• Published Date: 29/11/2021
  • by: UNDP

6 วิธีปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ

 

“ทำไมพูดเรื่องนี้ทีไรแล้วเซนซิทีฟไปหมด”
“ก็ไม่เคยมีใครมาบอก มาสอนเรื่องทรานส์เจนเดอร์นี่”
“แล้วสรุปจะให้ปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนข้ามเพศ”
นี่เป็นเพียงคำถามจากบทสนทนาเพื่อปิดท้ายประเด็น “คนข้ามเพศ” ส่วนหนี่งจากการพูดคุยที่คนทั่วไปมักได้ยินเป็นประจำ อันที่จริง ประเด็นเรื่องคนข้ามเพศที่ควรถูกสอนตั้งแต่เนิ่น ๆ ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็เป็นอีกเนื้อหาที่ถูกรัฐไทยมองข้าม อาจด้วยอคติทางเพศและความหวาดระแวงต่อความละเอียดอ่อนของเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากขาดการใช้งานทั้งงานวิจัยและงานสำรวจเชิงวิชาการที่มีอยู่ในมือ จนกลายเป็นความไม่เข้าใจตามมา
.
#ก็ลืมเรื่องเพศไปสิ – วิธีการแนะนำเช่นนี้เข้าค่ายการลบอัตลักษณ์ (identity erasure) ที่ท้ายที่สุดทำให้ปัญหาเฉพาะตัวทางเพศถูกมองข้ามและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันควัน ผู้หญิงตรงเพศย่อมมีปัญหาเฉพาะตัวบางอย่างที่ไม่เหมือนกับผู้ชายตรงเพศและอัตลักษณ์อื่น ฉะนั้นแล้ว จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะเจาะลึกปัญหาของแต่ละอัตลักษณ์โดยเฉพาะ และ ร่วมกันแกัปัญหาก่อนจะปะทุไปมากกว่าที่เป็นอยู่
.
และแล้วก็เดินทางมาถึง ep. สุดท้ายกับซีรีส์ “เยาวชนข้ามเพศ” ในท้ายนี้ ทาง GendersMatter ร่วมกับ UNDP Thailand เนื่องในสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) โดยในวันนี้จะเป็นการแนะนำ “6 วิธีปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ” ได้แก่
.
1. เคารพสรรพนามของคนข้ามเพศ ไม่เรียกชื่อเดิม
2. เคารพการใช้พื้นที่สาธารณะของคนข้ามเพศ
3. หยุดเลือกปฏิบัติกับคนข้ามเพศ
4. ช่วยรณรงค์กฎหมายที่เกี่ยวกับ LGBTQ+
5. อะไรที่ไม่กล้าถามคนตรงเพศ ก็อย่าถามคนข้ามเพศ
6. รับฟังให้มากขึ้น

1. เคารพสรรพนามของคนข้ามเพศ ไม่เรียกชื่อเดิม
.
โดยทั่วไป พ่อและแม่มักจะตั้งชื่อลูกโดยไม่ได้คำนึงว่าลูกอาจเป็นคนข้ามเพศ และเมื่อชื่อและสรรพนามเดิมยึดโยงกับเพศกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริง ก็อาจจะกระตุ้นสะกิด (trigger) ให้คนข้ามเพศบางคนหวนคิดถึงวันวานซึ่งอาจเป็นความทรงจำอันเลวร้ายได้
.
นอกจากนี้ การเรียกชื่อและสรรพนามใหม่ยังถือเป็นการให้เกียรติและยอมรับตัวตนที่คนข้ามเพศเป็นอยู่ ถือเป็นการเคารพต่อหลักการกำหนดตัวตน (autonomy) ที่ว่าไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดและบอกได้ว่าตัวเราคือใคร หากแต่เป็นตัวเราเองเท่านั้นที่จะบอกเล่าได้ว่า แท้จริงแล้ว เราเป็นใครและมีอัตลักษณ์อย่างไร
2. เคารพการใช้พื้นที่สาธารณะของคนข้ามเพศ
.
#ห้องน้ำกับคนข้ามเพศ – เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โด่งดังมาก หลายคนแสดงความเห็นต่อต้านโดยกลัวว่าจะมีคน “แฝง” ตัวโดยอ้างว่าเป็นคนข้ามเพศเพื่อเข้าไปใช้ห้องน้ำของเพศตรงข้ามเพื่อคุกคาม จริง ๆ แล้ววิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่แฝงอคติทางเพศอยู่ว่า เพศหนึ่ง ๆ เป็นเพศที่รุนแรงและมีแนวโน้มจะทำลายเพศอื่น
.
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยที่คุ้นชินกับคนข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศ จึงถือเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะไม่สามารถพูดได้ว่า ใครเป็นคนข้ามเพศจริง และ ใครแค่แสดงเป็นคนข้ามเพศ นอกจากนี้ เรื่องการคุกคามก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทั้งในฐานะผู้คุกคามและผู้ถูกคุกคาม การกีดกันไม่ให้คนข้ามเพศใช้พื้นที่สาธารณะตามที่เขาเหล่านั้นสบายใจจึงน่าจะมาจากอคติต่อบุคคลข้ามเพศเสียมากกว่า
3. หยุดเลือกปฏิบัติกับคนข้ามเพศ
.
#Discrimination – หรือ การเลือกปฏิบัติถือเป็นการไม่เคารพ รวมไปถึงการไม่ให้เกียรติต่อบุคคลอื่นเยี่ยงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเกลียดคนคนหนึ่งเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างของพวกเขา และถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับวิถีการใช้ชีวิตของคนข้ามเพศ แต่ก็ไม่จำเป็นอย่างใดที่จะต้องเกลียดชังจนถึงขั้นเลือกปฏิบัติ
4. ช่วยรณรงค์กฎหมายที่เกี่ยวกับ LGBTQ+
.
หนึ่งในวิธีการเป็นภาคีที่ดีก็คือ การร่วมสนับสนุนให้ชีวิตของคนข้ามเพศและอัตลักษณ์ทางเพศอื่นที่ไม่ถูกนำเสนอในกระแสหลักมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ส่วนบุคคล รวมไปถึงการผลักดันให้การข้ามเพศเป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นทั้งสิ้น
.
เพราะเพื่อนที่ดีจะไม่ปฏิเสธ
ที่จะเห็นเพื่อนมีชีวิตที่ดีขึ้น
5. อะไรที่ไม่กล้าควรคนตรงเพศ ก็อย่าถามคนข้ามเพศ
.
“ผ่าหรือยัง”
“ขอลองจับได้ไหม”
“เหมือนของจริงหรือเปล่า”คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่คนข้ามเพศควรก้มหน้ารับแต่อย่างใด การยุ่งกับเนื้อกายคนอื่นถือเป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะการบกพร่องทางมารยาทอีกแบบหนึ่งที่ใครก็ไม่ควรกระทำ ฉะนั้น หากคำถามอะไรที่ไม่ควรถามคนตรงเพศ ก็อย่าใช้ไว้ถามคนข้ามเพศ

6. รับฟังให้มากขึ้น
.
หนึ่งในสิ่งที่คนข้ามเพศแทบทุกคนต้องประสบ โดยเฉพาะในสังคมที่ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่แพร่หลาย ก็คือ ความทุกข์จากความรู้สึกที่ว่าต้องกักเก็บความเจ็บปวดไว้กับตัว และไม่สามารถระบายให้ใครฟังได้ ฉะนั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะเป็นเพื่อนกับคนข้ามเพศก็คือ รับฟังให้มากขึ้น
.
เพราะทุกคนไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกัน ฉะนั้น การรับรู้ประสบการณ์ร่วมก็ต่างกัน
ถ้าการออกความเห็นมีลักษณะของการตัดสินก็ควรจะเก็บไว้กับตัวเท่านั้น
  • Published Date:
  • by: UNDP

อัตลักษณ์ทับซ้อนกับเยาวชนข้ามเพศ

“ผมสู้ค่ารถไม่ไหวครับ ถ้าต้องไปกลับบ่อย ๆ ก็คงหนักเหมือนกัน” ‘ภูมิ’ ชายข้ามเพศอายุ 22 ปีเล่าให้ฟัง ภูมิเริ่มเข้ารับฮอร์โมนส์ตั้งแต่อายุ 18 ปีโดยไม่มีการขัดขวางจากที่บ้านแต่อย่างใด แต่ที่ไม่มีการขัดขวาง ไม่ใช่เพราะว่าภูมิมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่เป็นเพราะภูมิไม่มีครอบครัวเลยต่างหาก ทั้งพ่อและแม่ของเขาแยกทางกัน พ่อส่งภูมิไปต่างจังหวัดเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับความตึงเครียดในฐานะลูกเลี้ยงกับครอบครัวใหม่ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมภูมิจึง ‘ไม่ได้มีครอบครัว’ แต่อย่างใด
.
การกระจายตัวของคลินิกสุขภาพทางเพศที่ให้บริการการข้ามเพศที่ไม่เพียงพอนับว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทับซ้อนในหมู่คนข้ามเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนข้ามเพศ เนื่องจากว่าไม่ได้เป็นผู้หารายได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้น เมื่อจะรับฮอร์โมนส์ก็ต้องทั้งขอความยินยอม ทั้งตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะต้องแบกรับในอนาคตอีกจนกว่าจะสามารถหาเลี้ยงตนเองได้ ยิ่งประจวบกับต้องจ่ายค่าเดินทาง ยิ่งเรียกว่าทับทวีปัญหายิ่งขึ้นไปอีก
.
เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) เพจ GendersMatter ร่วมกันกับ UNDP Thailand จึงขอร่วมมือกัน ขจัดความเข้าใจผิดที่มีต่อคนข้ามเพศ และวันนี้ หัวข้อที่จะพูดถึงก็คือ “อัตลักษณ์ทับซ้อน และ เยาวชนคนข้ามเพศ”
.
#Intersectionality – หรือ #อัตลักษณ์ทับซ้อน คือการที่คนคนหนึ่งอยู่กับการกดทับในสังคมมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เป็นบุคคลข้ามเพศที่ยากจน (ทำให้จากที่ยิ่งเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพด้านการข้ามเพศยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะขาดทุนทรัพย์และแหล่งรายได้ที่มั่นคง) หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล (เพราะทุกการเดินทาง ถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขาดการศึกษา ชาติพันธุ์ที่โดนกดทับ และศาสนาที่ไม่ยอมรับบางอัตลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอัตลักษณ์ทับซ้อนทั้งสิ้น
.
#แล้วสำคัญอย่างไร – ปกติ เวลารับสื่อที่มีการปรากฏตัวของคนข้ามเพศในประเทศไทย ภาพที่ถูกฉายออกมามักจะเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นชนชั้นกลางทั้งสิ้น แม้คนเหล่านี้จะมีอัตลักษณ์ทับซ้อนแบบอื่น แต่ก็ห่างไกลกับความยากจนและการเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์ที่ยากลำบาก เมื่อเทียบกับคนข้ามเพศที่อยู่นอกเขตเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการนำเสนอภาพที่แตกต่างจากชนชั้นกลาง หลายครั้งคนข้ามเพศอื่นก็ถูกมองว่าแปลกแยกจากความคาดหวังของสังคม
.
ฉะนั้น จึงมีคำถามตามมา ไม่ว่าจะเป็น “ทำไมเป็นทรานส์ แต่ไม่เทกฮอร์โมนส์” หรือ “ปกติ คนข้ามเพศกันเรียนเก่งอยู่แล้ว ทำไมเธอถึงเรียนไม่เก่งเลยล่ะ” คำถามเหล่านี้ล้วนมาจากการเหมารวมที่เกิดจากการนำเสนอของสื่อด้านเดียวเท่านั้น คนข้ามเพศก็คือมนุษย์คนหนึ่ง แน่นอนว่าสามารถตกไปอยู่ในสภาวะที่ยากจน ลำบาก ไร้การศึกษา ไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นชาติพันธ์ หรืออยู่ในศาสนาที่กดทับอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์คนอื่น ๆ ทั่วไป
.
นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเวลาทำความเข้าใจกับคนข้ามเพศจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในแง่มุมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศเท่านั้น เพราะทุกเรื่องต่างก็เชื่อมโยงกันไปหมด แม้การเป็นคนข้ามเพศในพื้นที่ที่ขาดแคลนทั้งความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและบริการสุขภาพเพศจะเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สำคัญเท่าปัญหาอื่นอย่างเรื่องปากท้องหรือการบกพร่องการเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพแต่อย่างใด
.
อย่างกรณีของ เด็กข้ามเพศ ก็ถือเป็นอีกอัตลักษณ์ทับซ้อนหนึ่งด้วยตัวเอง เพราะเป็นเรื่องปกติที่เยาวชนจะไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง เนื่องจากยังอยู่ในการดูแลและควบคุมของพ่อแม่อยู่ และ การข้ามเพศในประเทศที่เรื่องเหล่านี้ไม่ถูกให้ความสำคัญจนเป็นสวัสดิการของรัฐก็มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ฉะนั้น การเป็นเด็กข้ามเพศจึงมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาอย่างอื่นตามมา (เช่น ปัญหาด้านสุขภาพจิต) เนื่องจากสภาวะดังกล่าวได้
.
จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเราทุกคน
จะใส่ใจและฟังกันให้มากขึ้น
  • Published Date:
  • by: UNDP

การข้ามเพศทางการแพทย์สำหรับเยาวชนข้ามเพศ

“ก็ฟังจากรุ่นพี่ค่ะ บางทีก็จากเพื่อนบ้าง แต่ [รุ่นพี่และเพื่อน] ก็พูดไม่ตรงกันสักคน” คือคำพูดของ ‘นิว’ เด็กหญิงข้ามเพศวัย 14 ปีที่เล่าถึงประสบการณ์ “เทกยาคุม” ของเธอ การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อให้ร่างกายมีสรีระเป็นเพศหญิงในหมู่ผู้หญิงข้ามเพศถือเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ไม่สามารถซื้อฮอร์โมนส์ได้ ด้วยว่ามีกำลังจ่ายไม่เพียงพอ
.
เธอยังคงเล่าถึงประสบการณ์ของเธอหลังการรับประทานยาคุมกำเนิดต่อ “เวียนหัวค่ะ แต่ถ้าให้หนูหยุดสักวัน หนูก็กังวลว่าร่างกายจะกลับมาเป็นแบบเดิม” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย เนื่องจากถึงแม้ว่ายาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนส์เพศหญิง แต่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการข้ามเพศ คำถามก็คือ แล้วทำไมเด็กข้ามเพศเหล่านี้ถึงยังเลือกเทกยาคุมอยู่
.
เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) เพจ GendersMatter ร่วมกันกับ UNDP Thailand จึงขอร่วมมือกัน ขจัดความเข้าใจผิดที่มีต่อคนข้ามเพศ และวันนี้ หัวข้อที่จะพูดถึงก็คือ “การข้ามเพศทางการแพทย์ และ เยาวชนคนข้ามเพศ”
.
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงคำว่า เยาวชนข้ามเพศ คนมักจะมีคำถามว่าเยาวชนสามารถเป็นคนข้ามเพศได้จริง ๆ หรือ คำตอบก็คือ การข้ามเพศซึ่งเป็นการข้ามจากเพศทางชีววิทยามาสู่สำนึกทางเพศที่แท้จริง อาจมีอยู่แต่กำเนิด (innate) อยู่แล้ว ไม่ได้มาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมหรือสังคมเฉพาะที่แต่อย่างใด ฉะนั้น จึงไม่ควรมีใครกล่าวได้ว่าเด็กข้ามเพศไม่มีอยู่จริง
.
และจากงานสำรวจ ก็พบว่า ยิ่งเด็กข้ามเพศได้รับกระบวนการการข้ามเพศเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่สุขภาพจิตของพวกเขาจะไม่แย่ลงด้วยความทุกข์จากเพศภาวะไม่ตรงกับร่างกาย (gender dysphoria) อีกด้วย แต่คำถามที่แท้จริงก็คือ แล้วถ้าเด็กเหล่านี้จะเข้ารับการข้ามเพศทางการแพทย์ จะสามารถเข้ารับได้ที่ไหน และจะสามารถปรึกษาใครได้บ้าง
.
#ปรึกษาหมอสิคะ – คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าสถานให้บริการทางสุขภาพทุกที่อาจยังไม่มีองค์ความรู้ที่ครบถ้วนด้านการข้ามเพศ อย่างไรก็ตาม ‘คลินิกเพศหลากหลาย’ ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือที่รู้จักกันในนาม ‘Gen V Clinic’ ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกยอดนิยมที่เรียกได้ว่าบริการด้านการข้ามเพศได้อย่างครบถ้วนที่สุด (สามารถติดต่อได้ที่ https://bit.ly/3nCM694)
.
จากศูนย์ให้บริการทางสุขภาพของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟราสซิสโก การข้ามเพศทางการแพทย์ (medical transitioning) จะแบ่งออกเป็น 5 อย่าง ได้แก่ การเข้ารับฮอร์โมนส์ การกำจัดขน การบำบัดด้านการพูด (speech therapy หรือ voice training) และ การเก็บไข่หรือสเปิร์ม นอกจากนี้ก็ยังมีการผ่าตัดแปลงเพศ (SRS หรือ sexual reassignment surgery)
.
ในประเทศไทยนั้น มักจะเป็นที่รู้จักกันอยู่สามอย่างคือ การเข้ารับฮอร์โมนส์ การกำจัดขน และการผ่าตัดแปลงเพศ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดของเยาวชนข้ามเพศ จะพบว่า เยาวชนนั้นยังไม่สามารถที่จะจับจ่ายการบริการการข้ามเพศที่กล่าวมาได้ กลายเป็นความทุกข์ที่ทับถมเนื่องจากไม่สามารถออกจากสภาวะ gender dysphoria ได้
.
แต่การข้ามเพศถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศ ไม่มีเหตุผลใดที่จะงดเว้นจากการเป็นสวัสดิการด้านสุขภาพ แต่เพราะคนทั่วไปยังเชื่ออยู่ว่าการข้ามเพศเป็นไปเพื่อความสวยงาม และ เป็นสิ่งที่คนข้ามเพศแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเอง การไม่สามารถจับจ่ายได้จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการข้ามเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจโดยตรง
.
เพราะการข้ามเพศเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น จึงควรเป็นสวัสดิการจากรัฐ
  • Published Date: 23/11/2021
  • by: UNDP

ถึงข้ามเพศก็เป็นนักกีฬาได้

 

ผมชอบเตะบอลมาตั้งแต่สมัยมัธยม ทุกคนต้องเห็นผมที่สนามบอลตลอด ไม่ชอบอยู่อย่างเดียวคือการที่ต้องระวังกระโปรงเปิด จริง ๆ ผมก็เคยใส่กางเกงเล่นนะ แต่ชอบโดนครูดุว่ามันไม่งามเพราะเธอเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด ทั้งที่ผมก็ไม่เคยบอกใครนะว่าผมเป็นผู้หญิงบีม (นามสมมติ) ชายข้ามเพศอายุ 22 ปัจจุบันทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าประสบการณ์การเป็นคนข้ามเพศกับการเล่นกีฬาให้เราฟัง แม้บีมมีคำนำหน้าเป็นเด็กหญิงแต่เขาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง และได้นิยามตนว่าเป็นคนข้ามเพศหลังจากจบมัธยมต้นผมคิดมาตลอดว่าผมเป็นผู้ชายบีมกล่าว

.

ดังนั้นแล้ว ในสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) เพจ GendersMatter ร่วมกันกับ UNDP Thailand จะขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเรื่องอุปสรรคของนักกีฬาเยาวชนข้ามเพศ ภายใต้หัวข้อเยาวชนคนข้ามเพศกับการเป็นนักกีฬาเพื่อช่วยขจัดความเข้าใจผิดต่อคนข้ามเพศที่ยังคงมีอยู่ในสังคม

.

#เพศกับการเล่นกีฬา –ผู้ชายเตะบอล ผู้หญิงโดดยางกะเทยเล่นวอลเลย์คงเป็นภาพจำที่ปรากฏขึ้นเมื่อเรานึกถึงกีฬากับเพศของผู้เล่น สิ่งนี้ล้วนเป็นสิ่งประกอบสร้างที่สังคมผลิตซ้ำมาเป็นเวลานาน และคอยกำหนดกฎเกณฑ์ในการเล่นกีฬา ทั้งที่จริงแล้วสิ่งที่กำหนดควรมีแค่ความชอบและความถนัดของผู้เล่นเท่านั้น 

.

จริง ๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการแบ่งกีฬาด้วยเพศเลย ฟุตบอลใคร ๆ ก็เล่นได้ เวลาเล่นแถวบ้านในทีมก็มีทุกเพศ เวลาเรียนพละเพื่อนผู้หญิงเขาก็ดูสนุกนะ แต่ถ้าไปเล่นนอกเวลาเรียนก็มักโดนครูบางท่านดุว่าไม่สมควร ยิ่งใครใส่กระโปรงแล้วเตะบอลสูง ๆ ก็จะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ผมก็โดนเหมือนกันแหละ แต่ไม่สนใจหรอก แต่มันก็มีบางคนที่เก็บไปคิดและเลิกเล่นบอลไปเลยบีมเสริม

.

แม้บีมจะเชื่อว่ากีฬาไม่เกี่ยวกับเพศและยังคงสนุกกับการเล่นบอลกับเพื่อน ๆ ตลอดจนจบการศึกษา แต่เขาก็ได้เล่าถึงปมในใจ ที่ทำให้เขาไม่ได้เดินตามเส้นทางนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ เพียงเพราะการแข่งขันกีฬาในระดับโรงเรียนกีดกันไม่ให้เขาได้ลงแข่งเพราะเพศกำเนิดจัดให้เขาเป็นนักกีฬาหญิงและไม่มีทีมให้เขาแข่งโรงเรียนบีมเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เวลามีกีฬาสีทีมฟุตบอลก็มีแต่ทีมชาย เพื่อนผมที่เตะบอลด้วยกันก็ได้เป็นนักกีฬาแข่งทั้งนั้น มีผมคนเดียวที่ต้องไปทำอย่างอื่น ไม่ไปแข่งวิ่ง ก็ไปทำแสตนด์ บางปีก็เป็นสวัสดิการ” 

.

#นักกีฬาข้ามเพศ – ตั้งแต่ปี 2004 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee IOC) อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเข้าแข่งกีฬาตามเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายข้ามเพศ (transwoman) ลงแข่งในทีมนักกีฬาชาย’  หรือผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) แข่งในทีมนักกีฬาหญิงหากแต่ต้องมีการระบุตัวตนเป็นคนข้ามเพศมากกว่า 4 ปี และมีค่าฮอร์โมนเพศตามที่เกณฑ์กำหนด เราจึงได้เห็นนักกีฬาข้ามเพศอย่างลอเรล เข้าแข่งขันในมหกรรมโอลิมปิกที่ผ่านมา 

.

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องคนข้ามเพศกับการแข่งกีฬา ยังเป็นคงเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีผู้หญิงข้ามเพศ อันเกิดจากความเชื่อที่ว่าผู้ชายแข็งแรงกว่าผู้หญิงต่อให้ข้ามเพศก็ยังได้เปรียบผู้หญิงอยู่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริง จะมีนักกีฬาข้ามเพศหญิง เช่น ลอเรลที่แพ้นักกีฬาเพศกำเนิดหญิงในการแข่งขัน รวมถึง Manuel Patricio นักมวยชายข้ามเพศที่ชนะการแข่งขันต่อยมวยกับนักกีฬาเพศกำเนิดชายมาแล้วก็ตาม 

.

#กีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ – งานวิจัยหลายสำนักเห็นตรงกันว่ากีฬามีส่วนช่วยเสริมพัฒนาการเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงทักษะการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม และการเรียนรู้น้ำใจนักกีฬาด้วย ดังนั้นแล้ว ความสนุก ความปลอดภัย และพัฒนาการของเด็กจึงควรเป็นปัจจัยหลักในการคำนึงเรื่องการเล่นกีฬาของเด็ก มากกว่าจะให้เพศมาเป็นกรอบกำหนดหลักที่กีดกันเด็กหลายคนจากการเล่นกีฬาและการแข่งขัน เพียงเพราะกีฬาที่เล่น ไม่ได้เป็นกีฬาที่เหมาะสำหรับเพศของพวกเขา

.

#ความหวังของคนข้ามเพศกับการแข่งกีฬา – ปัจจุบันบีมยังชอบเล่นฟุตบอลเหมือนเดิมกับเพื่อนมัธยมกลุ่มเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือบีมได้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกีฬาฟุตบอลที่กลายเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้นบีมไม่นอยด์เรื่องการแข่งขันแล้ว เพราะทุกวันนี้ก็เล่นขำ ๆ เพราะอยากเจอเพื่อนด้วย แต่ก็หวังว่าจะได้ลงแข่งกับเค้าบ้าง เป็นแค่มือสมัครเล่นในงานเล็ก ๆ ก็ยังดี ไม่รู้ว่าเขาจะยังแบ่งเพศอยู่ไหม แต่ตอนนี้เราข้ามเพศเต็มตัวแล้ว ก็หวังว่าเราจะลงแข่งได้นะ” 

บีมยังเสริมอีกว่า ข่าวนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งโอลิมปิกช่วยสร้างความหวังในการเป็นนักกีฬาให้เขา แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เคยเห็นคอมเม้นต์ต่อต้านกฎดังกล่าวของเพื่อนบางคน ที่ทำให้เขาคิดมากและน้อยใจอยู่บ้าง แต่เขาก็เชื่อมั่นว่าในอนาคต เพื่อนและคนส่วนใหญ่ในสังคมจะเปลี่ยนความคิด และกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งในการแข่งขันระดับโลกไปจนถึงระดับโรงเรียน จะมีการปรับเสริมบางส่วนให้การแข่งขันเป็นไปเพื่อความยุติธรรมและเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกต่อไป เพื่อเด็ก ๆ ที่เป็นเหมือนเขา จะได้สนุกกับการเล่นกีฬา และสามารถทำตามความฝันบนเส้นทางกีฬาได้ตามต้องการ

.

เพราะกีฬา 

ไม่เลือกเพศ

.

 

#Transgender_Awareness_Week

#Transgender

#GendersMatterxUNDP

#GendersMatter

  • Published Date: 19/11/2021
  • by: UNDP

ปัญหาสุขภาพจิตกับเยาวรุ่นข้ามเพศ

 

“ทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่แบบไม่รู้จักกันครับ ไม่คุยกัน ไม่มองหน้ากัน ผมก็อยู่แค่พอให้ได้อยู่ไปวัน ๆ เท่านั้น” คือคำพูดของ ‘นิก’ (นามสมมติ) ชายข้ามเพศวัย 21 ปีที่พูดถึงความสัมพันธ์ของตนกับผู้เป็นแม่ นิกเล่าว่าแม่ของเขาไม่ยินดีกับการข้ามเพศของเขา ถึงขนาดที่เลือกจะตัดขาด “เขาไม่ได้อยากได้ลูกชาย เขาอยากได้ลูกสาวของเขาคืน แล้วการที่เรา ‘เปลี่ยนไป’ ก็เหมือนกับว่าเราไปพรากลูกสาวมาจากเขา”

.

ความสัมพันธ์กระท่อนกระแท่นในครอบครัวที่มีลูกเป็นคนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนคนข้ามเพศ การตีตรา การโดนเลือกปฏิบัติ การไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพสำหรับการข้ามเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่กระทบกับสุขภาพจิตของเยาวชนคนข้ามเพศทั้งนั้น ยิ่งประกอบกับการขาดแคลนคลินิกสุขภาพเพศที่เหมาะสมและเพียงพอ ก็ยิ่งตอกย้ำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ยิ่งไปอีก

.

เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) เพจ GendersMatter ร่วมกันกับ UNDP Thailand จึงขอร่วมมือกัน ขจัดความเข้าใจผิดที่มีต่อคนข้ามเพศ และวันนี้ หัวข้อที่จะพูดถึงก็คือ “สุขภาพจิต กับ เยาวรุ่นคนข้ามเพศ”

.

#ปัญหาสุขภาพจิตที่เยาวรุ่นข้ามเพศต้องเจอ – หลายคนในประเทศไทยอาจจะติดกับภาพจำที่ว่าคนข้ามเพศเป็นคนตลก การมีปัญหาทางสุขภาพจิตน่าจะเป็นเรื่องห่างไกล แต่หากมองให้ถี่ถ้วน จะเห็นว่าความตลกกับปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นคนละส่วนกัน คนข้ามเพศในไทยยังต้องติดอยู่กับการเหมารวม และเมื่อความคิดนี้ถูกส่งต่อมายังพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทรานส์ ก็ยิ่งกดทับให้หลายครอบครัวไม่รู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

.

และเมื่อไม่สามารถรับมือได้ ก็ตามมากับปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในบ้าน บางครอบครัวเลือกจะใช้วิธีหยุดการสนทนาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เมื่อยิ่งไม่พูด ความห่างเหินก็ยิ่งทวีขึ้น เมื่อเยาวชนเห็นว่าครอบครัวไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยอีกต่อไป ปัญหาทางสุขภาพจิตก็เริ่มตามมา และจากงานวิจัยก็จะพบว่า คนข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าคนตรงเพศถึง 4 เท่า

.

#เมื่อคลินิกสุขภาพเพศก็ไม่เป็นใจ – หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจกับการสัมภาษณ์คนข้ามเพศที่เคยมีประสบการณ์เข้าคลินิกสุขภาพเพศในประเทศไทยก็คือ มีคลินิกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจต่อคนข้ามเพศ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขานชื่อเดิมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (deadnaming) หรือ การนำคนข้ามเพศไปรอในห้องรวมที่ไม่ตรงตามเพศปัจจุบัน

.

#แล้วจะทำอย่างไร – สำหรับคนข้ามเพศ หากพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่บั่นทอนสุขภาพจิต ให้พยายามเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น ๆ และหากไม่สามารถออกมาได้ทันที ให้หาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อเล่าและระบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับช่วยกันหาทางออกไปพร้อม ๆ กัน แต่ถ้าหากเริ่มสังเกตตัวเองว่ามีอาการที่สื่อถึงสุขภาพจิตที่แย่แล้ว แนะนำให้เข้าพบศูนย์สุขภาพจิตที่ใกล้และที่สามารถเข้าถึงได้ได้ง่ายที่สุด

.

ในท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ระบบการเอื้ออำนวยการให้บริการทางสุขภาพจิตกับคนข้ามเพศในประเทศไทยจะยังคงขาดแคลน แต่อย่างน้อย ก็ทำให้เห็นว่า ระบบที่สนับสนุนคนข้ามเพศในประเทศไทยยังบกพร่องอะไรและสามารถเติมเต็มตรงไหนได้อีกด้วย ในขณะที่พัฒนาระบบ ก็อย่าลืมที่จะดูแลใจกัน ร่วมสร้างสังคมและพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับคนข้ามเพศ รวมถึงอัตลักษณ์อื่นให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

.

เพราะพื้นที่ปลอดภัย

จำเป็นสำหรับทุกคน

  • Published Date: 16/11/2021
  • by: UNDP

Social Transitioning คืออะไร? เป็นไปได้ไหมถ้าจะ ‘ข้ามเพศ’ โดยไม่ต้องเทคฮอร์โมน?

“เราหยุดเทกฮอร์โมนตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีสถานการณ์โควิด ส่วนหนึ่งเพราะเราคิดว่าการเทกฮอร์โมนทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ ไม่เหมาะกับเรา” คือคำพูดของ ‘เต้ย’ (นามสมมติ) ผู้หญิงข้ามเพศวัย 25 ปีที่ทำอาชีพเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเริ่มงานนี้หลังจากเรียนจบชั้นอุดมศึกษามาได้ราวหนึ่งปีเต็ม เต้ยเล่าถึงความกังวลใจที่จะกลายเป็น “คนแปลกแยก” จากสังคมคนข้ามเพศอย่างไม่เคอะเขินต่อ “พอเราหยุดเทกฮอร์โมน โอเคล่ะ ผิวเราก็ไม่เปล่งปลั่งเหมือนเดิม ขนหนวดก็กลับมาแข็ง แต่อย่างน้อย ๆ เราว่าเราได้ชีวิตเรากลับคืนมา เราไม่อ่อนแออีกต่อไป”

.

นี่ไม่ใช่กรณีแรกของคนข้ามเพศที่ตัดสินใจไม่รับฮอร์โมนส์ในการข้ามเพศ (Hormonal Replacement Therapy) แน่นอนว่าประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงมากมาย เนื่องจากเท่ากับว่า บุคคลข้ามเพศนั้นจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าทำศัลยกรรมเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังยืนยันได้อย่างเต็มเปี่ยมก็คือ ความเป็นคนข้ามเพศของพวกเขาและเธอเหล่านี้ก็ไม่ได้พร่องไปแต่เพียงใด เนื่องจากการข้ามเพศนั้นไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านวิธีการทางการแพทย์เสมอไป แต่สามารถกระทำผ่านทางสังคม (Social Transitioning) ได้

.

เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการรับรู้ตัวตนคนข้ามเพศ (Transgender Awareness Week) เพจ GendersMatter ร่วมกันกับ UNDP Thailand จึงขอร่วมมือกัน ขจัดความเข้าใจผิดที่มีต่อคนข้ามเพศ และวันนี้ หัวข้อที่จะพูดถึงก็คือ “การข้ามเพศเชิงสังคม? เมื่อคนข้ามเพศตัดสินใจไม่รับฮอร์โมนส์”

.

#SocialTransitioning – หรือ ‘การข้ามเพศเชิงสังคม’ เป็นกระบวนการข้ามเพศที่กระทำผ่านกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนชื่อและสรรพนามเพื่อให้สอดคล้องกับเพศภาวะปัจจุบัน การเข้าใช้พื้นที่สาธารณะที่มีการแบ่งแยกเพศ (gendered) ตามเพศปัจจุบันของตน รวมไปถึงการที่สังคมและคนรอบข้างปฏิบัติต่อคนข้ามเพศอย่างเหมาะสมอีกด้วย ฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่าการข้ามเพศในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของสังคมด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ว่าทำไมควรมีการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนข้ามเพศมากขึ้นอีกด้วย

.

#แล้วสำคัญอย่างไร – มีทฤษฎีว่า มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (social being) ฉะนั้น การตอบรับจากสังคมเพื่อสะท้อนตัวตนจริงของคนข้ามเพศจึงสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว จะเห็นว่าคนข้ามเพศอีกหลายคนไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการข้ามเพศได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือ เหตุผลอื่น ฉะนั้นแล้ว การข้ามแพทย์เชิงการแพทย์ (medical transitioning) จึงไม่ควรถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดว่าใครคือคนข้ามเพศและใครไม่ใช่คนข้ามเพศอีกด้วย

.

#แล้วเกี่ยวกับเด็กอย่างไร – จากงานวิจัยของ Kristina R. Olson นักจิตวิทยาและอาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Princeton และคณะ พบว่า เด็กที่เป็นคนข้ามเพศและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้มีการข้ามเพศเชิงสังคม (พูดง่าย ๆ ก็คือ ปฏิบัติกับเด็กตามเพศภาวะที่แท้จริง) จะมีการแสดงภาวะอารมณ์เชิงลบเช่น อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และอาการหวาดกลัว น้อยกว่าเด็กที่เป็นคนข้ามเพศเช่นเดียวกัน แต่โดนบังคับให้ต้องใช้ชีวิตตามเพศกำเนิดของตน จึงเห็นได้ว่าการข้ามเพศไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับการแพทย์อย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับคนรอบตัวอีกด้วย

.

#แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร – สำหรับคนข้ามเพศ อย่างแรกสุดเลยคือ ต้องดูว่าสังคมแวดล้อมรอบตัวเรานั้นเป็นที่ปลอดภัย (safe environment) แล้วจริง ๆ หรือไม่ เนื่องจากการข้ามเพศเชิงสังคมจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น อาจเป็นเรื่องเสี่ยงหากเปิดเผยตัวตนในสภาวะแวดล้อมที่ไม่พร้อม แต่ถ้าหากมั่นใจแล้วว่าปลอดภัย ก็สามารถใช้ชีวิตในฐานะเพศที่แท้จริงของเราได้เลย สำหรับคนที่สนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการสร้างความสบายใจ รับฟังโดยไม่ตัดสิน และร่วมรักษาพื้นที่ปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน

.

เพราะความเข้าใจ

คือปัจจัยสำคัญในการผลักดันสิทธิสำหรับทุกคน

  • Published Date: 13/11/2021
  • by: UNDP

ความเข้าใจผิด 5 ประการเกี่ยวกับคนข้ามเพศ

 

“หนูเริ่มกินยาคุมตั้งแต่ม. 1 ถ้าหนูไม่กิน คนก็จะไม่ยอมรับ” เสียงเล็กใสๆเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ‘ปิ่น’ (นามสมมติ) เป็นเยาวชนอายุ 14 ปี กำลังเรียนอยู่ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เธอระบายถึงความอัดอั้นตันใจกับสิ่งที่สังคมยัดเยียดให้เธอเป็น ทั้งที่เธอไม่ได้อยากจะยอมรับมัน “หนูไม่ได้กินยาคุมมา 4 วัน หนูกลัวจะเป็นผู้ชายมาก หนูจะรู้สึกแย่กับตัวเอง สังคมก็จะมีท่าทีแปลกไป”

คนข้ามเพศจะมีความกังวลอย่างมากว่าสังคมจะไม่เข้าใจ วันนี้ GendersMatter ร่วมกับ UNDP Thailand จะพามาทำความเข้าใจกับความเข้าใจผิด 5 ข้อที่สังคมมีเกี่ยวกับคนข้ามเพศ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่าอีก

 

(1) “ต้องผ่าตัดแปลงเพศแล้วเท่านั้น ถึงจะถือว่าเป็นคนข้ามเพศ” – นิยามของการข้ามเพศตามหลักสิทธิมนุษยนสากลคือ การกำหนดใจตนเอง (Self determination) ว่าอัตลักษณ์ทางเพศของเขาแตกต่างจากเพศกำเนิด ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะตัดสินใจผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดแปลงเพศ ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นคนข้ามเพศ (transness) ลดลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ความเข้าใจผิดนี้ ยังเป็นการกีดกันและลดทอนความเป็นคนข้ามเพศ ของคนข้ามเพศที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการแปลงเพศ ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมอีกด้วย

 

(2) “ไม่มีเด็กที่เป็นคนข้ามเพศ” – เมื่อความเป็นคนข้ามเพศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผ่าตัด นั่นก็แปลว่า เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดร่างและประสบกับความทุกข์ที่เกิดจากร่างกายไม่ตรงกับเพศภาวะ (gender dysphoria) ก็ถือว่าเป็นคนข้ามเพศแล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ยิ่งเด็กที่เป็นคนข้ามเพศได้รับการบริการด้านการข้ามเพศ (gender affirming care) เร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับสุขภาพจิตของเด็กมากเท่านั้น ฉะนั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการทางสุขภาพสำหรับเด็กที่เป็นคนข้ามเพศมากขึ้น

 

(3) “คนข้ามเพศแบ่งได้เพียงสองประเภท คือ ชายข้ามเพศและหญิงข้ามเพศ” – เพศภาวะของคนข้ามเพศไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเพียงเท่านั้น มีคนข้ามเพศหลายคนที่มองว่าตนไม่ได้เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย แต่เป็น ‘นอนไบนารี’ ที่ไม่อยู่ในขนบระบบสองเพศ (gender binary system) ฉะนั้นแล้ว การบังคับให้คนข้ามเพศต้องอยู่ในกล่องชายหญิง จึงถือเป็นการกีดกันคนข้ามเพศบางกลุ่มออกไป

 

(4) “การข้ามเพศจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนส์ประกอบด้วย” – เช่นเดียวกันกับเรื่องของการผ่าตัด สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างมากคือ ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนจะสามารถจับจ่ายและเข้าถึงการรับฮอร์โมนส์ได้ นอกจากนี้ อีกหลายคนก็พอใจที่จะไม่รับฮอร์โมนส์ อันที่จริง การข้ามเพศสามารถทำโดยการบอกคนรอบข้างว่าตนเป็นคนข้ามเพศ โดยเรียกว่า “Social Transitioning” ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนของคนข้ามเพศโดยไม่ต้องยึดโยงกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย

 

(5) “ผู้หญิงข้ามเพศต้องแสดงออกถึงความเป็นหญิง ผู้ชายข้ามเพศต้องแสดงออกถึงความเป็นชาย” – เช่นเดียวกันกับคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด  คนข้ามเพศไม่จำเป็นต้องมีความเป็นหญิงหรือความเป็นชายตามที่สังคมคาดหวังและกำหนดแต่อย่างใด เพราะเราทุกคนสามารถแสดงออกได้ตามที่อยากจะแสดงออก การกำหนดให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้มีแต่จะทำให้ทุกข์ใจกันไปเปล่า ๆ คงจะดีกว่าถ้าสังคมยอมรับกันที่ตัวตนมากกว่าแค่ความเป็นหญิงหรือชาย

 

“สังคมบังคับให้เราอยู่ในกรอบตามแบบที่พวกเขาเข้าใจ ถ้าหนูไม่ได้อยู่ในกรอบนั้น ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ” ปิ่นเล่าให้ฟัง ก่อนจะพูดถึงการตัดสินใจของเธอที่เลือกจะเป็นไปในแบบที่ตนอยากจะเป็น “คนข้ามเพศไม่จำเป็นต้องเทกฮอร์โมนส์นะ สบายใจแบบไหนก็ทำเลย ไม่ต้องไปว่ากัน” ทางเราพยักหน้าเห็นด้วยไปกับปิ่น คนข้ามเพศจะอยู่ได้อย่างมีความสุข หากสังคมยอมรับให้พวกเขาออกจากพันธนาการความเข้าใจผิดได้

 

เพราะท้ายที่สุด

เราก็เป็นคนเหมือนกัน

Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779