• Published Date: 10/05/2021
  • by: UNDP

Peace of Art พื้นที่ปลอดภัยสร้างได้ผ่านกิจกรรมทำอาหารทางเลือก

โควิด-19 กำลังกลับมาอีกครั้ง เช่นกันกับความเครียดและกังวลใจที่พ่วงมาด้วยกับสถานการณ์เช่นนี้

รุส-รุสลีนา มูเล็ง ยังจำความรู้สึกช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ได้ดีว่าโรคระบาดแห่งยุคสมัยสร้างผลกระทบให้คนมากมายขนาดไหน ยิ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์การจำกัดพื้นที่ยิ่งเท่ากับจำกัดกิจกรรมเข้าไปอีก

              “ตอนแรกเราสนใจศิลปะบำบัดความเครียด เราเห็นภาพว่าเป็นการวาดเขียน วาดเส้น ระบายสี” ความเครียดที่เธอว่านอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว เธอยังนึกถึงความกดดันทั่วๆ ไปในชีวิต รวมถึงความตึงเครียดสะสมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธออยู่ แต่พอเธอได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อได้เข้าร่วม Youth Co:Lab เธอเริ่มมองศิลปะในมุมที่กว้างขึ้น ว่าอะไรคนถึงจะสนใจเป็นพิเศษ “ศิลปะอาจไม่ได้มีคนสนใจมากขนาดนั้น เราเลยทำการบ้านว่าจะทำอะไรดี เรานึกถึงการปั้นดินน้ำมัน งานคราฟต์ และการทำอาหาร มันน่าสนใจตรงที่อาหารทำให้เราคลายเครียดได้”

             ท่ามกลางหลากหลายทางเลือกที่เธอมองหา รุสบอกว่าการทำอาหารโดดเด่นที่สุด

             “อาหารเป็นอะไรที่ทุกคนเข้าถึงและลงมือปฏิบัติได้” ในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก รุสสังเกตเห็นว่าการเข้าครัวกลายมาเป็นกิจกรรมของใครหลายๆ คน และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจหลายแขนงปิดตัวก็มีอาหารนี่แหละที่คงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเห็นร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นบ้างด้วย

“เราเลยสังเกตพฤติกรรมของคนวัยรุ่นวัยมหาลัย เราเห็นว่าเขาชอบเช็คอิน ชอบถ่ายรูปลงโซเชียล เราเลยคิดลองจัดกิจกรรมทำอาหารที่เขาได้ทั้งทำเองและถ่ายรูปลงได้ด้วย มันน่าจะสร้างคุณค่าได้มากกว่าการซื้อแล้วถ่ายลงโซเชียล”

Peace of Art มีคอนเซ็ปต์กว้างๆ ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและการมีกิจกรรมทางเลือกเพื่อลดความเครียดจึงก่อร่างสร้างตัวขึ้น

  


ปั้นโปรเจ็กต์

              รุสทดลองทำเวิร์คช็อปโดยให้เป็นส่วนผสมระหว่างการทำอาหารและการบำบัดความเครียด การทำอาหารของเธอไม่ได้จำเป็นว่าต้องรสชาติดีเด่น แต่เน้นความเป็นตัวเองและความคิดสร้างสรรค์

              เวิร์คช็อปแรก Peace of Art ชัดเจนตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ว่าจะเป็น Cooking Therapy

              “ปรากฏคนส่วนใหญ่คิดว่าเราจะสอนทำอาหารจริงจัง” ที่เป็นเช่นนั้นรุสมีสมมติฐานว่าอาจเป็นเพราะคอนเซ็ปต์ของการทำอาหารเพื่อการบำบัดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในพื้นที่จังหวัดยะลา ทั้งนี้สิ่งที่บรรจุลงไปในเวิร์คช็อปครั้งแรกของเธอผสมสาระทั้งด้านอาหารและด้านการเข้าใจความเครียดไว้ด้วยกัน โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารควบคู่ไปด้วย แต่แทนที่จะให้ทุกคนทำตามสูตรทีละขั้นทีละตอนแบบเป๊ะๆ การทำอาหารในเวิร์คช็อปของเธอกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะไม่ได้มีสูตรตายตัว

“เราเห็นว่าเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นมันมีพื้นที่พูดคุยมากกว่าการทำอาหารทั่วๆ ไป เพราะอาหารของเราไม่ได้เน้นรสชาติ แต่เน้นความสร้างสรรค์ เน้นความเป็นตัวคุณเข้าไปเลย” 

การจัดกิจกรรมครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมแปดคน รุสถอดบทเรียนสิ่งที่อยากแก้ไขและพัฒนาในครั้งต่อไป

“เราพบว่าไม่ใช่ทุกคนแก้ความเครียดด้วยวิธีนี้ พอเราดูลึกลงไปเราพบว่าคนจะแก้ความเครียดด้วยวิธีไหนก็ได้ จะไปเที่ยว ออกกำลัง และไม่ใช่ทุกคนชอบทำอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นประโยชน์ชัดจากการจัดเวิร์คช็อปคือเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาได้เจอตัวเอง ได้ระบายตัวเองออกมา”

รุสยังเสริมอีกว่าหลายๆ คนไม่ได้สื่อสารหรืออาจไม่ได้สังเกตว่าตัวเองมีความเครียดมากน้อยแค่ไหนอย่างตรงไปตรงมา การจัดเวิร์คช็อปเพื่อผ่อนคลายความเครียดโดยตรงจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่างหากที่รุสเห็นว่าจำเป็นมากในสถานการณ์แบบนี้

 


จากแก้เครียดสู่สร้างพื้นที่ปลอดภัย

 เมื่อ Peace of Art ได้รับทุนไปพัฒนาโปรเจ็กต์รอบที่สองเธอจึงบิดชื่อเวิร์กช็อปว่า “คิดเช่นกันไหม” ทั้งเป็นการเชิญชวนคนให้เข้าครัว และเป็นคำพ้องเสียง เป็นไปดั่งที่คาดคิด พอเปลี่ยนวิธีประชาสัมพันธ์เธอได้คนสมัครเข้าร่วมเวิร์คช็อปมากยิ่งขึ้น โดยรุสเก็บความตั้งใจเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้เป็นประเด็นหลักของเวิร์คช็อปผ่านอาหารครั้งนี้ โดยรุสให้ทุกคนแนะนำตัวผ่านอาหารจานโปรด

“เราเซ็ตไว้ว่าจะไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ ให้แนะนำตัวผ่านอาหารที่ชอบ ตลอดกิจกรรมเราจะไม่เรียกด้วยชื่อตัวเอง” เธออธิบายกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีนัยยะสำคัญ

ครึ่งแรกของเวิร์กช็อปทั้งหมดว่าด้วยการละลายพฤติกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก

“เรามีกิจกรรมที่เรียกว่ากระจกที่ไม่สะท้อนกลับ ให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กันเพื่อพูดและฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องตอบโต้ ไม่ตัดสิน” รุสอธิบายว่าในกิจกรรมมีกระบวนกรที่ตั้งหัวข้อมาชวนพูดคุย เช่น สิ่งที่อยากปรับปรุง เรื่องที่อยากให้กำลังใจตัวเอง โดยพูดให้กับอีกคนฟังซึ่งอีกฝ่ายมีหน้าที่เพียงฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น “ส่วนใหญ่เวลาเราพูดอะไรมักจะถูกตัดสิน ผู้ฟังมักให้ความเห็นตามประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอมา แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนใส่รองเท้าไม่เหมือนกัน เจอเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน เราเลยอยากให้การฟังที่เกิดขึ้นในเวิร์กช็อปเป็นการฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องการการตอบกลับ คล้ายๆ กับพูดให้ตัวเองฟังมากกว่า เป็นการให้กำลังใจตัวเองดังๆ”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเบาๆ ชวนละลายพฤติกรรมระหว่างผู้เข้าร่วมโดยใช้อาหารเป็นหัวข้อในการพูดคุย เช่น ชวนกันแบ่งปันสูตรเฉพาะแต่ละบ้านในเมนูสุดมาตรฐานอย่างไข่เจียว เป็นต้น

พอผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและเริ่มรู้สึกปลอดภัยกับพื้นที่นี้ ถัดมาจึงเป็นการเข้าครัวจริง โดยแต่ละคนได้รับเซ็ตตกแต่งเค้กคนละกล่อง มีครีม มีโยเกิร์ต และอื่นๆ ตามเลือกสรร อาหารที่นำเสนอใน Peace of Art เป็นอาหารที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับสูตร แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวเอง

“เราอยากให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเอง โดยแต่ละคนรังสรรในแบบฉบับตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง จะใส่อะไรก็ได้ที่เป็นตัวเอง” รุสอธิบายต่อว่าการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ และให้เวลากับตัวเองแบบนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนตัวตนผ่านสิ่งที่ทำ

“บางคนละเอียดนุ่มนวลมันก็สะท้อนจากการที่เขาใส่อย่างหนึ่งก่อนอีกอย่างหนึ่ง” เมื่อจบเวิร์คช็อปรุสก็มีแบบสอบถามให้กับผู้เข้าร่วมว่ารู้สึกอย่างไรกับเวิร์คช็อปครั้งนี้ ผลโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ

“สุดท้ายคือผู้เข้าร่วมไม่เครียด สนุกสนาน สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน และที่สำคัญที่สุดคือมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและคลายเครียด”


ต่อยอดกิจกรรม

หากมีโอกาสจัดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นอีกหรือได้พัฒนาโครงการต่อ รุสบอกว่า Peace of Art สนใจจัดต่อแบบครั้งที่สองตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไปจนถึงตัวกิจกรรม การทำให้พื้นที่ตรงนี้มีคนทุกเพศเข้ามาคือความท้าทายที่เธออยากก้าวข้ามให้ได้ เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้เข้าร่วมเพศหญิงเท่านั้น 

และในระยะยาวเธอคิดต่อยอดถึงขั้นเปิดเป็นคาเฟ่

“ถ้าจะทำให้โดดเด่นเราอาจทำเป็นคาเฟ่คลายเครียด จะมีเซ็ตอาหาร DIY ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตัวเมนูอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยแบ่งอาหารออกเป็นหลายประเภททั้งสายเฮลตี้และสายทั่วไป” รุสเล่าต่อว่าเธออยากสร้างความภูมิใจง่ายๆ ให้กับทุกคนซึ่งการได้ลงมือตกแต่งหรือปรุงอาหารด้วยตัวเองก็เป็นหนึ่งในวิธีสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้
ไม่เพียงเท่านี้เธอยังคิดว่าจะจัดเวิร์กช็อปรายเดือนเพื่อให้มีกิจกรรมบำบัดความเครียดเสริมเข้ามาด้วย รวมถึงมีคอร์สพิเศษสำหรับคนที่รู้สึกอยากผ่อนคลายความเครียดผ่านการทำอาหารแบบเดี่ยว

และหากคาเฟ่เป็นจริงเธอยังนึกถึงไอเดียตั้งต้นเรื่องศิลปะบำบัดมาดัดแปลงผ่านการใช้สีจากอาหารมาวาดภาพด้วย

ทั้งนี้รุสเล่าว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเธอที่ลองส่งโครงการเข้าร่วม Youth Co:Lab สิ่งที่เธอได้เรียนรู้รับว่ามาไกลมาก โดยเฉพาะมุมมองด้านธุรกิจผ่าน Business Model Canvas ที่เธอไม่เคยเรียนรู้มาก่อน รวมถึงการทำหาอินไซต์ที่ทำให้เธอออกแบบงานได้ตรงโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมและเดินต่อได้ถูกทางมากยิ่งขึ้น มีเครื่องมือไปใช้กับผู้เข้าร่วมได้หลากหลายยิ่งขึ้น

Keywords: , , , , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

บางโฉลงโมเดล: ศูนย์ครบวงจรที่ทำให้เรื่องการออกแบบพื้นที่และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนเป็นเรื่องเดียวกัน

การออกแบบพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือแนวคิดที่สมาชิกของทีมบางโฉลงโมเดลยึดถือ

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่นี้หมายรวมถึงหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ สุขภาพไปจนถึงสังคม

บางโฉลงโมเดลเป็นการรวมตัวของสามนิสิตภูมิสถาปัตยกรรม(landscape architect students) นนท์-ปฐวี ลุผลแท้ เฟิร์น-กชวรรณ ละโว้ชัย และเจมส์-พฤฒพงศ์ เพชรศรีสม กับอีกหนึ่งนิสิตสถาปัตยกรรม โด้-เวธน์ มโนจุรีหกุล ด้วยภูมิหลังทางการศึกษานี้พวกเขาจึงมีความสนใจและความเชี่ยวชาญด้านการออกพัฒนาพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะ 

บางโฉลงโมเดลมีเป้าหมายเป็นศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Service) ที่จะช่วยต่อยอดกิจกรรมในชุมชนให้เกิดรายได้ ช่วยวางแผนจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปถึงการหาตลาด ขณะเดียวกันก็มีอีกหนึ่งภารกิจในการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะของชุมชนนั้นๆ เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ชุมชนแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมรวมตัวกันคือชุมชนเคหะบางโฉลง ชื่อชุมชนจึงเป็นที่มาของชื่อทีม แต่เดิมชุมชนนี้มีการใช้พื้นที่เศษเหลือปลูกผักเป็นงานอดิเรก ทีมบางโฉลงโมเดลจึงเห็นโอกาสในการต่อยอด พ่วงการปลูกผัก พัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นเครื่องพิสูตน์ว่าการปลูกผักในเมืองคือเรื่องที่อยู่รอดได้จริง

 

ปลูกดอกออกผล

  เคหะบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการคือชุมชนที่มีตึก 96 ตึกเรียงรายแน่นขนัดในพื้นที่อันจำกัด บริเวณพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นที่จอดรถ

“เราสังเกตว่าคนไม่มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่นเลย เราเลยเข้าไปดีลกับนิติว่าถ้าเราพัฒนาพื้นที่ปลูกผักขายแล้วได้เงิน เราจะเอาเงินส่วนหนึ่งมาพัฒนาพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของคนที่นั่น” นนท์เล่ากลไกให้ฟังอย่างรวบรัด พื้นที่ที่ทีมบางโฉลงโมเดลตั้งใจพัฒนาจึงมีสองส่วน หนึ่งคือพื้นที่เพื่อปลูกผักต่อยอดจากกิจกรรมเดิมที่ชุมชนทำอยู่แล้วให้เกิดรายได้ และสองพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ที่ผ่านมาชุมชนบางโฉลงมีการปลูกผักในพื้นที่เศษเหลือ (leftover space)อยู่แล้ว โดยมีผู้อยู่อาศัยกลุ่มเล็กๆ จาก 1 จาก 5 นิติบุคคลที่เป็นผู้ปลูก ทว่าผักที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อกิน ไม่มีเหลือพอขายด้วยพื้นที่ที่จำกัด

“เราเลยคิดกันว่าเราจะมาต่อยอดช่วยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเขาลงแรงทุกพื้นที่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะใช้ได้ และสองคือการให้ความรู้ด้านการปลูกว่าปลูกอะไรจะรองรับทั้งตลาดในและนอกชุมชน และปลูกด้วยวิธีที่เสี่ยงต่อโรคหนอนแมลงได้น่าจะดี” นนท์เล่าให้ฟัง

โด้อธิบายกระบวนการทำงานให้ฟังตั้งแต่ต้นว่าทางทีมเข้าไปคุยกับคนในชุมชนว่าต้องการพื้นที่แบบไหน มีอะไรที่อยากได้เป็นพิเศษ จากนั้นจึงวางแผนร่วมกันว่าหากแต่ละขั้นตอนสำเร็จ ชุมชนจะได้อะไร และทีมจะพัฒนาอะไรให้บ้าง

“การได้พูดคุยกันก่อนแบบนี้มันเป็นการตรวจสอบและเป็นคานงัด (leverage) ไปในตัว มันทำให้ทั้งเราทั้งชุมชนทำงานตามแผนกันได้ดีขึ้น และเห็นผลชัดเจนว่าใครได้อะไรในแต่ละขั้นตอน” 

เมื่อทีมบางโฉลงโมเดลผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายของโครงการ Youth Co:Lab 2020 และได้ทุนทดลองทำจริง จากไอเดียปลายทางที่ทีมเสนอต่อชุมชนคือการดัดแปลงโครงสร้างหลังคาให้เป็นที่ปลูกผักบนดาดฟ้า ทางทีมได้รับเป็นการทำโครงสร้างยกเหนือพื้นดินที่ตั้งวางได้ทุกที่ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ โดยมีโด้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบหลัก

“ฟีดแบกที่ได้เบื้องต้นคือเขาไม่ต้องปวดหลัง ค่าดูแลรักษาแปลงผักก็น้อยกว่าเพราะเสี่ยงกับโรคแมลงน้อยกว่า และสามารถควบคุมปัจจัยอื่นๆ ได้ดีกว่า” นนเล่าว่าคนที่ปลูกผักในชุมชนอายุประมาณ 50-60 ปี การไม่ต้องก้มเก็บผลผลิตที่อยู่ในระดับพื้นดินนั้นดีต่อสุขภาพกายของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด 

ด้านเฟิร์นเสริมว่าก่อนนี้การปลูกพืชในระดับดินมีปัญหาตรงที่บางจุดปลูกไม่ได้ตลอดปีเพราะมีน้ำท่วมขัง การปลูกบนโครงสร้างเหนือพื้นดินช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้ด้วย

นอกจากการเปลี่ยนลักษณะพื้นที่เพาะปลูกแล้ว บางโฉลงโมเดลยังให้ความสำคัญกับการเลือกชนิดพืชพรรณที่ลงทุนปลูกด้วย

“เราแนะนำให้เขาปลูกผักสลัดทั้งกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เพราะผักพวกนี้มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ในตลาด คู่แข่งน้อยกว่า และขายได้ทั้งในตลาดชุมชนและตลาดอื่นๆ ในอนาคตด้วย” เฟิร์นอธิบายว่าการเลือกชนิดพรรณและองค์ความรู้เรื่องการเพาะปลูกทางทีมมีความเชี่ยวชาญกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ผักที่ปลูกยังใช้กระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ หรือใช้สารเคมีที่ไม่ใช่จากธรรมชาติน้อยที่สุดด้วย

“พอชุมชนปลูกผักแบบนี้ก็ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ไม่ต้องเป็นทาสนายทุนทางอ้อม เขาก็ทำปุ๋ยกันเอง แล้วก็ยังมีเรื่องราวชุมชนเป็นจุดขายได้ด้วย เพราะคนในชุมชนทำจริงๆ” นนท์เสริม

 

ผักดัน

บางโฉลงโมเดลเชื่อว่าผักจะเป็นตัวผลักดันให้คนในชุมชนรวมกันได้ง่ายขึ้น

“พอมีการปลูกผักเป็นกิจกรรม จากที่เขาต่างคนต่างอยู่ ก็มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น นัดกันรดน้ำต้นไม้ ผลัดกันมาดูว่าผักโตขึ้นหรือเปล่า” เจมส์เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจับต้องได้หลังจากได้มีการเปลี่ยนไปปลูกผักบนโครงสร้างที่ทางทีมพัฒนาขึ้น

แม้ตอนนี้ปริมาณผักที่ผลิตได้จะยังไม่พอต่อการวางจำหน่าย แต่ช่วงทดลอง (prototyping phase) ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าผลผลิตเติบโตดีเกินคาด การวางแผนจัดการร่วมกันดูแลผักของคนในชุมชนเป็นไปได้ด้วยดี หากไม่นับโควิด-19 ที่วนเวียนมาเป็นระยะทำให้การลงพื้นที่เป็นไปได้ยากขึ้น ทีมบางโฉลงโมเดลดำเนินการได้ใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ โดยคำนวณไว้ว่าผักจะเพียงพอต่อการขายกับพาร์ตเนอร์ได้เมื่อมีโครงสร้างราว 20 โครงสร้าง จึงยังคงต้องต้องใช้เวลาและงบประมาณอยู่

“ถ้าในอนาคตถ้ายังไปต่อและดำเนินอยู่ ถ้าเราได้เงินพอที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เขามันจะอิมแพกมากๆ เด็กจะมีสนามเด็กเล่น ผู้ใหญ่จะมีพื้นที่ให้นั่ง ไม่ต้องเห็นแต่ที่จอดรถ ถ้ามีพื้นที่สีเขียวมันจะสุดยอด” เจมส์พูดถึงแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เป็นอีกความตั้งใจของทีมบางโฉลงโมเดลที่จะทำร่วมกับชุมชน
เจมส์เล่าว่าทุกวันนี้เป็นปกติที่เด็กในชุมชนเล่นแบตในลานจอดรถต้องคอยหลบรถ บ้างก็ปีนท่อน้ำทิ้ง ในขณะที่บางคนใช้บันไดขึ้นตึกเป็นที่วิ่งเล่นหรือเล่นตามซอกตึกซึ่งเป็นจุดวางถังขยะขนาดใหญ่ พื้นที่เหล่านี้ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กเท่าที่ควร

“ที่พื้นที่สาธารณะไม่เป็นมิตรกับผู้คนเกิดจากการที่ไม่มีนโยบายที่คิดถึงพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะในบ้านเรา ทั้งที่มันสร้างกิจกรรมให้คนได้จริงๆ” นนท์อธิบาย โดยมีโด้เสริมว่าทั้งที่จริงนี่พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรเข้าถึง

ทั้งนี้ในการพัฒนาพื้นที่ทางทีมตระหนักถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผู้อยู่อาศัยอาจตั้งคำถามหากจะมีการเปลี่ยนที่จอดรถให้มีรูปแบบการใช้งานอื่นๆ เข้ามา แต่ด้วยกระบวนการที่ทางทีมทำงานโดยมีชุมชนและนิติบุคคลเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับความถนัดทางวิชาชีพทางทีมเชื่อว่าจะสามารถจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นไว้ได้ใกล้เคียงเดิม 

  • Published Date: 06/05/2021
  • by: UNDP

การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาวัดผลกระทบมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

เขียนโดย อภิญญา สิระนาท, Head of Exploration โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“อนาคตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ”

บริบททางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและยังคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมิลเลนเนียลที่เริ่มตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เพียงจะเริ่มมองว่าบริษัทควรมีพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังคาดหวังให้ธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นตัวกำหนดตลาดในอนาคต เพราะมันชี้ให้เห็นความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเล็งเห็นปัญหาและสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่
การสร้างตลาดเทคโนโลยี การลงทุน และ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ”
– Achim Steiner, Administrator, United Nations Development Program (2018) 

ความต้องการและค่านิยมที่แตกต่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเติบโตทางธุรกิจและไม่จำกัดอยู่เพียงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตหรือผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้นเท่านั้น บริษัททั้งหลายเริ่มตระหนักว่าธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต่างพยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและเกื้อกูลในระยะยาวที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พนักงาน ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น และ สังคมโดยกว้าง

การที่บริษัทให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้หมายความว่าบริษัทจะต้องเสียผลประโยชน์ ผลกำไรทางธุรกิจเสมอไป  ในทางกลับกัน บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ทั้งนี้งานวิจัยหลายชิ้นได้พบความสัมพันธ์เชิงบวก (positive correlation) ระหว่างผลกำไรกับความมุ่งมั่นของบริษัทในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)[1] เช่น การศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่า[2] เมื่อเทียบกันแล้ว บริษัทที่มีการวัดและประเมินด้าน ESG ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีการเติบโตใน 18 ปีต่อมามากกว่ากลุ่มที่ไม่มี การศึกษาโดย Nordea Equity Research[3] ในปี 2017 พบว่า ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015 บริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG สูงสุดนั้นมีการเติบโตมากกว่าบริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG ต่ำสุด ถึง 40%

          “การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีผลการประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของตนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร หากปราศจากเป้าหมายดังกล่าว
บริษัทก็ไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้”
– Larry Fink, CEO, Blackrock (2018)

การแพร่ระบาดของโควิด 19 (COVID-19) ยิ่งตอกย้ำบทบาทและความสำคัญของภาคเอกชนในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับบทบาทของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในฐานะที่เป็นภาคส่วนหลักในการจ้างงานและการลงทุน ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญทั้งในการคุ้มครองพนักงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ตลอดจนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเกื้อกูล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยั่งยืนต่อไป

ด้วยบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจได้อีกต่อไป ธุรกิจทั้งหลายต่างต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ตลอดจนการวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management – IMM) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ แสดงพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม และ สื่อสารข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรายงานความยั่งยืนและการวัดผลกระทบนั้นต่างช่วยเพิ่มศักยภาพและทำให้บริษัทมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น แต่การปฏิบัติทั้งสองล้วนเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะและมีความแตกต่างกันในแนวทางและวัตถุประสงค์

Global Reporting Initiative (GRI) ได้นิยามรายงานความยั่งยืนว่าคือ “รายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัท รายงานนี้จะแสดงถึงค่านิยมและรูปแบบการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์และความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน” การจัดทำรายงานความยั่งยืนนั้นช่วยให้องค์กรสามารถระบุและเปิดเผยผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก

ภาพจากงาน From ESG to SDGs : Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies

ในประเทศไทยพบว่ามีบริษัทจำนวนมากมียุทธศาสตร์ นโยบาย และจริยธรรมธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี การปฎิบัติตามกรอบแนวทาง ESG นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปลดล็อคขีดความสามารถอันมหาศาลของภาคเอกชนในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เพราะกรอบ ESG นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงทุกบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน  กรอบ ESG มุ่งเน้นไปที่นโยบายและกระบวนการดำเนินการของบริษัทเป็นหลัก และ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้รายงานมักจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของนักลงทุน การจัดทำข้อมูลตามกรอบ ESG จึงมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact) และ เปรียบเทียบศักยภาพระหว่างบริษัทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกได้  การสำรวจของ McKinsey[4]  เปิดเผยว่านักลงทุนเชื่อว่า “ข้อมูลความยั่งยืนที่ถูกเปิดเผยนี้ ยังไม่พร้อมจะถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและให้คำแนะนำการลงทุนได้อย่างถูกต้อง”

ในทางกลับกัน การเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงการบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ การดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆจึงจำเป็นต้องมีการทำ IMM อย่างเหมาะสม เพราะการทำ IMM นั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถสื่อสารผลกระทบสู่ภายนอก และทำให้มั่นใจว่าบริษัทกำลังดำเนินการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การทำไปตามข้อบังคับ กฏหมายหรือข้อกำหนดต่างๆเท่านั้น

การวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management: IMM) คืออะไร ?

Global Impact Investing Network (GIIN) ได้นิยาม IMM ไว้ดังนี้  “การวัดและการบริหารผลกระทบหมายถึงการระบุและพิจารณาผลกระทบรอบด้านของธุรกิจที่มีต่อผู้คนและโลก ตลอดจน หาวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลเชิงบวกให้มากที่สุดโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความท้าทายที่ผู้ที่ทำงานด้านการวัดผลกระทบเผชิญมาเป็นเวลานานคือ การหาคำนิยาม ความหมายของคำว่า ผลกระทบ และ ทำอย่างไรเพื่อจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น การที่เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทำให้เกิดแนวทางในการวัดผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งจาก ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ธุรกิจ ไปจนถึงตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) และเจ้าของเงินทุน

การใช้ SDGs เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบ

การที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ SDGs เป็นวิสัยทัศน์ของโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 2015 นั้น ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเรื่อง IMM  มากยิ่งขึ้น SDGs ไม่เพียงกำหนดขอบเขตสำหรับการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของการบรรลุผลกระทบเหล่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าของตนเพื่อบรรลุผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้บริษัทจำนวนมากทั่วโลกจึงเริ่มหันมาใช้ SDGs เป็นกรอบในการวัดผลกระทบของธุรกิจตน

          “ธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านการดำเนินกิจกรรมหลักของตน และเราขอให้บริษัททุกแห่งเริ่มประเมินผลกระทบ
ตั้งเป้าหมายให้สูง และสื่อสารผลการทำงานอย่างโปร่งใส”
– Ban Ki-moon, Former United Nations Secretary-General (2015)

ผลกระทบในบริบทของ SDGs กำลังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับปัจจัยอื่นๆ อย่างรายได้และความเสี่ยง เฉกเช่นกับการที่รายงานทางการเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท  การวัดและการบริหารผลกระทบด้าน SDGs (SDGs IMM) นั้นก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อบริษัท เนื่องจากไม่เพียงแต่บรรดาผู้ถือหุ้น แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายก็เริ่มเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต

นอกจากธุรกิจต้องใส่ใจต่อการเรียกร้องของสังคมเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเเสดงความรับผิดชอบแล้ว การคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมไปพร้อมๆ กับกำไร และ การนำ SDGs IMM มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทหลายประการ ดังนี้

  • การสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ: IMM ช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุตลาดใหม่ๆ และ เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ธุรกิจเพื่อสังคม Hilltribe Organics ได้มีการนำ IMM มาปรับใช้โดยได้รับคำปรึกษาจาก UNDP Business Call to Action ทำให้สามารถระบุได้ว่าตลาดยังมีความต้องการไข่อินทรีย์อยู่พอสมควรจึงเริ่มหันมาสนใจและเปิดตลาดขายไข่อินทรีย์ด้วย ณ วันนี้ Hilltribe Organics[5] กลายเป็นบริษัทไข่อินทรีย์อับดับต้นๆ ของประเทศไทย และ ปัจจุบันมีช่องทางขายทั้งในซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ ร้านอาหารและโรงแรมทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในช่วงจะต่อยอดโมเดลธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business model) โดยเพิ่มการผนวกกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วประเทศเข้าในห่วงโซ่แห่งคุณค่าทางการเกษตร (agricultural value chain) ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทแล้วยังเป็นการเพิ่มจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
  • การตลาดและช่วยสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กร: ข้อมูลผลกระทบ (Impact data) ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างแคมเปญทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้ามีความสนใจในตัวบริษัทมากขึ้นอีกด้วย บริษัทสื่อโฆษณารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Plan B Media เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีที่มีความมุ่งมั่นจะใช้กลยุทธ์การตลาดที่ยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้ธุรกิจของตนโดยตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การที่ Plan B ตระหนักว่าสื่อดิจิตัลจะต้องเป็นมากกว่าเพียงแค่การให้บริการโฆษณาแต่ควรมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยนั้น Plan B จึงร่วมมือกับ UNDP จัดทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ SDGs ในประเทศไทย ทั้งในเรื่อง การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและหยุดการใช้พลาสติกครั้งเดียว (single-use plastics)[6] เป็นต้น
  • ช่วยจัดวางกลยุทธ์และลดความเสี่ยง: IMM นอกจากจะทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆของบริษัทนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กรแล้ว ยังช่วยระบุความเสี่ยงต่่างๆได้ตั้งเเต่เริ่มเเรก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ทันท่วงที

Business Call to Action’s Impact Lab[7]
เครื่องมือสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบเบื้องต้น

บริษัทที่ไม่เคยทำ IMM มาก่อน อาจจะรู้สึกว่า IMM เป็นสิ่งท้าทาย และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ในขณะเดียวกัน UNDP Business Call to Action ได้ตระหนักถึงประโยชน์ต่างๆ ของ IMM จึงพัฒนา Impact Lab ซึ่งเป็นออนไลน์เเพลตฟอร์มขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการทำ SDGs IMM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัว Impact Lab นั้น ประกอบด้วย 4 โมดูลหลักซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการบริหารผลกระทบ ตั้งแต่ การประเมินความพร้อมในการวัดผล การวางแผนสำหรับการวัดผลและการออกแบบกรอบผลกระทบ การตรวจสอบข้อมูลผลกระทบ (impact data) และ การวิเคราะห์และรายงานข้อมูลผลกระทบ (impact data) เมื่อบริษัทได้ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว นอกจากจะสามารถเข้าใจถึง Impact Value Chain ที่เชื่อมการดำเนินการของธุรกิจตนเข้ากับ SDGs ได้เเล้ว ยังสามารถออกแบบกรอบผลกระทบ SDGs ของตนเอง พร้อมด้วยแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยในการวัด บริหาร และ สื่อสารผลกระทบได้

เกี่ยวกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นเครือข่ายการพัฒนาระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UNDP ทำงานร่วมกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ในการช่วยขจัดความยากจน ลดความไม่เท่าเทียมและการกีดกัน UNDP มีประสบการณ์ทำงานกับภาคเอกชนในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมายาวนานโดยองค์กรได้ทำงานร่วมกับบริษัททั่วโลกจากหลายอุตสาหกรรมทั้ง ภาคพลังงาน อาหาร การเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค การเงิน และ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในประเทศไทย UNDP ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเกี่ยวกับประเด็นด้านการพัฒนาต่างๆ
  • ช่วยธุรกิจมองหาโอกาสในการทำผลิตภัณฑ์ สินค้า เเละ บริการต่างๆที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านการพัฒนา รวมถึงให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจเกื้อกูลสังคม (Inclusive Business) ที่นำกลุ่มคนรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อมาเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ พนักงาน และ ผู้บริโภค
  • ระดมทรัพยากรทุนและสิ่งของจากภาคเอกชนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ใช้นวัตกรรมทางการเงินและสร้างเครือข่ายเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินงานด้าน SDGs
  • ให้ความรู้และออกแบบเครื่องมือต่างๆในด้านการวัดและบริหารผลกระทบแก่บริษัท และ นักลงทุนต่างๆที่สนใจ

บริษัทที่สนใจทำงานร่วมกับ UNDP เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: นางสาวอภิญญา สิระนาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อสังคม, E-mail: aphinya.siranart@undp.org

[1] Mozaffar Khan, George Serafeim, Aaron Yoon, Corporate Sustainability: First Evidence on Materiality. The Accounting Review (2016) 91 (6): 1697–1724.

[2] Eccles, Robert G. and Ioannou, Ioannis and Serafeim, George, The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance (December 23, 2014). Management Science, Volume 60, Issue 11, pp. 2835-2857, February 2014. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=1964011 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1964011

[3] https://nordeamarkets.com/wp-content/uploads/2017/09/Strategy-and-quant_executive-summary_050917.pdf

[4] https://www.mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/more-than-values-the-value-based-sustainability-reporting-that-investors-want

[5] https://www.businesscalltoaction.org/member/urmatt-ltd-hilltribe-organics

[6]https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/presscenter/pressreleases/2019/undp-unveils-nationwide-campaign-to-combat-single-use-plastics–.html

[7] https://www.businesscalltoaction.org/

Keywords: , , , , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

‘การลงทุนให้สิ่งแวดล้อม’ หลักการทำงานอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการที่คิดเพื่อสังคม

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมนั้นลงทุนโดยไม่ได้หวังเพียงจุดคุ้มทุนหรือกำไรเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า

‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) สำหรับเปิดมุมมองและกระบวนการของนักลงทุน และนำมาต่อยอดความคิดของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อสังคม เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance)

การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ คืออะไร ?

เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง และถูกตักตวงเอาผลประโยชน์จนบางครั้งถูกมองข้าม และขาดการเอาใจใส่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มโครงการ ‘The Biodiversity Finance Initiative’ (BIOFIN) สร้างการลงทุนเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยทำงานผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. ประเมินงบประมาณที่ใช้เพื่อลงทุนเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนา ฟื้นฟู วิจัย และป้องกัน จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
  2. ประเมินมูลค่างบประมาณที่จำเป็น
  3. พิจรณาช่องว่างระหว่างขั้นตอนที่หนึ่งและสอง แล้วจัดหานวัตกรรมการจัดหาเงิน (Innovative Finance) เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างการทำงานของผู้ประกอบการสังคมที่ตั้งใจลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นภาพชัดกันบ้าง นั่นคือ ‘Patagonia’ ของ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเอาต์ดอร์ที่จัดทำแคมเปญ ‘1% for the Planet’ มอบเงิน 1% จากยอดขายในแต่ละปีให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอหลายร้อยแห่งทั่วโลก เพราะบริษัทมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนและทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่คำโฆษณาเสื้อผ้า ‘Don’t Buy this Jacket’ ที่หมายถึงอย่าซื้อเสื้อแจ็กเก็ตตัวนี้ ถ้าไม่ต้องการที่จะใส่มันจริงๆ เพื่อช่วยลดขยะเสื้อผ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งยังใช้ฝ้ายออร์แกนิก 100% ยึดถือหลักการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) มีโรงงานสีเขียวที่ใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตัวอาคารยังเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้างส่วนหนึ่ง และเป็นอาคารสีเขียวที่ผ่านมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ไม่เพียงเท่านั้น Patagonia ยังมีกิจกรรมที่ทุกคนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฟื้นฟูแม่น้ำ หรือการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน โดยพวกเขาหวังเพียงเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการรักษาระบบนิเวศของโลกใบนี้ให้ยังคงสมบูรณ์ไปอีกนานเท่านาน

ตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาข้างต้นอย่าง ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance) เป็นเพียงหนึ่งสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงวิธีการของ ‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) เท่านั้น แต่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สังคม หรือสัตว์ป่า เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าไปพร้อมกับสร้างสังคมที่น่าอยู่และดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ที่มา :

https://www.biodiversityfinance.net/

https://web.facebook.com/UNDP.BIOFIN.th/posts/1139307249427189/?_rdc=1&_rdr

https://www.onepercentfortheplanet.org/

Keywords: , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779