• Published Date: 22/10/2019
  • by: UNDP

‘เพราะคนในพื้นที่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา’ ถอดบทเรียนจากเวิร์กชอป Training of Trainers for Social Innovation and Social Enterprise Localization

แปลจากบทความภาษาอังกฤษเขียนโดย Haidy Leung จาก ChangeFusion

 

เวิร์กชอป Training of Trainers (ToT) for Social Innovation and Social Enterprise Localization ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ ChangeFusion และมี Tandemic เป็นผู้นำกระบวนการ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน จากทั่วทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ อุดรธานี ขอนแก่น  เลย พะเยา นครศรีธรรมศรีราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

ที่มาที่ไป

เมื่อปีที่แล้ว UNDP ได้ให้ ChangeFusion จัดทำรายงานการลงทุนทางสังคมและภูมิทัศน์นวัตกรรมการเงินในประเทศไทย (Social Impact Investment and Innovative Finance Landscape Mapping Report) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาช่องว่างและโอกาสในการลงทุนทางสังคม ที่จะสามารถพัฒนาและขยายนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมออกไปในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือการสนับสนุน ‘นักสร้างการเปลี่ยนแปลง’ หรือ changemaker ในท้องถิ่น การพัฒนาแบบกระจายอำนาจ เช่น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะในพื้นที่ (local incubation hub) และการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคมที่เน้นแฟ้น จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์รวมในประเทศเร็วขึ้น และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) บรรลุผลได้ตั้งแต่ในระดับรากหญ้า

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีโครงการบ่มเพาะ (social incubation program) เกิดขึ้นมาจำนวนมาก แต่การจัดกิจกรรม การสนับสนุน การให้ความรู้ หรือการรวมตัวกันในด้านนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ระยะทางยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนที่มีความสามารถในจังหวัดอื่น ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าร่วม นอกจากนี้ เนื้อหาหรือการดำเนินกระบวนการบางอย่างที่ใช้ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้กับบริบทของพื้นที่อื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม  ยังมีข้อมูลความรู้ วิธีการ และกระบวนการดี ๆ อีกมากจากผู้บ่มเพาะในปัจจุบันที่สามารถแบ่งปันกับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ก่อนที่จะจัดเวิร์กชอป ToT ในครั้งนี้  UNDP ได้นำองค์กรที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการบ่มเพาะทางสังคม ทั้ง ChangeFusion School of Changemaker SEED Good Factoty และอื่น ๆ อีกมากมายมาเจอกัน เพื่อแสดงความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึก วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านั้นก็ได้ถูกรวบรวมออกมาเป็น ‘The Social Incubation Playbook’ และนำมาใช้ในเวิร์กชอปเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบการพัฒนาโครงการบ่มเพาะของผู้เข้าร่วมแต่ละคน

 

 

เกิดอะไรขึ้นใน 3 วันของการเวิร์กชอป?

วันที่ 1:

เริ่มต้นจากพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ผู้เข้าร่วมเรียนรู้การประมวลผล วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ที่จะรับการบ่มเพาะ) เพื่อทำความเข้าใจถึงแรงบันดาลใจในชีวิตและความต้องการที่แท้จริงของเขา


 

วันที่ 2:

หลังจากที่ได้โจทย์ปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ผู้เข้าร่วมก็เรียนรู้วิธีการะดมสมอง คิดไอเดีย และพัฒนาต้นแบบจำลอง (prototype) โดยมีการใช้การเล่นบทบาทสมมติ (Role Play) เพื่อทดสอบต้นแบบของแต่ละทีม

 

วันที่ 3:

ผู้เข้าร่วมได้ทดลองออกแบบแผนโครงการให้มีความยั่งยืน รู้จักวิธีการหารายได้ การสื่อสาร และการวัดผลกระทบทางสังคม ตามด้วยการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคนได้อย่างไร

 

สิ่งที่เราได้เรียนรู้และเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

 

1. กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปสนับสนุนและบ่มเพาะในพื้นที่อาจเป็นได้ทั้งนักกิจกรรมสังคม นวัตกรสังคม ผู้ประกอบการทางสังคม หรือทั้ง 3 แบบรวม ๆ กันก็ได้

ทุกคนมีอิสระในการเลือกกลุ่มเป้าหมายของตนเองตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะบ่มเพาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญ หรือไม่เคยมีประการณ์ในด้านนั้น ๆ มาก่อน ก็ต้องหาความร่วมมือจากผู้ที่จะช่วยเราได้ เช่น หากต้องการบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม แต่พื้นหลังความถนัดของเราเป็นนักกิจกรรมสังคมมาโดยตลอด เราอาจต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดไป


 

2. เครื่องมือที่รวมรวบมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริง

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พบว่าเครื่องมือที่ช่วยสกัดข้อมูลเชิงลึกมีประโยชน์มากกับการทำงานพัฒนา เนื่องจากมันทำให้เข้าใจทั้งความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ขึ้น ซึ่งโดยมากก็จะเป็นกลุ่มเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ที่สอนในเวิร์กชอปยังช่วยในการสะท้อนสิ่งที่ทำ กับเป้าหมายการสร้างการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่


 

3. ต้องนำเครื่องมือไปปรับใช้และลองทำซ้ำไปวนมาบ่อย ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

การใช้เครื่องมือใน playbook ให้ได้ผล ผู้ใช้ต้องรู้จักเอาไปทดลองทำบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา และค่อย ๆ ปรับให้เหมาะกับความต้องการ เพื่อที่จะหาวิธีการพัฒนาที่มีประสิทธิมากที่สุด

 

4. มีโอกาสอย่างมากที่จะจัดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (cross-learning session) กันได้ในอนาคต

แม้ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้จะมาจากหลากหลายพื้นที่ มีที่มาที่ไปที่ต่างกัน แต่ว่าแต่ละคนก็มีประสบการณ์และพบเจอปัญหาที่คล้ายกันหลายอย่าง เพียงแค่ต่างบริบทกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตใกล้กับประเทศลาวและเวียดนาม กับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคลายคลึงกันในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน เป็นต้น ผู้เข้าร่วมเห็นว่าเป็นการดีที่จะจัดเวิร์กชอปขึ้นอีกครั้งเพื่อติดตามผลหลังจากที่แต่ละคนได้ลองกลับไปประมวล ทดลอง และริเริ่มโครงการของตัวเอง เพื่อนำกลับมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้นั้น และหาโอกาสในการทำงานร่วมมือกันระหว่างภูมิภาค

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 17/10/2019
  • by: UNDP

จากแนวคิด ‘Circular Economy’ สู่โมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ในปัจจุบันเราต่างเผชิญกับ ‘ปัญหาขยะ’ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ถุงพลาสติกหนึ่งใบเราอาจใช้งานไม่ถึง 10 นาที แต่ต้องใช้เวลาถึง 450 ปีกว่าจะย่อยสลาย ทุกวันนี้ทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ล้านตัน และกว่า 79% ถูกทิ้งไว้ในธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาด้วยกระบวนการ 3R ได้แก่ ลดใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ดังนั้นเราจึงต้องย้อนกลับไปที่ต้นน้ำก็คือ ‘ผู้ผลิต’

เมื่อก่อนเรามีระบบเศรษฐกิจเส้นตรงที่เรียกว่า ‘Linear Economy’ หรือการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (make-use-dispose) ซึ่งใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทั้งยังสร้างขยะและปล่อยมลพิษออกสู่ระบบนิเวศ ทางออกของโลกในตอนนี้คือ ‘Circular Economy’ หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำวัตถุดิบจากสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (make-use-return) โดยเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ซ้ำ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากด้านเศรษฐกิจ เมืองที่จะยั่งยืนได้จำเป็นต้องยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกๆ ด้าน ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อม (Built Environment) เช่น รูปแบบอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน เขต และเมือง, ระบบพลังงาน (Energy Systems) อย่างพลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล, ระบบขนส่งในเมือง (Urban Mobility System) อย่างขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า, เศรษฐกิจชีวภาพในเมือง (Urban Bio Economy) เช่น การใช้วัสดุทดแทน และการจัดการขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์, ระบบการผลิตท้องถิ่น (Local Production System) เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ในชุมชน, กฎหมายและนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Legislation and Policies) อย่างการจัดเก็บภาษีและเงินสนับสนุน, การสร้างความตระหนักรู้ การศึกษา และการวิจัย (Awareness, Education and Research) เผยแพร่ความรู้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ประเทศไทยมีการปรับตัวเพื่อสู้กับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม อย่างนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยเรื่องการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กร หรือตัวบุคคล ก็มีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้สรุปไว้ 5 แนวคิด ดังนี้

1. Circular Design : การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ทนทาน และสามารถใช้ซ้ำได้ อย่าง YETI แบรนด์แก้วคูลเลอร์ขนาดกระทัดรัด ด้วยคุณภาพที่ทนทาน และเก็บน้ำเย็นได้ดีเยี่ยม

2. Circular Supplies : การพัฒนาวัสดุทดแทน อย่างเทคโนโลยีวัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) และวัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้ ไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต อย่าง Nike ที่มีโปรแกรม Reuse-a-Shoe นำรองเท้าที่ไม่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็น Nike Grind นำไปผลิตสินค้าใหม่ๆ รวมถึงพื้นผิวสนามกีฬา พื้นลู่วิ่ง และสนามเด็กเล่น เป็นต้น

3. Product as a service : การบริการในรูปแบบให้เช่า หรือจ่ายเมื่อใช้งาน (pay-for-use) แทนการซื้อขาด อย่าง Media Markt บริษัทขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ในบ้านที่เยอรมนี มีบริการให้เช่าสินค้าเพื่อใช้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น เทศกาล หรือฤดูกาลต่างๆ

4. Sharing Platform : การใช้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น Airbnb ที่เปลี่ยนบ้านเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว หรือ Uber ที่ให้บริการรถแท็กซี่โดยอาศัยสมาร์ทโฟน

5. Resource Recovery : การออกแบบให้มีระบบนำกลับ (Take-Back system) เพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ยังใช้งานได้ กลับเข้าสู่กระบวนการ อย่าง M*lkman ที่เดลิเวอรีนมที่ผลิตจากถั่วส่งตรงถึงบ้าน เมื่อดื่มแล้วเพียงวางขวดแก้วเปล่าไว้หน้าประตูบ้านก็จะมีรถจากบริษัทมารับขวดกลับไป

นอกจากระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้จากเทคโนโลยีที่ใช้วัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

ที่มา:
https://bit.ly/317rtmO
https://bit.ly/2Mu8WMw
https://bit.ly/2K8Nn2A
https://bit.ly/2OFi43E
https://bit.ly/2pahoZi
https://bit.ly/2OFA4dY
https://bit.ly/2oA7P5L

#UNDP #UCxUNDP #CircularEconomy

Keywords:
  • Published Date: 01/10/2019
  • by: UNDP

ถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์: การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียนแคว้นบาสก์ : การสร้างนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งจาก ‘Gorka Espiau’ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมที่เชื่อว่า ‘ความขัดแย้งลดลงได้หากเราเชื่อมั่น’

 
“คำถามสำคัญสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง คือ คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ไหม ?”

‘Gorka Espiau’ คือผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคม ซึ่งเป็นนักวิชาการอาวุโส จากศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง (The Agirre Lehendakaria Center : ALC) ที่มีความเชื่อว่า ‘ความขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกใบนี้สามารถลดลงได้ หากพวกเราช่วยกันทั้งกำลังคนและนวัตกรรม พร้อมระลึกอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ครั้งนี้เขามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงานสัมมนาที่ TCDC กรุงเทพฯ ในวันที่ 20 กันยายน 2562 ซึ่งจัดโดย UNDP ประเทศไทย “การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง : กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์”

 

 
แคว้นบาสก์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน เป็นเมืองที่เคยมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาก่อน มีกลุ่มชาตินิยมแคว้นบาสก์ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองคือการได้รับเอกราช และการก่อตั้งเป็นประเทศบาสก์ ความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่างกันก็ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ  มีการใช้อาวุธ และปัญหายาเสพติด ค่า GDP ก็ต่ำกว่ามาตรฐานที่ EU กำหนด ทำให้ภาพลักษณ์ของแคว้นบาสก์แย่ลงไปทุกวัน จนส่งผลให้ในยุค 1980 เศรษฐกิจของแคว้นบาสก์ล่มสลาย อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์

 
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาแคว้นบาสก์เริ่มต้นพลิกฟื้นประเทศด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ ‘Guggenheim’ ในเมืองบิลเบา โดย Frank Gehry สถาปนิกชาวแคนาดา ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของแคว้นบาสก์

 

 
หลังจากนั้น แคว้นบาสก์เริ่มให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลง และการลดความขัดแย้งอย่างจริงจัง โดยแคว้นบาสก์ไม่ได้ใช้กระบวนการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองหลังจากความขัดแย้งหมดไป แต่พวกเขาใช้นวัตกรรมทางสังคมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและสร้างสันติภาพไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนวัตกรรมทางสังคมในที่นี้ ปกติหลายคนอาจนึกถึงเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึง กระบวนการหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้อย่างสันติ

วิธีการที่ว่า Gorka Espiau สรุปให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า การทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง คำถามหรือหัวใจสำคัญคือ

“ทุกคนคิดว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ไหม เพราะไม่ว่าจะในสถานการณ์ที่แย่แค่ไหน แต่ถ้าคนในพื้นที่เชื่อว่า มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะมีหนทาง”

 
จากการถอดบทเรียนการพัฒนาในแคว้นบาสก์ การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งมีวิธีการอยู่ด้วยกัน 5 ระดับ ได้แก่

    1. การมีส่วนร่วมชองชุมชน (Community Action)
    2. การสร้างโปรเจกต์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง (Small / Medium Scale Projects)
    3. การสร้างโปรเจกต์ขนาดใหญ่ (Large Scale Projects) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
    4. สร้างการบริการภาครัฐใหม่ๆ (New Services)
    5. สร้างให้เกิดกฎระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ๆ (New Regulations)

 
ซึ่งทั้ง 5 ระดับเหล่านั้น ต้องทำงานอย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘การฟัง’ (Listening) โดยต้องสร้างกระบวนการฟังให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น จัดพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้บอกเล่าโอกาสและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มองหาหนทางสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจว่าโอกาสคืออะไร ผ่านการพูดคุย สังเกต เพราะแค่เราเริ่มถามและฟัง ก็สร้างความเข้าใจได้ หรืออาจให้ผู้ที่เห็นต่างกันมาพูดคุย เพื่อหาแรงจูงใจในการทำ (Senses Making) เพื่อดูว่าคนแต่ละคนให้คุณค่ากับอะไร อะไรที่ทำให้เขาทำแบบนั้น หรือเขามีความเชื่ออะไร จากนั้นให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน (Co-Creation)  เพื่อวิเคราะห์ปัญหา สร้างความเข้าใจกับผู้คน ทำแผนที่ประกอบ และสร้างการเรียนรู้ ตามมาด้วยการคิดนวัตกรรม ไอเดีย หรือวิธีการใหม่ๆ จากความต้องการของคนในพื้นที่ ทำต้นแบบทดลองที่เชื่อมโยงกัน (Prototype of Interconnected Projects) เพื่อทำการทดลองกระบวนการร่วมกัน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ (Scale) ที่ไม่ใช่การยกระดับโครงการเท่านั้น แต่ต้องยกระดับทั้งกระบวนการนั่นเอง

 

 
การเปลี่ยนแปลงในแคว้นบาสก์เกิดขึ้นจากการกระทำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูภาษาบาสก์ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่กำลังจะสูญพันธ์ เพราะภาษาคือรากฐานแห่งวัฒนธรรมทั้งหมด ถัดมาคือการให้ความสำคัญกับอาหาร เพราะลึกๆ แล้วชาวบาสก์อยากชูวัตถุดิบท้องถิ่นตัวเองให้โดดเด่น จึงสร้างอุตสาหกรรมอาหารด้วยการผสมผสานเทคนิกของชาวฝรั่งเศส แล้วเปิดร้านอาหารและโรงเรียนสอนทำอาหาร ผู้ที่เรียนจบยังสามารถทำงานได้ที่ร้านอาหารได้เลย  ปัจจุบัน อาหารของบาสก์มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่าง พินโชส์ (Pintxos) หรือทาปาส (Tapas) และยังเป็นเมืองที่มีร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินต่อตารางเมตรมากที่สุดในโลกอีกด้วย

 

 
ต่อมาคือการเสริมพลังให้ภาคแรงงาน เพราะเมื่อเศรษฐกิจล่ม แน่นอนว่าเหล่าแรงงานต้องได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน มีการก่อตั้ง Mondragon หรือสหพันธ์สหกรณ์คนทำงาน เพื่อส่งเสริมกลุ่มแรงงาน ปรับนโยบายความเท่าเทียมด้านรายได้ ขยายท่าเรือ สร้างรถไฟใต้ดิน ปรับปรุงถนน และทางรถไฟ สร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมต่อกับภายนอก และดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ อะไรเหล่านั้นส่งต่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังให้ความสำคัญกับแรงงานผู้พิการ สร้างกระบวนการทำงานที่เอื้อกับพวกเขา จัดฝึกอบรมให้มีทักษะเป็นไปตามที่ตลาดต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ แคว้นบาสก์ยังส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความรู้ และสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับเยาวชน ยังมีวิธีการอื่นอีกหลากหลายข้อที่ดึงเอากระบวนการนวัตกรรมทางสังคมเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

 
แคว้นบาสก์แสดงให้เห็นแล้วว่า การจะสร้างสันติภาพและการพัฒนานั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ความขัดแย้งหมดไปเสียก่อน เพราะสามารถทำควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ รวมทั้งบาสก์ยังสร้างความเข้าใจให้ชาวเมืองมองเห็นภาพเดียวกัน เพื่อจับมือเดินไปยังจุดหมายอย่างมุ่งมั่น จนในที่สุดแคว้นบาสก์จึงเปลี่ยนจากภาพลักษณ์ลบเป็นบวก จนได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

การใช้นวัตกรรมทางสังคมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เรากล่าวไปข้างต้น ทำให้ทุกวันนี้ แคว้นบาสก์กลายเป็นผู้นำทั้งด้านสุขภาวะและการศึกษา ค่า GDP เพิ่มสูงขึ้น มีการส่งออกสินค้ามากถึง 75% และประชาชนชาวบาสก์ยังมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปอีกด้วย

Keywords: , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779