• Published Date: 06/05/2021
  • by: UNDP

การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาวัดผลกระทบมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

เขียนโดย อภิญญา สิระนาท, Head of Exploration โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“อนาคตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ”

บริบททางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและยังคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมิลเลนเนียลที่เริ่มตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เพียงจะเริ่มมองว่าบริษัทควรมีพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังคาดหวังให้ธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นตัวกำหนดตลาดในอนาคต เพราะมันชี้ให้เห็นความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเล็งเห็นปัญหาและสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่
การสร้างตลาดเทคโนโลยี การลงทุน และ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ”
– Achim Steiner, Administrator, United Nations Development Program (2018) 

ความต้องการและค่านิยมที่แตกต่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเติบโตทางธุรกิจและไม่จำกัดอยู่เพียงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตหรือผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้นเท่านั้น บริษัททั้งหลายเริ่มตระหนักว่าธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต่างพยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและเกื้อกูลในระยะยาวที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พนักงาน ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น และ สังคมโดยกว้าง

การที่บริษัทให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้หมายความว่าบริษัทจะต้องเสียผลประโยชน์ ผลกำไรทางธุรกิจเสมอไป  ในทางกลับกัน บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ทั้งนี้งานวิจัยหลายชิ้นได้พบความสัมพันธ์เชิงบวก (positive correlation) ระหว่างผลกำไรกับความมุ่งมั่นของบริษัทในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)[1] เช่น การศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่า[2] เมื่อเทียบกันแล้ว บริษัทที่มีการวัดและประเมินด้าน ESG ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีการเติบโตใน 18 ปีต่อมามากกว่ากลุ่มที่ไม่มี การศึกษาโดย Nordea Equity Research[3] ในปี 2017 พบว่า ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015 บริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG สูงสุดนั้นมีการเติบโตมากกว่าบริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG ต่ำสุด ถึง 40%

          “การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีผลการประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของตนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร หากปราศจากเป้าหมายดังกล่าว
บริษัทก็ไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้”
– Larry Fink, CEO, Blackrock (2018)

การแพร่ระบาดของโควิด 19 (COVID-19) ยิ่งตอกย้ำบทบาทและความสำคัญของภาคเอกชนในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับบทบาทของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในฐานะที่เป็นภาคส่วนหลักในการจ้างงานและการลงทุน ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญทั้งในการคุ้มครองพนักงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ตลอดจนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเกื้อกูล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยั่งยืนต่อไป

ด้วยบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจได้อีกต่อไป ธุรกิจทั้งหลายต่างต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ตลอดจนการวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management – IMM) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ แสดงพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม และ สื่อสารข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรายงานความยั่งยืนและการวัดผลกระทบนั้นต่างช่วยเพิ่มศักยภาพและทำให้บริษัทมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น แต่การปฏิบัติทั้งสองล้วนเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะและมีความแตกต่างกันในแนวทางและวัตถุประสงค์

Global Reporting Initiative (GRI) ได้นิยามรายงานความยั่งยืนว่าคือ “รายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัท รายงานนี้จะแสดงถึงค่านิยมและรูปแบบการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์และความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน” การจัดทำรายงานความยั่งยืนนั้นช่วยให้องค์กรสามารถระบุและเปิดเผยผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก

ภาพจากงาน From ESG to SDGs : Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies

ในประเทศไทยพบว่ามีบริษัทจำนวนมากมียุทธศาสตร์ นโยบาย และจริยธรรมธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี การปฎิบัติตามกรอบแนวทาง ESG นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปลดล็อคขีดความสามารถอันมหาศาลของภาคเอกชนในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เพราะกรอบ ESG นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงทุกบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน  กรอบ ESG มุ่งเน้นไปที่นโยบายและกระบวนการดำเนินการของบริษัทเป็นหลัก และ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้รายงานมักจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของนักลงทุน การจัดทำข้อมูลตามกรอบ ESG จึงมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact) และ เปรียบเทียบศักยภาพระหว่างบริษัทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกได้  การสำรวจของ McKinsey[4]  เปิดเผยว่านักลงทุนเชื่อว่า “ข้อมูลความยั่งยืนที่ถูกเปิดเผยนี้ ยังไม่พร้อมจะถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและให้คำแนะนำการลงทุนได้อย่างถูกต้อง”

ในทางกลับกัน การเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงการบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ การดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆจึงจำเป็นต้องมีการทำ IMM อย่างเหมาะสม เพราะการทำ IMM นั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถสื่อสารผลกระทบสู่ภายนอก และทำให้มั่นใจว่าบริษัทกำลังดำเนินการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การทำไปตามข้อบังคับ กฏหมายหรือข้อกำหนดต่างๆเท่านั้น

การวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management: IMM) คืออะไร ?

Global Impact Investing Network (GIIN) ได้นิยาม IMM ไว้ดังนี้  “การวัดและการบริหารผลกระทบหมายถึงการระบุและพิจารณาผลกระทบรอบด้านของธุรกิจที่มีต่อผู้คนและโลก ตลอดจน หาวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลเชิงบวกให้มากที่สุดโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความท้าทายที่ผู้ที่ทำงานด้านการวัดผลกระทบเผชิญมาเป็นเวลานานคือ การหาคำนิยาม ความหมายของคำว่า ผลกระทบ และ ทำอย่างไรเพื่อจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น การที่เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทำให้เกิดแนวทางในการวัดผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งจาก ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ธุรกิจ ไปจนถึงตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) และเจ้าของเงินทุน

การใช้ SDGs เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบ

การที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ SDGs เป็นวิสัยทัศน์ของโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 2015 นั้น ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเรื่อง IMM  มากยิ่งขึ้น SDGs ไม่เพียงกำหนดขอบเขตสำหรับการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของการบรรลุผลกระทบเหล่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าของตนเพื่อบรรลุผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้บริษัทจำนวนมากทั่วโลกจึงเริ่มหันมาใช้ SDGs เป็นกรอบในการวัดผลกระทบของธุรกิจตน

          “ธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านการดำเนินกิจกรรมหลักของตน และเราขอให้บริษัททุกแห่งเริ่มประเมินผลกระทบ
ตั้งเป้าหมายให้สูง และสื่อสารผลการทำงานอย่างโปร่งใส”
– Ban Ki-moon, Former United Nations Secretary-General (2015)

ผลกระทบในบริบทของ SDGs กำลังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับปัจจัยอื่นๆ อย่างรายได้และความเสี่ยง เฉกเช่นกับการที่รายงานทางการเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท  การวัดและการบริหารผลกระทบด้าน SDGs (SDGs IMM) นั้นก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อบริษัท เนื่องจากไม่เพียงแต่บรรดาผู้ถือหุ้น แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายก็เริ่มเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต

นอกจากธุรกิจต้องใส่ใจต่อการเรียกร้องของสังคมเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเเสดงความรับผิดชอบแล้ว การคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมไปพร้อมๆ กับกำไร และ การนำ SDGs IMM มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทหลายประการ ดังนี้

  • การสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ: IMM ช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุตลาดใหม่ๆ และ เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ธุรกิจเพื่อสังคม Hilltribe Organics ได้มีการนำ IMM มาปรับใช้โดยได้รับคำปรึกษาจาก UNDP Business Call to Action ทำให้สามารถระบุได้ว่าตลาดยังมีความต้องการไข่อินทรีย์อยู่พอสมควรจึงเริ่มหันมาสนใจและเปิดตลาดขายไข่อินทรีย์ด้วย ณ วันนี้ Hilltribe Organics[5] กลายเป็นบริษัทไข่อินทรีย์อับดับต้นๆ ของประเทศไทย และ ปัจจุบันมีช่องทางขายทั้งในซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ ร้านอาหารและโรงแรมทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในช่วงจะต่อยอดโมเดลธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business model) โดยเพิ่มการผนวกกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วประเทศเข้าในห่วงโซ่แห่งคุณค่าทางการเกษตร (agricultural value chain) ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทแล้วยังเป็นการเพิ่มจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
  • การตลาดและช่วยสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กร: ข้อมูลผลกระทบ (Impact data) ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างแคมเปญทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้ามีความสนใจในตัวบริษัทมากขึ้นอีกด้วย บริษัทสื่อโฆษณารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Plan B Media เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีที่มีความมุ่งมั่นจะใช้กลยุทธ์การตลาดที่ยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้ธุรกิจของตนโดยตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การที่ Plan B ตระหนักว่าสื่อดิจิตัลจะต้องเป็นมากกว่าเพียงแค่การให้บริการโฆษณาแต่ควรมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยนั้น Plan B จึงร่วมมือกับ UNDP จัดทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ SDGs ในประเทศไทย ทั้งในเรื่อง การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและหยุดการใช้พลาสติกครั้งเดียว (single-use plastics)[6] เป็นต้น
  • ช่วยจัดวางกลยุทธ์และลดความเสี่ยง: IMM นอกจากจะทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆของบริษัทนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กรแล้ว ยังช่วยระบุความเสี่ยงต่่างๆได้ตั้งเเต่เริ่มเเรก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ทันท่วงที

Business Call to Action’s Impact Lab[7]
เครื่องมือสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบเบื้องต้น

บริษัทที่ไม่เคยทำ IMM มาก่อน อาจจะรู้สึกว่า IMM เป็นสิ่งท้าทาย และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ในขณะเดียวกัน UNDP Business Call to Action ได้ตระหนักถึงประโยชน์ต่างๆ ของ IMM จึงพัฒนา Impact Lab ซึ่งเป็นออนไลน์เเพลตฟอร์มขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการทำ SDGs IMM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัว Impact Lab นั้น ประกอบด้วย 4 โมดูลหลักซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการบริหารผลกระทบ ตั้งแต่ การประเมินความพร้อมในการวัดผล การวางแผนสำหรับการวัดผลและการออกแบบกรอบผลกระทบ การตรวจสอบข้อมูลผลกระทบ (impact data) และ การวิเคราะห์และรายงานข้อมูลผลกระทบ (impact data) เมื่อบริษัทได้ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว นอกจากจะสามารถเข้าใจถึง Impact Value Chain ที่เชื่อมการดำเนินการของธุรกิจตนเข้ากับ SDGs ได้เเล้ว ยังสามารถออกแบบกรอบผลกระทบ SDGs ของตนเอง พร้อมด้วยแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยในการวัด บริหาร และ สื่อสารผลกระทบได้

เกี่ยวกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นเครือข่ายการพัฒนาระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UNDP ทำงานร่วมกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ในการช่วยขจัดความยากจน ลดความไม่เท่าเทียมและการกีดกัน UNDP มีประสบการณ์ทำงานกับภาคเอกชนในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมายาวนานโดยองค์กรได้ทำงานร่วมกับบริษัททั่วโลกจากหลายอุตสาหกรรมทั้ง ภาคพลังงาน อาหาร การเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค การเงิน และ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในประเทศไทย UNDP ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเกี่ยวกับประเด็นด้านการพัฒนาต่างๆ
  • ช่วยธุรกิจมองหาโอกาสในการทำผลิตภัณฑ์ สินค้า เเละ บริการต่างๆที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านการพัฒนา รวมถึงให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจเกื้อกูลสังคม (Inclusive Business) ที่นำกลุ่มคนรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อมาเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ พนักงาน และ ผู้บริโภค
  • ระดมทรัพยากรทุนและสิ่งของจากภาคเอกชนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ใช้นวัตกรรมทางการเงินและสร้างเครือข่ายเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินงานด้าน SDGs
  • ให้ความรู้และออกแบบเครื่องมือต่างๆในด้านการวัดและบริหารผลกระทบแก่บริษัท และ นักลงทุนต่างๆที่สนใจ

บริษัทที่สนใจทำงานร่วมกับ UNDP เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: นางสาวอภิญญา สิระนาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อสังคม, E-mail: aphinya.siranart@undp.org

[1] Mozaffar Khan, George Serafeim, Aaron Yoon, Corporate Sustainability: First Evidence on Materiality. The Accounting Review (2016) 91 (6): 1697–1724.

[2] Eccles, Robert G. and Ioannou, Ioannis and Serafeim, George, The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance (December 23, 2014). Management Science, Volume 60, Issue 11, pp. 2835-2857, February 2014. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=1964011 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1964011

[3] https://nordeamarkets.com/wp-content/uploads/2017/09/Strategy-and-quant_executive-summary_050917.pdf

[4] https://www.mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/more-than-values-the-value-based-sustainability-reporting-that-investors-want

[5] https://www.businesscalltoaction.org/member/urmatt-ltd-hilltribe-organics

[6]https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/presscenter/pressreleases/2019/undp-unveils-nationwide-campaign-to-combat-single-use-plastics–.html

[7] https://www.businesscalltoaction.org/

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 16/07/2020
  • by: UNDP

มารู้จัก 4 นวัตกรรมเพื่อสังคมในช่วงโควิด

โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบในแทบทุกมิติและนับเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดอันหนึ่งในชั่วชีวิตสำหรับใครหลายคน อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่มีหลายอย่างให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

นวัตกรรมทางสังคมหลายอย่างจึงได้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ โดยมีตั้งแต่ระดับง่าย ๆ อย่างการผลิตฉากกั้นใช้สำหรับกิจกรรมที่คนจำนวนมากอาจจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกัน การให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการป้องกันและดูแลตัวเอง ไปจนถึงนวัตกรรมล้ำ ๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายอย่างใช้งานได้จริง บางอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ก็เริ่มหายไปพร้อมกับสถานการณ์ที่ยังคงดำเนินต่อไป

นวัตกรรมทางสังคมหลายอย่างเริ่มจากการมองปัญหาที่เกิดขึ้นและคิดหาทางออก บ้างก็ต่อยอดจากต้นทุนธุรกิจหรือความรู้เดิมที่แต่ละคนมีอยู่ บางอันทำเป็นการกุศล และอีกหลายอันต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้จริง

บทความนี้จะพาไปรู้จักนวัตกรรมจากทั่วโลกที่ครอบคลุมหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19

 

  1. Crisis Text Line-ส่งข้อความยามมีเรื่องทุกข์ใจ

การสื่อสารผ่านข้อความคือวิธีการสื่อสารที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกาเหนือ  นอกจากจะเป็นเพราะค่าบริการส่งข้อความค่อนข้างถูกแล้ว ลักษณะเด่นของการส่งข้อความอย่างความไร้เสียง สื่อสารได้แม้สถานการณ์จะไม่เอื้ออำนวยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ Crisis Text Line เห็นโอกาสในการให้บริการนี้

Crisis Text Line ตั้งใจจะเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีปัญหากังวลใจ โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้นส่งข้อความมาถามไถ่พูดคุย โดยหวังว่าเมื่อบทสนทนาจบผู้ที่ตัดสินใจใช้บริการจะรู้สึกผ่อนคลายลงได้

แม้ว่าบริการนี้จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 แต่ในช่วง Covid-19 นี้ Crisis Text Line ได้รับข้อความมากขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่พิมพ์เข้ามามีตั้งแต่ความเหงา ความกังวล ความเครียด ไปจนถึงความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ท่ามกลางข้อความที่อาจเข้ามาพร้อมกันหลายร้อยข้อความ Crisis Text Line ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสกรีนและจัดความสำคัญในการส่งข้อความกลับและพูดคุย เช่น หากมีข้อความที่ส่งมาเกี่ยวกับกินยานอนหลับหลายเม็ดอาจเป็นไปได้ว่าเขาคิดฆ่าตัวตาย ข้อความลักษณะนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องการการตอบกลับอย่างรวดเร็ว ส่วนข้อความที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หรือความรู้สึกเหงาก็จะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความรีบเร่งน้อยกว่า

ผู้ที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาตอบข้อความล้วนแต่เป็นอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมออนไลน์ในหลากหลายทักษะ เช่น การฟัง การแก้ปัญหา ทั้งนี้มีเพียง 30% ของผู้ที่เข้ารับการอบรมเท่านั้นที่ได้ทำงานจริง เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก ในขณะเดียวกันอาสาสมัครเหล่านี้ก็มีนักจิตวิทยามืออาชีพและนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลืออีกต่อหนึ่ง

Crisis Text Line เปิดเผยว่าข้อความที่ได้รับในช่วง โควิด-19 มีประเด็นที่แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลา ในช่วงแรกคนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับตนเองหรือครอบครัวจะติดเชื้อ ถัดมาเป็นความกังวลจากการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ซึ่งทาง Crisis Text Line คาดว่าปัญหาถัดมาจะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียม (ในสหรัฐอเมริกา) เนื่องจากสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เป็นคนผิวดำนั้นสูงกว่า อีกทั้งยังเริ่มได้รับข้อความจากชาวแอฟริกันอเมริกันที่แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ Crisis Text Line มีแผนที่จะขยายการให้บริการในภาษาสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศสและอาราบิกภายในปี 2022 จากที่เดิมให้บริการเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งประชากรที่ใช้ภาษาเหล่านี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก

 

  1. Bike2Box – ไปทำงานอย่างไร้กังวลทั้งเรื่องโควิดและเรื่องที่จอด

Bike2Box เป็นบริษัทสัญชาติโปแลนด์ที่ผลิตที่จอดจักรยานหลากหลายรูปแบบ บริษัทนี้ก่อตั้งโดยผู้รักการปั่นจักรยานโดยมีเป้าหมายที่ไกลกว่าแค่การทำธุรกิจ แต่คือการร่วมสร้างวัฒนธรรมจักรยานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ส่วนเหตุผลที่พวกเขาหันมาทำธุรกิจด้านนี้ก็เพราะใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมกับจักรยานเป็นหลัก

พอโควิด-19 มาเยือน ต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ที่ทำงานหลายแห่งเริ่มกลับเข้าออฟฟิศกันเป็นปกติ ทาง Bike2Box จึงเห็นโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยทำที่จอดจักรยานที่ติดตั้งสะดวก รวดเร็ว เคลื่อนย้ายได้และมีเงื่อนไขการใช้บริการที่ไม่ซับซ้อนวุ่นวาย โดยอุปกรณ์ 1 เซ็ตมีขนาดเท่ากับที่จอดรถยนต์ 1 คัน และรองรับจักรยานได้ถึง 12 คัน ทั้งนี้ Bike2Box มองออฟฟิศเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ไอเดียนี้ต่อยอดมาจากการที่คนยังรักษาระยะห่างทางกายภาพอยู่ ทำให้คนที่พอจะมีทางเลือกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ และจักรยานก็กลายเป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมาถนนเงียบบางประเทศก็ปรับสภาพถนนให้เป็นเลนจักรยานชั่วคราว

นวัตกรรมนี้ตั้งใจจะให้การปั่นจักรยานไปยังที่ต่างๆ เกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจความปลอดภัยในช่วงโควิด และสนับสนุนให้วัฒนธรรมจักรยานเกิดขึ้นจริงในระยะยาว

 

  1. #coronasolutions – สื่อสารเรื่อง Covid-19 ผ่านสินค้าที่คุ้นเคย

แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแพร่หลายในปัจจุบันและมีผู้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยบนโลกที่ยังเข้าไม่ถึงบริการนี้ ข้อมูลจาก International Telecommunication Union ระบุว่าในปี 2019 ประชากรโลก 53.6% หรือประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

นักออกแบบชาวโคลัมเบีย 2 คนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในโตเกียวตระหนักถึงเรื่องนี้ อีกทั้งยังรู้ดีว่าการใส่หน้ากากอนามัยมีประโยชน์เพียงใดในสถานการณ์แบบนี้ การใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นและใกล้ชิดคนญี่ปุ่นฝึกให้พวกเขาเข้าใจความจำเป็นของหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตามในประเทศที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมสวมหน้ากากอนามัยก็มักเรียนรู้เกี่ยวกับการใส่หน้ากากจาก online campaign เป็นส่วนใหญ่

เมื่อคิดถึงพื้นที่อื่นของโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงโคลัมเบียบ้านเกิดของสองนักออกแบบ คนจะรู้จักการใส่หน้ากากอนามัยเป็นอย่างดีได้อย่างไร หากเขาเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งสองจึงนึกถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงคนหลากหลายอย่างข้าวสารหรือกระป๋องน้ำอัดลมให้เป็นตัวกลางพาข้อความสำคัญนี้ไปยังคนอีกมากมาย ผ่านการทำกราฟฟิกเข้าใจง่ายแปะลงบนฉลากสินค้าเหล่านั้น เนื้อหาในฉลากประกอบไปด้วยการทำหน้ากากด้วยตัวเอง ไปจนถึงวิธีการล้างมือและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากไวรัส

โปรเจ็กต์นี้อยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้

 

  1. Hello Landlord – จ่ายค่าเช่าไม่ไหว ให้เราช่วยสื่อสาร

คนที่อาศัยอยู่ในประเทศอเมริกาถึง 1 ใน 3 ไม่ได้จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งซึ่งกระทบต่อรายได้ที่พวกเขาเคยมี

พอดีกับที่รัฐบาลกลางได้อนุมัติกฎหมายที่คุ้มครองการขับไล่ผู้เช่าบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (Care Acts) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากบริษัท SixFifty จึงได้คิดทำโปรเจ็กต์ Hello Landlord ขึ้น เพื่อช่วยร่างจดหมายให้แก่ผู้เช่าสำหรับส่งต่อเจ้าของที่ เพื่อของดเว้นการขับไล่เนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าเช่า เพราะยังมีอีกหลายคนที่อาจไม่ทราบข้อกฎหมายนี้ หรืออาจสื่อสารเองได้ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก

ใจความในจดหมายมีสองประเด็นหลัก คือ 1.อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านได้ในช่วงนี้ และ 2. กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าออกในช่วงนี้

ผู้เช่าบ้านที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ เพียงพิมพ์เหตุผลและสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญ ที่เหลือทาง Hello Landlord จะออกจดหมายฉบับสมบูรณ์ให้โดยผ่านระบบที่ตั้งค่าไว้โดยอัตโนมัติ

Hello Landlord บอกว่ากว่าแพลตฟอร์มนี้จะสำเร็จ พวกเขาได้ทดลองร่างจดหมายโดยใช้โทนของภาษาที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบความสัมพันธ์ของผู้เช่าและเจ้าของบ้านในระยะยาว อีกทั้งยังใช้ความรู้เฉพาะทางด้านกฎหมายที่พวกเขามีในการสื่อสารและอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจชัดเจนที่สุด

แหล่งข้อมูล:

https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/text-message-crisis-help-line-speeds-expansion-amid-pandemic
https://www.crisistextline.org/data/bobs-notes-on-covid-19-mental-health-data-on-the-pandemic/

https://www.covidinnovations.com/home/02072020/polish-company-bike2box-introduces-temporary-bicycle-parking-boxes-to-meet-growing-demand-post-lockdown

https://bike2box.com/

https://www.instagram.com/tv/B_lGidGlfvM/?utm_source=ig_embed

https://www.fastcompany.com/90488239/cant-pay-rent-because-of-the-coronavirus-this-site-will-help-you-explain-your-rights-to-your-landlord

https://app.hellolandlord.org/

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 27/12/2019
  • by: UNDP

ชวนคนเมืองมา ‘ปรับชีวิต เปลี่ยนโลก’ ให้น่าอยู่ขึ้น

 

สำหรับหลายๆ คน การเริ่มต้นปีใหม่อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างการเลิกนิสัยแย่ๆ หรือตั้งเป้าหมายที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่การใช้ชีวิตของเรานั้นส่งทั้งผลดีและผลร้ายให้กับโลก ในแบบที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากสิ่งที่เรากระทำลงไปย่อมสะท้อนกลับมาเสมอ ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาตั้ง New Year’s Resolution ด้วยการคำนึงถึงโลกและรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตาม 6 แนวทางนี้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่ดีขึ้น

 

 

  1. ‘ร้านรีฟิล’ ช่วยโลกลดขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ต้องรีบเร่งแก้ไข วิธีการหนึ่งที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นั่นคือ ‘Zero Waste’ หรือการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ตอนนี้บ้านเรามีธุรกิจใหม่มาช่วยแก้ปัญหา อย่าง ‘ร้านค้าแบบเติม’ (Bulk Store) ที่เราสามารถนำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ อย่างร้านสไตล์ ‘Refill Station’ ที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไปจนถึงอาหารแห้งและขนมขบเคี้ยว ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีร้านรีฟิลเกิดขึ้นมากมาย เช่น Grasstonomy, Zero Moment Refillery, Less Plastic Able แต่ถ้าไม่สะดวกหรืออยู่ไกลยังมีร้าน ‘Greenherit’ เป็นรถรีฟิลเคลื่อนที่ขับไปตามหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือออฟฟิศ รวมถึงตลาดนัดสายกรีนต่างๆ

 

 

  1. สนับสนุน ‘เกษตรกรในท้องถิ่น’

ทุกวันนี้เราซื้อผักผลไม้หรือผลผลิตทางการเกษตรจากไหน ? หลายคนคงเดินเข้าห้างฯ เลือกผักที่สวยและสด พร้อมการันตีว่าปลอดสารพิษ แต่เราไม่เคยรู้ที่มาที่น่าเชื่อถือจากผู้ผลิตเลย คงจะดีหากเราได้รู้แหล่งที่มาหรือวิธีการปลูกจากเกษตรกรตัวจริง ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ อย่าง ‘FARMTO’ สตาร์ทอัพที่สร้างตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์บนแอปพลิเคชัน ทั้งยังมีแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกและได้ผลผลิตกลับไป ซึ่งช่วยให้คนเห็นคุณค่าถึงความใส่ใจของเกษตรกร นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ยังยืน

 

 

3. ‘เที่ยวยั่งยืนสร้างชุมชนเข็มแข็ง

 

การท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์กลายเป็นเทรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเราท่องเที่ยวแล้วได้รักษาธรรมชาติหรือพัฒนาท้องถิ่นไปในตัว น่าจะยิ่งสร้างความประทับใจและเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เราเข้าถึงชุมชนที่น่าสนใจและทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘Local Alike’ ธุรกิจที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นตัวกลางเชื่อมนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือ ‘HiveSters’ ที่นำเสนอ real Thai experience ให้เราได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

4. ‘แยกขยะง่ายๆเริ่มต้นได้ที่บ้าน

ปัญหาขยะล้นส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่แยกขยะ เพราะขยะดีที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถูกอัดรวมกับขยะที่เน่าเสียไปยังกองขยะหรือหลุดรอดปะปนในธรรมชาติ ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ขยะก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง การเริ่มต้นมักยากเสมอแต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอย่างเอี่ยมดีรีไซเคิลรถบริการจัดการขยะถึงบ้าน ร้านค้า โรงแรม หรือสำนักงาน ในจังหวัดเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ที่ช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นการรับขยะจากต้นทางไม่ต้องไปคุ้ยกองขยะ เรียกว่าเป็นซาเล้งยุคใหม่ที่สะอาด มีมาตรฐานราคา ตรงเวลา และบริการอย่างมืออาชีพ นอกจากจะช่วยให้คนหันมาแยกขยะมากขึ้น เอี่ยมดีรีไซเคิลยังช่วยเหลือสังคมด้วยการแบ่งรายได้ 30 % ไปสร้างประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ อีกด้วย

 

 

  1. ‘เปลี่ยนอาหารเหลือทิ้ง’ เป็นมื้อที่ช่วยสังคม

ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติกเท่านั้นที่กำลังเป็นประเด็น ขยะอาหารที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันก็ทำให้เกิดแก๊สมีเทนเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาโลกร้อน อีกทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย สวนทางกับวิกฤตอาหารโลกที่หลายประเทศกำลังขาดแคลนอาหาร แม้แต่ในบ้านเราที่มีขยะอาหารเกิดขึ้นมากมายขณะที่บางคนไม่มีกิน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิ ‘Thai SOS’ ที่จัดตั้งโปรเจกต์ ‘Food Rescue’ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดี ทั้งจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ไปจนถึงครัวตามบ้าน ส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ บ้านอุปถัมภ์ ที่พักผู้ลี้ภัย โรงเรียน หรือชุมชนที่ต้องการ โดยใส่ใจเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ส่วนเศษอาหารที่เหลือทิ้งหรือหมดอายุก็นำไปทำปุ๋ยให้กับเกษตรกรต่อไป

 

 

6. อุดหนุนสินค้าดีไซน์รักษ์โลก

อุตสาหกรรมแฟชันเป็นหนึ่งในวงการที่สร้างมลพิษและใช้ทรัพยากรมากที่สุด การใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิลจึงกลายเป็นสิ่งที่บรรดาดีไซเนอร์ต้องเริ่มคิด อย่างบ้านเราก็มีนวัตกรรมเส้นใยผ้าจากสับปะรดของหจก.รักษ์บ้านเรา สงขลาที่นำเศษใบเหลือทิ้งมารีดเป็นเส้นใย นอกจากสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ยังสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ จังหวัดสงขลา และอีกแบรนด์รุ่นใหม่แนวคิดดี อย่างคิดดีที่ออกแบบกระเป๋าสุดเท่จากถุงล้างไตที่กลายเป็นขยะจำนวนมาก คิดดีไม่เพียงช่วยโลกลดขยะเท่านั้น แต่ยังนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วก็สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันด้วย

 

#UNDP #UCxUNDP #Sustainability #SDGs #NewYearResolution

Keywords: ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

‘Local Chef’s to Peace Project’ สร้างสันติ ‘ไทยพุทธ มุสลิม ไทยจีน’ ในชายแดนใต้ด้วยอาหารถิ่น

ทุกวันนี้ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้น หลายฝ่ายต่างช่วยกันค้นหาวิธีการยุติเรื่องราวเหล่านี้ รวมไปถึงเยาวชนภาคใต้ที่ตั้งใจเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความสงบ นั่นคือความตั้งใจของทีม ‘Local Chef’s to Peace Project’ ประกอบไปด้วย พัดลี โตะเดร์, อารฟา บือราแง, อิสกันดาร์ กูโน และตัรมีซี อนันต์สัย แชมป์จากการแข่งขันโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 ที่หยิบรสอร่อยของอาหารถิ่น มาสร้างสันติให้ ‘ไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน’ ในชายแดนใต้

 

 

เพราะอยากให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เรามองเห็นถึงปัญหาของคนในพื้นที่ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องของความหลากหลายทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน รวมไปถึงการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เราจึงคิดวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ จนกลายมาเป็นโครงการที่ชื่อว่า ‘Local Chef’s to Peace Project’

 

 

อาหารสร้างสันติภาพ 

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราหยิบประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน จากหลากหลายศาสนามารวมกันอยู่ในจานเดียวกัน โดยที่ทุกศาสนาสามารถทานอาหารได้โดยไม่มีข้อกังวล เพราะในพื้นที่เองมักจะมีปัญหาเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหาร ที่มีการแบ่งแยกเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความห่างเหินในการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่

 

 

‘ขนมอาซูรอ’ เชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อลดความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เราเลือก ‘ขนมอาซูรอ’ เพราะคือขนมหวานที่ได้จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกัน แล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวคล้ายขนมเปียกปูน ซึ่งจะมีประเพณีการกวนขนมอาซูรออยู่ โดยเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวนชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน กลายเป็นความสามัคคีของคนในชุมชน

 

 

อาหารอาจไม่ได้ลดความขัดแย้งทั้งหมด แต่ก็สร้างการเรียนรู้ 

Local Chef’s to Peace Project : การใช้อาหารอาจจะไม่ได้ลดความขัดแย้งไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาหารที่เรานำเสนอก็จะเป็นตัวเชื่อมให้คนที่มาจากหลากหลายถิ่น เข้ามาอยู่ร่วมกันและเกิดการสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งท้ายที่สุดอย่างน้อยแล้วมันก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาบ้าง

สังคมที่ไว้วางใจกัน คือภาพในอนาคตที่ฝันอยากให้เกิดขึ้น

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราอยากเห็น สังคมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตามแต่ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปราศจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

 

 

ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการ 

Local Chef’s to Peace Project : ตอนแรกที่ประกาศทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการมันรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเรารู้สึกว่าต้องมีกิจกรรมที่มันน่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน และพอได้เข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก ได้เจอกับเพื่อนที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน และเราเองก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ

ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ตอนประกาศผลมันเป็นอะไรที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ เพราะพวกเราต่างพากันดีใจแบบสุดชีวิต อีกมิติหนึ่งก็เหมือนกับเราเองได้ทลายกำแพงที่สูง มันคือกำแพงที่เราต้องแบกความหวังจากคนในพื้นที่ คนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเองด้วย เพื่อนทุกทีมต่างพากันปรบมือดีใจกับทีมพวกเรา เป็นความรู้สึกที่ประทับใจมากเลย

 

#UNDP #UCxUNDP #RespectDifferences #EmbraceDiversity #YouthCoLab2019
#YouthCoLabThailand #PVE #PreventingViolentExtremism #SocialInnovatio #SDGs
Keywords: , , ,
  • Published Date: 15/11/2019
  • by: UNDP

Youth Co:Lab Thailand 2019 ถอดบทเรียนโครงการประกวดนวัตกรรมสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เยาวชนเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์  ในปัจจุบันเยาวชนมักถูกกล่าวถึงในมุมมองไม่ใช่เพียงแต่ “ผู้ได้รับผลประโยชน์” จากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น  แต่ยังมีบทบาทเป็น “ผู้ขับเคลื่อน” การพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เยาวชนมีบทบาทในการเป็นผู้ขับเคลื่อนได้ คือการสร้างพื้นที่ ให้สังคมได้รับฟังเสียงของเยาวชน และให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่พวกเขาอยากเห็น โครงการ Youth Co:Lab จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสร้างการขับเคลื่อนสังคมจากระดับเยาวชน

Youth Co:Lab เป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาสังคมในแบบที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย

รูปแบบของโครงการ Youth Co:Lab ในประเทศไทย คือการเฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมทางสังคมจากเยาวชนทั่วประเทศไทย และให้เยาวชนมาเข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) รวมไปถึงเรียนรู้การพัฒนาแผนทางการเงินและธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก่อนจะนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อชิงทุนในการนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตนเอง โดยปีนี้ เรามาพร้อมกับความตั้งใจที่จะเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือการทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางเข้าใจและเข้าถึงปัญหาที่มีความซับซ้อน และสามารถนำแนวคิดนวัตกรรมสังคมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เราได้ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเลือกใช้โจทย์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง การใช้กระบวนการทางนวัตกรรมจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นหรือไม่ และนี่คือหนึ่งในความตั้งใจของเราเมื่อตัดสินใจหยิบยกประเด็นปัญหาทางสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น “การป้องกันความรุนแรงแบบสุดโต่ง การจัดการความขัดแย้ง และการลดความเหลื่อมล้ำ” มาเป็นแนวคิดคิดหลักของงาน

หากพูดถึงความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่สั่งสมมาจากมุมมองของคนที่ต่างกัน นำไปสู่ ‘การตัดสิน’ และ ‘การตีตรา’ ผู้อื่น การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากการเปิดใจและยอมรับความหลากหลาย “การสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงกลายเป็นโจทย์ของ Youth Co:Lab ในปีนี้ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยเอง มีความหลากหลายในสังคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกอยู่หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการการเอาชนะ กดทับกลุ่มที่เห็นต่าง การต่อสู้ระหว่างกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และอาจพาไปถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเองก็เป็นได้

เมื่อตั้งต้นโจทย์ด้วย “การเคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงจำเป็นอย่างมากที่กระบวนการทำงานของเราจะต้องสะท้อนคุณค่านี้ออกมาด้วย พวกเราจึงมีความตั้งใจมากในการเข้าถึงเยาวชนที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราอยากให้เยาวชนที่กำลังประสบปัญหาโดยตรงเหล่านี้ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงแนวคิดและส่งไอเดียนวัตกรรมสังคมเข้ามาด้วยตัวเอง เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้จริง ต้องเกิดจากการเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง และ Youth Co:Lab เป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับเยาวชน หากเราพาเครื่องมือนี้ไปถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในปัญหา เขาอาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเขาได้

ดังนั้นถึงแม้งาน Youth Co:Lab จะฟังดูเหมือนเป็นงานอีเวนต์ในระยะเวลาแค่ 3 วัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบและดำเนินการมาในระยะเวลาหลายเดือนเพื่อที่จะทำให้ Youth Co:Lab เป็นโครงการบ่มเพาะที่เข้าถึงเยาวชนทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ซึ่งในบทความนี้จะมาถอดบทเรียนกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ กระบวนการก่อนงาน และกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

ก่อนจะถึงงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

กิจกรรม Roadshow ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

เริ่มต้นด้วยการไป Roadshow ในภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ อีสาน และเหนือ โดยเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอคำแนะนำในการเข้าถึงเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของการจัด Roadshow ก็แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่นในภาคใต้ เราเน้นการไปลงพื้นที่พบปะกลุ่มเยาวชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่องค์กรของเขาเอง ในภาคอีสาน เราไปจัดงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิหรือพัฒนาสังคมผ่านกิจกรรมชมรม และในภาคเหนือ เราได้ประสานไปยังเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ เพื่อเข้าถึงเยาวชนจากหลากหลายชาติพันธุ์ของประเทศ

การปรับรูปแบบให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื้อหากิจกรรมใน Roadshow ก็ยังคงมีใจความเดียวกัน นั่นคือ การให้เยาวชนได้แบ่งปันและพูดคุยถึงความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง การแนะนำแนวคิดนวัตกรรมสังคม และการให้คำปรึกษาน้อง ๆ ในการพัฒนาโครงการ

การได้ฟังประสบการณ์ของเยาวชนที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันในระหว่าง Roadshow ให้เราเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของความแตกต่างหลากหลายในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเมื่อยิ่งได้ฟังเรื่องราวของน้อง ๆ ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เรากำลังเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เรามองหาจริง ๆ นั่นคือ กลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง และเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอในสังคมวงกว้างเท่าไรนัก เช่น เรื่องราวของน้องเยาวชนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไร้สัญชาติ กับความพยายามในขอสัญชาติมานานกว่า 11 ปี และยังคงต่อสู้ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย หรือ น้องทีมฟุตบอลหญิงชาวมุสลิมที่แต่งตัวไม่ตรงตามหลักศาสนา เนื่องจากขาดความคล่องตัว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจจากคนในพื้นที่ เป็นต้น เมื่อเราได้ลองใส่แว่นในมุมของเขาแล้ว ขั้นต่อไปคือการเชิญชวนให้เขาได้ลองใส่แว่นในมุมมองของเราบ้าง และนั่นก็คือการแนะนำให้เขารู้จักกับ “นวัตกรรมสังคม” น้อง ๆ หลายคนจะรู้สึกว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาไม่มีความรู้ เราจึงต้องเริ่มปูพื้นให้ความหมายของนวัตกรรมสังคม ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือคือ “วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ” ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเป็นเรื่องที่พวกเขากำลังทดลองทำกันอยู่ก็เป็นได้ โดยเราได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมสังคมจากหลากหลายประเทศมาประกอบเพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้ว คำถามที่เรายังได้ยินจากปากน้อง ๆ ทุกภาค คือ “แล้วโครงการของหนูจะดีพอไปสู่กับภาคอื่น ๆ เหรอพี่” ซึ่งทุกครั้งเราก็จะยิ้มแล้วบอกน้องว่า “การที่น้องเป็นคนที่อยู่ในปัญหาแล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นั่นทำให้น้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดแล้ว เพราะเราย่อมเข้าใจปัญหาของเราได้ดีที่สุด” คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตัวเองของเยาวชน ในขณะที่เราเองก็อยากให้น้อง ๆ เห็นสิ่งที่เรามองเห็นเช่นกันว่า พวกเขามีความกล้าหาญและมีศักยภาพมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว เราจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจด้วยการเปิดโอกาสสำหรับการปรึกษาโครงการว่า ตอนนี้มีโครงการอะไรที่น้อง ๆ อยากทำหรือกำลังทำอยู่บ้าง และควรไปทำการบ้านพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อจะสมัครเข้าร่วม Youth Co:Lab ได้

เมื่อเสร็จสิ้นการ Roadshow และปิดรับสมัครส่งโครงการ เราจึงดีใจมากที่ได้เห็นน้อง ๆ ที่เราไปพบหลาย ๆ คนก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง และตัดสินใจส่งโครงการมาเข้าประกวดในครั้งนี้

 

การบ้านในการเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมงาน

เนื่องจากระยะเวลาในงาน Youth Co:Lab นั้นค่อนข้างสั้น การจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3 วัน เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมไปทำการบ้านมาก่อน แม้ว่าโครงการที่ส่งเข้ามาจะอยู่ในระยะที่ต่างกัน บางโครงการอยู่ในระยะริเริ่มไอเดีย ในขณะที่บางโครงการอาจจะมีการทำ Prototype หรือนำผลิตภัณฑ์ตัวเองออกสู่ตลาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกทีมไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดต้องมีคำตอบที่ชัดเจนเพื่อจะไปต่อกับโครงการได้จริง คือ การทำความเข้าใจผู้ใช้หรือผู้ที่เราต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เราจึงให้การบ้านกับแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบไปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เรียบเรียงไปคู่กับเป้าหมายที่แต่ละทีมอยากเห็นในอนาคต ผ่านเครื่องมือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)” เพื่อเป็นการทบทวนเจตจำนงในการทำโครงการก่อนมาเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ การบ้านที่กล่าวมาก็เป็นกระบวนการที่น้อง ๆ จะได้ลองผิดลองถูก ทำความเข้าใจกับบริบทของปัญหา และตรวจสอบความเป็นไปได้หรือความถูกต้องของสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาที่คิดขึ้น  เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกทีมจะต้องมาพร้อมกับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมก็เป็นกระบวนการที่ต้องมีการทำซ้ำและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจุดประสงค์ของการทำการบ้านนี้จึงเป็นไปเพื่อให้น้อง ๆ ได้ออกมาจากวิธีการคิดเดิม ๆ รู้จักมองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และลองทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือดูก่อนเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

มิตรภาพ

จุดประสงค์ของงาน Youth Co:Lab ไม่ใช่เพียงการแข่งขันหาผู้ชนะที่จะได้เงินรางวัลในการไปต่อ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนที่มีความเชื่อและความตั้งใจในการแก้ปัญหาสังคมมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง เพื่อไปเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่ของตัวเองต่อไป ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ตัวตนของกันและกันด้วยความเคารพในความแตกต่าง และเปิดรับความหลากหลาย กิจกรรมในคืนแรกของงานจึงเน้นไปที่การผ่อนคลายให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน  แต่ก็ยังแฝงการปูพื้นแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสังคมเข้าไป
เราแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ
1)  การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกรณีศึกษานวัตกรรมสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้นำเนื้อหามาสื่อสารผ่านการเล่นเจงก้ายักษ์ ซึ่งต้องเล่นกันเป็นทีมด้วยความสามัคคี ทำให้เยาวชนจากต่างกลุ่มได้รู้จักกันมากขึ้น
2) การแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งอุปสรรค ความท้าทาย และความสำเร็จของเยาวชนผู้มาเป็นวิทยากร จากภาคเหนือ กลาง และใต้ ที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมสังคมเพื่อสันติภาพ พร้อมรับประทานอาหารและเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมได้สังสรรค์ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
3) การทำความรู้จักตัวตนของเพื่อน ๆ ผ่านการเล่นเกม เช่น I am… but I am not… ซึ่งเป็นบัตรชวนพูดคุยในมื้ออาหาร หรือ Common Ground หาจุดร่วมและจุดต่างของแต่ละคน เพื่อสร้างความสนิทสนม ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดเผยตัวตน และทำความเข้าใจในความหลากหลายของทุก ๆ คน

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย

การทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์ในคืนแรกถือเป็นประตูบานแรกสำหรับการเปิดรับความแตกต่างระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างให้มีพื้นที่ปลอดภัยก่อนเข้าสู่เนื้อหาของการเวิร์กชอปที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ วิธีการของเราเริ่มต้นด้วยการเช็คความรู้สึกและความคาดหวังของผู้เข้าร่วม ให้น้อง ๆ ได้เท “ความกลัว” และความรู้สึกกดดันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานออกมา ซึ่งการได้เปิดใจต่อความกลัวนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านการเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ พร้อมกับปรับความเข้าใจใหม่ว่า พื้นที่ในสามวันนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกคน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ ไม่เพียงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของกิจกรรมเท่านั้น บทบาทของกระบวนกรไม่ได้เป็นแค่ผู้ออกแบบกระบวนการและให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นคนที่คอยเช็คและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้เข้าร่วมในระหว่างทาง หากสัมผัสได้ถึงสภาวะบีบคั้นหรือกังวล ก็อาจต้องพักจากบทเรียนชั่วคราว แล้วกลับมาเทความกังวลหรือแบ่งปันความรู้สึกกันอีกรอบ เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมไปต่อได้อย่างสมดุล

 

ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างลึกซึ้ง

เวลาเกือบครึ่งของการเวิร์กชอปถูกใช้ไปกับการให้แต่ละทีมได้ทบทวนที่มาของปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข ตั้งแต่การทำความเข้าใจภาพรวมจากปัญหาไปสู่วิธีแก้ไขอย่างยั่งยืนผ่านทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และการกลับไปขุดรากลึกของปัญหาผ่านการคิดอย่างเป็นระบบด้วยโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ( Iceberg Model) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเหตุที่ลึกขึ้นของปรากฏการณ์ที่เห็นผิวเผิน เช่น พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น และแนวคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นั้น ๆ การใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งไม่เพียงแต่ช่วยให้แต่ละทีมมีความชัดเจนในการพัฒนาไอเดียการแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้น แต่ยังช่วยทำให้ผู้เข้ารู้สึกเชื่อมโยงกัน เนื่องด้วยปัญหาได้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบต่างกัน แต่พวกเราทั้งหมดกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาในรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ “การมองคนไม่เท่ากัน” การเข้าใจปัญหาหาในมิติที่เชื่อมโยงกันได้ช่วยลดกำแพงในการแข่งขัน ขับเคลื่อนมิตรภาพ และทำให้เกิดการเปิดใจและสร้างกำลังใจให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่า “เราไม่ได้กำลังแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และยากนี้อยู่คนเดียว”

 

การพัฒนาโครงการผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ

รูปแบบกระบวนการที่เราใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกกลุ่มเป็นในลักษณะของการเรียนรู้จากเพื่อน (Peer-to-Peer learning) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนของการเวิร์กชอป โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสทั้งได้นำเสนอโครงการให้เพื่อน ๆ  ฟังและเป็นคนให้ข้อเสนอแนะ กระบวนการสะท้อนและให้ข้อแนะนำระหว่างกันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสถอยออกมาจากประเด็นปัญหาของตัวเอง มาลองมองปัญหามุมอื่น ๆ  และขยายมุมมองทางความคิด ซึ่งอาจทำให้เกิดประโยชน์ในการนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองต่อไป ทั้งนี้กระบวนการนี้ยังช่วยย้ำใจความสำคัญของงานอีกด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากเราโฟกัสอยู่ที่จุดของเราแค่เพียงจุดเดียว และพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องมาสร้างความร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

 

การพูดคุยกับเมนเทอร์

ในใบรับสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการถามแต่ละทีมว่ายังต้องการองค์ความรู้หรือคำแนะนำด้านไหนในการต่อยอดโครงการอีกหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าการได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ จะช่วยเสริมสร้างและผนึกองค์ความรู้ทำให้การพัฒนาโครงการมีความยั่งยืนมากขึ้น ในงานนี้เราจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญตามคำขอของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การสร้างความร่วมมือ กฎหมาย สื่อ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การขับเคลื่อนงานสันติภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เทคโนโลยี และการใช้เกมเป็นเครื่องมือในการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ มาช่วยให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์ การปรึกษาและพูดคุยนี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคคลที่ช่วยกันต่อยอดให้ไอเดียให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

การออกแบบเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอโครงการ

ส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ คือการออกแบบการเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอโครงการ โดยไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินรางวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่เยาวชนได้มีโอกาสส่งเสียงบอกผู้คนให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาที่คนภายนอกอาจจะไม่ทราบมาก่อน และยังเป็นพื้นที่แสดงพลังความตั้งใจของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย ถึงแม้ว่าเราจะสอนวิธีการนำเสนอ (pitch) ที่ดี มีโครงสร้างตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพที่วิเคราะห์มาจากหลายเวที แต่เราก็เน้นย้ำเสมอว่า ถ้าน้อง ๆ ไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างที่ให้ไป ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่น้อง ๆ ได้เล่าเรื่องที่อยากจะเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ทำให้ริเริ่มทำนวัตกรรมสังคมนี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในฐานะนักเปลี่ยนแปลงสังคมที่เยาวชนทุกคนสามารถทำได้ทันที

 

 

จะเห็นได้ว่าภายใต้แนวคิดการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 การแข่งขันประกวดนวัตกรรมเป็นเพียงประตูชั้นแรกสุดที่เชิญชวนทุก ๆ คนมาเข้าร่วมเท่านั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของงาน คือ “การสร้างพื้นที่สำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า Youth (เยาวชน) Co (ร่วมมือ) Lab (การทดลองสิ่งใหม่ ๆ ) และเราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของน้อง ๆ และความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหาสังคมเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ตัวเอง เราได้ยินเสียงน้อง ๆ ส่งเสียงเชียร์เพื่อนทีมอื่น ๆ ในช่วงนำเสนอโครงการ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างภาคที่ยังคงมาบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตหลังจากกลับบ้านไปแล้ว รวมไปถึงได้เห็นการชวนกันรวมกลุ่มเพื่อทำโครงการใหม่ ๆ ระหว่างภาค สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการว่า การแข่งขันบนบรรยากาศแห่งความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นได้จริง และแน่นอนว่าปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนอย่าง “การสร้างสันติภาพ” มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้รูปแบบการสร้างความร่วมมือนี้ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

สุดท้ายนี้ Thailand Social Innovation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติขอขอบคุณพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนที่มาร่วมสร้างสรรค์ให้งาน Youth Co:Lab ประเทศไทยในปีนี้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

-มูลนิธิซิตี้ ผู้สนับสนุนหลักระดับภูมิภาค
-คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สายการบินแอร์เอเชีย ผู้สนับสนุนในการจัดงาน
-สภาความมั่นคงแห่งชาติแห่งชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการพิเศษ
-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมจัดกระบวนการ
-เมนเทอร์ทุกท่านที่เต็มใจมาให้คำปรึกษาน้อง ๆ อย่างทุ่มเท
-คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ร่วมเป็นทูตประชาสัมพันธ์การจัดงาน Youth Co:Lab Thailand 2019
-และที่สำคัญที่สุด น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 สำหรับความตั้งใจและความทุ่มเท

 

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 22/10/2019
  • by: UNDP

‘เพราะคนในพื้นที่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา’ ถอดบทเรียนจากเวิร์กชอป Training of Trainers for Social Innovation and Social Enterprise Localization

แปลจากบทความภาษาอังกฤษเขียนโดย Haidy Leung จาก ChangeFusion

 

เวิร์กชอป Training of Trainers (ToT) for Social Innovation and Social Enterprise Localization ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ ChangeFusion และมี Tandemic เป็นผู้นำกระบวนการ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน จากทั่วทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ อุดรธานี ขอนแก่น  เลย พะเยา นครศรีธรรมศรีราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

ที่มาที่ไป

เมื่อปีที่แล้ว UNDP ได้ให้ ChangeFusion จัดทำรายงานการลงทุนทางสังคมและภูมิทัศน์นวัตกรรมการเงินในประเทศไทย (Social Impact Investment and Innovative Finance Landscape Mapping Report) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาช่องว่างและโอกาสในการลงทุนทางสังคม ที่จะสามารถพัฒนาและขยายนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมออกไปในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือการสนับสนุน ‘นักสร้างการเปลี่ยนแปลง’ หรือ changemaker ในท้องถิ่น การพัฒนาแบบกระจายอำนาจ เช่น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะในพื้นที่ (local incubation hub) และการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคมที่เน้นแฟ้น จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์รวมในประเทศเร็วขึ้น และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) บรรลุผลได้ตั้งแต่ในระดับรากหญ้า

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีโครงการบ่มเพาะ (social incubation program) เกิดขึ้นมาจำนวนมาก แต่การจัดกิจกรรม การสนับสนุน การให้ความรู้ หรือการรวมตัวกันในด้านนวัตกรรมสังคมและความเป็นผู้ประกอบการทางสังคมยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ระยะทางยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนที่มีความสามารถในจังหวัดอื่น ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าร่วม นอกจากนี้ เนื้อหาหรือการดำเนินกระบวนการบางอย่างที่ใช้ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้กับบริบทของพื้นที่อื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม  ยังมีข้อมูลความรู้ วิธีการ และกระบวนการดี ๆ อีกมากจากผู้บ่มเพาะในปัจจุบันที่สามารถแบ่งปันกับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ก่อนที่จะจัดเวิร์กชอป ToT ในครั้งนี้  UNDP ได้นำองค์กรที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการบ่มเพาะทางสังคม ทั้ง ChangeFusion School of Changemaker SEED Good Factoty และอื่น ๆ อีกมากมายมาเจอกัน เพื่อแสดงความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึก วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านั้นก็ได้ถูกรวบรวมออกมาเป็น ‘The Social Incubation Playbook’ และนำมาใช้ในเวิร์กชอปเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบการพัฒนาโครงการบ่มเพาะของผู้เข้าร่วมแต่ละคน

 

 

เกิดอะไรขึ้นใน 3 วันของการเวิร์กชอป?

วันที่ 1:

เริ่มต้นจากพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ผู้เข้าร่วมเรียนรู้การประมวลผล วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ที่จะรับการบ่มเพาะ) เพื่อทำความเข้าใจถึงแรงบันดาลใจในชีวิตและความต้องการที่แท้จริงของเขา


 

วันที่ 2:

หลังจากที่ได้โจทย์ปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ผู้เข้าร่วมก็เรียนรู้วิธีการะดมสมอง คิดไอเดีย และพัฒนาต้นแบบจำลอง (prototype) โดยมีการใช้การเล่นบทบาทสมมติ (Role Play) เพื่อทดสอบต้นแบบของแต่ละทีม

 

วันที่ 3:

ผู้เข้าร่วมได้ทดลองออกแบบแผนโครงการให้มีความยั่งยืน รู้จักวิธีการหารายได้ การสื่อสาร และการวัดผลกระทบทางสังคม ตามด้วยการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคนได้อย่างไร

 

สิ่งที่เราได้เรียนรู้และเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

 

1. กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปสนับสนุนและบ่มเพาะในพื้นที่อาจเป็นได้ทั้งนักกิจกรรมสังคม นวัตกรสังคม ผู้ประกอบการทางสังคม หรือทั้ง 3 แบบรวม ๆ กันก็ได้

ทุกคนมีอิสระในการเลือกกลุ่มเป้าหมายของตนเองตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะบ่มเพาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญ หรือไม่เคยมีประการณ์ในด้านนั้น ๆ มาก่อน ก็ต้องหาความร่วมมือจากผู้ที่จะช่วยเราได้ เช่น หากต้องการบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม แต่พื้นหลังความถนัดของเราเป็นนักกิจกรรมสังคมมาโดยตลอด เราอาจต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดไป


 

2. เครื่องมือที่รวมรวบมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริง

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พบว่าเครื่องมือที่ช่วยสกัดข้อมูลเชิงลึกมีประโยชน์มากกับการทำงานพัฒนา เนื่องจากมันทำให้เข้าใจทั้งความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ขึ้น ซึ่งโดยมากก็จะเป็นกลุ่มเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ที่สอนในเวิร์กชอปยังช่วยในการสะท้อนสิ่งที่ทำ กับเป้าหมายการสร้างการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่


 

3. ต้องนำเครื่องมือไปปรับใช้และลองทำซ้ำไปวนมาบ่อย ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

การใช้เครื่องมือใน playbook ให้ได้ผล ผู้ใช้ต้องรู้จักเอาไปทดลองทำบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา และค่อย ๆ ปรับให้เหมาะกับความต้องการ เพื่อที่จะหาวิธีการพัฒนาที่มีประสิทธิมากที่สุด

 

4. มีโอกาสอย่างมากที่จะจัดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (cross-learning session) กันได้ในอนาคต

แม้ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้จะมาจากหลากหลายพื้นที่ มีที่มาที่ไปที่ต่างกัน แต่ว่าแต่ละคนก็มีประสบการณ์และพบเจอปัญหาที่คล้ายกันหลายอย่าง เพียงแค่ต่างบริบทกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตใกล้กับประเทศลาวและเวียดนาม กับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคลายคลึงกันในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน เป็นต้น ผู้เข้าร่วมเห็นว่าเป็นการดีที่จะจัดเวิร์กชอปขึ้นอีกครั้งเพื่อติดตามผลหลังจากที่แต่ละคนได้ลองกลับไปประมวล ทดลอง และริเริ่มโครงการของตัวเอง เพื่อนำกลับมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้นั้น และหาโอกาสในการทำงานร่วมมือกันระหว่างภูมิภาค

 

Keywords: , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779