• Published Date: 14/06/2023
  • by: UNDP

กำแพงที่มองไม่เห็น: รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ และความท้าทายของชีวิต ผ่านวงสนทนาเยาวชนชาติพันธุ์

หากจะพูดถึงกลุ่มอัตลักษณ์ที่หลากหลายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสพบเจอหรือพูดคุยเท่าไหร่นัก

กลุ่มชาติพันธุ์อาจจะเป็นกลุ่มดังกล่าวที่นึกถึง แต่ทำไมกัน ทั้งๆที่กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ดูกลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่กลับยังมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่มากยิ่งขึ้นในปัจจุบันสวนทางกับความทันสมัยของยุคสมัยนี้อย่างมาก

วงสนทนานี้ จะชวนมาเรียนรู้วิถีชีวิตและอุปสรรคในการใช้ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

เยาวชนของชาติพันธุ์ในไทยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในการเข้าถึงสิทธิต่างๆที่พึงควรจะได้จากการเป็นมนุษย์ ตั้งแต่การเลือกปฏิบัติไปจนถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา การจ้างงาน สิทธิการรักษาพยาบาล


อนึ่ง การเลือกปฏิบัติก็เป็นปัญหาใหญ่ของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย แม้ว่าประเทศนี้จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างจากพวกเขา โดยเยาวชนชนกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ การสื่อสาร โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา

 

การถูกกลืนหายของวัฒนธรรม

โก้ (นามสมมติ) เยาวชนอาข่าท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์ของเขาในวงสนทนาว่า ภาษาก็อาจเป็นอุปสรรคต่อเยาวชนบางกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาหลักของประเทศ บางกลุ่มชาติพันธุ์อาจไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก ซึ่งอาจทำให้พวกเขาสื่อสารและเข้าถึงการศึกษาและโอกาสอื่นๆ ได้ยาก เมื่อตอนเธอเด็ก เธอพูดไทยไม่ได้ และได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก นั่นคือจุดเริ่มต้นของการถูกเลือกปฏิบัติของเธอ ไม่ว่าจะจากเพื่อนหรือครูในโรงเรียน หลังจากนั้นเลยพยายามใช้ภาษาไทยในการสื่อสารตลอด จนปัจจุบันไม่สามารถสื่อสารภาษาพื้นเมืองได้ดีอีกแล้ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในการพยายามจะเปลี่ยนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมตนเองเพื่อให้ตรงตามค่านิยมของสังคมไทย ซึ่งส่งผลในการถูกกลืนหายไปของภาษาและวัฒนธรรมพื้นเมืองของชุมชนนั้นๆ


ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการจ้างงานก็เป็นปัญหาหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งนี้อาจจะเชื่อมโยงได้ถึงการเข้าถึงสัญชาติไทยของคนชาติพันธุ์เยาวชนชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มอาจไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือโอกาสในการทำงานที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเยาวชนไทย ซึ่งอาจจำกัดโอกาสในการประกอบอาชีพและทำให้ยากต่อการสร้างชีวิตที่ประสบความสำเร็จในอนาคต กำแพงความฝันของพวกเขาจึงถูกทำให้แคบลง

 

เพราะความห่างไกล จึงยากที่จะใช้สิทธิของตนเองในการสนับสนุนนโยบายหรือผู้แทนประเทศที่ต้องการ

เชื่อมโยงจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู้ถึงอุปสรรคอื่นในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน “แสง” (นามสมมติ ไม่ระบุชาติพันธุ์) เล่าว่า สิทธิการเลือกตั้งเข้าไม่ทั่วถึง หมู่บ้านที่เขาอยู่ไม่ได้ถึงขั้นอยู่บนดอย แต่ก็ยังมีความห่างไกล ยากที่จะใช้สิทธิของตนเองในการสนับสนุนนโยบายหรือผู้แทนประเทศต่างๆ นอกเหนือจากนั้น ความที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คนนอกพื้นที่ยังใช้โอกาสในการที่คนเหล่านี้เป็นชนชาติพันธ์ุชักจูงผลประโยชน์ ด้วยความที่รู้ไม่ทั่วถึงข้อมูล ทำให้ถูกชักจูงโดยง่าย รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการได้สัญชาติไทย บางกลุ่มอยู่เมืองไทยมานานแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ทั้งๆที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย แต่ชุมชนตั้งห่างไกลชุมชนเมือง ห่างไกลความเจริญ ยังต้องต่อสู้ขอสิทธิชนชาติไทยและสัญชาติไทยอยู่เรื่อยมา ทำให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ ประกอบกับมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่อยู่ไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะอยู่มานานอยู่มานานแต่อยู่ห่างไกลและอยู่ติดชายแดน ทำให้ปรากฎว่ามีอัตลักษณ์ที่มีความก้ำกึ่งระหว่างประเทศ ถูกสงสัยว่าเป็นพลเมืองประเทศอื่น เช่น เมียนมาร์ หรือลาว ส่งผลให้ไม่ได้การรับรองสัญชาติ ปัจจุบันเยาวชนชาติพันธุ์จำนวนมากยังคงพบเจอกับอุปสรรคนี้อยู่

 

การรักษาแบบทางเลือกและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

เมย์(นามสมมติ) เยาวชนชาวอาข่า เล่าว่า ในวัยเด็กที่ความเชื่อเรื่องผีแบบดั้งเดิมมีบทบาท แม้แต่ในชุมชนที่นับถือคริสต์เป็นหลักเช่นครอบครัวของเธอก็ได้รับอิทธิพลจากประเพณีดั้งเดิม ความเชื่อบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่เธอพบเจอ เช่น จากประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอที่มีบาดแผลที่รักษาด้วยวิธีสมัยใหม่ไม่ได้ แต่การใช้ศาสตร์แห่งความเชื่อและการรักษาโดยใช้ดินและไส้เดือนร่วมกับพิธีกรรมของชนเผ่ากลับได้ผล ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการบริการสาธารณสุขและบริการสุขภาพตามรัฐสวัสดิการ แต่คนชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะได้รับการรักษาแบบดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการรับบริการสาธารณสุขและบริการสุขภาพตามรัฐสวัสดิการ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เพราะพวกเขายังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างครอบคลุม และยังเฝ้ารอการผลักดันทางนโยบายต่อไป

 

การเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยจะต้องพบเจอปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ หรือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา และการรักษาพยาบาลก็ตาม ปัญหาเหล่านี้จะไม่สามารถถูกแก้ได้หากขาด การสร้างเครือข่ายสนับสนุนที่สามารถช่วยชี้นำและส่งเสริมระบบในการดูแล และการกระจายสิทธิการเข้าถึงสิทธิขึ้นพื้นฐานต่างๆ สิ่งสำคัญคือต้องสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิต่างๆและไม่มีการเลือกปฏิบัติ และพยายามผลักดันไปสู่เป้าหมายต่อไป นอกจากนี้ยังมีองค์กรและกลุ่มต่างๆ มากมายที่ทำงานสนับสนุนเยาวชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่พร้อมจะสนับสนุนตลอดจนการศึกษาเพื่อช่วยให้เยาวชนชาติพันธุ์ได้มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาเพื่อจะสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าเทียม ด้วยการทำงานร่วมกัน เราสามารถสร้างสังคมที่ครอบคลุมและเกื้อกูลกันมากขึ้นสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์

Keywords: , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

เรื่องเล่าผ่านประสบการณ์สีรุ้ง: เรียนรู้การใช้ชีวิตผ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

รู้หรือไหมว่าประเทศไทยยังคงมีกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับความเท่าเทียม หรืออาจไม่ได้มีสิทธิในการเข้าถึงสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ทั้งๆที่ เป็นประชากรในประเทศเดียวกัน ในบรรดากลุ่มคนเหล่านี้ คนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ถูกมองข้ามถึงความต้องการของพวกเขา และถูกละเลยจากความช่วยเหลือบ่อยครั้ง ด้วยอคติทางสังคมที่ยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ หรืออาจจะยังไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของเพศที่หลากหลาย  ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามต่อสู้เพื่อยืนยันตัวตน และเพื่อให้ตัวเองเข้าถึงสิทธิที่เหมาะสมตามเพศสภาพของพวกเขา

Image by rawpixel.com on Freepik

 

ณ วงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประชากรที่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เราอยากเชิญชวนให้มาเรียนรู้เรื่องราวของกลุ่ม LGBTI และการใช้ชีวิตของพวกเขาในประเทศนี้กัน

ประเทศไทยอาจขึ้นชื่อได้ว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างเมื่อพูดถึงประเด็น LGBTI แม้ว่าจะเป็นชื่อเสียงที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านนี้ แต่ความเป็นจริงก็คือการเป็น LGBTI นั้นยังคงไม่ง่าย โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน LGBTI ในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างจากอัตลักษณ์อื่น ซึ่งอาจทำให้ชีวิตยุ่งยากและเครียดได้

 

ลุคที่แตกต่างนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ
หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เยาวชน LGBTI ในประเทศไทยต้องเผชิญคือการเลือกปฏิบัติ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วประเทศไทยจะยอมรับกลุ่ม LGBTI มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นยังมีอยู่ สิ่งนี้สามารถแสดงออกให้เห็นได้หลายวิธี เช่น การล่วงละเมิดทางคำพูดไปจนถึงความรุนแรงทางร่างกาย เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะดูมีลุคที่แตกต่าง พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศสภาพที่ไม่ตรงกับชายหรือหญิง 

แน่นอนว่ามีคนทนรับได้จำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนรับไม่ได้อีกมากเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การคุกคาม กลั่นแกล้ง หรือแม้กระทั่งความรุนแรง น่าเศร้าที่มันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

 

ปัญหาที่เยาวชน LGBTI ในประเทศไทยต้องเผชิญคือการขาดการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ครอบครัวมีความสำคัญมากในวัฒนธรรมไทย และเยาวชน LGBTI หลายคนพบเจอกับการถูกครอบครัวกีดกันหรือปฏิเสธเมื่อพวกเขาแสดงออกถึงอัตลักษณ์ตนเอง สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและซึมเศร้า การหาเพื่อนที่เข้าใจเหมือนกันเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวแย่ลงไปอีก นอกจากนี้ เยาวชน LGBTI หลายคนอาจไม่มีเครือข่ายสนับสนุนที่เข้าใจว่าพวกเขากำลังเผชิญกับอะไร และความต้องการจริงๆของพวกเขาคืออะไร

นโยบายที่ไม่คุ้มครองการเลือกปฏิบัติ คือความรุนแรงทางอ้อม

ความท้าทายที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญคือการได้รับคุ้มครองทางกฎหมาย สำหรับ LGBTI ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่คุ้มครองกลุ่ม LGBTI โดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าเยาวชน LGBTI อาจถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องที่พักอาศัย การจ้างงาน และการศึกษา โดยไม่สามารถขอความช่วยเหลือทางกฎหมายใดๆ แน่นอนว่าการรักกันนั้นถูกกฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่คุ้มครองกลุ่ม LGBTI หรือกระทั่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือจดทะเบียนคู่ชีวิต 

นอกเหนือจากนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของวงสนทนานี้คือ การขาดการเยียวยาของเหยื่อความรุนแรงเนื่องจากวิถีทางเพศ และ อัตลักษณ์ทางเพศ ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์หลักซึ่งคือชายและหญิง แต่กลับมองข้ามความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่มีวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับมาตรฐานสังคม ทั้งๆที่ความรุนแรงทางเพศมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTI บ่อยครั้งก็ตาม

ประเด็นเหล่านี้แสดงในเห็นถึงการมองข้ามสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่ม LGBTI เช่น อุปสรรคหนึ่งในการเป็นคนข้ามเพศต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เช่น ต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ หรือการใช้ยาฮอร์โมน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐในปัจจุบัน

 

ความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ประการสุดท้าย  ในด้านสังคม ประเทศไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจและการตระหนักถึงปัญหา LGBTI ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเหมารวมหรือคิดไปเองว่าการเป็น LGBTI หมายถึงอะไร และทำให้เยาวชนหาข้อมูลและการสนับสนุนที่ถูกต้องได้ยาก โรงเรียนไม่ได้ให้การสนับสนุนเสมอไป และไม่มีทรัพยากรที่พร้อมเสมอ สิ่งนี้อาจทำให้เยาวชน LGBTI รู้สึกไม่ปลอดภัยและอยู่ร่วมในโรงเรียนได้ยาก การขาดการศึกษาเช่นนี้ยังทำให้โรงเรียนยากที่จะจัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน LGBTI หรือจัดหาทรัพยากรและการสนับสนุนที่เหมาะสม


กล่าวโดยสรุป เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ตั้งแต่การเลือกปฏิบัติ การขาดการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ไปจนถึงการคุ้มครองทางกฎหมายและการศึกษา แม้ว่าจะมีความก้าวหน้า แต่หนทางยังอีกยาวไกลสำหรับประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยทุกคนที่จะอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและอคติ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และสังคมโดยรวมจะต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เยาวชนทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้นโดยคำนึงถึงปัจจัยความหลากหลายทางเพศประกอบ เพื่อสร้างสังคมที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง

Keywords: , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

เสียงที่ไม่เคยได้ยิน: เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าของเยาวชนมุสลิม ผ่านวงสนทนา Youth Dialogue

ลองนึกภาพครอบครัวมุสลิมใช้บริการรถแท็กซี่ และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม พวกเขาได้รับสีหน้าที่แปลกและดูอึดอัดจากคนขับรถ แต่ครอบครัวก็ไม่แปลกใจ เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการถูกจ้องมอง และการที่ต้องอธิบายวัฒนธรรมและค่านิยมของพวกเขาในฐานะครอบครัวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ศาสนามุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ

 

 เพราะเรื่องราวของพี่น้องมุสลิม อาจจะไม่เคยถูกพูดถึงนักในกระแสหลัก ทั้งในการศึกษา สื่อกระแสหลัก ฯลฯ จึงทำให้บางครั้งบริการหรือกิจกรรมต่างๆในประเทศ อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของพวกเขา ส่งผลให้เขาอาจจะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคม เราจึงชวนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คนกลุ่มนี้เผชิญ จากมุมมองการใช้ชีวิตของพวกเขา ผ่านวงสนทนาเยาวชน “Leave No One Behind” ซึ่งเป็นบทสนทนาเยาวชนกับกลุ่มที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย รวมไปถึงกลุ่มคนมุสลิม

 

ปัญหาและอุปสรรคที่เยาวชนมุสลิมในประเทศไทยกำลังพบเจอ เกิดขึ้นจากภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อนของประเทศ ชาวมุสลิมในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ ถึงแม้ว่าพวกเขาเป็นคนไทย วัฒนธรรมและการปฏิบัติทางศาสนาของพวกเขาแตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกของการถูกกีดกันสำหรับเยาวชนมุสลิมในประเทศไทยที่เราอาจจะนึกไม่ถึง แต่เราจะชวนมาสำรวจปัญหาที่เยาวชนมุสลิมในประเทศไทยเผชิญอยู่จากวงสนทนานี้กัน

 

อคติทางสังคมที่ชาวมุสลิมเผชิญ
สิ่งแรกที่เป็นประเด็นหลักในแลกเปลี่ยนประสบการณ์คืออคติทางสังคม เยาวชนมุสลิมในประเทศไทยต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและอคติที่มาจากการปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเขา เมื่อได้ใช้เวลาในการพูดคุยถึงอุปสรรคและสิ่งที่ได้พบเจอในฐานะคนมุสลิม เหมือนกับว่าสิ่งนี้จะเป็นประสบการณ์ร่วมของเหล่ามุสลิมในไทยก็ว่าได้ สิ่งนี้สามารถอยู่ในรูปแบบของการกีดกันทางสังคม การเหมารวม และการมีภาพจำแต่สิ่งที่เป็นเชิงลบเกี่ยวกับพวกเขา เช่น ทัศนคติเหล่านี้อาจทำให้เยาวชนมุสลิมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคมได้ยาก และอาจถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษาและการมีส่วนร่วมทางสังคม ปัญหานี้เกิดจากการขาดความตระหนักรู้และการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งอาจจะนำไปสู่ถึงความกลัวหรือการไม่เห็นความสำคัญในการเริ่มบทสนทนาและความเข้าใจระหว่างศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนมุสลิมจำนวนมากมีความจำเป็นที่ต้องมีความพยายามร่วมกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ผ่านสื่อและโครงการเข้าถึงชุมชน

Image by rawpixel.com on Freepik

 

เมื่อ “บ้าน” ไม่เคยเป็นที่ปลอดภัย

เมื่อถามถึงอุปสรรคหลักในการใช้ชีวิต จะมีเรื่องหนึ่งที่ต้องถูกยกขึ้นมาพูดเสมอจากพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองและความรุนแรงมาเป็นเวลาหลายปี สิ่งนี้ได้สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยและความหวาดกลัวในหมู่เยาวชนมุสลิมในภาคใต้ ทำให้โอกาสในอนาคตของพวกเขาถูกจำกัด เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องมีการริเริ่มบทสนทนามากขึ้นในเรื่องนี้ การริเริ่มสร้างสันติภาพและการแก้ไขข้อขัดแย้ง ซึ่งอาจรวมถึงความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการพูดคุยและความเข้าใจระหว่างชุมชนต่างๆ ตลอดจนโครงการที่กล่าวถึงสาเหตุของความขัดแย้ง เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติ เยาวชนมุสลิมในประเทศไทยมักประสบกับความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจเนื่องจากความเหลื่อมล้ำของชุมชน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาหางานหรือเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่ออนาคตของพวกเขา สิ่งนี้เป็นประเด็นหลักที่ถูกยกขึ้นมาพูดในวงสนทนาตลอดเวลา 

 

พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเยาวชนมุสลิมส่วนใหญ่ในภาคใต้ไม่ส่งเสริมให้ลูกออกไปเรียนนอกพื้นที่จังหวัดเท่าไหร่นัก เนื่องจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาเลือกที่จะให้ลูกอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยให้กันและกันมากกว่า เกิดจากความเป็นห่วง บวกกับการที่ถูกจำกัดโอกาสในสังคม ทำให้พวกเขามีรายได้น้อย สิ่งนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับความไม่มั่นคงทางการเมืองในพื้นที่ ซึ่งยังเป็นอุปสรรคหลักที่แก้ไขได้ยาก 

 

การเข้าถึงการศึกษาจึงเป็นความท้าทายต่อเนื่องที่สำคัญสำหรับเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคใต้ ระบบการศึกษาในพื้นที่เหล่านี้มักได้รับทุนสนับสนุนไม่เพียงพอและมีบุคลากรไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำกัด นอกจากนี้ นักเรียนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คนรอบตัวเป็นคนพุทธนั้น อาจเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและอคติจากครูและเพื่อนร่วมชั้น ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จทางวิชาการได้ยาก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาในจังหวัดภาคใต้มากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างโรงเรียนใหม่ การจ้างครูเพิ่ม และการจัดหาทรัพยากรและการสนับสนุนแก่นักเรียน นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีความตระหนักและการศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาสำหรับสมาชิกทุกคนในสังคม โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรือศาสนาของพวกเขา

 

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น มีเยาวชนมุสลิมอีกมากที่ต้องการเข้ามาเรียนในกรุงเทพเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า แต่กลับต้องเจอกับปัญหาที่เกิดจากความไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา เช่น การหาอาหารฮาลาล ในสถานศึกษามีน้อยหรือบางแห่งอาจไม่มีเลย สิ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เยาวชนมุสลิมอาจรู้สึกว่าไม่เป็นหนึ่งในสังคมและถูกละเลยได้ 

จากบทสนทนาในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีปฏิบัติของพี่น้องมุสลิมมากขึ้น รวมไปถึงบริบทเฉพาะจากชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเยาวชนมุสลิมในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เราอาจจะไม่ได้นึกถึง เนื่องจากความไม่คุ้นเคยในวิถีปฏิบัติของศาสนา ภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อนของประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และการริเริ่มสร้างสันติภาพมากขึ้น 

ที่สำคัญคือ การแก้ปัญหานี้เป็นความรับผิดชอบของคนทุกศาสนา จึงจำเป็นต้องมีการตระหนักรู้และให้การศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในประเทศไทยเพื่อต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและอคติ ด้วยการทำงานร่วมกัน เราสามารถสร้างสังคมที่มีความครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับสมาชิกทุกคนในชุมชน

 

Keywords: , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

แตกต่าง แต่ไม่ด้อยกว่าใคร: ก้าวข้ามข้อจำกัดผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตของเยาวชนพิการ

คุณเคยฉุกคิดไหมว่าพวกเราทุกคนต่างมีความสามารถที่แตกต่างกัน

บางคนอาจจะวิ่งเร็ว บางคนร้องเพลงเพราะ หรือบางคนมีความคิดที่จะเปลี่ยนโลก แต่หากพูดถึงกลุ่มคนพิการ บางครั้งเราก็อาจหลงลืมกันไปว่าพวกเขาก็มีความสามารถที่ไม่ต่างไปจากคนไม่พิการ เราอาจจะไม่ตระหนักถึงความสามารถของเขาเพราะเราไม่เคยเข้าไปทำความเข้าใจอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคย

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกลุ่มเยาวชนคนพิการว่าวิถีชีวิต และอุปสรรคที่พวกเขาต้องเผชิญ ผ่านการตั้งวงสนทนาเยาวชนกับคนพิการและกลุ่มที่มีอัตลักษณ์หลากหลายอื่นๆ เพื่อจะทราบถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ได้รับสิทธิต่างๆเท่าเทียมกับคนอื่นๆได้

ความพิการเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะเยาวชนไทย ความพิการไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความบกพร่องทางกายเท่านั้น ความบกพร่องทางจิตใจ อารมณ์ หรือสติปัญญาก็ถือเป็นความพิการด้วยเช่นกัน จากการสำรวจความพิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีเด็กประมาณ 140,000 คนในประเทศไทยที่มีความพิการ เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย กว่า 38% ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา 27% ไม่สามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ และ 4% ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้ลงทะเบียนกับรัฐบาลและไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการรายเดือน

 

คนพิการในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาส ความท้าทายเหล่านี้จะมีมากเป็นพิเศษในสังคมที่ให้ความสำคัญกับสมรรถภาพทางร่างกายสูงและมักมองข้ามความต้องการหรือความจำเป็นของคนพิการ 

ความท้าทายหนึ่งของคนพิการในประเทศไทยคือ การเลือกปฏิบัติและการตีตราทางสังคม แม้จะมีความพยายามในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความพิการ แต่คนพิการจำนวนมากยังต้องเจอกับอคติและการเลือกปฏิบัติทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และการดูแลสุขภาพ รวมถึงขาดตัวแทนจากภาครัฐและภาคประชาสังคม

 

ความท้าทายในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรม 

จ๋า (นามสมมติ) ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวท่านหนึ่งในวงสนทนาได้แบ่งปันประสบการณ์ในวัยเรียนของเธอว่า เมื่อตอนเรียนมัธยม เธอได้เข้าเรียนโรงเรียนที่ไม่มีลิฟต์ ทำให้การเดินทางไปเรียนในแต่ละคาบวิชานั้น มีความลำบากและเหนื่อยมาก โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่มีลิฟต์หรือทางลาดสำหรับนักเรียนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือใช้วีลแชร์ ซึ่งจำกัดความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งนี้สามารถนำไปสู่โอกาสการจ้างงานที่จำกัดและศักยภาพในการหารายได้ที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ นอกจากนี้ ผู้พิการในประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาล สถานพยาบาลหลายแห่งไม่มีความพร้อมในการจัดหาที่พักที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการเข้าถึงการรักษาและการดูแล และนำไปสู่การส่งผลให้สุขภาพแย่ลงและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง

นอกจากนี้เยาวชนพิการในประเทศไทยยังประสบความท้าทายในเรื่องการขาดเทคโนโลยีและอุปกรณ์ช่วยเหลือ เยาวชนพิการจำนวนมากต้องการเทคโนโลยีและอุปกรณ์เพื่อช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น รถเข็น เครื่องช่วยฟัง และอุปกรณ์สื่อสาร “จักร” (นามสมมติ) คนตาบอดท่านหนึ่งในวงสนทนาได้เล่าว่า อุปกรณ์เหล่านี้อาจมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทหรือครอบครัวที่มีรายได้น้อย รายรับไม่พอสำหรับการซื้อสิ่งเหล่านี้ สิ่งนี้จะจํากัดความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงานและโอกาสอื่น ๆ ของพวกเขาอย่างมาก

 

ความท้าทายที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

อีกหนึ่งความท้าทายของเยาวชนพิการไทยคือการขาดระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ ถึงแม้จะมีแอพลิเคชันที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยบรรเทาความยากลำบากในการใช้ขนส่งมวลชน เช่น Viabus แต่แอพลิเคชันดังกล่าวก็ไม่สามารถรองรับการใช้งานของคนพิการทางการเห็น รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคนพิการที่ใช้รถเข็น ซึ่งจำกัดความสามารถในการเดินทางและการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และบริการทางการแพทย์อย่างอิสระ นำไปสู่การพึ่งพาการคมนาคมของสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแล ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดความเป็นอิสระและโอกาสทางสังคมของพวกเขาต่อไป ผู้ร่วมสนทนาหลายคนเล่าประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันของการที่สมาชิกในครอบครัวไม่สนับสนุนให้เดินทางคนเดียว เพราะเป็นห่วงในความปลอดภัย

Image by rawpixel.com on Freepik

ในด้านการทำกิจกรรมยามว่างและสันทนาการ สืบเนื่องจากการที่เยาวชนคนพิการยังอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งอาจจะจำกัดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ออนไลน์และการเข้าสังคม เว็บไซต์และดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนมากไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนพิการ เพิ่มการจำกัดความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไป จิน (นามสมมติ) คนตาบอดท่านหนึ่ง เล่าถึงการที่อยากเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เหมือนกับคนไม่พิการ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะแอพลิเคชันหรือเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบเพื่อให้ใช้งานร่วมกับโปรแกรมอ่านจอภาพ หรือ screen reader ได้ แม้จะดูเหมือนว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยที่คาดไม่ถึง แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม โอกาส และสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ

 

ความท้าทายในการเข้าถึงบริการด้านกฎหมายและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

ประเด็นสุดท้ายที่ได้เรียนรู้จากเยาวชนพิการในวงสนทนานี้ เยาวชนพิการไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านกฎหมายและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เยาวชนพิการจำนวนมากไม่ทราบถึงสิทธิของตนเองและการคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้าถึงได้ ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาเข้าถึงบริการทางกฎหมายและรักษาสิทธิของตนเองได้ยาก นอกจากนี้ องค์กรที่สนับสนุนคนพิการจำนวนมากยังตั้งอยู่ในเขตเมือง ซึ่งอาจทำให้เยาวชนพิการที่มีรายได้ต่ำและอาศัยในชนบทเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ยาก เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสังคมในวงกว้างต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมสิทธิและความครอบคลุมของคนพิการ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายและนโยบายเพื่อให้เกิดการเข้าถึงและการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเข้าใจในการยอมรับคนพิการมากขึ้น 

 

เสียงจากคนพิการที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของเขา ทำให้เราได้เห็นภาพชีวิตประจำวัน ความฝัน และความต้องการของพวกเขามากขึ้น ซึ่งความต้องการของพวกเขานั้นก็ไม่ต่างกับคนไม่พิการ คือต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีบรรยากาศที่เอื้อให้พวกเขาสามารถบรรลุความต้องการและความฝันได้ ซึ่งบริการและสวัสดิการต่างๆที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน อาจจะตอบโจทย์ประชากรบางกลุ่ม อย่างไรก็ตามหากเรามีความเข้าใจต่อบริบทเฉพาะของกลุ่มคนพิการที่หลากหลายจะสามารถทำให้เราออกแบบบริการและสวัสดิการที่เข้าถึงทุกคน รวมถึงคนพิการได้มากขึ้น

Keywords: , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779