• Published Date: 06/05/2021
  • by: UNDP

‘การลงทุนให้สิ่งแวดล้อม’ หลักการทำงานอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการที่คิดเพื่อสังคม

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมนั้นลงทุนโดยไม่ได้หวังเพียงจุดคุ้มทุนหรือกำไรเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า

‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) สำหรับเปิดมุมมองและกระบวนการของนักลงทุน และนำมาต่อยอดความคิดของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อสังคม เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance)

การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ คืออะไร ?

เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง และถูกตักตวงเอาผลประโยชน์จนบางครั้งถูกมองข้าม และขาดการเอาใจใส่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มโครงการ ‘The Biodiversity Finance Initiative’ (BIOFIN) สร้างการลงทุนเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยทำงานผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. ประเมินงบประมาณที่ใช้เพื่อลงทุนเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนา ฟื้นฟู วิจัย และป้องกัน จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
  2. ประเมินมูลค่างบประมาณที่จำเป็น
  3. พิจรณาช่องว่างระหว่างขั้นตอนที่หนึ่งและสอง แล้วจัดหานวัตกรรมการจัดหาเงิน (Innovative Finance) เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างการทำงานของผู้ประกอบการสังคมที่ตั้งใจลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นภาพชัดกันบ้าง นั่นคือ ‘Patagonia’ ของ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเอาต์ดอร์ที่จัดทำแคมเปญ ‘1% for the Planet’ มอบเงิน 1% จากยอดขายในแต่ละปีให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอหลายร้อยแห่งทั่วโลก เพราะบริษัทมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนและทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่คำโฆษณาเสื้อผ้า ‘Don’t Buy this Jacket’ ที่หมายถึงอย่าซื้อเสื้อแจ็กเก็ตตัวนี้ ถ้าไม่ต้องการที่จะใส่มันจริงๆ เพื่อช่วยลดขยะเสื้อผ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งยังใช้ฝ้ายออร์แกนิก 100% ยึดถือหลักการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) มีโรงงานสีเขียวที่ใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตัวอาคารยังเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้างส่วนหนึ่ง และเป็นอาคารสีเขียวที่ผ่านมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ไม่เพียงเท่านั้น Patagonia ยังมีกิจกรรมที่ทุกคนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฟื้นฟูแม่น้ำ หรือการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน โดยพวกเขาหวังเพียงเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการรักษาระบบนิเวศของโลกใบนี้ให้ยังคงสมบูรณ์ไปอีกนานเท่านาน

ตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาข้างต้นอย่าง ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance) เป็นเพียงหนึ่งสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงวิธีการของ ‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) เท่านั้น แต่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สังคม หรือสัตว์ป่า เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าไปพร้อมกับสร้างสังคมที่น่าอยู่และดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ที่มา :

https://www.biodiversityfinance.net/

https://web.facebook.com/UNDP.BIOFIN.th/posts/1139307249427189/?_rdc=1&_rdr

https://www.onepercentfortheplanet.org/

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 27/12/2019
  • by: UNDP

ชวนคนเมืองมา ‘ปรับชีวิต เปลี่ยนโลก’ ให้น่าอยู่ขึ้น

 

สำหรับหลายๆ คน การเริ่มต้นปีใหม่อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างการเลิกนิสัยแย่ๆ หรือตั้งเป้าหมายที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่การใช้ชีวิตของเรานั้นส่งทั้งผลดีและผลร้ายให้กับโลก ในแบบที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากสิ่งที่เรากระทำลงไปย่อมสะท้อนกลับมาเสมอ ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาตั้ง New Year’s Resolution ด้วยการคำนึงถึงโลกและรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตาม 6 แนวทางนี้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่ดีขึ้น

 

 

  1. ‘ร้านรีฟิล’ ช่วยโลกลดขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ต้องรีบเร่งแก้ไข วิธีการหนึ่งที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นั่นคือ ‘Zero Waste’ หรือการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ตอนนี้บ้านเรามีธุรกิจใหม่มาช่วยแก้ปัญหา อย่าง ‘ร้านค้าแบบเติม’ (Bulk Store) ที่เราสามารถนำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ อย่างร้านสไตล์ ‘Refill Station’ ที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไปจนถึงอาหารแห้งและขนมขบเคี้ยว ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีร้านรีฟิลเกิดขึ้นมากมาย เช่น Grasstonomy, Zero Moment Refillery, Less Plastic Able แต่ถ้าไม่สะดวกหรืออยู่ไกลยังมีร้าน ‘Greenherit’ เป็นรถรีฟิลเคลื่อนที่ขับไปตามหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือออฟฟิศ รวมถึงตลาดนัดสายกรีนต่างๆ

 

 

  1. สนับสนุน ‘เกษตรกรในท้องถิ่น’

ทุกวันนี้เราซื้อผักผลไม้หรือผลผลิตทางการเกษตรจากไหน ? หลายคนคงเดินเข้าห้างฯ เลือกผักที่สวยและสด พร้อมการันตีว่าปลอดสารพิษ แต่เราไม่เคยรู้ที่มาที่น่าเชื่อถือจากผู้ผลิตเลย คงจะดีหากเราได้รู้แหล่งที่มาหรือวิธีการปลูกจากเกษตรกรตัวจริง ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ อย่าง ‘FARMTO’ สตาร์ทอัพที่สร้างตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์บนแอปพลิเคชัน ทั้งยังมีแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกและได้ผลผลิตกลับไป ซึ่งช่วยให้คนเห็นคุณค่าถึงความใส่ใจของเกษตรกร นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ยังยืน

 

 

3. ‘เที่ยวยั่งยืนสร้างชุมชนเข็มแข็ง

 

การท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์กลายเป็นเทรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเราท่องเที่ยวแล้วได้รักษาธรรมชาติหรือพัฒนาท้องถิ่นไปในตัว น่าจะยิ่งสร้างความประทับใจและเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เราเข้าถึงชุมชนที่น่าสนใจและทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘Local Alike’ ธุรกิจที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นตัวกลางเชื่อมนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือ ‘HiveSters’ ที่นำเสนอ real Thai experience ให้เราได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

4. ‘แยกขยะง่ายๆเริ่มต้นได้ที่บ้าน

ปัญหาขยะล้นส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่แยกขยะ เพราะขยะดีที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถูกอัดรวมกับขยะที่เน่าเสียไปยังกองขยะหรือหลุดรอดปะปนในธรรมชาติ ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ขยะก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง การเริ่มต้นมักยากเสมอแต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอย่างเอี่ยมดีรีไซเคิลรถบริการจัดการขยะถึงบ้าน ร้านค้า โรงแรม หรือสำนักงาน ในจังหวัดเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ที่ช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นการรับขยะจากต้นทางไม่ต้องไปคุ้ยกองขยะ เรียกว่าเป็นซาเล้งยุคใหม่ที่สะอาด มีมาตรฐานราคา ตรงเวลา และบริการอย่างมืออาชีพ นอกจากจะช่วยให้คนหันมาแยกขยะมากขึ้น เอี่ยมดีรีไซเคิลยังช่วยเหลือสังคมด้วยการแบ่งรายได้ 30 % ไปสร้างประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ อีกด้วย

 

 

  1. ‘เปลี่ยนอาหารเหลือทิ้ง’ เป็นมื้อที่ช่วยสังคม

ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติกเท่านั้นที่กำลังเป็นประเด็น ขยะอาหารที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันก็ทำให้เกิดแก๊สมีเทนเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาโลกร้อน อีกทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย สวนทางกับวิกฤตอาหารโลกที่หลายประเทศกำลังขาดแคลนอาหาร แม้แต่ในบ้านเราที่มีขยะอาหารเกิดขึ้นมากมายขณะที่บางคนไม่มีกิน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิ ‘Thai SOS’ ที่จัดตั้งโปรเจกต์ ‘Food Rescue’ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดี ทั้งจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ไปจนถึงครัวตามบ้าน ส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ บ้านอุปถัมภ์ ที่พักผู้ลี้ภัย โรงเรียน หรือชุมชนที่ต้องการ โดยใส่ใจเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ส่วนเศษอาหารที่เหลือทิ้งหรือหมดอายุก็นำไปทำปุ๋ยให้กับเกษตรกรต่อไป

 

 

6. อุดหนุนสินค้าดีไซน์รักษ์โลก

อุตสาหกรรมแฟชันเป็นหนึ่งในวงการที่สร้างมลพิษและใช้ทรัพยากรมากที่สุด การใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิลจึงกลายเป็นสิ่งที่บรรดาดีไซเนอร์ต้องเริ่มคิด อย่างบ้านเราก็มีนวัตกรรมเส้นใยผ้าจากสับปะรดของหจก.รักษ์บ้านเรา สงขลาที่นำเศษใบเหลือทิ้งมารีดเป็นเส้นใย นอกจากสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ยังสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ จังหวัดสงขลา และอีกแบรนด์รุ่นใหม่แนวคิดดี อย่างคิดดีที่ออกแบบกระเป๋าสุดเท่จากถุงล้างไตที่กลายเป็นขยะจำนวนมาก คิดดีไม่เพียงช่วยโลกลดขยะเท่านั้น แต่ยังนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วก็สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันด้วย

 

#UNDP #UCxUNDP #Sustainability #SDGs #NewYearResolution

Keywords: ,
  • Published Date: 24/09/2019
  • by: UNDP

’Nas Daily’ อินฟลูเอนเซอร์ที่ชวนทุกคนมายุติ ‘การแบ่งแยก’ ในสังคม

 

หลายคนรู้จักหนุ่มคมเข้ม Vlogger และ Influencer ที่โด่งดังที่สุดของยุคนี้อย่าง ‘Nas Daily’ จากคลิปวิดีโอสั้น ๆ เพียง 1 นาที กับวลีเด็ดที่เขาพูดทิ้งท้ายทุกคลิป “That’s one minute, see you tomorrow” เขามีชื่อจริงว่า ‘Nuseir Yassin’ หนุ่มเชื้อสายอิสราเอลและปาเลสไตน์ วัย 26 ปี ที่ออกเดินทางไปทั่วโลกและทำสารคดีระหว่างการเดินทางทุกวัน เพื่อพาทุกคนไปเปิดมุมมองโลกที่กว้างใหญ่ผ่านวิดีโอ 1 นาทีของเขา

 

 

 

“I hope this video make you angry, because it makes me angry”

ผมหวังว่าวิดีโอนี้จะทำให้คุณโกรธ เพราะมันทำให้ผมโกรธเช่นกัน

 

 

หนึ่งในวิดีโอที่น่าสนใจของเขา เปิดมาด้วยประโยคแรกว่า “ผมหวังว่าวิดีโอนี้จะทำให้คุณโกรธ เพราะมันทำให้ผมโกรธเช่นกัน” Nas Daily ในตอนนี้มีชื่อว่า ‘Segregation’ หรือการแบ่งแยก เมื่อได้ยินคำนี้เรามักจะนึกถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา และความแตกต่างอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ การไม่ยอมรับ และการปฏิเสธ แม้สังคมในปัจจุบันจะพัฒนาไปอย่างไร้พรมแดน ทัศนคติของผู้คนเปิดกว้างขึ้น แต่การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในโรงเรียน สังคม หรือแม้แต่โลกโซเชียล ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา

 

 

Nuseir Yassin เริ่มเล่าเรื่องจากชีวิตวัยเด็กของเขาที่เป็นชาวอาหรับซึ่งไม่มีเพื่อนชาวยิวเลย เหตุผลไม่ใช่เพราะเขาเกลียดชาวยิว แต่เพราะชาวยิวและชาวอาหรับไม่ต้องการอยู่ร่วมกัน ในประเทศอิสราเอลที่เขาอยู่มีการแบ่งแยกไม่ต่างจากประเทศอื่นในอีกหลายมุมทั่วโลก โดยชาวยิวและชาวอาหรับจะอยู่แยกกันในย่านพักอาศัยคนละแห่ง ไม่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน และไม่แม้แต่จะพบปะพูดคุย

นอกจากนี้ เขายังมองว่า การแบ่งแยกนั้นไม่ใช่ความผิดของใครคนหนึ่ง เพราะการที่มนุษย์หลอมรวมเข้ากับผู้คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่การแบ่งแยกกลุ่มศาสนา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากส่วนที่เหลือของสังคม (Self Segregation) นับเป็นเรื่องที่อันตราย เช่น ลอนดอน ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ก็มีการแบ่งแยกถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชาวมุสลิม คนผิวขาว และคนผิวสี โดยชาวมุสลิมในลอนดอนจะมีย่านอยู่อาศัยแยกตัวออกมา พวกเขาแวดล้อมไปด้วยวัฒนธรรมของตัวเอง สังคมจึงแบ่งแยกเป็นส่วนๆ เมื่อเราไม่อยู่ร่วมกัน เราก็จะเริ่มเกลียดกัน ซึ่งนั่นทำให้การแบ่งแยกเป็นสิ่งที่น่ากลัว

 

 

อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกนั้นยังมีทางออกให้เห็น อย่างใน ‘สิงคโปร์’ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งมาเลเซีย จีน และอินเดีย โดยกว่า 81 % อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านที่จัดสรรโดยรัฐ (public housing) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ออกกฎหมายบังคับให้ ในทุกอพาร์ทเมนต์ 100 แห่งนั้น มีชาวจีนอาศัยอยู่ 74 ครอบครัว (74 %) ชาวอินเดีย 13 ครอบครัว (13 %) และชาวมาเลเซีย 13 ครอบครัว (13 %) ทำให้ที่อยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งแบบ 100 % และเกิดการผสมรวมทางวัฒนธรรมอย่างน่ามอง ซึ่ง Jun Xiang ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานโยบายที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์ (Housing Policy Development หรือ HDB) กล่าวว่า

“เราส่งเสริมการผสมผสานกันทางสังคม (social mixing) เพื่อให้ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติได้อยู่ร่วมกัน และเข้าใจในวิถีชีวิตของกันและกัน”

 

ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติได้พบปะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ที่เล่นด้วยกันในสนามเด็กเล่น และกลายมาเป็นเพื่อน หรือแม้กระทั่งการทักทายในลิฟท์ ซึ่งหากวิธีนี้ใช้ได้ผลในสิงคโปร์ ก็เป็นไปได้ว่าในประเทศอื่นๆ ในโลกก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน

 

เพราะไม่ว่าจะประเทศไหนในโลกก็ตาม รัฐบาลก็ควรหาหนทางที่จะส่งเสริมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติให้อยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบายของรัฐเท่านั้น แต่เราก็ควรส่งเสริมให้เด็กๆ หรือลูกหลานของเราเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม รู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และการแบ่งแยก (Segregation) ก็จะหายไปจากสังคมโลก

 

 

Keywords: , , , , , ,
  • Published Date: 18/09/2019
  • by: UNDP

‘นวัตกรรมข้อมูล’ สิ่งสำคัญในการสู้กับวิกฤต BREXIT

 

Nesta ใช้ ‘นวัตกรรมข้อมูล’ วิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน UK จากโฆษณารับสมัครงาน 41 ล้านชิ้น พบว่า วิศวกรรมข้อมูล คือทักษะที่มีแนวโน้มเงินเดือนสูงที่สุด

หลายคนอาจสงสัยว่า ‘นวัตกรรมข้อมูล’ เป็นส่วนช่วยวิกฤต Brexit ได้อย่างไร ?

ก่อนอื่นขอท้าวความเรื่องราว Brexit เป็นปัญหาเรื้อรังระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) มาร่วม 4 ปี ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายพรรคฝ่ายค้านในหัวข้อการเลื่อนระยะเวลาในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 จากเดิมวันที่ 31 ตุลาคม 2019 นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถอนตัวโดยไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) ซึ่งเป็นแผนของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน กลายเป็นปัญหาปั่นป่วนสภา และยังส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ตลาดแรงงาน’ ในสหราชอาณาจักร เพราะชนวนสำคัญของข้อพิพาทย์ Brexit คือปัญหาผู้อพยพที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงาน หรือว่าง่ายๆ คือ เข้ามาแย่งงานบางส่วนของชาวสหราชอาณาจักรนั่นเอง

ซึ่งหากลงลึกถึงข้อมูลตลาดแรงงานในสหราชอาณาจักร คงมีชุดข้อมูลหลายต่อหลายชุดที่ข้องเกี่ยว ดังนั้น การพัฒนาอย่างก้าวล้ำของโลกนวัตกรรมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการจัดการกองข้อมูลมหึมา เรากำลังพูดถึง ‘นวัตกรรมข้อมูล’ (Data Innovation) ที่มีบทบาทสำคัญในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูล

นวัตกรรมข้อมูล (Data Innovation) คืออะไร ?

นวัตกรรมข้อมูล คือการรวบรวมการจัดการ และการใช้ข้อมูลแบบใหม่ (non-traditional data) เช่น โซเชียลมีเดีย และอื่นๆ มาช่วยคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และกลั่นข้อมูลออกมาให้มีคุณภาพ เพื่อทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในการพัฒนามากขึ้น ซึ่งผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้นวัตกรรมข้อมูลเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเมืองไปสู่ความยั่งยืนได้ เพราะเมื่อสามารถกลั่นกรองข้อมูลที่สำคัญได้แล้ว ผู้กำหนดนโยบายก็สามารถใช้นวัตกรรมข้อมูล ตรวจสอบว่ายังขาดอะไรในการพัฒนา หรือจะหาวิธีอะไรมาอุดรอยรั่วต่างๆ ได้เช่นกัน

National Endowment for Science Technology and the Arts หรือ Nesta สถาบันนวัตกรรมแห่งสหราชอาณาจักร ก็ได้ใช้นวัตกรรมข้อมูลเข้ามาวิเคราะห์เส้นทางตลาดแรงงานในสหราชอาณาจักรหลังออกจาก EU ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานบางอย่างจะขาดแคลน ทั้งในระยะยาวยังมีเหล่าเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI เข้ามาแย่งงานมนุษย์มากขึ้น Nesta จึงวิเคราะห์จากโฆษณารับสมัครงานกว่า 41 ล้านชิ้น (เก็บข้อมูลระหว่างปี 2012-2017) ร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย นักศึกษาศาสตร์ นักธุรกิจ แรงงาน และนักศึกษา เพื่อจัดประเภททักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงาน ช่วยวางแผนการรับสมัครงาน ฝึกฝน และเรียนรู้ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมช่วยให้แรงงานและนักศึกษามีข้อมูลสำหรับเลือกอาชีพที่สนใจได้มากขึ้น

โดยการวิเคราะห์ของ Nesta ครั้งนี้ พบว่ามีหลากหลายอาชีพที่จำเป็นต้องใช้ทักษะ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามเวลาและการประเมินมูลค่าทางตลาด ต่อไปนี้คือการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับ 5 กลุ่มทักษะซึ่งมีแนวโน้มเงินเดือนสูง และอีก 5 กลุ่มทักษะที่ทำแล้วเสี่ยงถูกลดเงินเดือน

กลุ่มทักษะซึ่งมีแนวโน้มเงินเดือนสูง และเติบโตอย่างรวดเร็ว

1.วิศวกรรมข้อมูล
2. งานรักษาความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. การวิจัยทางการตลาด
4. การพัฒนาแอปพลิเคชัน
5. การพัฒนาเว็บไซต์

กลุ่มทักษะซึ่งมีแนวโน้มเงินเดือนต่ำ และเติบโตช้า

1. การขนส่งและการจัดการคลังสินค้า
2. การบริหารทางการแพทย์และ coding
3. การขายทั่วไป
4. การเก็บข้อมูล
5. สิ่งพิมพ์และการเขียน

อย่างไรก็ตาม เหล่านี้ไม่ใช่ชุดข้อมูลที่ใช้ได้เสมอไป เพราะอย่างที่บอกว่ามันจะแปรผันตามการประเมินมูลค่าทางการตลาด และไม่แน่ว่า Nesta อาจจะต้องวิเคราะห์ทักษะจำเป็นสำหรับแรงงานอีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อง Brexit ซึ่งแน่นอนว่า นวัตกรรมข้อมูล (Data Innovation) ยังคงเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยคิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลชุดใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

การใช้ ‘นวัตกรรมข้อมูล’ วิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน UK หลังวิกฤต Brexit เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นเพราะในความจริงแล้ว ยังมีอีกหลายตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่นวัตกรรมข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

 

อ้างอิง:

https://www.nesta.org.uk/news/nesta-creates-most-comprehensive-public-map-skills-uk-help-tackle-skill-shortages-ahead-brexit/

https://www.un.org/en/sections/issues-depth/big-data-sustainable-development/index.html

https://www.bbc.com/news/uk-politics-32810887

 

#UNDP #UCXUNDP #Brexit #UnitedKingdom #Britain

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 16/09/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ที่จะ ‘ป้องกัน’ ก่อนเกิดความรุนแรง

 

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีภาพของความยากจน การกีดกัน ความไม่เท่าเทียม ไปจนถึงความอยุติธรรมปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขที่สร้าง ‘แนวความคิดสุดโต่งที่รุนแรง’ (Violent Extremism) ในระดับสังคม ประเทศ และโลก สิ่งที่สำคัญคือจะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงแบบสุดโต่งนั้นได้อย่างไร  ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ต้องอาศัยเครื่องมือแบบไหนบ้าง  เพื่อไม่ให้เรื่องราวน่าเศร้าใจเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

            การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ไม่ใช่การหยิบอาวุธครบมือขึ้นมาล้อมหน้าล้อมหลังกัน แต่คือวิธีการค้นหา และระบุถึงสาเหตุของปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธี ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของภาครัฐไปจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น และการลงมือทำงานร่วมกับประชาชน

            ถึงแม้ในระเทศไทยเองยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นสุดโต่งปรากฎให้เห็นชัดนัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขั้นนั้นได้ นั่นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่มากพอให้คนทุกภาคส่วนแสดงออกทางความคิด หรือพูดคุยเรื่องราว และปัญหาต่างๆ รวมถึงประเด็นอีกหลายต่อหลายข้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ไม่เปิดพื้นที่มากพอให้ผู้หญิงแสดงออกความเห็น ความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยที่ยังมีให้เห็นอย่างชัดเจน หรือความไม่เสมอภาคของโอกาสในการเข้าถึงด้านต่างๆ

            ดังนั้นการทำความเข้าใจหรือรับรู้เรื่องราวขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำ เรามีโอกาสพูดคุยกับ ‘ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็น ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ในประเทศไทย

 

(photo credit : นิตรสาร GM ฉบับเดือนมกราคม 2560)

PVE คำนี้คืออะไร

            ผศ.ดร.จันจิรา : PVE หรือ Preventing Violent Extremism หมายถึง การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงโดยอ้างอุดมการณ์หรือฐานความคิดอันสุดโต่ง โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มบุคคลที่ฝ่ายซึ่งใช้ความรุนแรงเห็นว่าเป็น “ศัตรู” และอะไรที่ทำให้สังคมของตน “ไม่บริสุทธิ์” การป้องกันความรุนแรงเช่นนี้ต้องกลับไปดูที่โครงสร้างและวัฒนธรรมที่ผลิตผู้ใช้ความรุนแรงสุดโต่ง โดยมากคนเหล่านี้เป็นอยู่ในความขัดแย้งระดับสังคมโดยผู้ที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งมักมีความคับข้องใจ (Grievance)  เช่นไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เจอกับความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนเยอะ หรือหลายคนถูกเลือกปฏิบัติ เพราะนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือมีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในสังคม

            บางคนอาจจะรู้สึกว่า นโยบายของรัฐไม่ได้ให้โอกาสตัวเองในการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น มันก็มีสาเหตุของการเกิดความคับข้องใจต่างกัน ดังนั้นการสร้างการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ต้องเข้าไปศึกษาและเข้าใจความคับข้องใจเสียก่อน ว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนของความคับข้องใจจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

 

PVE ในบริบทสังคมไทย

             ผศ.ดร.จันจิรา : นิยามของคำว่าความรุนแรงสุดโต่งที่ใช้กันตอนนี้มาจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ รวมหลายประเทศในตะวันออกกลาง และโลกตะวันตก ซึ่งอาจไม่ใช้ประสบการณ์ของสังคมไทยเสียทีเดียว เท่าที่ได้คุยกัน คำนิยาม violent extremism สังคมไทยยังไม่ลงตัว แต่ละฝ่ายเข้าใจต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์และจุดยืนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เจอ เช่นเวลาเราคุยกับภาคประชาสังคม ก็จะได้ข้อมูลว่า รัฐเป็นปัญหา เป็นผู้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ฉะนั้นเป็นสาเหตุของ violent extremism ส่วนรัฐก็จะมองว่า violent extremism เกิดกับประชาชนบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนกลุ่มอื่น ซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างจากตน ดิฉันเลยคิดว่า คำหรือการให้ความหมายน่าจะปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของสังคมไทยมากขึ้น เช่น ดูจากเงื่อนไขของปรากฏการณ์ violent extremism ในมิติที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ มากกว่าจะดูว่าใช้เป็นผู้ใช้ความรุนแรง

 

การทำงานเพื่อป้องกัน

             ผศ.ดร.จันจิรา : การทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งของ UNDP มีหลายส่วน ซึ่งเราแบ่งพื้นที่เป็น 2 พื้นที่ใหญ่ คือ

             1.  ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ มีการจัดโครงการต่างๆ ที่ดูแลเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมความขัดแย้งรุนแรง เช่น โครงการที่ดูเรื่องขันติธรรมระหว่างชุมชนชาวพุทธกับคนไทยมุสลิม หรือส่งเสริมให้จัดการเสวนาคุยกันข้ามศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจ

             2. พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ทำงานจากการหาสาเหตุของความคับข้องใจว่าไปปรากฎที่ไหนบ้าง ไม่ว่าจะเหนือ อีสาน กลาง ใต้ หาว่าผู้กระทำมีแรงกระตุ้นในการสร้างความรุนแรงอันสุดโต่งอย่างไร

             นอกจากนี้ UNDP ยังมีทีมมอนิเตอร์เรื่องราวของ hate speech หรือการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังภายในประเทศ วิเคราะห์บทสนทนาต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก ว่ามีบทสนทนาหรือหัวข้ออะไรบ้างในโลกโซเชียลที่หมิ่นเหม่จะใช้ถ้อยคำเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม  และเรายังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มุ่งป้องกัน violent extremism

 

 

การรับรู้ของภาคประชาชน

              ผศ.ดร.จันจิรา : ถ้าพูดในมุมของสาธารณะ คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้เรื่องการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้ว PVE มีคอนเซ็ปต์มาจากที่อื่น เช่น มาจากสังคมที่มีผู้ที่ก่อความรุนแรง ดังนั้นตอนนี้ เรากำลังพยายามทำงานกันอยู่เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป

             อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เอกชน องค์กร และที่สำคัญคือภาคประชาชน ผ่านแนวทางการจัดแผนยุทธศาสตร์ ทำงานวิจัย หรือปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อสร้างแนวทางป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (PVE) ในสังคมไทย

 

Sources :

– ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– สหประชาชาติและธนาคารโลก 2018 “วิถีสู่สันติ: แนวทางครอบคลุมเพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง” บทสรุปผู้บริหาร ธนาคาร วอชิงตัน ดีซี. ใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซีซีโดย 3.0 ไอจีโอ

–  http://www.asia-pacific.undp.org/content/rbap/en/home/programmes-and-initiatives/extremelives.html?fbclid=IwAR3G9xDf15DZCyru0BvszNMAL5rcdITCcR4YdKIPrmfT8JmzxIEAaz5QFzo

https://www.undp.org/content/undp/en/home/2030-agenda-for-sustainable-development/peace/conflict-prevention/preventing-violent-extremism.html

https://www.undp.org/content/undp/en/home/blog/2019/new-approaches-to-preventing-violent-extremism.html

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 27/08/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ สนุกรักษ์ เที่ยวยั่งยืนที่ชุมชน ‘เพียรหยดตาล’ กับโครงการ APYE

 

หากพูดถึงสวนมะพร้าวเราคงนึกถึงมะพร้าวน้ำหอม ถือกินเป็นลูกๆ หวานฉ่ำชื่นใจ แต่มะพร้าวสามารถเป็นได้มากกว่านั้น ทั้งน้ำมันมะพร้าวในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือหากเป็นพันธุ์มะพร้าวแกงก็จะนำเอาเนื้อมะพร้าวไปทำกะทิ ส่วนช่อดอกมะพร้าวที่เรียกว่า จั่น ยังเอามาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวได้ด้วย ซึ่งเราไปลุยสวนตามล่าน้ำตาลมะพร้าว 100 % กันมา แถมยังเห็นความลำบากในทุกกระบวนการ บอกเลยว่าหากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน

 

 

เรามีโอกาสตามชาวสวน พร้อมกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายประเทศ ไปคลุกคลีกับชุมชน เพียรหยดตาล บ้านนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม ใน ‘โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก’ (Asia Pacific Youth Exchange หรือ APYE) ที่จับมือกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Programme หรือ UNDP) ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชน จะได้มาอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ โดยในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6

 

 

ในทริปนี้ เราได้เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ชวนคนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น จนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง นอกจากความสนุกที่ได้ทดลองเป็นชาวสวน ยังได้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สัมผัสได้จากรอยยิ้มอบอุ่นของคุณลุงคุณป้า

 

 

สิ่งสำคัญจากกิจกรรมนี้คือ การลงพื้นที่สำรวจชุมชน และเข้าใจปัญหาต่างๆ ในชุมชนที่มีผลต่อการพัฒนา ผ่านการพูดคุยและทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยนำเสนอไอเดียและข้อเสนอแนะให้ชุมชนนำไปต่อยอด การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

 

 

หลายคนเคยได้ยิน ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ กันมาแล้วบ้างก็น่าจะอยากรู้ว่า เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนได้อย่างไร

ไปฟังแนวคิดจาก หนึ่งในตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ‘ชารีฟ วัฒนะ’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครั้งนี้กัน

 

 

ทำไมถึงสนใจสมัครโครงการนี้ ?

จากที่ผมได้เรียนวิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา(TU100) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เนื่องจากธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับโครงการของ APYE

การได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาลงมือทำจริง จากภาคทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติ ได้สำรวจชุมชน เห็นสภาพปัญหา ร่วมกันคิดหาทางออกในมุมมองของเยาวชนจากหลากหลายประเทศ

 

 

เพียรหยดตาลมีแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ?

ชุมชนเพียรหยดตาลเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มจากพี่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำ ร่วมกันกับคุณลุงคุณป้า นำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นจุดหนึ่งในการขยาย SDGs ในด้านอื่นๆ อีกด้วย

“อย่างแรกคิดว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะการขับเคลื่อน SDGs มันเกิดจากคนๆ เดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านในชุมชน รวมถึงเยาวชน และทุกคนที่มีส่วนได้เสียในการร่วมกันพัฒนาชุมชนหนึ่งๆ

 

 

เป้าหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร ?

การดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและผู้คน และรับมืออย่างไรให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย

เป้าหมายหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศหรือชุมชนต่างๆ เพราะคำว่ายั่งยืน มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

มันไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันคือเจเนอเรชันนี้ เจเนอเรชันหน้า และต่อไปๆ

 

 

เยาวชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร ?

เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ วัยหนุ่มสาวยังสามารถทำอะไรให้กับประเทศอีกมากมาย เยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยมหาวิทยาลัย กำลังเข้าถึงแขนงวิชาความรู้ต่างๆ เขาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาสู่การปฏิบัติได้ และเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

สิ่งที่เรียนไม่ใช่แค่นำไปประกอบอาชีพในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่สามารถนำความรู้มาพัฒนาชุมชน ร่วมกันคิดหาทางออก และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้

 

 

สิ่งที่ได้กลับไปจากโครงการนี้

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เราได้สัมผัสความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ เราได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าอยากเห็นชุมชนกลับมาทำน้ำตาลมะพร้าวอีกครั้ง เป็นตัวจุดประกายว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆ ยังอยู่กับชุมชนต่อไปถึงรุ่นลูกลูกหลาน

เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านเรามีของดีมากมายขนาดนี้ แล้วก็รู้สึกมีความหวังว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดจะพัฒนาชุมชน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ทำให้เราอยากจะช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น

 

Keywords: , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779