• Published Date: 10/05/2021
  • by: UNDP

Peace of Art พื้นที่ปลอดภัยสร้างได้ผ่านกิจกรรมทำอาหารทางเลือก

โควิด-19 กำลังกลับมาอีกครั้ง เช่นกันกับความเครียดและกังวลใจที่พ่วงมาด้วยกับสถานการณ์เช่นนี้

รุส-รุสลีนา มูเล็ง ยังจำความรู้สึกช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ได้ดีว่าโรคระบาดแห่งยุคสมัยสร้างผลกระทบให้คนมากมายขนาดไหน ยิ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์การจำกัดพื้นที่ยิ่งเท่ากับจำกัดกิจกรรมเข้าไปอีก

              “ตอนแรกเราสนใจศิลปะบำบัดความเครียด เราเห็นภาพว่าเป็นการวาดเขียน วาดเส้น ระบายสี” ความเครียดที่เธอว่านอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว เธอยังนึกถึงความกดดันทั่วๆ ไปในชีวิต รวมถึงความตึงเครียดสะสมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธออยู่ แต่พอเธอได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อได้เข้าร่วม Youth Co:Lab เธอเริ่มมองศิลปะในมุมที่กว้างขึ้น ว่าอะไรคนถึงจะสนใจเป็นพิเศษ “ศิลปะอาจไม่ได้มีคนสนใจมากขนาดนั้น เราเลยทำการบ้านว่าจะทำอะไรดี เรานึกถึงการปั้นดินน้ำมัน งานคราฟต์ และการทำอาหาร มันน่าสนใจตรงที่อาหารทำให้เราคลายเครียดได้”

             ท่ามกลางหลากหลายทางเลือกที่เธอมองหา รุสบอกว่าการทำอาหารโดดเด่นที่สุด

             “อาหารเป็นอะไรที่ทุกคนเข้าถึงและลงมือปฏิบัติได้” ในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก รุสสังเกตเห็นว่าการเข้าครัวกลายมาเป็นกิจกรรมของใครหลายๆ คน และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจหลายแขนงปิดตัวก็มีอาหารนี่แหละที่คงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเห็นร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นบ้างด้วย

“เราเลยสังเกตพฤติกรรมของคนวัยรุ่นวัยมหาลัย เราเห็นว่าเขาชอบเช็คอิน ชอบถ่ายรูปลงโซเชียล เราเลยคิดลองจัดกิจกรรมทำอาหารที่เขาได้ทั้งทำเองและถ่ายรูปลงได้ด้วย มันน่าจะสร้างคุณค่าได้มากกว่าการซื้อแล้วถ่ายลงโซเชียล”

Peace of Art มีคอนเซ็ปต์กว้างๆ ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและการมีกิจกรรมทางเลือกเพื่อลดความเครียดจึงก่อร่างสร้างตัวขึ้น

  


ปั้นโปรเจ็กต์

              รุสทดลองทำเวิร์คช็อปโดยให้เป็นส่วนผสมระหว่างการทำอาหารและการบำบัดความเครียด การทำอาหารของเธอไม่ได้จำเป็นว่าต้องรสชาติดีเด่น แต่เน้นความเป็นตัวเองและความคิดสร้างสรรค์

              เวิร์คช็อปแรก Peace of Art ชัดเจนตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ว่าจะเป็น Cooking Therapy

              “ปรากฏคนส่วนใหญ่คิดว่าเราจะสอนทำอาหารจริงจัง” ที่เป็นเช่นนั้นรุสมีสมมติฐานว่าอาจเป็นเพราะคอนเซ็ปต์ของการทำอาหารเพื่อการบำบัดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในพื้นที่จังหวัดยะลา ทั้งนี้สิ่งที่บรรจุลงไปในเวิร์คช็อปครั้งแรกของเธอผสมสาระทั้งด้านอาหารและด้านการเข้าใจความเครียดไว้ด้วยกัน โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารควบคู่ไปด้วย แต่แทนที่จะให้ทุกคนทำตามสูตรทีละขั้นทีละตอนแบบเป๊ะๆ การทำอาหารในเวิร์คช็อปของเธอกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะไม่ได้มีสูตรตายตัว

“เราเห็นว่าเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นมันมีพื้นที่พูดคุยมากกว่าการทำอาหารทั่วๆ ไป เพราะอาหารของเราไม่ได้เน้นรสชาติ แต่เน้นความสร้างสรรค์ เน้นความเป็นตัวคุณเข้าไปเลย” 

การจัดกิจกรรมครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมแปดคน รุสถอดบทเรียนสิ่งที่อยากแก้ไขและพัฒนาในครั้งต่อไป

“เราพบว่าไม่ใช่ทุกคนแก้ความเครียดด้วยวิธีนี้ พอเราดูลึกลงไปเราพบว่าคนจะแก้ความเครียดด้วยวิธีไหนก็ได้ จะไปเที่ยว ออกกำลัง และไม่ใช่ทุกคนชอบทำอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นประโยชน์ชัดจากการจัดเวิร์คช็อปคือเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาได้เจอตัวเอง ได้ระบายตัวเองออกมา”

รุสยังเสริมอีกว่าหลายๆ คนไม่ได้สื่อสารหรืออาจไม่ได้สังเกตว่าตัวเองมีความเครียดมากน้อยแค่ไหนอย่างตรงไปตรงมา การจัดเวิร์คช็อปเพื่อผ่อนคลายความเครียดโดยตรงจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่างหากที่รุสเห็นว่าจำเป็นมากในสถานการณ์แบบนี้

 


จากแก้เครียดสู่สร้างพื้นที่ปลอดภัย

 เมื่อ Peace of Art ได้รับทุนไปพัฒนาโปรเจ็กต์รอบที่สองเธอจึงบิดชื่อเวิร์กช็อปว่า “คิดเช่นกันไหม” ทั้งเป็นการเชิญชวนคนให้เข้าครัว และเป็นคำพ้องเสียง เป็นไปดั่งที่คาดคิด พอเปลี่ยนวิธีประชาสัมพันธ์เธอได้คนสมัครเข้าร่วมเวิร์คช็อปมากยิ่งขึ้น โดยรุสเก็บความตั้งใจเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้เป็นประเด็นหลักของเวิร์คช็อปผ่านอาหารครั้งนี้ โดยรุสให้ทุกคนแนะนำตัวผ่านอาหารจานโปรด

“เราเซ็ตไว้ว่าจะไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ ให้แนะนำตัวผ่านอาหารที่ชอบ ตลอดกิจกรรมเราจะไม่เรียกด้วยชื่อตัวเอง” เธออธิบายกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีนัยยะสำคัญ

ครึ่งแรกของเวิร์กช็อปทั้งหมดว่าด้วยการละลายพฤติกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก

“เรามีกิจกรรมที่เรียกว่ากระจกที่ไม่สะท้อนกลับ ให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กันเพื่อพูดและฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องตอบโต้ ไม่ตัดสิน” รุสอธิบายว่าในกิจกรรมมีกระบวนกรที่ตั้งหัวข้อมาชวนพูดคุย เช่น สิ่งที่อยากปรับปรุง เรื่องที่อยากให้กำลังใจตัวเอง โดยพูดให้กับอีกคนฟังซึ่งอีกฝ่ายมีหน้าที่เพียงฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น “ส่วนใหญ่เวลาเราพูดอะไรมักจะถูกตัดสิน ผู้ฟังมักให้ความเห็นตามประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอมา แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนใส่รองเท้าไม่เหมือนกัน เจอเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน เราเลยอยากให้การฟังที่เกิดขึ้นในเวิร์กช็อปเป็นการฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องการการตอบกลับ คล้ายๆ กับพูดให้ตัวเองฟังมากกว่า เป็นการให้กำลังใจตัวเองดังๆ”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเบาๆ ชวนละลายพฤติกรรมระหว่างผู้เข้าร่วมโดยใช้อาหารเป็นหัวข้อในการพูดคุย เช่น ชวนกันแบ่งปันสูตรเฉพาะแต่ละบ้านในเมนูสุดมาตรฐานอย่างไข่เจียว เป็นต้น

พอผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและเริ่มรู้สึกปลอดภัยกับพื้นที่นี้ ถัดมาจึงเป็นการเข้าครัวจริง โดยแต่ละคนได้รับเซ็ตตกแต่งเค้กคนละกล่อง มีครีม มีโยเกิร์ต และอื่นๆ ตามเลือกสรร อาหารที่นำเสนอใน Peace of Art เป็นอาหารที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับสูตร แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวเอง

“เราอยากให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเอง โดยแต่ละคนรังสรรในแบบฉบับตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง จะใส่อะไรก็ได้ที่เป็นตัวเอง” รุสอธิบายต่อว่าการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ และให้เวลากับตัวเองแบบนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนตัวตนผ่านสิ่งที่ทำ

“บางคนละเอียดนุ่มนวลมันก็สะท้อนจากการที่เขาใส่อย่างหนึ่งก่อนอีกอย่างหนึ่ง” เมื่อจบเวิร์คช็อปรุสก็มีแบบสอบถามให้กับผู้เข้าร่วมว่ารู้สึกอย่างไรกับเวิร์คช็อปครั้งนี้ ผลโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ

“สุดท้ายคือผู้เข้าร่วมไม่เครียด สนุกสนาน สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน และที่สำคัญที่สุดคือมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและคลายเครียด”


ต่อยอดกิจกรรม

หากมีโอกาสจัดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นอีกหรือได้พัฒนาโครงการต่อ รุสบอกว่า Peace of Art สนใจจัดต่อแบบครั้งที่สองตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไปจนถึงตัวกิจกรรม การทำให้พื้นที่ตรงนี้มีคนทุกเพศเข้ามาคือความท้าทายที่เธออยากก้าวข้ามให้ได้ เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้เข้าร่วมเพศหญิงเท่านั้น 

และในระยะยาวเธอคิดต่อยอดถึงขั้นเปิดเป็นคาเฟ่

“ถ้าจะทำให้โดดเด่นเราอาจทำเป็นคาเฟ่คลายเครียด จะมีเซ็ตอาหาร DIY ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตัวเมนูอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยแบ่งอาหารออกเป็นหลายประเภททั้งสายเฮลตี้และสายทั่วไป” รุสเล่าต่อว่าเธออยากสร้างความภูมิใจง่ายๆ ให้กับทุกคนซึ่งการได้ลงมือตกแต่งหรือปรุงอาหารด้วยตัวเองก็เป็นหนึ่งในวิธีสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้
ไม่เพียงเท่านี้เธอยังคิดว่าจะจัดเวิร์กช็อปรายเดือนเพื่อให้มีกิจกรรมบำบัดความเครียดเสริมเข้ามาด้วย รวมถึงมีคอร์สพิเศษสำหรับคนที่รู้สึกอยากผ่อนคลายความเครียดผ่านการทำอาหารแบบเดี่ยว

และหากคาเฟ่เป็นจริงเธอยังนึกถึงไอเดียตั้งต้นเรื่องศิลปะบำบัดมาดัดแปลงผ่านการใช้สีจากอาหารมาวาดภาพด้วย

ทั้งนี้รุสเล่าว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเธอที่ลองส่งโครงการเข้าร่วม Youth Co:Lab สิ่งที่เธอได้เรียนรู้รับว่ามาไกลมาก โดยเฉพาะมุมมองด้านธุรกิจผ่าน Business Model Canvas ที่เธอไม่เคยเรียนรู้มาก่อน รวมถึงการทำหาอินไซต์ที่ทำให้เธอออกแบบงานได้ตรงโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมและเดินต่อได้ถูกทางมากยิ่งขึ้น มีเครื่องมือไปใช้กับผู้เข้าร่วมได้หลากหลายยิ่งขึ้น

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 06/05/2021
  • by: UNDP

การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาวัดผลกระทบมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

เขียนโดย อภิญญา สิระนาท, Head of Exploration โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“อนาคตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ”

บริบททางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและยังคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมิลเลนเนียลที่เริ่มตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เพียงจะเริ่มมองว่าบริษัทควรมีพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังคาดหวังให้ธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นตัวกำหนดตลาดในอนาคต เพราะมันชี้ให้เห็นความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเล็งเห็นปัญหาและสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่
การสร้างตลาดเทคโนโลยี การลงทุน และ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ”
– Achim Steiner, Administrator, United Nations Development Program (2018) 

ความต้องการและค่านิยมที่แตกต่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเติบโตทางธุรกิจและไม่จำกัดอยู่เพียงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตหรือผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้นเท่านั้น บริษัททั้งหลายเริ่มตระหนักว่าธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต่างพยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและเกื้อกูลในระยะยาวที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พนักงาน ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น และ สังคมโดยกว้าง

การที่บริษัทให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้หมายความว่าบริษัทจะต้องเสียผลประโยชน์ ผลกำไรทางธุรกิจเสมอไป  ในทางกลับกัน บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ทั้งนี้งานวิจัยหลายชิ้นได้พบความสัมพันธ์เชิงบวก (positive correlation) ระหว่างผลกำไรกับความมุ่งมั่นของบริษัทในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)[1] เช่น การศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่า[2] เมื่อเทียบกันแล้ว บริษัทที่มีการวัดและประเมินด้าน ESG ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีการเติบโตใน 18 ปีต่อมามากกว่ากลุ่มที่ไม่มี การศึกษาโดย Nordea Equity Research[3] ในปี 2017 พบว่า ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015 บริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG สูงสุดนั้นมีการเติบโตมากกว่าบริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG ต่ำสุด ถึง 40%

          “การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีผลการประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของตนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร หากปราศจากเป้าหมายดังกล่าว
บริษัทก็ไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้”
– Larry Fink, CEO, Blackrock (2018)

การแพร่ระบาดของโควิด 19 (COVID-19) ยิ่งตอกย้ำบทบาทและความสำคัญของภาคเอกชนในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับบทบาทของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในฐานะที่เป็นภาคส่วนหลักในการจ้างงานและการลงทุน ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญทั้งในการคุ้มครองพนักงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ตลอดจนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเกื้อกูล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยั่งยืนต่อไป

ด้วยบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจได้อีกต่อไป ธุรกิจทั้งหลายต่างต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ตลอดจนการวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management – IMM) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ แสดงพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม และ สื่อสารข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรายงานความยั่งยืนและการวัดผลกระทบนั้นต่างช่วยเพิ่มศักยภาพและทำให้บริษัทมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น แต่การปฏิบัติทั้งสองล้วนเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะและมีความแตกต่างกันในแนวทางและวัตถุประสงค์

Global Reporting Initiative (GRI) ได้นิยามรายงานความยั่งยืนว่าคือ “รายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัท รายงานนี้จะแสดงถึงค่านิยมและรูปแบบการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์และความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน” การจัดทำรายงานความยั่งยืนนั้นช่วยให้องค์กรสามารถระบุและเปิดเผยผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก

ภาพจากงาน From ESG to SDGs : Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies

ในประเทศไทยพบว่ามีบริษัทจำนวนมากมียุทธศาสตร์ นโยบาย และจริยธรรมธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี การปฎิบัติตามกรอบแนวทาง ESG นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปลดล็อคขีดความสามารถอันมหาศาลของภาคเอกชนในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เพราะกรอบ ESG นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงทุกบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน  กรอบ ESG มุ่งเน้นไปที่นโยบายและกระบวนการดำเนินการของบริษัทเป็นหลัก และ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้รายงานมักจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของนักลงทุน การจัดทำข้อมูลตามกรอบ ESG จึงมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact) และ เปรียบเทียบศักยภาพระหว่างบริษัทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกได้  การสำรวจของ McKinsey[4]  เปิดเผยว่านักลงทุนเชื่อว่า “ข้อมูลความยั่งยืนที่ถูกเปิดเผยนี้ ยังไม่พร้อมจะถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและให้คำแนะนำการลงทุนได้อย่างถูกต้อง”

ในทางกลับกัน การเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงการบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ การดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆจึงจำเป็นต้องมีการทำ IMM อย่างเหมาะสม เพราะการทำ IMM นั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถสื่อสารผลกระทบสู่ภายนอก และทำให้มั่นใจว่าบริษัทกำลังดำเนินการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การทำไปตามข้อบังคับ กฏหมายหรือข้อกำหนดต่างๆเท่านั้น

การวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management: IMM) คืออะไร ?

Global Impact Investing Network (GIIN) ได้นิยาม IMM ไว้ดังนี้  “การวัดและการบริหารผลกระทบหมายถึงการระบุและพิจารณาผลกระทบรอบด้านของธุรกิจที่มีต่อผู้คนและโลก ตลอดจน หาวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลเชิงบวกให้มากที่สุดโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความท้าทายที่ผู้ที่ทำงานด้านการวัดผลกระทบเผชิญมาเป็นเวลานานคือ การหาคำนิยาม ความหมายของคำว่า ผลกระทบ และ ทำอย่างไรเพื่อจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น การที่เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทำให้เกิดแนวทางในการวัดผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งจาก ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ธุรกิจ ไปจนถึงตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) และเจ้าของเงินทุน

การใช้ SDGs เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบ

การที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ SDGs เป็นวิสัยทัศน์ของโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 2015 นั้น ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเรื่อง IMM  มากยิ่งขึ้น SDGs ไม่เพียงกำหนดขอบเขตสำหรับการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของการบรรลุผลกระทบเหล่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าของตนเพื่อบรรลุผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้บริษัทจำนวนมากทั่วโลกจึงเริ่มหันมาใช้ SDGs เป็นกรอบในการวัดผลกระทบของธุรกิจตน

          “ธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านการดำเนินกิจกรรมหลักของตน และเราขอให้บริษัททุกแห่งเริ่มประเมินผลกระทบ
ตั้งเป้าหมายให้สูง และสื่อสารผลการทำงานอย่างโปร่งใส”
– Ban Ki-moon, Former United Nations Secretary-General (2015)

ผลกระทบในบริบทของ SDGs กำลังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับปัจจัยอื่นๆ อย่างรายได้และความเสี่ยง เฉกเช่นกับการที่รายงานทางการเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท  การวัดและการบริหารผลกระทบด้าน SDGs (SDGs IMM) นั้นก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อบริษัท เนื่องจากไม่เพียงแต่บรรดาผู้ถือหุ้น แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายก็เริ่มเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต

นอกจากธุรกิจต้องใส่ใจต่อการเรียกร้องของสังคมเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเเสดงความรับผิดชอบแล้ว การคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมไปพร้อมๆ กับกำไร และ การนำ SDGs IMM มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทหลายประการ ดังนี้

  • การสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ: IMM ช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุตลาดใหม่ๆ และ เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ธุรกิจเพื่อสังคม Hilltribe Organics ได้มีการนำ IMM มาปรับใช้โดยได้รับคำปรึกษาจาก UNDP Business Call to Action ทำให้สามารถระบุได้ว่าตลาดยังมีความต้องการไข่อินทรีย์อยู่พอสมควรจึงเริ่มหันมาสนใจและเปิดตลาดขายไข่อินทรีย์ด้วย ณ วันนี้ Hilltribe Organics[5] กลายเป็นบริษัทไข่อินทรีย์อับดับต้นๆ ของประเทศไทย และ ปัจจุบันมีช่องทางขายทั้งในซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ ร้านอาหารและโรงแรมทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในช่วงจะต่อยอดโมเดลธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business model) โดยเพิ่มการผนวกกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วประเทศเข้าในห่วงโซ่แห่งคุณค่าทางการเกษตร (agricultural value chain) ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทแล้วยังเป็นการเพิ่มจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
  • การตลาดและช่วยสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กร: ข้อมูลผลกระทบ (Impact data) ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างแคมเปญทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้ามีความสนใจในตัวบริษัทมากขึ้นอีกด้วย บริษัทสื่อโฆษณารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Plan B Media เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีที่มีความมุ่งมั่นจะใช้กลยุทธ์การตลาดที่ยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้ธุรกิจของตนโดยตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การที่ Plan B ตระหนักว่าสื่อดิจิตัลจะต้องเป็นมากกว่าเพียงแค่การให้บริการโฆษณาแต่ควรมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยนั้น Plan B จึงร่วมมือกับ UNDP จัดทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ SDGs ในประเทศไทย ทั้งในเรื่อง การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและหยุดการใช้พลาสติกครั้งเดียว (single-use plastics)[6] เป็นต้น
  • ช่วยจัดวางกลยุทธ์และลดความเสี่ยง: IMM นอกจากจะทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆของบริษัทนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กรแล้ว ยังช่วยระบุความเสี่ยงต่่างๆได้ตั้งเเต่เริ่มเเรก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ทันท่วงที

Business Call to Action’s Impact Lab[7]
เครื่องมือสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบเบื้องต้น

บริษัทที่ไม่เคยทำ IMM มาก่อน อาจจะรู้สึกว่า IMM เป็นสิ่งท้าทาย และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ในขณะเดียวกัน UNDP Business Call to Action ได้ตระหนักถึงประโยชน์ต่างๆ ของ IMM จึงพัฒนา Impact Lab ซึ่งเป็นออนไลน์เเพลตฟอร์มขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการทำ SDGs IMM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัว Impact Lab นั้น ประกอบด้วย 4 โมดูลหลักซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการบริหารผลกระทบ ตั้งแต่ การประเมินความพร้อมในการวัดผล การวางแผนสำหรับการวัดผลและการออกแบบกรอบผลกระทบ การตรวจสอบข้อมูลผลกระทบ (impact data) และ การวิเคราะห์และรายงานข้อมูลผลกระทบ (impact data) เมื่อบริษัทได้ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว นอกจากจะสามารถเข้าใจถึง Impact Value Chain ที่เชื่อมการดำเนินการของธุรกิจตนเข้ากับ SDGs ได้เเล้ว ยังสามารถออกแบบกรอบผลกระทบ SDGs ของตนเอง พร้อมด้วยแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยในการวัด บริหาร และ สื่อสารผลกระทบได้

เกี่ยวกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นเครือข่ายการพัฒนาระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UNDP ทำงานร่วมกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ในการช่วยขจัดความยากจน ลดความไม่เท่าเทียมและการกีดกัน UNDP มีประสบการณ์ทำงานกับภาคเอกชนในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมายาวนานโดยองค์กรได้ทำงานร่วมกับบริษัททั่วโลกจากหลายอุตสาหกรรมทั้ง ภาคพลังงาน อาหาร การเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค การเงิน และ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในประเทศไทย UNDP ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเกี่ยวกับประเด็นด้านการพัฒนาต่างๆ
  • ช่วยธุรกิจมองหาโอกาสในการทำผลิตภัณฑ์ สินค้า เเละ บริการต่างๆที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านการพัฒนา รวมถึงให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจเกื้อกูลสังคม (Inclusive Business) ที่นำกลุ่มคนรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อมาเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ พนักงาน และ ผู้บริโภค
  • ระดมทรัพยากรทุนและสิ่งของจากภาคเอกชนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ใช้นวัตกรรมทางการเงินและสร้างเครือข่ายเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินงานด้าน SDGs
  • ให้ความรู้และออกแบบเครื่องมือต่างๆในด้านการวัดและบริหารผลกระทบแก่บริษัท และ นักลงทุนต่างๆที่สนใจ

บริษัทที่สนใจทำงานร่วมกับ UNDP เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: นางสาวอภิญญา สิระนาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อสังคม, E-mail: aphinya.siranart@undp.org

[1] Mozaffar Khan, George Serafeim, Aaron Yoon, Corporate Sustainability: First Evidence on Materiality. The Accounting Review (2016) 91 (6): 1697–1724.

[2] Eccles, Robert G. and Ioannou, Ioannis and Serafeim, George, The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance (December 23, 2014). Management Science, Volume 60, Issue 11, pp. 2835-2857, February 2014. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=1964011 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1964011

[3] https://nordeamarkets.com/wp-content/uploads/2017/09/Strategy-and-quant_executive-summary_050917.pdf

[4] https://www.mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/more-than-values-the-value-based-sustainability-reporting-that-investors-want

[5] https://www.businesscalltoaction.org/member/urmatt-ltd-hilltribe-organics

[6]https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/presscenter/pressreleases/2019/undp-unveils-nationwide-campaign-to-combat-single-use-plastics–.html

[7] https://www.businesscalltoaction.org/

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 02/12/2020
  • by: UNDP

ถอดบทเรียนโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อสังคม Youth Co:Lab 2020

เยาวชนเผชิญ เยาวชนคิด เยาวชนหาทางออก คือไอเดียของ Youth Co:Lab พื้นที่สำหรับเยาวชนในการผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมตลอดมา

ปีนี้วาระใหญ่ระดับโลกอย่างโรคระบาดโควิด-19 มาเยือนธีมจัดงานเลือกได้ไม่ยากนัก กลายมาเป็น Covid-19 Recovery ซึ่งมีที่มาจากแบบสอบถามต่อเยาวชนทั่วประเทศถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงโควิด ทำให้ได้ประเด็นย่อยของธีมที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงโควิดครอบคลุมถึงเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพจิต และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในครอบครัว
ถึงแม้ว่าขั้นตอนเตรียมงานมาจนถึงงานจริงจะกินระยะเวลาหลายเดือน สถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิดจากวันแรกจนถึงวันงานก็เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในประเทศไทย ในช่วงเตรียมงานโรคยังคงระบาดหนัก แต่พอเริ่มจัดงานจริงสถานการณ์ผ่อนคลายลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปไม่ได้กระทบต่อธีมงานเท่าใดนัก เพราะประเด็นที่เลือกสรรมายังคงเป็นประเด็นที่เยาวชนสนใจ มีความสำคัญและเป็นปัญหาร่วมในสังคมอยู่ เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 และการปรับตัวเป็นตัวเร่งและเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาเหล่านั้นรุนแรงเพียงใด 

ดังนั้นต่อให้โควิด-19 จะซาลง นวัตกรรมเพื่อสังคมที่เยาวชนพัฒนาขึ้นก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ โอกาสความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งระหว่างทางก็เป็นสิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต และสำคัญที่สุดการได้พบเจอคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในประเด็นสังคมก็เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่งานนี้ต้ังใจจะให้เกิดดังเช่นทุกๆ ครั้ง บทความนี้จึงจะมาถอดบทเรียนองค์ประกอบสู่ความสำเร็จของการจัดงาน Youth Co:Lab ในปีนี้

 

ห้องเรียนออนไลน์

จากประสบการณ์การจัด Youth Co:Lab ในปีผ่านๆ มา ทีมงานรู้ดีว่าการเรียนรู้ข้อมูลอัดแน่นในสามวันที่ปิดท้ายด้วยการพิชโปรเจ็กต์นั้นมีเรื่องไม่น้อยที่ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาโครงการภายใต้เวลาแสนจำกัด ไอเดียเรื่องการปรับระบบให้เป็นออนไลน์เพื่อขยายเวลาเรียนรู้จึงถูกพูดถึงเรื่อยมา แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทำจริง

การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อการเรียนและการประชุมมากยิ่งขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในช่วงโควิด ทำให้เกิดโอกาสในการเปลี่ยนการเวิคช็อปมาสู่ช่องทางออนไลน์ เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงอัดเนื้อหาสาระให้จุใจมากกว่าที่เคย โดยแบ่งเป็นเวิร์คช็อปออนไลน์ 4 วันเต็ม ก่อนที่จะมาพบหน้ากันจริงอีกสองวันครึ่ง เพื่อให้น้องๆได้พิชโครงการที่พัฒนารวมเวลาทั้งหมดกว่า 2 เดือน

ผลที่ออกมาทั้งคุ้มค่าและมีราคาที่ต้องแลก ความเข้มข้นของเนื้อหาแน่นอนว่าได้มากกว่าที่เคย แต่ความสบายใจ และพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือสิ่งที่ผู้จัดกังวลว่าอาจทำได้ไม่ดีเทียบเท่ากับการพบเจอกันตัวต่อตัว แต่เราก็พบว่าการที่ปรับห้องเรียนเป็นแบบออนไลน์และขยายเวลาให้ครอบคลุมยาวขึ้น การพบปะแบบออนไลน์ก็ยังมีช่องทางในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ จากความต่อเนื่องในการพบกันก็ทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเมื่อทุกคนมาด้วยความตั้งใจเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงสังคม มิตรภาพและความรู้สึกเชื่อมโยงกันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมดก็อาจจะไม่สามารถทดแทนได้เสียทีเดียว ทางทีมงานจึงปิดท้ายกระบวนการด้วยเวิร์กช็อปแบบออฟไลน์อีก 2 วัน จุดประสงค์หลักคือการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม ถอดบทเรียนการเรียนรู้จากออนไลน์ รวมไปถึงนำเสนอผลงานหลังจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว

ข้อดีอีกอย่างของการเรียนการสอนแบบออนไลน์คือ การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลที่เป็นออนไลน์เช่นกัน หากผู้จัดต้องการจัดเก็บข้อมูลก็ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนนี้ลงไปได้ อีกทั้งยังเห็นพัฒนาการและความตั้งใจทำงานของแต่ละกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

 


ซัพพอร์ตพร้อม

ก่อนที่กระบวนการเวิร์กช็อปจะเริ่มขึ้น เราได้ติดต่อพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตามประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อแบ่งปัน insights และช่วยสะท้อนให้แต่ละทีมได้พัฒนางานที่ตรงโจทย์มากยิ่งขึ้น เช่น คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ จากทีม Locall ที่มาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการสร้างงานในธุรกิจร้านอาหารช่วงโควิด หรือดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ นักวิชาการการศึกษาจาก UNICEF ที่มาให้คำปรึกษาเรื่องนวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น 

อีกหนึ่งการสนับสนุนที่เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในปีนี้คือการรับสมัครผู้เข้าร่วม Youth Co:Lab ในปีก่อนๆ  (Alumni) เพื่อเป็น Mentor หรือพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม หน้าที่ของพี่เลี้ยงคือช่วยตอบคำถาม คลายข้อสงสัย ให้ความเห็น เสริมมุมมอง 

Mentor คนหนึ่งที่เป็น Alumni จากปีที่แล้วให้ความเห็นว่า นอกจากจะได้ช่วยเกลา ช่วยชี้แนะผลงานของทีมที่ตนดูแลอยู่แล้ว ยังใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้มข้นและแตกต่างไปจากปีที่แล้วพร้อมๆ กับผู้เข้าร่วมด้วย

 

กางตำรา

เวิร์กช็อปออนไลน์ทั้ง 4 สัปดาห์ ได้รับความร่วมมือจาก Hand up network และ Changefusion ในการมาทำกระบวนการออนไลน์ ในอาทิตย์แรก นอกจากจะพยายามละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ และทำความรู้จักกันเบื้องต้นแล้ว วัตถุประสงค์หลักของห้องเรียนครั้งนี้คือการสร้างความเข้าใจในปัญหาที่แต่ละทีมอยากแก้

เครื่องมือที่ใช้ในการเข้าใจปัญหาไม่ได้เป็นเพียงการมองปัญหาที่ทีมสนใจเท่านั้น แต่ยังชวนคิดกลับไปให้ถึงรากของปัญหา และมองผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากปัญหานี้อย่างรอบด้าน

เมื่อเห็นปัญหาแล้ว กระบวนกรได้ชวนแต่ละกลุ่มไปวิเคราะห์ต่อว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ แต่ละผู้เล่นหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีบทบาทแบบไหน มีหน้าที่อะไร กำลังพยายามขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาไหนอยู่ เพื่อที่จะได้เห็นว่าทีมจะวางตัวเองอยู่ส่วนไหนของปัญหา และจะแก้ไขเรื่องไหนเป็นหลัก

ก่อนแยกย้ายกันยังมีการโจทย์ Problem Statement เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหาที่กลุ่มตัวเองต้องการแก้ให้ชัดที่สุด

ห้องเรียนออนไลน์ในวันแรกผ่านไปด้วยความอัดแน่น หนัก เวลาพักสั้น เสียงสะท้อนจากครั้งแรกจึงได้นำไปปรับการเรียนการสอนในครั้งต่อๆ ไปให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

การเวิร์กช็อปออนไลน์ในครั้งที่สองว่าด้วยการระดมสมองคิดหาทางออกสำหรับปัญหา แต่ด้วยเพราะแต่ละทีมเตรียมไอเดียมาจากบ้านตั้งแต่ส่งข้อเสนอเข้ามา เวิร์กช็อปครั้งนี้จึงเน้นไปที่การนำไอเดียของตนเองมาทบทวนอีกครั้งว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง และคุณค่าของนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาคืออะไร

และเพื่อปรับไม่ให้เหนื่อยล้ากับงานตรงหน้ามากเกินไป กิจกรรม Ice Breaking จึงเน้นไปที่นำผู้เข้าร่วมทุกคนไปพูดคุยและแชร์ความคิดเห็นต่างๆ ในประเด็นที่หลากหลาย มีเบา มีหนักสลับกันไป แต่ให้หลุดไปจากเนื้อหาหลัก

ครั้งที่สามเป็นการเรียนแผนธุรกิจผ่าน Business Model Canvas โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะมาให้ความรู้ แต่ด้วยความที่เนื้อหาค่อนข้างลึกและซับซ้อน ประเด็นที่เน้นย้ำในการสอนครั้งนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้แต่ละกลุ่มไม่ลืมมิติมุมมองด้านธุรกิจซึ่งเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและอยู่รอดต่อไปในระยะยาว

เมื่อดำเนินมาถึงจุดที่แต่ละทีมเห็นปัญหาชัด มีไอเดียในการแก้ปัญหา มองมิติทางธุรกิจ การเวิร์กช็อปครั้งสุดท้ายจึงปิดท้ายด้วยการคิดเรื่องผลกระทบทางสังคม (Social Impact) โดยใช้เครื่องมือ Theory of Change เมื่อแต่ละทีมเห็นผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการแล้ว จึงให้แต่ละทีมวางแผนแบบย้อนกลับว่าต้องการเห็นอะไรจากภาพกว้างสุด 1 ปี ลดลงมาที่ 6 เดือน จากนั้นจึงลงรายละเอียดว่าในแต่ละช่วงต้องมีแผนการทำงาน (action plan) อย่างไร เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ในการเวิร์กช็อปออนไลน์ ไม่ใช่แค่การให้อินพุตเพื่อมุ่งพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมของแต่ละทีมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างเครือข่ายของเยาวชนนักเปลี่ยนแปลงสังคม และในช่วงการจัดกิจกรรมก็เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยกำลังร้อนแรง ทีมงานจึงถือโอกาสให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นการเคลื่อนไหวต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นและเชื่อในพื้นที่ปลอดภัย เพราะหากข้ามประเด็นเรื่องปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ก็อาจยากที่ทั้งผู้เข้าร่วมและทีมงานจะตอบตัวเองได้ว่าเราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมไปเพื่ออะไร

 

แรกเราพบกัน

หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ Youth Co:Lab คือการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าร่วม ผู้สนับสนุน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใช้สำหรับพัฒนางานสิ้นสุดไปตั้งแต่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว แต่การรู้จักและแลกเปลี่ยนกันแบบพบหน้าเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง จึงเป็นที่มาของการจัดงานให้ผู้เข้าร่วมได้พบกันตัวต่อตัวด้วย

ผู้เข้าร่วมหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพบหน้าคร่าตาเพื่อนร่วมเวิร์คช็อปนับเป็นส่วนที่ประทับใจที่สุด เขาได้พบปะคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวปกากญอจากแม่ฮ่องสอน เยาวชนมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงอีกหลายคนที่มาจากภาคกลางที่มากไปด้วยความถนัดและความสนใจ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ทำให้ได้เปิดกว้างทางมุมมอง ได้รับรู้ภูมิหลังและบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

ไอเดียเป็นจริงได้

ในงานพบปะระหว่างผู้เข้าร่วม มีการเชิญผู้ประกอบการสังคมที่ประสบความสำเร็จทั้งทางธุรกิจและทางสร้างผลกระทบทางสังคมมาแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนมุ่งมั่นที่จะไปต่อ ผู้ประกอบการวิทยากรบางคนก็เคยผ่านเวที Youth Co:Lab มาเช่นกัน เช่น คุณธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Yonghappy (ํYouth Co:Lab alumni 2017) และคุณสโรชา เตียนศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Pa’ Learn (ํYouth Co:Lab alumni 2019) เป็นต้น

ก่อนจะเข้าสู่การพิชในวันสุดท้าย เป็นการทบทวนสถานะโครงการของแต่ละทีม อีกทั้งยังมีการแทรกเนื้อหาเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไป โดยเให้แต่ละทีมได้ลองมองโครงการของตัวเองผ่านมุมมองการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวิเคราะห์โครงการของตัวเองในมุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่า SDGs จะไม่ใช่ภาคบังคับที่ทุกทีมต้องหยิบไปใช้ในตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโครงการ แต่ก็เป็นการจุดประกายให้หลายคนได้ทบทวนงานตนเองว่าสิ่งที่คิดขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเข้าถึงทุกคนหรือไม่

หนึ่งในผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าการเรียนรู้เรื่อง SDG คือหนึ่งในสิ่งที่เธอประทับใจที่ได้เรียนรู้ที่สุด เพราะมันช่วยให้เธอมองสิ่งที่กำลังจะทำในมิติที่กว้างขึ้น หาความเป็นไปได้ที่งานเธอจะมีส่วนช่วยอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

นำเสนอผลงาน

จุดสิ้นสุดของงาน phase แรกอยู่ที่การพิชงานให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ให้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของนวัตกรรมทางสังคมที่พัฒนาขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทาย

ก่อนที่จะถึงการนำเสนอผลงานจริง ได้มีการแนะนำประเด็นที่ควรกล่าวถึงให้ครอบคลุม และยกตัวอย่างวิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การแนะนำเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ผู้เข้าร่วมสามารถปรับ เลือกใช้ และออกแบบการนำเสนอได้ตามที่ทีมเห็นว่าเหมาะสม เพราะเป้าหมายของการนำเสนอนี้ไม่ใช่แค่เพียงชิงรางวัลเท่านั้น แต่เป็นโอกาสในการสะท้อนปัญหาที่แต่ละทีมให้ความสำคัญซึ่งหลายทีมเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ตนหรือคนรู้จักพบเจอ สรุปรวบยอดความคิดที่ได้พัฒนาและเรียนรู้ตลอดทั้งโครงการเพื่อแบ่งปันให้กับทุกคนได้รับฟัง

ทั้ง 10 ทีม ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีแผนงานพร้อมลงมือไปต่อเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แม้สุดท้ายมีเพียง 5 ทีมที่ได้ทุนสนับสนุนจากโครงงานให้ทดลองทำงานต่อไปอีก 3 เดือน แต่สิ่งที่ทั้ง 10 ทีมได้คิดและพัฒนาตลอดทางที่ผ่านมาย่อมไม่เสียเปล่า สามารถต่อยอดได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทดลองทำต่อกันเองในทีม หาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ที่อาจพบเจอในงานเพื่อสานต่อ หรือแม้แต่ส่งชิงทุนเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

 

โครงการนี้จะไม่สามารถดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเยาวชนที่มีความตั้งใจเขียนใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ขอขอบคุณพาร์ตเนอร์ ได้แก่ Citi Foundation UNICEF Thailand Institute of Justice True Incube และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานและเติมองค์ความรู้หลากหลายมิติให้แก่ผู้เข้าร่วม และขอขอบคุณกระบวนกรคุณภาพจาก Hand Up Network และ Changefusion ที่ร่วมบ่มเพาะและสนับสนุนเยาวชนทั้ง 10 ทีมไปด้วยกันตลอดทาง

เรื่องราวของ 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อมีที่มาที่ไปอย่างไร นวัตกรรมของพวกเขาตอบโจทย์ตรงใจใคร ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง โปรดติดตามได้ในบทความถัดๆ ไป

Keywords: , ,
  • Published Date: 20/08/2020
  • by: UNDP

กักตัวช่วงโควิด-19: เมื่อปลอดเชื้อไม่ได้ปลอดภัยจากความรุนแรง

          

     ในขณะที่บ้านเป็นนิยามของความสงบสุขทั้งทางกายและทางใจของใครหลายๆ คน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด บางคนสะสมความเจ็บปวดกับทั้งทางกายและทางใจที่ต้องอยู่ที่บ้าน

         ในช่วงโควิด-19 ที่มีรณรงค์และออกมาตรการให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อนั้น ทำให้คนที่หรือเลี่ยงที่จะอยู่ด้วยกันต่อเนื่องเป็นเวลานานจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันยาวขึ้นอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก

         หนำซ้ำความเครียดจากผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมากับโควิด-19 ทั้งการตกงาน เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งและทำให้สถานการณ์บานปลายได้ง่ายๆ

         การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า 10.87% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

  ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งที่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ และกับตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยความรุนแรงในครอบครัวครอบคลุมถึงการกระทำที่มุ่งให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวหรือใช้อำนาจให้บุคคลในครอบครัวกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างโดยมิชอบ ซึ่งผลลัพธ์จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

 

โรคระบาด ระบาดพร้อมความรุนแรงในครอบครัว

ในประเทศจีนอย่างมณฑลหูเป่ย ที่ที่เป็นต้นกำเนิดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้พบว่าได้รับรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากปีก่อน อีกทั้งหลังการกักตัวสิ้นสุดลง มีคนหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีไวรัสแพร่ระบาด

แนวโน้มสถิติในทิศทางเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ในเมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์ก มีการโทรแจ้งสายด่วนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน  ด้านแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่วนในประเทศไซปรัส จำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ

นอกจากนี้ UNICEF ระบุว่าอัตราการแสวงประโยชน์และความรุนแรงต่อเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปีช่วงปี 2557-2559 ที่เชื้อไวรัสอีโบล่าระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่ามีจำนวนแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ โดยประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด

เมื่อดูสถิติความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจากบทความของ TDRI ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวพบว่า สถิติการโทรเข้าสายด่วนในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 103 ราย ซึ่งลดน้อยลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 155 ราย ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขการโทรเข้าสายด่วนที่ลดลงอาจไม่ได้สะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นกับความรุนแรงในครอบครัว แต่อาจยิ่งน่ากังวลเพราะผู้เสียหายโดยตรงมักไม่ใช่ผู้ที่แจ้งเหตุเอง เมื่อไม่ได้ออกจากบ้าน จึงไม่มีใครรับรู้ถึงสถานการณ์และไม่ได้แจ้งเหตุ ส่วนตัวผู้เสียหายเองก็มีข้อจำกัดด้านการออกจากพื้นที่จึงทำให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้ยากขึ้น รวมไปถึงการตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่สำคัญในการเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

 

กักตัวอยู่ในบ้านและต้นเหตุของความรุนแรง

แท้จริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวจากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมว่า ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 พบผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 5 คนต่อวัน

         ในบ้านที่มีเคยเผชิญปัญหาเช่นนี้มาก่อนหน้า โควิด-19 จึงเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น บางบ้านยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่บังคับให้ทุกคนต้องเผชิญหน้ากันตลอดเวลา แต่สำหรับบางบ้านที่ไร้ปัญหาในสภาวะปกติ ความเครียดที่เกิดจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 เช่นการตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน

         ดังครอบครัวของนางสาวเอ ที่ขึ้นพูดในงานที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิก้าวไกลและสสส.ว่า ช่วงโควิด-19 บริษัทไม่มีโอทีจึงทำให้รายได้ลดลง สถานการณ์การเงินย่ำแย่ ตนต้องไปหยิบยืมจากเพื่อนหรือหาเงินกู้ หากไม่สำเร็จสามีจะเมาและทำร้าย ในช่วงแรกเธอทนกับสภาพเช่นนั้น ปัจจุบันเอเข้าถึงความช่วยเหลือจากมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในต้นเหตุที่มองข้ามไม่ได้คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ให้สัมภาษณ์กับ Sanook.com ไว้ว่าโครงสร้างสังคมไทยที่ให้อำนาจกับชายในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่เพศหญิงต้องแบกความคาดหวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และต้องขยันทำมาหากิน เมื่อภาพเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นสถานะที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด อีกทั้งเมื่อมีปากเสียงและเริ่มลงไม้ลงมือเพศหญิงมักสู้ได้ยากกว่าจากลักษณะทางกายภาพ

ด้านรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แม้ดูเหมือนจะตระหนักว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างช่วงกักตัว แต่มาตรการที่รัฐออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจและการหากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อหลีกหนีความขัดแย้ง เช่น แนะนำให้การทำอาหารร่วมกัน และทำกิจกรรมผลิตหน้ากากผ้า เป็นต้น

แม้จะมีช่องทางสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ให้บริการอยู่ ด้าน บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง Shero ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวให้ความเห็นผ่าน adaymagazine.com ว่าสายด่วนนี้ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น คนไร้บ้าน และการค้าแรงงานมนุษย์ด้วย จึงอาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงการให้บริการ

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว

      ไม่มากนักที่ผู้ถูกกระทำจะเข้าไปขอความช่วยเหลือโดยตรง สอดคล้องกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยึดถือคติ “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” จึงทำให้ไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง หรือบางครั้งต่อให้ผู้เสียหายกล้าหาญตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเองกลับเป็นผู้เสนอให้ไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ในลักษณะเดิมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่าและแทบไม่มีวันสิ้นสุดลง ด้านคนนอกครอบครัวที่พอรับรู้เหตุการณ์ บางก็ไม่ได้ปฏิบัติใดๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นการก้าวก่ายเรื่องผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม เพราะครอบครัวคือพื้นฐานของสังคม และผู้เชี่ยวชาญหลายรายมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความรุนแรงส่งผลต่อผู้เสียหายทั้งทางใจและทางกายในระยะยาว อีกทั้งยังอาจซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้นและเป็นผู้ใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบถึงคนวงกว้างได้ ประเด็นนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องของสังคม

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เพื่อให้การคุ้มครองและจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับความรุนแรงได้โดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ ด้านพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาผู้กระทำได้ทันที สิ่งนี้จึงเป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่คือเรื่องของทุกคน

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/topics/cr50y65y3v9t

https://news.thaipbs.or.th/content/295351

https://tdri.or.th/2020/04/domestic-violence-victims-during-covid19/

 https://thediplomat.com/2020/04/chinas-hidden-epidemic-domestic-violence/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808864

https://www.sanook.com/news/8079155/

 https://www.prachachat.net/general/news-444654

https://www.freepik.com/premium-photo/depressed-despair-anxiety-young-man-sitting-alone-home-mental-health-men-health-concept_7190107.htm

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 18/08/2020
  • by: UNDP

โควิด-19 กับการศึกษา: เรื่องใหญ่สำหรับชีวิตเยาวชน

การตัดสินใจปิดโรงเรียน หรือเลื่อนเปิดเทอมอย่างไม่มีกำหนดดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวในช่วงโควิด-19 สำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพราะโรงเรียนคือหนึ่งในสถานที่ที่รวมคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน

แต่การปิดสถานศึกษาส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตเด็กและเยาวชนไม่น้อย

การสำรวจเรื่องผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่จัดทำโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย UNICEF UNDP และ UNFPA ที่มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามกว่าหกพันรายพบว่า การเรียนการสอบและการศึกษาต่อคือความกังวลอันดับต้นๆ ที่พวกเขามี

 

เมื่อโรงเรียนเป็นมากกว่าการศึกษา

        การปิดภาคเรียนที่ยาวนานขึ้นและไม่มีกำหนดในช่วงแรกส่งผลต่อทั้งเยาวชนและผู้ปกครอง

        โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาคือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่บ้านในตอนกลางวัน โควิด-19 ทำให้ช่วงเวลาปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ พ่อแม่หลายรายต้องจัดสรรหรือหาแผนการให้เด็กอยู่ต่อไปได้ การเรียนรู้ด้วยรูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะนอกจากความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว โรงเรียนยังคือสถานที่ฝึกทักษะทางสังคมที่สำคัญของคนในวัยนี้อีกด้วย

        มากไปกว่านั้น สำหรับเด็กบางราย โรงเรียนคือสถานที่ที่ช่วยการันตีว่านักเรียนจะได้รับโภชนาการสารอาหารครบถ้วนตามสมควร เพราะบางครอบครัวอาจไม่ได้มีศักยภาพด้านการเงินเพื่อจัดหาอาหารที่เหมาะสมได้ในทุกๆ วัน

 

เรียนออนไลน์และเรียนทางไกล ทางออกที่ใช่สำหรับทุกคน?

        ในช่วงที่เราต่างรู้ว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อาจปลอดภัยกว่า การเรียนออนไลน์จึงเข้ามาอยู่ในบทสนทนาหลักของแวดวงการศึกษา

        นักเรียนนักศึกษาหลายคนเห็นตรงกันว่าเพื่อไม่ให้การศึกษาหาความรู้ขาดช่วงไป และเพื่อให้ไม่ลืมบทเรียนที่ผ่านมา ควรมีการเรียนหรือติวเพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์เพราะเยาวชนกลุ่มนี้กังวลว่าหากพวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่ออนาคตการศึกษาที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ เช่นการสอบเข้ามหาลัย และการย้ายโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้การที่เด็กเพียงส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงความรู้เพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ยิ่งเป็นการขยายช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเยาวชนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงทรัพยากร

        เมื่อพูดถึงการศึกษาที่เป็นทางการ แม้ออนไลน์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลหากให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข แต่เยาวชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าการเรียนออนไลน์ไม่ควรเป็นทางออกสำหรับทุกกลุ่ม หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ต้องมีการสนับสนุนจากทางรัฐมากกว่านี้ เพราะเยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ตและค่าไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องบรรยากาศแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ทำให้ความตั้งใจหรือมุ่งมั่นในการเรียนลดน้อยลงซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พื้นที่บ้านจำกัด หรือการมีพี่น้องที่อยู่ในวัยเรียนทั้งคู่จึงอาจเรียนพร้อมกันไม่สะดวกเพราะเสียงรบกวนกันหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลในประเทศไทย

        ไม่ใช่เท่านี้ ประเด็นเรื่องช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน นอกจากประเด็นที่ว่าเด็กเล็กต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในการช่วยเข้าถึงบทเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ งานวิจัยจาก TDRI ยังระบุด้วยว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 3 ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากคุณครู การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร

ความจำกัดของการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ได้จำกัดถึงแค่ฝั่งนักเรียน ด้านครูอาจารย์เองที่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับการจัดการการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ก็อาจส่งผลต่องานสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน


ความกังวลของเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย

นอกจากเรื่องระบบการเรียนออนไลน์ที่สะท้อนไปข้างต้น เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมหาวิทยาลัยจำนวนมากสะท้อนผ่านแบบสำรวจว่าพวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมส่วนหนึ่งให้เนื่องจากพวกเขามีโอกาสใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยลดน้อยลง ซึ่งในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งออกมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาในประเด็นนี้แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละที่

ด้านเยาวชนชั้นปีที่ 1 กังวลว่าหากการเรียนการสอนต้องย้ายมาอยู่บนออนไลน์ จะทำให้เขาไม่ได้พบปะเพื่อนใหม่และขาดประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัย

ส่วนเยาวชนที่ใกล้จบการศึกษากังวลเกี่ยวกับการฝึกงาน การขาดประสบการณ์การทำงานในสนามจริงซึ่งอาจกระทบต่อชีวิตการทำงานในระยะยาว

 

Resource:

การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/125193

https://www.unicef.org/thailand/th/media/4031/filehttps://voxeu.org/article/impact-covid-19-education

https://www.freepik.com/premium-photo/asian-students-taking-exam_4751725.htm#page=8&query=thai+university&position=12

Keywords: , , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779