• Published Date: 06/05/2021
  • by: UNDP

การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาวัดผลกระทบมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

เขียนโดย อภิญญา สิระนาท, Head of Exploration โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“อนาคตที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ”

บริบททางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและยังคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมิลเลนเนียลที่เริ่มตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เพียงจะเริ่มมองว่าบริษัทควรมีพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังคาดหวังให้ธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นตัวกำหนดตลาดในอนาคต เพราะมันชี้ให้เห็นความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งหากภาคธุรกิจสามารถเล็งเห็นปัญหาและสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะนำไปสู่
การสร้างตลาดเทคโนโลยี การลงทุน และ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ”
– Achim Steiner, Administrator, United Nations Development Program (2018) 

ความต้องการและค่านิยมที่แตกต่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเติบโตทางธุรกิจและไม่จำกัดอยู่เพียงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตหรือผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้นเท่านั้น บริษัททั้งหลายเริ่มตระหนักว่าธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต่างพยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและเกื้อกูลในระยะยาวที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พนักงาน ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น และ สังคมโดยกว้าง

การที่บริษัทให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้หมายความว่าบริษัทจะต้องเสียผลประโยชน์ ผลกำไรทางธุรกิจเสมอไป  ในทางกลับกัน บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ทั้งนี้งานวิจัยหลายชิ้นได้พบความสัมพันธ์เชิงบวก (positive correlation) ระหว่างผลกำไรกับความมุ่งมั่นของบริษัทในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)[1] เช่น การศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่า[2] เมื่อเทียบกันแล้ว บริษัทที่มีการวัดและประเมินด้าน ESG ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีการเติบโตใน 18 ปีต่อมามากกว่ากลุ่มที่ไม่มี การศึกษาโดย Nordea Equity Research[3] ในปี 2017 พบว่า ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2015 บริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG สูงสุดนั้นมีการเติบโตมากกว่าบริษัทที่ถูกจัดอันดับ ESG ต่ำสุด ถึง 40%

          “การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีผลการประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของตนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร หากปราศจากเป้าหมายดังกล่าว
บริษัทก็ไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้”
– Larry Fink, CEO, Blackrock (2018)

การแพร่ระบาดของโควิด 19 (COVID-19) ยิ่งตอกย้ำบทบาทและความสำคัญของภาคเอกชนในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับบทบาทของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในฐานะที่เป็นภาคส่วนหลักในการจ้างงานและการลงทุน ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญทั้งในการคุ้มครองพนักงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ตลอดจนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเกื้อกูล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยั่งยืนต่อไป

ด้วยบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจได้อีกต่อไป ธุรกิจทั้งหลายต่างต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ตลอดจนการวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management – IMM) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ แสดงพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม และ สื่อสารข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรายงานความยั่งยืนและการวัดผลกระทบนั้นต่างช่วยเพิ่มศักยภาพและทำให้บริษัทมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น แต่การปฏิบัติทั้งสองล้วนเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะและมีความแตกต่างกันในแนวทางและวัตถุประสงค์

Global Reporting Initiative (GRI) ได้นิยามรายงานความยั่งยืนว่าคือ “รายงานเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัท รายงานนี้จะแสดงถึงค่านิยมและรูปแบบการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์และความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน” การจัดทำรายงานความยั่งยืนนั้นช่วยให้องค์กรสามารถระบุและเปิดเผยผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก

ภาพจากงาน From ESG to SDGs : Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies

ในประเทศไทยพบว่ามีบริษัทจำนวนมากมียุทธศาสตร์ นโยบาย และจริยธรรมธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี การปฎิบัติตามกรอบแนวทาง ESG นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปลดล็อคขีดความสามารถอันมหาศาลของภาคเอกชนในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เพราะกรอบ ESG นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงทุกบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน  กรอบ ESG มุ่งเน้นไปที่นโยบายและกระบวนการดำเนินการของบริษัทเป็นหลัก และ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้รายงานมักจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของนักลงทุน การจัดทำข้อมูลตามกรอบ ESG จึงมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact) และ เปรียบเทียบศักยภาพระหว่างบริษัทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกได้  การสำรวจของ McKinsey[4]  เปิดเผยว่านักลงทุนเชื่อว่า “ข้อมูลความยั่งยืนที่ถูกเปิดเผยนี้ ยังไม่พร้อมจะถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและให้คำแนะนำการลงทุนได้อย่างถูกต้อง”

ในทางกลับกัน การเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงการบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ การดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆจึงจำเป็นต้องมีการทำ IMM อย่างเหมาะสม เพราะการทำ IMM นั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถสื่อสารผลกระทบสู่ภายนอก และทำให้มั่นใจว่าบริษัทกำลังดำเนินการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การทำไปตามข้อบังคับ กฏหมายหรือข้อกำหนดต่างๆเท่านั้น

การวัดและการบริหารผลกระทบ (Impact Measurement and Management: IMM) คืออะไร ?

Global Impact Investing Network (GIIN) ได้นิยาม IMM ไว้ดังนี้  “การวัดและการบริหารผลกระทบหมายถึงการระบุและพิจารณาผลกระทบรอบด้านของธุรกิจที่มีต่อผู้คนและโลก ตลอดจน หาวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลเชิงบวกให้มากที่สุดโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความท้าทายที่ผู้ที่ทำงานด้านการวัดผลกระทบเผชิญมาเป็นเวลานานคือ การหาคำนิยาม ความหมายของคำว่า ผลกระทบ และ ทำอย่างไรเพื่อจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น การที่เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทำให้เกิดแนวทางในการวัดผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งจาก ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ธุรกิจ ไปจนถึงตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) และเจ้าของเงินทุน

การใช้ SDGs เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบ

การที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ SDGs เป็นวิสัยทัศน์ของโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 2015 นั้น ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเรื่อง IMM  มากยิ่งขึ้น SDGs ไม่เพียงกำหนดขอบเขตสำหรับการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของการบรรลุผลกระทบเหล่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าของตนเพื่อบรรลุผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้บริษัทจำนวนมากทั่วโลกจึงเริ่มหันมาใช้ SDGs เป็นกรอบในการวัดผลกระทบของธุรกิจตน

          “ธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านการดำเนินกิจกรรมหลักของตน และเราขอให้บริษัททุกแห่งเริ่มประเมินผลกระทบ
ตั้งเป้าหมายให้สูง และสื่อสารผลการทำงานอย่างโปร่งใส”
– Ban Ki-moon, Former United Nations Secretary-General (2015)

ผลกระทบในบริบทของ SDGs กำลังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับปัจจัยอื่นๆ อย่างรายได้และความเสี่ยง เฉกเช่นกับการที่รายงานทางการเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท  การวัดและการบริหารผลกระทบด้าน SDGs (SDGs IMM) นั้นก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อบริษัท เนื่องจากไม่เพียงแต่บรรดาผู้ถือหุ้น แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายก็เริ่มเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต

นอกจากธุรกิจต้องใส่ใจต่อการเรียกร้องของสังคมเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเเสดงความรับผิดชอบแล้ว การคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมไปพร้อมๆ กับกำไร และ การนำ SDGs IMM มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทหลายประการ ดังนี้

  • การสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ: IMM ช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุตลาดใหม่ๆ และ เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ธุรกิจเพื่อสังคม Hilltribe Organics ได้มีการนำ IMM มาปรับใช้โดยได้รับคำปรึกษาจาก UNDP Business Call to Action ทำให้สามารถระบุได้ว่าตลาดยังมีความต้องการไข่อินทรีย์อยู่พอสมควรจึงเริ่มหันมาสนใจและเปิดตลาดขายไข่อินทรีย์ด้วย ณ วันนี้ Hilltribe Organics[5] กลายเป็นบริษัทไข่อินทรีย์อับดับต้นๆ ของประเทศไทย และ ปัจจุบันมีช่องทางขายทั้งในซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ ร้านอาหารและโรงแรมทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในช่วงจะต่อยอดโมเดลธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business model) โดยเพิ่มการผนวกกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วประเทศเข้าในห่วงโซ่แห่งคุณค่าทางการเกษตร (agricultural value chain) ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทแล้วยังเป็นการเพิ่มจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
  • การตลาดและช่วยสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กร: ข้อมูลผลกระทบ (Impact data) ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างแคมเปญทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้ามีความสนใจในตัวบริษัทมากขึ้นอีกด้วย บริษัทสื่อโฆษณารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Plan B Media เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีที่มีความมุ่งมั่นจะใช้กลยุทธ์การตลาดที่ยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้ธุรกิจของตนโดยตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การที่ Plan B ตระหนักว่าสื่อดิจิตัลจะต้องเป็นมากกว่าเพียงแค่การให้บริการโฆษณาแต่ควรมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยนั้น Plan B จึงร่วมมือกับ UNDP จัดทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ SDGs ในประเทศไทย ทั้งในเรื่อง การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและหยุดการใช้พลาสติกครั้งเดียว (single-use plastics)[6] เป็นต้น
  • ช่วยจัดวางกลยุทธ์และลดความเสี่ยง: IMM นอกจากจะทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆของบริษัทนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กรแล้ว ยังช่วยระบุความเสี่ยงต่่างๆได้ตั้งเเต่เริ่มเเรก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ทันท่วงที

Business Call to Action’s Impact Lab[7]
เครื่องมือสำหรับการวัดและการบริหารผลกระทบเบื้องต้น

บริษัทที่ไม่เคยทำ IMM มาก่อน อาจจะรู้สึกว่า IMM เป็นสิ่งท้าทาย และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ในขณะเดียวกัน UNDP Business Call to Action ได้ตระหนักถึงประโยชน์ต่างๆ ของ IMM จึงพัฒนา Impact Lab ซึ่งเป็นออนไลน์เเพลตฟอร์มขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการทำ SDGs IMM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัว Impact Lab นั้น ประกอบด้วย 4 โมดูลหลักซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการบริหารผลกระทบ ตั้งแต่ การประเมินความพร้อมในการวัดผล การวางแผนสำหรับการวัดผลและการออกแบบกรอบผลกระทบ การตรวจสอบข้อมูลผลกระทบ (impact data) และ การวิเคราะห์และรายงานข้อมูลผลกระทบ (impact data) เมื่อบริษัทได้ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว นอกจากจะสามารถเข้าใจถึง Impact Value Chain ที่เชื่อมการดำเนินการของธุรกิจตนเข้ากับ SDGs ได้เเล้ว ยังสามารถออกแบบกรอบผลกระทบ SDGs ของตนเอง พร้อมด้วยแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยในการวัด บริหาร และ สื่อสารผลกระทบได้

เกี่ยวกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นเครือข่ายการพัฒนาระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UNDP ทำงานร่วมกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ในการช่วยขจัดความยากจน ลดความไม่เท่าเทียมและการกีดกัน UNDP มีประสบการณ์ทำงานกับภาคเอกชนในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมายาวนานโดยองค์กรได้ทำงานร่วมกับบริษัททั่วโลกจากหลายอุตสาหกรรมทั้ง ภาคพลังงาน อาหาร การเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค การเงิน และ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในประเทศไทย UNDP ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเกี่ยวกับประเด็นด้านการพัฒนาต่างๆ
  • ช่วยธุรกิจมองหาโอกาสในการทำผลิตภัณฑ์ สินค้า เเละ บริการต่างๆที่ตอบโจทย์ความท้าทายด้านการพัฒนา รวมถึงให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจเกื้อกูลสังคม (Inclusive Business) ที่นำกลุ่มคนรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อมาเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ พนักงาน และ ผู้บริโภค
  • ระดมทรัพยากรทุนและสิ่งของจากภาคเอกชนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ใช้นวัตกรรมทางการเงินและสร้างเครือข่ายเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินงานด้าน SDGs
  • ให้ความรู้และออกแบบเครื่องมือต่างๆในด้านการวัดและบริหารผลกระทบแก่บริษัท และ นักลงทุนต่างๆที่สนใจ

บริษัทที่สนใจทำงานร่วมกับ UNDP เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: นางสาวอภิญญา สิระนาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อสังคม, E-mail: aphinya.siranart@undp.org

[1] Mozaffar Khan, George Serafeim, Aaron Yoon, Corporate Sustainability: First Evidence on Materiality. The Accounting Review (2016) 91 (6): 1697–1724.

[2] Eccles, Robert G. and Ioannou, Ioannis and Serafeim, George, The Impact of Corporate Sustainability on Organizational Processes and Performance (December 23, 2014). Management Science, Volume 60, Issue 11, pp. 2835-2857, February 2014. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=1964011 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.1964011

[3] https://nordeamarkets.com/wp-content/uploads/2017/09/Strategy-and-quant_executive-summary_050917.pdf

[4] https://www.mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/more-than-values-the-value-based-sustainability-reporting-that-investors-want

[5] https://www.businesscalltoaction.org/member/urmatt-ltd-hilltribe-organics

[6]https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/presscenter/pressreleases/2019/undp-unveils-nationwide-campaign-to-combat-single-use-plastics–.html

[7] https://www.businesscalltoaction.org/

Keywords: , , , , ,
  • Published Date:
  • by: UNDP

‘การลงทุนให้สิ่งแวดล้อม’ หลักการทำงานอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการที่คิดเพื่อสังคม

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมนั้นลงทุนโดยไม่ได้หวังเพียงจุดคุ้มทุนหรือกำไรเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า

‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) สำหรับเปิดมุมมองและกระบวนการของนักลงทุน และนำมาต่อยอดความคิดของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อสังคม เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance)

การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ คืออะไร ?

เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง และถูกตักตวงเอาผลประโยชน์จนบางครั้งถูกมองข้าม และขาดการเอาใจใส่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มโครงการ ‘The Biodiversity Finance Initiative’ (BIOFIN) สร้างการลงทุนเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยทำงานผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. ประเมินงบประมาณที่ใช้เพื่อลงทุนเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนา ฟื้นฟู วิจัย และป้องกัน จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
  2. ประเมินมูลค่างบประมาณที่จำเป็น
  3. พิจรณาช่องว่างระหว่างขั้นตอนที่หนึ่งและสอง แล้วจัดหานวัตกรรมการจัดหาเงิน (Innovative Finance) เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างการทำงานของผู้ประกอบการสังคมที่ตั้งใจลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นภาพชัดกันบ้าง นั่นคือ ‘Patagonia’ ของ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเอาต์ดอร์ที่จัดทำแคมเปญ ‘1% for the Planet’ มอบเงิน 1% จากยอดขายในแต่ละปีให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอหลายร้อยแห่งทั่วโลก เพราะบริษัทมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนและทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่คำโฆษณาเสื้อผ้า ‘Don’t Buy this Jacket’ ที่หมายถึงอย่าซื้อเสื้อแจ็กเก็ตตัวนี้ ถ้าไม่ต้องการที่จะใส่มันจริงๆ เพื่อช่วยลดขยะเสื้อผ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งยังใช้ฝ้ายออร์แกนิก 100% ยึดถือหลักการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) มีโรงงานสีเขียวที่ใช้พลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตัวอาคารยังเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้างส่วนหนึ่ง และเป็นอาคารสีเขียวที่ผ่านมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ไม่เพียงเท่านั้น Patagonia ยังมีกิจกรรมที่ทุกคนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฟื้นฟูแม่น้ำ หรือการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน โดยพวกเขาหวังเพียงเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการรักษาระบบนิเวศของโลกใบนี้ให้ยังคงสมบูรณ์ไปอีกนานเท่านาน

ตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาข้างต้นอย่าง ‘การลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ’  (Biodiversity Finance) เป็นเพียงหนึ่งสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงวิธีการของ ‘การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบและนวัตกรรมการเงิน’ (Impact Investing and Innovative Finance) เท่านั้น แต่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สังคม หรือสัตว์ป่า เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าไปพร้อมกับสร้างสังคมที่น่าอยู่และดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ที่มา :

https://www.biodiversityfinance.net/

https://web.facebook.com/UNDP.BIOFIN.th/posts/1139307249427189/?_rdc=1&_rdr

https://www.onepercentfortheplanet.org/

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 20/09/2019
  • by: UNDP

การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง: กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์

 

เราสามารถสร้างนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งได้อย่างไร?

มันสามารถช่วยพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนได้จริงหรือ?

 

พบคำตอบได้ในงานนี้!

 

Thailand Social Innovaation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษในหัวข้อ

การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง: กรณีศึกษาจากแคว้นบาสก์โดย Gorka Espiau ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสังคมการจัดการความขัดแย้งและการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน

Gorka Espiau นักวิชาการอาวุโสจาก ศูนย์การศึกษาสังคมและการเมือง The Agirre Lehendakaria Center (ALC ) จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสังคมในแคว้นบาสก์  ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เคยมีความขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เศรษฐกิจของแคว้นล่มสลาย อัตราการว่างงานในยุโรปตอนใต้สูงเป็นประวัติการณ์ หากในปัจจุบัน บาสก์กลับกลายเป็นผู้นำทั้งด้านด้านสุขภาวะและการศึกษา นอกจากนี้ประชาชนชาวบาสก์ยังมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป

การบรรยายจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2562 เวลา 10.00-12.00 น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 2 TCDC กรุงเทพฯ

 

ลงทะเบียนได้ที่ http://bit.ly/2m5hiQZ

ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ที่นั่งมีจำนวนจำกัด

*การบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมล่ามแปลภาษาไทยตลอดงาน

Keywords: , , , ,
  • Published Date: 16/09/2019
  • by: UNDP

เรียนรู้ที่จะ ‘ป้องกัน’ ก่อนเกิดความรุนแรง

 

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีภาพของความยากจน การกีดกัน ความไม่เท่าเทียม ไปจนถึงความอยุติธรรมปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขที่สร้าง ‘แนวความคิดสุดโต่งที่รุนแรง’ (Violent Extremism) ในระดับสังคม ประเทศ และโลก สิ่งที่สำคัญคือจะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงแบบสุดโต่งนั้นได้อย่างไร  ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ต้องอาศัยเครื่องมือแบบไหนบ้าง  เพื่อไม่ให้เรื่องราวน่าเศร้าใจเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

            การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ไม่ใช่การหยิบอาวุธครบมือขึ้นมาล้อมหน้าล้อมหลังกัน แต่คือวิธีการค้นหา และระบุถึงสาเหตุของปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธี ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของภาครัฐไปจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น และการลงมือทำงานร่วมกับประชาชน

            ถึงแม้ในระเทศไทยเองยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นสุดโต่งปรากฎให้เห็นชัดนัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขั้นนั้นได้ นั่นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่มากพอให้คนทุกภาคส่วนแสดงออกทางความคิด หรือพูดคุยเรื่องราว และปัญหาต่างๆ รวมถึงประเด็นอีกหลายต่อหลายข้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ไม่เปิดพื้นที่มากพอให้ผู้หญิงแสดงออกความเห็น ความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยที่ยังมีให้เห็นอย่างชัดเจน หรือความไม่เสมอภาคของโอกาสในการเข้าถึงด้านต่างๆ

            ดังนั้นการทำความเข้าใจหรือรับรู้เรื่องราวขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำ เรามีโอกาสพูดคุยกับ ‘ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็น ‘การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (Preventing Violent Extremism) ในประเทศไทย

 

(photo credit : นิตรสาร GM ฉบับเดือนมกราคม 2560)

PVE คำนี้คืออะไร

            ผศ.ดร.จันจิรา : PVE หรือ Preventing Violent Extremism หมายถึง การป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงโดยอ้างอุดมการณ์หรือฐานความคิดอันสุดโต่ง โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มบุคคลที่ฝ่ายซึ่งใช้ความรุนแรงเห็นว่าเป็น “ศัตรู” และอะไรที่ทำให้สังคมของตน “ไม่บริสุทธิ์” การป้องกันความรุนแรงเช่นนี้ต้องกลับไปดูที่โครงสร้างและวัฒนธรรมที่ผลิตผู้ใช้ความรุนแรงสุดโต่ง โดยมากคนเหล่านี้เป็นอยู่ในความขัดแย้งระดับสังคมโดยผู้ที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งมักมีความคับข้องใจ (Grievance)  เช่นไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เจอกับความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนเยอะ หรือหลายคนถูกเลือกปฏิบัติ เพราะนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือมีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในสังคม

            บางคนอาจจะรู้สึกว่า นโยบายของรัฐไม่ได้ให้โอกาสตัวเองในการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น มันก็มีสาเหตุของการเกิดความคับข้องใจต่างกัน ดังนั้นการสร้างการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง ต้องเข้าไปศึกษาและเข้าใจความคับข้องใจเสียก่อน ว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนของความคับข้องใจจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

 

PVE ในบริบทสังคมไทย

             ผศ.ดร.จันจิรา : นิยามของคำว่าความรุนแรงสุดโต่งที่ใช้กันตอนนี้มาจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ รวมหลายประเทศในตะวันออกกลาง และโลกตะวันตก ซึ่งอาจไม่ใช้ประสบการณ์ของสังคมไทยเสียทีเดียว เท่าที่ได้คุยกัน คำนิยาม violent extremism สังคมไทยยังไม่ลงตัว แต่ละฝ่ายเข้าใจต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์และจุดยืนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เจอ เช่นเวลาเราคุยกับภาคประชาสังคม ก็จะได้ข้อมูลว่า รัฐเป็นปัญหา เป็นผู้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ฉะนั้นเป็นสาเหตุของ violent extremism ส่วนรัฐก็จะมองว่า violent extremism เกิดกับประชาชนบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนกลุ่มอื่น ซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างจากตน ดิฉันเลยคิดว่า คำหรือการให้ความหมายน่าจะปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของสังคมไทยมากขึ้น เช่น ดูจากเงื่อนไขของปรากฏการณ์ violent extremism ในมิติที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ มากกว่าจะดูว่าใช้เป็นผู้ใช้ความรุนแรง

 

การทำงานเพื่อป้องกัน

             ผศ.ดร.จันจิรา : การทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งของ UNDP มีหลายส่วน ซึ่งเราแบ่งพื้นที่เป็น 2 พื้นที่ใหญ่ คือ

             1.  ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ มีการจัดโครงการต่างๆ ที่ดูแลเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมความขัดแย้งรุนแรง เช่น โครงการที่ดูเรื่องขันติธรรมระหว่างชุมชนชาวพุทธกับคนไทยมุสลิม หรือส่งเสริมให้จัดการเสวนาคุยกันข้ามศาสนา เพื่อสร้างความเข้าใจ

             2. พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ทำงานจากการหาสาเหตุของความคับข้องใจว่าไปปรากฎที่ไหนบ้าง ไม่ว่าจะเหนือ อีสาน กลาง ใต้ หาว่าผู้กระทำมีแรงกระตุ้นในการสร้างความรุนแรงอันสุดโต่งอย่างไร

             นอกจากนี้ UNDP ยังมีทีมมอนิเตอร์เรื่องราวของ hate speech หรือการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังภายในประเทศ วิเคราะห์บทสนทนาต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก ว่ามีบทสนทนาหรือหัวข้ออะไรบ้างในโลกโซเชียลที่หมิ่นเหม่จะใช้ถ้อยคำเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม  และเรายังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มุ่งป้องกัน violent extremism

 

 

การรับรู้ของภาคประชาชน

              ผศ.ดร.จันจิรา : ถ้าพูดในมุมของสาธารณะ คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้เรื่องการป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่งเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้ว PVE มีคอนเซ็ปต์มาจากที่อื่น เช่น มาจากสังคมที่มีผู้ที่ก่อความรุนแรง ดังนั้นตอนนี้ เรากำลังพยายามทำงานกันอยู่เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป

             อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เอกชน องค์กร และที่สำคัญคือภาคประชาชน ผ่านแนวทางการจัดแผนยุทธศาสตร์ ทำงานวิจัย หรือปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อสร้างแนวทางป้องกันความรุนแรงจากอุดมการณ์สุดโต่ง’ (PVE) ในสังคมไทย

 

Sources :

– ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– สหประชาชาติและธนาคารโลก 2018 “วิถีสู่สันติ: แนวทางครอบคลุมเพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง” บทสรุปผู้บริหาร ธนาคาร วอชิงตัน ดีซี. ใบอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซีซีโดย 3.0 ไอจีโอ

–  http://www.asia-pacific.undp.org/content/rbap/en/home/programmes-and-initiatives/extremelives.html?fbclid=IwAR3G9xDf15DZCyru0BvszNMAL5rcdITCcR4YdKIPrmfT8JmzxIEAaz5QFzo

https://www.undp.org/content/undp/en/home/2030-agenda-for-sustainable-development/peace/conflict-prevention/preventing-violent-extremism.html

https://www.undp.org/content/undp/en/home/blog/2019/new-approaches-to-preventing-violent-extremism.html

Keywords: , , , , ,
  • Published Date: 20/08/2019
  • by: UNDP

‘Cure Violence’ เมื่อความรุนแรงติดต่อเหมือนโรคระบาด

 

ในยุคที่โลกก้าวสู่ความศิวิไลซ์เทคโนโลยีพัฒนาล้ำหน้า แต่กลับกันเรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวันไม่ว่ามุมไหนของโลก โดยเฉพาะอเมริกาที่เกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงในพื้นที่สาธารณะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงที่รัฐโอไฮโอและรัฐเท็กซัสในเวลาห่างกันเพียง 14 ชั่วโมง

แล้วเราจะป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร?

‘Dr. Gary Slutkin’ นักระบาดวิทยา ผู้ก่อตั้งองค์กร ‘Cure Violence’ กล่าวว่า “การกราดยิงเป็นเหมือนโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่าย” เขาเคยเดินทางไปทำงานให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการต่อสู้กับการระบาดอย่าง วัณโรค อหิวาตก และโรคเอดส์ ทั้งในเอเชียและแอฟริกามานานกว่า 10 ปี หลังจากที่กลับมายังอเมริกา เขาไม่พบการเกิดโรคระบาดเหล่านี้ แต่กลับรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงที่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมในโรงเรียน การแก้ปัญหาโดยทั่วไปคงเป็นบทลงโทษ ซึ่งอาจไม่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม หรืออีกแนวทางคือต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ตั้งแต่ปัญหาในโรงเรียน ความยากจน ครอบครัวแตกแยก ยาเสพติด ไปจนถึงการเหยียดสีผิว ซึ่งยากที่จะทำได้สำเร็จในคราวเดียว

เขาตระหนักว่า สถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คล้ายกับการแพร่กระจายของโรคระบาด กล่าวคือความรุนแรงติดต่อจากเคสหนึ่งไปสู่อีกเคสหนึ่ง เขาจึงมองว่าการลดปัญหาความรุนแรง น่าจะมีทางออกเช่นเดียวกับการยับยั้งโรคระบาด โดยสรุปได้ 3 สิ่งที่ต้องทำ ได้แก่

1. ยับยั้งการส่งต่อ (Interrupting transmission) เริ่มจากสืบหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเคสแรก เช่นเดียวกับกรณีของวัณโรคที่ต้องหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและแพร่เชื้อสู่คนอื่น

2. ป้องกันการแพร่กระจายในอนาคต (Prevent future spread) ค้นหาว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

3. เปลี่ยนบรรทัดฐานของกลุ่ม (Change group norms) ด้วยกิจกรรมชุมชนและปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

เริ่มต้นจากทดลองจ้างคนมาทำงานเป็นผู้ยับยั้งความรุนแรงในชุมชน (Violence interrupters) โดยจ้างคนในชุมชนหรือคนในกลุ่มแก๊งมาเป็นฮีโร่ เพื่อสร้างความเชื่อถือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเข้าถึงได้ โดยเทรนให้เข้าใจหลักการโน้มน้าวและการทำให้คนใจเย็นลง ส่วนคนอีกกลุ่มมีหน้าที่ดูแลคนในกลุ่มที่มีความรุนแรงให้อยู่ในระยะการบำบัดตั้งแต่ 6 – 24 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างเสริมกิจกรรมชุมชนเพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของคนในชุมชน

‘Cure Violence’ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่ย่าน West Garfield Park หนึ่งในชุมชนที่มีความรุนแรงที่สุดของชิคาโก ซึ่งในปีแรกสามารถลดการเกิดเหตุกราดยิงได้ถึง 67% หลังจากนั้น จึงขยายโมเดลนี้ออกไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วอเมริกา ปัจจุบัน มีมากกว่า 50 ชุมชนในอเมริกาที่ใช้แนวทางลดความรุนแรงนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมเทคนิคการป้องกันความรุนแรงให้กับผู้แทนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถลดความรุนแรงได้มากถึง 40-70% ตั้งแต่ปีแรก ถือเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันเหตุการณ์น่าเศร้าที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีใครคาดคิด

 

ที่มา:

1. http://cureviolence.org/

2. https://www.ted.com/talks/gary_slutkin_let_s_treat_violence_like_a_contagious_disease#t-665523

 

Keywords: , , , , , , ,
  • Published Date: 25/12/2018
  • by: UNDP

ความยั่งยืนในงานวันเดอร์ฟรุ้ต Wonderfruit

นอกเหนือจากบรรยากาศแห่งความสนุกที่มาพร้อมกับเสียงดนตรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่เทศกาลวันเดอร์ฟรุ้ตยึดถือเป็นหลักการสำคัญเลยก็คือเรื่องของ “ความยั่งยืน” วันเดอร์ฟรุ้ตจึงไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลดนตรีที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นแพลทฟอร์มส่วนกลางที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติในหลากหลายเป้าหมายอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็น SDGs ข้อที่ 6 รับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน ข้อที่ 12 รับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ด้วยการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หรือข้อ 2 บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านการการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่และสนับสนุนกำลังการผลิตของเกษตรกรรมขนาดเล็ก

และนี่คือตัวอย่างของความยั่งยืนในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในวันเดอร์ฟรุ้ต

ศิลปะและงานสถาปัตยกรรม: การออกแบบของแต่ละเวทีรวมถึงโครงสร้างต่างๆ นั้นล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ ด้วยการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นและใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม เพื่อได้ผลลัพธ์เป็นโครงสร้างที่ทั้งแข็งแรงและยั่งยืน

  • Eco Pavilion พื้นที่นั่งที่ร่มเย็นด้วยเฉดเงาจากร่มผ้าฝ้ายทำมือสีแดงสด พื้นที่นั่งแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยไม้ไผ่
  • Solar Stage ออกแบบโดย Gregg Fleishman โครงสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ประกอบเข้ากันด้วยการใช้ระบบโครงสร้างโมดูลาร์ตามรูปแบบเรขาคณิต นำแผ่นไม้มาวางขัดกันโดยไม่พึ่งพาน็อตยึด ทุกคนสามารถปีนป่ายไปส่วนต่างๆ ได้ตามใจชอบ เลือกจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าหรือนั่งชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น

น้ำ: ระบบน้ำของเทศกาลวันเดอร์ฟรุ้ตในปีนี้นั้นน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการย้ายพื้นที่จัดงานใหม่ จึงมีการนำน้ำจากทะเลสาบธรรมชาติภายในพื้นที่ ไม่มีการนำเข้าน้ำจากแหล่งอื่น เพื่อเป็นลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่เกิดจากการขนส่ง

  • Bath House บ้านลอยน้ำที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพิธีกรรมการอาบน้ำของญี่ปุ่นและไทย Bath House จึงออกแบบมาเพื่อเป็นโอเอซิสให้ผู้คนได้เข้ามาพักผ่อนภายใน โครงสร้างทั้งหมดทำจากไม้ไผ่ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาได้เรียนรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับน้ำที่แตกต่างกันและได้รับพลังงานบวกกลับออกไป ออกแบบโดย Ab Rogers

ของเสีย: หลายคนที่มีโอกาสได้สัมผัสกับประสบการณ์ในเทศกาลวันเดอร์ฟรุ้ต ภาพที่เห็นกันจนชินก็คือการที่ทุกคนภายในงานต่างพกพาขวดหรือกระติกน้ำเป็นของตัวเอง เพื่อลดขยะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในปีนี้เราเห็นกระแสที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้นนั้นคือการเห็นภาชนะต่างๆ ภายในงานส่วนมากนั้นผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้อย่างมันสำปะหลังหรืออ้อย เพื่อสามารถรียูสกลับไปเป็นกระเบื้องมุงหลังคาได้จากขยะที่ใช้งานแล้ว

  • ทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล ผู้เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคแบบ peer-to-peer เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก โดยการเชื่อมโยงผู้ปลูกผลไม้กว่า 300 ราย ผู้ผลิตเครือข่ายจึงเข้ามาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
  • แก้วกระดาษที่ผลิตจากวัสดุอย่างมันสำปะหลังและอ้อย สามารถย่อยสลายได้ใน 180 วัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดและสร้างขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด
Keywords: , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779