• Published Date: 15/12/2022
  • by: UNDP

Ocean Heroes: พลังของคนรุ่นใหม่ กับการกำจัดขยะในทะเลด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของนราธิวาส

‘นราธิวาส’ จังหวัดที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลที่การทำประมงพื้นบ้านถือเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตดั้งเดิมของพลเมืองในจังหวัดแห่งนี้ นอกจากความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบที่คาดการณ์ไม่ได้จะเข้ามากระทบวิถีชีวิตของชาวนราธิวาสแล้ว ขยะทางทะเลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาในปัจจุบันที่ทุกคนกำลังเผชิญ ทั้งขยะพลาสติกที่ลอยมาติดตามชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งคลื่นที่เปลี่ยนวิถีก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนที่นี่ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม

 

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่โครงการ Youth Co:Lab โดย UNDP ประเทศไทยได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับเยาวชนในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้ง 17 ข้อ จากรูปแบบการจัดงานที่ชวนเยาวชนจากทั่วประเทศมาทำกิจกรรมร่วมกันที่กรุงเทพฯ การใช้เทคโนโลยีพูดคุยแบบออนไลน์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือแม้กระทั่งเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมให้กับเยาวชนที่มาร่วมงาน ทั้งหมดนี้คือการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในแต่ละปีที่จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป 

 

สำหรับ โครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ UNDP ประเทศไทย ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานอีกครั้งโดยลงไปหาเยาวชนถึงในพื้นที่ และร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) พันธมิตรหลักในการทำงานของปีนี้ซึ่งเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน

 

 

ขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อไหร่จะหมดไปสักที?

Ocean Heroes ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นค่ายกิจกรรมแรกของ อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ซึ่งเริ่มมาจากประเด็นเรื่องขยะทางทะเลของจังหวัดนราธิวาส ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มชาวประมงชายฝั่งที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวซึ่งมักจะมีขยะพลาสติกลอยมาติด และสร้างปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะจากอุตสากรรมการประมง เช่น การใช้อวนที่ผิดกฎหมาย ความร่วมมือกับ UNDP ประเทศไทยในโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้จึงเป็นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จาก UNDP ประเทศไทยได้ลงสำรวจพื้นที่จริง เพื่อพูดคุย และสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Train the Triners ในช่วงเดือนมิถุนายนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสร้างทักษะการเป็นกระบวนกรให้แข็งแรงให้สามารถนำกลับมาใช้ในพื้นที่ของตนเองได้

 

เยาวชนเกือบ 100 ชีวิตจาก 19 ทีม ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการ Ocean Heroes ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากความสามารถในการรองรับเพียง 25 คน หรือ 5 กลุ่มเท่านั้น นี่อาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ Youth Co:Lab ในปีนี้ที่เข้าถึงเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมได้จริง เยาวชนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอายุอยู่ที่ประมาณ 16-21 ปี โดย อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้จัดกระบวนการ First Meet ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกสำหรับสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs รวมถึงการจัดการขยะทางทะเลในรูปแบบต่างๆ โดยเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปขยะจนกลายเป็นสินค้ามาให้ความรู้ และไอเดียแก่เยาวชนทุกกลุ่ม ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญสำหรับกิจกรรมในครั้งแรกนั้น คือการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาขยะทางทะเลโดยตรง หาความเกี่ยวข้องของผู้ถูกสัมภาษณ์ กับความสนใจของเยาวชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มจำแนกได้ว่า ปัญหาที่พบจากการไปพูดคุยกับคนในท้องถิ่นอยู่ในมิติไหนของ SDGs เช่น เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม จากนั้นพวกเขาต้องมาหาไอเดียสำหรับแก้ปัญหา ถามตัวเองว่าไอเดียของแต่ละทีมจะได้ประโยชน์กับใครบ้าง และพวกเขาจำเป็นต้องทำงานกับใครเพื่อให้สิ่งที่คิดไว้ให้เเกิดขึ้นจริง

 

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดถือเป็นจุดเริ่มต้นของ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมตัวนำเสนอในรอบคัดเลือกซึ่งจัดแบบออนไลน์ โดยมี UNDP อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และศึกษาธิการของจังหวัดนราธิวาสเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อดูปัญหาที่เด็กๆ ได้ไปเจอมาว่าทีมไหนมีรายละเอียดที่ลงลึกมากกว่ากัน โดยในรอบนี้จะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบเพียง 5 กลุ่มหรือ 25 คนเท่านั้น 

 

ถึงแม้จะมีเยาวชนบางคนที่ต้องผิดหวังจากการคัดเลือก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เข้าใจประเด็นปัญหาขยะทางทะเลเพิ่มขึ้น และมีกระบวนการคิดเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองต่อไปในอนาคต

 

แก้ไขปัญหา เริ่มที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากพลเมืองทุกคนที่ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว นวัตกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ควรได้รับการใส่ใจเช่นกันในฐานะหนึ่งในประดิษฐกรรมที่ประกอบสร้างชุมชนขึ้นมา หลังจากผ่านรอบคัดเลือกมาแล้ว เยาวชนทั้ง 5 ทีมจะเข้าสู่ค่าย Ocean Heroes ซึ่งใช้ การคิดเชิงออกแบบ (Human Centred Design) มาเป็นกรอบคิดหลักของการดำเนินงาน โดยก่อนจะเริ่มลงมือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขาจะต้องเข้าใจขั้นตอน Empathize หรือ การเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริง ซึ่งพี่ๆ กระบวนกรจาก อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้พาลงพื้นที่ไปเจอกับกลุ่มชาวประมงที่ออกเรือทุกวัน เพื่อสร้างความเข้าใจในแง่มุมเรื่องปัญหาขยะทางทะเล และได้มองเห็นมิติของการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับคนในครอบครัวชาวประมงแต่ละบ้าน แล้วนำข้อมูลที่ได้กลับมาสรุป จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการนิยามปัญหาผ่านเครื่องมือเป็น Problem Tree ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะต้องมองในมุมกว้าง และต้องจัดเรียงลำดับของปัญหาให้ถูกต้อง

 

วันต่อมาพี่ๆ กระบวนกรจะเริ่มพาเยาวชนทุกคนเข้าสู่กระบวนการ หาไอเดีย (Ideate) โดยพาเด็กๆ ไปดูภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพราะนวัตกรรมท้องถิ่นเป็นไอเดียที่พวกเขาจับต้องได้ และสามารถต่อยอดออกไปในอนาคต ซึ่งเยาวชนทั้ง 5 กลุ่มได้ไปดูการทำเสื่อกระจูดที่บ้านทอน ผ้าบาติกที่อำเภอบาเจาะ และดูการทำกรงนกเขาชวา 

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง พวกเขารู้สึกว่าหนึ่งปัญหามีหลายทางออก และมีความเป็นไปได้มากมาย จากก่อนหน้านี้ที่เยาวชนส่วนใหญ่มักยึดติดอยู่กับไอเดียเดิมๆ หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพราะกลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง เมื่อมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากมาย พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกสนุกกับการแก้ไขปัญหา และลงมือสร้าง แบบจำลอง (Prototype) ของกลุ่มตัวเองขึ้นมาเพื่อถอดไอเดียให้เห็นเป็นรูปธรรม สำหรับการนำเสนอนวัตกรรมของตัวเองในวันสุดท้าย

 

สำหรับกลุ่มที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้ คือ ‘เก้าอี้แค้มปิ้งจากอวนเหลือใช้’ พวกเขาแปลงอวนจับปลาที่ถูกทิ้งให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง และเข้ากับยุคสมัย เช่นเดียวกับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งนำเสนอ ‘กระเป๋าจากอวนสาน’ โดยได้ไอเดียมาจากการเสื่อกระจูดของชาวบ้าน และใช้อวนเป็นวัสดุหลักซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกในทะเลได้จริง ส่วนกลุ่มที่คว้ารางวัลที่ 3 ไปได้คือ ‘ทุ่นดักขยะในทะเล’ ซึ่งพวกเขาใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มาจากวิทยากรในช่วงแรกของงานมาสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้น เป็นการต่อยอดอีกหนึ่งมิติที่นอกเหนือจากการีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ และช่วยลดขยะทางทะเลได้เช่นกัน

 

ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน 2 คืน เยาวชนในจังหวัดนราธิวาสจะสามารถสร้างสรรค์ไอเดียของตัวเองได้อย่างเป็นระบบขนาดนี้ และไอเดียเหล่านี้จะไม่เป็นเพียงแค่ไอเดีย เพราะทางโครงการก็ยังจะดำเนินต่อเนื่องเพื่อทำงานกับน้องๆในการพัฒนาไอเดียเหล่านี้ไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม และมีทุนต่อยอดให้น้องๆลองผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลออกมาขายต่อไป

โครงการ Ocean Heroes ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง UNDP ประเทศไทย และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ถือเป็นเพียงตัวจุดประกายเพื่อให้ทุกคนได้ไปต่อโดยใช้เครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ และการจัดการทางการตลาดซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเติมเต็มความรู้ความเข้าใจชุดนี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป 

 

การเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในฐานะพลเมืองอาจทำให้น้องเยาวชนเข้าใจปัญหา และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของตัวเอง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในทางบวกต่อพวกเขาโดยตรง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้บ้านตัวเองน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอให้พร้อมที่สุด รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความเข้าใจของคนทุกฝ่าย รู้แล้วว่านวัตกรรมไม่ใช่คำที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่รับฟังความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ เพื่อคนในพื้นที่โดยเฉพาะ

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 06/12/2022
  • by: UNDP

นักสู้กู้อากาศ: เมื่อเยาวชนชวนผู้ใหญ่มาช่วยกันลดปัญหาหมอกควันใน จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงบนรถ ที่เยาวชนจากอำเภอแม่สะเรียงโดยสารรถยนต์เดินทางเข้ามายังอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าร่วมแข่งขันประกวดโครงการ “นักสู้กู้อากาศ: Clean Air Heroes 2022” เช่นเดียวกับเยาวชนทีมอื่นๆ ที่ต่างใช้เวลาเดินทางมาจากโรงเรียนตัวเองซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานที่จัดการแข่งขันมากนัก พวกเขารู้แค่ว่าการประกวดโครงงานในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน เพราะนอกจากจะเป็นการยกระดับการนำเสนองานที่ UNDP ร่วมมือกันกับ TK Park เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่เพื่อให้เยาวชนได้คิดค้น และนำเสนอนวัตกรรมของตัวเอง 

 

เรื่อง ‘หมอกควัน’ เป็นหนึ่งในประเด็นใกล้ตัวของคนในพื้นที่ และเป็นปัญหาของทุกคนแบบไม่แบ่งแยกเพศ อายุ และสถานะทางสังคม หน้าหนาวที่กำลังมาถึง คือสัญญาณอันตรายที่ทุกคนอาจจะต้องกลับมาสวมแมสก์อีกครั้ง ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันโรคระบาด แต่เพื่อกรองอากาศให้พอจะหายใจได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งเครื่องบินจะไม่แล่นผ่านเพราะทัศนวิสัยไม่เอื้ออำนวย คำถามก็คือ เยาวชนตัวเล็กๆ กลุ่มละ 5 คนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? และเครื่องมือชุดไหนที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

 

แค่รู้ว่าบ้านตัวเองมีปัญหาอะไร ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจประเด็น SDGs แล้ว

คุณเอม – เอมอร ลิ้มวัฒนา เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน และผู้รับผิดชอบการประกวดโครงงานในครั้งนี้เล่าให้เราฟังว่า หลังจากที่มี 10 ทีมผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คนต้องทำความเข้าใจความสำคัญของ SDGs เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวิทยากรจาก UNDP เป็นผู้ให้ข้อมูล นี่เป็นความท้าทายแรกของโครงการเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อมีอะไรบ้าง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่งดงาม เพราะประเด็นเรื่องหมอกควันเป็นหัวข้อที่เยาวชนทุกคนช่วยกันระดมสมอง และนำเสนอขึ้นมา เพราะมองว่าเป็นปัญหาที่เผชิญอยู่จริงในทุกวัน และถ้าเกิดปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน คงทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งจังหวัดดีขึ้นได้จริงๆ

 

“แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษฝุ่นควันสูงสุดของภาคเหนือเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเขตป่ามากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็เป็นป่าเต็งรังผลัดใบ ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ในฤดูแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่า เนื่องจากถูกประกาศเขตป่าของรัฐซ้อนทับมากกว่า 84% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัย ทำกิน และพึ่งอยู่กับป่าเป็นหลัก การออกมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาของภาครัฐไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันได้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นทที่ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน

 

วันหลังที่ 2 หลังจากที่เยาวชนผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 10 กลุ่มได้เข้าใจเรื่อง SDGs เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะเริ่มระดมสมอง และออกแบบไอเดียของตัวเอง คุณเอมเล่าให้ฟังต่อว่ากิจกรรมการประกวดโครงงานในครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งอื่นที่เธอเคยร่วมมา เพราะเยาวชนทุกคนมีความจริงจัง และตั้งใจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากพลังสร้างสรรค์ และประสบการณ์ที่มีของตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่า ไม่จำเป็นเลยที่พวกเขาจะต้องเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่า SDGs คืออะไร แค่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงบ้านตัวเองให้ดีขึ้นก็ถือว่าได้สร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนแล้ว และประสบการณ์คิด การทดลองแก้ปัญหาจะทำให้เยาวชนค่อยๆเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากขึ้น เธอยังสังเกตว่าการแข่งขันเป็นความกดดันที่ดี เยาวชนทุกคนรู้ว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอผลงานตัวเอง กับองค์กรระดับประเทศ รวมทั้งผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ ที่พวกเขาจะได้พูดคุยด้วยหากผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ความร่วมมือกันระหว่าง TK Park ที่อำนวยความสะดวกด้านพื้นที่กับสร้างความเข้าใจต่อคนในชุมชน และ UNDP ที่มอบเครื่องมือทางความคิดให้ ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว 

 

 

นวัตกรรมสำหรับทุกคน

เป็นอีกครั้งที่เยาวชนผู้ผ่านเข้าสู่รอบ 5 ทีมสุดท้ายต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมานำเสนอโครงงานของตัวเองในรอบชิงชนะเลิศ 

 

คุณเอมเล่าว่าความน่าตื่นเต้นอีกอย่างในการจัดงานครั้งนี้คือผู้ใหญ่จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มานั่งรับฟังการนำเสนอของทั้ง 5 กลุ่มในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด ทำให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่ามีการรับฟังจริงๆ จากผู้ที่ประสบปัญหา หรือผู้มีอำนาจที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ ทั้ง 5 ทีมทำการบ้าน และเตรียมตัวมาอย่างดี นำเสนอได้อย่างคล่องแคล่ว มั่นใจ และเห็นความหลากหลายทางมิติของปัญหา เช่น การรณรงค์ให้เปลี่ยนที่เผาขยะเพื่อลดฝุ่นควัน การสร้างที่ตรวจจับเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชน หรือจะเป็นการรีไซเคิลวัสดุเพื่อลดปริมาณการทิ้ง และเผาขยะ 

 

คุณเอมแชร์ความน่าสนใจของโครงการในครั้งนี้ให้ฟังอีกว่า เยาวชนทั้ง 5 กลุ่มตั้งใจฟังการนำเสนอของเพื่อนกลุ่มอื่นๆ มาก ไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันอย่างเดียว แต่พวกเขามาจากหลายโรงเรียน ต่างท้องถิ่น มีทั้งเยาวชนอายุ 15 และนักศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งต่างก็มีมุมมอง และความถนัดที่ต่างกันออกไป กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของเยาวชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างการต่อยอดในอนาคต

 

ทีม KWIT จากโรงเรียนขุนยวมวิทยา ได้รางวัลที่ 1 ไปครอง พวกเขานำเสนอเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ทั้ง 5 แบ่งช่วงการนำเสนออย่างมีประสบการณ์ เล่ารายละเอียดตั้งแต่การต่อแผงวงจร การเขียนโค้ด และการนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งเครื่องวัดชิ้นนี้ใช้เซ็นเซอร์เป็นตัวจับ และแสดงผลผ่านทั้งหน้าจอเครื่องตรวจวัด และแอปพลิเคชั่น

 

ในขณะที่ทีม Keep Together จากวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน หน่วยจัดแม่สะเรียง ได้รางวัลที่ 2 ไปครอง ด้วยผลงานเครื่องกำจัดขยะสร้างพลังงาน โดยเป็นนวัตกรรมสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผ่นร้อนเย็นกับเครี่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น การชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือหลอดไฟ LED เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนมักประสบปัญหาไฟฟ้าไม่พอใจในหน้าร้อน ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน สำหรับอีก 3 ทีมนั้น นำเสนอ เครื่องดูดอากาศ และกรองอากาศจากวัสดุเหลือใช้ เตาเผาไร้ควันเพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศ และจานรองแก้วจากฟางข้าว

 

ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าเสริมต่อว่า เยาวชนทุกมีศักยภาพในการนำเสนอโครงงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการประยุกต์ และต่อยอด โดยเฉพาะช่วงถามตอบกับกรรมการจากหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ เช่น ต้นทุนของสิ่งประดิษฐ์ การต่อยอดเพื่อนำไปใช้จริงในชุมชน หรือแม้กระทั่งองค์ความรู้เรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่การจัดประกวดในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ และเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น เมื่อต้องนำเสนองานในครั้งถัดไป

 

มากกว่ารางวัลคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่

หลังจากจบการนำเสนอ มีหน่วยงานต่างๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการต่อยอดผลงานของเยาวชน คุณเอมเล่าให้ฟังว่าบริษัท WE ECO อยากสนับสนุน เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพราะตรงกับธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว และได้เชิญทางสำนักพระราชวังเข้ามามีส่วมร่วมในครั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นสืบเนื่องที่ทำมาด้วยกันนานแล้วเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ขณะที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน สนใจ เครื่องกำจัดขยะสร้างพลังงาน เพราะเห็นความเป็นไปได้ในการซื้อ และนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่อาจมีไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการบริโภค หรือรณรงค์ให้ใช้เครื่องกำจัดขยะนี้แทนการเผาแบบปกติ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษได้เป็นจำนวนมากหากเริ่มให้ใช้ได้จริง 

 

ปัจจุบันโครงการต่างๆ ยังอยู่ในขั้นตอนของการติดตามพูดคุย เพราะเยาวชนต้องกลับไปเรียนในพื้นที่ของตัวเอง แต่นี่นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายไปสู่ความสำเร็จของโครงการที่ไม่ได้จบลงหลังสิ้นสุดการนำเสนอ แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ให้ทุกคนในพื้นที่เริ่มบทสนทนาเดียวกันโดยไม่แบ่งแยกสถานะ หรือมีเงื่อนไขอื่นอย่างที่เคยเป็นมาในหลายๆ ครั้ง

 

ในฐานะที่คุณเอมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเยาวชนมาแล้วหลายครั้ง เธอเล่าด้วยความตื่นเต้นว่าเครื่องมือการเรียนรู้ที่วิทยากรจาก UNDP มอบให้มีประโยชน์มากๆ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ เพราะปกติแล้วกรอบการทำงานของเธอจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องไอซีทีเป็นหลัก แต่องค์ความรู้ของ SDGs สามารถประยุกต์ใช้กับโครงการไหนก็ได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่น รวมไปถึงการไม่จำกัดกรอบของการเรียนรู้จากการระดมสมองของเยาวชนในช่วงแรก 

 

โครงการ Clean Air Heroes ได้พิสูจน์ศักยภาพของเยาวชนในแม่ฮ่องสอนว่ามีอยู่มาก หากมีพื้นที่ ทรัพยากรที่เพียงพอ และเครือข่ายในการสนับสนุนแล้ว การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากประชาชนเพื่อประชาชนก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Keywords: ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดตัวเอง: พื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดตัวเอง: พื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ความเปลี่ยนแปลง และปัญหา ถูกนิยามผ่านมุมมอง และบริบทของยุคสมัยเสมอมา จากประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอันเป็นหมุดหมายสำคัญในศตวรรษที่ 19 สู่เป้าหมายการพัฒนาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  สิ่งนี้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่โอบอุ้มทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ เพราะการไปข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องมีใครถูกทิ้งไว้ให้โดดเดี่ยวกลางทาง ที่ปลายทางมีพื้นที่สำหรับทุกคนเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนานั้น สามารถพาทุกคนไปได้อย่างไร

 

ปัจจุบัน SDGs อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทุกคนอีกต่อไปแล้ว เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs อยู่บนพื้นที่สื่อ และภายในหลายๆ องค์กรมาตลอด 10 ปี คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องท่องจำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ครบทุกข้อ เพราะด้วยกระแสของสังคมที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ปัญหาไม่เคยถูกมองข้าม แต่ขั้นถัดไปคือ เราจะจัดการสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรให้มีความเชื่อมโยงกัน และจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเกิดขึ้นจากความต้องการของคนตัวเล็กตัวน้อยสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน

 

‘เรา’ ในฐานะผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

‘เรา’ ในที่นี้เหมือนตัวละครในภาพยนตร์ ทุกคนมีบทบาท และหน้าที่ต่อเนื้อเรื่องที่ต่างกันออกไป แต่ละตัวละครไม่จำเป็นต้องเล่นทุกบทบาท ทุกฉากไม่ต้องมีทุกคน แต่ในท้ายที่สุด ทุกตัวละครจะล้วนมีผลต่อเนื้อเรื่องให้ดำเนินไปสู่ข้อสรุปเสมอ ถ้าการจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต้องมีตัวละครหลัก ที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ใครเหมาะที่สุดสำหรับบทบาทตัวละครหลักนี้

 

ถ้าเรามีความเชื่อร่วมกันว่า เยาวชนคือพลเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตการณ์จะยาวนานสักแค่ไหน หากมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ทดลอง และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะยิ่งช่วงสานพลังต่อยอดให้มองเห็นความเป็นไปได้ ที่จะนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบางปัญหาอาจจะดูใหญ่เกินกว่าพวกเขาจะรับไหวก็ตาม บทบาทของตัวละครหลักในเรื่องนี้คงเหมาะที่สุดสำหรับเยาวชน ที่จะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง

 

การร้อยเรียง ต่อบทบาท ส่งเสริมซึ่งกัน และกันของตัวละครอื่นๆ ให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ คือการโหมโรงของทุกคนที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า และช่วยให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ พื้นที่การเรียนรู้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ เพื่อผลักดันความขีดความสามารถของเยาวชนในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้สะดวกอย่างมีความหวัง

 

บทความนี้ เราจะมาชวนทุกคนคุยกับ UNDP ประเทศไทย และ TK Park ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เยาวชนมาอย่างยาวนาน ถึงมุมมอง และโครงการที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

 

 

ความร่วมมือไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และยั่งยืนเกิดขึ้นแล้ว

 

กว่า 5 ปีแล้ว ที่โครงการ Youth:CoLab Thailand โดย UNDP ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เยาวชนไทยทั่วประเทศได้มีพื้นที่สำหรับดึงศักยภาพตัวเองออกมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมของเราให้อยู่ในทิศทางที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ตามหลัง SDGs ทั้ง 17 ข้อเท่านั้น แต่ต้องสัมพันธ์กับประเด็นในพื้นที่ด้วย

 

คุณกาเด้  ณิชกานต์ ธรมธัช เจ้าหน้าที่งานเยาวชน และนวัตกรรมเพื่อสังคม UNDP ประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของโครงการ Youth:CoLab Thailand พบว่า ช่องว่างความแตกต่างระหว่างศักยภาพเยาวชนในกรุงเทพฯ กับเยาวชนในต่างจังหวัด มีอยู่จริง เราได้เรียนรู้ว่าเยาวชนกลุ่มเปราะบางมีความเข้าใจปัญหาของตัวเองที่ค่อนข้างลึก อาจจะเพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ซึ่งมีประเด็นอยู่ตลอดเวลา แต่ยังเสียเปรียบในเรื่องวิธี และเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร หากเปรียบเทียบกับเยาวชนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้อีกด้วยว่า การทำงานที่มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจะเป็นเหมือนตัวเร่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น และยั่งยืนกว่าเดิม

 

“สำหรับโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 UNDP ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือที่ดีมาก จาก TK Park อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของพลเมือง เราเริ่มจากการทำงานร่วมกันในจังหวัดเล็กๆ เช่น แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายแนวคิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่น และเยาวชนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้ไปพร้อมกับการพัฒนพื้นที่บ้านเกิดเป็นเรื่องสนุก สิ่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงกันระหว่าง TK Park ที่ทำงานเรื่องการเรียนรู้ กับ UNDP ที่ทำงานเรื่องการพัฒนา” คุณกาเด้เล่าถึงโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 จากความร่วมมือกับ TK Park ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการบนเป้าหมาย และความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกัน

 

ไม่ใช่แค่เยาวชน แต่ต้องเป็นพื้นที่สำหรับ ‘ทุกคน’

 

คำว่าการเรียนรู้มักมาควบคู่กับภาพของเด็ก และเยาวชน เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใหญ่ในเมืองไทยคิดว่าตัวเองหมดเวลาในการเรียนรู้ไปแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ความเชื่อของ TK Park แม้ว่าผู้ใช้บริการ TK Park ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จนติดตา แต่จริงๆ แล้วภารกิจหลัก คือการตอบสนองกับคนทุกช่วงวัย ให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการเพื่อพัฒนาทักษะ และความคิดให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา การสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน จึงเป็นการเข้าไปติดอาวุธให้กับพลเมือง ให้การพัฒนาเป็นไปได้กว้าง และลึก มาพร้อมทั้งความผิดพลาด และหนทางใหม่ๆ สำหรับการไปต่ออย่างยั่งยืน

 

คุณต้อง กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้เปิดมุมมอง และสร้างความเข้าใจใหม่ต่อ TK Park ว่า “หลายคนอาจจะจำว่า TK Park เป็นห้องสมุดใหญ่ๆ ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้ากลางกรุงเทพ แต่อันที่จริงแล้ว ห้องสมุดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่อาศัยหนังสือเป็นอุปกรณ์หลัก ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน”

 

ด้วยภารกิจขององค์กร ในปัจจุบัน TK Park ได้ส่งโมเดลห้องสมุดมีชิวิตต่อไปให้กับหน่วยงานพันมิตรทั่วประเทศ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาล ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะหน่วยงานเหล่านี้ก็มีภารกิจในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น การศึกษานอกห้องเรียน หรือ การสร้างห้องสมุดประชาชน โมเดลของ TK Park คือการทดลองต้นแบบใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ โดยมีตัวชี้วัดเป็นผลตอบแทนสู่สั่งคม หรือ Social Return of Investment (SROI) โดยวัดจากกระบวนการที่มีคนเข้าร่วม เช่น จำนวนหนังสือที่ถูกยืม หรือ การเข้าถึงข้อมูลตามโซเชียลมีเดีย

 

“TK Park พบว่า ในฝั่งออนไลน์ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีคนเข้ามาใช้บริการ

เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อ เทียบกับช่วงก่อนโควิด ปัจจุบัน TK Park มีพื้นที่การเรียนรู้ใหญ่ๆ 31 แห่ง ใน 23 จังหวัด โดยในปี 2566 จะมีเพิ่มที่จังหวัดพะเยา และสุราษฎร์ธานี และในอนาคตยังมีการวางแผนขยายไปในอีก หลายจังหวัด ตอนนี้ TK Park ได้เข้าไปแทรกตัวอยู่กับเครือข่ายต่างๆ อีกกว่า 300 แห่ง ตั้งแต่ กระทรวงศึกษาธิการ สสส. หรือกลุ่มงานราชทัณฑ์ต่างๆ เช่น ห้องสมุดพร้อมปัญญาของ กรมราชทัณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะที่อยู่นอกรั้วสถานศึกษา” คุณต้องสะท้อนผลลัพธ์จากการลงทุนของ TK Park เรื่อยมา โดยเฉพาะการปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และยังตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนขยายพื้นที่การเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

 

แต่ถึงอย่างไร แม้ว่า TK Park มีเป้าหมายเพื่อทุกคน แต่ปัญหาบางอย่างก็อาจจะต้องใช้เยาวชนมาเป็นหลัก สำหรับ TK Park การลงทุนกับเยาวชนเป็นกลุ่มแรก จึงมีความคุ้มค่าในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีเส้นทางอีกยาวไกล หากสามารถสร้างกรอบวิธีคิดหรือมุมมองในระยะยาวได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้คนในพื้นที่ และคนในครอบครัว ไปจนถึงพลเมืองทั้งประเทศได้

 

 

ประเด็นจากทุกคน เพื่อน้ำทะเลที่สะอาด และอากาศที่ปลอดภัย

 

จากความร่วมมือครั้งนี้ โครงการ Youth:CoLab ใช้วิธีลงพื้นที่เพื่อโฟกัสประเด็นต่างๆ ที่เยาวชนกำลังสนใจ TK Park หนึ่งในเครือข่ายที่เราร่วมมือด้วย เป็นผู้อำนวยให้โครงการได้เข้าถึงพื้นที่หลากหลายรูปแบบ UNDP ยังได้ทำหน้าที่ เป็นตัวกลางเพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนได้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอีกหลายๆ องค์กรทั่วประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วม

 

“เราเริ่มจากบริบทของท้องถิ่นว่าภายในพื้นที่เองเห็นปัญหาอะไร และพอใจในสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขามาแค่ไหน แทนที่จะเป็นการโยนเรื่อง SDGs เข้าไปในพื้นที่ตรงๆ ตรงนี้จะช่วยสะท้อนประเด็นในพื้นที่ออกมาได้ บางพื้นที่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ หรือการศึกษา ไปจนถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ” คุณกาเด้เล่าแผน และวิธีการทำงานของโครงการ Youth:CoLab Thailand ประจำปี 2022 เพื่อให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาร่วมกัน

 

จากความร่วมมือนำสู่วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เป็นการชวนให้เห็นประเด็นจากในพื้นที่เป็นหลัก ชวนคนในพื้นที่สังเกตปัญหารอบๆ ตัวก่อนว่ามันคืออะไร ให้พวกเขาเห็นปัญหาในพื้นที่ตัวเองก่อน แล้วฉายออกให้กว้างขึ้นว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างไร แล้วเราอยากพัฒนามันอย่างไรให้ดำเนินไปพร้อมกันได้ทุกประเด็น และคนในทุกพื้นที่มีความเข้าใจร่วมกันได้ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันได้ เช่น ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างไรไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

คุณกาเด้กล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้แล้ว UNDP ได้มีการอบรมเรื่องกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Design) ให้กับเจ้าหน้าที่ TK Park เครือข่ายในแต่ละพื้นที่ โดยไม่ใช่เพียงการอบรม แต่เป็นเหมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เจ้าหน้าที่จาก TK Park แต่ละที่ก็เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ว่ามีตรงไหนที่สามารถเลือกมาสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองได้ โดยไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะเป็นความตั้งใจให้พื้นที่มองเห็นประเด็นการพัฒนาที่ตนเองสนใจจากคนในพื้นที่ก่อน จากนั้น UNDP จะเข้าไปลงรายละเอียดของกระบวนการอีกที นำสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิธีการทำงาน และกระบวนการคิดระหว่างทั้ง 2 องค์กรอีกด้วย”

 

ตัวอย่างในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่คุณต้องได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน ได้พบว่า ภายในพื้นที่มีประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศมายาวนาน ปัญหาหมอก และควันกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ การทำงานของโครงการ คือการหยิบประเด็นเหล่านี้ของพื้นที่ขึ้นมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการส่งต่อความชำนาญของตนให้เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ และผู้เข้าร่วม จัดทำเป็นโครงการ Clean Air Heroes ที่ใช้เยาวชนเป็นผู้มีบทบาทนำในการเข้าไปออกแบบการแก้ปัญหาหมอก และควันภายในจังหวัดของตนเอง

 

หรือในพื้นที่อย่างจังหวัดนราธิวาส ด้วยภูมิศาสตร์ที่มีพรหมแดนติดทะเล ประเด็นที่คนในพื้นที่มักพบเจอ และสัมพันธ์ก่อตัวเป็นปัญหา คือเรื่องทรัพยากรน้ำ จึงเกิดเป็นโครงการ Ocean Hero ที่ผลักดันศักยภาพของคนในชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบของคนในชุมชนเอง

 

พลังแห่งการสร้างสรรค์

 

เมื่อ TK Park ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้รู้จักบริบทของปัญหา และคนในพื้นที่ ส่วน UNDP คือนักจัดการองค์ความรู้ และมีเครื่องมือให้เลือกใช้สำหรับพัฒนามากมาย ความเป็นไปได้ก็พรั่งพรูออกมาผ่านความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอของคนรุ่นใหม่ คุณต้องได้ถอดบทเรียนจากโครงการที่ได้เริ่มทำร่วมกับ UNDP ประเทศไทยที่ทำให้พบโอกาส และความเป็นไปได้ใหม่ๆ

 

“ทุกครั้งที่เราได้ฟังไอเดียของเยาวชนในพื้นที่ก็รู้สึกว่า การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้คิด หรือได้ทดลองอย่างอิสระ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง ใจความสำคัญนอกจากการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ คือการสร้างพื้นที่แห่งการรับฟังสิ่งที่พวกเขาคิด และสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสาร เพราะพวกเขาจะรับรู้ได้ถึงความตั้งใจนั้น เขาจะเต็มที่กับการลงมือแก้ปัญหามากๆ ซึ่งมวลที่ส่งให้กันแบบนี้จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย”

 

“สิ่งที่ได้เห็นจากการเข้าไปทำงานในพื้นที่ คือความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น หรือกรรมการจากภาครัฐ และเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เราเห็นการให้ความร่วมมือที่ค่อนข้างจะเยอะจากชุมชนในพื้นที่ เช่น อาจารย์ บริษัทเอกชน หรือเทศบาล ในขณะที่เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับการจัดงานขนาดใหญ่ระดับประเทศกลับพบระยะห่างระหว่างเยาวชนกับที่ปรึกษาโครงการ  ตรงนี้เป็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ในการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราพบว่า การสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยสนับสนุนเยาวชนในท้องถิ่นมีพลังมาก ยิ่งมีคนจากองค์กรต่างๆ ในพื้นที่มารับฟังแล้ว เยาวชนก็จะยิ่งรู้สึกมีความหวังกับพื้นที่ตัวเอง สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายระดับท้องถิ่นได้”

 

“ปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้มีความซับซ้อน กิจกรรมที่ UNDP จัดไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียว แล้วจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว” คุณกาเด้กล่าวเสริม

 

ด้วยเป้าหมาย และภารกิจที่ TK Park ทำมาตลอดหลาย 10 ปี เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับทุกคน คุณต้องเชื่อว่าโครงการที่ทำร่วมกับ UNDP ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เยาวชน หรือชุมชน หรือคนในพื้นที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยบริบทหรือประเด็นในพื้นที่เอง ขั้นต่อไปคือการสร้างให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองต่อไป

“หลายอย่างเริ่มต้นด้วยการปีนบันได้ขั้นแรก ตอนนี้ TK Park สร้างบันไดขั้นแรกให้แล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้มีขั้นที่สอง สาม และสี่ การชวนเยาวชนเข้ามาตระหนักถึงปัญหาในพื้นที่ และทราบว่าปัญหายังมีทางออก ก็เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของพวกเขา เหมือนอุโมงค์ที่มีแสงสว่างอยู่ปลายทาง เราหวังว่าเยาวชนกลุ่มนี้ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม จะสามารถขึ้นบันไดขั้นต่อไปได้ด้วยตนเอง”

 

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ TK Park และ UNDP ประเทศไทยกำลังทำอยู่ อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนกลุ่มแรกที่ทำสิ่งเหล่านี้ และหลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนัก บางคนอาจไม่เชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

“สิ่งที่เราทำได้ และทำได้ดี คือการสร้างความไว้ใจ คนในพื้นที่จะรู้ว่าเรามีจุดประสงค์ในการช่วยเหลือโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง พวกเรามีกระบวนการ มีผู้คนที่เราจะลงไปคุย และสามารถทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันได้ ไม่ใช่แค่มาโยนการแก้ปัญหาแล้วจบ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ สร้าง ดูให้นานว่าเราจะทำอะไรได้ได้บ้าง เราจะวางแผนอย่างไร มันอาจเป็นสิ่งที่พูดยากมาก เพราะมันมีหลายปัญหาเป็นของผู้ใหญ่ บางครั้งการแก้ไขอาจจะต้องเริ่มจากเยาวชน”

 

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง TK Park และ UNDP การเติบโตที่ไม่มีใครรู้มากไปกว่าใคร แต่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนแล้วเติมโตไปพร้อมกัน โครงสร้างของความยั่งยืนที่ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนกับคนกลุ่มใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนเพื่อพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ยากหรือฝังรากลึกขนาดไหน แต่ถ้าทุกคนเห็นภาพ และมีเป้าหมายร่วมกัน ปัญหานั้นจะมีทางออกที่ดีเพื่อทุกคนเสมอ

Keywords: ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779