• Published Date: 15/11/2019
  • by: UNDP

Youth Co:Lab Thailand 2019 ถอดบทเรียนโครงการประกวดนวัตกรรมสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เยาวชนเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์  ในปัจจุบันเยาวชนมักถูกกล่าวถึงในมุมมองไม่ใช่เพียงแต่ “ผู้ได้รับผลประโยชน์” จากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น  แต่ยังมีบทบาทเป็น “ผู้ขับเคลื่อน” การพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เยาวชนมีบทบาทในการเป็นผู้ขับเคลื่อนได้ คือการสร้างพื้นที่ ให้สังคมได้รับฟังเสียงของเยาวชน และให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่พวกเขาอยากเห็น โครงการ Youth Co:Lab จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสร้างการขับเคลื่อนสังคมจากระดับเยาวชน

Youth Co:Lab เป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาสังคมในแบบที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย

รูปแบบของโครงการ Youth Co:Lab ในประเทศไทย คือการเฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมทางสังคมจากเยาวชนทั่วประเทศไทย และให้เยาวชนมาเข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) รวมไปถึงเรียนรู้การพัฒนาแผนทางการเงินและธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก่อนจะนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อชิงทุนในการนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตนเอง โดยปีนี้ เรามาพร้อมกับความตั้งใจที่จะเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือการทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางเข้าใจและเข้าถึงปัญหาที่มีความซับซ้อน และสามารถนำแนวคิดนวัตกรรมสังคมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เราได้ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเลือกใช้โจทย์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง การใช้กระบวนการทางนวัตกรรมจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นหรือไม่ และนี่คือหนึ่งในความตั้งใจของเราเมื่อตัดสินใจหยิบยกประเด็นปัญหาทางสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น “การป้องกันความรุนแรงแบบสุดโต่ง การจัดการความขัดแย้ง และการลดความเหลื่อมล้ำ” มาเป็นแนวคิดคิดหลักของงาน

หากพูดถึงความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่สั่งสมมาจากมุมมองของคนที่ต่างกัน นำไปสู่ ‘การตัดสิน’ และ ‘การตีตรา’ ผู้อื่น การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากการเปิดใจและยอมรับความหลากหลาย “การสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงกลายเป็นโจทย์ของ Youth Co:Lab ในปีนี้ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยเอง มีความหลากหลายในสังคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกอยู่หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการการเอาชนะ กดทับกลุ่มที่เห็นต่าง การต่อสู้ระหว่างกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และอาจพาไปถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเองก็เป็นได้

เมื่อตั้งต้นโจทย์ด้วย “การเคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” จึงจำเป็นอย่างมากที่กระบวนการทำงานของเราจะต้องสะท้อนคุณค่านี้ออกมาด้วย พวกเราจึงมีความตั้งใจมากในการเข้าถึงเยาวชนที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราอยากให้เยาวชนที่กำลังประสบปัญหาโดยตรงเหล่านี้ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงแนวคิดและส่งไอเดียนวัตกรรมสังคมเข้ามาด้วยตัวเอง เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้จริง ต้องเกิดจากการเข้าใจรากของปัญหาอย่างลึกซึ้ง และ Youth Co:Lab เป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับเยาวชน หากเราพาเครื่องมือนี้ไปถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในปัญหา เขาอาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเขาได้

ดังนั้นถึงแม้งาน Youth Co:Lab จะฟังดูเหมือนเป็นงานอีเวนต์ในระยะเวลาแค่ 3 วัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบและดำเนินการมาในระยะเวลาหลายเดือนเพื่อที่จะทำให้ Youth Co:Lab เป็นโครงการบ่มเพาะที่เข้าถึงเยาวชนทุกรูปแบบอย่างแท้จริง ซึ่งในบทความนี้จะมาถอดบทเรียนกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ กระบวนการก่อนงาน และกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

ก่อนจะถึงงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

กิจกรรม Roadshow ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

เริ่มต้นด้วยการไป Roadshow ในภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ อีสาน และเหนือ โดยเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอคำแนะนำในการเข้าถึงเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของการจัด Roadshow ก็แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่นในภาคใต้ เราเน้นการไปลงพื้นที่พบปะกลุ่มเยาวชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่องค์กรของเขาเอง ในภาคอีสาน เราไปจัดงานที่มหาวิทยาลัยเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิหรือพัฒนาสังคมผ่านกิจกรรมชมรม และในภาคเหนือ เราได้ประสานไปยังเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์ เพื่อเข้าถึงเยาวชนจากหลากหลายชาติพันธุ์ของประเทศ

การปรับรูปแบบให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื้อหากิจกรรมใน Roadshow ก็ยังคงมีใจความเดียวกัน นั่นคือ การให้เยาวชนได้แบ่งปันและพูดคุยถึงความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเอง การแนะนำแนวคิดนวัตกรรมสังคม และการให้คำปรึกษาน้อง ๆ ในการพัฒนาโครงการ

การได้ฟังประสบการณ์ของเยาวชนที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันในระหว่าง Roadshow ให้เราเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของความแตกต่างหลากหลายในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเมื่อยิ่งได้ฟังเรื่องราวของน้อง ๆ ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เรากำลังเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เรามองหาจริง ๆ นั่นคือ กลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง และเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอในสังคมวงกว้างเท่าไรนัก เช่น เรื่องราวของน้องเยาวชนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไร้สัญชาติ กับความพยายามในขอสัญชาติมานานกว่า 11 ปี และยังคงต่อสู้ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย หรือ น้องทีมฟุตบอลหญิงชาวมุสลิมที่แต่งตัวไม่ตรงตามหลักศาสนา เนื่องจากขาดความคล่องตัว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจจากคนในพื้นที่ เป็นต้น เมื่อเราได้ลองใส่แว่นในมุมของเขาแล้ว ขั้นต่อไปคือการเชิญชวนให้เขาได้ลองใส่แว่นในมุมมองของเราบ้าง และนั่นก็คือการแนะนำให้เขารู้จักกับ “นวัตกรรมสังคม” น้อง ๆ หลายคนจะรู้สึกว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาไม่มีความรู้ เราจึงต้องเริ่มปูพื้นให้ความหมายของนวัตกรรมสังคม ว่าจริง ๆ แล้ว มันคือคือ “วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ” ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเป็นเรื่องที่พวกเขากำลังทดลองทำกันอยู่ก็เป็นได้ โดยเราได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมสังคมจากหลากหลายประเทศมาประกอบเพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้ว คำถามที่เรายังได้ยินจากปากน้อง ๆ ทุกภาค คือ “แล้วโครงการของหนูจะดีพอไปสู่กับภาคอื่น ๆ เหรอพี่” ซึ่งทุกครั้งเราก็จะยิ้มแล้วบอกน้องว่า “การที่น้องเป็นคนที่อยู่ในปัญหาแล้วลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นั่นทำให้น้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดแล้ว เพราะเราย่อมเข้าใจปัญหาของเราได้ดีที่สุด” คำถามที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตัวเองของเยาวชน ในขณะที่เราเองก็อยากให้น้อง ๆ เห็นสิ่งที่เรามองเห็นเช่นกันว่า พวกเขามีความกล้าหาญและมีศักยภาพมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว เราจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจด้วยการเปิดโอกาสสำหรับการปรึกษาโครงการว่า ตอนนี้มีโครงการอะไรที่น้อง ๆ อยากทำหรือกำลังทำอยู่บ้าง และควรไปทำการบ้านพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อจะสมัครเข้าร่วม Youth Co:Lab ได้

เมื่อเสร็จสิ้นการ Roadshow และปิดรับสมัครส่งโครงการ เราจึงดีใจมากที่ได้เห็นน้อง ๆ ที่เราไปพบหลาย ๆ คนก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง และตัดสินใจส่งโครงการมาเข้าประกวดในครั้งนี้

 

การบ้านในการเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมงาน

เนื่องจากระยะเวลาในงาน Youth Co:Lab นั้นค่อนข้างสั้น การจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3 วัน เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมไปทำการบ้านมาก่อน แม้ว่าโครงการที่ส่งเข้ามาจะอยู่ในระยะที่ต่างกัน บางโครงการอยู่ในระยะริเริ่มไอเดีย ในขณะที่บางโครงการอาจจะมีการทำ Prototype หรือนำผลิตภัณฑ์ตัวเองออกสู่ตลาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกทีมไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดต้องมีคำตอบที่ชัดเจนเพื่อจะไปต่อกับโครงการได้จริง คือ การทำความเข้าใจผู้ใช้หรือผู้ที่เราต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ ดังนั้น เราจึงให้การบ้านกับแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบไปสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เรียบเรียงไปคู่กับเป้าหมายที่แต่ละทีมอยากเห็นในอนาคต ผ่านเครื่องมือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)” เพื่อเป็นการทบทวนเจตจำนงในการทำโครงการก่อนมาเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ การบ้านที่กล่าวมาก็เป็นกระบวนการที่น้อง ๆ จะได้ลองผิดลองถูก ทำความเข้าใจกับบริบทของปัญหา และตรวจสอบความเป็นไปได้หรือความถูกต้องของสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาที่คิดขึ้น  เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกทีมจะต้องมาพร้อมกับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมก็เป็นกระบวนการที่ต้องมีการทำซ้ำและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจุดประสงค์ของการทำการบ้านนี้จึงเป็นไปเพื่อให้น้อง ๆ ได้ออกมาจากวิธีการคิดเดิม ๆ รู้จักมองผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และลองทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือดูก่อนเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างงาน Youth Co:Lab Thailand 2019

 

มิตรภาพ

จุดประสงค์ของงาน Youth Co:Lab ไม่ใช่เพียงการแข่งขันหาผู้ชนะที่จะได้เงินรางวัลในการไปต่อ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนที่มีความเชื่อและความตั้งใจในการแก้ปัญหาสังคมมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง เพื่อไปเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่ของตัวเองต่อไป ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ตัวตนของกันและกันด้วยความเคารพในความแตกต่าง และเปิดรับความหลากหลาย กิจกรรมในคืนแรกของงานจึงเน้นไปที่การผ่อนคลายให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน  แต่ก็ยังแฝงการปูพื้นแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสังคมเข้าไป
เราแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ
1)  การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกรณีศึกษานวัตกรรมสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้นำเนื้อหามาสื่อสารผ่านการเล่นเจงก้ายักษ์ ซึ่งต้องเล่นกันเป็นทีมด้วยความสามัคคี ทำให้เยาวชนจากต่างกลุ่มได้รู้จักกันมากขึ้น
2) การแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งอุปสรรค ความท้าทาย และความสำเร็จของเยาวชนผู้มาเป็นวิทยากร จากภาคเหนือ กลาง และใต้ ที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมสังคมเพื่อสันติภาพ พร้อมรับประทานอาหารและเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมได้สังสรรค์ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
3) การทำความรู้จักตัวตนของเพื่อน ๆ ผ่านการเล่นเกม เช่น I am… but I am not… ซึ่งเป็นบัตรชวนพูดคุยในมื้ออาหาร หรือ Common Ground หาจุดร่วมและจุดต่างของแต่ละคน เพื่อสร้างความสนิทสนม ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดเผยตัวตน และทำความเข้าใจในความหลากหลายของทุก ๆ คน

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย

การทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์ในคืนแรกถือเป็นประตูบานแรกสำหรับการเปิดรับความแตกต่างระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างให้มีพื้นที่ปลอดภัยก่อนเข้าสู่เนื้อหาของการเวิร์กชอปที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ วิธีการของเราเริ่มต้นด้วยการเช็คความรู้สึกและความคาดหวังของผู้เข้าร่วม ให้น้อง ๆ ได้เท “ความกลัว” และความรู้สึกกดดันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานออกมา ซึ่งการได้เปิดใจต่อความกลัวนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเชื่อมโยงกันผ่านการเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ พร้อมกับปรับความเข้าใจใหม่ว่า พื้นที่ในสามวันนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกคน

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ ไม่เพียงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของกิจกรรมเท่านั้น บทบาทของกระบวนกรไม่ได้เป็นแค่ผู้ออกแบบกระบวนการและให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นคนที่คอยเช็คและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้เข้าร่วมในระหว่างทาง หากสัมผัสได้ถึงสภาวะบีบคั้นหรือกังวล ก็อาจต้องพักจากบทเรียนชั่วคราว แล้วกลับมาเทความกังวลหรือแบ่งปันความรู้สึกกันอีกรอบ เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมไปต่อได้อย่างสมดุล

 

ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างลึกซึ้ง

เวลาเกือบครึ่งของการเวิร์กชอปถูกใช้ไปกับการให้แต่ละทีมได้ทบทวนที่มาของปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข ตั้งแต่การทำความเข้าใจภาพรวมจากปัญหาไปสู่วิธีแก้ไขอย่างยั่งยืนผ่านทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และการกลับไปขุดรากลึกของปัญหาผ่านการคิดอย่างเป็นระบบด้วยโมเดลภูเขาน้ำแข็ง ( Iceberg Model) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเหตุที่ลึกขึ้นของปรากฏการณ์ที่เห็นผิวเผิน เช่น พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระบบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น และแนวคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นั้น ๆ การใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งไม่เพียงแต่ช่วยให้แต่ละทีมมีความชัดเจนในการพัฒนาไอเดียการแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้น แต่ยังช่วยทำให้ผู้เข้ารู้สึกเชื่อมโยงกัน เนื่องด้วยปัญหาได้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบต่างกัน แต่พวกเราทั้งหมดกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาในรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ “การมองคนไม่เท่ากัน” การเข้าใจปัญหาหาในมิติที่เชื่อมโยงกันได้ช่วยลดกำแพงในการแข่งขัน ขับเคลื่อนมิตรภาพ และทำให้เกิดการเปิดใจและสร้างกำลังใจให้เยาวชนทุกคนรู้สึกว่า “เราไม่ได้กำลังแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และยากนี้อยู่คนเดียว”

 

การพัฒนาโครงการผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ

รูปแบบกระบวนการที่เราใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและโครงการของทุกกลุ่มเป็นในลักษณะของการเรียนรู้จากเพื่อน (Peer-to-Peer learning) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนของการเวิร์กชอป โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสทั้งได้นำเสนอโครงการให้เพื่อน ๆ  ฟังและเป็นคนให้ข้อเสนอแนะ กระบวนการสะท้อนและให้ข้อแนะนำระหว่างกันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสถอยออกมาจากประเด็นปัญหาของตัวเอง มาลองมองปัญหามุมอื่น ๆ  และขยายมุมมองทางความคิด ซึ่งอาจทำให้เกิดประโยชน์ในการนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองต่อไป ทั้งนี้กระบวนการนี้ยังช่วยย้ำใจความสำคัญของงานอีกด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากเราโฟกัสอยู่ที่จุดของเราแค่เพียงจุดเดียว และพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องมาสร้างความร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

 

การพูดคุยกับเมนเทอร์

ในใบรับสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการถามแต่ละทีมว่ายังต้องการองค์ความรู้หรือคำแนะนำด้านไหนในการต่อยอดโครงการอีกหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าการได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ จะช่วยเสริมสร้างและผนึกองค์ความรู้ทำให้การพัฒนาโครงการมีความยั่งยืนมากขึ้น ในงานนี้เราจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญตามคำขอของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การสร้างความร่วมมือ กฎหมาย สื่อ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การขับเคลื่อนงานสันติภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เทคโนโลยี และการใช้เกมเป็นเครื่องมือในการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ มาช่วยให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์ การปรึกษาและพูดคุยนี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคคลที่ช่วยกันต่อยอดให้ไอเดียให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

การออกแบบเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอโครงการ

ส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ คือการออกแบบการเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอโครงการ โดยไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินรางวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่เยาวชนได้มีโอกาสส่งเสียงบอกผู้คนให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขาที่คนภายนอกอาจจะไม่ทราบมาก่อน และยังเป็นพื้นที่แสดงพลังความตั้งใจของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย ถึงแม้ว่าเราจะสอนวิธีการนำเสนอ (pitch) ที่ดี มีโครงสร้างตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพที่วิเคราะห์มาจากหลายเวที แต่เราก็เน้นย้ำเสมอว่า ถ้าน้อง ๆ ไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างที่ให้ไป ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่น้อง ๆ ได้เล่าเรื่องที่อยากจะเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ทำให้ริเริ่มทำนวัตกรรมสังคมนี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในฐานะนักเปลี่ยนแปลงสังคมที่เยาวชนทุกคนสามารถทำได้ทันที

 

 

จะเห็นได้ว่าภายใต้แนวคิดการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 การแข่งขันประกวดนวัตกรรมเป็นเพียงประตูชั้นแรกสุดที่เชิญชวนทุก ๆ คนมาเข้าร่วมเท่านั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของงาน คือ “การสร้างพื้นที่สำหรับสร้างความร่วมมือระหว่างเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า Youth (เยาวชน) Co (ร่วมมือ) Lab (การทดลองสิ่งใหม่ ๆ ) และเราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของน้อง ๆ และความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหาสังคมเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่ตัวเอง เราได้ยินเสียงน้อง ๆ ส่งเสียงเชียร์เพื่อนทีมอื่น ๆ ในช่วงนำเสนอโครงการ ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างภาคที่ยังคงมาบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตหลังจากกลับบ้านไปแล้ว รวมไปถึงได้เห็นการชวนกันรวมกลุ่มเพื่อทำโครงการใหม่ ๆ ระหว่างภาค สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการว่า การแข่งขันบนบรรยากาศแห่งความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นได้จริง และแน่นอนว่าปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนอย่าง “การสร้างสันติภาพ” มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้รูปแบบการสร้างความร่วมมือนี้ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

สุดท้ายนี้ Thailand Social Innovation Platform ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติขอขอบคุณพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนที่มาร่วมสร้างสรรค์ให้งาน Youth Co:Lab ประเทศไทยในปีนี้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น

-มูลนิธิซิตี้ ผู้สนับสนุนหลักระดับภูมิภาค
-คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สายการบินแอร์เอเชีย ผู้สนับสนุนในการจัดงาน
-สภาความมั่นคงแห่งชาติแห่งชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการพิเศษ
-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมจัดกระบวนการ
-เมนเทอร์ทุกท่านที่เต็มใจมาให้คำปรึกษาน้อง ๆ อย่างทุ่มเท
-คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ร่วมเป็นทูตประชาสัมพันธ์การจัดงาน Youth Co:Lab Thailand 2019
-และที่สำคัญที่สุด น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab Thailand 2019 สำหรับความตั้งใจและความทุ่มเท

 

Keywords: , , , , ,
Submit Project

There are many innovation platforms all over the world. What makes Thailand Social Innovation Platform unique is that we have created a Thai platform fully dedicated to the SDGs, where social innovators in Thailand can access a unique eco system of entrepreneurs, corporations, start-ups, universities, foundations, non-profits, investors, etc. This platform thus seeks to strengthen the social innovation ecosystem in Thailand in order to better be able to achieve the SDGs. Even though a lot of great work within the field of social innovation in Thailand is already happening, the area lacks a central organizing entity that can successfully engage and unify the disparate social innovation initiatives taking place in the country.

This innovation platform guides you through innovative projects in Thailand, which address the SDGs. It furthermore presents how these projects are addressing the SDGs.

Aside from mapping cutting-edge innovation in Thailand, this platform aims to help businesses, entrepreneurs, governments, students, universities, investors and others to connect with new partners, projects and markets to foster more partnerships for the SDGs and a greener and fairer world by 2030.

The ultimate goal of the platform is to create a space for people and businesses in Thailand with an interest in social innovation to visit on a regular basis whether they are looking for inspiration, new partnerships, ideas for school projects, or something else.

We are constantly on the lookout for more outstanding social innovation projects in Thailand. Please help us out and submit your own or your favorite solutions here

Read more

  • What are The Sustainable Development Goals?
  • UNDP and TSIP’s Principles Of Innovation
  • What are The Sustainable Development Goals?

Contact

United Nations Development Programme
12th Floor, United Nations Building
Rajdamnern Nok Avenue, Bangkok 10200, Thailand

Mail. info.thailand@undp.org
Tel. +66 (0)63 919 8779