• Published Date: 12/08/2021
  • by: UNDP

เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าของเยาวชนชาติพันธุ์ ณ วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021

 

ณ วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021

จำนวนหนึ่งในสามของประชากรทั่วโลกในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศไว้ว่าจะบรรลุให้ได้ในปี 2030 หรือ อีกเพียงแค่ประมาณ 10 ปีนับจากนี้ นั้นก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าเราจะไม่นับรวมกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอนาคต

และถึงแม้ว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ จะถือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นแล้วจริงหรือไม่? อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ เพราะแก่นของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผลลัพธ์อย่างเดียวว่าเราพัฒนา “อะไร” แต่รวมไปถึงว่าเราจะพัฒนา “อย่างไร” สิ่งสำคัญมากกว่าคือเราควรตั้งคำถามกับกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นว่าสร้างการมีส่วนร่วม และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนหรือไม่? หรือการพัฒนาของเราจะนำไปสู่การทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังหรือเปล่า? “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงเป็นหัวใจที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

แล้วใครกันบ้างล่ะ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? เราอาจจะนึกถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงโครงการพื้นฐาน นึกไปถึงคนไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการขึ้นพื้นฐาน นึกถึงผู้พิการที่เข้าไม่ถึงการเดินทาง โอกาสทางการศึกษาและอุปกรณ์หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม นึกถึงคนจนเมืองที่เข้าไม่โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกกีดกันในโอกาสการรับบทบาทบางอย่างในสังคม ฯลฯ อะไรที่ทำให้เขาถูกหลงลืมในการพัฒนา?

ปัจจัยพื้นฐานของการถูกกีดกันมักมาจากตัวตนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ร่างกาย ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม แต่จะว่าไปแล้วทุกคนก็ย่อมมีอัตลักษณ์เหล่านี้อยู่ในตัว เพียงแต่เราเคยนึกถึงปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ ว่าปัจจัยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง?

กิจกรรม Online Youth Dialogue on Leave No One Behind เป็นกิจกรรมวงสนทนาเยาวชน 4 วงที่ชวนเยาวชนมารู้จักกับ “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกสังคมหลงลืมไว้ข้างหลังด้วยอัตลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ วงสนทนากับเยาวชนจากชุมชนชายฝั่ง วงสนทนากับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และวงสนทนากับเยาวชนพิการ โดยเบื้องหลังของกิจกรรมนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าการสร้างพื้นที่พูดคุย เพื่อทำความรู้จัก เป็นเพื่อนกัน และได้มีพื้นที่ในการถามคำถามเพื่อเข้าใจถึงวิถีชีวิต ตัวตน และความต้องการที่แท้จริง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การสร้างสังคมที่เข้าถึงทุกคน เนื่องในวันเยาวชนสากล 2021 เราจึงได้นำส่วนหนึ่งของ “วงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์” มาเผยแพร่ เพื่อชวนทุกคนมารับรู้ “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชาติพันธุ์ไปด้วยกัน

 

1. เมื่อชาติพันธุ์มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสัญชาติ จึงนำไปสู่อุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ

เมื่อชาติพันธุ์ไม่เป็นเพียงชาติพันธุ์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับอีกปัจจัยหนึ่งคือสัญชาติ เยาวชนชนเผ่าหลาย ๆ คนมักถูกตั้งคำถามในการได้รับสัญชาติ เนื่องจากชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่าง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่มีความห่างไกล ทำให้หลาย ๆ คนไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติซึ่งใช้เวลาหลายปี ทำให้เยาวชนชนเผ่าหลายคนต้องอยู่ในสถานะ “บุคคลไร้สัญชาติ” ซึ่งสถานะนี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสอีกหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน ข้อจำกัดในการเดินทาง ในวัยของการคนหาตัวตน เรียนรู้โลกกว้าง แต่พวกเขากลับถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่ได้เพียงในจังหวัดที่อยู่อาศัย รวมไปถึงโอกาสในการศึกษาและอาชีพ เมื่อไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่อาจเลือกประกอบอาชีพบางสายงานได้ ถึงแม้จะได้เรียนในสายนั้นก็ตามเยาวชนไร้สัญชาติต้องเผชิญกับการไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ และไม่มีโอกาสที่จะออกแบบชีวิตที่ตนเองต้องการได้อย่างเต็มที่ แม้จะอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด

นอกจากนี้การไม่มีสัญชาติยังนำไปสู่ปัญหายิบย่อย ทำให้เยาวชนชาติพันธุ์ที่ต้องปรับตัวในการเข้าสังคม เช่น บางคนไม่มีนามสกุล และต้องตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ ว่าทำไมถึงไม่มีนามสกุล ยังไม่รวมไปถึงการถูกเพื่อนล้อ เกิดเป็นความรู้สึกแตกต่าง และถูกด้อยค่าจากการไม่มีสัญชาติ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความรู้สึกของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

นี่คือเรื่องราวที่ “สุชาติ” เยาวชนไทใหญ่บอกเล่าให้กับเพื่อน ๆ ในวงสนทนา แม้วันนี้เขาจะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะเข้ากระบวนการขอสัญชาติมาแล้วเป็นเวลากว่าสิบปี และยังมีเพื่อนพี่น้องของเขาอีกหลายคนที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่สุชาติก็ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออก ด้วยการสร้างเพจ “ตี่ตาง” เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลและช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และกระบวนการขอสัญชาติ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งคนในสังคมจะรับรู้และเข้าใจประสบการณ์ที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญ และมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ เพื่อให้ทุกคนในไทยเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียมมากขึ้น

 

2. เยาวชนชนเผ่ากับวิถีชีวิตแบบ Hybrid

หากพูดถึงชนเผ่า เราอาจจะมีภาพจำของการอยู่อาศัยในชุมชน และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว เยาวชนจำนวนมากไม่ได้อยู่อาศัยที่ชุมชนอีกต่อไป นี่เป็นคำบอกเล่าจาก “น้ำ” เยาวชนอาข่าที่บอกกับวงสนทนา น้ำเล่าให้ฟังว่า เธอจำวัยเด็กของเธอได้ที่อาศัยอยู่กับแม่เฒ่าและจำได้ถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชนที่ถูกเอามารังสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แต่เมื่อโตขึ้น เยาวชนชนเผ่าต้องออกจากหมู่บ้านของตนเองเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ เมื่อเรียนจบและได้กลับมาที่หมู่บ้านของตนเอง ก็ค้นพบว่าวิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่นนั้นหายไปมาก อีกทั้งความเป็นเยาวชนชนเผ่าที่ไปเติบโตในเมือง ก็เป็นความหลากหลายของประสบการณ์ในตัวเองที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของตัวเองในฐานะเยาวชนชนเผ่าเช่นกัน แต่ด้วยความทรงจำวัยเด็กของน้ำที่ผูกพันกับทรัพยากรในท้องถิ่น น้ำจึงตัดสินใจทำกิจกรรม Seed Journey กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชวนบรรดาเชฟมาเรียนรู้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นในชุมชน เพื่อรณรงค์ให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน รวมไปถึงเป็นการรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ จากทรัพยากรในชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรท้องถิ่น

หากเราพูดถึงเยาวชนชนเผ่าในทุกวันนี้ จึงอาจจะไม่ใช่ภาพจำของเยาวชนที่เติบโตมาในชุมชนแบบแยกขาดจากเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเยาวชนที่มีส่วนผสมของการรับรู้รากเหง้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและการซึมซับองค์ความรู้ มุมมองและเทคโนโลยีจากประสบการณ์ที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งบางครั้งอาจจะนำไปสู่การต้องทบทวนความเป็นตัวตน แต่ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การประยุกต์และทำให้เกิดการวิวัฒน์ต่อยอดภูมิปัญญาของชนเผ่าให้คงอยู่ต่อไปในบริบทปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน

 

3. กะเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่อาจจะไม่เท่ากับการทำไร่หมุนเวียนและการทอผ้าเสมอไป

หากพูดถึงชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” เราอาจจะนึกถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับของคนกับป่า ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่หมุนเวียน มีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปี หรือการทอผ้าด้วยมือที่เป็นเอกลักษณ์จากทรัพยากรในชุมชน แต่ “ศิริ” เยาวชนลาวอีสานที่เติบโตมากับครอบครัวกะเหรี่ยงได้มาบอกเล่าในวงสนทนาว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่แม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นชุมชนของพี่ ๆ น้อง ๆ ของเธอนั้นเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ต้องประสบกับภัยสงครามบริเวณชายแดน ต้องอพยพกันหลายครั้งหลายครา ทำให้ไม่สามารถปักหลักในการทำไร่หมุ่นเวียนดั่งภาพจำที่เรามักคุ้นชินได้ อีกทั้งภูมิประเทศที่เป็นขั้นบันได ก็ไม่เอื้อต่อการทำไร่หมุนเวียน และเมื่อต้องหนีภัยสงครามกันตลอดเวลา ก็ทำให้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาเลือนหายไป และทดแทนเข้ามาด้วยปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการศึกษา ฯลฯ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วถูกขยายขึ้นไปอีก ศิริและเพื่อนๆจึงทำโครงการผ้าทอสีรุ้ง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้การออกแบบด้วยสีรุ้งยังเป็นการสร้างการตระหนักเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในการทำความเข้าใจอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการทำผ้าทอของผู้หญิงแม่สามแลบนั้นก็ไม่ได้ง่าย เนื่องจากผู้หญิงในชุมชนสูญเสียความรู้ในการทอผ้ามานานจากการย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนอาชีพ จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการเริ่มรื้อฟื้น โดยน้องศิริและเพื่อน ๆ ต้องเดินทางไปเรียนรู้วิธีการทอผ้าในชุมชนจังหวัดอื่น ๆ และกลับมาสอนผู้หญิงในชุมชน (ไม่สามารถพาผู้หญิงในชุมชนออกไปดูงานการทอผ้าได้ เพราะผู้หญิงในชุมชนไม่มีสัญชาติจึงทำให้การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นเรื่องยาก) แต่ผลผลิตผ้าทอสีรุ้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้หญิงในชุมชนมีรายได้ เป็นการหนุนอำนาจให้กับผู้หญิงในครอบครัวให้ทัดเทียมกับผู้ชายที่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเมื่อมีคนสนใจซื้อผ้าทอสีรุ้งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคมอีกด้วย

ความเป็นชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง

เรื่องราวเหล่านี้เป็นหนึ่งใน “เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่า” ของเยาวชนชนเผ่าที่ถูกนำมาเล่าในวงสนทนากับเยาวชนชาติพันธุ์ ทำให้เยาวชนอื่น ๆ ได้รู้จักกับวิถีชีวิตของเยาวชนในมุมที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ทุกคนยังได้ตั้งวงแลกเปลี่ยนกันถึง “อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์” ในตัวเอง ว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของแต่ละคนนั้นส่งผลต่อชีวิตประจำวันในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร การเดินทาง การศึกษา สิ่งที่ชอบ ความเชื่อ ความรัก ฯลฯ ซึ่งเราก็ได้เห็นความเป็นชาติพันธุ์ที่ทั้งส่งผลให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในความชอบ ความผูกพันกับวิถีชีวิตหรือการเข้าถึงโอกาส เราค้นพบว่า บางครั้งชาติพันธุ์ที่แตกต่างก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่แบ่งแยกเราจากกัน เราก็ยังมีอาหารบางชนิดที่ชอบเหมือน ๆ กัน มีความสนใจบางอย่างที่แชร์กันอยู่ หรือมีความฝันต่อสังคมที่มองเห็นร่วมกัน

“ความเป็นชาติพันธุ์” นั้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ถ้าเราตระหนักได้ว่าความเป็นชาติพันธุ์ก็เป็นเพียงอัตลักษณ์หนึ่งที่ทุกคนต่างก็มีในตนเอง หากเราตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เราได้รับจากชาติพันธุ์ของเรา เราอาจจะเห็นช่องว่างความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และหากเราเข้าใจว่าความหลากหลายของชาติพันธุ์นั้นเป็นเรื่องปกติในสังคม เราอาจจะมองหานวัตกรรมในการพัฒนาที่เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้นก็เป็นได้

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายได้ที่ www.you-me-we-us.com

Keywords: , ,
  • Published Date: 27/12/2019
  • by: UNDP

‘Local Chef’s to Peace Project’ สร้างสันติ ‘ไทยพุทธ มุสลิม ไทยจีน’ ในชายแดนใต้ด้วยอาหารถิ่น

ทุกวันนี้ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้น หลายฝ่ายต่างช่วยกันค้นหาวิธีการยุติเรื่องราวเหล่านี้ รวมไปถึงเยาวชนภาคใต้ที่ตั้งใจเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความสงบ นั่นคือความตั้งใจของทีม ‘Local Chef’s to Peace Project’ ประกอบไปด้วย พัดลี โตะเดร์, อารฟา บือราแง, อิสกันดาร์ กูโน และตัรมีซี อนันต์สัย แชมป์จากการแข่งขันโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 ที่หยิบรสอร่อยของอาหารถิ่น มาสร้างสันติให้ ‘ไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน’ ในชายแดนใต้

 

 

เพราะอยากให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เรามองเห็นถึงปัญหาของคนในพื้นที่ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องของความหลากหลายทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน รวมไปถึงการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เราจึงคิดวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ จนกลายมาเป็นโครงการที่ชื่อว่า ‘Local Chef’s to Peace Project’

 

 

อาหารสร้างสันติภาพ 

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราหยิบประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน จากหลากหลายศาสนามารวมกันอยู่ในจานเดียวกัน โดยที่ทุกศาสนาสามารถทานอาหารได้โดยไม่มีข้อกังวล เพราะในพื้นที่เองมักจะมีปัญหาเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหาร ที่มีการแบ่งแยกเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความห่างเหินในการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่

 

 

‘ขนมอาซูรอ’ เชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อลดความหลากหลาย

Local Chef’s to Peace Project : เราเลือก ‘ขนมอาซูรอ’ เพราะคือขนมหวานที่ได้จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกัน แล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวคล้ายขนมเปียกปูน ซึ่งจะมีประเพณีการกวนขนมอาซูรออยู่ โดยเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวนชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน กลายเป็นความสามัคคีของคนในชุมชน

 

 

อาหารอาจไม่ได้ลดความขัดแย้งทั้งหมด แต่ก็สร้างการเรียนรู้ 

Local Chef’s to Peace Project : การใช้อาหารอาจจะไม่ได้ลดความขัดแย้งไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาหารที่เรานำเสนอก็จะเป็นตัวเชื่อมให้คนที่มาจากหลากหลายถิ่น เข้ามาอยู่ร่วมกันและเกิดการสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งท้ายที่สุดอย่างน้อยแล้วมันก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาบ้าง

สังคมที่ไว้วางใจกัน คือภาพในอนาคตที่ฝันอยากให้เกิดขึ้น

Local Chef’s to Peace Project : พวกเราอยากเห็น สังคมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตามแต่ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปราศจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

 

 

ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการ 

Local Chef’s to Peace Project : ตอนแรกที่ประกาศทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการมันรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเรารู้สึกว่าต้องมีกิจกรรมที่มันน่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน และพอได้เข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก ได้เจอกับเพื่อนที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน และเราเองก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ

ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ตอนประกาศผลมันเป็นอะไรที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ เพราะพวกเราต่างพากันดีใจแบบสุดชีวิต อีกมิติหนึ่งก็เหมือนกับเราเองได้ทลายกำแพงที่สูง มันคือกำแพงที่เราต้องแบกความหวังจากคนในพื้นที่ คนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเองด้วย เพื่อนทุกทีมต่างพากันปรบมือดีใจกับทีมพวกเรา เป็นความรู้สึกที่ประทับใจมากเลย

 

#UNDP #UCxUNDP #RespectDifferences #EmbraceDiversity #YouthCoLab2019
#YouthCoLabThailand #PVE #PreventingViolentExtremism #SocialInnovatio #SDGs
Keywords: , , ,
  • Published Date: 04/12/2019
  • by: UNDP

ถอดบทเรียน ‘National Dialogue’ : อยู่อย่างเข้าใจและไม่ใช้ Hate Speech

Youth Co:Lab Thailand 2019 ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2562 เราได้เปิดประสบการณ์ใหม่กับน้องๆ ผู้เข้าร่วมทั้ง 10 ทีมเกี่ยวกับการคิดหาวิธีลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างสงบท่ามกลางความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนา National Dialogue ซึ่งเป็นการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับ Inter-faith Intolerant in Thai Society

ในหัวข้อ ‘Embracing Diversity’ เพราะหลายปีที่ผ่านมา  ในสังคมไทยยังคงมีภาพของการดูแคลนระหว่างผู้คนต่างอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา โดยเฉพาะในช่องทางสื่อออนไลน์ ที่โซเชียลมีเดียทำให้ประเด็นนี้รุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การแสดงความเกลียดชังในโลกออนไลน์ (online hate speech) และส่งผลต่อความเกลียดชังในโลกออฟไลน์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) จึงริเริ่มความร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อศึกษาการใช้ภาษา การสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายการแสดงความเกลียดชัง (hate speech) ในสื่อสังคมออนไลน์  เพื่อให้สังคมเข้าใจการดำรงอยู่ของปรากฏการณ์เหล่านี้ และร่วมป้องกันไม่ให้ความเกลียดชังลุกลามกลายเป็นความรุนแรง ผ่านการมุ่งสร้างวัฒนธรรมที่เคารพและให้เกียรติความหลากหลายในสังคม

ภายในงานเสวนาหยิบยกประเด็นเรื่องความเกลียดชังระหว่างความเชื่อในสังคมมาพูดคุยกัน ซึ่งมีหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ประชาสังคม สื่อ และเยาวชนให้เกียรติเข้าร่วมงาน เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและการเปิดรับที่มากขึ้นในอนาคต และผู้เข้าร่วมอย่างเราได้เรียนรู้หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว นั่นคือ ‘Hate Speech in Social Media’ หรือ ‘ภาวะที่คนไม่ทนกันจนก่อให้เกิดคำพูดเชิงเกลียดชังในสื่อออนไลน์’ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์และการใช้ถ้อยคำเชิงเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างพุทธ-มุสลิม จากการเข้าร่วมเสวนาเราได้รับข้อคิดจากงานเพื่อปรับใช้ในชีวิต  4 ข้อ

01 Hate Speech 4 ระดับ

รายงายชิ้นนี้ ศึกษาด้วยการเสิร์ชคำค้นหาในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ อย่าง เฟซบุ้ก เพื่อเก็บข้อมูลและแบ่งประเภทของคำพูดเชิงเกลียดชัง ซึ่งทำให้เรารู้ว่า คำพูดเชิงเกลียดชังสามารถแบ่งได้ 4 ระดับ

  1. แสดงความจงเกลียดจงชัง (Intense Dislike) แบ่งความเป็นพวกเขาและพวกเรา เช่น พวกมัน พวกหนักแผ่นดิน พวกนอกรีด ฯลฯ
  2. ยั่วยุให้เกลียดโดยกล่าวโทษรุนแรง ประณาม เหยียดหยาม และลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่น กระจอก เห็นแก่ตัว โจรหมา เอาหมูยัดปาก ไม่ใช่คน ฯลฯ
  3. แสดงการปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน เช่น ออกไปเลย อยู่ด้วยกันไม่ได้ แยกดินแดนไปเลย ฯลฯ
  4. ยั่วยุให้ทำผิดกฎหมาย และการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพเพื่อทำลายล้าง เช่น เก็บมันให้หมด เด็ดหัว ยิงทิ้ง เก็บไว้ก็หนักแผ่นดิน ฯลฯ

02 สถานการณ์ Hate Speech ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 2

ผลของรายงานครั้งนี้พบว่า โลกออนไลน์ในบ้านเรา มักใช้คำพูดเชิงเกลียดชังในระดับที่ 2 ยั่วยุให้เกลียดโดยกล่าวโทษรุนแรง ประณาม เหยียดหยาม และลดทอนความเป็นมนุษย์ พวกเราฟังแล้วหยุดคิด … เอ … สังคมไทยที่เรารู้จัก มาถึงขั้นนี้เลยหรอ … ยังดีนะ ที่เรามาเริ่มคุยกันก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงกว่านี้จนแก้ปัญหาได้ยาก ดีนะที่เรามาเริ่มเอะใจกับสถานการณ์ก่อนที่พวกเราจะไม่สามารถมานั่งคุยกันแบบนี้ได้ ยังดีนะ … ที่เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เล็กน้อยก่อนที่จะผู้คนจะเริ่มหยิบใช้อาวุธมาห้ำหั่นกัน อย่างปิดหูปิดตา ปิดใจ ยังดีนะ .. ที่เราได้เริ่มต้นขบคิดการแก้ปัญหานี้กัน

03 เข้าใจ Counter Speech

การเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ยังทำให้เราได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Counter Speech’ ซึ่งหมายถึง ข้อมูลในแง่มุมโต้แย้งกับคำพูดเชิงเกลียดชังที่เกิดขึ้น มักพบจากการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับบางความเห็น ทำให้คนฟังหรือคนอ่านข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้หยุดคิด และทบทวนความคิด หรือความเชื่อที่เรามีว่า เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า

04 Hate Speech จะลดได้ต้องใช้ความร่วมมือ

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการเข้าร่วมเสวนา National Dialogue ครั้งนี้ คือการทำงานเพื่อลดคำพูดเชิงเกลียดชังนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกๆฝ่าย มาร่วมถกประเด็น หาทางออก หาทางลดความรุนแรงผ่านแป้นพิมพ์ หาทางลดแนวคิดสุดโต่ง โดยอาศัยการคิดค้นหาวิธีการกันอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมให้เกิดขึ้นในวันข้างหน้า

 

ผลของรายงาน ‘Hate Speech in Social Media’ หรือ ‘ภาวะที่คนไม่ทนกันจนก่อให้เกิดคำพูดเชิงเกลียดชังในสื่อออนไลน์’ ทำให้เราได้หยุด และคิดทบทวนก่อนที่จะพิมพ์ หรือแสดงความคิดเห็นอะไรลงไปในโลกโซเชียลเสมอ

 

Keywords: , , ,
  • Published Date: 15/11/2019
  • by: UNDP

Youth Co:Lab Thailand 2019 ถอดบทเรียนโครงการประกวดนวัตกรรมสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เยาวชนเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์  ในปัจจุบันเยาวชนมักถูกกล่าวถึงในมุมมองไม่ใช่เพียงแต่ “ผู้ได้รับผลประโยชน์” จากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น  แต่ยังมีบทบาทเป็น “ผู้ขับเคลื่อน” การพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เยาวชนมีบทบาทในการเป็นผู้ขับเคลื่อนได้ คือการสร้างพื้นที่ ให้สังคมได้รับฟังเสียงของเยาวชน และให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่พวกเขาอยากเห็น โครงการ Youth Co:Lab จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสร้างการขับเคลื่อนสังคมจากระดับเยาวชน

Youth Co:Lab เป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาสังคมในแบบที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย

รูปแบบของโครงการ Youth Co:Lab ในประเทศไทย คือการเฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมทางสังคมจากเยาวชนทั่วประเทศไทย และให้เยาวชนมาเข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) รวมไปถึงเรียนรู้การพัฒนาแผนทางการเงินและธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก่อนจะนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อชิงทุนในการนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตนเอง โดยปีนี้ เรามาพร้อมกับความตั้งใจที่จะเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือการทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางเข้าใจและเข้าถึงปัญหาที่มีความซับซ้อน และสามารถนำแนวคิดนวัตกรรมสังคมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เราได้ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเลือกใช้โจทย์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง การใช้กระบวนการทางนวัตกรรมจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นหรือไม่ และนี่คือหนึ่งในความตั้งใจของเราเมื่อตัดสินใจหยิบยกประเด็นปัญหาทางสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น “การป้องกันความรุนแรงแบบสุดโต่ง การจัดการความขัดแย้ง และการลดความเหลื่อมล้ำ” มาเป็นแนวคิดคิดหลักของงาน

หากพูดถึงความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่สั่งสมมาจากมุมมองของคนที่ต่างกัน นำไปสู่ ‘การตัดสิน’ และ ‘การตีตรา’ ผู้อื่น การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากการเปิดใจและยอมรับความหลากหลาย “การสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงกลายเป็นโจทย์ของ Youth Co:Lab ในปีนี้ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยเอง มีความหลากหลายในสังคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกอยู่หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการการเอาชนะ กดทับกลุ่มที่เห็นต่าง การต่อสู้ระหว่างกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และอาจพาไปถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเองก็เป็นได้

เมื่อตั้งต้นโจทย์ด้วย “การเคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงจำเป็นอย่างมากที่กระบวนการทำงานของเราจะต้องสะท้อนคุณค่านี้ออกมาด้วย พวกเราจึงมีความตั้งใจมากในการเข้าถึงเยาวชนที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราอยากให้เยาวชนที่กำลังประสบปัญหาโดยตรงเหล่านี้ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงแนวคิดและส่งไอเดียนวัตกรรมสังคมเข้ามาด้วยตัวเอง เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้จริง ต้องเกิดจากการเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง และ Youth Co:Lab เป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับเยาวชน หากเราพาเครื่องมือนี้ไปถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในปัญหา เขาอาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเขาได้

ดังนั้นถึงแม้งาน Youth Co:Lab จะฟังดูเหมือนเป็นงานอีเวนต์ในระยะเวลาแค่ 3 วัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบและดำเนินการมาในระยะเวลาหลายเดือนเพื่อที่จะทำให้ Youth Co:Lab เป็นโครงการบ่มเพาะที่เข้าถึงเยาวชนทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ซึ่งในบทความนี้จะมาถอดบทเรียนกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ กระบวนการก่อนงาน และกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

ก่อนจะถึงงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

กิจกรรม Roadshow ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

เริ่มต้นด้วยการไป Roadshow ในภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ อีสาน และเหนือ โดยเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอคำแนะนำในการเข้าถึงเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของการจัด Roadshow ก็แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่นในภาคใต้ เราเน้นการไปลงพื้นที่พบปะกลุ่มเยาวชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่องค์กรของเขาเอง ในภาคอีสาน เราไปจัดงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิหรือพัฒนาสังคมผ่านกิจกรรมชมรม และในภาคเหนือ เราได้ประสานไปยังเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ เพื่อเข้าถึงเยาวชนจากหลากหลายชาติพันธุ์ของประเทศ

การปรับรูปแบบให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื้อหากิจกรรมใน Roadshow ก็ยังคงมีใจความเดียวกัน นั่นคือ การให้เยาวชนได้แบ่งปันและพูดคุยถึงความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง การแนะนำแนวคิดนวัตกรรมสังคม และการให้คำปรึกษาน้อง ๆ ในการพัฒนาโครงการ

การได้ฟังประสบการณ์ของเยาวชนที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันในระหว่าง Roadshow ให้เราเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของความแตกต่างหลากหลายในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเมื่อยิ่งได้ฟังเรื่องราวของน้อง ๆ ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เรากำลังเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เรามองหาจริง ๆ นั่นคือ กลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง และเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอในสังคมวงกว้างเท่าไรนัก เช่น เรื่องราวของน้องเยาวชนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไร้สัญชาติ กับความพยายามในขอสัญชาติมานานกว่า 11 ปี และยังคงต่อสู้ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย หรือ น้องทีมฟุตบอลหญิงชาวมุสลิมที่แต่งตัวไม่ตรงตามหลักศาสนา เนื่องจากขาดความคล่องตัว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจจากคนในพื้นที่ เป็นต้น เมื่อเราได้ลองใส่แว่นในมุมของเขาแล้ว ขั้นต่อไปคือการเชิญชวนให้เขาได้ลองใส่แว่นในมุมมองของเราบ้าง และนั่นก็คือการแนะนำให้เขารู้จักกับ “นวัตกรรมสังคม” น้อง ๆ หลายคนจะรู้สึกว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาไม่มีความรู้ เราจึงต้องเริ่มปูพื้นให้ความหมายของนวัตกรรมสังคม ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือคือ “วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ” ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเป็นเรื่องที่พวกเขากำลังทดลองทำกันอยู่ก็เป็นได้ โดยเราได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมสังคมจากหลากหลายประเทศมาประกอบเพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้ว คำถามที่เรายังได้ยินจากปากน้อง ๆ ทุกภาค คือ “แล้วโครงการของหนูจะดีพอไปสู่กับภาคอื่น ๆ เหรอพี่” ซึ่งทุกครั้งเราก็จะยิ้มแล้วบอกน้องว่า “การที่น้องเป็นคนที่อยู่ในปัญหาแล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นั่นทำให้น้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดแล้ว เพราะเราย่อมเข้าใจปัญหาของเราได้ดีที่สุด” คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตัวเองของเยาวชน ในขณะที่เราเองก็อยากให้น้อง ๆ เห็นสิ่งที่เรามองเห็นเช่นกันว่า พวกเขามีความกล้าหาญและมีศักยภาพมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว เราจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจด้วยการเปิดโอกาสสำหรับการปรึกษาโครงการว่า ตอนนี้มีโครงการอะไรที่น้อง ๆ อยากทำหรือกำลังทำอยู่บ้าง และควรไปทำการบ้านพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อจะสมัครเข้าร่วม Youth Co:Lab ได้

เมื่อเสร็จสิ้นการ Roadshow และปิดรับสมัครส่งโครงการ เราจึงดีใจมากที่ได้เห็นน้อง ๆ ที่เราไปพบหลาย ๆ คนก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง และตัดสินใจส่งโครงการมาเข้าประกวดในครั้งนี้

 

การบ้านในการเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมงาน

เนื่องจากระยะเวลาในงาน Youth Co:Lab นั้นค่อนข้างสั้น การจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3 วัน เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมไปทำการบ้านมาก่อน แม้ว่าโครงการที่ส่งเข้ามาจะอยู่ในระยะที่ต่างกัน บางโครงการอยู่ในระยะริเริ่มไอเดีย ในขณะที่บางโครงการอาจจะมีการทำ Prototype หรือนำผลิตภัณฑ์ตัวเองออกสู่ตลาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกทีมไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดต้องมีคำตอบที่ชัดเจนเพื่อจะไปต่อกับโครงการได้จริง คือ การทำความเข้าใจผู้ใช้หรือผู้ที่เราต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เราจึงให้การบ้านกับแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบไปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เรียบเรียงไปคู่กับเป้าหมายที่แต่ละทีมอยากเห็นในอนาคต ผ่านเครื่องมือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)” เพื่อเป็นการทบทวนเจตจำนงในการทำโครงการก่อนมาเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ การบ้านที่กล่าวมาก็เป็นกระบวนการที่น้อง ๆ จะได้ลองผิดลองถูก ทำความเข้าใจกับบริบทของปัญหา และตรวจสอบความเป็นไปได้หรือความถูกต้องของสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาที่คิดขึ้น  เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกทีมจะต้องมาพร้อมกับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมก็เป็นกระบวนการที่ต้องมีการทำซ้ำและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจุดประสงค์ของการทำการบ้านนี้จึงเป็นไปเพื่อให้น้อง ๆ ได้ออกมาจากวิธีการคิดเดิม ๆ รู้จักมองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และลองทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือดูก่อนเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

มิตรภาพ

จุดประสงค์ของงาน Youth Co:Lab ไม่ใช่เพียงการแข่งขันหาผู้ชนะที่จะได้เงินรางวัลในการไปต่อ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนที่มีความเชื่อและความตั้งใจในการแก้ปัญหาสังคมมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง เพื่อไปเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่ของตัวเองต่อไป ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ตัวตนของกันและกันด้วยความเคารพในความแตกต่าง และเปิดรับความหลากหลาย กิจกรรมในคืนแรกของงานจึงเน้นไปที่การผ่อนคลายให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน  แต่ก็ยังแฝงการปูพื้นแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสังคมเข้าไป
เราแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ
1)  การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกรณีศึกษานวัตกรรมสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้นำเนื้อหามาสื่อสารผ่านการเล่นเจงก้ายักษ์ ซึ่งต้องเล่นกันเป็นทีมด้วยความสามัคคี ทำให้เยาวชนจากต่างกลุ่มได้รู้จักกันมากขึ้น
2) การแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งอุปสรรค ความท้าทาย และความสำเร็จของเยาวชนผู้มาเป็นวิทยากร จากภาคเหนือ กลาง และใต้ ที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมสังคมเพื่อสันติภาพ พร้อมรับประทานอาหารและเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมได้สังสรรค์ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
3) การทำความรู้จักตัวตนของเพื่อน ๆ ผ่านการเล่นเกม เช่น I am… but I am not… ซึ่งเป็นบัตรชวนพูดคุยในมื้ออาหาร หรือ Common Ground หาจุดร่วมและจุดต่างของแต่ละคน เพื่อสร้างความสนิทสนม ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดเผยตัวตน และทำความเข้าใจในความหลากหลายของทุก ๆ คน

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย

การทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์ในคืนแรกถือเป็นประตูบานแรกสำหรับการเปิดรับความแตกต่างระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างให้มีพื้นที่ปลอดภัยก่อนเข้าสู่เนื้อหาของการเวิร์กชอปที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ วิธีการของเราเริ่มต้นด้วยการเช็คความรู้สึกและความคาดหวังของผู้เข้าร่วม ให้น้อง ๆ ได้เท “ความกลัว” และความรู้สึกกดดันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานออกมา ซึ่งการได้เปิดใจต่อความกลัวนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านการเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ พร้อมกับปรับความเข้าใจใหม่ว่า พื้นที่ในสามวันนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกคน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ ไม่เพียงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของกิจกรรมเท่านั้น บทบาทของกระบวนกรไม่ได้เป็นแค่ผู้ออกแบบกระบวนการและให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นคนที่คอยเช็คและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้เข้าร่วมในระหว่างทาง หากสัมผัสได้ถึงสภาวะบีบคั้นหรือกังวล ก็อาจต้องพักจากบทเรียนชั่วคราว แล้วกลับมาเทความกังวลหรือแบ่งปันความรู้สึกกันอีกรอบ เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมไปต่อได้อย่างสมดุล

 

ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างลึกซึ้ง

เวลาเกือบครึ่งของการเวิร์กชอปถูกใช้ไปกับการให้แต่ละทีมได้ทบทวนที่มาของปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข ตั้งแต่การทำความเข้าใจภาพรวมจากปัญหาไปสู่วิธีแก้ไขอย่างยั่งยืนผ่านทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และการกลับไปขุดรากลึกของปัญหาผ่านการคิดอย่างเป็นระบบด้วยโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ( Iceberg Model) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเหตุที่ลึกขึ้นของปรากฏการณ์ที่เห็นผิวเผิน เช่น พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น และแนวคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นั้น ๆ การใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งไม่เพียงแต่ช่วยให้แต่ละทีมมีความชัดเจนในการพัฒนาไอเดียการแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้น แต่ยังช่วยทำให้ผู้เข้ารู้สึกเชื่อมโยงกัน เนื่องด้วยปัญหาได้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบต่างกัน แต่พวกเราทั้งหมดกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาในรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ “การมองคนไม่เท่ากัน” การเข้าใจปัญหาหาในมิติที่เชื่อมโยงกันได้ช่วยลดกำแพงในการแข่งขัน ขับเคลื่อนมิตรภาพ และทำให้เกิดการเปิดใจและสร้างกำลังใจให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่า “เราไม่ได้กำลังแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และยากนี้อยู่คนเดียว”

 

การพัฒนาโครงการผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ

รูปแบบกระบวนการที่เราใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกกลุ่มเป็นในลักษณะของการเรียนรู้จากเพื่อน (Peer-to-Peer learning) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนของการเวิร์กชอป โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสทั้งได้นำเสนอโครงการให้เพื่อน ๆ  ฟังและเป็นคนให้ข้อเสนอแนะ กระบวนการสะท้อนและให้ข้อแนะนำระหว่างกันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสถอยออกมาจากประเด็นปัญหาของตัวเอง มาลองมองปัญหามุมอื่น ๆ  และขยายมุมมองทางความคิด ซึ่งอาจทำให้เกิดประโยชน์ในการนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองต่อไป ทั้งนี้กระบวนการนี้ยังช่วยย้ำใจความสำคัญของงานอีกด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากเราโฟกัสอยู่ที่จุดของเราแค่เพียงจุดเดียว และพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องมาสร้างความร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

 

การพูดคุยกับเมนเทอร์

ในใบรับสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการถามแต่ละทีมว่ายังต้องการองค์ความรู้หรือคำแนะนำด้านไหนในการต่อยอดโครงการอีกหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าการได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ จะช่วยเสริมสร้างและผนึกองค์ความรู้ทำให้การพัฒนาโครงการมีความยั่งยืนมากขึ้น ในงานนี้เราจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญตามคำขอของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การสร้างความร่วมมือ กฎหมาย สื่อ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การขับเคลื่อนงานสันติภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เทคโนโลยี และการใช้เกมเป็นเครื่องมือในการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ มาช่วยให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์ การปรึกษาและพูดคุยนี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคคลที่ช่วยกันต่อยอดให้ไอเดียให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

การออกแบบเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอโครงการ

ส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ คือการออกแบบการเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอโครงการ โดยไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินรางวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่เยาวชนได้มีโอกาสส่งเสียงบอกผู้คนให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาที่คนภายนอกอาจจะไม่ทราบมาก่อน และยังเป็นพื้นที่แสดงพลังความตั้งใจของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย ถึงแม้ว่าเราจะสอนวิธีการนำเสนอ (pitch) ที่ดี มีโครงสร้างตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพที่วิเคราะห์มาจากหลายเวที แต่เราก็เน้นย้ำเสมอว่า ถ้าน้อง ๆ ไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างที่ให้ไป ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่น้อง ๆ ได้เล่าเรื่องที่อยากจะเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ทำให้ริเริ่มทำนวัตกรรมสังคมนี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในฐานะนักเปลี่ยนแปลงสังคมที่เยาวชนทุกคนสามารถทำได้ทันที

 

 

จะเห็นได้ว่าภายใต้แนวคิดการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 การแข่งขันประกวดนวัตกรรมเป็นเพียงประตูชั้นแรกสุดที่เชิญชวนทุก ๆ คนมาเข้าร่วมเท่านั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของงาน คือ “การสร้างพื้นที่สำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า Youth (เยาวชน) Co (ร่วมมือ) Lab (การทดลองสิ่งใหม่ ๆ ) และเราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของน้อง ๆ และความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหาสังคมเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ตัวเอง เราได้ยินเสียงน้อง ๆ ส่งเสียงเชียร์เพื่อนทีมอื่น ๆ ในช่วงนำเสนอโครงการ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างภาคที่ยังคงมาบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตหลังจากกลับบ้านไปแล้ว รวมไปถึงได้เห็นการชวนกันรวมกลุ่มเพื่อทำโครงการใหม่ ๆ ระหว่างภาค สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการว่า การแข่งขันบนบรรยากาศแห่งความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นได้จริง และแน่นอนว่าปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนอย่าง “การสร้างสันติภาพ” มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้รูปแบบการสร้างความร่วมมือนี้ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

สุดท้ายนี้ Thailand Social Innovation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติขอขอบคุณพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนที่มาร่วมสร้างสรรค์ให้งาน Youth Co:Lab ประเทศไทยในปีนี้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

-มูลนิธิซิตี้ ผู้สนับสนุนหลักระดับภูมิภาค
-คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สายการบินแอร์เอเชีย ผู้สนับสนุนในการจัดงาน
-สภาความมั่นคงแห่งชาติแห่งชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการพิเศษ
-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมจัดกระบวนการ
-เมนเทอร์ทุกท่านที่เต็มใจมาให้คำปรึกษาน้อง ๆ อย่างทุ่มเท
-คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ร่วมเป็นทูตประชาสัมพันธ์การจัดงาน Youth Co:Lab Thailand 2019
-และที่สำคัญที่สุด น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 สำหรับความตั้งใจและความทุ่มเท

 

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 01/10/2019
  • by: UNDP

ถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์: การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียนแคว้นบาสก์ : การสร้างนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งจาก ‘Gorka Espiau’ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมที่เชื่อว่า ‘ความขัดแย้งลดลงได้หากเราเชื่อมั่น’

 
“คำถามสำคัญสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง คือ คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ไหม ?”

‘Gorka Espiau’ คือผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคม ซึ่งเป็นนักวิชาการอาวุโส จากศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง (The Agirre Lehendakaria Center : ALC) ที่มีความเชื่อว่า ‘ความขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกใบนี้สามารถลดลงได้ หากพวกเราช่วยกันทั้งกำลังคนและนวัตกรรม พร้อมระลึกอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ครั้งนี้เขามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงานสัมมนาที่ TCDC กรุงเทพฯ ในวันที่ 20 กันยายน 2562 ซึ่งจัดโดย UNDP ประเทศไทย “การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง : กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์”

 

 
แคว้นบาสก์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน เป็นเมืองที่เคยมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาก่อน มีกลุ่มชาตินิยมแคว้นบาสก์ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองคือการได้รับเอกราช และการก่อตั้งเป็นประเทศบาสก์ ความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่างกันก็ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ  มีการใช้อาวุธ และปัญหายาเสพติด ค่า GDP ก็ต่ำกว่ามาตรฐานที่ EU กำหนด ทำให้ภาพลักษณ์ของแคว้นบาสก์แย่ลงไปทุกวัน จนส่งผลให้ในยุค 1980 เศรษฐกิจของแคว้นบาสก์ล่มสลาย อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์

 
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาแคว้นบาสก์เริ่มต้นพลิกฟื้นประเทศด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ ‘Guggenheim’ ในเมืองบิลเบา โดย Frank Gehry สถาปนิกชาวแคนาดา ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของแคว้นบาสก์

 

 
หลังจากนั้น แคว้นบาสก์เริ่มให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลง และการลดความขัดแย้งอย่างจริงจัง โดยแคว้นบาสก์ไม่ได้ใช้กระบวนการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองหลังจากความขัดแย้งหมดไป แต่พวกเขาใช้นวัตกรรมทางสังคมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและสร้างสันติภาพไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนวัตกรรมทางสังคมในที่นี้ ปกติหลายคนอาจนึกถึงเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึง กระบวนการหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้อย่างสันติ

วิธีการที่ว่า Gorka Espiau สรุปให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า การทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง คำถามหรือหัวใจสำคัญคือ

“ทุกคนคิดว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ไหม เพราะไม่ว่าจะในสถานการณ์ที่แย่แค่ไหน แต่ถ้าคนในพื้นที่เชื่อว่า มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะมีหนทาง”

 
จากการถอดบทเรียนการพัฒนาในแคว้นบาสก์ การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งมีวิธีการอยู่ด้วยกัน 5 ระดับ ได้แก่

    1. การมีส่วนร่วมชองชุมชน (Community Action)
    2. การสร้างโปรเจกต์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง (Small / Medium Scale Projects)
    3. การสร้างโปรเจกต์ขนาดใหญ่ (Large Scale Projects) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
    4. สร้างการบริการภาครัฐใหม่ๆ (New Services)
    5. สร้างให้เกิดกฎระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ๆ (New Regulations)

 
ซึ่งทั้ง 5 ระดับเหล่านั้น ต้องทำงานอย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘การฟัง’ (Listening) โดยต้องสร้างกระบวนการฟังให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น จัดพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้บอกเล่าโอกาสและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มองหาหนทางสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจว่าโอกาสคืออะไร ผ่านการพูดคุย สังเกต เพราะแค่เราเริ่มถามและฟัง ก็สร้างความเข้าใจได้ หรืออาจให้ผู้ที่เห็นต่างกันมาพูดคุย เพื่อหาแรงจูงใจในการทำ (Senses Making) เพื่อดูว่าคนแต่ละคนให้คุณค่ากับอะไร อะไรที่ทำให้เขาทำแบบนั้น หรือเขามีความเชื่ออะไร จากนั้นให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน (Co-Creation)  เพื่อวิเคราะห์ปัญหา สร้างความเข้าใจกับผู้คน ทำแผนที่ประกอบ และสร้างการเรียนรู้ ตามมาด้วยการคิดนวัตกรรม ไอเดีย หรือวิธีการใหม่ๆ จากความต้องการของคนในพื้นที่ ทำต้นแบบทดลองที่เชื่อมโยงกัน (Prototype of Interconnected Projects) เพื่อทำการทดลองกระบวนการร่วมกัน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ (Scale) ที่ไม่ใช่การยกระดับโครงการเท่านั้น แต่ต้องยกระดับทั้งกระบวนการนั่นเอง

 

 
การเปลี่ยนแปลงในแคว้นบาสก์เกิดขึ้นจากการกระทำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูภาษาบาสก์ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่กำลังจะสูญพันธ์ เพราะภาษาคือรากฐานแห่งวัฒนธรรมทั้งหมด ถัดมาคือการให้ความสำคัญกับอาหาร เพราะลึกๆ แล้วชาวบาสก์อยากชูวัตถุดิบท้องถิ่นตัวเองให้โดดเด่น จึงสร้างอุตสาหกรรมอาหารด้วยการผสมผสานเทคนิกของชาวฝรั่งเศส แล้วเปิดร้านอาหารและโรงเรียนสอนทำอาหาร ผู้ที่เรียนจบยังสามารถทำงานได้ที่ร้านอาหารได้เลย  ปัจจุบัน อาหารของบาสก์มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่าง พินโชส์ (Pintxos) หรือทาปาส (Tapas) และยังเป็นเมืองที่มีร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินต่อตารางเมตรมากที่สุดในโลกอีกด้วย

 

 
ต่อมาคือการเสริมพลังให้ภาคแรงงาน เพราะเมื่อเศรษฐกิจล่ม แน่นอนว่าเหล่าแรงงานต้องได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน มีการก่อตั้ง Mondragon หรือสหพันธ์สหกรณ์คนทำงาน เพื่อส่งเสริมกลุ่มแรงงาน ปรับนโยบายความเท่าเทียมด้านรายได้ ขยายท่าเรือ สร้างรถไฟใต้ดิน ปรับปรุงถนน และทางรถไฟ สร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมต่อกับภายนอก และดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ อะไรเหล่านั้นส่งต่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังให้ความสำคัญกับแรงงานผู้พิการ สร้างกระบวนการทำงานที่เอื้อกับพวกเขา จัดฝึกอบรมให้มีทักษะเป็นไปตามที่ตลาดต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ แคว้นบาสก์ยังส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความรู้ และสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับเยาวชน ยังมีวิธีการอื่นอีกหลากหลายข้อที่ดึงเอากระบวนการนวัตกรรมทางสังคมเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

 
แคว้นบาสก์แสดงให้เห็นแล้วว่า การจะสร้างสันติภาพและการพัฒนานั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ความขัดแย้งหมดไปเสียก่อน เพราะสามารถทำควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ รวมทั้งบาสก์ยังสร้างความเข้าใจให้ชาวเมืองมองเห็นภาพเดียวกัน เพื่อจับมือเดินไปยังจุดหมายอย่างมุ่งมั่น จนในที่สุดแคว้นบาสก์จึงเปลี่ยนจากภาพลักษณ์ลบเป็นบวก จนได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

การใช้นวัตกรรมทางสังคมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เรากล่าวไปข้างต้น ทำให้ทุกวันนี้ แคว้นบาสก์กลายเป็นผู้นำทั้งด้านสุขภาวะและการศึกษา ค่า GDP เพิ่มสูงขึ้น มีการส่งออกสินค้ามากถึง 75% และประชาชนชาวบาสก์ยังมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปอีกด้วย

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 27/09/2019
  • by: UNDP

เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้?

 
เมื่อได้ยินคำว่า ‘นวัตกรรม’ หรือโดยเฉพาะ ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ การบริการภาครัฐ หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่จริง ๆ แล้ว นวัตกรรมสังคม ไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น แต่หมายความกว้างไปถึงสิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อหวังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสังคม (systemic change) ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงด้วย

สำหรับคนในพื้นที่ขัดแย้ง ‘นวัตกรรม’ หรือ ‘การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวและแยกส่วนจาก ‘การสร้างสันติภาพ’ แต่จากการศึกษาและถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์ของสถาบัน Agirre Lehendakaria Center for Social and Political Studies (ALC) ซึ่งนำโดย Gorka Espiau พบว่าประเด็นการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน การใช้นวัตกรรมสังคม หรือการสร้างพื้นที่กลาง (Platform) นวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้งสามารถช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเกิด ‘สันติภาพ’ ได้ เพราะสันติภาพไม่ได้หมายเพียงถึงสถานการณ์ที่ปราศจากความรุนแรง แต่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ รวมถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย หรือรวมเรียกว่าเป็น “สันติภาพที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Peace”  

 

 
UNDP ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ Gorka Espiau และ Iziar Moreno ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมจากแคว้นบาสก์ ในการแนะนำกระบวนการทำงานของนวัตกรรมสังคมให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส)  และออกแบบแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมร่วมกันกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพ โดยการเดินทางไปยังภาคใต้ของเราในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากความอยากรู้และอยากทดลองว่าแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมจะสามารถกลายเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ และมันจะสามารถเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาในหลายๆ มิติเข้าด้วยกันได้อย่างไร

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างในเวิร์กชอป

 

1. แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแคว้นบาสก์

Gorka ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในแคว้นบาสก์ พื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจของ แคว้นล่มสลาย หากในปัจจุบันบาสก์กลับมี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในยุโรปและเป็นยังผู้นำเรื่องด้านศึกษาอีกด้วย ความสำเร็จด้านการพัฒนาของแคว้นบาสก์นี้ได้รับขนานนามว่าคือ Basque Transformation หรือการแปรเปลี่ยนแคว้นบาสก์ให้กลายเป็นเมืองแห่งการพัฒนา

การเรียนรู้จากแคว้นบาสก์สามารถสรุปได้อย่างคร่าว ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประชาชนในบาสก์มี ‘เป้าหมายร่วมกัน’ คือปรารถนาจะลบภาพ ‘สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง’ ออกจากความเป็นแคว้นบาสก์ และต่างเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างการเชิญ Frank Gehry มาสร้าง Gugenheim Bilbao ให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง การก่อตั้งสหกรณ์คนทำงานอย่าง Mondragon หรือที่กลุ่มเชฟในพื้นที่ดึงเอาอาหารและวัตถุดิบพื้นเมืองมาประยุกต์ในสไตล์โมเดิร์น ฝรั่งเศส จนได้รับการยอมรับจากมิชลิน  และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย กลายเป็นฟันเฟืองที่เชื่อมโยงกันและส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของแคว้นพัฒนาอย่างรุดหน้า จนฝ่ายกองกำลังสู้รบ  Euskadi ta Askatasuna หรือ ETA ตัดสินใจวางอาวุธ นำไปสู่สันติภาพในท้ายที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง การถอดบทเรียนจากแคว้นบาสก์อย่างละเอียดได้ในบทความของเราต่อไป  

 

 

2. ลองเชื่อมโยงสิ่งใหม่ ๆ’ ที่เราได้ทำในพื้นที่

ผู้เข้าร่วมได้ลองช่วยกันคิดว่ากิจกรรม โครงการ กระบวนการที่เราเคยได้เพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเองมีอะไรบ้าง โดยมีการคิดอย่างครอบคลุม 5 ระดับ

    1. กิจกรรมชุมชน (community actions) เช่น การนั่งหารือกันในมัสยิด จนได้ข้อสรุปเป็นการรับบริจาคขยะ แทนการรับบริจาคเงิน และนำไปขายเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า

    2. วิสาหกิจขนาดเล็กกลาง (small-medium scale entrepreneurship) เช่น การก่อตั้ง Fiin Delivery บริการส่งอาหารในพื้นที่

    3. วิสาหกิจขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน (large scale public-private partnership) เช่น ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ

    4. การบริการสาธารณะ (public service) เช่น การจัดรถพยาบาลในหมู่บ้านเพื่อรับ-ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง

    5. กฎระเบียบใหม่ ๆ  (new regulation) เช่น กฎฌาปนกิจที่เป็นข้อตกลงในหมู่บ้านเรื่องการขอความร่วมมือทุกคนร่วมช่วยเหลือการจัดงานศพเมื่อมีคนเสียชีวิต

การได้คิดอย่างเป็นระดับนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวและเริ่มที่จะมีภาพที่เห็นร่วมกันว่าแท้จริงแล้วนวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวพวกเขา หากแต่เป็นสิ่งที่อาจทำอยู่แล้วในชุมชน

 

“การพัฒนาอย่างยื่งยืนในพื้นที่ขัดแย้งมันเกี่ยวข้องกับวิธีที่เราเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งอาจถูกซ้อนเร้นโดยความขัดแย้งและความรุนแรง และวิธีการที่เราจะคิดขึ้นมาเป็นทางเลือกในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

3. เรียนรู้ที่จะรู้จัก ฟัง’ 

กระบวนการแรกที่มีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ “กระบวนการรับฟัง”

เราต้อง ‘ฟัง’ ในสิ่งที่อาจไม่ถูกพูดออกมาเพื่อค้นหาสาเหตุของการกระทำ ความเชื่อ และคุณค่าเบื้องหลัง และเชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ที่สำคัญคือการค้นหาว่าคนในชุมชนเชื่อในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความเชื่อนี้สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาได้ เช่น บางชุมชนที่แม้อาจได้รับการสนับสนุนมากมายจากรัฐ แต่คนในชุมชนไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเลยเพราะได้ถูกสั่งสอนมาว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้ออกไปทำงานที่เมืองหลวงเท่านั้น ในทางกลับกัน หากชุมชนใดมีความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ก็จะแสวงหาโอกาสจากต้นทุนที่มี เช่นอาจให้มีคนมาเปิดกิจการเล็ก ๆ ในพื้นที่และเริ่มหาโอกาสแก้ไขปัญหาการว่างงาน เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ความสำคัญของการรับฟังนี้ พร้อมคิดทบทวนว่าประเด็นใดบ้างที่เป็นความท้าทายและโอกาสในพื้นที่ และเชื่อมโยงประเด็นเหล่านั้นด้วยกัน

 

4. Co-creation ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมทำ

ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสทดลองออกแบบและคิดไอเดียนวัตกรรมสังคมร่วมกัน เพื่อนำไปลงมือทดลอง (prototype) ต่อไป

กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนนี้คือกระบวนการสำคัญที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญของการ co-create คือต้องมีคนจากทั้ง 5 ระดับที่กล่าวไปข้างต้นเข้าร่วมด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือระบบได้จริง

ตัวอย่างไอเดียและเรื่องราวน่าสนใจจากคนในพื้นที่

    • การเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว เป็นประเด็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมหลายคนเห็นพ้องต้องกันในการต่อยอดการพัฒนา ทุกคนมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตน แต่ยังไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของพื้นที่ไม่ดี ส่งผลให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจเกิดความกลัวที่จะเข้ามา ในขณะเดียวกันสามจังหวัดเองก็มีคนที่มีความสามารถหรือกิจกรรมน่าสนใจจำนวนมากแต่กลับ ไม่ได้รับการนำเสนอออกไปในสื่อเท่ากับภาพความรุนแรง

    • ผู้เข้าร่วมเห็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เช่น ลองกอง ทุเรียน ไปจังหวัดหรือประเทศข้างเคียง ในจังหวัดนราธิวาส ประชาชนมีรายได้หลักจากการกรีดยาง ซึ่งทางการพยายามส่งเสริมให้คนปลูกพืชผักผลไม้อื่นเพื่อให้มีแหล่งรายได้เพิ่มเติม หากแต่การกรีดยางถูกมองว่าเป็นวิถีชีวิตที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคนในท่องถิ่นก็ยังคงอยากรักษาความรู้และวัฒนธรรมนี้ไว้ จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ และให้การแก้ปัญหาของภาครัฐตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง?

    • ผู้เข้าร่วมเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่เช่นการทำเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดให้ต่อเนื่องกัน และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในแบบที่ชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย

    • ในบางพื้นที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนท้อแท้และสิ้นหวัง ทำให้ยากที่จะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ใด ๆ นักกิจกรรมสังคมหลายคนก็หยุดการเคลื่อนไหวการทำงานพัฒนาต่าง ๆ มีการเสนอแนวคิดการตั้ง PeaceLab ขึ้นในพื้นที่ และปรับใช้เทคโนโลยีและสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

 

เครื่องมือสำหรับกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคม (Tools used for building social innovation platform)

 

 

3 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง

 

1. การฟังและสะท้อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการที่เราได้ฟังบุคคลจาก “ทุกภาคส่วน” และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถฟังบุคคลที่มาจากต่างพื้นฐาน ต่างประสบการณ์ ต่างอาชีพ แต่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน มาพูดถึงเมืองของเราผ่านคนละมุมมอง ซึ่งเวิร์กชอปในครั้งนี้ เราก็มีผู้เข้าร่วมมาจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำชุมชน กลุ่มธุรกิจ Startup และภาคประชาสังคม

เริ่มจากคำถามที่ว่า “หากเราจะอธิบายจังหวัดปัตตานี/ยะลา/นราธิวาส ให้กับคนที่ไม่รู้จักฟัง เราจะเล่าถึงจังหวัดเราว่าอย่างไร?” คำตอบของแต่ละคนก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในพื้นที่

เราได้รับฟังเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากมุมมองที่ต่างกัน และในความต่างนี้เอง เรากลับพบความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ นั่นคือ พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันด้วยความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของพื้นที่ ทั้งมุสลิม พุทธ จีน และเขารู้สึกว่าแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ยังอยู่ร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรจากพื้นที่เดียวกันได้ เป็นสเน่ห์ของคนสามจังหวัด ดังที่สะท้อนได้จากคำพูดหนึ่งของบทสนทนาที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดคือ “กิจศาสนาเราแยกกันทำ กิจสังคมเรามาร่วมกัน”

 

 
หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคำถามที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง “คุณคิดว่ามีปัญหาอะไรในพื้นที่ ที่คนในจังหวัด ไม่เคยพูดถึง แต่รู้สึกว่ามันมีอยู่” บทสนทนาที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่ได้มองเห็นภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแค่ผิวเผินตามภาพจำที่มีแต่ความรุนแรง กลับทำให้เราได้เห็นภาพความเชื่อมโยงทางมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการร้อยเรียงของปัญหาตั้งแต่ต้นตอจนถึงปลายทาง

จากการสังเกตบรรยากาศในวงสนทนา เราพบว่าการมีพื้นที่รับฟัง ให้แต่ละคนได้เล่าถึงความรู้สึกนึกคิด และประสบการณ์ของตัวเองในจังหวัด ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกระบวนการ และก้าวข้ามการด่วนตัดสินและสรุปวิธีการแก้ปัญหาโดยทันที เปรียบเสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาผ่านเรื่องราวต่าง ๆ  โดยสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนกรคือต้องวางใจเป็นกลาง เปิดพื้นที่ให้เป็นภาชนะว่าง ๆ ที่รองรับเรื่องเล่าต่าง ๆ โดยไม่สรุปและตัดสิน

นอกจากนี้ กระบวนการสะท้อนหลังจากฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ และนำมาเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน (collective sensemaking) ผ่านแผนภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน จุดประสงค์ในการทำขั้นตอนนี้ ไม่ใช่การเร่งรัดสรุปปัญหา แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพสะท้อนความเชื่อมโยงของสิ่งที่ตัวเองเล่ามา โดยกระบวนกรไม่จำเป็นต้องกังวลว่าลูกศรที่ลากเชื่อมเรื่องราวในแผนภาพจะถูกหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีส่วนที่ผิด มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แก้ไขให้ถูกต้อง กระบวนการทำและแก้ไขแผนภาพนี้เป็นกระบวนการร่วม คือผู้เล่าทุกคนทำร่วมกัน เพื่อให้เรื่องเล่าของทุกคนมาอยู่ในภาพเดียวกันได้

 

 

2. จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากความเชื่อร่วมกันว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้”

กระบวนการรับฟังไม่ควรเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ควรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ให้เราทำความเข้าใจแล้ว ทำความเข้าใจอีก ซึ่งจะนำไปสู่การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องจับใจความให้ได้ก่อนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงคือ ต้องตอบให้ได้ว่า “คนในพื้นที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้หรือไม่” 

คำถามนี้ดูเป็นคำถามที่ง่าย แต่การแน่ใจว่าคำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบที่ “จริงแท้” จากใจผู้เข้าร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะในพื้นที่ที่เผชิญกับความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ทุกวัน ผู้คนมักถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และการใช้ชีวิตในเชิงบวกไปมากโขอยู่เหมือนกัน คำตอบแรกของเขาอาจจะเป็นคำว่า “ใช่ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้” แต่อาจจะตามมาด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อความเป็นไปได้ว่าจะก้าวข้ามเงื่อนไขเหล่านั้นได้หรือไม่

 

 
“แล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ล่ะ เราจะทำอย่างไร?”  การหันไปโฟกัสการสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ‘เป็นไปได้’ (หรือแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาก็กำลังทำมันอยู่) คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่สำคัญในการประเมินพื้นที่ กับท่าทีการไปต่อ ทำให้เราส่งเสริมการพัฒนาอย่างไม่ข้ามขั้น และค่อย ๆ ทำมันอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงแบบ “Transformative Change” จะเกิดขึ้นได้ จากความเชื่อว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้’ ของคนในพื้นที่ และความเชื่อนั้นจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ในระดับปัจเจกบุคคล แต่จะส่งผลต่อระดับองค์กร และระดับพื้นที่ต่อไป การหมั่นตรวจสอบความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนจะข้ามไปสู่ขั้นตอน “Co-creation” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

 

3. การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องมาจากคนในพื้นที่ 

ในสามวันนี้ หลังจากที่เราได้ลองทำกระบวนการตั้งแต่ Listening-Co-creation-Prototype ทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาและโอกาสในพื้นที่ เราได้สิ่งที่น่าสนใจที่น่าต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในพื้นที่ เช่น เรื่องอาหาร และวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม การไปต่อในขั้นต่อไป ในฐานะกระบวนกร เราอาจจะต้องก้าวถอยหลังมาหนึ่งก้าว เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ได้ตีความและสรุปด้วยความเข้าใจของเขาเอง

ถึงแม้ว่าในฐานะกระบวนกร เราอาจจะมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือมากกว่า การตีความอาจจะง่ายกว่ามากหากกระบวนกรเป็นผู้สรุปความเชื่อมโยง ปัญหา โอกาส ความเป็นไปได้ และชี้นำทิศทางที่ผู้เข้าร่วมควรทำ แต่การสรุปแบบนั้นอาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนความจริง เนื่องจากเป็นการตีความและสรุปให้ความหมายโดยคนนอกพื้นที่

 

 
ในกระบวนการสร้าง “Transformative Change” การขับเคลื่อนโดยคนในพื้นที่และตีความร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และแน่นอนว่ามีความซับซ้อนกว่ามาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องออกจากความคุ้นชินในการเร่งตัดสิน เร่งด่วนสรุป และเปิดพื้นที่ในการตีความร่วมกันให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าใน 3 วันนี้ คนในพื้นที่อาจจะยังไม่สามารถตีความ เชื่อมโยงและสรุปร่วมกันได้ในทันที แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้เริ่มรู้จักวิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะมาใช้ในกระบวนการสันติภาพ และเราเชื่อว่ากระบวนการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ เช่นเดียวกับที่สุดท้ายแก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นไม่ใช่เพียงการทำงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย 17 ข้อเพียงย่างเดียว แต่ คือการพัฒนาโดย “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้อาจจะใช้เวลามากกว่าเดิม ซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม แต่ก็จะทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

นวัตกรรมเพื่อสังคมควรเป็นตัวกลางที่นำผู้คนมารวมกันเพื่อให้เกิดเป้าหมายและภารกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนา ในฐานะชุมชนท้องถิ่น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญและเชื่อมโยงมันกับโอกาสและแนวคิดใหม่ ๆ 

 

แผนภาพสรุปความเชื่อมโยงจากเวิร์กชอป (Mapping of the output from workshop)

 

 
ที่สำคัญที่สุด การเวิร์กชอปเพื่อร่วมสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในสามจังหวัดครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมทุกคน ขอยกย่องความดีความชอบให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่จาก

จังหวัดปัตตานี : ตำบลท่าน้ำ ตำบลบ้านนอก ตำบลน้ำบ่อ ตำบลเตราะบอน
จังหวัดยะลา : ตำบลลำใหม่ ตำบลบ้านแหร ตำบลบันนังสตา
จังหวัดนราธิวาส : ตำบลแว้ง ตำบลช้างเผือก

รวมทั้งตัวแทนสตาร์ทอัพ ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยจากทุกจังหวัด

    • CHABA Startup Group
    • Sri Yala MyHome
    • PNYLink
    • Digital4Peace
    • Saiburi Looker
    • HiGoat Company
    • MAC Pattani
    • MAC Yala
    • MAC Narathiwat
    • Hilal Ahmed Foundation
    • CSO Council of Yala
    • มูลนิธินูซันตารา
    • มหาวิทยาลัยทักษิน
    • สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 24/09/2019
  • by: UNDP

’Nas Daily’ อินฟลูเอนเซอร์ที่ชวนทุกคนมายุติ ‘การแบ่งแยก’ ในสังคม

 

หลายคนรู้จักหนุ่มคมเข้ม Vlogger และ Influencer ที่โด่งดังที่สุดของยุคนี้อย่าง ‘Nas Daily’ จากคลิปวิดีโอสั้น ๆ เพียง 1 นาที กับวลีเด็ดที่เขาพูดทิ้งท้ายทุกคลิป “That’s one minute, see you tomorrow” เขามีชื่อจริงว่า ‘Nuseir Yassin’ หนุ่มเชื้อสายอิสราเอลและปาเลสไตน์ วัย 26 ปี ที่ออกเดินทางไปทั่วโลกและทำสารคดีระหว่างการเดินทางทุกวัน เพื่อพาทุกคนไปเปิดมุมมองโลกที่กว้างใหญ่ผ่านวิดีโอ 1 นาทีของเขา

 

 

 

“I hope this video make you angry, because it makes me angry”

ผมหวังว่าวิดีโอนี้จะทำให้คุณโกรธ เพราะมันทำให้ผมโกรธเช่นกัน

 

 

หนึ่งในวิดีโอที่น่าสนใจของเขา เปิดมาด้วยประโยคแรกว่า “ผมหวังว่าวิดีโอนี้จะทำให้คุณโกรธ เพราะมันทำให้ผมโกรธเช่นกัน” Nas Daily ในตอนนี้มีชื่อว่า ‘Segregation’ หรือการแบ่งแยก เมื่อได้ยินคำนี้เรามักจะนึกถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา และความแตกต่างอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ การไม่ยอมรับ และการปฏิเสธ แม้สังคมในปัจจุบันจะพัฒนาไปอย่างไร้พรมแดน ทัศนคติของผู้คนเปิดกว้างขึ้น แต่การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในโรงเรียน สังคม หรือแม้แต่โลกโซเชียล ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา

 

 

Nuseir Yassin เริ่มเล่าเรื่องจากชีวิตวัยเด็กของเขาที่เป็นชาวอาหรับซึ่งไม่มีเพื่อนชาวยิวเลย เหตุผลไม่ใช่เพราะเขาเกลียดชาวยิว แต่เพราะชาวยิวและชาวอาหรับไม่ต้องการอยู่ร่วมกัน ในประเทศอิสราเอลที่เขาอยู่มีการแบ่งแยกไม่ต่างจากประเทศอื่นในอีกหลายมุมทั่วโลก โดยชาวยิวและชาวอาหรับจะอยู่แยกกันในย่านพักอาศัยคนละแห่ง ไม่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน และไม่แม้แต่จะพบปะพูดคุย

นอกจากนี้ เขายังมองว่า การแบ่งแยกนั้นไม่ใช่ความผิดของใครคนหนึ่ง เพราะการที่มนุษย์หลอมรวมเข้ากับผู้คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่การแบ่งแยกกลุ่มศาสนา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากส่วนที่เหลือของสังคม (Self Segregation) นับเป็นเรื่องที่อันตราย เช่น ลอนดอน ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ก็มีการแบ่งแยกถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชาวมุสลิม คนผิวขาว และคนผิวสี โดยชาวมุสลิมในลอนดอนจะมีย่านอยู่อาศัยแยกตัวออกมา พวกเขาแวดล้อมไปด้วยวัฒนธรรมของตัวเอง สังคมจึงแบ่งแยกเป็นส่วนๆ เมื่อเราไม่อยู่ร่วมกัน เราก็จะเริ่มเกลียดกัน ซึ่งนั่นทำให้การแบ่งแยกเป็นสิ่งที่น่ากลัว

 

 

อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกนั้นยังมีทางออกให้เห็น อย่างใน ‘สิงคโปร์’ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งมาเลเซีย จีน และอินเดีย โดยกว่า 81 % อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านที่จัดสรรโดยรัฐ (public housing) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ออกกฎหมายบังคับให้ ในทุกอพาร์ทเมนต์ 100 แห่งนั้น มีชาวจีนอาศัยอยู่ 74 ครอบครัว (74 %) ชาวอินเดีย 13 ครอบครัว (13 %) และชาวมาเลเซีย 13 ครอบครัว (13 %) ทำให้ที่อยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งแบบ 100 % และเกิดการผสมรวมทางวัฒนธรรมอย่างน่ามอง ซึ่ง Jun Xiang ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานโยบายที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์ (Housing Policy Development หรือ HDB) กล่าวว่า

“เราส่งเสริมการผสมผสานกันทางสังคม (social mixing) เพื่อให้ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติได้อยู่ร่วมกัน และเข้าใจในวิถีชีวิตของกันและกัน”

 

ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติได้พบปะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ที่เล่นด้วยกันในสนามเด็กเล่น และกลายมาเป็นเพื่อน หรือแม้กระทั่งการทักทายในลิฟท์ ซึ่งหากวิธีนี้ใช้ได้ผลในสิงคโปร์ ก็เป็นไปได้ว่าในประเทศอื่นๆ ในโลกก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน

 

เพราะไม่ว่าจะประเทศไหนในโลกก็ตาม รัฐบาลก็ควรหาหนทางที่จะส่งเสริมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติให้อยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบายของรัฐเท่านั้น แต่เราก็ควรส่งเสริมให้เด็กๆ หรือลูกหลานของเราเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม รู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และการแบ่งแยก (Segregation) ก็จะหายไปจากสังคมโลก

 

 

Keywords: , , , , , ,
  • Published Date: 20/09/2019
  • by: UNDP

การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง: กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์

 

เราสามารถสร้างนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งได้อย่างไร?

มันสามารถช่วยพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนได้จริงหรือ?

 

พบคำตอบได้ในงานนี้!

 

Thailand Social Innovaation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษในหัวข้อ

การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง: กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์โดย Gorka Espiau ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมการจัดการความขัดแย้งและการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน

Gorka Espiau นักวิชาการอาวุโสจาก ศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง The Agirre Lehendakaria Center (ALC ) จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในแคว้นบาสก์  ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เคยมีความขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจของแคว้นล่มสลาย อัตราการว่างงานในยุโรปตอนใต้สูงเป็นประวัติการณ์ หากในปัจจุบัน บาสก์กลับกลายเป็นผู้นำทั้งด้านด้านสุขภาวะและการศึกษา นอกจากนี้ประชาชนชาวบาสก์ยังมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป

การบรรยายจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2562 เวลา 10.00-12.00 น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 2 TCDC กรุงเทพฯ

 

ลงทะเบียนได้ที่ http://bit.ly/2m5hiQZ

ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ที่นั่งมีจำนวนจำกัด

*การบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมล่ามแปลภาษาไทยตลอดงาน

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 16/09/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ที่จะ ‘ป้องกัน’ ก่อนเกิดความรุนแรง

 

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีภาพของความยากจน การกีดกัน ความไม่เท่าเทียม ไปจนถึงความอยุติธรรมปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขที่สร้าง ‘แนวความคิดสุดโต่งที่รุนแรง’ (Violent Extremism) ในระดับสังคม ประเทศ และโลก สิ่งที่สำคัญคือจะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงแบบสุดโต่งนั้นได้อย่างไร  ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ต้องอาศัยเครื่องมือแบบไหนบ้าง  เพื่อไม่ให้เรื่องราวน่าเศร้าใจเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

            การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ไม่ใช่การหยิบอาวุธครบมือขึ้นมาล้อมหน้าล้อมหลังกัน แต่คือวิธีการค้นหา และระบุถึงสาเหตุของปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธี ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของภาครัฐไปจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น และการลงมือทำงานร่วมกับประชาชน

            ถึงแม้ในระเทศไทยเองยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นสุดโต่งปรากฎให้เห็นชัดนัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขั้นนั้นได้ นั่นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่มากพอให้คนทุกภาคส่วนแสดงออกทางความคิด หรือพูดคุยเรื่องราว และปัญหาต่างๆ รวมถึงประเด็นอีกหลายต่อหลายข้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ไม่เปิดพื้นที่มากพอให้ผู้หญิงแสดงออกความเห็น ความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยที่ยังมีให้เห็นอย่างชัดเจน หรือความไม่เสมอภาคของโอกาสในการเข้าถึงด้านต่างๆ

            ดังนั้นการทำความเข้าใจหรือรับรู้เรื่องราวขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำ เรามีโอกาสพูดคุยกับ ‘ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็น ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ในประเทศไทย

 

(photo credit : นิตรสาร GM ฉบับเดือนมกราคม 2560)

PVE คำนี้คืออะไร

            ผศ.ดร.จันจิรา : PVE หรือ Preventing Violent Extremism หมายถึง การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงโดยอ้างอุดมการณ์หรือฐานความคิดอันสุดโต่ง โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มบุคคลที่ฝ่ายซึ่งใช้ความรุนแรงเห็นว่าเป็น “ศัตรู” และอะไรที่ทำให้สังคมของตน “ไม่บริสุทธิ์” การป้องกันความรุนแรงเช่นนี้ต้องกลับไปดูที่โครงสร้างและวัฒนธรรมที่ผลิตผู้ใช้ความรุนแรงสุดโต่ง โดยมากคนเหล่านี้เป็นอยู่ในความขัดแย้งระดับสังคมโดยผู้ที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งมักมีความคับข้องใจ (Grievance)  เช่นไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เจอกับความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนเยอะ หรือหลายคนถูกเลือกปฏิบัติ เพราะนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือมีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในสังคม

            บางคนอาจจะรู้สึกว่า นโยบายของรัฐไม่ได้ให้โอกาสตัวเองในการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น มันก็มีสาเหตุของการเกิดความคับข้องใจต่างกัน ดังนั้นการสร้างการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ต้องเข้าไปศึกษาและเข้าใจความคับข้องใจเสียก่อน ว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนของความคับข้องใจจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

 

PVE ในบริบทสังคมไทย

             ผศ.ดร.จันจิรา : นิยามของคำว่าความรุนแรงสุดโต่งที่ใช้กันตอนนี้มาจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ รวมหลายประเทศในตะวันออกกลาง และโลกตะวันตก ซึ่งอาจไม่ใช้ประสบการณ์ของสังคมไทยเสียทีเดียว เท่าที่ได้คุยกัน คำนิยาม violent extremism สังคมไทยยังไม่ลงตัว แต่ละฝ่ายเข้าใจต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์และจุดยืนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เจอ เช่นเวลาเราคุยกับภาคประชาสังคม ก็จะได้ข้อมูลว่า รัฐเป็นปัญหา เป็นผู้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ฉะนั้นเป็นสาเหตุของ violent extremism ส่วนรัฐก็จะมองว่า violent extremism เกิดกับประชาชนบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนกลุ่มอื่น ซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างจากตน ดิฉันเลยคิดว่า คำหรือการให้ความหมายน่าจะปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของสังคมไทยมากขึ้น เช่น ดูจากเงื่อนไขของปรากฏการณ์ violent extremism ในมิติที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ มากกว่าจะดูว่าใช้เป็นผู้ใช้ความรุนแรง

 

การทำงานเพื่อป้องกัน

             ผศ.ดร.จันจิรา : การทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งของ UNDP มีหลายส่วน ซึ่งเราแบ่งพื้นที่เป็น 2 พื้นที่ใหญ่ คือ

             1.  ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ มีการจัดโครงการต่างๆ ที่ดูแลเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมความขัดแย้งรุนแรง เช่น โครงการที่ดูเรื่องขันติธรรมระหว่างชุมชนชาวพุทธกับคนไทยมุสลิม หรือส่งเสริมให้จัดการเสวนาคุยกันข้ามศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจ

             2. พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ทำงานจากการหาสาเหตุของความคับข้องใจว่าไปปรากฎที่ไหนบ้าง ไม่ว่าจะเหนือ อีสาน กลาง ใต้ หาว่าผู้กระทำมีแรงกระตุ้นในการสร้างความรุนแรงอันสุดโต่งอย่างไร

             นอกจากนี้ UNDP ยังมีทีมมอนิเตอร์เรื่องราวของ hate speech หรือการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังภายในประเทศ วิเคราะห์บทสนทนาต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก ว่ามีบทสนทนาหรือหัวข้ออะไรบ้างในโลกโซเชียลที่หมิ่นเหม่จะใช้ถ้อยคำเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม  และเรายังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มุ่งป้องกัน violent extremism

 

 

การรับรู้ของภาคประชาชน

              ผศ.ดร.จันจิรา : ถ้าพูดในมุมของสาธารณะ คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้เรื่องการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้ว PVE มีคอนเซ็ปต์มาจากที่อื่น เช่น มาจากสังคมที่มีผู้ที่ก่อความรุนแรง ดังนั้นตอนนี้ เรากำลังพยายามทำงานกันอยู่เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป

             อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เอกชน องค์กร และที่สำคัญคือภาคประชาชน ผ่านแนวทางการจัดแผนยุทธศาสตร์ ทำงานวิจัย หรือปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อสร้างแนวทางป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (PVE) ในสังคมไทย

 

Sources :

– ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– สหประชาชาติและธนาคารโลก 2018 “วิถีสู่สันติ: แนวทางครอบคลุมเพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง” บทสรุปผู้บริหาร ธนาคาร วอชิงตัน ดีซี. ใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซีซีโดย 3.0 ไอจีโอ

–  http://www.asia-pacific.undp.org/content/rbap/en/home/programmes-and-initiatives/extremelives.html?fbclid=IwAR3G9xDf15DZCyru0BvszNMAL5rcdITCcR4YdKIPrmfT8JmzxIEAaz5QFzo

https://www.undp.org/content/undp/en/home/2030-agenda-for-sustainable-development/peace/conflict-prevention/preventing-violent-extremism.html

https://www.undp.org/content/undp/en/home/blog/2019/new-approaches-to-preventing-violent-extremism.html

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 20/08/2019
  • by: UNDP

‘Cure Violence’ เมื่อความรุนแรงติดต่อเหมือนโรคระบาด

 

ในยุคที่โลกก้าวสู่ความศิวิไลซ์เทคโนโลยีพัฒนาล้ำหน้า แต่กลับกันเรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวันไม่ว่ามุมไหนของโลก โดยเฉพาะอเมริกาที่เกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงในพื้นที่สาธารณะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงที่รัฐโอไฮโอและรัฐเท็กซัสในเวลาห่างกันเพียง 14 ชั่วโมง

แล้วเราจะป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร?

‘Dr. Gary Slutkin’ นักระบาดวิทยา ผู้ก่อตั้งองค์กร ‘Cure Violence’ กล่าวว่า “การกราดยิงเป็นเหมือนโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่าย” เขาเคยเดินทางไปทำงานให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการต่อสู้กับการระบาดอย่าง วัณโรค อหิวาตก และโรคเอดส์ ทั้งในเอเชียและแอฟริกามานานกว่า 10 ปี หลังจากที่กลับมายังอเมริกา เขาไม่พบการเกิดโรคระบาดเหล่านี้ แต่กลับรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงที่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมในโรงเรียน การแก้ปัญหาโดยทั่วไปคงเป็นบทลงโทษ ซึ่งอาจไม่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม หรืออีกแนวทางคือต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ตั้งแต่ปัญหาในโรงเรียน ความยากจน ครอบครัวแตกแยก ยาเสพติด ไปจนถึงการเหยียดสีผิว ซึ่งยากที่จะทำได้สำเร็จในคราวเดียว

เขาตระหนักว่า สถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คล้ายกับการแพร่กระจายของโรคระบาด กล่าวคือความรุนแรงติดต่อจากเคสหนึ่งไปสู่อีกเคสหนึ่ง เขาจึงมองว่าการลดปัญหาความรุนแรง น่าจะมีทางออกเช่นเดียวกับการยับยั้งโรคระบาด โดยสรุปได้ 3 สิ่งที่ต้องทำ ได้แก่

1. ยับยั้งการส่งต่อ (Interrupting transmission) เริ่มจากสืบหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเคสแรก เช่นเดียวกับกรณีของวัณโรคที่ต้องหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและแพร่เชื้อสู่คนอื่น

2. ป้องกันการแพร่กระจายในอนาคต (Prevent future spread) ค้นหาว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

3. เปลี่ยนบรรทัดฐานของกลุ่ม (Change group norms) ด้วยกิจกรรมชุมชนและปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

เริ่มต้นจากทดลองจ้างคนมาทำงานเป็นผู้ยับยั้งความรุนแรงในชุมชน (Violence interrupters) โดยจ้างคนในชุมชนหรือคนในกลุ่มแก๊งมาเป็นฮีโร่ เพื่อสร้างความเชื่อถือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเข้าถึงได้ โดยเทรนให้เข้าใจหลักการโน้มน้าวและการทำให้คนใจเย็นลง ส่วนคนอีกกลุ่มมีหน้าที่ดูแลคนในกลุ่มที่มีความรุนแรงให้อยู่ในระยะการบำบัดตั้งแต่ 6 – 24 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างเสริมกิจกรรมชุมชนเพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของคนในชุมชน

‘Cure Violence’ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่ย่าน West Garfield Park หนึ่งในชุมชนที่มีความรุนแรงที่สุดของชิคาโก ซึ่งในปีแรกสามารถลดการเกิดเหตุกราดยิงได้ถึง 67% หลังจากนั้น จึงขยายโมเดลนี้ออกไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วอเมริกา ปัจจุบัน มีมากกว่า 50 ชุมชนในอเมริกาที่ใช้แนวทางลดความรุนแรงนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมเทคนิคการป้องกันความรุนแรงให้กับผู้แทนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถลดความรุนแรงได้มากถึง 40-70% ตั้งแต่ปีแรก ถือเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันเหตุการณ์น่าเศร้าที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีใครคาดคิด

 

ที่มา:

1. http://cureviolence.org/

2. https://www.ted.com/talks/gary_slutkin_let_s_treat_violence_like_a_contagious_disease#t-665523

 

Keywords: , , , , , , ,
  • Published Date: 08/08/2019
  • by: UNDP

เพราะ ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ คือ ‘พวกเดียวกัน’

หลายคนอาจมองว่า ทุกวันนี้สงครามเกิดขึ้นน้อยลง แต่รู้หรือไม่ ช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ‘ความขัดแย้ง’ ภายในกลับเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในระดับประเทศ สังคม องค์กร ไปจนถึงระดับบุคคล สร้างความสูญเสียอย่างนับไม่ถ้วน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 หลายประเทศต้องตกอยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 30 ปี จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นั่นคือจุดสำคัญที่เหล่ามนุษยชาติต้องหันมาทำความเข้าใจความขัดแย้ง ตั้งแต่ต้นตอการเกิดขึ้น การเพิ่มขึ้นของปัญหา การเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความต่อเนื่องของความขัดแย้ง และร่วมกันหาหนทางป้องกันความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

 

‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ เส้นแบ่งสร้างความขัดแย้ง

 หลายคนอาจคิดว่า ต้องถืออาวุธ หรือใช้ความรุนแรง ถึงจะเรียกสถานการณ์นั้น ๆ ว่าความขัดแย้ง แต่ในความจริงแล้ว ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คำว่า ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ คำจำกัดความสองคำสั้น ๆ ก็สามารถสร้างเส้นแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายจนกลายเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้ง

เราและเขาขัดแย้งกันด้วยอะไร ?

ชาติพันธุ์และสีผิว – คำสองคำนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ เพราะหลักการในการแบ่งมนุษยชาติ ได้อิงตามลักษณะธรรมชาติที่สามารถมองเห็นได้ชัด นั่นก็คือ ‘สีผิว’ จากการประชุมขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ร่วมกับนักมานุษยวิทยากายภาพที่กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1951 สรุปออกมาได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ของมนุษย์ในโลกสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.จำพวกผิวขาว (Caucacoid) 2.จำพวกผิวเหลือง (Mongoloid) และ 3.จำพวกผิวดำ (Negroid) คำถามก็คือ เราควรเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้หรือไม่?

ศาสนา – 4,200 คือตัวเลขของจำนวนศาสนาที่คนทั่วโลกเลือกนับถือและศรัทธาตามความเชื่อของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ‘สงครามครูเสด’ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลามในยุโรปเพื่อแย่งชิงดินแดนเมืองเยรูซาเลม ซึ่งเกิดขึ้นถึง 8 ครั้ง กินเวลายาวนานถึง 200 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7,000,000 คน และทรัพย์สินอีกมากมายมหาศาล ทุกวันนี้หลาย ๆ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลก ยังนำประเด็นทางศาสนามาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการสร้างความรุนแรงและการแบ่งแยก

ภาษา – ตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ โลกของเราถูกรวมไปด้วยกว่า 195 ประเทศ มีภาษาพูดประมาณ 6,500 ภาษา และมีอีกเกือบ 2,000 ภาษาที่กำลังจะสูญหายไป ภาษาที่ใช้พูด ใช้เขียนกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใช้แบ่งพรรคแบ่งพวกจนลุกลามไปถึงความขัดแย้ง ในชีวิตประจำวันเราอาจมองเห็นความขัดแย้งนี้ผ่านการดูถูกสำเนียงภาษาของคนอื่น เหยียดกันเพียงเพราะพูดไม่ชัด หรือแม้แต่เหยียดกันเพียงเพราะสำเนียงไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทัศนคติ ความเชื่อ เพศ ไปจนถีงความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสด้านต่าง ๆ ที่ยังนับเป็นตัวเลขไม่ได้

รู้หรือไม่? องค์การสหประชาชาติยังคาดว่าจำนวนประชากรโลกจากปัจจุบัน 7,600 ล้านคนจะพุ่งเป็น 9,800 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 อีกด้วย นั่นหมายถึงความหลากหลายกำลังจะมีมากยิ่งขึ้นไปอีก

แล้วโลกของเราจะอยู่ท่ามกลางความหลากหลายนี้อย่างสันติอย่างไร?

 

เข้าใจ ‘ความหลากหลาย’ แตกต่างแต่เหมือนกัน

สะท้อนความหลากหลายของสังคม (Diversity) คือกระแสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ติดโลกอย่าง #Metoo ที่เกิดขึ้นจากการที่นักแสดงหญิงโดนโปรดิวเซอร์ใหญ่แห่งวงการฮอลลีวูดคุกคามทางเพศ หรือประเด็นการปกป้องกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) จากการถูกเหยียด หรือสร้างความรังเกียจ ไปจนถึงความเป็นหพุสังคมของประเทศสิงคโปร์ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของชาวจีน อินเดีย มาเลเซีย และชนชาติอื่น ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างของความขัดแย้ง และเพิ่มความเข้าใจในความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น

ความเข้าใจความหลากหลายเริ่มต้นขึ้นได้ง่าย ๆ ด้วยคำว่า ‘รับฟัง’ ‘พูดกัน’ และ ‘ร่วมมือ’

รับฟัง – เชื่อเถอะว่าการเริ่มต้นรับฟังอย่างตั้งใจด้วยวิธีการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการฟังอย่างลึกซึ้ง คือ รูปแบบการฟังโดยไม่ตัดสินความถูกผิดแต่แรก ไม่ฟังเสียงแห่งการตัดสินที่ดังก้องในหัว (voice of judgement) ไม่ตอบสนองแบบทันทีทันใด (reacting) ไม่พูดแทรก และรู้จักการปล่อยผ่าน (suspending) เสียบ้าง

พูดกัน – การพูดคุยกัน หรือชักชวนคนรอบตัวมาเปิดรับหาหนทางที่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เป็นอีกสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกับการฟัง เพราะหลายครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเราคุยกันไม่มากพอ หรือผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีความหลากหลาย ดังนั้น เราจึงควรพูดคุยกันในระดับวงกว้างและให้มีความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ความสำคัญกับคนทุกเชื้อชาติ วัย เพศ ไปจนถึงทุกองค์กรที่มีความเห็นต่างกันก็ตาม เพราะจะทำให้เห็นความคิดที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่แตกต่าง

ร่วมมือ – สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คน ชุมชน องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อช่วยกันหาวิธีเข้าใจความหลากหลาย และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งผ่านการให้ความรู้ กิจกรรม ไปจนถึงนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ทุกคนสามารถร่วมกันแก้ปัญหาในระดับความร่วมมือได้

 

กรณีศึกษา : Teeter-Totter Wall 

‘ไม้กระดกสีชมพู’ เชื่อมพรมแดน สหรัฐฯ – เม็กซิโก

ย้อนกลับไปไม่กี่เดือน พรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ถูกขีดเส้นแบ่งด้วยกำแพงตามนโยบายของทรัมป์เพื่อป้องกันคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งพยายามใส่ทัศนคติผิด ๆ ว่าทุกวันมีผู้อพยพผิดกฏหมายหลายหมื่นคนเข้ามาแย่งงานคนอเมริกัน รวมถึงการขนส่งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ไปจนถึงแก๊งอาชญากรรม สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้อพยพระหว่างพรมแดนเม็กซิโกเป็นศัตรูทำลายความมั่นคงของชาติ กำแพงแบ่งแยกสหรัฐฯ – เม็กซิโก ทำให้เกิดประเด็นความขัดแย้งมากมายตามมา โดยเฉพาะการกีดกันเชื้อชาติในอเมริกาที่ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

แต่ความเป็นมนุษย์นั้นไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติหรือกำแพงกั้น อย่างที่ศิลปิน และนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันสร้างโปรเจ็กต์ชื่อ ‘Teeter-Totter Wall’ หรือเครื่องเล่นไม้กระดกสีชมพูไปติดตั้งไว้บริเวณกำแพงซี่ ๆ ระหว่างพรมแดน เสมือนเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนสองพรมแดนผ่านการได้เล่นเครื่องเล่นง่าย ๆ นี้ด้วยกัน สร้างความสนุกสนาน ความอบอุ่น และเสียงหัวเราะที่ปราศจากอคติของอีกฝ่าย โดยที่มาของความหมายของไม้กระดก หมายถึง “กำแพงกลายมาเป็นชนวนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ในขณะที่เด็กและผู้ใหญ่เชื่อมโยงกันด้วยวิธีที่มีความหมาย การกระทำที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งมีผลโดยตรงต่ออีกด้านหนึ่งเสมอ”

 

Youth Co:Lab

นอกจากวิธีสร้างความเข้าใจที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เยาวชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจในความหลากหลาย และช่วยกันแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ผ่านโครงการ ‘Youth Co:Lab’ โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้ธีม ‘Embracing Diversity’  ชวนให้ทุกคนเคารพความแตกต่างและเปิดรับความหลากหลาย (respect the differences, embrace diversity)

ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาไอเดียของตัวเองให้เป็นจริง ได้พบปะกับผู้เชี่ยวชาญ และ innovator มากมาย พร้อมทั้งสามารถเสนอโครงการของตัวเอง (pitching) เข้าประกวด เพื่อรับเงินรางวัลไปต่อยอดความคิด รับสมัครเยาวชนตั้งแต่อายุ 18-29 ปี จับทีม 3-4  คน และสามารถร่วมส่งโครงการมาแก้ปัญหาด้วยกัน

โครงการ Youth Co:Lab 2019 กำลังจะเปิดรับสมัครแล้วในอีกไม่กี่วันนี้

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.youthcolabthailand.org  และ เฟสบุ๊กThailand Social Innovation Platform Facebook

 

 

Sources:

– สหประชาชาติและธนาคารโลก 2018 “วิถีสู่สันติ: แนวทางครอบคลุมเพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง” บทสรุปผู้บริหาร ธนาคาร วอชิงตัน ดีซี. ใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซีซีโดย 3.0 ไอจีโอ

https://www.worldometers.info/geography/how-many-countries-are-there-in-the-world/

-http://www.polsci.tu.ac.th/fileupload/39/58.pdf

Keywords: , , , , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779