ–เอกชน (large scale public-private partnership) เช่น ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ
4. การบริการสาธารณะ (public service) เช่น การจัดรถพยาบาลในหมู่บ้านเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง
5. กฎระเบียบใหม่ ๆ (new regulation) เช่น กฎฌาปนกิจที่เป็นข้อตกลงในหมู่บ้านเรื่องการขอความร่วมมือทุกคนร่วมช่วยเหลือการจัดงานศพเมื่อมีคนเสียชีวิต
การได้คิดอย่างเป็นระดับนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวและเริ่มที่จะมีภาพที่เห็นร่วมกันว่าแท้จริงแล้วนวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวพวกเขา หากแต่เป็นสิ่งที่อาจทำอยู่แล้วในชุมชน
“การพัฒนาอย่างยื่งยืนในพื้นที่ขัดแย้งมันเกี่ยวข้องกับวิธีที่เราเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งอาจถูกซ้อนเร้นโดยความขัดแย้งและความรุนแรง และวิธีการที่เราจะคิดขึ้นมาเป็นทางเลือกในการสร้างการเปลี่ยนแปลง“
3. เรียนรู้ที่จะรู้จัก ‘ฟัง’
กระบวนการแรกที่มีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ “กระบวนการรับฟัง”
เราต้อง ‘ฟัง’ ในสิ่งที่อาจไม่ถูกพูดออกมาเพื่อค้นหาสาเหตุของการกระทำ ความเชื่อ และคุณค่าเบื้องหลัง และเชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ที่สำคัญคือการค้นหาว่าคนในชุมชนเชื่อในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความเชื่อนี้สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาได้ เช่น บางชุมชนที่แม้อาจได้รับการสนับสนุนมากมายจากรัฐ แต่คนในชุมชนไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเลยเพราะได้ถูกสั่งสอนมาว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้ออกไปทำงานที่เมืองหลวงเท่านั้น ในทางกลับกัน หากชุมชนใดมีความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ก็จะแสวงหาโอกาสจากต้นทุนที่มี เช่นอาจให้มีคนมาเปิดกิจการเล็ก ๆ ในพื้นที่และเริ่มหาโอกาสแก้ไขปัญหาการว่างงาน เป็นต้น
ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ความสำคัญของการรับฟังนี้ พร้อมคิดทบทวนว่าประเด็นใดบ้างที่เป็นความท้าทายและโอกาสในพื้นที่ และเชื่อมโยงประเด็นเหล่านั้นด้วยกัน
4. Co-creation ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมทำ
ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสทดลองออกแบบและคิดไอเดียนวัตกรรมสังคมร่วมกัน เพื่อนำไปลงมือทดลอง (prototype) ต่อไป
กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนนี้คือกระบวนการสำคัญที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญของการ co-create คือต้องมีคนจากทั้ง 5 ระดับที่กล่าวไปข้างต้นเข้าร่วมด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือระบบได้จริง
ตัวอย่างไอเดียและเรื่องราวน่าสนใจจากคนในพื้นที่
• การเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว เป็นประเด็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมหลายคนเห็นพ้องต้องกันในการต่อยอดการพัฒนา ทุกคนมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตน แต่ยังไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของพื้นที่ไม่ดี ส่งผลให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจเกิดความกลัวที่จะเข้ามา ในขณะเดียวกันสามจังหวัดเองก็มีคนที่มีความสามารถหรือกิจกรรมน่าสนใจจำนวนมากแต่กลับ ไม่ได้รับการนำเสนอออกไปในสื่อเท่ากับภาพความรุนแรง
• ผู้เข้าร่วมเห็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เช่น ลองกอง ทุเรียน ไปจังหวัดหรือประเทศข้างเคียง ในจังหวัดนราธิวาส ประชาชนมีรายได้หลักจากการกรีดยาง ซึ่งทางการพยายามส่งเสริมให้คนปลูกพืชผักผลไม้อื่นเพื่อให้มีแหล่งรายได้เพิ่มเติม หากแต่การกรีดยางถูกมองว่าเป็นวิถีชีวิตที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคนในท่องถิ่นก็ยังคงอยากรักษาความรู้และวัฒนธรรมนี้ไว้ จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ และให้การแก้ปัญหาของภาครัฐตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง?
• ผู้เข้าร่วมเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่เช่นการทำเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดให้ต่อเนื่องกัน และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในแบบที่ชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย
• ในบางพื้นที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนท้อแท้และสิ้นหวัง ทำให้ยากที่จะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ใด ๆ นักกิจกรรมสังคมหลายคนก็หยุดการเคลื่อนไหวการทำงานพัฒนาต่าง ๆ มีการเสนอแนวคิดการตั้ง PeaceLab ขึ้นในพื้นที่ และปรับใช้เทคโนโลยีและสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

3 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง
1. การฟังและสะท้อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการที่เราได้ฟังบุคคลจาก “ทุกภาคส่วน” และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถฟังบุคคลที่มาจากต่างพื้นฐาน ต่างประสบการณ์ ต่างอาชีพ แต่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน มาพูดถึงเมืองของเราผ่านคนละมุมมอง ซึ่งเวิร์กชอปในครั้งนี้ เราก็มีผู้เข้าร่วมมาจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำชุมชน กลุ่มธุรกิจ Startup และภาคประชาสังคม
เริ่มจากคำถามที่ว่า “หากเราจะอธิบายจังหวัดปัตตานี/ยะลา/นราธิวาส ให้กับคนที่ไม่รู้จักฟัง เราจะเล่าถึงจังหวัดเราว่าอย่างไร?” คำตอบของแต่ละคนก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในพื้นที่
เราได้รับฟังเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากมุมมองที่ต่างกัน และในความต่างนี้เอง เรากลับพบความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ นั่นคือ พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันด้วยความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของพื้นที่ ทั้งมุสลิม พุทธ จีน และเขารู้สึกว่าแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ยังอยู่ร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรจากพื้นที่เดียวกันได้ เป็นสเน่ห์ของคนสามจังหวัด ดังที่สะท้อนได้จากคำพูดหนึ่งของบทสนทนาที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดคือ “กิจศาสนาเราแยกกันทำ กิจสังคมเรามาร่วมกัน”
หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคำถามที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง “คุณคิดว่ามีปัญหาอะไรในพื้นที่ ที่คนในจังหวัด ไม่เคยพูดถึง แต่รู้สึกว่ามันมีอยู่” บทสนทนาที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่ได้มองเห็นภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแค่ผิวเผินตามภาพจำที่มีแต่ความรุนแรง กลับทำให้เราได้เห็นภาพความเชื่อมโยงทางมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการร้อยเรียงของปัญหาตั้งแต่ต้นตอจนถึงปลายทาง
จากการสังเกตบรรยากาศในวงสนทนา เราพบว่าการมีพื้นที่รับฟัง ให้แต่ละคนได้เล่าถึงความรู้สึกนึกคิด และประสบการณ์ของตัวเองในจังหวัด ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกระบวนการ และก้าวข้ามการด่วนตัดสินและสรุปวิธีการแก้ปัญหาโดยทันที เปรียบเสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาผ่านเรื่องราวต่าง ๆ โดยสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนกรคือต้องวางใจเป็นกลาง เปิดพื้นที่ให้เป็นภาชนะว่าง ๆ ที่รองรับเรื่องเล่าต่าง ๆ โดยไม่สรุปและตัดสิน
นอกจากนี้ กระบวนการสะท้อนหลังจากฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ และนำมาเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ผ่านแผนภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน จุดประสงค์ในการทำขั้นตอนนี้ ไม่ใช่การเร่งรัดสรุปปัญหา แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพสะท้อนความเชื่อมโยงของสิ่งที่ตัวเองเล่ามา โดยกระบวนกรไม่จำเป็นต้องกังวลว่าลูกศรที่ลากเชื่อมเรื่องราวในแผนภาพจะถูกหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีส่วนที่ผิด มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แก้ไขให้ถูกต้อง กระบวนการทำและแก้ไขแผนภาพนี้เป็นกระบวนการร่วม คือผู้เล่าทุกคนทำร่วมกัน เพื่อให้เรื่องเล่าของทุกคนมาอยู่ในภาพเดียวกันได้
2. จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากความเชื่อร่วมกันว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้”
กระบวนการรับฟังไม่ควรเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ควรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ให้เราทำความเข้าใจแล้ว ทำความเข้าใจอีก ซึ่งจะนำไปสู่การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องจับใจความให้ได้ก่อนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงคือ ต้องตอบให้ได้ว่า “คนในพื้นที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้หรือไม่”
คำถามนี้ดูเป็นคำถามที่ง่าย แต่การแน่ใจว่าคำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบที่ “จริงแท้” จากใจผู้เข้าร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะในพื้นที่ที่เผชิญกับความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ทุกวัน ผู้คนมักถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และการใช้ชีวิตในเชิงบวกไปมากโขอยู่เหมือนกัน คำตอบแรกของเขาอาจจะเป็นคำว่า “ใช่ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้” แต่อาจจะตามมาด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อความเป็นไปได้ว่าจะก้าวข้ามเงื่อนไขเหล่านั้นได้หรือไม่
“แล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ล่ะ เราจะทำอย่างไร?” การหันไปโฟกัสการสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ‘เป็นไปได้’ (หรือแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาก็กำลังทำมันอยู่) คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่สำคัญในการประเมินพื้นที่ กับท่าทีการไปต่อ ทำให้เราส่งเสริมการพัฒนาอย่างไม่ข้ามขั้น และค่อย ๆ ทำมันอย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงแบบ “Transformative Change” จะเกิดขึ้นได้ จากความเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ของคนในพื้นที่ และความเชื่อนั้นจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ในระดับปัจเจกบุคคล แต่จะส่งผลต่อระดับองค์กร และระดับพื้นที่ต่อไป การหมั่นตรวจสอบความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนจะข้ามไปสู่ขั้นตอน “Co-creation” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
3. การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องมาจากคนในพื้นที่
ในสามวันนี้ หลังจากที่เราได้ลองทำกระบวนการตั้งแต่ Listening-Co-creation-Prototype ทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาและโอกาสในพื้นที่ เราได้สิ่งที่น่าสนใจที่น่าต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ เช่น เรื่องอาหาร และวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม การไปต่อในขั้นต่อไป ในฐานะกระบวนกร เราอาจจะต้องก้าวถอยหลังมาหนึ่งก้าว เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ได้ตีความและสรุปด้วยความเข้าใจของเขาเอง
ถึงแม้ว่าในฐานะกระบวนกร เราอาจจะมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือมากกว่า การตีความอาจจะง่ายกว่ามากหากกระบวนกรเป็นผู้สรุปความเชื่อมโยง ปัญหา โอกาส ความเป็นไปได้ และชี้นำทิศทางที่ผู้เข้าร่วมควรทำ แต่การสรุปแบบนั้นอาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนความจริง เนื่องจากเป็นการตีความและสรุปให้ความหมายโดยคนนอกพื้นที่
ในกระบวนการสร้าง “Transformative Change” การขับเคลื่อนโดยคนในพื้นที่และตีความร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และแน่นอนว่ามีความซับซ้อนกว่ามาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องออกจากความคุ้นชินในการเร่งตัดสิน เร่งด่วนสรุป และเปิดพื้นที่ในการตีความร่วมกันให้ได้มากที่สุด
แน่นอนว่าใน 3 วันนี้ คนในพื้นที่อาจจะยังไม่สามารถตีความ เชื่อมโยงและสรุปร่วมกันได้ในทันที แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้เริ่มรู้จักวิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะมาใช้ในกระบวนการสันติภาพ และเราเชื่อว่ากระบวนการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ เช่นเดียวกับที่สุดท้ายแก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นไม่ใช่เพียงการทำงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย 17 ข้อเพียงย่างเดียว แต่ คือการพัฒนาโดย “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้อาจจะใช้เวลามากกว่าเดิม ซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม แต่ก็จะทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
“นวัตกรรมเพื่อสังคมควรเป็นตัวกลางที่นำผู้คนมารวมกันเพื่อให้เกิดเป้าหมายและภารกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนา ในฐานะชุมชนท้องถิ่น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญและเชื่อมโยงมันกับโอกาสและแนวคิดใหม่ ๆ ”

ที่สำคัญที่สุด การเวิร์กชอปเพื่อร่วมสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในสามจังหวัดครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมทุกคน ขอยกย่องความดีความชอบให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่จาก
จังหวัดปัตตานี : ตำบลท่าน้ำ ตำบลบ้านนอก ตำบลน้ำบ่อ ตำบลเตราะบอน
จังหวัดยะลา : ตำบลลำใหม่ ตำบลบ้านแหร ตำบลบันนังสตา
จังหวัดนราธิวาส : ตำบลแว้ง ตำบลช้างเผือก
รวมทั้งตัวแทนสตาร์ทอัพ ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยจากทุกจังหวัด
• CHABA Startup Group
• Sri Yala MyHome
• PNYLink
• Digital4Peace
• Saiburi Looker
• HiGoat Company
• MAC Pattani
• MAC Yala
• MAC Narathiwat
• Hilal Ahmed Foundation
• CSO Council of Yala
• มูลนิธินูซันตารา
• มหาวิทยาลัยทักษิน
• สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์