• Published Date: 26/07/2021
  • by: UNDP

อยู่ใกล้น้ำ อยู่ใกล้เขา แล้วเมื่อไหร่รัฐจะมาอยู่ใกล้ใจเราบ้าง :3

 

“ฮัลโหล ฮัลโหล ไม่ค่อยได้ยินเลยครับ”

 

พี่สมพร ได้ยินไหมครับ ให้โทรไปใหม่ไหมครับ

 

“โอเค ได้ยินแล้วครับ สัญญาณไม่ค่อยดีเลย ว่ายังไงครับ”

 

พี่อยู่ในป่าเหรอครับ

 

“ในป่าไม่มีสัญญาณครับ ต้องเข้ามาที่ตัวอำเภอถึงจะมีสัญญาณ”

 

 

โอเคครับ อยากจะชวนพี่สมพรคุยเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าน่ะครับ

 

“ชุมชนอยู่อยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ติดกับประเทศเมียนมาร์ มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอยู่ 6 หมู่บ้าน 7 ชุมชน หมู่บ้านของผมอยู่นอกสุดเลย พอจะมีสัญญาณแต่ก็ไม่ดี ต้องเข้ามาคุยโทรศัพท์กับคุณที่อำเภอนี่”

 

ยากไหมพี่ การใช้ชีวิตอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเนี่ย

 

“เดี๋ยวนี้ยาก การจับจ่ายใช้สอยตามวิถีเรามันยากขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยิ่งแย่ ปกติวิถีคนกระเหรี่ยงคือการทำไร่หมุนเวียนมีระยะมากที่สุดคือ 20 ปีถึงจะกลับมาใช้อีกครั้ง คิดดูว่าป่าจะฟื้นขนาดไหน แต่ พรบ. ใหม่กำหนดให้เราใช้ได้แค่สองปีในพื้นที่ที่เขาจัดไว้ให้ 20 ไร่ต่อครัวเรือนตามทะเบียนบ้าน แบบนี้วิถีชีวิตเราจะพัง พื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงจะพังไปเลย เพราะอายุไร่หมุนเวียนอย่างน้อยๆ ต้อง 7 ปี ยังไม่รวมหลักปฏิบัติต่างๆ ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์ที่กระทบกับเราเต็มๆ”

การทำไร่หมุนเวียน: ระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ทำกันในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่บนที่สูง เป็นการผลิตในระยะสั้น และปล่อยให้ป่าฟื้นในระยะยาวจนดินคืนความสมบูรณ์ แล้วจึงกลับมาทำเกษตรกรรมที่เดิมอีกครั้ง จึงเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการทำไร่หมุนเวียนคือไร่เลื่อนลอย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน เพราะไร่เลื่อนลอยคือการเกษตรแบบตัด ฟัน โค่น และเผาบนที่สูง และย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลังจากที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีวัชพืชเกิดขึ้นมาก
พรบ.ใหม่: พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฉบับแก้ไข้เพิ่มเติมปี พ.ศ. 2564 ระบุเอาไว้ว่าอนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียนได้ไม่เกิน 2 ปีในพื้นที่ที่ได้จัดสรรเอาไว้ให้ ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะไร่หมุนเวียนมีระยะเวลาการทำโดยเฉลี่ย 7-20 ปี ซึ่งทำให้ต้นไม้โตไม่ทัน หรือเรียกกันว่า ‘ป่าอ่อน’ ส่วนการถือครองสิทธิ์ก็กำหนดให้ครอบครองได้ 20 ปี หากเมื่อไหร่ที่ผู้เซ็นเอกสารรับถือแก่ความตาย ให้ทายาทเท่านั้นที่จะใช้สอยต่อได้ตามเวลาที่เหลือในกฤษฎีกาเท่านั้น

 

เหมือนเป็นการบีบเราให้ออกจากพื้นที่ไหม

 

“เราโดนไล่ไปแล้วรอบนึงตอนปี 2536 ตอนนั้นมีการร่างโครงการเยอะมากเพื่อเอาคนออก แต่ประสบความสำเร็จอยู่ 3 โครงการ เรายืนยันว่าวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่กันมาของเรานี้เป็นการรักษาป่าจนได้มรดกโลกมา จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าส่งต่อกัน พวกเราอยู่ในพื้นที่นี้มาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ถ้าตามวัตถุพยานก็เป็นพันปี คนกะเหรี่ยงเราเคลื่อนย้ายตาม…”

 

(ตื๊ดๆๆ สายหลุด เราโทรกลับไปใหม่ด้วยความยากลำบาก สักพักถึงจะรับ)

 

“อ่าครับ โอเค คือคนกะเหรี่ยงเราเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์ พม่าตีมาเราก็หนีไปอีกเขา เกิดโรคระบาดเราก็หนีไปอีกมุมหนึ่ง เป็นปกติแบบนี้มาตลอด จะมาวุ่นวายก็ช่วงหลังที่ต้องแบ่งแยกว่าต้องมีจังหวัด มีอำเภอ แล้วคนจัดทำแผนเหล่านี้ก็ไม่เคยมาดูแลคนชนเผ่าเลย จริงๆ ก็ไม่เห็นกันมาตั้งนานแล้ว เวลาออกกฎหมายก็ลดทอนชีวิตเราไปเรื่อยๆ”

 

 

พี่ว่าทำไมรัฐถึงอยากจัดระเบียบเรา

 

“เขาคิดว่าพวกเราทำให้ผืนป่าลดลง เวลาออกยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งตัวเลขขึ้นมาว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้ คิดตามระดับความเข้าใจที่มองจากแผนที่ภาพถ่ายมุมสูง ซึ่งย้อนกลับไปได้แค่ปี 2540 แต่ไม่ได้มองว่าเราสร้างประโยชน์อะไรมามากมายหลายชั่วอายุคนที่อยู่ในป่าแห่งนี้ เขาคิดว่าถ้าเอาชุมชนออกไปจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ตามแผนจากส่วนกลางที่ต้องเร่งเอาป่ากลับมา”

 

ที่ผ่านมาปรับตัวกันยังไง

 

“เราได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก มีแค่ลูกหลานบางคนที่ออกไปเรียน เพราะการเกษตรที่ทำก็เพื่อเอามากินเท่านั้น แต่การเรียนออนไลน์นี่ไม่ได้เลย ไม่มีประสิทธิภาพ บางคนก็หยุดเรียนไปก่อน หรือไม่ต้องก็ไปอยู่กับญาติตามแนวเขาที่พอมีสัญญาณเพื่อให้เรียนได้ แต่สัญญาณก็ไม่เสถียรหรอกครับ”

 

พี่สมพรคิดว่าต้องสร้างความเข้าใจกับคนภายนอกไหม

 

“ผมคิดว่าการสร้างความเข้าใจกับคนภายในสำคัญกว่าหลายเท่า ตอนนี้ผมทำสถานศึกษาขึ้นมาเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าวิถีชีวิตของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้รัฐจะไม่มาเห็นตรงนี้ เราก็ต้องทำต่อ การศึกษาจากส่วนกลางที่ต้องออกไปเรียนไกลๆ ข้างนอกจะทำให้เด็กบิดเบี้ยว เช่น พอไปเจอเพื่อนที่เรียนเก่งกว่า ได้ทำงานที่ดีกว่า ตัวเองก็จะรู้สึกว่าสู้เขาไม่ได้ ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน แบบนี้จะให้พวกเขาภูมิใจในวิถีชีวิตตัวเองได้ยังไง”

 

 

พี่ก็เลยอยากสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา? เริ่มต้นจากอะไรครับ

 

“จุดเริ่มต้นมาจากมูลนิธิหนึ่งมาทำความร่วมมือกับ อบต. ในพื้นที่ เมื่อก่อนที่เด็กต้องออกไปเรียนข้างนอกเพราะเราไม่มีสถานศึกษาให้เด็กเรียนจบตามภาคบังคับ ก็เลยเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เราจัดการเรียนการสอนเอง ได้ประกาศสถานศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนเลย ตอนนี้เราขยับจากระดับชั้น ม.3 มาได้ถึง ม.6 แล้ว เด็กจบ ม.6 ได้ที่บ้านตัวเอง แต่หมู่บ้านอื่นๆ ก็ต้องเดินทางมาเรียนไกลอยู่ดี ห่างกัน 80 กิโลเมตรก็มี แต่ตอนนี้ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว เพราะรัฐเขาก็ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น”

 

เด็กๆ ได้เรียนอะไรกันบ้าง

 

“กระทรวงฯ บังคับ 3 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต้องสอนตามหลักสูตร นอกนั้นเด็กๆ จะเรียนอะไรก็ได้ ทำให้พวกเขาได้ศึกษาในเรื่องที่ตัวเองสนใจ เช่น เขาอยากศึกษาพันธุ์ข้าวในไร่หมุนเวียน เราก็เอาแกนกลางของกระทรวงฯ มาจับ คือวิชาคณิตศาสตร์จะเข้าสู่ข้าวได้อย่างไร สุขศึกษาจะเข้าสู่ข้าวได้อย่างไร ถามว่ายากไหม ตอบเลยว่ายากมากที่จะทำให้ตรงตามหลักสูตร แต่เราก็อยากให้เด็กรู้ว่าชุมชนของเรามีข้าวอยู่มากถึง 30-40 สายพันธุ์นะ นี่คือความเข้มแข็งของข้าวเรานะ เรามีข้าวให้คนในชุมชนกินได้ โดยไม่ต้องไปซื้อข้าวใครกินมาร้อยปีแล้ว”

 

ทุกอย่างก็ดูไปได้ดีใช่ไหมครับ

 

“ตอนนี้ผมตัดเงินเดือนตัวเองให้เด็กที่เพิ่งจบใหม่กลับมาช่วยสอนต่อ”

 

(เราเงียบ พี่สมพรก็เงียบไปสักพัก)

 

“ตอนนี้หน้าที่หลักของผมคือต้องปกป้อง และสรรหาแหล่งทุน สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ลำบากขึ้น แต่เหนื่อย แหล่งทุนที่เคยสนับสนุนประจำก็หายไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่แค่แหล่งเดียว ถ้าเขาทิ้งไปคือเราล้มเลย เงินที่มีอยู่ตอนนี้ก็แค่ให้เป็นเงินเดือนครู กับอาหารกลางวันเด็ก มื้อละ 150 บาท ต่อนักเรียน 30 คน และครู 7 คน เด็กเราเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่เขาไม่ลำบากจริงๆ ก็คงไม่ปล่อยให้ลูกมากินข้าวแบ่งกันขนาดนี้”

 

 

แล้วถ้าคนในชุมชนหารายได้เอง เช่น ขายผลิตภัณฑ์การเกษตรเอง จะพอช่วยได้ไหม

 

“ทำมาตลอด แต่โครงสร้างรัฐทำให้ทุกอย่างลำบากมาก เช่น เรียกเราไปประชุมทุกเดือน เราก็ต้องบกพร่องหน้าที่การสอนไป แล้วก็ต้องทำรายงาน ทำบัญชี บังคับว่าต้องทำสิ่งนี้ผ่านโปรแกรมนี้นะ ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ขาดบุคลากรไป ผมเคยพูดกลางที่ประชุมเลยว่างานเอกสารแบบนี้ผมทำไม่เป็น ถ้าอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ต้องการจริง ก็จ้างนักบัญชีมาอยู่กับเราเลย ให้คนที่ถนัดเขาได้ทำหน้าที่ของเขา เราไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่อยากให้เราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างของความเจริญ ซึ่งรัฐไม่เคยเข้าหาเราด้วยเจตนาแบบนี้ รัฐให้ความสำคัญกับแค่มิติพื้นที่ ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันช่วยรักษาพันธุ์พืชไว้ได้มากแค่ไหน กฏหมายไม่ได้ออกแบบมาให้คนมีช่องหายใจ ไม่ได้เป็นถังอ็อกซิเจน เหมือนเป็นแค่ท่อเปล่าๆ พอให้หายใจได้เท่านั้น”

 

แล้วผลจากการที่พี่ช่วยกันสร้างสถานศึกษานี้ขึ้นมา เป็นยังไงบ้าง

 

“ตอนนี้ในศูนย์มีเด็กอยู่ 24 คน มีเด็กเรียนปริญญาตรีอยู่ข้างนอก 3 คน จบแล้วทำงานอยู่ในหน่วยงานที่เขารองรับอีก 3 คน อีกคนพอจบ ม.6 ก็กลับมาทำงานที่ศูนย์ เราทำให้เด็กในศูนย์อ่านออกโดยไม่ต้องเข้าไปเรียนในเมือง”

 

ถ้าสมมติว่าบอกอะไรกับรัฐได้ พี่จะบอกอะไรครับ

 

“รัฐจะใช้กฎหมายที่มีอยู่เหมือนกันกับทุกพื้นที่ไม่ได้ รัฐสามารถประกาศใช้กฎหมายพื้นที่พิเศษแบบที่ใช้กับจังหวัดชลบุรี และอนุกรรมการต่างๆ ควรมีชาวบ้านเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย เพราะกฎที่ออกมากระทบชาวบ้านแบบ 100% รัฐต้องให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม การทำแบบนี้มันเกินกว่าเหตุมากๆ”

 

อยากให้พี่สมพรสู้ๆ นะครับ

 

“สู้อยู่แล้ว สู้มาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้คนกะเหรี่ยงมีสัญชาติมากกว่า 80% แล้ว ดีขึ้นจากเดิมเพราะเราถวายฎีกา ต้องสู้ถึงจะได้มา”

 

 

พี่สมพรทิ้งท้ายว่าถ้าอยากถามอะไรเพิ่มเติมต้องบอกล่วงหน้าหน่อยหลายวันนะ เพราะต้องเข้าเมืองมาคุยอย่างนี้ทุกครั้ง (และเราก็ได้ติดต่อไปหาพี่สมพรอีกครั้ง เพื่อขอภาพบางส่วนมาประกอบบทความ ขอบคุณภาพจากพี่สมพรมา ณ ที่นี้ด้วยครับ) 

 

พี่สมพรคืออีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อสู้อย่างสันติที่ร้องเรียนผ่านกระบวนการกฎหมาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าในพื้นที่ป่าอันห่างไกล ก็สามารถมีห้องเรียนเอาไว้อนุรักษ์ทั้งพืชพรรณ และวัฒนธรรมที่มักจะสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องออกไปเรียนต่อข้างนอก ความหวังของพี่สมพรคือการที่ลูกหลานของเขาจะ ‘ไม่ถูกลืม’ ว่าเป็นพลเมืองคนหนึ่งขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้า อย่างน้อยก็มีหน้าที่อนุรักษ์ผืนป่าและพรรณไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม 

 

จะดีแค่ไหนถ้าทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งโอกาสในการทำกิน โอกาสในการเรียนรู้ และโอกาสที่จะได้อยู่บ้านตัวเองอย่างสงบสุข โดยไม่ต้องสู้กับกฏระเบียบข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา

 

หมายเหตุ: พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และ ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดันในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๖/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบาย การปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือ ระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกินยี่สิบปี และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณา และคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน และการสิ้นสุด การอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการ

 

  • Published Date: 16/07/2021
  • by: UNDP

โอกาสที่มนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับในโลกแห่งอิสรภาพ: เอาสองมือที่เคยพลาด มามาสซาจสร้างชีวิตใหม่

 

นวด นวด นวด – – จะมีสักกี่คนที่กล้าปฏิเสธความมหัศจรรย์ของการนวดไทยได้ละ ไม่ว่าจะเป็นการนวดทั้งตัว นวดฝ่าเท้า นวดเฉพาะจุด สองมือของเธอราปิสต์ก็สามารถส่งพลังอันมหาศาลไปยังกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าในร่างกายให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ธุรกิจการนวดนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยนะ มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 3.5 หมื่นล้านในวงการนี้ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย (ถึงตอนนี้สปาหลายแห่งจะยังปิดอยู่ตามมาตรการของรัฐก็ตาม) แต่ค่าเรียนนวดกลับมีราคาค่างวดอยู่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักหลายพัน จนถึงหลักหมื่น

 

อืมมม ถ้าอย่างนั้นเราจะมาบอกเคล็ดลับเรียนนวดฟรีโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียวดีไหม? เพียงแค่คุณเข้าไปอยู่ในเรือนจำสักแห่งที่

 

“ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ”

 

ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคม กับอดีตผู้ต้องขังยังอยู่ในขั้นวิกฤติ เจ้าของร้าน ‘ลีลานวดไทย’ ที่เปิดรับพวกเธอเข้าทำงานแชร์ข้อมูลว่า “นายจ้างส่วนใหญ่เมื่อรู้ว่ามีอดีตผู้ต้องขังมาสมัครงานก็มักจะปฏิเสธ หรือถ้ารู้ทีหลังก็จะบีบให้ออก เช่นลดเงินเดือนจนพวกเธออยู่ไม่ได้”

 

รู้ไหมว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อแสนประชากรสูงที่สุดในโลก สูงกว่าสหรัฐอเมริกา (กฤตยา อาชวนิชกุล และกุลภาวจนสาระ, 2558) สถิติจากกรมราชทัณฑ์บอกเราว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงกระทำผิดมาในคดียาเสพติด รองลงมาเป็นความผิดลักทรัพย์ ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนมากแล้วไม่ได้กระทำความโหดร้ายรุนแรงต่อใคร นอกจากนี้ผู้หญิงในคุกกว่า 2 ใน 3 ต่างเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว และไม่ได้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ จึงเดาได้ไม่ยากว่าที่พวกเธอต้องหันมากระทำผิด ก็เพราะไม่ได้รับโอกาสในชีวิตแต่แรก

 

ผู้ต้องขังหญิงที่โดนจับคดียาเสพติดหลายคน หมดหนทางในการทำมาหากินและค้ายาเสพติดเพื่อแลกกับรายได้จำนวนมาก สำหรับรายจ่ายในชีวิตมากมายที่รอพวกเธออยู่ หญิงคนหนึ่งถูกสามีซัดทอดคดียาเสพติดจากการล่อซื้อยาบ้า 25 เม็ด หลังจากนั้นศาลตัดสินจำคุก 6 ปี และปรับอีก 250,000 บาท เธอไม่ได้เข้าในสถานที่กักขังนั้นคนเดียว เพราะมีลูกน้อยในครรภ์อายุ 4 เดือนตามเข้าไปด้วย

 

“จะเอานักโทษมาอยู่เหรอ เดี๋ยวเอายามาไว้ที่ตึกจะทำยังไง” คำถามน้ำเสียงจริงจังจากเจ้าของตึกที่ร้าน ‘ลีลานวดไทย’ สนใจจะเข้าไปเช่าเพื่อเปิดกิจการ น้ำเสียงที่ถูกครอบโดยมายาคติชุดเก่าก่อนที่เจ้าของคนนั้นจะเข้าใจในภายหลังว่า การให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังคือหนทางที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องกลับไปทำผิดในรูปแบบเดิมอีกครั้ง ถ้าเราเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนอยากถูกจองจำโดยไร้อิสรภาพ นี่คือประตูบานใหญ่ที่เขาสามารถเปิดให้พวกเธอได้ดำเนินชีวิตต่อในโลกใบใหม่

 

 

“เมื่อก่อนถ้าเรามีรายได้ขนาดนี้ เราก็ไม่ต้องไปขายยา”

 

เสียงในโทรศัพท์ที่เธอราปิสต์คนหนึ่งคุยกับแม่ของตัวเอง อดีตผู้ต้องขังหญิงที่ให้บริการนวดผ่านหลักสูตรการนวดแผนไทยจากเรือนจำ 150 ชั่วโมง ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าไปฝึกวิชาชีพให้ หลายคนคงสงสัยว่าอาชีพอื่นก็มีทำไมต้องเลือกที่จะนวดด้วย แต่ถ้าถามพวกเขากลับว่าอาชีพไหนที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด ก็คงจะได้คำตอบในใจทันที พวกเธอก้าวออกมาพร้อมกับสองมือที่จะสามารถหาเงินเลี้ยงชีพได้ทันที

 

การอบรมวิชาชีพคงเป็นสิ่งดีเพียงไม่กี่อย่างในเรือนจำ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ในนั้นช่างยากลำบากเกินกว่าที่ใครข้างนอกหลายคนจะจินตนาการออก เรือนนอนที่เบียดเสียดเหมือนกรงสัตว์ มีผ้าห่ม 3 ผืนที่แจกให้ตั้งแต่วันที่เข้า ให้ไป DIY กันเองว่าจะทำเป็นหมอน ปูรอง หรือห่มให้ความอุ่น น้ำที่อาบได้วันละ 10 ขัน หรือผ้าอนามัยที่ควรเป็นสวัสดิการ ก็ต้องเก็บหอมรอมริบซื้อใช้ในทุกเดือน อย่าว่าแต่เงินสักร้อยเลย แค่เงินบาทนึงก็มีค่ามากในสถานที่นั้น

 

นี่ยังไม่รวมเคสหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องพาอีกหนึ่งชีวิตเข้าไปพร้อมกับเธอ ในเรือนจำมีกฎว่าเด็กที่คลอดในนั้น เมื่ออายุครบ 1 ปีจะต้องถูกส่งกลับไปให้ญาติ ความทุกข์ทรมานทางใจที่พวกเธอไม่สามารถดูแลเลือดเนื้อเชื้อไขตัวเองได้ และต้องลุ้นอยู่ในใจทุกวันว่าคนอื่นจะรักและอาทรต่อลูกน้อยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเธอ หรือในอีกกรณีที่แม่ต้องทิ้งลูกตัวเองไว้ข้างนอก ไม่มีสิ่งใดมาการันตีว่าคุณภาพชีวิตของเด็กคนนั้นจะยังดีเหมือนเดิม จากแต่ก่อนที่แม่หาเงินได้วันละ 200 บาทเพื่อส่งเงินให้ไปโรงเรียน วันนี้อาจจะไม่มีสักบาทให้แล้ว

 

เปลี่ยนแปลงสังคมด้วยหนึ่งสมอง และสองมือ

เนาวรัตน์ ธนะศรีสุดารัตน์ อดีตผู้อำนวยการฑัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่เข้าใจหัวอกของความเป็นแม่ และความยากลำบากของการเกิดเป็นผู้หญิง เธอเริ่มกิจการ ‘ลีลานวดไทย’ ในวัยหลังเกษียณ ซึ่งควรจะเป็นเวลาที่ได้พักผ่อนหลังกรำงานหนักมานาน 42 ปี แต่เธอรู้ดีว่าความเดือดร้อนมีอยู่จริง ความจนมีอยู่จริง ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ในทุกลมหายใจ นวรัตน์ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะขึ้นป้าย Ex-Inmates Working Center บนหน้าร้านของเธอ เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมได้ตระหนักว่าอย่าเพิ่งตัดสินอดีตผู้ต้องขัง ก่อนที่เราจะได้ทำความรู้จักกัน

 

วิธีของนวรัตน์ไม่ได้ซับซ้อน หรือมีกระบวนการอะไรมาก เธอใช้ความจริงใจ และตรงไปตรงมาในการสื่อสารกับทั้งลูกค้า และอดีตผู้ต้องขังหญิงที่ต้องการโอกาสอีกครั้ง เพียงลูกค้าทั่วไปเข้ามาใช้บริการในร้านนวดแห่งนี้ พวกเขาก็สามารถเข้าใจถึงชีวิตเล็กๆ คนหนึ่งที่กำลังตั้งใจทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ แค่ไม่ตัดสินกันและกันว่าเคยผ่านอะไรมาบ้าง ก็เชื่อว่าจะได้ความผ่อนคลายสบายกายกลับไป 

 

นวรัตน์ไม่ได้คิดมาก่อนหรอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคือนวัตกรรมทางสังคมที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เธอรู้แค่ว่ามีอดีตผู้ต้องขังหญิงอีกหลายคนที่ต้องการโอกาส ต้องการสถานประกอบการที่เข้าใจ และไม่ตัดสินพวกเธอก่อนที่จะได้เห็นประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอด 10 ปีของ ‘ลีลานวดไทย’ มีอดีตผู้ต้องขังกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้ง 3 คนด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่คิดเป็นจำนวนน้อยมากจากหลายร้อยชีวิตที่มีกินมีใช้จากที่นี่ 

 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผลักให้อดีตผู้ต้องขังไม่สามารถออกมาจากวังวนแห่งชุดความเชื่อเดิมๆ ได้ เช่น กฎระเบียบใหม่ตาม พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559 ที่ระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานในกิจการเหล่านี้ต้องขึ้นทะเบียน และหากเคยต้องคำพิพากษาในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ทรัพย์ ยาเสพติด จะต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ถ้า

 

คำถามก็คือ ถ้าเป็น 1 ปีที่พวกเธอไม่สามารถทำงานเหล่านี้ได้ ที่ไหนจะมีโอกาสอันสวยงามแบบนี้ให้บ้าง? หรืออันที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มีแรงผลักดันมาจากค่านิยมทางสังคมบางอย่างที่บีบบังคับให้ผู้ไร้โอกาสไม่มีทางเลือก นี่เป็นแค่คำถามเท่านั้น คำถามสำคัญ

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/thailand-42594778

https://www.the101.world/life-in-prison/ 

https://knowledge.tijthailand.org/th/article/detail/promoting-the-social-reintegration-of-women-after-release

https://knowledge.tijthailand.org/publication/detail/47#book/

https://knowledge.tijthailand.org/th/article/detail/7

http://library.nhrc.or.th/ULIB/dublin.php?ID=10886

 

 

  • Published Date: 09/07/2021
  • by: UNDP

‘งูสีฟ้า ตู้ปลาสีเขียว’ เรื่องเล่าในเมืองกรุงของแม่ กับความฝันเล็กๆ ของเด็กมัธยม

“ปรี๊ดดดดด” เสียงนกหวีดดังขึ้นทันทีเมื่อมีคนเหยียบเส้นสีเหลือง แค่แตะเพียงปลายเท้าพี่ยามก็ฟ่าวเป่าอย่างขยันแท้ ถามว่าใครกันที่เป็นคนเหยียบเส้นเหลือง คำตอบคือหนูเองค่า หนูชื่อต่าย เด็กนครพนมที่เผอิญสอบติดมหาวิทยาลัยในเมืองกรุง เมืองกรุงนี่เจริญดีเนาะ รถวิ่งกันปรู๊ดปร๊าดทั้งบนกลางล่างทั้งวันทั้งคืน ถ้ายังอยู่ที่บ้าน หกโมงกินข้าว สองทุ่มก็หลับหมดแล้ว  ที่เรียนของหนูตั้งอยู่แถบชานเมืองนั่น แต่แม่บอกว่าไหนๆ เข้ากรุงแล้วมาเปิดหูเปิดตากับเขาหน่อย

 

แม่เคยเล่า “ที่กรุงเทพมันมีงูสีฟ่า” (สำเนียงอีสานหน่อยๆ ค่ะ) หนูก็นึกว่ามันเป็นเหมือนในหนัง Fantastic Beasts ที่เคยดูในอินเตอร์เน็ต อ๋อไม่ใช่แบบนั้นเลย รถไฟฟ้ามาหานะเธอนั่นละ แม่เคยมาเป็นสาวโรงงานแถวนวนคร นานๆ ทีจะเข้าเมืองมาช็อปปิ้งแถวประตูน้ำ แม่บอกว่า งูมันอยู่บนฟ้าเลื้อยไปเลื้อยมาน่ากลัวแท้ ถ้าบอกว่ามันเป็นบีทีเอสตั้งแต่แรกก็จบ หนูเคยเห็นในโทรทัศน์แล้ว ตอนโทรกลับไปถามว่าเคยขี่กับเขาไหม แม่บอกว่ามันแพงหลาย นั่งรถเมล์ได้หลายเทือเลยลูก หนูเลยลองเดินไปดูที่ป้าย เขาบอกว่านั่งไปกลับหนึ่งสถานีเสียตังค์แค่ 15 บาท  อยู่บ้านจ้างรถไปซื้อของในอำเภอยังเสียเงินเยอะกว่านี้อีก

 


นอกจากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลแล้ว ประชากรประมาณ 51.56 ล้านคน หรือคิดเป็น 77.90% ไม่มีรถไฟฟ้าในจังหวัดของตัวเอง ไม่มีความสะดวกสบายในการเดินทาง ไม่มีรถสาธารณะไปหาหมอเวลาฉุกเฉิน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากกว่า  เราจะทำอย่างไรให้มีการเดินทางที่ได้คุณภาพ และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน?


 

ที่กรุงเทพมันเจริญหูเจริญตาดีสมชื่อเมืองแห่งเทวดา บ้านก็งาม คนก็งาม 15 บาทหมดไปเหมือนเล่นรถไฟเหาะ เสร็จแล้วก็นั่งรถปรับอากาศกลับห้องตามเดิม อย่างเดียวที่ทำให้คิดถึงบ้านก็คือเรื่องรถติดนี่ละ ติดคักติดหลาย ติดกะด้อกะเดี้ยเกือบ 2 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงห้อง ห้องที่แม่เรียกว่าตู้ปลาสีเขียว แม่เคยเล่าให้ฟังว่าที่กรุงเทพห้องมันน้อยจิ๊ดริด ตอนนอนพลิกตัวทีเห็นตู้เย็น พลิกกลับมาอีกทีเห็นตู้เสื้อผ้า กำแพงห้องสีเขียวเป็นสิ่งที่แม่จำมาจนถึงวันนี้ แม่บอกดูๆ ไปก็คิดถึงนาที่บ้าน คิดถึงตากับยาย แม่ของหนูนี่ทนกรุงเทพได้ปีเดียว ก็กลับไปเกี่ยวข้าวที่บ้าน เคยถามแม่ว่าทำไมไม่ทำนาอยู่ที่บ้านตั้งแต่แรก แม่บอกว่ามีที่แต่ไม่มีเงินลงทุนก็ลำบาก ชาวนาไม่เคยรวย แค่ทำให้ไม่ต้องซื้อข้าวกินก็ดีแล้ว ส่วนหนูนี่ต้องทนอีก 4 ปีในตู้ปลาอันใหม่ของตัวเอง คิดซะว่าเป็นวิถีเน็ตไอดอลที่ใช้ชีวิตอยู่ในตู้ปลาก็แล้วกัน

 


ในเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งหารายได้ของคนทุกชนชั้น กลับซุกซ่อน ‘คนจนเมือง’ เอาไว้อยู่ในทุกหลืบมุม ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรที่ดินและที่อยู่อาศัยเกิดจากการยึดครองที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ การเข้าไม่ถึงอยู่อาศัยของกลุ่มคนรายได้น้อยทำให้เขาไม่มีตัวเลือก นอกจากการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ออกไปอยู่เขตนอกเมือง หรือเบียดเสียดตัวเองอยู่ในชุมชนแออัดที่ไม่มีคุณภาพ  เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ปลอดภัย รวมไปถึงเข้าถึงสิทธิในการใช้ที่ดินอย่างทั่วถึง?


 

อยู่กรุงเทพมันก็สะดวกดีถ้ามีเงิน ถ้าไม่มีเงินก็สะดวกน้อยลงมาหน่อย อะไรๆ ก็เป็นเงินเป็นทองกันหมด ขนาดผักในตลาดสดหน้าปากซอยยังแพงแท้ เห็ดกำนึงยี่สิบบาท เห็นแล้วนึกถึงป้าแมวใหญ่ (ในหมู่บ้านมีป้าแมว 2 คน เลยเรียกคนตัวโตว่าแมวใหญ่ อีกคนคือป้าแมวน้อย) ป้าคิดแค่ว่า เห็ดแพงใช่มั้ย ปลูกเองโลด ป้าแกเคยทำงานข้าราชการ มีความรู้สูง รู้จักเกษตรอำเภอ แกบอกว่าใช้นวัตกรรมเกษตรอย่างยั่งยืน ทำน้อยแต่ได้เยอะ ใช้พื้นที่ในบ้านตัวเองสร้างงานเล็กๆ ขึ้นมา แกบอกว่าวันนึงเห็ดมันงอกสามสี่ครั้ง งอกแรกเอามากิน งอกต่อมาเอามาทำเห็ดร้า เห็ดสวรรค์ ขายตลาดนัด ขายดีแท้ วางปุ๊ปหมดปั๊ป นี่ถ้ามีคนไปไลฟ์ขายออนไลน์ให้คงรวยไปแล้ว นี่หนูก็คิดว่าป้าแมวใหญ่แกขาดแค่เทคโนโลยี ถ้าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ กลับไปขายเห็ดส่งทั่วประเทศ น่าจะดี ได้อยู่กับแม่ด้วย ได้ทำนาไปด้วย แต่คงยืมนวัตกรรมของป้าแมวใหญ่มาปรับใช้ อย่างที่ว่าทำน้อยได้มาก ใช้พื้นที่ให้คุ้ม ผลิตเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ หนูก็คิดไปเรื่อย แต่ก็เชื่อว่าถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ จริงไหมว่า

 

 


 

นวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation คือการหาทางออกใหม่ให้กับปัญหาใกล้ตัว เพื่อทดแทนผลลัพธ์เดิมที่อาจไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยิ่งทรัพยากรเรามีจำกัดเท่าไหร่ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน และเวลา การจัดสรรสิ่งมีค่าเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งผลกระทบที่ดีแก่คนจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง เราจะทำอย่างไรเพื่อประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการใช้นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตชุมชน?


 

อยู่ไกลบ้านมันก็เหงาอย่างนี้ละ เพื่อนที่มหาวิทยาลัยก็มีอยู่ แต่พอกลับมามันก็ตัวคนเดียว ยังดีช่วงแรกๆ มีลุงยามคนอุบล กับป้าเฝ้าหอคนร้อยเอ็ดเป็นเพื่อนคุยกันวันละคำสองคำก็ยังดี กรุงเทพนี่จะว่าอยู่ง่ายก็ไม่เชิง เด็กอีสานทั้งชีวิตอย่างหนูมันมีกลิ่นปลาแดกติดตัวไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางคนเห็นดั้งแหมบๆ เขาก็ดูถูกไว้ก่อนแล้ว ไม่อยากจะบอกว่าที่บ้านหนูมีนาเป็นสิบไร่ ใหญ่กว่าห้างสยามพาราก้อนอีกจ้า (แต่ถามว่ามีเงินลงทุนทำนาไหม คำตอบก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว) แต่ก็นะ แม่บอกว่าเดี๋ยวนี้ดีขึ้นแล้ว คนอีสานเริ่มทำงานดีๆ ในกรุงเทพ แต่ก็มีคนอีสานอีกไม่น้อยที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 315 บาท เรื่องนี้มันก็คงต้องใช้เวลา แต่ถ้าอีกหน่อยการศึกษามันเข้าถึงทุกคน และมีโอกาสที่มากพอ การเปลี่ยนแปลงก็คงค่อยๆ มีมากขึ้น เหมือนป้าแมวใหญ่ ป้าบ่นทีเดียว จากนั้นก็สร้างโรงเห็ดเลย เพราะป้าแกมีความรู้ มีโอกาส มีเงิน หนูก็เชื่อว่าหลายคนมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีทุน ก็หวังว่ามันจะมีช่องทางใหม่ๆ ให้เราเลือกได้มากขึ้น

 


ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 313 บาท อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ พวกเขาถูกทอดทิ้งจากระบบเศรษฐกิจที่แทบจะมองไม่เห็นการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ ลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยค่าจ้างแสนถูก ความจนก็มีราคาที่ต้องจ่าย และในหลายๆครั้งก็จ่ายแพงกว่าความรวยด้วยซ้ำ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่าที่เหมาะสมกับศักยภาพ และเข้าถึงทุกคน?


 

หนูรู้ว่าแม่ทำนาเกี่ยวข้าวหลังแข็งเพราะอยากหาเงินส่งหนูเรียนสูงๆ ที่บ้านใครจบถึง ม.6 ก็สุดยอดแล้ว พ่อแม่ต้องพนมมือสาธุไหว้ผีไม่ให้ลูกท้องก่อน หรือขี่รถไปทิ่มในทุ่งนา ถ้าถามหนูนะ มันก็ไม่ได้ผิดหรอกที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แม่ก็มีหนูตอนอายุ 15 ต่างจากคนในเมืองที่ต้องเรียนจบก่อนค่อยแต่งงานมีลูก ที่บ้านนอกไม่มีอะไรให้ทำมาก ใครจะเป็น หรือไม่เป็นอะไร ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจอยู่แล้ว เพื่อนหนูบางคนมีประจำเดือนได้ปีเดียวท้องซะแล้ว ความรู้ก็ไม่มี เงินก็ไม่มี โอ้เนาะ จะเอาอะไรไปเลี้ยงให้มันใหญ่มาเป็นคนดีมีคุณภาพ นี่ถ้าปุ๊กกี้เพื่อนหนู มองเห็นอนาคตซักหน่อยว่าอีก 4-5 ปีจะได้เป็นอะไร จะได้ไปอยู่ที่ไหน หนูว่ามันก็ไม่อยากท้องเพิ่มภาระให้ตัวเองหรอกค่า ปุ๊กกี้เป็นคนเก่ง และฉลาด แค่มันถูกคนอื่นลืมนานไปหน่อย ลืมว่าคนอย่างปุ๊กกี้เนี่ยก็เป็นฟันเฟืองนึงในการขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงสังคมได้เหมือนกัน

 


ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี รวม 23,615 ราย มีจำนวนมากที่สุดในปี 2555 จำนวน 3,710 ราย คิดเป็นเฉลี่ย 10 รายต่อวัน น้อยที่สุด พ.ศ.2562 จำนวน 2,180 ราย คิดเป็นจำนวนเฉลี่ย 5 รายต่อวัน  เราจะทำอย่างไรให้เพศศึกษาเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน?


 

4 ปีในมหาวิทยาลัยเหมือนจะนานนะ แค่โควิดนี่ก็ระบาดมาปีกว่าแล้ว บางคนกลัวตกงาน ต้องกลับไปอยู่บ้าน แต่หนูว่ามันไม่ได้แย่ขนาดนั้น ถ้าใกล้ๆ บ้านมีมหาวิทยาลัยดีๆ หนูก็คงไม่ต้องดั้นด้นมาเรียนไกลขนาดนี้ หนูคิดถึงแม่ทุกวัน คิดถึงเสียงหัวเราะของแม่ แม่ที่เหนื่อยแต่ก็ยังอารมณ์ดีได้ทุกวัน หนูก็กลัวว่าแม่จะติดโควิดแล้วจากไปแบบยังไม่ได้โบกมือบ๊ายบายกัน คนในหมู่บ้านก็ยังดูแลกันแบบตามมีตามเกิด ใส่แมสก์ซ้ำ เครื่องวัดอุณหภูมิไม่ได้มาตรฐาน ขาดระบบการจัดการและคัดกรอง ไม่รู้สิ แต่หนูกลับมีความหวังขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่พี่ๆ เขาย้ายกลับไปอยู่บ้าน พวกเขาก็คงอยากเห็นบ้านตัวเองเจริญ และพัฒนาเหมือนคนอื่น ไม่ต้องเท่าเมืองหลวงก็ได้ เอาให้ทัดเทียมเท่าตัวอำเภอ มีไฟฟ้า เน็ตเร็ว เดินทางได้สะดวก นึกออกเลยว่าบ้านของเราจะน่าอยู่มากกว่าเดิมแค่ไหน

 


การแพร่ระบาดโควิด – 19 เผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังตัวมานาน คนมีเยอะกว่าสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ได้นานกว่า ยิ่งเรามีคนจนมากเท่าไหร่ ความน่ากังวลใจก็มีมากขึ้นเท่านั้น เช่น กลุ่มเด็กเล็กในครอบครัวยากจนจะมีความเสี่ยงสูง เรื่องการไม่สามารถเรียนทันคนอื่น ไม่สามารถเรียนในระบบออนไลน์ได้ จนต้องออกจากการเรียนกลางคัน จนถึงกระทั่งหลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงานเลย กรณีอย่างนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาในระยะยาว เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม?


 

แม่พูดเสมอว่า “แดดอย่าหน ฝนอย่าถอย ข้าวฮ้อนเป่ากิน” คืออย่ากลัวแดด อย่ากลัวฝน ถ้าข้าวมันร้อนก็เป่าก่อนกิน หมายถึงให้ใจเย็น และอดทน มันมีทั้งปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้ กับปัญหาที่เราแก้ได้ถ้าใจเย็นๆ และค่อยหาทางไป แม่อาจจะโตมากับการอดทนแล้วมีชีวิตที่ดี หนูก็เชื่อแบบนั้น แต่ถ้าบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ในยุคของเรา มันก็คงจะดีกว่าดีเนาะ เอาแค่ให้แม่ได้อยู่สบาย วัยรุ่นอย่างหนูไม่ต้องไปอยู่ไกลบ้าน แค่นั้นก็น่าจะเป็นความสุขเล็กๆ ที่ทุกคนฝันไว้แล้วละ อีหลีบ่!

 

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779