• Published Date: 27/08/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ สนุกรักษ์ เที่ยวยั่งยืนที่ชุมชน ‘เพียรหยดตาล’ กับโครงการ APYE

 

หากพูดถึงสวนมะพร้าวเราคงนึกถึงมะพร้าวน้ำหอม ถือกินเป็นลูกๆ หวานฉ่ำชื่นใจ แต่มะพร้าวสามารถเป็นได้มากกว่านั้น ทั้งน้ำมันมะพร้าวในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือหากเป็นพันธุ์มะพร้าวแกงก็จะนำเอาเนื้อมะพร้าวไปทำกะทิ ส่วนช่อดอกมะพร้าวที่เรียกว่า จั่น ยังเอามาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวได้ด้วย ซึ่งเราไปลุยสวนตามล่าน้ำตาลมะพร้าว 100 % กันมา แถมยังเห็นความลำบากในทุกกระบวนการ บอกเลยว่าหากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน

 

 

เรามีโอกาสตามชาวสวน พร้อมกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายประเทศ ไปคลุกคลีกับชุมชน เพียรหยดตาล บ้านนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม ใน ‘โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก’ (Asia Pacific Youth Exchange หรือ APYE) ที่จับมือกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Programme หรือ UNDP) ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชน จะได้มาอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ โดยในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6

 

 

ในทริปนี้ เราได้เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ชวนคนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น จนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง นอกจากความสนุกที่ได้ทดลองเป็นชาวสวน ยังได้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สัมผัสได้จากรอยยิ้มอบอุ่นของคุณลุงคุณป้า

 

 

สิ่งสำคัญจากกิจกรรมนี้คือ การลงพื้นที่สำรวจชุมชน และเข้าใจปัญหาต่างๆ ในชุมชนที่มีผลต่อการพัฒนา ผ่านการพูดคุยและทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยนำเสนอไอเดียและข้อเสนอแนะให้ชุมชนนำไปต่อยอด การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

 

 

หลายคนเคยได้ยิน ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ กันมาแล้วบ้างก็น่าจะอยากรู้ว่า เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนได้อย่างไร

ไปฟังแนวคิดจาก หนึ่งในตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ‘ชารีฟ วัฒนะ’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครั้งนี้กัน

 

 

ทำไมถึงสนใจสมัครโครงการนี้ ?

จากที่ผมได้เรียนวิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา(TU100) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เนื่องจากธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับโครงการของ APYE

การได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาลงมือทำจริง จากภาคทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ ได้สำรวจชุมชน เห็นสภาพปัญหา ร่วมกันคิดหาทางออกในมุมมองของเยาวชนจากหลากหลายประเทศ

 

 

เพียรหยดตาลมีแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ?

ชุมชนเพียรหยดตาลเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มจากพี่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำ ร่วมกันกับคุณลุงคุณป้า นำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นจุดหนึ่งในการขยาย SDGs ในด้านอื่นๆ อีกด้วย

“อย่างแรกคิดว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะการขับเคลื่อน SDGs มันเกิดจากคนๆ เดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านในชุมชน รวมถึงเยาวชน และทุกคนที่มีส่วนได้เสียในการร่วมกันพัฒนาชุมชนหนึ่งๆ

 

 

เป้าหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร ?

การดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและผู้คน และรับมืออย่างไรให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย

เป้าหมายหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศหรือชุมชนต่างๆ เพราะคำว่ายั่งยืน มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

 

 

เยาวชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร ?

เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ วัยหนุ่มสาวยังสามารถทำอะไรให้กับประเทศอีกมากมาย เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยมหาวิทยาลัย กำลังเข้าถึงแขนงวิชาความรู้ต่างๆ เขาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาสู่การปฏิบัติได้ และเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

สิ่งที่เรียนไม่ใช่แค่นำไปประกอบอาชีพในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่สามารถนำความรู้มาพัฒนาชุมชน ร่วมกันคิดหาทางออก และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้

 

 

สิ่งที่ได้กลับไปจากโครงการนี้

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เราได้สัมผัสความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ เราได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าอยากเห็นชุมชนกลับมาทำน้ำตาลมะพร้าวอีกครั้ง เป็นตัวจุดประกายว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆ ยังอยู่กับชุมชนต่อไปถึงรุ่นลูกลูกหลาน

เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านเรามีของดีมากมายขนาดนี้ แล้วก็รู้สึกมีความหวังว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดจะพัฒนาชุมชน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ทำให้เราอยากจะช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น

 

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 20/08/2019
  • by: UNDP

‘Cure Violence’ เมื่อความรุนแรงติดต่อเหมือนโรคระบาด

 

ในยุคที่โลกก้าวสู่ความศิวิไลซ์เทคโนโลยีพัฒนาล้ำหน้า แต่กลับกันเรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวันไม่ว่ามุมไหนของโลก โดยเฉพาะอเมริกาที่เกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงในพื้นที่สาธารณะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงที่รัฐโอไฮโอและรัฐเท็กซัสในเวลาห่างกันเพียง 14 ชั่วโมง

แล้วเราจะป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร?

‘Dr. Gary Slutkin’ นักระบาดวิทยา ผู้ก่อตั้งองค์กร ‘Cure Violence’ กล่าวว่า “การกราดยิงเป็นเหมือนโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่าย” เขาเคยเดินทางไปทำงานให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการต่อสู้กับการระบาดอย่าง วัณโรค อหิวาตก และโรคเอดส์ ทั้งในเอเชียและแอฟริกามานานกว่า 10 ปี หลังจากที่กลับมายังอเมริกา เขาไม่พบการเกิดโรคระบาดเหล่านี้ แต่กลับรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงที่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมในโรงเรียน การแก้ปัญหาโดยทั่วไปคงเป็นบทลงโทษ ซึ่งอาจไม่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม หรืออีกแนวทางคือต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ตั้งแต่ปัญหาในโรงเรียน ความยากจน ครอบครัวแตกแยก ยาเสพติด ไปจนถึงการเหยียดสีผิว ซึ่งยากที่จะทำได้สำเร็จในคราวเดียว

เขาตระหนักว่า สถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คล้ายกับการแพร่กระจายของโรคระบาด กล่าวคือความรุนแรงติดต่อจากเคสหนึ่งไปสู่อีกเคสหนึ่ง เขาจึงมองว่าการลดปัญหาความรุนแรง น่าจะมีทางออกเช่นเดียวกับการยับยั้งโรคระบาด โดยสรุปได้ 3 สิ่งที่ต้องทำ ได้แก่

1. ยับยั้งการส่งต่อ (Interrupting transmission) เริ่มจากสืบหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเคสแรก เช่นเดียวกับกรณีของวัณโรคที่ต้องหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและแพร่เชื้อสู่คนอื่น

2. ป้องกันการแพร่กระจายในอนาคต (Prevent future spread) ค้นหาว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

3. เปลี่ยนบรรทัดฐานของกลุ่ม (Change group norms) ด้วยกิจกรรมชุมชนและปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

เริ่มต้นจากทดลองจ้างคนมาทำงานเป็นผู้ยับยั้งความรุนแรงในชุมชน (Violence interrupters) โดยจ้างคนในชุมชนหรือคนในกลุ่มแก๊งมาเป็นฮีโร่ เพื่อสร้างความเชื่อถือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเข้าถึงได้ โดยเทรนให้เข้าใจหลักการโน้มน้าวและการทำให้คนใจเย็นลง ส่วนคนอีกกลุ่มมีหน้าที่ดูแลคนในกลุ่มที่มีความรุนแรงให้อยู่ในระยะการบำบัดตั้งแต่ 6 – 24 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างเสริมกิจกรรมชุมชนเพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของคนในชุมชน

‘Cure Violence’ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่ย่าน West Garfield Park หนึ่งในชุมชนที่มีความรุนแรงที่สุดของชิคาโก ซึ่งในปีแรกสามารถลดการเกิดเหตุกราดยิงได้ถึง 67% หลังจากนั้น จึงขยายโมเดลนี้ออกไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วอเมริกา ปัจจุบัน มีมากกว่า 50 ชุมชนในอเมริกาที่ใช้แนวทางลดความรุนแรงนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมเทคนิคการป้องกันความรุนแรงให้กับผู้แทนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถลดความรุนแรงได้มากถึง 40-70% ตั้งแต่ปีแรก ถือเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันเหตุการณ์น่าเศร้าที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีใครคาดคิด

 

ที่มา:

1. http://cureviolence.org/

2. https://www.ted.com/talks/gary_slutkin_let_s_treat_violence_like_a_contagious_disease#t-665523

 

Keywords: , , , , , , ,
  • Published Date: 08/08/2019
  • by: UNDP

เพราะ ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ คือ ‘พวกเดียวกัน’

หลายคนอาจมองว่า ทุกวันนี้สงครามเกิดขึ้นน้อยลง แต่รู้หรือไม่ ช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ‘ความขัดแย้ง’ ภายในกลับเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในระดับประเทศ สังคม องค์กร ไปจนถึงระดับบุคคล สร้างความสูญเสียอย่างนับไม่ถ้วน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 หลายประเทศต้องตกอยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 30 ปี จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นั่นคือจุดสำคัญที่เหล่ามนุษยชาติต้องหันมาทำความเข้าใจความขัดแย้ง ตั้งแต่ต้นตอการเกิดขึ้น การเพิ่มขึ้นของปัญหา การเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความต่อเนื่องของความขัดแย้ง และร่วมกันหาหนทางป้องกันความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

 

‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ เส้นแบ่งสร้างความขัดแย้ง

 หลายคนอาจคิดว่า ต้องถืออาวุธ หรือใช้ความรุนแรง ถึงจะเรียกสถานการณ์นั้น ๆ ว่าความขัดแย้ง แต่ในความจริงแล้ว ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คำว่า ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ คำจำกัดความสองคำสั้น ๆ ก็สามารถสร้างเส้นแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายจนกลายเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้ง

เราและเขาขัดแย้งกันด้วยอะไร ?

ชาติพันธุ์และสีผิว – คำสองคำนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ เพราะหลักการในการแบ่งมนุษยชาติ ได้อิงตามลักษณะธรรมชาติที่สามารถมองเห็นได้ชัด นั่นก็คือ ‘สีผิว’ จากการประชุมขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ร่วมกับนักมานุษยวิทยากายภาพที่กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1951 สรุปออกมาได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ของมนุษย์ในโลกสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.จำพวกผิวขาว (Caucacoid) 2.จำพวกผิวเหลือง (Mongoloid) และ 3.จำพวกผิวดำ (Negroid) คำถามก็คือ เราควรเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้หรือไม่?

ศาสนา – 4,200 คือตัวเลขของจำนวนศาสนาที่คนทั่วโลกเลือกนับถือและศรัทธาตามความเชื่อของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ‘สงครามครูเสด’ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลามในยุโรปเพื่อแย่งชิงดินแดนเมืองเยรูซาเลม ซึ่งเกิดขึ้นถึง 8 ครั้ง กินเวลายาวนานถึง 200 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7,000,000 คน และทรัพย์สินอีกมากมายมหาศาล ทุกวันนี้หลาย ๆ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลก ยังนำประเด็นทางศาสนามาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการสร้างความรุนแรงและการแบ่งแยก

ภาษา – ตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ โลกของเราถูกรวมไปด้วยกว่า 195 ประเทศ มีภาษาพูดประมาณ 6,500 ภาษา และมีอีกเกือบ 2,000 ภาษาที่กำลังจะสูญหายไป ภาษาที่ใช้พูด ใช้เขียนกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใช้แบ่งพรรคแบ่งพวกจนลุกลามไปถึงความขัดแย้ง ในชีวิตประจำวันเราอาจมองเห็นความขัดแย้งนี้ผ่านการดูถูกสำเนียงภาษาของคนอื่น เหยียดกันเพียงเพราะพูดไม่ชัด หรือแม้แต่เหยียดกันเพียงเพราะสำเนียงไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทัศนคติ ความเชื่อ เพศ ไปจนถีงความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสด้านต่าง ๆ ที่ยังนับเป็นตัวเลขไม่ได้

รู้หรือไม่? องค์การสหประชาชาติยังคาดว่าจำนวนประชากรโลกจากปัจจุบัน 7,600 ล้านคนจะพุ่งเป็น 9,800 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 อีกด้วย นั่นหมายถึงความหลากหลายกำลังจะมีมากยิ่งขึ้นไปอีก

แล้วโลกของเราจะอยู่ท่ามกลางความหลากหลายนี้อย่างสันติอย่างไร?

 

เข้าใจ ‘ความหลากหลาย’ แตกต่างแต่เหมือนกัน

สะท้อนความหลากหลายของสังคม (Diversity) คือกระแสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ติดโลกอย่าง #Metoo ที่เกิดขึ้นจากการที่นักแสดงหญิงโดนโปรดิวเซอร์ใหญ่แห่งวงการฮอลลีวูดคุกคามทางเพศ หรือประเด็นการปกป้องกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) จากการถูกเหยียด หรือสร้างความรังเกียจ ไปจนถึงความเป็นหพุสังคมของประเทศสิงคโปร์ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของชาวจีน อินเดีย มาเลเซีย และชนชาติอื่น ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างของความขัดแย้ง และเพิ่มความเข้าใจในความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น

ความเข้าใจความหลากหลายเริ่มต้นขึ้นได้ง่าย ๆ ด้วยคำว่า ‘รับฟัง’ ‘พูดกัน’ และ ‘ร่วมมือ’

รับฟัง – เชื่อเถอะว่าการเริ่มต้นรับฟังอย่างตั้งใจด้วยวิธีการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการฟังอย่างลึกซึ้ง คือ รูปแบบการฟังโดยไม่ตัดสินความถูกผิดแต่แรก ไม่ฟังเสียงแห่งการตัดสินที่ดังก้องในหัว (voice of judgement) ไม่ตอบสนองแบบทันทีทันใด (reacting) ไม่พูดแทรก และรู้จักการปล่อยผ่าน (suspending) เสียบ้าง

พูดกัน – การพูดคุยกัน หรือชักชวนคนรอบตัวมาเปิดรับหาหนทางที่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เป็นอีกสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกับการฟัง เพราะหลายครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเราคุยกันไม่มากพอ หรือผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีความหลากหลาย ดังนั้น เราจึงควรพูดคุยกันในระดับวงกว้างและให้มีความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ความสำคัญกับคนทุกเชื้อชาติ วัย เพศ ไปจนถึงทุกองค์กรที่มีความเห็นต่างกันก็ตาม เพราะจะทำให้เห็นความคิดที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่แตกต่าง

ร่วมมือ – สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คน ชุมชน องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อช่วยกันหาวิธีเข้าใจความหลากหลาย และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งผ่านการให้ความรู้ กิจกรรม ไปจนถึงนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ทุกคนสามารถร่วมกันแก้ปัญหาในระดับความร่วมมือได้

 

กรณีศึกษา : Teeter-Totter Wall 

‘ไม้กระดกสีชมพู’ เชื่อมพรมแดน สหรัฐฯ – เม็กซิโก

ย้อนกลับไปไม่กี่เดือน พรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ถูกขีดเส้นแบ่งด้วยกำแพงตามนโยบายของทรัมป์เพื่อป้องกันคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งพยายามใส่ทัศนคติผิด ๆ ว่าทุกวันมีผู้อพยพผิดกฏหมายหลายหมื่นคนเข้ามาแย่งงานคนอเมริกัน รวมถึงการขนส่งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ไปจนถึงแก๊งอาชญากรรม สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้อพยพระหว่างพรมแดนเม็กซิโกเป็นศัตรูทำลายความมั่นคงของชาติ กำแพงแบ่งแยกสหรัฐฯ – เม็กซิโก ทำให้เกิดประเด็นความขัดแย้งมากมายตามมา โดยเฉพาะการกีดกันเชื้อชาติในอเมริกาที่ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

แต่ความเป็นมนุษย์นั้นไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติหรือกำแพงกั้น อย่างที่ศิลปิน และนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันสร้างโปรเจ็กต์ชื่อ ‘Teeter-Totter Wall’ หรือเครื่องเล่นไม้กระดกสีชมพูไปติดตั้งไว้บริเวณกำแพงซี่ ๆ ระหว่างพรมแดน เสมือนเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนสองพรมแดนผ่านการได้เล่นเครื่องเล่นง่าย ๆ นี้ด้วยกัน สร้างความสนุกสนาน ความอบอุ่น และเสียงหัวเราะที่ปราศจากอคติของอีกฝ่าย โดยที่มาของความหมายของไม้กระดก หมายถึง “กำแพงกลายมาเป็นชนวนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ในขณะที่เด็กและผู้ใหญ่เชื่อมโยงกันด้วยวิธีที่มีความหมาย การกระทำที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งมีผลโดยตรงต่ออีกด้านหนึ่งเสมอ”

 

Youth Co:Lab

นอกจากวิธีสร้างความเข้าใจที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เยาวชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจในความหลากหลาย และช่วยกันแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ผ่านโครงการ ‘Youth Co:Lab’ โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้ธีม ‘Embracing Diversity’  ชวนให้ทุกคนเคารพความแตกต่างและเปิดรับความหลากหลาย (respect the differences, embrace diversity)

ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาไอเดียของตัวเองให้เป็นจริง ได้พบปะกับผู้เชี่ยวชาญ และ innovator มากมาย พร้อมทั้งสามารถเสนอโครงการของตัวเอง (pitching) เข้าประกวด เพื่อรับเงินรางวัลไปต่อยอดความคิด รับสมัครเยาวชนตั้งแต่อายุ 18-29 ปี จับทีม 3-4  คน และสามารถร่วมส่งโครงการมาแก้ปัญหาด้วยกัน

โครงการ Youth Co:Lab 2019 กำลังจะเปิดรับสมัครแล้วในอีกไม่กี่วันนี้

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.youthcolabthailand.org  และ เฟสบุ๊กThailand Social Innovation Platform Facebook

 

 

Sources:

– สหประชาชาติและธนาคารโลก 2018 “วิถีสู่สันติ: แนวทางครอบคลุมเพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง” บทสรุปผู้บริหาร ธนาคาร วอชิงตัน ดีซี. ใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซีซีโดย 3.0 ไอจีโอ

https://www.worldometers.info/geography/how-many-countries-are-there-in-the-world/

-http://www.polsci.tu.ac.th/fileupload/39/58.pdf

Keywords: , , , , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779