• Published Date: 28/07/2020
  • by: UNDP

โควิด-19: เวลาว่าง-เวลาสร้างสรรค์ของเยาวชน

 

สำรวจเยาวชน

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ใคร ๆ ต่างรณรงค์ให้ประชาชนที่ไม่มีความจำเป็นไม่ต้องออกเดินทางไปไหน อีกทั้งสถาบันการศึกษา พื้นที่สาธารณะบางแห่ง หรือสถานที่จัดกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมเป็นประจำยังต้องปิดตัวลงชั่วคราว เด็กและเยาวชนจึงมีเวลาว่างเป็นพิเศษ

ผลจากการสำรวจเรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยขององค์การยูนิเซฟและภาคีที่สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 30 ปี จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศไทย พบว่าเด็กและเยาวชนกว่า 50% มีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี คือกลุ่มที่มีเวลาว่างมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่พอใจเพิ่มขึ้นสูงสุดจากการมีเวลาว่างมากขึ้น ส่วนกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 20-24 ปี ที่เริ่มทำงานหรือศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาคือกลุ่มที่รู้สึกชัดเจนที่สุดว่าการมีเวลาว่างมากขึ้นทำให้พวกเขามีความพึงพอใจน้อยลง

ในด้านกิจกรรมที่ทำ เป็นที่ชัดเจนว่าการเล่นรับชมวิดีโอหรือภาพยนตร์ออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดีย และใช้อินเทอร์เน็ตคือกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงในทุกเพศ และแทบจะในทุกวัย ยกเว้นวัยต่ำกว่า 10 ปี ที่การรับชมโทรทัศน์เป็นกิจกรรมหลัก

เมื่อสอบถามเรื่องสิ่งที่พวกเขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมออนไลน์ พบว่า ภาษาอังกฤษ ความรู้เสริมเกี่ยวกับการเรียนในปัจจุบัน และทักษะนันทนาการ เช่น ศิลปะ ดนตรี ทำอาหาร เขียนนิยาย คือ 3 สิ่งที่พวกเขาสนใจอยากเรียนรู้มากที่สุดตามลำดับ

 

นวัตกรรมเพื่อสังคมโดยเยาวชน

          นอกจากกิจกรรมทั่ว ๆ ไป เยาวชนส่วนหนึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมบางอย่างโดยใช้มุมมองแบบเยาวชนในการมองปัญหาโควิด-19 และใช้ทักษะที่ตัวเองมีในการสร้างสรรค์ทางออก

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของนวัตกรรมจากฝีมือเด็กและเยาวชน

 

 

  1. Coronavirus Re-Mix Space Impact game

อิสราเอล สมิทธิ์ (Israel Smith) เด็กชายวัย 12 ขวบอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาว่างช่วงโควิด-19 พัฒนาเกมสะท้อนสถานการณ์โคโรน่าไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

เกมของเขาเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการบังคับตัว Avatar ยิงเลเซอร์ให้โดนไวรัสโควิด-19 ที่วิ่งผ่านหน้าจอให้ได้มากที่สุดในเวลาจำกัด โดยเขาใช้สกิลโค้ดดิ้งดัดแปลงเกมโทรศัพท์สุดคลาสสิกอย่าง Space Impact เกมของสมิทธิ์น่ารัก ใช้ลายเส้นเด็ก ๆ ในการวาดฉากประกอบและออกแบบตัวละคร

ความตั้งใจของสมิทธิ์คือเพื่อให้เพื่อน ๆ ได้เล่นเกมนี้แก้เครียด และโฟกัสกับการช่วยกำจัดไวรัส เพื่อให้จัดการกับความกลัวไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น เขาอยากให้เพื่อน ๆ รู้สึกว่ายังคงสนุกสนานได้อยู่แม้ในเวลาแบบนี้ และที่สำคัญคือ เขายังสอดแทรกกิมมิกเกร็ดความรู้และการป้องกันตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไประหว่างทาง อย่างเช่น การที่ไวรัสพูดกับผู้เล่นว่า “หน้ากากอนามัยของเธออยู่ไหน” หรือก่อนที่เกมจะเริ่มต้น เขาออกแบบให้มีกล่องคำพูดสั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเรื่องโควิด-19 ลอยขึ้นมา อย่างเช่น “โคโรน่าไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้” เป็นต้น

วิธีการของสมิทธิ์เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่อาจแสดงออกหรือตอบสนองต่อความเครียดอย่างชัดเจนในช่วงโควิด-19 หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้คือให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ด้วยวิธีที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งเกมถือเป็นหนึ่งในวิธีนั้น

เล่นเกมของสมิทธิ์ได้ที่: https://scratch.mit.edu/projects/384381919

 

  1. Grocercheck 

          ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ถ้าเลือกได้หลายคนไม่อยากพาตัวเองไปหาความเสี่ยง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารข้าวของเครื่องใช้บางอย่างก็จำเป็นต้องออกไปซื้อ

เหมือนกับที่ Brian Chen นักเรียนในแคนาดาที่กำลังอบขนมปังอยู่แต่ไข่ดันหมดพอดี เขาลังเลว่าจะไปซื้อไข่จากร้านค้าขนาดใหญ่ใกล้บ้านหรือจากร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ห่างออกไปดี อะไรจะทำให้เขาเสี่ยงจากการอยู่ใกล้ผู้คนจำนวนมากน้อยกว่ากัน จากเหตุการณ์วันนั้นทำให้เขาชวนเพื่อนที่เรียนอยู่เทียบเท่าชั้นมัธยมปีที่ 5 และ 6 ร่วมพัฒนา https://grocercheck.ca/ ขึ้น

เว็บดังกล่าวแสดงแผนที่ตำแหน่งร้านค้าต่าง ๆ พร้อมมีสีกำกับแบบเรียลไทม์เพื่อบอกความหนาแน่นของแต่ละร้าน โดยไล่ลำดับ สีแดงหมายถึงหนาแน่นมากที่สุด ไปจนถึงสีเขียวที่แปลว่าไม่หนาแน่นเลย เว็บนี้พัฒนาขึ้นจาก ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ (Location Data) ของกูเกิ้ล

เมื่อผู้ใช้รู้ว่าแต่ละร้านหนาแน่นแค่ไหนก็จะสามารถวางแผนได้ว่าจะออกไปซื้อของตอนนั้นทันทีหรือจะรอให้คนเบาบางก่อน หรือจะตัดสินใจไปซื้อจากร้านอื่นที่คนน้อยกว่าดี เพื่อให้การรักษาระยะห่างทางกายภาพเกิดขึ้นได้จริงมากที่สุด

ปัจจุบัน Grocer Check ให้บริการครอบคลุมบางเมืองในจังหวัด British Columbia, Ontario, และ Quebec ในประเทศแคนาดา และมีให้บริการใน 5 เมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ที่มา

https://www.unicef.org/thailand/th/media/4031/file

https://www.ajc.com/lifestyles/how-this-year-old-ellenwood-student-upped-his-game-against-covid/otqcHuroT7E7KkVxxIXmHJ/

https://www.fastcompany.com/90517496/this-sixth-grader-reinvented-a-classic-video-game-to-combat-the-stress-of-covid-19

https://dailyhive.com/seattle/new-website-grocercheck-seattle

  • Published Date: 22/07/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 ส่งผลต่อชีวิตเยาวชนอย่างไร?

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบถึงทุกคนไม่มากก็น้อย และในที่นี้ก็รวมถึงกลุ่มเยาวชนด้วย ซึ่งมีความกังวลในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ จิตใจ การศึกษา ไปจนถึงเงินในกระเป๋า

UNICEF ได้ร่วมมือกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ทำแบบสำรวจออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่กระทบคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ และความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาคืออะไร โดยมีเด็กและเยาวชนเข้ามาตอบแบบสอบถามถึง 6,790 คน ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 28 มีนาคม – 10 เมษายนที่ผ่านมา

บทความนี้ถอดและสรุปข้อมูลจากแบบสอบถามมาเล่า โดยเน้นนำเสนอแง่มุมผลกระทบที่มีต่อชีวิตเด็กและเยาวชน

ความกังวลของพวกเขามีรายละเอียดอย่างไร มาดูกันว่าจะใช่เรื่องเดียวกับที่คุณเผชิญอยู่หรือเพิ่งเผชิญไปหรือไม่

 

 

การเงิน

เยาวชนจำนวน 8 ใน 10 ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีความกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจของคนในครอบครัว เนื่องจากพวกเขาส่วนใหญ่ต่างพึ่งพาเศรษฐกิจหรือการกำลังในการจับจ่ายใช้สอยจากผู้ปกครอง เมื่อการเงินของพ่อแม่ได้รับผลกระทบ การเงินของลูกก็ได้รับผลกระทบตามเช่นกัน

ความเดือดร้อนด้านการเงินยังทำให้เยาวชนบางคนกังวลเรื่องการศึกษาตามมาด้วย เช่น ในประเด็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อ ไปจนถึงเรื่องค่าเล่าเรียน โดยเยาวชนบางรายเสนอให้รัฐสนับสนุนทุนการศึกษามากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เยาวชนบางส่วนก็ทำงานพาร์ทไทม์ควบคู่ไปกับการเรียน ส่วนหนึ่งของงานที่พวกเขาทำเป็นงานนอกระบบ มาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐที่ให้ผ่านประกันสังคมและมาตรการเยียวยา 5,000 บาทจึงไปไม่ถึง ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำงานประจำและพาร์ทไทม์ร้อยละ 23 สะท้อนว่าโควิดเป็นเหตุให้พวกเขาต้องออกจากงาน

ในส่วนของเยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษา พบว่ากว่า 30% ยังคงอยู่ระหว่างหางานทำ การที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงในช่วงล็อกดาวน์ไปจนถึงผลกระทบระยะยาวต่อเนื่องจึงทำให้เยาวชนบางส่วนในกลุ่มนี้กังวลต่ออนาคตการงานและเศรษฐกิจของตนเองเช่นกัน

 

 

สุขภาพจิต

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากโควิด-19 คือความกังวลใจ เยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามมีหลายเรื่องที่เข้ามารบกวนจิตใจ โดย 7 ใน 10 เปิดเผยว่าชีวิตที่ต้องปรับตัวในช่วงล็อคดาวน์สร้างทั้งความเครียด ความเบื่อ ขาดแรงจูงใจ ไปจนถึงรู้สึกอึดอัด

ความกังวลของเยาวชนบางส่วนเกี่ยวกับโรคโดยตรง คือกังวลว่าตนและคนในบ้านจะเป็นผู้รับเชื้อหรือไม่ จะเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันได้เพียงพอหรือเปล่า

ทั้งนี้การเสพข่าวและการจัดการของรัฐก็ส่งผลกับจิตใจของพวกเขาเช่นกัน เยาวชนจำนวนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่าต้องการให้รัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งบางข่าวที่รับผ่านสื่อก็ยากที่จะระบุได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดการและตอบสนองปัญหาจากทางรัฐที่ยืดเยื้อและไม่ชัดเจนสะท้อนมาในแบบสอบถามด้วย

ในระดับส่วนบุคคล การที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูงผู้คน กิจกรรมที่มีต่างถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทำให้เยาวชนกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มรู้สึกอึดอัด

นอกจากนี้แบบสอบถามยังสะท้อนความกังวลด้านจิตใจในกลุ่ม LGBTQI ร้อยละ 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขากดดันมากขึ้นจากภาวะเพศสภาพ ทั้งเป็นเพราะไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์หรือตัวตนต่อหน้าครอบครัวได้ และบางส่วนพบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนที่ได้รับอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้า

 

 

 

การศึกษา

แน่นอนว่าหนึ่งในความกังวลของเยาวชนหนีไม่พ้นเรื่องเรียน

การที่โรงเรียนปิดเป็นเวลานานโดยที่กำหนดการไม่ชัดเจนทำให้พวกเขากังวลว่าจะกระทบกับแผนการในการเรียนต่อ โครงการที่ทำค้างไว้ ไปจนถึงกำหนดการสอบต่าง ๆ

ความกังวลนี้มีจุดร่วมในหลายระดับชั้น ทั้งมัธยมศึกษาตอนต้นที่จะเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนปลายกังวลเรื่องการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

อีกทั้งเมื่อมีประเด็นเรื่องจะนำการเรียนออนไลน์เข้ามาใช้ แม้หลายคนจะเห็นด้วยว่าควรมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นเพื่อให้การเรียนการสอนต่อเนื่อง แต่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยก็ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเข้าถึง ประสิทธิภาพ และความพร้อมของการเรียนในรูปแบบนี้ด้วย

 

ความรุนแรงภายในครอบครัว

สำหรับบางคน บ้านอาจไม่ใช่สถานที่ที่เขาใช้พักผ่อนและใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ แต่สถานการณ์ล็อกดาวน์ก็จำกัดทางเลือกให้คนที่อาจไม่ได้ต้องการอยู่ด้วยกันต้องอยู่ร่วมกันนานขึ้น

มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 7 ระบุว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อย่างเช่น การทะเลาะหรือทำร้ายกันของผู้ปกครอง

 

แหล่งข้อมูลรูปภาพ:

https://www.freepik.com/premium-photo/young-asian-woman-wearing-protection-mask-against-novel-coronavirus-2019-ncov-wuhan-coronavirus-public-train-station-is-contagious-virus-that-causes-respiratory-infection-healthcare-concept_6962059.htm

https://www.freepik.com/free-photo/finance-accounting-concept-business-woman-working-desk_7365395.htm

https://www.freepik.com/premium-photo/asian-women-are-sitting-hugging-their-knees-bed_4186691.htm#page=1&query=stress%20worry%20worried%20asian&position=0

https://www.freepik.com/free-photo/flat-lay-festive-graduation-arrangement_7596046.htm#page=3&query=education&position=5

https://www.freepik.com/premium-photo/woman-hand-sign-stop-abusing-violence-human-rights-day-concept_2633644.htm#page=4&query=violence&position=21

  • Published Date: 16/07/2020
  • by: UNDP

มารู้จัก 4 นวัตกรรมเพื่อสังคมในช่วงโควิด

โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบในแทบทุกมิติและนับเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดอันหนึ่งในชั่วชีวิตสำหรับใครหลายคน อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่มีหลายอย่างให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

นวัตกรรมทางสังคมหลายอย่างจึงได้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ โดยมีตั้งแต่ระดับง่าย ๆ อย่างการผลิตฉากกั้นใช้สำหรับกิจกรรมที่คนจำนวนมากอาจจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกัน การให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการป้องกันและดูแลตัวเอง ไปจนถึงนวัตกรรมล้ำ ๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายอย่างใช้งานได้จริง บางอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ก็เริ่มหายไปพร้อมกับสถานการณ์ที่ยังคงดำเนินต่อไป

นวัตกรรมทางสังคมหลายอย่างเริ่มจากการมองปัญหาที่เกิดขึ้นและคิดหาทางออก บ้างก็ต่อยอดจากต้นทุนธุรกิจหรือความรู้เดิมที่แต่ละคนมีอยู่ บางอันทำเป็นการกุศล และอีกหลายอันต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้จริง

บทความนี้จะพาไปรู้จักนวัตกรรมจากทั่วโลกที่ครอบคลุมหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19

 

  1. Crisis Text Line-ส่งข้อความยามมีเรื่องทุกข์ใจ

การสื่อสารผ่านข้อความคือวิธีการสื่อสารที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกาเหนือ  นอกจากจะเป็นเพราะค่าบริการส่งข้อความค่อนข้างถูกแล้ว ลักษณะเด่นของการส่งข้อความอย่างความไร้เสียง สื่อสารได้แม้สถานการณ์จะไม่เอื้ออำนวยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ Crisis Text Line เห็นโอกาสในการให้บริการนี้

Crisis Text Line ตั้งใจจะเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีปัญหากังวลใจ โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้นส่งข้อความมาถามไถ่พูดคุย โดยหวังว่าเมื่อบทสนทนาจบผู้ที่ตัดสินใจใช้บริการจะรู้สึกผ่อนคลายลงได้

แม้ว่าบริการนี้จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 แต่ในช่วง Covid-19 นี้ Crisis Text Line ได้รับข้อความมากขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่พิมพ์เข้ามามีตั้งแต่ความเหงา ความกังวล ความเครียด ไปจนถึงความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ท่ามกลางข้อความที่อาจเข้ามาพร้อมกันหลายร้อยข้อความ Crisis Text Line ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสกรีนและจัดความสำคัญในการส่งข้อความกลับและพูดคุย เช่น หากมีข้อความที่ส่งมาเกี่ยวกับกินยานอนหลับหลายเม็ดอาจเป็นไปได้ว่าเขาคิดฆ่าตัวตาย ข้อความลักษณะนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องการการตอบกลับอย่างรวดเร็ว ส่วนข้อความที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หรือความรู้สึกเหงาก็จะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความรีบเร่งน้อยกว่า

ผู้ที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาตอบข้อความล้วนแต่เป็นอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมออนไลน์ในหลากหลายทักษะ เช่น การฟัง การแก้ปัญหา ทั้งนี้มีเพียง 30% ของผู้ที่เข้ารับการอบรมเท่านั้นที่ได้ทำงานจริง เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก ในขณะเดียวกันอาสาสมัครเหล่านี้ก็มีนักจิตวิทยามืออาชีพและนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลืออีกต่อหนึ่ง

Crisis Text Line เปิดเผยว่าข้อความที่ได้รับในช่วง โควิด-19 มีประเด็นที่แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลา ในช่วงแรกคนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับตนเองหรือครอบครัวจะติดเชื้อ ถัดมาเป็นความกังวลจากการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ซึ่งทาง Crisis Text Line คาดว่าปัญหาถัดมาจะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียม (ในสหรัฐอเมริกา) เนื่องจากสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เป็นคนผิวดำนั้นสูงกว่า อีกทั้งยังเริ่มได้รับข้อความจากชาวแอฟริกันอเมริกันที่แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ Crisis Text Line มีแผนที่จะขยายการให้บริการในภาษาสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศสและอาราบิกภายในปี 2022 จากที่เดิมให้บริการเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งประชากรที่ใช้ภาษาเหล่านี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก

 

  1. Bike2Box – ไปทำงานอย่างไร้กังวลทั้งเรื่องโควิดและเรื่องที่จอด

Bike2Box เป็นบริษัทสัญชาติโปแลนด์ที่ผลิตที่จอดจักรยานหลากหลายรูปแบบ บริษัทนี้ก่อตั้งโดยผู้รักการปั่นจักรยานโดยมีเป้าหมายที่ไกลกว่าแค่การทำธุรกิจ แต่คือการร่วมสร้างวัฒนธรรมจักรยานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ส่วนเหตุผลที่พวกเขาหันมาทำธุรกิจด้านนี้ก็เพราะใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมกับจักรยานเป็นหลัก

พอโควิด-19 มาเยือน ต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ที่ทำงานหลายแห่งเริ่มกลับเข้าออฟฟิศกันเป็นปกติ ทาง Bike2Box จึงเห็นโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยทำที่จอดจักรยานที่ติดตั้งสะดวก รวดเร็ว เคลื่อนย้ายได้และมีเงื่อนไขการใช้บริการที่ไม่ซับซ้อนวุ่นวาย โดยอุปกรณ์ 1 เซ็ตมีขนาดเท่ากับที่จอดรถยนต์ 1 คัน และรองรับจักรยานได้ถึง 12 คัน ทั้งนี้ Bike2Box มองออฟฟิศเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ไอเดียนี้ต่อยอดมาจากการที่คนยังรักษาระยะห่างทางกายภาพอยู่ ทำให้คนที่พอจะมีทางเลือกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ และจักรยานก็กลายเป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมาถนนเงียบบางประเทศก็ปรับสภาพถนนให้เป็นเลนจักรยานชั่วคราว

นวัตกรรมนี้ตั้งใจจะให้การปั่นจักรยานไปยังที่ต่างๆ เกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจความปลอดภัยในช่วงโควิด และสนับสนุนให้วัฒนธรรมจักรยานเกิดขึ้นจริงในระยะยาว

 

  1. #coronasolutions – สื่อสารเรื่อง Covid-19 ผ่านสินค้าที่คุ้นเคย

แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแพร่หลายในปัจจุบันและมีผู้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยบนโลกที่ยังเข้าไม่ถึงบริการนี้ ข้อมูลจาก International Telecommunication Union ระบุว่าในปี 2019 ประชากรโลก 53.6% หรือประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

นักออกแบบชาวโคลัมเบีย 2 คนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในโตเกียวตระหนักถึงเรื่องนี้ อีกทั้งยังรู้ดีว่าการใส่หน้ากากอนามัยมีประโยชน์เพียงใดในสถานการณ์แบบนี้ การใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นและใกล้ชิดคนญี่ปุ่นฝึกให้พวกเขาเข้าใจความจำเป็นของหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตามในประเทศที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมสวมหน้ากากอนามัยก็มักเรียนรู้เกี่ยวกับการใส่หน้ากากจาก online campaign เป็นส่วนใหญ่

เมื่อคิดถึงพื้นที่อื่นของโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงโคลัมเบียบ้านเกิดของสองนักออกแบบ คนจะรู้จักการใส่หน้ากากอนามัยเป็นอย่างดีได้อย่างไร หากเขาเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งสองจึงนึกถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงคนหลากหลายอย่างข้าวสารหรือกระป๋องน้ำอัดลมให้เป็นตัวกลางพาข้อความสำคัญนี้ไปยังคนอีกมากมาย ผ่านการทำกราฟฟิกเข้าใจง่ายแปะลงบนฉลากสินค้าเหล่านั้น เนื้อหาในฉลากประกอบไปด้วยการทำหน้ากากด้วยตัวเอง ไปจนถึงวิธีการล้างมือและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากไวรัส

โปรเจ็กต์นี้อยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้

 

  1. Hello Landlord – จ่ายค่าเช่าไม่ไหว ให้เราช่วยสื่อสาร

คนที่อาศัยอยู่ในประเทศอเมริกาถึง 1 ใน 3 ไม่ได้จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งซึ่งกระทบต่อรายได้ที่พวกเขาเคยมี

พอดีกับที่รัฐบาลกลางได้อนุมัติกฎหมายที่คุ้มครองการขับไล่ผู้เช่าบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (Care Acts) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากบริษัท SixFifty จึงได้คิดทำโปรเจ็กต์ Hello Landlord ขึ้น เพื่อช่วยร่างจดหมายให้แก่ผู้เช่าสำหรับส่งต่อเจ้าของที่ เพื่อของดเว้นการขับไล่เนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าเช่า เพราะยังมีอีกหลายคนที่อาจไม่ทราบข้อกฎหมายนี้ หรืออาจสื่อสารเองได้ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก

ใจความในจดหมายมีสองประเด็นหลัก คือ 1.อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านได้ในช่วงนี้ และ 2. กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าออกในช่วงนี้

ผู้เช่าบ้านที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ เพียงพิมพ์เหตุผลและสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญ ที่เหลือทาง Hello Landlord จะออกจดหมายฉบับสมบูรณ์ให้โดยผ่านระบบที่ตั้งค่าไว้โดยอัตโนมัติ

Hello Landlord บอกว่ากว่าแพลตฟอร์มนี้จะสำเร็จ พวกเขาได้ทดลองร่างจดหมายโดยใช้โทนของภาษาที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบความสัมพันธ์ของผู้เช่าและเจ้าของบ้านในระยะยาว อีกทั้งยังใช้ความรู้เฉพาะทางด้านกฎหมายที่พวกเขามีในการสื่อสารและอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจชัดเจนที่สุด

แหล่งข้อมูล:

https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/text-message-crisis-help-line-speeds-expansion-amid-pandemic
https://www.crisistextline.org/data/bobs-notes-on-covid-19-mental-health-data-on-the-pandemic/

https://www.covidinnovations.com/home/02072020/polish-company-bike2box-introduces-temporary-bicycle-parking-boxes-to-meet-growing-demand-post-lockdown

https://bike2box.com/

https://www.instagram.com/tv/B_lGidGlfvM/?utm_source=ig_embed

https://www.fastcompany.com/90488239/cant-pay-rent-because-of-the-coronavirus-this-site-will-help-you-explain-your-rights-to-your-landlord

https://app.hellolandlord.org/

Keywords: , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779